‘เขา’ คือหนึ่งในนักออกแบบแนวหน้าของประเทศไทย ผู้ฝากผลงานไว้ทั้งเวทีไทยและเวทีโลก 

เขาและทีม Farmgroup คือผู้เสกสรรชีวิตใหม่ให้กับสิ่งที่เคยถูกมองข้าม และโลโก้ของแบรนด์ต่างๆ ให้กลับมาโลดแล่นในโลกสมัยใหม่ได้อย่างลงตัวและคงไว้ซึ่งจิตวิญญาณ ถ่ายทอดลายเส้นและสีสันจากตัวตนที่หยิบจับมาจากทุกสรรพสิ่งรอบกายที่โคจรอยู่ในจักรวาลทุกโจทย์ตั้งต้น

ล่าสุด เขาคือหนึ่งในเจ้าของตำแหน่งนักออกแบบแห่งปี สาขา Graphic Design จากเวที Designer of the Year 2020 ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตนที่โดดเด่น ผสานเข้ากับความงามและความคิดสร้างสรรค์ จนถ่ายทอดพลังออกมาเป็นมาตรฐานใหม่ในวงการออกแบบ

และวันนี้ เราจะพาคุณร่วมดื่มด่ำรสชาติแห่งสีสัน ผ่านเรื่องราวของดีไซเนอร์ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเชฟอยู่ที่สหรัฐอเมริกา 

แต๊บ-วรทิตย์ เครือวาณิชกิจ

คุยกับ แต๊บ-วรทิตย์ แห่ง Farmgroup ถึงพลังเบื้องหลังงานออกแบบกราฟฟิกที่ทำให้สนุกและสื่อสารได้

มีเดียมแรร์ 

“ตอนเด็กๆ ผมเป็นคนเรียนไม่เก่งและไม่เก่งเลขเลย แต่ชอบวิชาศิลปะสุดเลยนะ”

วรทิตย์เริ่มต้นเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงเจือสุขในยามที่พาเราย้อนอดีตไปสู่วัยเยาว์ ตอนนั้นเด็กชายชอบวาดการ์ตูนโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับแอนิเมชัน และเคยลงมือวาดคอมมิคด้วยตัวเองบนสมุดเรียนฉีกพับครึ่งตอนประถม จากความหลงใหลที่เขามีให้กับ ดราก้อนบอล ซิตี้ฮันเตอร์ และหนังสือ ทาเลนท์ซีโร่ ที่ออกบนแผงหนังสือทุกวันอังคารตอนเย็น 

“ตอนวาดการ์ตูน ผมเอาไปให้พี่อ่านที่บ้าน มีเรื่องหนึ่งเป็นการ์ตูนเกี่ยวกับฟุตบอล เพราะช่วงนั้นชอบดูและเตะฟุตบอลกับเพื่อน แล้วฟุตบอลก็ยังอยู่ในชีวิตผมตอนนี้ มันไม่ไปไหนเลย”

แฟนลิเวอร์พูลผู้ยอมรับว่าตัวเองบ้าฟุตบอลเล่าต่อ ก่อนจะพาเราเข้าไปสู่โลกใบใหม่ในสหรัฐอเมริกา ที่ซึ่งความหลงใหลด้านการออกแบบได้เชื้อเชิญให้วรทิตย์เข้าไปในประตูของมัน

“ตอนนั้นผมพยายามสอบเทียบเข้ามหาลัยตั้งแต่ ม.5 แต่สอบไม่ได้ เพราะระบบเอนทรานซ์ทำให้พวกเราต้องเก่งทุกวิชา คุณแม่ก็เลยส่งผมไปอยู่กับครอบครัวโฮสต์เดียวกับพี่สาวที่เพนซิลเวเนีย เมืองเล็กๆ ในสหรัฐอเมริกา และได้เรียนไฮสคูลอีกหนึ่งปีที่โรงเรียนชายล้วน เรียกได้ว่า Culture Shock สุดๆ เพราะผมไม่ค่อยได้ภาษาอังกฤษเลย 

