เรารู้จัก Lauren Yates ผ่านเว็บไซต์ Ponytail Journal ของเธอเมื่อประมาณ 7 – 8 ปีก่อน เธอเป็นนางแบบลูกครึ่งไทย-จีน-ออสเตรเลียที่สร้างบล็อกขึ้นมาเพื่อเล่าเรื่องศิลปะ ความสนใจ แฟชั่น และการใช้ชีวิตของตัวเอง

“เราเป็นผู้หญิงที่ชอบใส่เสื้อผ้าผู้ชาย” เธอให้คำจำกัดความสไตล์ของตัวเองไว้แบบนั้น

Lauren Yates W’menswear เสื้อผ้าสไตล์ผู้ชายสำหรับผู้หญิงที่นำประวัติศาสตร์มาเป็นคอนเซปต์ในแต่ละคอลเลกชัน

จึงไม่แปลกเลยที่ตู้เสื้อผ้าของเธอจะเต็มไปด้วยเสื้อและกางเกงผู้ชายมือสอง และเรามักเห็นเธอในชุดหลวมๆ ดูเท่แปลกตาไปจากนางแบบคนอื่นที่อายุไล่เลี่ยกัน จนได้รับฉายาจากนิตยสาร GQ ว่า ‘The Hottest Thing in Menswear’ และในฐานะคนตัวเล็กที่ชอบเสื้อผ้าทรงโคร่งๆ ก็แอบหวังว่าวันหนึ่งเธอจะทำแบรนด์เสื้อผ้าสไตล์ผู้ชายสำหรับผู้หญิงของตัวเองออกมา

แล้วเธอก็ทำ…

W’menswear เกิดขึ้นจากความบังเอิญและความโชคดีเมื่อราวๆ 5 ปีที่แล้ว โดยเริ่มจากคอลเลกชันเล็กๆ ที่ขายในประเทศญี่ปุ่นอย่างเดียว ขยับขยายมาเป็นหน้าร้านออนไลน์ และในทุกๆ ปี ลอเรนต้องเดินทางไปเทศกาลแฟชั่นวีกที่นิวยอร์กและปารีส เพื่อเอาสินค้าไปแสดงบายเออร์จากทั่วโลก จนตอนนี้มีสต็อกสินค้าอยู่ใน 10 ประเทศทั่วโลก 

W’menswear เสื้อผ้าสไตล์ผู้ชายสำหรับผู้หญิงที่นำประวัติศาสตร์มาเป็นคอนเซปต์ในแต่ละคอลเลกชัน
W’menswear เสื้อผ้าสไตล์ผู้ชายสำหรับผู้หญิงที่นำประวัติศาสตร์มาเป็นคอนเซปต์ในแต่ละคอลเลกชัน

เธอนำความสนใจส่วนตัวเกี่ยวกับศิลปะและประวัติศาสตร์มาใช้ในการทำแบรนด์ จุดเด่นของ W’menswear จึงไม่ใช่แค่เสื้อผ้าสไตล์ผู้ชายในไซส์ผู้หญิงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องราวข้างหลังเสื้อผ้าแต่ละชิ้น ไม่ว่าจะเป็นสีสัน แพตเทิร์น หรือวัสดุที่ใช้ ตั้งแต่คอลเลกชันที่ได้แรงบันดาลใจจากสงครามเวียดนาม สงครามเย็น ไปจนถึงประวัติการต่อสู้ในสนามรบของชนเผ่าม้งที่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อน 

ลอเรนตั้งใจให้ W’menswear เป็นแบรนด์ Slow Fashion ที่จะสร้างความสุขให้ทั้งคนทำและคนใส่ และหวังว่าเรื่องราวที่เธอแอบบอกผ่านเสื้อผ้าในแต่ละคอลเลกชันจะทำให้คนตั้งคำถามถึงสิ่งที่เกิดในโลกมากขึ้น 

Lauren Yates W’menswear เสื้อผ้าสไตล์ผู้ชายสำหรับผู้หญิงที่นำประวัติศาสตร์มาเป็นคอนเซปต์ในแต่ละคอลเลกชัน

