Vulcan Coalition คือธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่สร้างอาชีพให้ผู้พิการประเภทต่างๆ มีโอกาสทำงานยุคใหม่ที่กำลังเป็นที่ต้องการอย่างด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ด้วยศักยภาพที่แท้จริงของตัวเอง ไม่ใช่เพียงเพราะความสงสารตามค่านิยมสังคมแบบเดิมๆ 

เมื่อช่วงต้นปี สตาร์ทอัพอายุ 2 ปีรายนี้มีผู้พิการเป็น Software Developer มากฝีมือ 3 คนและอาชีพที่เรียกว่า ‘AI Trainer’ อีกกว่า 200 ชีวิต ทำงานอย่างขยันขันแข็งร่วมกันทั้งผู้พิการและไม่พิการ ภายใต้วัฒนธรรมองค์กรสมัยใหม่ที่ใส่ใจความเป็นอยู่อย่างดี

หากมองผิวเผิน สองวงการนี้อาจดูอยู่ไม่ใกล้เคียงกันเสียเท่าไร แต่ จูน-เมธาวี ทัศนาเสถียรกิจ ผู้ร่วมก่อตั้งของ Vulcan Coalition มองเห็นปัญหาเรื่องโอกาสเข้าถึงงานอย่างเท่าเทียมของผู้พิการในสังคมไทย อาศัยประสบการณ์จากโครงการ The Guidelight ที่เธอตั้งใจขับเคลื่อนและล้มลุกคลุกคลานอยู่หลายปี สร้างสรรค์โมเดลธุรกิจที่ไม่เพียงสร้างรายได้และความภาคภูมิใจให้ผู้พิการ แต่ยังตอบโจทย์ภาคธุรกิจทั้งทางพาณิชย์และ CSR

“เราฝันจะเป็นบริษัท AI ในประเทศไทยที่แข่งขันกับต่างประเทศได้ โดยใช้ทักษะและความสามารถของผู้พิการขับเคลื่อน นี่คือเป้าหมายหนึ่งของ Vulcan” จูนกล่าวด้วยความเชื่อมั่น เธออยากเปลี่ยนภาพจำของสังคมที่อาจยังไม่เปิดโอกาสให้พวกเขาอย่างเท่าเทียม

Vulcan Coalition ธุรกิจเพื่อสังคมที่สร้างอาชีพให้ผู้พิการแสดงศักยภาพ ในฐานะ AI Trainer

ในประเทศไทย ต้น พ.ศ. 2563 เรามีผู้พิการในช่วงวัยทำงาน (15 – 59 ปี) ที่มีข้อมูลในระบบราว 845,000 คน 

ในจำนวนนี้มีเพียง 260,000 คนเท่านั้นที่ประกอบอาชีพ ส่วนใหญ่เป็นด้านเกษตรกรรมและรับจ้างทั่วไป ส่วนอีกราว 200,000 คนประกอบอาชีพไหว แต่ยังไม่มีงานทำ และอีก 320,000 คนไม่ระบุข้อมูลเรื่องอาชีพ

เดิมการเข้าถึงโอกาสและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกทางการศึกษา สาธารณูปโภคที่ออกแบบอย่างใส่ใจ และการงานที่ดีก็เป็นอุปสรรคสำหรับคนพิการมากอยู่แล้ว ยิ่งเผชิญ COVID-19 อาชีพหลายอย่างต้องหยุดชะงักหรือเสี่ยงภัย กลายเป็นปัญหากระทบชีวิตความเป็นอยู่รุนแรงขึ้นอีกระดับ

ในสถานการณ์เช่นนี้ เรานัดหมายจูนพร้อมชวน 3 Software Developers รุ่นใหม่จาก Vulcan Coalition อย่าง วิน-ปุณพจน์ เอื้อพลิศาน์, ณัช-ณัชพล การวิวัฒน์ และ เจเจ-ปริญวุฒิ โรจนเวทย์ มาร่วมวงพูดคุยถึงแนวทางแก้ไขปัญหาแบบพวกเขาที่ยังเดินหน้าได้ท่ามกลางวิกฤต

อ่านจบแล้ว สายตาและความคิดของคุณอาจไม่เร่งรีบแปะป้ายใครว่าเป็นผู้พิการตามค่านิยมเดิมๆ อีกต่อไป 

Vulcan Coalition ธุรกิจเพื่อสังคมที่สร้างอาชีพให้ผู้พิการแสดงศักยภาพ ในฐานะ AI Trainer
เจเจ ณัช วิน จูน (ซ้ายไปขวา)
01

