Walk with The Cloud ครั้งที่ 6 พิเศษมาก เพราะเราจัดกันในวาระครบรอบ 121 ปี การรถไฟแห่งประเทศไทย งานนี้การรถไฟแห่งประเทศไทยก็เลยชวน The Cloud และเครื่องดื่ม 100PLUS ทำทริปพิเศษไปชมสถานที่สำคัญ 12 แห่งในสถานีกรุงเทพและโรงงานมักกะสัน ซึ่งมีทั้งสถานที่ซึ่งไม่เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชม และสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่คนส่วนใหญ่อาจจะไม่ทราบเรื่องราว โดยมี วันวิสข์ เนียมปาน พนักงานของ รฟท. และเจ้าของคอลัมน์ Along the Railroad รับหน้าที่วิทยากรในส่วนของหัวลำโพง ร่วมกับ อดิศร สิงหกาญจน์ วิศวกรกำกับการกองโครงการและวางแผน ฝ่ายการช่างกล รับหน้าที่วิทยากรในส่วนของโรงงานมักกะสัน

ทริปนี้เราจัดกันไปแล้วเมื่อวันเสาร์ที่ 24 มีนาคม 2561 คนที่พลาด มาร่วมเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านสถานที่สำคัญของการรถไฟแห่งประเทศไทยด้วยกันได้เลย

สถานีกรุงเทพ

ศิลปะสถาปัตย์แบบตะวันตก

สถานีกรุงเทพ
หัวลำโพง

สถานีกรุงเทพเมื่อแรกสร้างถือได้ว่าเป็นสิ่งก่อสร้างสาธารณะขนาดใหญ่ มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกอย่างชัดเจน แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะตะวันตก เช่นเดียวกับสถานีรถไฟในยุโรปช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 19

สถาปัตยกรรมของสถานีเป็นรูปแบบอิตาเลียนเรอเนซองซ์ หัวเสา ลูกกรง ระเบียง เชิงชายต่างๆ มีการเล่นลวดลายอย่างสวยงาม สถาปนิกผู้ออกแบบเป็นชาวอิตาลีชื่อ มาริโอ ตามานโญ ผู้ออกแบบพระที่นั่งอนันตสมาคมและอาคารทรงคุณค่าอีกหลายแห่งในกรุงเทพฯ

นอกจากความสวยงามแล้ว สถานีกรุงเทพยังแสดงถึงเทคโนโลยีในการก่อสร้างที่ทันสมัยของยุคนั้นด้วยการใช้โครงเหล็กขนาดใหญ่คลุมชานชาลา มีอาคารประธานเป็นหลังคาโครงเหล็กทรงโค้งครึ่งวงกลม ขนาบด้วยตึกที่เป็นมุขทั้งสองข้าง

ด้วยรูปลักษณ์ของสถานีที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้สถานีกรุงเทพเป็นภาพจำของนักเดินทาง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

สถานีกรุงเทพ

วงเวียนน้ำพุ ที่ไม่ได้เป็นแค่น้ำพุ

ด้านหน้าสถานีกรุงเทพมีวงเวียนน้ำพุและอนุสาวรีย์ช้างสามเศียร เดิมเป็นหลุมหลบภัยทางอากาศซึ่งดัดแปลงจาก ‘อุทกธาร’ หรือพื้นที่ให้บริการน้ำดื่มสำหรับประชาชน ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สถานีกรุงเทพและสถานีหัวลำโพงเป็นเป้าหมายหลักในการทิ้งระเบิด และย่านนี้ขาดหลุมหลบภัย จึงก่อปูนอย่างหนาคลุมจุดนี้ไว้เพื่อให้ประชาชนวิ่งเข้ามาหลบภัย เมื่อสงครามสิ้นสุด ข้าราชการรถไฟได้รวบรวมทุนทรัพย์สร้างอนุสาวรีย์รูปช้างสามเศียร พร้อมสลักภาพนูนต่ำเป็นพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ที่นี่ยังถือเป็นหลักกิโลเมตรที่ 0 ของทางรถไฟในประเทศไทยด้วย