เราเริ่มรู้จักคุณในฐานะผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Ponytailjournal.com ก่อนหน้านั้นคุณทำอะไรมาบ้าง

ตอนเริ่มทำ Ponytail Journal เราเป็นนางแบบที่กรุงเทพฯ นี่แหละ เริ่มทำเว็บไซต์เพราะอยากใช้สมองอีกซีกมากขึ้น อยากใช้บล็อกเป็นที่แสดงออกแพสชันที่มี แสดงออกตัวตนผ่านการเขียน ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อนเลย ตอนเรียนมหาวิทยาลัยก็เรียน Fine Art เอกถ่ายรูป แต่กลายเป็นว่าเราได้ใช้สกิลและประสบการณ์ที่มีในบล็อกนี้ ทีนี้ความสนใจในเรื่องสไตล์และแฟชั่นก็เข้ามาผ่านอาชีพนางแบบ

พอได้ทำบล็อกเราก็เริ่มได้ยินเสียงตัวเองมากขึ้น จากที่เป็นคนเงียบๆ ไม่ค่อยแสดงความคิดเห็นเท่าไหร่ ก็เริ่มรู้จักความคิดตัวเองมากขึ้น 

จากบล็อกเกอร์ก็มาเป็นนักเขียนคอลัมน์อย่างเต็มตัว

หลังจากนั้นประมาณปีหนึ่ง มีนิตยสารหลายหัวติดต่อมาให้เขียนคอลัมน์ อย่าง Condé Nast ในนิวยอร์ก หรือ Vogue ออสเตรเลีย ที่สุดท้ายเราตัดสินใจเซ็นสัญญาเขียนคอลัมน์ประจำเกี่ยวกับสไตล์ให้ นั่นทำให้เรารู้จักดีไซเนอร์เก่งๆ หลายคน และทำให้คนในวงการแฟชั่นรู้จักเรามากขึ้น เพราะพอคุณเป็นนักเขียนของ Vogue ทุกคนจะค่อนข้างเชื่อคุณ (หัวเราะ)

มีใครบ้าง

ยกตัวอย่างเช่น Nigel Cabourn ดีไซน์เนอร์ชาวอังกฤษ ครั้งหนึ่งเราไปร้านเขาที่ลอนดอน พีอาร์ของเขาบอกว่า ‘พรุ่งนี้ไนเจลจะมาที่ร้าน คุณอยากสัมภาษณ์เขาไหม’ เราตอบตกลงทันที พอได้คุยกันพบว่าไนเจลคือเด็กในร่างผู้ใหญ่ เขาขี้เล่น มีแพสชัน เราคุยกันถูกคอมาก มันเหมือนกับได้เจอเพื่อนเก่าเป็นครั้งแรก จำได้ว่าตอนนั้นเราอายุประมาณยี่สิบห้า ยังดูเด็กมากในสายตาคนนอก แล้วพนักงานคนหนึ่งของไนเจลสังเกตว่าเราไม่มีสมุดจด และไม่ได้อัดเสียงขณะสัมภาษณ์ เขาก็ไม่เข้าใจว่านั่นคือวิธีการทำงานของเรา เราจะอินไปกับสิ่งที่คุยจนไม่ต้องจดอะไร แต่พอบทสัมภาษณ์นั้นออกมา ไนเจลทึ่งกับข้อมูลที่เราจำได้จนส่งโน้ตมาขอบคุณ และเราก็เป็นเพื่อนกันตั้งแต่นั้น Ponytail Journal เลยเป็นทั้งที่ที่เราสร้างคอนเนกชัน ความน่าเชื่อถือ และเป็นคำตอบว่าเรามองโลกยังไง