แสงนำทาง

“ถ้าเปรียบเทียบเป็นเมล็ดพันธุ์ เราเคยเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดูโอกาสเติบโตน้อยมากเลย ไม่ได้มีความรู้เรื่องการทำธุรกิจ ไม่รู้วิธีการบริหารคน มีแค่ใจที่อยากทำเรื่องนี้จริงๆ เพราะสมัยมหาวิทยาลัยเราเจอเพื่อนที่ตาบอด” ซีอีโอสตาร์ทอัพผู้เรียนจบทางด้านกฎหมายเล่าเหตุผลที่เธอเลือกทำงานกับผู้พิการมานานกว่า 5 ปี

แรงบันดาลใจของจูนเริ่มจากการพบเพื่อนผู้พิการทางสายตาสมัยเรียนมหาวิทยาลัย เธอค้นพบว่าเขามีศักยภาพไม่ต่างอะไรจากคนทั่วไปเลย เพียงแต่ต้องเผชิญอุปสรรคในการเข้าถึงการเรียนรู้และขาดการสนับสนุน จึงก่อตั้ง The Guidelight ขึ้นมาเป็นแพลตฟอร์มรวบรวมหนังสือเสียงและสื่อการสอนให้ผู้พิการ ด้วยความหวังว่าจะเป็นแสงสว่างที่ฉายท่ามกลางความมืดมิด เดินเคียงข้างพวกเขาไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า

ระหว่างทาง จูนจริงจังถึงขั้นเรียนต่อหลักสูตร Social Entrepreneurship และได้รับคำชี้แนะจาก นุ้ย-พรจรรย์ ไกรวัตนุสสรณ์ แห่ง School of Changemakers และนักสร้างแบรนด์อย่าง บี๋-ปรารถนา จริยวิลาศกุล คอยพัฒนาตัวเองและโครงการเรื่อยๆ แรกเริ่มเป็นเหมือนโปรเจกต์เสริม แต่ต่อมาลาออกจากงานมาทำเต็มตัว

ก่อนเผชิญความจริงว่า ปัญหาที่เธอพยายามแก้ไขนั้นมีรายละเอียดมากกว่าที่เคยเข้าใจ

Vulcan Coalition ธุรกิจเพื่อสังคมที่สร้างอาชีพให้ผู้พิการแสดงศักยภาพ ในฐานะ AI Trainer

“ผู้พิการก็เหมือนคนไม่พิการ แต่อาจมีบางมุมที่ซับซ้อนกว่า เช่น บางคนมีสื่อการเรียน ขยัน แต่ครอบครัวบอกว่าออกมาทำงานหาเงินเถอะ เพราะอยากส่งลูกที่ไม่พิการเรียนมากกว่า หรือเรียนจบนะ แต่ไม่มีงานรองรับ การทำ The Guidelight ทำให้เราเข้าใจผู้พิการในหลายๆ มุมมากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องการศึกษา”

หลังลองผิดลองถูกพักใหญ่ และใช้เวลาร่วมกับผู้พิการเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน จูนเข้าใจปัญหาลึกซึ้งขึ้นถึงเชิงโครงสร้าง แต่ยังขาดความเชี่ยวชาญและโมเดลทางธุรกิจที่จะสานความฝันของเธอให้เป็นจริงอย่างยั่งยืน โดยไม่ต้องเฝ้ารอเงินทุนสนับสนุนเพียงอย่างเดียว

การแสวงหาหนทางทำให้เธอมีโอกาสพูดคุยกับ นิรันดร์ ประวิทย์ธนา ซีอีโอของ AVA Advisory ที่พัฒนาแพลตฟอร์ม AI สำหรับการลงทุนและคร่ำหวอดในวงการ

เมื่อแลกเปลี่ยนความคิดกัน จูนค้นพบเส้นทางใหม่ที่รอเธอเลือกเดินอยู่

Vulcan Coalition ธุรกิจเพื่อสังคมที่สร้างอาชีพให้ผู้พิการแสดงศักยภาพ ในฐานะ AI Trainer
นิรันดร์ ประวิทย์ธนา
02

