เลือกตั้ง 66…
กลั้นหายใจ ถอนหายใจ ดีใจ แต่เอ๊ะ ก็ยังหายใจไม่ทั่วท้องอยู่ดี เอ็นดูมากเลยการเมืองไทยเนี่ย มีทั้งความมูลี่และอิหยังวะไปในคราวเดียวกัน
ตกลง ส.ว. จะแล้วไหม บอกให้ไปเลี้ยงหลานแต่ไม่มีหลานจะทำไง ฝ่ายค้านใครจะหล่อยกมือให้มั่ง แล้วนี่เขาออกมาบอก 3 รอบแล้วว่าจับมือกัน ก็หยุดมือลั่นโพสต์เรื่องนี้กันแล้วไหมอ่า คูมแม่ผอดแลนนี่นะ บอกเลยว่าติดตามการเมืองประหนึ่งชมมหกรรมกีฬา มือหนึ่งถือโทรศัพท์ อีกมือกดไอแพด ใส่หูฟังยืนพูดคนเดียวมาร่วมเดือน สภาพ! ลูก 2 คนนาน ๆ ได้ยินแม่ตะโกนโหวกเหวกก็แวะมาดูเสียที แล้วก็จับมือกันเดินหนีไป ส่วนสมคิดบอกว่าเราไม่ได้อิ่มทิพย์จ้า ทำกับข้าวก่อนจ้า ถถถถถ คุนพรี่คงเกรงว่าเมียจะบริโภคข่าวมากกว่าข้าว
แต่เอาจริง ๆ นะคะ ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ สิ่งที่ดีใจสุด คือครั้งนี้คนไทยสนใจและมีส่วนร่วมทางการเมืองมากจริง ๆ ทั้งติดตามข่าวสารข้อมูล ออกไปเลือกตั้ง เลือกเสร็จยังไปเฝ้าคูหาดูการนับคะแนนด้วย
พูดถึงคำว่า ‘คูหา’ ก็เลยทำให้นึกขึ้นมาได้ว่า ตั้งแต่ย้ายมาอยู่พอร์ตแลนด์เมื่อ 12 ปีก่อน แล้วกลายเป็นพลเมืองสหรัฐอเมริกา เริ่มเลือกตั้งได้เมื่อ 6 ปีที่แล้ว (แต่ก็ยังเป็นพลเมืองไทย เลือกตั้งที่ไทยได้อยู่นะคะ เพราะเขายอมให้ถือ 2 สัญชาติ) อุ้มพบว่า คูหาหาย! คือไร ทำไมไม่มีเดินเข้าคูหากา 2 ใบแบบที่ชั้นเคยรู้จัก!
ศึกษาไปมาก็เลยได้รู้ว่า ออริกอนเนี่ย เป็นรัฐแรกของสหรัฐฯ ที่ใช้การเลือกตั้งแบบ ‘Vote By Mail’ (VBM) 100 เปอร์เซ็นต์มาตั้งแต่ปี 2000 หมายถึงทุกคนที่มีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง ต้องไปลงทะเบียนกับรัฐ เสร็จแล้วเวลามีการเลือกตั้งก็จะได้รับใบลงคะแนนเสียง (Ballot) ทางไปรษณีย์ก่อนวันเลือกตั้งประมาณ 3 อาทิตย์ หน้าตาใบลงคะแนนกับซองที่ส่งมาเป็นแบบนี้ค่ะ

อีกอย่างที่เขาจะส่งไปรษณีย์แยกมาด้วย คือสมุดคู่มือเลือกตั้ง ซึ่งมีข้อมูลของผู้สมัคร และรายละเอียดกฎหมายมาตราต่าง ๆ ที่ต้องลงคะแนนเสียงตัดสินกันอยู่ในนั้นด้วย