Lauren Yates

ซึ่งก็เป็นไนเจลนี่แหละที่ทำให้มี W’menswear ในวันนี้

วันหนึ่งไนเจลบอกเราว่า คุณควรทำแบรนด์ของตัวเองนะ ซึ่งเราไม่รู้เรื่องเหล่านี้เลย ไม่รู้ต้องดีไซน์อะไรยังไง เขาก็บอกว่า ไม่เป็นไร คุณไม่ต้องรู้หรอกว่าดีไซน์ยังไง คุณมีไอเดียและสไตล์ที่โดดเด่นของคุณอยู่แล้ว ที่เหลือผมจะสอนคุณเอง แล้วเขาก็สอนทุกอย่างที่เราต้องรู้เกี่ยวกับการดีไซน์ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อผ้าหรือกระบวนการตัดเย็บ และเป็นช่วงเดียวกับที่แม่ให้เงินเรามาก้อนหนึ่งโดยมีข้อแม้ว่าต้องเอาไปทำธุรกิจเท่านั้น 

คำแนะนำของดีไซเนอร์ผู้คร่ำหวอดในวงการแฟชั่นในวันนั้นคืออะไร

เขาบอกให้เริ่มจากคอลเลกชันเล็กๆ ก่อน มีแค่หกแบบ สามสี ใช้วัสดุเหมือนกันหมดคือคอตตอน และเอาเสื้อผ้าวินเทจของตัวเองที่ชอบมาพัฒนาเป็นแพตเทิร์น

ช่วงแรกๆ W’menswear ขายแค่ในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นวิธีการที่ดีในการลองตลาด เพราะลูกค้าญี่ปุ่นพิถีพิถันที่สุดในโลก ละเอียดมาก แค่ข้อผิดพลาดนิดเดียว เขาก็ส่งสินค้าคืนแล้ว 

Lauren Yates
Lauren Yates

ในโลกที่ Fast Fashion ครองตลาดใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้ ทำไมคุณถึงอยากเปิดแบรนด์ Slow Fashion ที่มีความยั่งยืนมากกว่า

ตอนเราเริ่มเป็นโมเดล Fast Fashion ยังไม่นิยมเลยนะ มันน่าจะเข้ามาตอนประมาณปี 2005 เราเลยได้เห็นการเติบโตของมันมาเรื่อยๆ เหตุผลที่เราสนใจ Slow Fashion มากกว่าเพราะเราชอบศิลปะ ชอบตั้งแต่มัธยม มหาวิทยาลัย จนถึงวันนี้ ซึ่งความตั้งใจของศิลปินคือการได้โชว์สิ่งที่คนทั่วไปเห็นในทุกวัน แต่ไม่เคยคิดถึงมันจริงๆ อย่างในยุคอิมเพรสชันนิสม์ ศิลปินวาดภาพทุ่งหญ้า วาดภาพฟาร์ม ดอกไม้ เพราะผู้คนเห็นสิ่งเหล่านี้ทุกวัน แต่ไม่เคยหยุดมองมันอย่างตั้งใจจริงๆ ศิลปะทำให้เราได้คิดถึงสิ่งรอบตัว ช่วยให้เราคิดถึงจักรวาล และความหมายของการมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ โลกเรากำลังถูกทำลาย เพราะคนไม่ได้นึกถึงโลก

เรารัก Slow Fashion เพราะทุกคนที่ทำเสื้อผ้าของเรารักในสิ่งที่เขาทำ มันไม่ใช่แค่การทำงาน แต่เป็นการทำศิลปะ เราเรียกแบรนด์ของเราว่า Artisan Clothing เพราะทุกคนที่เกี่ยวข้องเป็นศิลปิน อย่างผ้าบางชนิดทำในจำนวนน้อยที่โรงงานเล็กๆ ในญี่ปุ่นด้วยเครื่องจักรรุ่นเก่า ใช้เวลานานมากกว่าจะเสร็จแต่ละชิ้น ไม่มีชิ้นไหนเหมือนกันเลย เพราะทุกคนมองว่าตำหนิเล็กๆ น้อยๆ เป็นความงาม ถ้าเหมือนกันทุกชิ้นคงน่าเบื่อแย่