เทพผู้สร้าง

“จริงๆ AI Scientist ไทยเก่งไม่แพ้จีนหรืออเมริกา แต่เราขาด Ecosystem ที่เอื้อให้พวกเขาเติบโต จะพัฒนา AI ให้ฉลาด ต้องมีข้อมูลที่มากพอ แต่ประเทศเรามีข้อมูลที่ใช้งานได้จริงไม่เยอะ หรือจะเข้าถึงได้ก็ต้องจ่ายแพง นักวิจัยหรือสตาร์ทอัพเล็กๆ จึงแข่งขันได้ยาก” จูนเล่าปัญหาในแวดวง AI ที่นิรันดร์เล่าให้เธอฟัง ในช่วงที่เธอครุ่นคิดว่าจะทำอย่างไรให้ผู้พิการมีอาชีพและความเป็นอยู่ที่ดี 

ปัจจุบัน AI มีบทบาทสำคัญในการดำเนินธุรกิจมาก ด้วยศักยภาพการทำงานซับซ้อนได้รวดเร็วโดยไม่รู้สึกเบื่อ ซึ่งต้องอาศัยการป้อนข้อมูลมหาศาลที่ผ่านการระบุและจัดจำแนก (Data Labeling) เข้าไปให้ AI เรียนรู้ คล้ายๆ กับการสอนเด็กให้เกิดปัญญาของตัวเอง บอกได้ว่าอะไรเป็นอะไร

แต่ประเทศเรายังขาดข้อมูลเหล่านี้ในหลายอุตสาหกรรม รวมถึงบุคลากรที่เป็นดั่งคุณครูของ AI

“เราถามพี่นิรันดร์เลยว่าคนพิการทำงานด้านข้อมูลนี้ได้ไหม ถ้าเป็นงานที่มีความต้องการและมีผู้พิการที่ทำได้ดี คนไม่น่าจะตัดสินพวกเขาแบบที่เคยเป็นมา”

Vulcan Coalition ธุรกิจเพื่อสังคมที่สร้างอาชีพให้ผู้พิการแสดงศักยภาพ ในฐานะ AI Trainer
Vulcan Coalition ธุรกิจเพื่อสังคมที่สร้างอาชีพให้ผู้พิการแสดงศักยภาพ ในฐานะ AI Trainer

เนื่องจากเป็นงานที่ฉีกขนบอาชีพเดิมๆ ของผู้พิการ ทั้งสองลองร่วมมือทดลองแนวคิดนี้กับผู้พิการทางสายตา 30 คนจาก The Guidelight ก่อน โดยชวน เต๋า-ฉัตราวุธ วิริยะสุธี นักพัฒนา AI มาสร้างแพลตฟอร์มให้พวกเขาสามารถฟังไฟล์เสียงและพิมพ์ข้อมูลตามที่ได้ยิน จับคู่กันแล้วนำไปพัฒนาเป็นโมเดล แบบ Text-to-Speech ที่จะช่วยแปลงไฟล์ตัวหนังสือเป็นเสียงได้อย่างรวดเร็ว มอบให้กับสำนักหอสมุดเบญญาลัย มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ 

ปรากฏว่าพวกเขาสามารถเรียนรู้ ทำงานได้ดีและเร็วกว่าคนทั่วไปราว 2 เท่า (ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลด้วย)

“เราเจอว่าผู้พิการทางสายตาจะระบุแหล่งที่มาของเสียงได้ละเอียดกว่า เพราะสมองจัดระเบียบการทำงานใหม่ เพื่อใช้รับประสาทสัมผัสส่วนอื่นแทนการมองเห็น ในผู้พิการทางการได้ยินก็มีแนวโน้มไปในลักษณะเดียวกัน (ให้ระบุข้อมูลภาพแทนเสียง) นี่กลายเป็นจุดแข็งของผู้พิการในการทำงาน”

เมื่อผู้พิการมีโอกาสใช้ศักยภาพของตัวเองสร้างอาชีพ AI Trainer ที่พวกเขาทำได้ดีจริงๆ โดยไม่ต้องอาศัยความสงสารเพื่อให้ได้งาน จูนตัดสินใจตั้งบริษัททันที โดยนิรันดร์เสนอให้ใช้ชื่อ ‘Vulcan’ เทพแห่งไฟ โลหะ และการช่าง ในเทพปกรณัมโรมัน ผู้สร้างสรรค์อุปกรณ์ต่างๆ ให้เทพบนสรวงสวรรค์ใช้งาน แม้ตัวเองจะตกลงมาและพิการก็ตาม

เพื่อสื่อความหมายว่าผู้พิการคือหนึ่งในบุคคลสำคัญหรือ ‘Vulcan Hero’ ที่จะช่วยขับเคลื่อนวงการ AI ในประเทศไทยให้ไปได้ไกล