เพราะฉะนั้น ที่รัฐนี้ก็จะไม่มี ‘วันเลือกตั้ง’ (Election Day) แต่มี ‘ช่วงเวลาเลือกตั้ง’ (Election Period) แทน หน้าที่ของประชาชนก็คือศึกษาหาข้อมูลผู้สมัคร ดูกฎหมายหรือ Measure ที่เขาเสนอว่าจะเอาด้วย ไม่เอาด้วย ข้อดีก็คือมีเวลานั่งอ่านนาน ๆ หน่อย ไม่ใช่ไปพลิก ๆ เอาที่หน้าคูหา
ตัดสินใจได้แล้วก็ฝนหมึกดำลงคะแนน ใส่ซอง เซ็นชื่อกำกับ ส่งไปรษณีย์กลับไปที่สำนักงานเลือกตั้งของเขต (ไม่ต้องติดแสตมป์ด้วยนะคะ เพราะเขาออกค่าส่งให้เราแล้ว) หรือเอาไปหย่อนตามสถานที่ที่มี Ballot Drop Box อย่างห้องสมุดที่มีอยู่ในทุกชุมชน โดยมีข้อแม้ว่า ใบลงคะแนนเหล่านี้ต้องประทับตราไปรษณีย์หรือหย่อนลงกล่องอย่างช้าที่สุดคือเวลา 2 ทุ่มของวันเลือกตั้ง



จะเลือกตั้งย่อย หมูเห็ดเป็ดไก่ ไปจนกระทั่งระดับช้างอย่างเลือกประธานาธิบดี ก็ทำเหมือนกันแบบนี้ อุ้มนี่ได้ลงคะแนนจริงจังครั้งแรกก็คือเลือกประธานาธิบดีปี 2020 ค่ะ ที่ Biden สู้กับ Trump คือพีกมาก เพราะเป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญสุด ๆ อิฉันก็นั่งฝนด้วยใจระทึกอยู่ที่โต๊ะกินข้าวนี่แหละ ใส่ซองแล้วต้องพนมมือโอมเพี้ยงก่อนส่งอีกด้วยเพราะลุ้นมาก

ส่งไปแล้วไม่ต้องกลัวว่าจะถึงไม่ถึง เพราะมีทั้งแมสเซจทางโทรศัพท์และอีเมลมาบอกเลยค่ะ ว่าใบลงคะแนนเราไปถึงแล้วและจะได้รับการนับ หรือเข้าไปตามเช็กเองก็ได้ด้วย ที่เว็บไซต์ของ Secretary of State อย่างใบล่าสุดเลือก City Commissioner หรือกรรมาธิการรัฐ ใบลงคะแนนของสิริยากรก็ไปถึงแล้ว

ปัจจุบันนี้ ในสหรัฐฯ มีรัฐที่ VBM 100 เปอร์เซ็นต์ (คือไม่มีคูหา) อยู่ 8 รัฐด้วยกัน ไล่ตามปีที่เริ่มบังคับใช้ คือออริกอน (1998) วอชิงตัน (2012) โคโลราโด (2014) ยูทาห์ (2019) ฮาวาย (2020) แคลิฟอร์เนีย เนวาดา และเวอร์มอนต์ (2022) ส่วนรัฐที่เหลือยังมีทั้งเลือกตั้งล่วงหน้าและเลือกตั้งที่คูหาในวันเลือกตั้งผสมกัน แต่ก็มีแนวโน้มที่จะปรับมาเป็น VBM มากขึ้นเรื่อย ๆ
ทำไมถึงได้มีการโหวตทางไปรษณีย์ แล้วมันช่วยให้คนใช้สิทธิมากขึ้นกว่าต้องเดินทางไหม และทำยังไงถึงจะไม่มีการโกงเลือกตั้ง

