ICONCRAFT x The Cloud

 

คุณเคยเห็นเครื่องประดับที่มองแวบแรกแล้วเหมือนผึ้ง แต่พอเพ่งสายตากลับกลายเป็นแมลงวันตัวน้อยที่ช่างฝีมือจงใจแกะด้วยความละเอียดบางหรือเปล่า คุณเคยเห็นลายฉลุช่องเล็กกว่า 1 เซนติเมตร แล้วแอบคิดในใจว่าเลเซอร์คัตชัวร์ แต่พอเพ่งสายตากลับเห็นฝีคมของฟันเลื่อยสลับขึ้นและลงไม่เท่ากันบ้างหรือเปล่า เหล่านั้นคือเสน่ห์ของงานคราฟต์ที่เกิดจากหัวใจและจิตวิญญาณของ บอย-พงศ์สิทธิ ดำรงพานิชชัย เจ้าของแบรนด์ ‘WABY’ เครื่องประดับทองเหลืองทำมือ ชายหนุ่มผู้สัมผัสและคลุกคลีกับเพชร พลอย และอัญมณีมีค่าราคาแพง มานับไม่ถ้วน

แต่บอยเลือกหยิบทองเหลืองมาทำเครื่องประดับ ด้วยหวังจะเพิ่มมูลค่าและคุณค่าให้กับโลหะลูกผสมผ่านงานทำมือ โดยมี อ้อ-ไพลิน ประสาทศิลป์ คนข้างเคียงคอยเคียงข้างประสานงานและดูแลภาพรวมตั้งแต่เป็นร้านขนาดกะทัดรัดในตลาดนัดจตุจักรสู่งานแฟร์ของคนหัวใจคราฟต์ทั่วไทยและต่างประเทศ

WABY

ความหวังของเขาและเธอคือการสร้างชื่อให้งานออกแบบทองเหลืองไทย ดังไกลไปทั่วโลก!

ไม่ง่าย หากจะทำเครื่องประดับทองเหลืองไทยให้ครองใจลูกค้าทั่วโลก WABY มีสูตรเด็ดมัดใจอย่างไร ไปฟังกัน

WABY

 

กลับมาทำสิ่งที่พวกเราชอบกันอีกสักครั้ง

อ้อและบอยรู้จักกันปีสุดท้ายของการเรียนในมหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อนจะตัดสินใจเปิดร้านเครื่องประดับทองเหลืองแบรนด์ WABY (ตัวอักษรแรกของชื่อหุ้นส่วน 4 คน) ทั้งสองเคยทำเครื่องประดับขายด้วยกันกับแก๊งเพื่อนสมัยเรียน “เราเริ่มจากทำต่างหูขาย เพื่อนๆ เห็นแล้วก็ชอบ เราเองก็สนุกเวลาไปซื้ออุปกรณ์แล้วเอากลับมาออกแบบ พอเรียนจบต่างคนต่างไปทำงานประจำ ก็อยากจะสนุกแบบนั้นอีก เลยไปเดินสวนจตุจักร เผอิญมีพื้นที่ว่างพอดี ก็เลยคุยกันว่าจะกลับมาทำสิ่งที่พวกเราชอบกันอีกสักครั้ง” อ้อเล่าจุดเริ่มต้นความสนุกเมื่อ 13 ปีที่แล้ว

บอยบอกกับเราว่า เขาเคยทำงานในบริษัทออกแบบเครื่องประดับตามใจลูกค้าด้วยอัญมณีมีราคา แต่พอถึงจุดหนึ่งเขากลับมาทบทวนว่าทำไมไม่มีใครทำเครื่องประดับที่เห็นครั้งแรกแล้วร้อง ‘ว้าว’ คงจะง่ายหากเป็นเพชรหรือพลอย เงินหรือทองคำ แต่บอยเลือกหยิบทองเหลือง โลหะผสมที่น้อยคนจะเห็นค่าและไม่มองข้ามมาทำเครื่องประดับ

“ตอนนั้นคนไทยมองข้ามทองเหลือง กลายเป็นวัสดุไม่มีมูลค่า คนไม่นิยมเอามาทำเครื่องประดับ แต่เราอยากจะเพิ่มมูลค่าให้ทองเหลือง โดยใส่ความเป็นแฮนด์เมดและฉลุลายให้กลายเป็นงานคราฟต์เพื่อเพิ่มคุณค่าของทองเหลือง”