ชื่อสถานีที่สลักไว้บนตัวอาคาร

สถานีกรุงเทพ

โดยปกติแล้วชื่อสถานีรถไฟจะสลักอยู่บนป้ายคอนกรีตสีขาว ตั้งไว้ที่ปลายชานชาลาทั้งสองฝั่ง แต่สถานีกรุงเทพไม่มีป้ายชื่อคอนกรีตถาวรแบบสถานีอื่นๆ เพราะไปปรากฏอยู่ที่มุขด้านหน้าสถานีรถไฟ ตรงจุดเทียบรถยนต์ ตรงข้ามลานน้ำพุช้างสามเศียร ส่วนป้ายชื่อ ‘กรุงเทพ’ ในชานชาลา เป็นป้ายไม่ถาวรที่สร้างขึ้นครั้งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ นำนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าทัศนศึกษาสถานีกรุงเทพเมื่อปี 2554

นาฬิกา-กระจกสี

อีกหนึ่งสัญลักษณ์ของสถานีกรุงเทพ คือนาฬิกาบานใหญ่เส้นผ่านศูนย์กลาง 160 เซนติเมตร ติดตั้งอยู่กึ่งกลางหลังคาทรงโค้ง นาฬิกาเรือนนี้อายุเก่าแก่เท่าตัวสถานี สั่งทำขึ้นเป็นพิเศษ ควบคุมการเดินด้วยไฟฟ้าระบบ D.C. จากห้องชุมสายโทรศัพท์กรุงเทพ เข็มบนหน้าปัดนาฬิกาทั้งสองใช้เป็นเวลามาตรฐานของรถไฟตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

พื้นหลังของนาฬิกาคือกระจกสีที่ประดับบนผนังโครงสร้างหลังคาของสถานี ถ้าเรายืนด้านในโถงแล้วมองออกไปข้างนอก แสงด้านนอกที่สว่างกว่าจะเผยโฉมสีสันของกระจกให้เห็นความแตกต่างกันสลับกันไประหว่างฟ้าเข้ม ฟ้าอ่อน เขียว และขาว ถือว่าเป็นอาคารที่มีผนังกระจกที่ใหญ่ที่สุดในยุคนั้น

กรุงเทพ-หัวลำโพง สองสถานีบ้านใกล้เรือนเคียง

แผนที่

สถานีกรุงเทพมักถูกเรียกอย่างชินปากว่าสถานีหัวลำโพง แต่จริงๆ แล้วสถานีกรุงเทพและสถานีหัวลำโพงไม่ใช่สถานีเดียวกัน และสถานีกรุงเทพก็ไม่เคยชื่อว่าสถานีหัวลำโพงมาก่อน มูลเหตุเกิดจากตำแหน่งที่ตั้งที่อยู่ใกล้กันแค่ข้ามถนน

สถานีหัวลำโพง เป็นสถานีรถไฟราษฎร์ (รถไฟเอกชน) สายปากน้ำ ตั้งอยู่ริมคลองหัวลำโพง เส้นทางรถไฟมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก ผ่านสามย่าน ศาลาแดง คลองเตย บางจาก มหาวงศ์ ไปปลายทางที่ปากน้ำ สมุทรปราการ เปิดใช้งานเมื่อปี 2436

สถานีกรุงเทพ เป็นสถานีรถไฟหลวง ตั้งอยู่ริมคลองผดุงกรุงเกษม เส้นทางรถไฟมุ่งหน้าขึ้นทิศเหนือไปยังสถานที่ต่างๆ ของประเทศไทย ตัวอาคารที่เห็นอยู่ทุกวันนี้เป็นอาคารที่เปิดใช้งานเมื่อปี 2459 หลังจากเปิดเดินรถไฟ 20 ปี เนื่องจากอาคารหลังเดิมมีขนาดที่คับแคบ

ทั้งสองสถานีตั้งอยู่เคียงข้างกันจนถึงปี 2503 ทางรถไฟสายปากน้ำก็ยกเลิกกิจการ เหลือไว้เพียงแค่สถานีกรุงเทพเพียงแห่งเดียวเท่านั้น และด้วยพื้นที่ที่สถานีกรุงเทพตั้งอยู่มีชื่อเรียกว่า ‘ทุ่งหัวลำโพง’ คนทั่วไปก็ยังคงเรียกชื่อตามแบบเดิมอยู่จนสถานีกรุงเทพมีชื่อลำลองว่า ‘สถานีหัวลำโพง’