“ตอนแรกผู้พิการหลายคนก็รู้สึกว่ายากและไกลตัว แต่หลายคนดีใจที่ได้ใช้ความสามารถของตัวเองจริงๆ และสิ่งที่เขาทำจะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้ ไม่ได้พูดด้วยความเกินจริงเลย”

03

สร้างรายได้ ขับเคลื่อนประเทศ

Vulcan Coalition เปิดรับผู้พิการทั้งทางสายตา การได้ยิน การเคลื่อนไหว และปัญญา ในตำแหน่ง AI Trainer ที่ทำงานจัดระเบียบข้อมูลตามความถนัดของแต่ละคน โดยมีการจัดสอนให้ก่อนเริ่มทำงานจริง และตำแหน่ง Software Developer ที่พัฒนาโมเดล AI และแอปพลิเคชันต่างๆ เหมือนคนไม่พิการ

เมื่อทำงานสำเร็จ ผลงานของพวกเขาจะส่งมอบต่อให้อีกหนึ่งภาคส่วนสำคัญอย่างภาคธุรกิจและรัฐบาล ที่ช่วยเติมเต็มโมเดลนี้ให้สมบูรณ์ผ่าน 2 วิธีหลักด้วยกัน

หนึ่ง ธุรกิจที่ทำงานเกี่ยวข้องกับ​ AI จ้าง Vulcan Coalition ให้พัฒนาโมเดล AI หรือจัดทำข้อมูลผ่านแพลตฟอร์มของ Vulcan ที่ออกแบบขึ้นใหม่เพื่องานประเภทนี้โดยเฉพาะ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้บริษัทจ้างงานผู้พิการตามกฎหมาย

เพราะพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มาตรา 33 กำหนดไว้ว่าผู้ประกอบการต้องจ้างผู้พิการเข้าทำงานในอัตราส่วน 1 ต่อ 100 คน หรือจ่ายเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแทนตามมาตรา 34 ไม่เช่นนั้นต้องจ้างเหมาบริการคนพิการตามมาตรา 35 แทน ซึ่งบริษัทสามารถจ้างงานผู้พิการที่ผ่านอบรมการทำข้อมูลของ Vulcan เพื่อปฏิบัติตามกฎระเบียบนี้

Vulcan Coalition ธุรกิจเพื่อสังคมที่สร้างอาชีพให้ผู้พิการแสดงศักยภาพ ในฐานะ AI Trainer
Vulcan Coalition ธุรกิจเพื่อสังคมที่สร้างอาชีพให้ผู้พิการแสดงศักยภาพ ในฐานะ AI Trainer

แต่หากองค์กรไม่ได้มีโปรเจกต์ด้าน AI ที่ต้องการความช่วยเหลือ วิธีการที่ 2 ที่พวกเขาทำได้คือลงทุนใน CSR (Corporate Social Responsibility) แทนที่จะต้องใช้จ่ายเงินเพิ่ม พวกเขาสามารถเปลี่ยนเงินที่ต้องจ่ายเข้ากองทุนฯ มาจ้างผู้พิการที่ผ่านอบรมกับ Vulcan เพื่อทำงาน 2 โปรเจกต์เพื่อสังคมที่มีอยู่ในปัจจุบันแทนตามมาตรา 35

หนึ่ง พัฒนาโมเดล Text-to-Speech เพื่อทำหนังสือเสียงหนึ่งหมื่นเล่ม บริจาคให้สำนักหอสมุดเบญญาลัยฯ

สอง ทำ Open Dataset ร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย เพื่อให้นักวิจัย สตาร์ทอัพ หรือใครก็ตามที่อยากทำโมเดล AI ด้านเสียง มีข้อมูลไปใช้สอนโมเดลของเขา

“เรามองว่านี่เป็นโมเดลที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์หมดเลย บริษัทได้ทำ CSR และช่วยประเทศไทยให้มีข้อมูลมากขึ้น ในอนาคต ผู้พิการอาจเห็นโปรดักต์ AI ที่เกิดจากชุดข้อมูลที่เขาทำ มันจะเป็นความภาคภูมิใจของพวกเขา” จูนเล่าความตั้งใจ พร้อมเสริมว่าทาง Vulcan เป็นผู้ดูแลเรื่องเอกสารการจ้างงานทั้งหมดโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย รวมถึงจัดทำงานรายงาน เพื่อบอกว่าผู้พิการทำอะไรบ้างในแต่ละโปรเจกต์