แม้ทองเหลืองจะเนื้อเหนียวและแข็ง ขัดให้ขึ้นเงาได้ไม่ง่าย แต่การเกิดสนิมยากถือเป็นข้อดีของเครื่องประดับสีทองนี้

WABY

 

เครื่องประดับที่สวย กวน แล้วยังตลก

ย้อนไปเมื่อสิบกว่าปีก่อน ถ้าใครกำลังตามหาเสื้อผ้าแปลกตา ของแต่งบ้านแหวกแนว โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นงานแฮนด์เมด ตลาดนัดจตุจักรคงเป็นคำตอบแรกในใจ เพราะที่นั่นเป็นแหล่งงานคราฟต์ของกรุงเทพฯ และสมัยนั้นเครื่องประดับทองเหลืองก็ฮิตไม่แพ้กัน คนขายเยอะ คนซื้อเยอะ คนใส่เยอะ และคนต่างชาติมาซื้อกลับประเทศก็เยอะ

บอยและอ้อตีตลาดทองเหลืองด้วยการทำป้ายชื่อตัวอักษร เป็นการเอาตัวอักษรทองเหลืองมาเรียงต่อกันเป็นชื่อหรือเป็นประโยคตามใจลูกค้าต้องการ ข้อดีของการเริ่มต้นฉลุทองเหลืองเป็นตัวอักษร ทำให้บอยรู้จักเหลี่ยมและมุมโค้ง การเก็บรายละเอียดด้านนอกและด้านใน และเป็นการฝึกทักษะของช่างทองเหลืองให้ทำงานฉลุแบบละเอียดได้ในอนาคต

WABY WABY

หลังฝึกทักษะฉลุจนชำนาญ บอยเริ่มขยับไปออกแบบลายฉลุที่มีรายละเอียดมากกว่าเดิมและเป็นตัวเองมากขึ้น

“ตอนหลังงานฉลุมันสามารถทำงานได้หลากหลาย เราก็เขยิบมาเล่นสิ่งของใกล้ตัวอย่างนาฬิกา เริ่มล้อเลียนสังคมบ้าง เพราะรู้สึกว่ามันควรจะมีเครื่องประดับที่คนเห็นแล้วกวนดี มันมาจากความคิดที่เราอยากใส่นาฬิกาแทค ฮอยเออร์ แต่ราคาแพง ก็เลยฉลุด้วยมือใส่เองแล้วกัน มันเป็นกิมมิกที่ทำไมคนไม่ทำเครื่องประดับมาเล่นกับความรู้สึกของคน เราเลยทำสิ่งนั้นเพื่อตอบสนองความต้องการบางกลุ่ม ให้คนเห็นแล้ว อ๋อ คาแรกเตอร์ของแบรนด์กวนแล้วยังตลกด้วยนะ”

WABY

บอยเล่าจบพร้อมบอกกับเราว่า นอกจากนาฬิกาล้อเลียนสุดทะเล้น เขายังมีคอลเลกชันหัวกะโหลกใส่แว่นเรย์แบนด์สุดเท่ขยับได้ หัวกะโหลกสวมมงกุฎของพระราชินีแทนมงกุฎพระราชา แม้แต่กะโหลกสุดโหดเขาก็เพิ่มดอกกุหลาบเข้าไปด้วย แถมยังแตกไลน์ออกมาเป็นหัวกะโหลกตัวการ์ตูนอย่างกระต่าย Bugs Bunny และเจ้าแมว Hello Kitty

  “เราเป็นคนมีมุมมองติดตลก เราอยากใส่อะไรก็ทำอันนั้น แต่เราเป็นคนไม่ใส่เครื่องประดับนะ เวลาทำงานก็จะสวมบทบาทว่าถ้าเราใส่อันนี้แล้วเท่ เราก็รู้แล้วว่าคนที่จะใส่เครื่องประดับเราบุคลิกประมาณไหน เราชอบทำงานที่คนเห็นแล้วอุทาน ‘เฮ้ย เจ๋ง!’ มันไม่ได้เจ๋งเพราะทำยาก แต่เจ๋งเพราะรูปลักษณ์แวบแรก แต่การที่เขาจะอุทานได้มันต้องเป็นของที่เขาเคยเห็นอยู่แล้ว แล้วเราเอามาออกแบบใหม่ เพิ่มความพิเศษเข้าไปอีกนิด”