เป็นอันรู้กันว่าถ้าพูดถึงสถานีหัวลำโพง ก็หมายถึงสถานีกรุงเทพนั่นแหละ

พิพิธภัณฑ์รถไฟขนาดย่อม

พิพิธภัณฑ์รถไฟ
พิพิธภัณฑ์รถไฟ
พิพิธภัณฑ์รถไฟ

อาคารมุขด้านตะวันตกของสถานีกรุงเทพมีพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงของใช้เก่าในกิจการรถไฟซุกตัวอยู่ทางด้านปีกซ้ายของตัวอาคารสถานี เมื่อเปิดประตูกระจกเข้ามาด้านในจะพบกับระฆัง เครื่องทางสะดวก ตู้เก็บตั๋วรถไฟรุ่นเก่าหลากสีที่คุ้นเคยกันมาตั้งแต่วัยเยาว์ รวมถึงเครื่องใช้เซรามิก เครื่องทองเหลือง ที่จัดวางไว้ในตู้ไม้คลาสสิกให้เราได้ซึมซับกับวันวาน

ชั้นลอยของพิพิธภัณฑ์นี้เป็นเหมือนแกลเลอรี่แสดงโปสเตอร์ระวังเหตุอันตรายแบบคลาสสิกที่ดูสวยงามและน่ากลัวไปในเวลาเดียวกัน ซึ่งภาพชุดนี้เคยใช้ติดตามสถานีเมื่อปี 2508 – 2511 พิมพ์โดยบริษัท ประชุมช่าง จำกัด โดยมีนายประสงค์ เหตระกูล เป็นผู้พิมพ์ และมีจิตรกร 2 คนคือ คุณศุภารัตน์ (กรอบโปสเตอร์สีอ่อน) และคุณศักดา (กรอบโปสเตอร์สีเข้ม)

พิพิธภัณฑ์นี้เปิดทุกวันอังคาร-อาทิตย์ 08.00 – 17.00 น. (ปิดพักเที่ยง) นอกจากการแสดงของใช้เก่าแล้วยังมีของที่ระลึกจำหน่ายอีกด้วย

ห้องแห่งความลับ

ในมุขเดียวกับพิพิธภัณฑ์รถไฟ เหนือขึ้นไป 2 ชั้น เป็นอดีตที่ทำการซึ่งต้องไต่บันไดวนขึ้นไป ชั้นถัดจากชั้นลอยมีทางออกไปยังระเบียงด้านบนของสถานีกรุงเทพ ซึ่งไม่ใช่ที่ที่ใครๆ จะขึ้นมาก็ได้ มันจึงกลายเป็นห้องแห่งความลับของสถานีนี้อย่างแท้จริง

บนระเบียงนั้นกว้างใหญ่มาก มองเห็นนาฬิกาได้ใกล้ขึ้นและรู้ได้เลยว่ามันใหญ่เพียงไหน เมื่อมองออกไปทางทิศใต้บริเวณแยกหัวลำโพงจะเห็นพื้นที่ของ MRT หัวลำโพง และถนนพระรามสี่ที่เคยเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟหัวลำโพง

เขยิบขึ้นไปอีกชั้นที่ต้องไต่บันไดวน เป็นชั้นสูงสุดของมุขตะวันตก ด้านบนเป็นห้องโล่งๆ ที่ปูพื้นกระเบื้องใหม่ทดแทนพื้นไม้เดิม ปัจจุบันใช้เป็นห้องเก็บของพิพิธภัณฑ์ โดยมีหน้าต่างเป็นช่องเล็กๆ เมื่อมองออกไปจะเห็นหลังคาของสถานี และนาฬิกาเรือนใหญ่อย่างชัดเจนผ่านซี่ลูกกรง รวมถึงพื้นที่โดยรอบของสถานีในฝั่งที่ติดกับคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ของย่านรับส่งสินค้ามาแต่เดิม