เริ่มจากทำไมก่อนค่ะ ตามประวัติศาสตร์เล่าว่า การให้สิทธิออกเสียงล่วงหน้าในสหรัฐฯ โดยที่เจ้าตัวไม่ได้อยู่ที่ถิ่นฐานบ้านช่องของตัวเองเนี่ย เริ่มขึ้นเมื่อ 100 กว่าปีมาแล้ว (1864) สมัยสงครามกลางเมือง หรือ American Civil War ที่ทหารฝั่งเหนือ (Union) กับฝั่งใต้ (Confederate) ยังรบพุ่งกันอยู่ แต่ตอนนั้นจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยที่ประธานาธิบดี Abraham Lincoln จากพรรครีพับลิกันที่ครองตำแหน่งอยู่ก่อนหน้าและสนับสนุนการเลิกทาส ต้องสู้กับ George McClellan ซึ่งมาจากพรรคเดโมแครตและไม่เห็นด้วยเรื่องนี้ ลินคอล์นอยากแน่ใจว่าได้เสียงทหารฝั่งเหนือของตัวเอง ก็เลยอนุญาตให้มีการออกเสียงแบบ Absentee Voting คือเจ้าตัว Absent จากที่อยู่ปกติของตน ก็เลยเข้าแถวโหวตกันในค่ายทหารนั่นแหละ แต่มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ยืนคุมอยู่อย่างที่เห็นในรูป ผลออกมาก็คือลินคอล์นชนะ ได้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ก่อนจะถูกลอบสังหารภายในไม่กี่เดือนหลังจากนั้น
เหตุการณ์ครั้งใหญ่ที่ทำให้มี Absentee Voting อีกครั้งก็คือช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 คราวนี้ยิ่งมีทหารไกลบ้านมากกว่าเก่า รวมทั้งเป็นช่วงที่ประเทศกำลังพัฒนา มีแรงงานสร้างทางรถไฟ มีเซลส์แมนเดินทางไปขายของต่างหัวเมือง เลยเกิดการอนุโลมให้เลือกตั้งล่วงหน้า ส่งใบลงคะแนนมาทางไปรษณีย์ได้ แต่ก็ต้องทำเรื่องขอเข้ามาเป็นกรณีพิเศษ
ทีนี้มาถึงรัฐออริกอนบ้านเฮาที่มีความเฟียร์ซของประชาชนมาแต่ไหนแต่ไร เรื่องสิทธิความเท่าเทียมในการเลือกตั้งนี่ยิ่งเรื่องใหญ่เกินต้านสิคะ เพราะฉะนั้น ความต้องการจะเปลี่ยนให้เป็นเลือกตั้งทางไปรษณีย์จึงมาจากประชาชน
คือต้องเล่าอย่างนี้ก่อนค่ะ ที่ออริกอนเนี่ย ประชาชนรวบรวมรายชื่อ แล้วยื่นคำร้องหรือ Petition เข้าไปที่รัฐเพื่อผ่านกระบวนการร่างกฎหมายได้ค่ะ ถ้า ส.ส. ส.ว. พิจารณาแล้วว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ คำร้องนั้นก็จะได้หมายเลขและคำบรรยายสั้น ๆ บรรจุเข้าไปในใบเลือกตั้ง ให้ประชาชนทั้งหมดในรัฐลงคะแนนเสียงว่าผ่านหรือไม่ผ่าน
เวลามีเลือกตั้งที นอกจากมีป้ายหาเสียงของผู้สมัครแล้ว ก็จะมีป้ายสนับสนุน (หรือต่อต้าน) Measure เบอร์นู้นเบอร์นี้ปักอยู่ทั่วเมือง

แต่เรื่องนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะผ่านกันง่าย ๆ นะคะ กว่า VBM จะถึงขั้นได้กลายเป็นมาตรา ก็ยื่นมาแล้วไม่รู้กี่รอบ รอบแรกทะลุไปถึงผู้ว่าการรัฐ แต่ไม่ผ่าน ผู้ว่าฯ บอกอันนี้มันไม่ได้แหละค่ะซิส ขอปัดตกนะคะซิส รอบสองยื่นใหม่ ตกไปตั้งแต่ด่าน ส.ส. ส.ว. ยังดีที่ประชาชนจิตแข็ง บอกว่าพวกเราต้องแฮฟสติ! ยื่นอีก จนได้เป็น Measure 60 บรรจุไปในใบเลือกตั้ง แล้วประชาชนก็ลงคะแนนสนับสนุนกันท่วมท้นเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์แน่ะ
ปี 1998 ออริกอนก็เลยได้เป็นรัฐแรกที่ปราศจากคูหามาแต่นั้น

มาถึงคำถามที่สอง การออกเสียงทางไปรษณีย์ทำให้คนใช้สิทธิเลือกตั้งมากกว่าหรือเปล่า
คำตอบที่นักวิจัยทำการศึกษามาหลายคนตอบว่า ถ้าเป็นเลือกตั้งใหญ่ ไม่มากค่ะ เพราะคนที่จะเลือกยังไงเขาก็จะเลือกอยู่แล้ว ลองเทียบง่าย ๆ อย่างเลือกตั้ง พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ถึงฝนจะตก แดดจะออก รถติดคิวยาวยังไง คนก็จะบากบั่นไปใช้สิทธิกันใช่มั้ยคะ แต่ถ้าเป็นเลือกตั้งเล็ก ๆ นี่สิ VBM มีผลเห็นชัดกว่าเยอะ อย่างถ้าต้องเลือก ส.ก. ส.ข. หรือที่อุ้มเพิ่งเลือกกรรมาธิการรัฐไปเนี่ย ถ้าให้ต้องไปหน่วยเลือกตั้งก็อาจจะไม่ไปนะ แต่พอนั่งเลือกอยู่ที่บ้านได้ โอกาสที่คนจะใช้สิทธิก็สูงกว่า อะไรแบบนี้ค่ะ
แต่เอาจริง ๆ เลยนะคะ พอมีทางเลือกแบบนี้ สะดวกกว่า ประหยัดเวลาเพราะไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องต่อคิว สภาพอากาศก็ไม่ต้องลุ้น คนพิการก็ไม่ลำบาก แนวโน้มความนิยมเรื่อง VBM เลยสูงขึ้นเรื่อย ๆ ดูจากกราฟนี้ก็ได้ค่ะ