Lauren Yates W’menswear เสื้อผ้าสไตล์ผู้ชายสำหรับผู้หญิงที่นำประวัติศาสตร์มาเป็นคอนเซปต์ในแต่ละคอลเลกชัน

ถ้าอย่างนั้นแฟชั่นสำหรับคุณคืออะไร

คือการแสดงออกตัวตนและคุณค่าของแต่ละคน สิ่งที่เจ๋งคือเกือบทุกคนบนโลกนี้สนใจแฟชั่นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะเขาสนใจที่จะแสดงออกคาแรกเตอร์ที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง โดยผ่านเสื้อผ้าที่เลือกสวมใส่ในแต่ละวัน

เราเห็นคำว่า W’menswear ครั้งแรกจากชื่อแบรนด์คุณ

W’menswear มาจากตอนที่เราเป็นนักเขียนแฟชั่น เวลาไม่มีคำอธิบายคอนเซปต์ที่เราอยากจะพูด เราจะคิดคำขึ้นมาใหม่ อย่างคำนี้คือคำอธิบายสไตล์ของเรา เราชอบใส่เสื้อผ้าวินเทจของผู้ชาย หรือกิจกรรมที่ชอบทำก็เป็นสิ่งที่ผู้ชายทำ ไม่ว่าจะตกปลาหรือถ่ายรูป แล้วสมัยนั้นมันยังไม่มีแบรนด์ไหนที่ทำเสื้อผ้าสไตล์ผู้ชายสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ ตอนตัดสินใจจะทำแบรนด์ มันก็ต้องเป็นคำนี้แหละ 

สนุกดีที่คอนเซปต์ของแต่ละคอลเลกชันมักเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์เสมอ มันเริ่มมาจากอะไร

เราเป็นผู้หญิงที่ชอบใส่เสื้อผ้าผู้ชายที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์ต่างๆ ในประวัติศาสตร์ ตอนเริ่มทำแบรนด์นี้ก็เพิ่งรู้สึกว่า เห้ย มันมีผู้หญิงเก่งๆ ในประวัติศาสตร์ที่ทำเรื่องยิ่งใหญ่เหมือนกันนะ เราต้องเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับพวกเธอบ้าง แต่ละคอลเลกชันจึงได้แรงบันดาลใจมาจากช่วงเวลาต่างๆ ในประวัติศาสตร์ ผ่านผู้หญิงเก่งที่สร้างอะไรดีๆ ในช่วงเวลานั้นๆ เรื่องของบางคนอาจจะไม่ได้เป็นที่รู้จัก แต่เราอยากส่งต่อเรื่องราวของพวกเธอ มันน่าจะมาจากตอนเขียนคอลัมน์เยอะๆ อ่านหนังสือเยอะ ชอบดูข่าว ก็เลยสนใจเรื่องเหล่านี้

W’menswear เสื้อผ้าสไตล์ผู้ชายสำหรับผู้หญิงที่นำประวัติศาสตร์มาเป็นคอนเซปต์ในแต่ละคอลเลกชัน
W’menswear เสื้อผ้าสไตล์ผู้ชายสำหรับผู้หญิงที่นำประวัติศาสตร์มาเป็นคอนเซปต์ในแต่ละคอลเลกชัน

คอลเลกชันล่าสุดที่กำลังทำอยู่เป็นเรื่องของใคร

ตอนนี้กำลังจะปล่อยคอลเลกชัน spring/summer 20 คอลเลกชันนี้เราได้แรงบันดาลมาจากนักวิทยาศาสตร์หญิงกลุ่มแรกที่ได้ใช้เวลากว่าสองสัปดาห์ใต้มหาสมุทรบริเวณหมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐฯ ในช่วงหลังสงครามเย็น คือระหว่างที่เกิดสงครามเย็น ทั้งสหรัฐฯ และรัสเซียพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเรือดำน้ำ ขีปนาวุธ อาวุธนิวเคลียร์ พอสงครามจบเลยกลายเป็นว่าวงการวิทยาศาสตร์ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเหล่านั้นมากที่สุด มีการทำแผนที่มหาสมุทร ทำให้เราค้นพบส่วนที่ลึกของมหาสมุทรในร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา 