ห้องแห่งความลับนี้ไม่เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม นอกจากทำเรื่องเข้าเยี่ยมชมเป็นหมู่คณะผ่านมูลนิธิพิพิธภัณฑ์รถไฟเท่านั้น

โรงแรมรถไฟ

โรงแรมรถไฟ
โรงแรมรถไฟ
โรงแรมรถไฟ

หากมองจากพื้นที่ชานชาลาที่ 3 ของสถานีกรุงเทพจะเห็นอาคาร 2 ชั้น วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ ขนานไปกับชานชาลา ชั้นล่างมีลักษณะเหมือนประตูเข้าห้องทั่วๆ ไป แต่ชั้นสองเป็นระเบียงยาวไปจนสุดตัวอาคาร นี่คือพื้นที่ของโรงแรมรถไฟชื่อ ‘โรงแรมราชธานี’

สมัยก่อนไม่มีการเดินรถโดยสารในเวลากลางคืน เพราะสะพานส่วนใหญ่เป็นไม้ อาจเกิดอันตรายได้หากมีวินาศกรรม รวมถึงสัตว์ป่าตามธรรมชาติต่างๆ ที่ทำให้รถไฟตกรางได้อย่างเช่นช้าง การเดินทางจึงมีแค่เพียงกลางวันและต้องแวะพักไปเรื่อยๆ จนถึงปลายทาง กรมรถไฟตั้งโรงแรมขึ้นมาตามสถานีใหญ่ที่มีการต่อรถ เช่น เชียงใหม่ ชุมพร หัวหิน ทุ่งสง หาดใหญ่ รวมถึงโรงแรมราชธานีในสถานีกรุงเทพอีกด้วย

โรงแรมราชธานีตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2470 เป็นโรงแรมขนาด 10 ห้อง มีระเบียงส่วนตัว ห้องอาบน้ำแบบน้ำร้อนน้ำเย็น มีห้องอาหาร และพัดลมไฟฟ้า หลักฐานที่ยืนยันว่าในสถานีกรุงเทพเคยมีโรงแรมอยู่นั้นคือบริเวณด้านหน้าห้องน้ำ พื้นที่นี้เคยเป็นล็อบบี้มาก่อน บันไดใหญ่ที่ทอดตัวในโถงมีผังรูปตัว U เดินขึ้นจากตรงกลาง เมื่อถึงชานพักก็จะแยกซ้าย-ขวา เพื่อขึ้นสู่ชั้น 2 และห้องรับรอง รวมถึงห้องตั๋วหมู่คณะ อดีตเคยเป็นห้องอาหารที่ทันสมัยและหรูหรามากในยุคนั้น

อนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวง

อนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวง
อนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวง

ที่ปลายชานชาลาที่ 12 มีอนุสรณ์สีขาวตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเหมือนกับจะเฝ้ามองทางรถไฟทุกทางในสถานีกรุงเทพ

นี่คืออนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวง พื้นที่ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ทรงตอกหมุดปฐมฤกษ์การเดินรถไฟครั้งแรกในสยาม เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2439 นอกจากนั้น ยังเป็นพื้นที่ของสถานีรถไฟกรุงเทพหลักแรกอีกด้วย บนพื้นหินอ่อนของอนุสรณ์ปฐมฤกษ์ฯ เป็นภาพสลักนูนต่ำพระบรมรูปของทั้งสองพระองค์และผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์สำคัญวันนั้น ในทุกๆ วันสถาปนากิจการรถไฟฯ ผู้บริหารและพนักงานจะมาทำพิธีสักการะที่อนุสรณ์แห่งนี้เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เรามีรถไฟใช้เดินทางจนถึงทุกวันนี้

โรงงานมักกะสัน

อู่ซ่อมรถไฟใหญ่ที่สุดในประเทศอายุ 108 ปี

โรงงานมักกะสัน

โรงงานมักกะสัน หรือ Makkasan Workshop เริ่มสร้าง พ.ศ. 2450 สร้างเสร็จ พ.ศ. 2453 แรกเริ่มไม่ได้ใหญ่โตขนาดทุกวันนี้ แต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2482 – 2488) โรงงานเสียหายเพราะถูกระเบิดหลายจุด เมื่อสงครามสงบจึงสร้างขึ้นใหม่ มีอาคารเก่าที่ไม่โดนระเบิดหลงเหลือเพียงไม่กี่หลัง