 

เหมือนยิ่งกว่าของจริง

WABY

WABY

นอกจากบอยจะแทรกอารมณ์ขันผ่านเครื่องประดับ เขายังหยิบธรรมชาติรอบตัวมาใช้กับงานทองเหลือง ไม่ว่าจะสร้อยคอรวงข้าว ดีเทลเหมือนจริงละเอียดยิบ หรือด้วงตัวเบ้อเริ่มบนกำไลข้อมือลายต้นไผ่ สวยสมจริงเกินบรรยาย

“แนวคิดหลักในการทำเครื่องประดับของเราคือ Realistic แล้วก็ครอบมันด้วยความเป็นธรรมชาติ เราว่าธรรมชาติมีความสวยงามของตัวเอง อย่างหัวกะโหลกบางคนก็ว่าน่ากลัว แต่จริงๆ มันก็มีความสวยงามในตัวเอง อยู่ที่เราจะนำเสนอออกมาแบบไหน หรือแมลงวันก็มีความสวยงาม อยู่ที่ลูกค้าเขาจะมองแบบไหน

WABY WABY

“เราอยากให้คนมาซื้องานของเราเขาใส่แล้วมีความสุข อย่างน้อยให้เป็นสิ่งที่ช่วยจรรโลงจิตใจเขาได้” อ้อเฉลยตัวตนของแบรนด์ บอยเสริมต่อว่า “ดอกไม้ แมลง เป็นสิ่งที่คนเห็นและขายได้อยู่แล้ว แต่จะขายได้มากกว่านั้นถ้าเรารู้จักพลิกแพลง อย่างแมลงวันคนเห็นแวบแรกคิคว่าเป็นผึ้ง แต่เราตั้งใจแกะเป็นตัวแมลงวัน เพื่อชวนคนให้เข้ามาดูใกล้ๆ ว่ามันไม่ใช่ผึ้งนะ แต่เป็นแมลงวัน มันปลี่ยนมุมมองเขาไปแล้ว คนก็จะคิดว่าเจ๋ง งั้นซื้อดีกว่า พอเขาซื้อแล้วเอาไปใส่ คนก็จะถามต่อว่าเป็นตัวอะไร นั้นแสดงว่าเราทำให้เขาไปมีคอนเนคชันต่อ จากการแค่ใส่เครื่องประดับของเรา”

 

สิ่งที่เครื่องจักรทำไม่ได้

ตลอดระยะเวลาสิบกว่าปี WABY ตีตลาดเครื่องประดับทองเหลืองในตลาดนัดจตุจักรได้ดีเกินคาด มี Buyer จากต่างประเทศมากมาย แต่แล้วเขาก็ต้องถอยออกมาเพื่อเดินหน้าต่อ เพราะตลาดไม่ตอบสนองความต้องการของแบรนด์

“เราตัดสินใจปิดหน้าร้านจตุจักรเพราะความต้องการลูกค้าเปลี่ยน ความเป็นแมส โปรดักต์และการแข่งขันราคาทำให้คำว่าคราฟต์ถูกกลืนหายไป เราเลือกจะถอยออกมา แล้วทำงานคราฟต์ในพื้นที่ของเราเอง เลยเป็นเหตุผลให้เราเน้นออกงานตามแฟร์มากกว่า เราว่าเสน่ห์ของงานคราฟต์คือการแสวงหา เราอยากให้คนติดตามว่างานหน้าเขาจะเจออะไร”

แม้ลูกค้าต่างชาติจะลดลงจากตอนมีหน้าร้านอยู่ตลาดนัดจตุจักร แต่งานแฟร์ทำให้พวกเขาได้ลูกค้าชาวไทยที่สนใจงานคราฟต์เพิ่มมากขึ้น บอยยังเสริมอีกว่า ปัจจุบันถ้านึกถึงงานคราฟต์ต้องบินไปเชียงใหม่ ไกลแค่ไหนก็ยอม!