สิ่งที่ผู้พิการได้รับ นอกจากเงินเดือน (ประมาณ 9,250 บาท ทำงาน 4 ชั่วโมงต่อวัน) Vulcan ยังเปิดโอกาสให้ผู้พิการเลือกจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมให้ Vulcan นำไปพัฒนา AI โดยพวกเขาแต่ละคนจะถือเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา และได้รับเงินปันผล 30 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ที่เกิดขึ้นจากข้อมูลที่ตัวเองดูแล ใครทำมากเท่าไร ยิ่งได้มากเท่านั้น

Vulcan Coalition ธุรกิจเพื่อสังคมที่สร้างอาชีพให้ผู้พิการแสดงศักยภาพ ในฐานะ AI Trainer

ในตอนแรก การตามหาลูกค้าองค์กรที่เข้าใจประเด็นนี้และยินดีสนับสนุนไม่ใช่เรื่องง่าย จูนจึงลองชวนบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ที่เคยร่วมงานกันตั้งแต่สมัย The Guidelight มาร่วมอุดมการณ์ต่อ เมื่อมีองค์กรใหญ่รายแรกเข้าร่วม องค์กรอื่นๆ ก็เริ่มรู้จักและสนใจสนับสนุน

ล่าสุด Vulcan ร่วมมือกับ SC Asset ให้ผู้พิการช่วยจัดทำข้อมูลและพัฒนาโมเดล AI ใน Smart Home ให้ผู้อยู่อาศัยสั่งการอุปกรณ์ภายในบ้านได้ด้วยเสียง 

“เราดีใจที่เทคโนโลยีนี้จากผู้พิการกำลังถูกนำไปใช้จริงในบ้านราคาหลักสิบล้านบาท สิ่งที่พวกเขาทำมันจับต้องได้ เกิดประโยชน์ และเป็นอิมแพ็คจริงๆ” 

Vulcan Coalition ธุรกิจเพื่อสังคมที่สร้างอาชีพให้ผู้พิการแสดงศักยภาพ ในฐานะ AI Trainer
04 

ความฝันที่ผู้อื่นไม่อาจปิดกั้น

“ตอนเด็ก ผมเคยบอกครูว่าอยากเป็นโปรแกรมเมอร์ แต่หลายคนคิดว่าคนตาบอดทำไม่ได้หรอก เป็นอย่างอื่นดีกว่า แต่ผมรู้สึกว่าถ้าเรารักอะไรสักอย่าง เราควรลองทำสิ่งนั้นก่อน” วิน Software Developer ของ Vulcan ผู้กำลังเรียนปริญญาโทด้าน Network Security ควบคู่ไปด้วยเริ่มเล่าชีวิตของเขาให้เราฟัง

วิน ณัช เจเจ ล้วนหลงใหลในความมหัศจรรย์ของคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ยังเด็กและไขว่คว้าความฝันเรื่อยมา แม้จะเผชิญคำสบประมาท ทั้งสามคนมีประสบการณ์การศึกษาด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์-ดิจิทัล จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และตอนนี้ ทั้งสามคนกำลังร่วมกันพัฒนาแอปพลิเคชันมือถือให้ลูกค้าของ Vulcan

“ผมสนใจงานนี้เพราะว่ามันช่วยให้คนใช้ชีวิตสะดวกขึ้น และอยากพิสูจน์ให้คนเห็นว่าผมทำงานนี้ได้ด้วย ผมจะภูมิใจในความสวยงามของแอปพลิเคชัน” เจเจ ผู้ถนัดด้าน Front-End และ Data Visualization เสริมเหตุผลที่เขาเลือกงานสายนี้ และแบ่งปันว่าสิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้จาก Vulcan คือการทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้อื่น

ความสนใจทำให้พวกเขาแสวงหาสื่อและวิธีการเรียนรู้ในแบบของตัวเอง เช่น ณัชและเจเจอาศัยการฟังและสัมผัสในการเรียนรู้วิธีเขียนโปรแกรม ประสบการณ์ส่วนตัวเหล่านี้ทำให้ทั้งสามเข้าใจปัญหา จนออกแบบระบบและแอปพลิเคชันต่างๆ ได้อย่างใส่ใจ ครอบคลุมความต้องการของผู้ใช้งานกลุ่มเดียวกัน