ความสำคัญอย่างหนึ่งของโรงงานมักกะสัน คือเป็นหลักฐานว่าประเทศเราเคยสร้างรถไฟโดยสารเองได้ และเป็นเครื่องบ่งบอก ‘ยุคเฟื่องฟูของกิจการรถไฟบ้านเรา

บรรยากาศการทำงานในโรงงานมักกะสันยุคปัจจุบันยังคงรูปแบบเดิมไว้หลายอย่าง เช่น ใช้เสียงหวอ (เหมือนเสียงสัญญาณเตือนภัยก่อนระเบิดลงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2) บอกเวลาเข้างานและเวลาพัก พนักงานยังต้องตอกบัตรแบบสมัยเก่า และยังเห็นบรรยากาศของโรงงานยุคเก่าทั้งตัวสถาปัตยกรรมของอาคาร รวมถึงการตกแต่งด้านใน

โรงงานมักกะสันทำอะไร

โรงงานมักกะสัน

ตลอดระยะเวลา 108 ปี โรงงานมักกะสันทำ 2 หน้าที่ คือหนึ่ง เป็นศูนย์ซ่อมรถจักรดีเซล รถดีเซลราง และรถโดยสาร สอง เป็นศูนย์ผลิตส่วนประกอบต่างๆ ของรถไฟ เช่น แท่งห้ามล้อ ยาง ซีลยาง ฝาครอบโคมไฟ

ราว 50 ปีที่แล้วโรงงานมักกะสันเป็นโรงงานรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ปัจจุบันทำหน้าที่แค่ซ่อม ไม่ได้ผลิตอีกแล้ว

เราเริ่มผลิตตู้โดยสารรถไฟเองใน พ.. 2510 ก่อนหน้านี้ต้องนำเข้าทั้งหัวรถจักรและตู้โดยสารจากประเทศอย่างญี่ปุ่น อังกฤษ เบลเยียม และเยอรมนี พันเอกแสง จุละจาริตต์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยในขณะนั้น มีแนวคิดว่าประเทศไทยน่าจะผลิตรถไฟเองได้ที่โรงงานมักกะสัน (จากที่เคยผลิตแต่ชิ้นส่วนต่างๆ) โดยเรียนรู้ด้วยวิธีการ Reverse Engineering หรือเรียนรู้จากการถอดส่วนต่างๆ ของรถไฟฝรั่งและญี่ปุ่นออกมาศึกษา

โรงงานมักกะสันเคยผลิตรถ ต.. (ตู้ใหญ่) คือตู้เหล็กที่บรรทุกสินค้า และรถ บ... (รถบรรทุกน้ำมันข้น-คนรถไฟบอกว่า ไม่เรียก บ.ท.ข. แต่เรียก บ.ท.ค.) ไว้บรรทุกน้ำมันเตาส่งไปตามโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งช่วงนั้นอุตสาหกรรมไทยกำลังเติบโต จึงใช้รถไฟขนวัตถุดิบต่างๆ

รถไฟไทยเคยขนทั้งสินค้าอุตสาหกรรมอย่างน้ำมันเตา สินค้าเกษตร (เช่น สับปะรดจากประจวบคีรีขันธ์) และสินค้าอุปโภคบริโภค (เช่น น้ำตาลทราย แป้งมันสำปะหลัง) แต่ปัจจุบันไม่ได้ใช้น้ำมันเตาแล้ว ส่วนสินค้าเกษตรถูกส่งทางรถยนต์มากกว่า (เพราะเร็วกว่า) จึงเหลือแค่การขนส่งสินค้าที่ไม่เน่าเสียเท่านั้น

พื้นที่โรงงานมักกะสันมีขนาด 356.25 ไร่ ประกอบด้วย 4 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์ซ่อมรถดีเซลรางและรถปรับอากาศ ศูนย์ซ่อมรถโดยสาร ศูนย์ซ่อมรถจักร และศูนย์แผนงานและการผลิต) สามารถซ่อมรถจักรและรถโดยสารได้ราวเดือนละ 12 คัน และดัดแปลงรถไฟตามนโยบายประจำปีได้ ด้วยฝีมือของบุคลากรเพียง 200 กว่าคน