หลายรัฐในสหรัฐฯ เริ่มผ่อนปรนเรื่องระเบียบในการขอเลือกตั้งล่วงหน้า บางรัฐก็เริ่มทดลองใช้โหวตออนไลน์แล้วด้วย เช่น ออริกอน (ปั๊วะเนอะ)
คำถามที่ตามมาและเป็นคำถามสุดท้ายที่ค้างไว้เมื่อกี้ ก็คือมันปลอดภัย ไม่โกงแน่นะ
อันนี้ต้องฟังจากอดีต Secretary of State ของออริกอน 2 สมัย คุณ Phil Keisling ที่อยู่ในวาระตอนปี 1991 – 1999 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐกำลังเปลี่ยนมาเป็น VBM พอดี๊พอดี คุณฟิลแกบอกว่าตั้งแต่เริ่มให้โหวตทางไปรษณีย์มาจนปัจจุบัน สถิติการโกงหรือบัตรเสียมีน้อยมาก ที่พูด ๆ ลือ ๆ กันไปว่า VBM จะทำให้การเลือกตั้งลดความสถิตยุติธรรม มีการโกงกันสนั่นหวั่นไหวบลา ๆๆ นั้น ไม่เป็นความจริงทั้งสิ้น!
อันนี้ก็ต้องฟังต้องเชื่อลุงเขาจริง ๆ เพราะนี่คือรัฐที่มีข้อมูลเรื่อง VBM มากที่สุดในประเทศแล้ว เพราะทำมานานสุด ปรับปรุงวิธีการมาหลายรอบให้สะดวกขึ้นเรื่อย ๆ อย่างเช่น แต่ก่อนนี้บางคนต้องติดแสตมป์เวลาส่งใบเลือกตั้งกลับมา ปี 2020 รัฐเลยผ่านกฎหมายให้หน่วยเลือกตั้งเป็นคนจ่ายค่าแสตมป์ให้เองจ้า ชาวประชาไม่ต้องออก การเลือกตั้งต้องไม่มีค่าใช้จ่าย จึ้งมากออริกอน!

เรื่องโกงไม่โกง ถ้ายังคาใจ ฟังผลการวิจัยที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งค่ะ เขาบอกว่าจากการศึกษาและเก็บข้อมูลการเลือกตั้งจริง ๆ ตั้งแต่ปี 2000 มาเนี่ย มีคดีทุจริตการเลือกตั้งเพียง 1,100 ราย และในนั้นเป็นคดีที่มาจากการเลือกตั้งทางไปรษณีย์เพียง 143 จากใบเลือกตั้ง 250 ล้าน! คือคิดเป็นแค่ 0.000057 เปอร์เซ็นต์ (เลขศูนย์ที่นำหน้ามากกว่าจำนวนเปอร์เซ็นต์อี๊ก) สรุปง่าย ๆ เลือกตั้งในคูหายังมีโกงมากกว่าน่ะ
ที่เอาเรื่องเลือกตั้งทางไปรษณีย์หรือ VBM นี้มาเล่า เพราะรู้สึกว่าเป็นระบบที่สะดวกและมีประสิทธิภาพดี ถึงตอนนี้จะมีแต่สหรัฐฯ ยุโรปบางประเทศ และนิวซีแลนด์ แต่แนวโน้มก็น่าจะเป็นแบบนี้กันมากขึ้นเรื่อย ๆ ชาว The Cloud ก็น่าจะได้รู้จักกันไว้ค่ะ

ตอนนี้ คูมแม่ขอไปเฝ้ามือถือส่องข่าวต่อก่อนล่ะค่ะ เชื่อไปด้วยกันนะคะว่าประเทศไทยจะเดินไปข้างหน้า เสียงของประชาชนต้องดังกว่าเสียงใด ๆ
จริงไหมคะ