กลับมาที่กลุ่มผู้หญิงที่เล่า พวกเธอเป็นนักชีววิทยาทางทะเล และเป็นผู้หญิงกลุ่มแรกที่ได้รับมอบหมายงานที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ พวกเธอใช้เวลาสองสัปดาห์ใต้มหาสมุทรในห้องปฏิบัติการใต้น้ำ มันอาจจะไม่ใช่โปรเจกต์ใหญ่โตอะไร แต่พวกเธอเป็นเหมือนนักวิทยาศาสตร์หญิงรุ่นบุกเบิกที่ได้มีส่วนร่วมในภารกิจสำคัญ โปรเจกต์นี้ชื่อ Tektite II ผู้นำโครงการคือ Sylvia Earle ซึ่งตอนนี้น่าจะอายุแปดสิบกว่าได้ และก็ยังเป็นนักชีววิทยาทางทะเลอยู่ ยังทำงานหนักเพื่อการรักษามหาสมุทร ยังดำน้ำ และทำวิจัยสำคัญๆ อยู่

W’menswear เสื้อผ้าสไตล์ผู้ชายสำหรับผู้หญิงที่นำประวัติศาสตร์มาเป็นคอนเซปต์ในแต่ละคอลเลกชัน

คุณตีความเรื่องราวในประวัติศาสตร์ให้ออกมาเป็นเสื้อผ้าได้ยังไง

เวลาต้องคิดคอนเซปต์ใหม่ เราจะไปอ่านเรื่องราวของใครสักคน หรือเวลามีข่าวเกี่ยวกับอะไรสักอย่าง เรามักจะอยากรู้ว่าทำไมมันถึงเกิดสิ่งนี้ขึ้น อย่างคอลเลกชันก่อนหน้านี้ เราตั้งคำถามว่าทำไมจึงเกิดสงครามเวียดนาม ส่วนคอลเลกชันนี้เราเริ่มจากคำถามเกี่ยวกับสงครามเย็นจนได้มาเจอเรื่องราวของผู้หญิงกลุ่มนี้ เรารีเสิร์ชข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง มีทั้งรูปถ่ายและเรื่องราว ปกติใช้เวลาทำรีเสิร์ชอย่างน้อยประมาณสามเดือนถึงได้ mood board หลังจากนั้นก็นำมาประยุกต์ใช้ในแง่ของดีไซน์ ถ้าสังเกตจะมีสีสันที่คล้ายกัน สีฟ้าของมหาสมุทร สีแดง สีเหลืองที่ใช้กับอุปกรณ์ความปลอดภัยที่เรียกว่า safety yellow วัสดุที่เลือกใช้ก็จะคล้ายคลึงกับสิ่งที่พวกเธอใส่มากที่สุด

ส่วนคอลเลกชันถัดไป autumn/winter 20 จะเป็นเรื่องของสงครามในประเทศลาวที่แทบไม่มีใครเคยได้ยินเลย เป็นเรื่องในยุคของประธานาธิบดี John F.Kennedy ที่เซ็นอนุสัญญาเจนีวาว่าจะไม่ส่งทหารไปประเทศลาวในช่วงสงครามเวียดนาม สิ่งที่เกิดขึ้นคือสหรัฐฯ ใช้ชาวม้งต่อสู้แทนตัวเอง เมื่อสงครามจบลง พรรคคอมมิวนิสต์ในลาวฆ่าชาวม้งจำนวนมาก โทษฐานที่พวกเขาต่อสู้ให้อเมริกา บางส่วนหนีข้ามแม่น้ำโขงมาค่ายผู้ลี้ภัยในไทย ก่อนจะลี้ภัยไปยังประเทศอื่นๆ 