หน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์โรงงานมักกะสัน

เมื่อ 50 ปีที่แล้ว การรถไฟฯ คือหน่วยงานเกรดเอที่ใครๆ ก็อยากเข้ามาทำงาน วิศวกรต้องจบจากมหาวิทยาลัยชื่อดังหรือจากประเทศเยอรมนีเท่านั้น เป็นยุคที่การรถไฟเฟื่องฟู โรงงานมักกะสันมีคนงานหลายหมื่นคน จนเกิดสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง ซึ่งต่อสู้เรียกร้องสิทธิ์ต่างๆ ที่คนงานพึงมีพึงได้

จุดเปลี่ยนที่ทำให้โรงงานมักกะสันเข้าสู่ยุคขาลงคือ พ.ศ. 2526 รัฐบาลมีคำสั่งให้ยุติการสร้างรถทุกชนิด เนื่องจากมองว่าซื้อถูกกว่าผลิตเอง และเริ่มตามเทคโนโลยีต่างประเทศไม่ทัน จุดเปลี่ยนอีกครั้งคือ พ.ศ. 2541 รัฐบาลสั่งให้ลดบุคลากร หากมีพนักงานออก 100 คน ให้รับแทนได้ 5 คน พนักงานการรถไฟฯ ในปัจจุบันจึงลดจากสามหมื่นคนเหลือประมาณหมื่นคน ส่วนพนักงานโรงงานมักกะสันก็เหลือเพียงสองร้อยกว่าคน

น่ารู้เกี่ยวกับรถไฟไทย

ร.5

สมัยรัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2398 สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียโปรดฯ ให้เซอร์จอห์น เบาว์ริง เป็นราชทูตเข้ามาเจริญพระราชไมตรี ขอทำหนังสือสัญญาใหม่ หนึ่งใน ‘ของขวัญ’ จากควีนวิกตอเรียคือ ‘รถไฟเล็ก จำลองย่อส่วนมาจากรถจักรไอน้ำและรถพ่วงจากรถไฟของจริงที่ใช้ในประเทศอังกฤษขณะนั้น ปัจจุบัน รถไฟเล็กดังกล่าวอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

สมัยรัชกาลที่ 5 ในพ.ศ. 2413 พระองค์เสด็จฯ ประพาสเมืองสิงคโปร์และเบตาเวีย พ.ศ. 2417 เสด็จฯ ประพาสอินเดีย ทั้งสองคราว ได้ทอดพระเนตรการสร้างทางรถไฟ และลองประทับรถไฟในอินเดีย จนอาจทำให้ทรงประทับพระราชหฤทัย และทรงตระหนักถึงความสำคัญของการคมนาคมทางรถไฟ

กิจการรถไฟในเมืองไทยเริ่มสมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2433 หลังจากที่รัชกาลที่ 5 มีพระบรมราชโองการสำรวจพื้นที่เพื่อทำการสร้างทางรถไฟหลวง และจัดสร้างทางรถไฟหลวงต่อมา

ส่วนหนึ่งของพระบรมราชโองการ ‘ประกาศสร้างทางรถไฟสยาม แต่กรุงเทพฯ ถึงนครราชสีห์มา วันที่ 1 มีนาคม 2433 มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“…ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า การสร้างหนทางรถไฟเดินไปมาระหว่างหัวเมืองไกล เป็นเหตุให้เกิดความเจริญแก่บ้านเมืองได้เป็นอย่างสำคัญอันหนึ่ง เพราะทางรถไฟอาจจะชักย่นหนทางหัวเมืองซึ่งตั้งอยู่ไกลไปมาถึงกันยากให้กลับเป็นหัวเมืองใกล้ ไปมาถึงกันได้สดวกเร็วพลัน การย้ายขนสินค้าไปมาซึ่งเป็นการลำบาก ก็สามารถจะย้ายขนไปมาถึงกันได้โดยง่าย เป็นการเปิดโอกาศให้อาณาประชาราษฎร มีทางตั้งการทำมาหากินกว้างขวางออกไป แลทำทรัพย์สมบัติกรุงสยามให้มากมียิ่งขึ้นด้วย ทั้งเป็นคุณประโยชน์ในการบังคับบัญชาตรวจตราราชการบำรุงรักษาพระราชอาณาเขต ให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นศุกข์ได้โดยสดวก…”