“กลายเป็นว่าผมได้ใช้ชีวิตมัธยมสองรอบ ได้เที่ยวและได้ใช้ชีวิตกับเพื่อนมัธยมตอนอยู่ไทย ได้เกเร โดดเรียน โยนโบว์ลิ่ง ตีสนุกเกอร์ แล้วก็ได้ใช้ชีวิตกับเพื่อนไฮสคูลที่อเมริกา ได้เห็นอะไรหลากหลายมาก ขณะที่ค่อยๆ เรียนรู้ภาษา จากนั้นก็เข้าเรียนมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับศิลปะใกล้บ้าน เพราะมันมีโปรแกรมแอนิเมชัน” 

วรทิตย์ใช้ชีวิตเหมือนเด็กไทยในอเมริกาทั่วไป เรียน อยู่หอพัก และไปเช่าบ้านกับเพื่อนเมื่อขึ้นปีสอง จนเกิดจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต คือการได้พบกับอาจารย์ ‘ริค’ (Rick Valicenti) ผู้จุดประกาย ‘ความบ้า’ ในการออกแบบสาขา Graphic Design ด้วยความหลงใหลในงานของตัวเอง ผสมผสานกับเรื่องราวชีวิต เขาทำให้วรทิตย์รู้สึกว่า “มันถึงกึ๋นจริงๆ” 

“อาจารย์ทำให้ผมรู้สึกมีอารมณ์ร่วมระหว่างชีวิตของเขากับงานว่ามันคือสิ่งเดียวกัน และจุดประกายให้รู้สึกว่า ‘นี่คือ Way of Life’ บนเส้นทางของการเป็นดีไซเนอร์ ผมอยากเป็นคนที่มีแพสชันกับมันอย่างแรงกล้า เลยทำให้เริ่มต้นหาความรู้รอบตัวอย่างอื่น อ่านหนังสือ และไม่ได้เรียนแค่ในห้องอย่างเดียว” 

ความมุ่งมั่นและการอยากออกไปใช้ชีวิต ทำให้วรทิตย์เริ่มต้นหางานพิเศษทำระหว่างเรียนไปด้วย

แต่เขาไม่ได้เริ่มต้นจากการเป็นกราฟิกดีไซเนอร์อย่างที่เราคิดกันหรอกนะ 

เพราะในตอนนั้น วรทิตย์เป็น ‘เชฟ’ ต่างหาก

“แถวมหาลัยมีร้านอาหารญี่ปุ่นร้านหนึ่งชื่อ ฮิบาชิ เป็นร้านเทปันยากิที่ต้องทำอาหารต่อหน้าคนที่นั่งอยู่ตรงนั้น ตอนนั้นมีคนฝากให้ผมไปเป็นเด็กล้างจาน แต่พอพวกเขาเห็นว่าผมเป็นเอเชียนก็ตาลุกวาว

“พวกเขาสอนให้ผมทำอาหารเพื่อไปเป็นเชฟให้ได้ ใช้เวลาอยู่ประมาณหกเดือน ในที่สุดเขาก็มีเชฟที่หน้าตาเป็นคนเอเชียสักที ผมทำอยู่ที่นั่นจนเรียนจบ แล้วก็ไปใช้ชีวิตต่อที่ LA” 

วรทิตย์ได้ทำงานเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ที่ลอสแอนเจลิส โดยช่วงเย็นจะสลับไปเป็นเชฟที่ร้านอาหาร

“มันไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันเลย เป็น Dr. Jekyll and Mr. Hyde มาก ๆ เพราะวันๆ ผมนั่งทำงานอยู่ที่ออฟฟิศในดาวน์ทาวน์ พอกลางคืนก็มานั่งหั่นอาหาร”

แต่นั่นกลับทำให้เขาตกตะกอนบางอย่าง

“เราพบว่าการทำสเต๊กกับงานออกแบบ เป็นงานดีไซน์ที่เราต้องคอยหานิยามและประณีตกับมันไปเรื่อยๆ ยิ่งพอเราสนใจมันมากขึ้น ก็จะมีขั้นตอนมากขึ้นไปอีก ทั้งสองอย่างมันทำให้เห็นว่า กว่าจะไปถึงขั้นตอนต่อไปได้ จะมีขั้นตอนใหม่ๆ เข้ามาแทรกเสมอ ตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกเกลือ หมักสเต๊กล่วงหน้าสองวัน 