“ผมเน้นย้ำมากกับพี่ๆ ในวงการ User Experience ว่าควรตื่นตัวเรื่องนี้ ถ้าเป็นไปได้ ควรมีผู้พิการอยู่ในทีมออกแบบเลย เรื่องการเข้าถึง (Accessibility) ของผู้ใช้งานกลุ่มต่างๆ ควรจะอยู่ตั้งแต่ขั้นวางแผนพัฒนาเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันใดๆ เลย ถ้ามาคิดเรื่องนี้ทีหลัง ต้นทุนมันจะสูงกว่าในการแก้ด้วย” วินอธิบาย มีหลายสิ่งในสังคมไทย ทั้งในโลกออฟไลน์และออนไลน์ที่เราคงเคยพบเห็นว่าไม่ได้ออกแบบมาเพื่อผู้พิการเลย (หรือแม้แต่คนทั่วไปด้วย)

Vulcan Coalition ธุรกิจเพื่อสังคมที่สร้างอาชีพให้ผู้พิการแสดงศักยภาพ ในฐานะ AI Trainer
Vulcan Coalition ธุรกิจเพื่อสังคมที่สร้างอาชีพให้ผู้พิการแสดงศักยภาพ ในฐานะ AI Trainer

เช่น ปุ่ม Next หรือ ต่อไป ในแอปพลิเคชัน คนทั่วไปมองลูกศรทางขวาจะพอเข้าใจความหมายทันที แต่สำหรับผู้พิการทางสายตา บางทีโปรแกรมอ่านจอภาพก็อ่านสัญลักษณ์ไม่ออก หรืออ่านออก แต่ไม่เข้าใจบริบท เพราะคำว่าทางขวาไม่ได้มีความหมายกับผู้พิการทางสายตาเสียเท่าไรนัก

เรื่องเหล่านี้สามารถคิดและออกแบบให้ดีขึ้นได้ตั้งแต่ต้น และยังต้องการผู้พิการจำนวนมากมามีบทบาทขับเคลื่อน ออกแบบร่วมกัน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในสังคม

“เรามักถูกปิดกั้นด้วยกรอบทางสังคม หลายครั้งจากคนใกล้ตัว แต่ผมอยากให้มุ่งมั่นในสิ่งที่เราเชื่อ ลองพิสูจน์ด้วยตัวเอง ถ้าทำไม่ได้ ไม่ได้เพราะอะไร ในขณะเดียวกัน ผมอยากให้คนทั่วไปให้โอกาสผู้พิการด้วย

“ไม่ต้องแปะป้ายว่าเขาเป็นคนพิการ เพราะเราอาจมีอคติปน และตั้งธงไว้แล้วว่าเขาทำไม่ได้ แต่จริงๆ ผู้พิการเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีความฝันเหมือนกัน เขาอาจทำเหมือนเพื่อนคนอื่นไม่ได้ แต่หลายอย่างมันมีวิธีอื่นทำแทนได้นะ” วินกล่าว สิ่งที่เขาทำตอนนี้คงลบอคติโดยไม่รู้ตัวในใจใครหลายคนไปได้แล้ว

05 

เราอยากทำงานด้วยกัน

“หนึ่งในดีเอ็นเอของ Vulcan คือการเคารพความเหมือนและแตกต่างในตัวของทุกคน” จูนกล่าวปัจจัยสำคัญที่ทำให้สมาชิกของ Vulcan ทั้งพิการและไม่พิการทำงานร่วมกันราบรื่น

ก่อนผู้พิการตำแหน่งใดๆ เริ่มทำงานจริง Vulcan จะจัดปฐมนิเทศให้พวกเขามีพื้นที่เล่าข้อจำกัดในการทำงานของตัวเองก่อน เช่น ผู้พิการทางสายตาแต่ละคนมีอาการไม่เหมือนกัน อาจมองเห็นลางๆ หรือตาบอดกลางคืน หรือในกรณีผู้พิการทางการเคลื่อนไหว แต่ละคนมีรูปแบบที่แตกต่างกัน ทำให้ต้องปรับการดูแลให้เหมาะสมด้วย

เมื่อรับฟังแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือการแสวงหนทางทำงานร่วมกัน

“เราไม่ปิดกั้นและคิดว่าคุณทำสิ่งนี้ไม่ได้ แต่จะถามว่าควรทำอย่างไรให้ทำงานร่วมกันได้ เพราะเราอยากทำงานกับคุณ เป็นสิ่งที่ Management Team ของ Vulcan เรียนรู้ที่จะทำด้วยกันทั้งหมด 