มีอะไรในโรงงานมักกะสัน

ตึกอำนวยการ

โรงงานมักกะสัน

ตึกหลังนี้สร้างขึ้นใหม่ เพราะหลังเก่าถูกทุบทิ้ง เนื่องจากมีการสร้างทางด่วนทับอาคารเดิม หากไปหาดูภาพเก่าๆ ของโรงงานมักกะสัน จะยังเห็นตึกอำนวยการหลังเก่าอยู่ อาคารหลังนี้เป็นทำงานของคณะผู้บริหาร ประกอบด้วยรองวิศวกรใหญ่ด้านโรงงาน วิศวกรอำนวยการ 5 ด้าน คือ ด้านศูนย์ซ่อมรถจักร ด้านศูนย์ซ่อมดีเซลราง ด้านรถโดยสาร ด้านแผนงานและการผลิต ด้านศูนย์คลังพัสดุ

อาคารคลังพัสดุ

โรงงานมักกะสัน

อาคารหลังนี้สร้างตั้งแต่ พ.. 2465 เดิมใช้ซ่อมรถจักรไอน้ำ ภายในจึงมีรางรถไฟทอดตัวตามยาว 3 ราง และมีคูคอนกรีตสำหรับให้ช่างซ่อมใต้รถ อักษร ‘ร.ฟ.ผ’ ที่หน้าอาคารย่อมาจาก ‘กรมรถไฟแผ่นดิน เป็นชื่อเรียกดั้งเดิมของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ชื่อนี้ใช้ระหว่างพ.ศ. 2464 – 2467 (มองเห็นได้จากบนทางด่วน)

โชคดีเหลือหลาย อาคารแห่งนี้ไม่ถูกระเบิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงอยู่รอดมาเป็นอาคารเก่าแก่ที่สุดของโรงงานมักกะสัน ปัจจุบันใช้เป็น ‘อาคารคลังพัสดุ’ สำหรับเก็บพัสดุซ่อมรถไฟ (คืออะไหล่ชิ้นส่วนของรถไฟและอุปกรณ์)

ข้างๆ คืออาคารที่เก็บรถพระที่นั่ง (รถไฟสำหรับพระเจ้าอยู่หัว) ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ถึงรัชกาลปัจจุบัน

ศูนย์ซ่อมรถจักร

ศูนย์ซ่อมรถจักร
ศูนย์ซ่อมรถจักร

ที่นี่ซ่อมหัวรถจักรดีเซล (หัวรถจักรเสียงดังๆ ไว้ลากตู้โดยสาร) รถดีเซลราง (ตู้โดยสารที่ขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง) และรถโดยสาร (รถเปล่า วิ่งเองไม่ได้ ต้องมีหัวจักรลาก)

รถจักรดีเซลอายุการใช้งานประมาณ 25 ปี ส่วนรถตู้โดยสารประมาณ 30 ปี ระหว่างการใช้งานจะมีการซ่อมบำรุงตามวาระ เมื่อครบอายุการใช้งาน ต้อง Refurbish คือรื้อทุกส่วนออกแล้วปรับปรุงใหม่ เช่น เปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ เดินสายไฟใหม่ เดินท่อลมใหม่ หลัง Refurbish จะใช้ได้อีก 15 – 20 ปี หากไม่ Refurbish จะใช้ได้อีกราว 5 ปี แล้วต้องตัดบัญชีทิ้ง