คอนเซปต์พวกนี้ต้องใช้เวลาในการรีเสิร์ช มันใหญ่กว่าการตามเทรนสไตล์และสีของแต่ละซีซั่นไปมาก ทำไมต้องเล่าเรื่องเหล่านี้

เราชอบเรียนรู้ มีแพสชันกับเรื่องนี้ นั่นเป็นเหตุผลที่เรายังทำงานเจ็ดวันต่อสัปดาห์แม้จะเปิดแบรนด์มาห้าปีแล้ว เราไม่ได้พยายามเล่าเรื่องแทนพวกเขา แค่อยากให้คนรู้ว่ามีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น มันน่ากลัวมากที่ได้รู้ว่าในประวัติศาสตร์มีอะไรเกิดขึ้นมากมายที่เราไม่เคยรู้เลย เราถูกสอนให้ไม่ตั้งคำถาม แต่ถ้าไม่หัดถามว่าทำไมสิ่งนี้ถึงเกิดขึ้น มันก็จะเกิดขึ้นไปเรื่อยๆ 

W’menswear เสื้อผ้าสไตล์ผู้ชายสำหรับผู้หญิงที่นำประวัติศาสตร์มาเป็นคอนเซปต์ในแต่ละคอลเลกชัน
W’menswear เสื้อผ้าสไตล์ผู้ชายสำหรับผู้หญิงที่นำประวัติศาสตร์มาเป็นคอนเซปต์ในแต่ละคอลเลกชัน

แม้รู้ว่าลูกค้าอาจจะไม่ได้สนใจเลยก็ตาม

เราเข้าใจแหละว่าบางคนอาจจะแค่อยากซื้อเสื้อผ้าสวยๆ ดีๆ ใส่ ซึ่งไม่เป็นไรเลย แต่บางทีอาจจะมีเด็กรุ่นใหม่สนใจคอนเซปต์ของคอลเลกชัน ซึ่งเราเขียนไว้ทั้งบนเว็บไซต์และ lookbook แล้วไปศึกษาข้อมูลต่อก็ได้ แค่นี้ก็ดีใจแล้ว

คุณบอกในตอนแรกว่า คนที่ทำเสื้อผ้า W’menswear ในทุกกระบวนการต้องรักสิ่งที่เขาทำ

หัวใจสำคัญของธุรกิจเกี่ยวกับเสื้อผ้า คือความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับคนเย็บและซัพพลายเออร์ เรานับถือคนที่ทำเสื้อผ้าให้ W’menswear ถ้าเราไม่มีเขาหรือเขาไม่รักงานที่เขาทำ แบรนด์ของเราคงไม่มีความหมายเลย เราอยากทำงานกับคนที่ต้องการสร้างสินค้าที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ใช้วัสดุที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ และเย็บออกมาอย่างตั้งใจที่สุด เพราะเขานับถือเราและงานของตัวเอง ความสัมพันธ์นี้เลยเป็นสิ่งสำคัญ นั่นคือเหตุผลที่เราเดินทางตลอด เพราะอยากไปเยี่ยมคนทำเสื้อผ้า โรงงาน และซัพพลายเออร์ 

เราใช้โรงงานผ้าแห่งหนึ่งในสกอตแลนด์ที่ทำมาเป็นร้อยปีแล้ว เขายังทำผ้าด้วยเครื่องจักรเครื่องเดิม โรงงานสมัยใหม่ทำวัสดุแบบนี้ไม่ได้แล้วเพราะมันไม่เหมาะกับ mass production ถ้าดูผ้าจะสังเกตเห็นว่ามันมีตำหนิที่ไม่เหมือนกันเลยแต่ละผืน เพราะเส้นใยที่มาจากธรรมชาติและการทอจากเครื่องจักรเก่า ธรรมชาติไม่เหมือนกันทั้งหมด บางอย่างต้นสูง บางอย่างต้นเล็ก แต่มันเป็นความงดงามนะ ซัพพลายเออร์ส่วนใหญ่ของเราจึงอยู่ที่ญี่ปุ่น เพราะคนญี่ปุ่นเห็นความสวยงามในความบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ ในญี่ปุ่นเลยมีคนทำสินค้าแบบนี้เยอะมาก ในไทยเราก็เคยใช้ผ้าทอสีย้อมธรรมชาติของชุมชนในจังหวัดร้อยเอ็ด ที่มีคุณยายอายุเก้าสิบปีเป็นหนึ่งในทีมผลิต