“มันไม่ง่ายและไม่มีทางลัด”

คุยกับ แต๊บ-วรทิตย์ แห่ง Farmgroup ถึงพลังเบื้องหลังงานออกแบบกราฟฟิกที่ทำให้สนุกและสื่อสารได้
วรทิตย์ เครือวาณิชกิจ ผู้บรรจุความคิดสร้างสรรค์ในกราฟิกดีไซน์เพื่อสร้างแบรนดิ้ง

จากหัวจดหมาย

“ตอนเป็นเด็กฝึกงานที่ไทย ผมไปฝึกงานที่ Production House ชื่อ The Bandits และรับหน้าที่พิมพ์จดหมายขอใช้สถานที่” เขาเล่าให้ฟังเรียบๆ ก่อนพาไปพบกับการ ‘ตกหลุมรัก’ ในสิ่งที่เราคาดไม่ถึง 

“ผมไปหลงรักกับหัวจดหมายของบริษัท” เราได้ยินรอยยิ้มจากเสียงของเขา 

“ด้วยความที่ Bandit แปลว่ากองโจร พอมันพรินต์ออกมา ผมเห็นว่าหัวจดหมายของเขาไม่เหมือนกันเลยสักอัน หัวหนึ่งเป็นลูแปง อีกหัวเป็นโรบินฮู้ด โจรทุกๆ คนในนั้นมีคาแรกเตอร์ซ่อนไว้อย่างแตกต่างกัน ทำไมกระดาษเล็กๆ แผ่นเดียวจึงมีมิติได้หลากหลายขนาดนั้น”

เมื่อรู้ว่านั่นคือกราฟิกดีไซน์ที่ถ่ายทอดความเป็นตัวตนของแบรนด์ (Brand Identity System) ออกแบบโดย ต้อม-ชัชวาล ขนขจี เขาจึงเลี้ยวหักศอกจากเส้นทางสู่แอนิเมเตอร์ เปลี่ยนสาขามาเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ทันที บวกกับการได้เจอกับอาจารย์ริค ที่โหมไฟแห่งแพสชันให้กระหน่ำมากขึ้นกว่าเคย และยังไม่มอดดับสักวัน

พ.ศ. 2548 เขาก็เปิดบริษัท Farmgroup ขึ้นมา 

“ฟาร์มกรุ๊ปมาจากส่วนผสมหลายอย่าง และตอนนั้นเรามองเห็นว่าเอเจนซี่โฆษณากับดีไซเนอร์จะแยกกัน

“คำว่า Farm จึงสะท้อนมาจากการเป็นคนลงมือปั้นของเรา ต้องเลี้ยงตั้งแต่ไก่ออกไข่จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ บวกกับเพื่อนมักบอกว่าผมมีความเป็นอเมริกันในตัว ซึ่งผมไม่ได้อยากเป็นแบบนั้นเท่าไหร่ ผมอยากกลับมาสู่ความเป็นไทย คำว่าฟาร์มมันจึงมีความถ่อมตัว (Humble) อยู่ในนั้นด้วยเหมือนกัน

“ตอนแรกที่มีออฟฟิศ เก้าอี้ต้องเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นฟาร์ม แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผมก็คิดว่ามันเหลือแค่การสะท้อนด้วยจิตวิญญาณที่เราไม่จำเป็นต้องนำเสนอออกมาผ่านเฟอร์นิเจอร์”

วรทิตย์รู้สึกว่าออฟฟิศเป็นเหมือนอวัยวะส่วนหนึ่งของเขา ในฐานะที่เป็นผู้กำกับศิลป์ ดังนั้นตัวเขากับ Farmgroup จึงเป็นหนึ่งเดียวกันและมีร่องรอยของเขาอยู่ในงานเสมอ 

เขาเปรียบจุดเด่นของงานว่า หากเป็นสไตล์การเล่นฟุตบอลจากทีมที่มีตัวเองเป็นโค้ช จะใช้อาวุธอยู่ไม่กี่อย่างในการออกแบบ ซึ่งมีอาวุธหลักเป็นตัวอักษร พวก Typography ก่อนเล่าต่อว่าจุดเริ่มต้นของความสนใจใน Typography นั้นมาจากอาจารย์ที่อเมริกา