“เราว่าเชียงใหม่มีความคล้ายกับจตุจักร เป็นที่ที่รวมคนเข้าใจงานคราฟต์ไว้ด้วยกัน เราเคยไปออกงานขายที่เชียงใหม่ บรรยากาศและกลิ่นอายทำให้คนซื้อง่าย เราก็ขายคล่อง (หัวเราะ) เหมือนการขายกลับมาสนุกอีกครั้ง คนซื้อเขาก็มีบทสนทนากับเรา แต่พอมาออกงานขายในกรุงเทพฯ บรรยากาศจะจริงจัง เป็นการซื้อด้วยเหตุผลมากกว่าความรู้สึก

“จะว่าไปก็สลับกันนะ กรุงเทพฯ ควรจะเป็นเมืองออกแบบ แต่เชียงใหม่กลับสร้างคอมมูนิตี้ได้ดีกว่า เราคิดว่ากรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งกลายเป็นเมืองเครื่องจักรไปแล้ว ไม่ว่าคุณจะทำของคราฟต์ขนาดไหน ก็จะถูกมองว่าเป็นงานเลเซอร์คัต เราเคยเจอคำถามติดตลกว่า ทำไมเครื่องประดับราคาแพง เราบอกว่าเป็นงานฉลุมือ เขาบอกว่าทำไมไม่เลเซอร์คัตล่ะ เราว่าของบางอย่างเครื่องจักรทำไม่ได้ และเครื่องจักรเองก็ไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง” บอยเล่าความจริงจากหัวใจ

WABY WABY

 

ความคิดสร้างสรรค์เลียนแบบไม่ได้

บอยและอ้อต่อสู้กับคำว่า ‘งานเลเซอร์คัต’ มาตลอด ด้วยความกดดันทำให้เขาลองใช้เทคนิคเลเซอร์คัตกับงานเครื่องประดับ แต่ผลก็ไม่เป็นดั่งใจต้องการ จากช่องจิ๋วที่มือสามารถเลื่อยฉลุลงไปได้ แต่เลเซอร์คัตกลับทำไม่ได้

“การเก็บรายละเอียดเป็นการซื่อสัตย์กับงาน ไม่ใช่ว่าเลื่อยไปแล้วเหนื่อยก็พอแค่นั้น ถ้าทำแบบนั้นเราไม่สามารถบอกใครได้เลยว่าเราภูมิใจหลังจากลูกค้าใส่แล้วมาบอกว่า ‘งานของคุณสวยมาก’ เราเลยตั้งใจกับทุกขั้นตอน เพราะลูกค้าซื้อของเราด้วยเขารักในงานเรา เข้าใจในงานเรา เราไม่ควรหักน้ำใจเขาด้วยการทำแบบนั้น” บอยเล่าด้วยแววตาจริงใจ

WABY

เมื่อ 2 ปีก่อนบอยเริ่มทำงานพื้นผิว เขาหล่อทองเหลืองเลียนแบบฟอยล์สีเงิน แต่พอกลายเป็นฟอยล์สีทองเหลืองก็สวยไปอีกแบบ นอกจากความสนใจเทคนิคใหม่ อีกหนึ่งเหตุผลคือ เขาโดนชาวต่างชาติซื้อเครื่องประดับแทบจะทุกอย่างของเขาเพื่อไปลอกเลียนแบบ เหมือนแม้กระทั่งโลโก้ของแบรนด์ที่อยู่บนเนื้อทองเหลือง!

อ้อและบอยแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มเทคนิคสุดยากและเทกซ์เจอร์แปลกใหม่ให้กับงานทองเหลือง ดูเหมือนง่ายแต่คนก๊อปปี้ต้องควานหาสารพัดวิธีมาทำให้เหมือนแบบมากที่สุด วัดใจกันไปเลยถ้าคิดจะเอาชนะความคิดสร้างสรรค์

“กว่าจะออกมาเป็นเครื่องประดับสวยๆ ต้องผ่านหลายกระบวนการมาก ของบางอย่างมองแล้วเหมือนทำง่าย แต่การจะได้มาซึ่งคำว่า ‘ง่าย’ มันยากมาก่อน ของสวยคือของที่ถูกกลั่นกรองและคิดมาแล้วว่าจะสวยยังไงในขั้นตอนสุดท้าย”

ความใส่ใจจากสองมือจึงเป็นจุดแข็งที่ทำให้ WABY ยังคงโลดเล่นในตลาดเครื่องประดับทองเหลืองมานานกว่า 10 ปี และเรายังเชื่อในพลังของงานคราฟต์ ของเลียนแบบเหมือนก็จริงแต่เชื่อสิ ไร้ชีวิตและจิตวิญญาณจริงแท้แน่นอน