โรงซ่อมส่วนบนรถดีเซลราง

โรงซ่อมส่วนบนรถดีเซลราง
โรงซ่อมส่วนบนรถดีเซลราง

โรงนี้เคยใช้สร้างรถ แต่ปัจจุบันเป็นที่ซ่อมรถที่เกิดอุบัติเหตุชนกัน จุดเด่นของที่นี่คือมีทางรถไฟลากผ่านเข้าไปในโรงงาน เรียกว่า Rail Traverser (สะพานเลื่อน) ใช้ขนรถไฟเข้าโรงงาน เป็นเครื่องมือที่ใช้กันทั่วโลก ในไทยมีแค่ที่มักกะสันเท่านั้น และที่นี่ยังมีเครื่องไม้เครื่องมือเก่าที่ใช้ทำรถไฟ เช่น เครื่องตัด เครื่องพับ เครื่องดัด

โรงไม้

โรงไม้
โรงไม้

ที่นี่เคยเป็นส่วนสำคัญเมื่อครั้งโรงงานมักกะสันผลิตรถไฟเอง เพราะไม้ (โดยเฉพาะไม้สัก) เป็นส่วนประกอบหลักของตู้รถไฟ เช่น ที่นั่ง ผนัง บานเกล็ดไม้ ได้บรรยากาศย้อนยุคสุดๆ แต่โรงไม้แห่งนี้ กำลังจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ เพราะในปี 2564 – 2565 รถไฟที่มีไม้เป็นส่วนประกอบจะถูกตัดบัญชีทั้งหมด หมายความว่าจะไม่มีรถไฟ ‘เมดอินมักกะสัน’ เหลือให้บริการผู้โดยสารอีกต่อไป ถ้าใครอยากได้รถเก่าเหล่านี้เอาไปปรับปรุงใช้งาน ก็รอประมูลกันได้เลย

อนาคตของ ‘โรงงานมักกะสัน’

โรงงานมักกะสัน

เดือนมีนาคม 2561 คือช่วงเวลาเปิดประมูลพื้นที่ส่วนแรกของโรงงานมักกะสัน ขนาด 130 ไร่ เพื่อให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมทำโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อมต่อ 3 สนามบิน (สนามบินดอนเมือง อู่ตะเภา และสุวรรณภูมิ) ใช้แนวเส้นทางการเดินรถของ Airport Rail Link ที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน โครงการนี้มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2566 ซึ่งผู้ชนะการประมูลจะได้สิทธิ์ในการพัฒนาพื้นที่นี้ส่วนนี้ในเชิงพาณิชย์ด้วย

พื้นที่ส่วนที่ใกล้สถานีแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ราชปรารภ ซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารคลังพัสดุ มีแผนจะพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์และสวนสาธารณะ

ส่วนพื้นที่ตรงกลางของโรงงานมักกะสัน ยังมีอนาคตที่ไม่แน่ชัดว่าจะย้ายส่วนของโรงงานไปอยู่ที่จังหวัดชลบุรี หรือจะปรับขนาดพื้นที่ให้เล็กลงแล้วอยู่ที่เดิมต่อไป

คงต้องติดตามอนาคตของโรงงานมักกะสันกันต่อไป

 
ภาพ : การรถไฟแห่งประเทศไทย และ ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

Writers

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

นักเรียนเศรษฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแนวไปเรียนทำอาหารอย่างจริงจัง เป็น introvert ที่ชอบงานสัมภาษณ์ รักหนังสือ ซื้อไวกว่าอ่าน เลือกเรียนปริญญาโทในสาขาที่รู้ว่าไม่มีงานรองรับคือมานุษยวิทยาอาหาร มีความสุขกับการละเลียดอ่านหนังสือและเรียนรู้สิ่งใหม่ผ่านภาพถ่ายเก่าและประวัติศาสตร์สังคม

Avatar

วันวิสข์ เนียมปาน

มนุษย์ผู้มีรถไฟไทยเป็นเพื่อนสนิท และอยากแนะนำเพื่อนให้ชาวบ้านสนิทด้วย รักการเดินทางและชอบเดินเป็นชีวิตจิตใจ

Photographers

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล

Avatar

วันวิสข์ เนียมปาน

มนุษย์ผู้มีรถไฟไทยเป็นเพื่อนสนิท และอยากแนะนำเพื่อนให้ชาวบ้านสนิทด้วย รักการเดินทางและชอบเดินเป็นชีวิตจิตใจ