“เขาคือคนที่ทำให้ผมซึ่งในตอนนั้นคิดว่าตัวเองเก่งแล้ว ต้องกลับมาคิดใหม่ เพราะพอส่งงานไปแล้วเขาไม่ยอมตรวจให้ ผมไม่เคยรู้เลยว่าทำไม

“จนกระทั่งไปหาเขาหลังคลาส เขาบอกผมว่า ‘ฉันจะตรวจให้เมื่อใจคุณอยากเรียนด้วย’ จำได้เลยว่าตอนนั้นเหมือนโดนตบกะโหลก ตั้งแต่นั้นมาผมเลยชอบงานไทโปฯ เพราะเขา เหมือนมีคลื่นอารมณ์ที่คุกรุ่นในใจกับเขาเสมอ และทุ่มใจให้กับเขาไปเลย ผมเลยรู้สึกรักมันมาจนถึงในปัจจุบัน 

“ต้องขอบคุณเขานะที่มาตบกะโหลกผมแบบนั้น ทำให้ผมรักเขา และอยากทำงานออกมาให้ดี”

แม้จะเป็นเหมือนหัวเรือใหญ่ของบริษัท แต่ตลอดเส้นทางที่วรทิตย์พาเรากระโจนเข้าสู่โลกแห่งผลงาน เขาจะฝากไว้เสมอว่า ทุกงานของเขาและ Farmgroup เกิดจากการร่วมมือร่วมใจกันกับน้องๆ ที่เก่งและมีความอดทน ดังนั้น แต่ละงานที่สรรสร้างออกมา จึงมีเรื่องราวแห่งความตั้งใจแทรกไว้ในนั้น 

“ผมเอาเครดิตที่ได้รางวัลมาไว้แค่กับตัวเองไม่ได้ มันจะไม่แฟร์กับเขา อย่าง Hotel Art Fair ก็เป็นงานที่เราตั้งโจทย์กันเอง ดีไซน์ทุกอย่างเองกันหมด ช่วงแรกๆ เราออกเงินเองด้วยซ้ำ มันเป็นงานที่เราภูมิใจไปด้วยกันทุกคน” 

วรทิตย์ เครือวาณิชกิจ ผู้บรรจุความคิดสร้างสรรค์ในกราฟิกดีไซน์เพื่อสร้างแบรนดิ้ง

สู่ Hotel Art Fair

“Hotel Art Fair เกิดขึ้นจริงๆ ในปีที่สอง เพราะในปีแรกเป็นกึ่งๆ งานจ้าง มีโรงแรมหนึ่งเขาอยากให้เราช่วยจัดกิจกรรม เพราะเห็นว่านอกจากการทำงานออกแบบให้แบรนด์ สิ่งพิมพ์ หรือโลโก้ พวกเรายังทำงาน Activation ให้กับแคมเปญมานานแล้ว โจทย์ตั้งต้นคือ ไม่อยากให้เป็น Festival ที่คนเดินพลุกพล่านในโรงแรม เราจึงมีความคิดว่าอยากเอางานศิลป์ให้เข้าไปอยู่ในห้อง”

ด้วยความที่โรงแรมเป็นกึ่งไพรเวต ทำให้งานลักษณะนี้ตอบโจทย์ความเป็นส่วนตัวของโรงแรม เมื่อถึงปีถัดมา พวกเขาจึงสานต่อโปรเจกต์ Hotel Art Fair เรื่อยๆ 

กระทั่ง พ.ศ. 2562 หนึ่งในงานที่เขาประทับใจมากที่สุด คืองานออกแบบ Key Visual ให้ Hotel Art Fair ในปีนั้นออกมาเป็นตัวอักษร H A F ซึ่งมาจากเหล่าน้องๆ ร่วมกันชวนเพื่อนดีไซเนอร์จากต่างประเทศมาใส่จิตวิญญาณลงไปใน Key Visual ของงาน ภายใต้ธีม Breaking Boundaries