WABY WABY

 

เรามาไกลถึงอิตาลีเพื่อประโยคนี้

ก่อนพบกัน บอยและอ้อเพิ่งพา WABY ไปออกงานไกลถึงประเทศอิตาลี เขาและเธอหอบกำลังใจเต็มสองมือจากคำพูดเพียงไม่กี่ประโยคกลับประเทศมาด้วย บอยเล่าความประทับใจให้เราฟังว่า

“ตอนเราไปแสดงงาน มีลูกค้าคนหนึ่งเดินมาดูงาน ล่ามก็เข้าไปถามว่า ‘มีอะไรให้ช่วยหรือเปล่า’ เขาไม่พูดอะไร แต่ยืนนิ่งดูงาน แล้วก็พูดออกมาว่า ‘คุณไม่ต้องอธิบายแล้ว เพราะงานมันเล่าเรื่องราวทั้งหมดแล้วว่ามันทำอะไรได้บ้าง’ เราได้ยินเขาพูดแล้วน้ำตาจะไหล เรามาไกลจากกรุงเทพฯ ถึงอิตาลีเพื่อมาได้ยินประโยคนี้

“เขาทำให้เราสร้างความภูมิใจให้กับตัวเอง เหมือนเป็นการแนะว่างานของเราควรจะเป็นยังไงต่อ แต่จุดประสงค์ของเรายังเหมือนเดิม เราอยากเพิ่มมูลค่าให้กับทองเหลือง ถ้าคิดถึงงานทองเหลือง ต้องคิดถึงประเทศไทย”

หลังจากฟังจบเราถามบอยทันที สิ่งที่คนทำงานคราฟต์ต้องการคืออะไร

“งานคราฟต์แลกมาด้วยเวลา สิ่งที่จะแทนเวลาได้คือกำลังใจ คำชม หรือการที่คุณเข้าใจงานคราฟต์ ซื้อพวกเขากลับบ้านไปด้วยความรัก ซื้อไปด้วยความเข้าใจ ถ้ามันดีก็อยากให้กลายเป็นฟีดแบ็กกลับมา เพื่อสร้างคอมมูนิตี้ที่ดี ให้สังคมงานคราฟต์โตขึ้น แต่ต้องโตขึ้นด้วยตัวของมันเอง โตด้วยจิตวิญญาณของคำว่าคราฟต์ โดยคนซื้อกับคนขายเชื่อมต่อกัน และอย่าดูถูกเขาด้วยวงเงิน การดูถูกเขาด้วยจำนวนเงิน เท่ากับฆ่าจิตวิญญาณของเขา

“คำว่าแพงมันบาดใจเลยนะ เราอยากให้คนเข้าใจว่าคราฟต์มันไม่ได้ถูกกาหัวด้วยคำว่าแพง คำว่าคราฟต์มันถูกกำหนดและถูกกาหัวด้วยความใส่ใจและความรู้สึกของมือสองมือที่อยากจะถ่ายทอดเรื่องราวออกมา”

WABY

ภาพ : ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ไปเลือกช้อปและจับจองเครื่องประดับทองเหลืองสุดคราฟต์ ที่มีส่วนผสมจากหัวใจและสองมือ ได้ที่โซน ICONCRAFT ของ ICONSIAM 

และถ้าอยากลงมือประดิษฐ์เครื่องประดับทองเหลืองด้วยตัวเอง สมัครเวิร์กช็อป สารพัดช่าง 03 : The Smith ได้ที่นี่ เพื่อไปฝึกเป็นช่างฝีมือด้วยกันกับแบรนด์นี้และ Stories of Silver and Silk งานนี้รับเพียง 30 คนเท่านั้นนะ

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

Avatar

อัครักษ์ ยิ้มสอาด

เพิ่งเรียนจบจากมัธยมปลาย รักในการใช้ชีวิต ใช้ชีวิตไปกับการดูหนัง ใช้ชีวิตไปกับการถ่ายรูป ใช้ชีวิตไปกับการเดินเรื่อยเปื่อย และอีกไม่นานจะไปใช้ชีวิตกับเมืองเชียงใหม่