เกิดเป็นหญิงแท้จริงแสนลำบาก

ต้องอุ้มท้อง ต้องคลอดลูก และที่สำคัญ ต้องมีประจำเดือน

ค่ะ พูดกันตรงๆ ไม่อ้อมค้อมแบบนี้แหละ เพราะพรุ่งนี้ (8 มีนาคม) เป็นวันสตรีสากล และจริงๆ แล้วถึงเวลาที่เราควรเอาเรื่องนี้มาพูดกันให้เป็นเรื่องปกติเสียที

ใครที่อ่านแล้วรู้สึกอายๆ (โดยเฉพาะคุณผู้ชาย) หรือถึงขั้นขยะแขยง ยิ่งต้องอ่านต่อค่ะ

โลกนี้มีมนุษย์ผู้หญิงถึง (หรือเกินกว่า) ครึ่ง และผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์เกือบทั้งโลกนั้นต้องมีประจำเดือน สถิติบอกว่าในชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งจะมีประจำเดือนนานถึงราว 38 ปี และต้องใช้ผ้าอนามัย (ไม่ว่าจะเป็นแบบชิ้นๆ หรือแบบสอด) ประมาณ 12,000 ชิ้น ลำพังในอเมริกาเอง มีผ้าอนามัยใช้แล้วทิ้งรวมกันปีละประมาณ 20,000 ล้านชิ้น!! 

ลองคิดดูสิคะว่านี่คือประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เราแทบไม่ค่อยเอามาพูดกัน ทั้งที่จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องใหญ่ไม่แพ้ปัญหาผ้าอ้อมเด็กในกองขยะ

อุ้มเองมีชีวิตกับประจำเดือนมา 34 ปี (ใกล้วัยทองแล้วหรือนี่ ไม่อยากจะเชื่อ!) ลองผลิตภัณฑ์มาแล้วมากมายหลายรูปแบบและยี่ห้อ ตั้งแต่ผ้าอนามัยธรรมดา ผ้าอนามัยแบบสอด ผ้าอนามัยแบบซักได้ และที่จะเอามาเล่าอย่างตื่นเต้นในวันนี้ก็คือ ถ้วยอนามัย ค่ะ

Voxapod ถ้วยอนามัยซิลิโคนปลอดภัยที่ช่วยให้เด็กหญิงในแอฟริกาอีก 57% ได้ไปโรงเรียน

อุ้มได้ยินเรื่องถ้วยอนามัย (Menstrual Cup) ครั้งแรกตอนอ่านนิตยสารแจกฟรีสำหรับพ่อแม่ที่พอร์ตแลนด์ ฉบับนั้นว่าด้วยเรื่องของ Working Moms แล้วที่หน้าปกก็เป็นรูปคุณแม่คนสวยกำลังถือถ้วยซิลิโคนหน้าตาแปลกๆ อยู่ในครัว ระหว่างที่ลูกสาว 3 คนกำลังนั่งทำการบ้าน อ่านเนื้อในได้ใจความว่าคุณแม่คนนั้นคือ คุณอแมนด้า วิลสัน (Amanda Wilson) และถ้วยที่ถืออยู่ในมือคือโครงการ Kickstarter ที่เธอเริ่มต้นขึ้นด้วยคำถามว่า ทำไมจึงไม่มีทางเลือกอื่นที่ปลอดภัย ปลอดขยะ และดีกว่าผ้าอนามัยที่ขายอยู่ในท้องตลาด

Voxapod ถ้วยอนามัยซิลิโคนปลอดภัยที่ช่วยให้เด็กหญิงในแอฟริกาอีก 57% ได้ไปโรงเรียน

คำตอบที่เธอได้คือ ถ้วยอนามัยทำจากซิลิโคนยี่ห้อ VOXAPOD  ที่เธอกับทีมช่วยกันพัฒนาขึ้น ผู้คนสนใจถล่มทลาย และเริ่มออกวางขายจริงเมื่อ 2 – 3 ปีก่อน

สิ่งที่ทำให้อุ้มสนใจมาก คือเมื่อหลายปีก่อนอุ้มเคยซื้อถ้วยอนามัยอีกยี่ห้อหนึ่งมาแล้ว แต่ไม่กล้าใช้ (ตอนนั้นมีถ้วยอนามัยอยู่ประมาณ 2 ยี่ห้อในท้องตลาด อารมณ์แบบฮิปปี้ๆ หน่อย แล้วก็ไม่มีช่องทางการสื่อสารอะไรกับผู้บริโภคมากนัก) แต่พอเห็นคุณอแมนด้าออกมาให้สัมภาษณ์ เห็นว่ามีคนหน้าตาแบบเราๆ อยู่เบื้องหลังโครงการนี้ (ขอบอกว่าเป็นโครงการที่ซิ่งมาก) ก็เลยทำให้อยากใช้ขึ้นมา 