วรทิตย์ เครือวาณิชกิจ ผู้บรรจุความคิดสร้างสรรค์ในกราฟิกดีไซน์เพื่อสร้างแบรนดิ้ง
วรทิตย์ เครือวาณิชกิจ ผู้บรรจุความคิดสร้างสรรค์ในกราฟิกดีไซน์เพื่อสร้างแบรนดิ้ง

“ผมชอบมันเพราะรู้สึกว่า Hotel Art Fair ปีนี้ออกมาสนุก ทั้งสนุกในระหว่างการทำงาน ตอนลงมือทำ และตอนที่เห็นมันออกมาเป็นรูปเป็นร่าง แม้กระทั่งตอนกลับมาย้อนดู ก็ยังรู้สึกว่ามันสนุกอยู่ดี”

วรทิตย์ เครือวาณิชกิจ ผู้บรรจุความคิดสร้างสรรค์ในกราฟิกดีไซน์เพื่อสร้างแบรนดิ้ง
วรทิตย์ เครือวาณิชกิจ ผู้บรรจุความคิดสร้างสรรค์ในกราฟิกดีไซน์เพื่อสร้างแบรนดิ้ง

Flag of Peace 

ความสนุกร่วมกระโจนลงไปในงานของ Farmgroup อย่างต่อเนื่อง วันหนึ่งวรทิตย์ได้รับอีเมลจากประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ชวนดีไซเนอร์ทั่วโลกมาร่วมกันออกแบบธง สะท้อนให้เห็นถึงสันติภาพในแง่มุมของวัฒนธรรม และ Farmgroup เป็นศิลปินไทยเพียงกลุ่มเดียวที่ได้รับโอกาสนี้

“ที่มาที่ไปของงานจากดีไซน์แต่ละประเทศจะแตกต่างกัน ธงที่ดีไซเนอร์ทั่วทุกมุมโลกออกแบบ ส่งไปทำนิทรรศการในยุโรป จริงๆ ในไทยมีคนเก่งอยู่อีกเยอะ แต่มันเป็นความโชคดีของเราที่เขามาชวน ระหว่างทำก็คิดกันเยอะว่าจะออกแบบได้ยังไง

“ช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาที่เฉดสีในประเทศไทยเยอะมาก ความเปิดใจของผู้คนยังไม่เยอะมาก เราเลยออกแบบตามความเข้าใจของเราในจุดนั้น และพวกเราเห็นว่าเวลาที่คนอื่นมองประเทศไทยด้วยตาเปล่า เขาจะมองเห็นสีมาก่อน สีคือสิ่งที่อยู่ในทุกวัฒนธรรมของเราจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นสีของกระจกตามวัด บนแท็กซี่ หรือแม้กระทั่งร่ม 

“ถ้าไปเดินที่ลอนดอน ไม่มีทางเห็นสีได้มากเท่ากรุงเทพฯ เราจึงรู้สึกว่า สีคือจิตวิญญาณของประเทศเรา”

วรทิตย์และทีมงานจึงได้ค่อยๆ ช่วยกันหยอดสีทีละสีลงไปในงานบนโปรแกรมโฟโต้ช้อป และค่อยๆ เบลนด์พวกมันให้เข้ากัน 

“ผมว่าสีมันเป็นสัญลักษณ์ที่ดีสำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารเรื่องสันติภาพด้วย”

คุยกับ แต๊บ-วรทิตย์ เครือวาณิชกิจ แห่ง Farmgroup ถึงพลังเบื้องหลังงานออกแบบกราฟฟิกที่ทำให้สนุกและสื่อสารได้
ภาพ : Farmgroup

Out of Office

มากไปกว่าการทำกราฟิกดีไซน์ สิ่งที่ฟาร์มกรุ๊ปเป็นคือ Creative & Design Consultancy และสร้างแบรนดิ้งผ่านงานออกแบบหลากหลายแขนง

หนึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คืองานซัมเมอร์เซลล์ ซึ่งกลายเป็นนิทรรศการที่เปี่ยมล้นไปด้วยจินตนาการและคอนเซ็ปต์ออฟฟิศสุดจี๊ด