Lauren Yates W’menswear เสื้อผ้าสไตล์ผู้ชายสำหรับผู้หญิงที่นำประวัติศาสตร์มาเป็นคอนเซปต์ในแต่ละคอลเลกชัน

ทุกวันนี้ คุณทำ W’menswear บนความเชื่อแบบไหน

เคยได้ยินมาจากพอดแคสต์ เขาบอกว่าการเดินทางของชีวิตคือการค่อยๆ เข้าใจตัวเองขึ้นเรื่อยๆ พอเข้าใจตัวเองแล้ว เราจะเข้าใจโลก เข้าใจคนรอบๆ ตัว อย่าง W’menswear เติบโตขึ้นมากในช่วงห้าปีที่ผ่านมา แต่ตัวเลขถือว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมทั้งหมด ไม่เหมือนการทำแบรนด์ Fast Fashion ที่เติบโตแบบก้าวกระโดด แต่มันทำลายโลก มันไม่ยั่งยืน

อาทิตย์ก่อนเราอ่านบทความที่บอกว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นคือต้นเหตุของสภาวะโลกร้อนอันดับสาม รองจากพลาสติกและน้ำมัน เพราะแบรนด์แฟชั่นใหญ่ๆ เปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค เมื่อปี 2005 แบรนด์ส่วนใหญ่มีแค่สองคอลเลกชันต่อปี แต่ตอนนี้แบรนด์ Fast Fashion มีถึงสิบเอ็ดคอลเลกชันในปีเดียว แบบนี้ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าต้องซื้ออีกๆ จากที่เคยซื้อเสื้อสเวตเตอร์ปีละสองตัว ก็อาจจะต้องมีหกตัว ใส่ได้แป๊บเดียวก็เลิกแล้ว ซึ่งพอราคาถูกลง คนก็ซื้อบ่อยขึ้น ใครจะรู้ในอีกห้าปีมันอาจจะเพิ่มเป็นยี่สิบคอลเลกชันต่อปีก็ได้

แล้ว W’menswear เตรียมตัวยังไงกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่น่าจะร้ายแรงขึ้นในอนาคต

เราไม่มีคำตอบหรอก เราไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหายังไง แต่สำหรับเรา ศิลปะช่วยให้เราเห็นใจโลกและคนรอบตัวมากขึ้น เราว่าการทำให้คนรู้สึกผิดไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด เพราะการซื้อผ้าบ่อยๆ ก็ไม่ใช่ความผิดของผู้บริโภคเสียทีเดียว มันเกี่ยวข้องกับนโยบายและการดำเนินงานของแบรนด์ใหญ่ๆ ที่กระตุ้นให้พฤติกรรมคนเปลี่ยน ถ้าจะแก้ปัญหาอาจจะต้องมองที่ภาพใหญ่ด้วย 

เราเลยทำในส่วนที่ทำได้ พยายามทำโปรเจกต์ศิลปะที่อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับการขายเสื้อผ้าเลย แต่มันมีจุดร่วมกันอยู่ คือพยายามแสดงให้เห็นความสวยงามของโลก เพื่อที่คนจะได้หันกลับมาดูแลโลกมากขึ้น

Lauren Yates W’menswear เสื้อผ้าสไตล์ผู้ชายสำหรับผู้หญิงที่นำประวัติศาสตร์มาเป็นคอนเซปต์ในแต่ละคอลเลกชัน

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographers

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล

Avatar

ปัณฑารีย์ วจิตานนท์

เชื่อว่าความทรงจำอยู่ในภาพถ่าย สะสมกลักฟิล์มบางครั้ง ทำประจำคือไปคอนเสิร์ต