Voxapod ถ้วยอนามัยซิลิโคนปลอดภัยที่ช่วยให้เด็กหญิงในแอฟริกาอีก 57% ได้ไปโรงเรียน

เพราะอุ้มก็เบื่อแสนเบื่อกับการต้องนอยด์ว่าเวลามีประจำเดือนกางเกงจะเลอะไหม ตอนนอนตื่นมาผ้าปูที่นอนจะเลอะต้องเอาไปซักหรือเปล่า เอาพลาสติกปูรองก็นอนไม่สบายอีก เวลาออกนอกบ้านก็ต้องเตรียมไปเปลี่ยน เวลาอยู่ที่ทำงาน จะไปเข้าห้องน้ำทำไมต้องเอากระเป๋าไปทั้งใบ หรือทำไมต้องรีบแอบเอาผ้าอนามัยใส่ในกระเป๋ากระโปรงไม่ให้ใครเห็น 

วันไหนจะไปออกกำลังกายหรืออยากใส่กางเกงรัดรูปก็ต้องใช้ผ้าอนามัยแบบสอด ตอนใส่ก็จะแสบๆ พอไปฉี่ สายที่ห้อยออกมาเปียก ก็ต้องเปลี่ยนอันใหม่ แล้วยังมีสารเคมีสารฟอกขาวอีก ใส่ไปนานๆ ก็ซึมเข้าร่างอิฉันแน่นอน 

เรื่องใหญ่ที่สุดคือทุกครั้งที่ทิ้ง อุ้มรู้สึกไม่สบายใจลึกๆ แต่พอลองใช้ผ้าอนามัยแบบซักได้ มันก็เลอะเทอะและซักไม่ออกอีก ถ้าออกนอกบ้านแล้วต้องเปลี่ยน จะเอาอันที่ใช้แล้วใส่ถุงไปเก็บไว้ที่ไหน อีกตั้งนานกว่าจะกลับบ้าน สรุปว่าความอยากกู้โลกเดือนละครั้งของอุ้มยังเป็นแค่ความฝันลมๆ แล้งๆ มาเรื่อยๆ จนได้อ่านบทสัมภาษณ์คุณอแมนด้านี่ล่ะ

Voxapod ถ้วยอนามัยซิลิโคนปลอดภัยที่ช่วยให้เด็กหญิงในแอฟริกาอีก 57% ได้ไปโรงเรียน

ถึงอย่างนั้น อุ้มก็ลองใช้ถ้วยอนามัยครั้งแรกด้วยความกล้าๆ กลัวๆ เพราะเกิดมาก็ไม่เคยใส่อะไรแบบนี้ และผลก็เป็นอย่างที่คาดค่ะ คือขลุกขลักและรู้สึกแปลกๆ นิดหน่อย แต่พอลองใช้ไป ปรับตัวได้ มันก็สะดวกและสบายมากจริงๆ บางทีอุ้มลืมไปเลยว่าใส่ถ้วยอนามัยอยู่ ทำไมไม่มีคนคิดสิ่งนี้มาตั้งแต่ร้อยปีที่แล้วนะ! 

เรื่องดีคือซิลิโคนเป็นวัสดุปลอดเชื้อโดยธรรมชาติ จึงปลอดภัยต่อคนใส่ แล้วในเว็บไซต์ก็ตอบคำถามทุกอย่างที่เราสงสัย เช่น ใส่แล้วมันจะหลุดเข้าไปข้างในเอาไม่ออกหรือเปล่า (คำตอบคือเปล่า เพราะมันอยู่แค่ตรงปากมดลูก) ต้องดึงออกมาเททิ้งบ่อยแค่ไหน (ถ้าวันปกติใส่ไปเลย 12 ชั่วโมง แต่อุ้มถอดมาล้างบ่อยกว่านั้นตอนกลางวัน ส่วนกลางคืนนี่ชีวิตดีขึ้นมหาศาลเลยค่ะ) ใช้ไปได้นานแค่ไหน (ประมาณ 2 – 3 ปี คือถึงถ้วยจะแพงหน่อย ประมาณพันกว่าบาท แต่คำนวณจริงๆ ผ้าอนามัยแพงกว่าปะคะ) 