คุยกับ แต๊บ-วรทิตย์ เครือวาณิชกิจ แห่ง Farmgroup ถึงพลังเบื้องหลังงานออกแบบกราฟฟิกที่ทำให้สนุกและสื่อสารได้
ภาพ : Patcha Kitchaicharoen

“ตั้งแต่ได้โจทย์มา The Mall Group ให้อิสระในการคิดกับเรา และตั้งโจทย์ได้กระตุกต่อมความคิดสร้างสรรค์ของเรามาก ได้ใส่องค์ประกอบเล็กๆ น้อยๆ ลงไปในโจทย์ของการเซลล์ของช่วงหน้าร้อน บางปีเป็นทะเลบ้าง สนามบินบ้าง แต่โจทย์ของปีนั้นเขาอยากได้ Co-no Working space เพราะ Co-working Space กำลังมา 

“เลยคิดกันว่า โอเค เราจะสร้างแบรนด์หนึ่งขึ้นมา และทำให้ทุกคนเชื่อว่านี่คือร้านจริงๆ และตั้งชื่อสินค้าให้เกี่ยวกับ ‘No Working Space’ ให้หมด เลยได้ว่าเป็น ‘Out of Office’” 

จากนั้นทีม Farmgroup เนรมิตออฟฟิศสุดซ่าขึ้นมา เริ่มตั้งแต่โครงสร้างที่ได้แรงบันดาลใจจากออฟฟิศญี่ปุ่นแสนน่าเบื่อ และเติมด้วยสีเทาไปจนถึงใส่สีนีออนเพื่อทำให้เป็นแบกดรอปของงาน 

“เราหยิบเสียงพรินเตอร์ที่ดังเสียงแอ๊ดๆ น่ารำคาญเข้าไป เขียนโปรแกรมขึ้นมาให้คนนั่งหน้าคอมพิวเตอร์แล้วถ่ายรูปตัวเอง และถุงช้อปปิ้งเป็นของตัวเองด้วย”

คุยกับ แต๊บ-วรทิตย์ เครือวาณิชกิจ แห่ง Farmgroup ถึงพลังเบื้องหลังงานออกแบบกราฟฟิกที่ทำให้สนุกและสื่อสารได้

Holy Moly

“เราทำทุกอย่างเลย ยกเว้นชื่อ” เขาอธิบายเพิ่มถึงตัวอย่างงาน Holy Moly ซึ่งครอบคลุมสิ่งที่ฟาร์มกรุ๊ปทำ และสำหรับวรทิตย์ นี่ยังเป็นงานที่สะท้อนความเป็นไทยออกมาได้มากที่สุด

คุยกับ แต๊บ-วรทิตย์ เครือวาณิชกิจ แห่ง Farmgroup ถึงพลังเบื้องหลังงานออกแบบกราฟฟิกที่ทำให้สนุกและสื่อสารได้
คุยกับ แต๊บ-วรทิตย์ แห่ง Farmgroup ถึงพลังเบื้องหลังงานออกแบบกราฟฟิกที่ทำให้สนุกและสื่อสารได้

“ผมว่าชื่อมันกวนโอ๊ยดี มันเป็นร้านพายของเพื่อนผม เขาเอาหน้าตาพายมาให้ดู ซึ่งเหมือนอยู่ในโรงแรมโอเรียนเต็ล คือดูดีและหรูหรา แต่ตั้งชื่อว่า Holy Moly เนี่ยนะ มันย้อนแย้งกันมาก ทำให้ผมรู้สึกสนุกกับมันขึ้นไปอีก” เขาเล่าติดตลก และอธิบายว่า Holy Moly แปลเป็นไทยได้ว่า ‘โอ้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย’ 

เราออกแบบร้านให้เขาด้วย ซึ่งเปิดพร้อมกับ The Commons ที่ทองหล่อเลย ทุกร้านในนั้นจะมีความเท่ มีความฝรั่ง และมีความเจ๋ง ผมก็คิดว่าแล้วเราจะทำยังไงให้ไม่เหมือนคนอื่น เลยออกมาเป็นรูปภาพพวกนี้ กับฟอนต์ Cooper Black”