“เช่น พี่เต๋าเป็นหัวหน้าทีมของวิน ณัช เจเจ เขาเชื่อว่าทุกคนทำได้ แค่ชีวิตมีข้อจำกัดไม่เหมือนกัน พี่เต๋าจะรู้ว่าแต่ละคนเป็นอย่างไร แล้วคิดต่อว่าจะบริหารอย่างไร” จูนเล่าวัฒนธรรมองค์กรที่ตั้งใจสร้าง

Vulcan Coalition ธุรกิจเพื่อสังคมที่สร้างอาชีพให้ผู้พิการแสดงศักยภาพ ในฐานะ AI Trainer

ตั้งแต่เริ่ม Vulcan ออกแบบโครงสร้างการทำงานให้ทีมงานสามารถ Work From Home เพื่อให้เหมาะกับวิถีชีวิตของผู้พิการ โดย AI Trainer จะมี Group Lead ที่เป็นผู้พิการคอยประกบดูแลการทำงาน เช่น ณัชเป็นผู้พิการทางสายตาและเป็น Group Lead ที่ดูแลสมาชิกที่พิการทางสายตาอีกราว 30 คน สื่อสารกันผ่านทางออนไลน์

“ผมพยายามประสานให้ทุกคนได้มีโอกาสพูดคุยและฟังมุมมองกัน มีให้รีวิวการทำงานในแต่ละสัปดาห์ เจอปัญหาอะไรจะได้หาวิธีแก้ไขด้วยกัน” ณัชเล่า แต่ละสัปดาห์ Group Lead จะเช็กอินกับสมาชิกว่าเป็นอย่างไรบ้าง และเปิดกว้างให้เสนอว่าควรพัฒนาอะไรต่อไป 

นอกจากนี้ Group Lead ยังมีการคุยกับทีมพัฒนาและบริหาร เพื่อแลกเปลี่ยนสถานการณ์ โดยทีมบริหารจะคอยถามว่า Vulcan ช่วยอำนวยความสะดวกให้พวกเขาทำงานดีขึ้นได้อย่างไรอีกบ้าง

“บางทีการทำงานที่เป็นอุปสรรคไม่ได้เกิดขึ้นเพราะพวกเขา แต่อาจเป็นเพราะเราหรือแพลตฟอร์มยังมีปัญหา เราคิดว่ามันไม่ใช่การแก้ที่ฝั่งใดฝั่งหนึ่ง แต่ต้องทำงานร่วมกัน” ซีอีโอผู้ทำงานด้วยความเข้าใจเล่า

06

โอกาสที่เท่าเทียมเป็นของทุกคน

“หนึ่งอุปสรรคใหญ่คือ โอกาสทางการศึกษาและทำงานของคนพิการในปัจจุบันยังน้อยมากๆ ผู้พิการคนหนึ่งจะไปเรียนคณะที่ไม่เคยมีคนพิการประเภทเดียวกันเรียนมาก่อน เป็นสิ่งที่แทบเป็นไปไม่ได้เลย” ณัชเล่าปัญหาที่เพื่อนพ้องน้องพี่เขากำลังพบเจอ หลายครั้งผู้พิการต้องผ่านกระบวนการซับซ้อนกว่าคนทั่วไป จนน่าทอดถอนใจเกินกว่าจะทำอะไร

เมื่อผู้พิการไม่เห็นหนทาง ผสมซ้ำกับการโดนคำพูดดับฝันอย่างไร้ความรับผิดชอบจากคนอื่นอยู่เรื่อยๆ พวกเขาจำนวนไม่น้อยจึงปล่อยชีวิตให้ผ่านเลยไป หากไม่มีองค์กรใดเห็นศักยภาพ ก็เลือกได้แต่งานรายได้น้อยและหมดไฟในที่สุด กลายเป็นวงจรอันน่าเศร้าต่อไปไม่รู้จบ

จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่สถาบันการศึกษาและองค์กรควรเปิดโอกาสให้ผู้พิการอย่างเท่าเทียม แม้รู้สึกยากบ้างในช่วงแรกก็ตาม

“หลายคนมีเจตนาดี แต่ไม่รู้ว่าจะทำงานกับคนพิการอย่างไร เพราะตั้งแต่เกิดมา แทบไม่เคยมีใครสอนเราเรื่องการใช้ชีวิตร่วมงานกับผู้พิการเลย ไม่แปลกที่เกร็งโดยธรรมชาติ ทำตัวไม่ถูก