Voxapod ถ้วยอนามัยซิลิโคนปลอดภัยที่ช่วยให้เด็กหญิงในแอฟริกาอีก 57% ได้ไปโรงเรียน

หญิงพรหมจรรย์ใส่ได้ไหม (ได้ค่ะ แต่ลองใช้ถ้วยเล็กก่อนและอาจจะต้องฝึกฝนสักหน่อย แต่อุ้มอยากจะบอกว่า ความเข้าใจเรื่องพรหมจรรย์ของบ้านเราก็ยังคลาดเคลื่อนอยู่มากนะคะ เพราะจริงๆ แล้วเยื่อพรหมจรรย์นั้นอยู่รอบๆ ปากมดลูก และอาจจะขาดได้จากเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมอื่นๆ และการเสียพรหมจรรย์นั้นเกิดขึ้นได้จากการมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น ไม่ใช่จากการสอดใส่ถ้วยหรือผ้าอนามัยเข้าไปในอวัยวะเพศ แล้วมันหมดยุคเรื่องต้องรักษาพรหมจรรย์ไว้จนถึงวันแต่งงานแล้วไหมคะ หรือถ้าจะเอาอย่างนั้นจริงผู้ชายก็ต้องใช้มาตรฐานเดียวกัน แหมๆๆๆ อย่าเปิดประเด็นเรื่องนี้เลยค่ะ เดี๋ยวยาว ฮ่าๆๆ)

อุ้มอยากจะบอกว่า ตอนนี้เรื่องถ้วยอนามัยกลายเป็นที่ตื่นตัวมากในอเมริกาและยุโรป มีผลิตภัณฑ์ออกมามายมากเป็นสิบๆ (หรืออาจจะเป็นร้อย) ยี่ห้อ จากนี้ไปคุณผู้อ่านอาจจะได้ยินเรื่องนี้มากขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย เพียงแต่ข้อมูลอาจจะยังหาไม่ง่ายและพูดไปต่างๆ กัน รวมทั้งผลิตภัณฑ์ก็จะมีให้เลือกมากจนไม่รู้จะซื้ออันไหนดี อุ้มเองเลือกจากเชื่อในคนที่ทำ จากประสบการณ์ที่ลองใช้เองมาปีกว่าแล้ว และจากอินเทอร์เน็ต (อย่างเช่นช่องยูทูปนี้ค่ะน่ารักดี ชื่อ Put A Cup In It) แล้วก็เชื่อมากๆ เลยค่ะว่านี่คืออนาคตของการดูแลสุขอนามัยประจำเดือนของผู้หญิง

สิ่งสุดท้ายที่อยากจะพูด คือ การมีประจำเดือนไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจแม้แต่น้อยเลยค่ะ

มันเป็นเรื่องธรรมชาติที่แม่เรา พี่สาว น้องสาว เพื่อนผู้หญิง ภรรยา และมนุษย์ผู้หญิงรอบตัวเราต้องประสบทุกเดือน มันควรเป็นสิ่งที่เรามองให้เห็นเป็นเรื่องปกติ พูดคุยกันได้ นั่นเป็นเรื่องทัศนคตินะคะ ยังไม่นับรวมเรื่องความรู้ความเข้าใจ เพราะทุกวันนี้ในประเทศด้อยพัฒนาหลายประเทศ เด็กผู้หญิงเกินกว่า 57 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้เรียนต่อมัธยม เพราะไม่มีวิธีการรับมือกับประจำเดือน บางคนเอาผ้ามาพับๆ บางคนใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ ใช้ใบไม้ ถึงขั้นใช้ดินเหนียวหรือขี้วัวก็มี เพราะไม่มีใครให้ความรู้เขา 

สิ่งที่อุ้มเคารพคุณอแมนด้าอีกอย่างก็คือเขาทำงานร่วมกับองค์กรอย่าง Femme International หรือ AFRIpads ที่ให้ความรู้และบริจาคอุปกรณ์อนามัยให้กับเด็กผู้หญิงในแอฟริกาด้วย

ขอบคุณผู้ชายใจกว้างอย่างก้อง ทรงกลด ที่ยอมเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงเราได้พูดกันเรื่องนี้นะคะ ถ้ามันจะช่วยเปิดประเด็นให้เราพูดคุยกันมากขึ้น อุ้มก็จะดีใจเป็นอย่างยิ่งเลย สุขสันต์วันสตรีสากลนะคะคุณผู้หญิงทุกๆ คน

ภาพ : VOXAPOD .com

Writer

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

อดีตนักแสดงและพิธีกร จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ายมาเป็นพลเมืองพอร์ตแลนด์ ออริกอน ตั้งแต่ปี 2012 ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูกสองของน้องเมตตาและน้องอนีคา เธอยังสนุกกับงานเขียนและแปลหนังสือ รวมทั้งเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในเมืองนอกกระแสที่ชื่อพอร์ตแลนด์