“แต่สิ่งสำคัญคือ องค์กรควรสร้างวัฒนธรรมว่าการทำงานกับผู้พิการเป็นเรื่องปกติขององค์กร และเรียนรู้ว่าควรอยู่ร่วมกันอย่างไร ซึ่งผู้นำองค์กรจะเป็นตัวอย่างสำคัญที่ทำให้คนเห็นว่าเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้”

เมื่อโครงสร้างเอื้ออำนวยและองค์กรต่างๆ ล้วนให้โอกาสอย่างเท่าเทียม เมื่อนั้นผู้พิการคงมีโอกาสทำงานได้ทุกตำแหน่งที่ใจอยาก ไม่เว้นแม้แต่ซีอีโอ

“ในอนาคต ตำแหน่งซีอีโอของ Vulcan Coalition เองก็อาจเป็นของผู้พิการก็ได้ แต่ไม่ว่าจะตำแหน่งใด ถ้าเขามีศักยภาพและพยายาม มันไม่ต้องมาแปะป้ายเลยว่าพิการหรือไม่พิการ” 

Vulcan Coalition ธุรกิจเพื่อสังคมที่สร้างอาชีพให้ผู้พิการแสดงศักยภาพ ในฐานะ AI Trainer
07

การเรียนรู้ของชีวิต

“ตอนทำ The Guidelight มีช่วงที่ล้มติดๆ กัน และทำอะไรก็ผิดไปหมดทุกอย่าง เลี้ยงดูตัวเองไม่ได้ มีคนบอกเราว่าให้ตาย คนคนนี้ก็ทำไม่สำเร็จหรอก หรือเราทำสิ่งนี้เพราะอยากได้เงินจากผู้พิการ มันเป็นการทำร้ายความเชื่อและคุณค่าของเราจนเริ่มหมดหวังกับสิ่งนี้” จูนเล่าถึงช่วงเวลาที่มืดมนของช่วงชีวิต

การทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมไม่เคยง่าย ปัญหานั้นแสนซับซ้อนชวนปวดหัว สิ่งสำคัญที่ยังทำให้จูนไม่ล้มเลิกและทำต่อจนถึงทุกวันนี้ คือการพบเจอคนที่เข้าใจในสิ่งที่ทำและเชื่อในตัวเธอ เป็นแรงผลักดันสำคัญให้สู้ต่อแม้ต้องแลกกับอะไรมากมาย

นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาสังคมและเปลี่ยนชีวิตผู้คนแล้ว การเดินบนเส้นทางนี้ทำให้ตัวจูนเองเติบโตอย่างก้าวกระโดดในโลกการทำงาน และรู้จักตัวเองมากขึ้นด้วย

“เราเจอว่าสิ่งที่ตัวเองชอบคือการสร้าง Ecosystem อาจเพราะเราไม่ใช่เมล็ดพันธุ์ที่ดี แต่เราเติบโตได้เพราะมี Ecosystem ที่ดี ได้รับโอกาสจากคนอื่น เราเลยอยากออกแบบตรงนี้ให้ทุกคนเติบโตได้เหมือนกัน” จูนกล่าวด้วยรอยยิ้ม หากพืชอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ย่อมเติบโตอย่างงดงาม

เป้าหมายต่อไปเร็วๆ นี้ของ Vulcan Coalition คือการขยับขยายให้งานเข้าถึงผู้พิการหลักพัน และสร้าง Career Path ใหม่ เช่น ฝึกทักษะการบริหารให้ Group Lead เป็นผู้นำที่มีทักษะการดูแลทีมได้ดีขึ้น หรือเปิดตำแหน่งอย่าง Data Specialist

และในอีก 10 ปีข้างหน้า ทีมงานของ Vulcan อาจเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน GDP 1 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ด้วยข้อมูลและ AI ที่ผ่านการสอนโดยคนพิการ

อาจดูไกลตัว แต่ทุกความจริงเริ่มต้นจากความฝันที่ไม่ยอมให้ใครมาจำกัดกรอบ และหวงแหนรักษาไว้ด้วยชีวิตทั้งนั้น

จูน ณัช วิน เจเจ และทีมงาน Vulcan พิสูจน์มาแล้ว และเราเชื่อว่าพวกเขาจะเดินหน้าสร้างเส้นทางแห่งความหวังนี้ต่อไป

Writer

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