คุยกับ แต๊บ-วรทิตย์ แห่ง Farmgroup ถึงพลังเบื้องหลังงานออกแบบกราฟฟิกที่ทำให้สนุกและสื่อสารได้

“ณ ช่วงเวลานั้น Art Director ของเราเป็นคนอเมริกัน เราก็ให้เขาช่วยโยนไอเดียร่วมกับทีมด้วยว่าความเป็นไทยคืออะไร เลยออกมาเป็นตุ๊กตุ๊ก คนหน้าขาว รวมถึงอีกหลายสิ่งที่ไม่ได้จบแค่ลายกนกหรือผ้าสามสีแบบเดิมๆ” 

คุยกับ แต๊บ-วรทิตย์ แห่ง Farmgroup ถึงพลังเบื้องหลังงานออกแบบกราฟฟิกที่ทำให้สนุกและสื่อสารได้

แล้วความเป็นไทยในปีนี้ สำหรับวรทิตย์ มองเห็นอะไร เราถามปิดท้ายในฐานะที่เขาได้รับรางวัลสุดยอดนักออกแบบไทย

“ผมคิดว่าน่าจะเป็นพลังของคนรุ่นใหม่” เขาตอบอย่างรวดเร็ว 

“มันน่าจะเป็นรูปแบบของเสียง ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องการเมืองอย่างเดียว แต่เราอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเจเนอเรชัน และเป็นช่องว่างระหว่างการเปลี่ยนแปลง ซึ่งไม่อาจมองเห็นด้วยตา แต่เป็นความคิดของคนรุ่นใหม่ 

“แม้ผมอาจไม่เข้าใจเขาได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ผมคิดว่าเขาคือ Subject หลักของประเทศเราในตอนนี้ มันคือบทสนทนาหลักในสังคม และคือพลังที่เราเรียกว่า Youth Power”

5 วิธีคิด-วิธีทำงานที่อยากส่งต่อถึงกราฟิกดีไซเนอร์รุ่นใหม่

01 จงเรียนรู้อย่างอื่นที่ไม่ใช่แค่งานออกแบบ 

ผมอยากให้เรียนรู้เรื่องความรู้รอบตัวด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำธุรกิจ หาพาร์ตเนอร์ที่ดูเรื่องบัญชี อย่างน้อยรู้เรื่องภาษีก็ดี อย่าใช้ชีวิตศิลปินให้ตัวเองล้มเหลว แต่จงรู้จักแบรนดิ้งตัวเอง 

02 จงร่วมสร้าง Value ของอาชีพร่วมกัน 

ก่อนหน้านี้พี่ๆ นักออกแบบเองได้พยายามจัดตั้งสมาคมเพื่อยกระดับอาชีพดีไซเนอร์ โดยเฉพาะกราฟิกดีไซเนอร์ เพราะเป็นอาชีพที่เพิ่งมีมาไม่กี่ปีในประเทศไทย เป็นอาชีพใหม่ที่บางคนมองว่าเป็นงานอดิเรก มองว่าทำแป๊บเดียวทำไมต้องคิดตังค์ แต่มันไม่ใช่ เราต้องสร้างคุณค่าของมันให้คนทุกคนประจักษ์และรู้สึกได้ว่าอาชีพเราใช้ประสบการณ์นะ เพราะก่อนหน้านี้สมาคมสถาปนิกฯ ทำให้อาชีพเขามีลิมิตค่าจ้างขั้นต่ำได้ ตรวจสอบทุจริตได้ มีกฎเกณฑ์แต่ละอย่างที่มันแฟร์ ผมว่านี่เป็นสิ่งที่กราฟิกดีไซเนอร์ไม่มี

03 ถามตัวเองอยู่เสมอว่ารักในอาชีพนี้ไหม

ในอาชีพออกแบบ เราต้องรีเช็กกับตัวเองว่า ไฟคุณยังมีอยู่หรือเปล่า แล้วถ้ามันไม่มีแล้ว คุณก็ยังไม่ต้องทำก็ได้ อาจจะหาอะไรที่มีความสุขอย่างอื่นทำดีกว่า เพราะว่าทำอะไรที่มันมีความสุขแล้วประสบความสำเร็จด้วย ยิ่งดี และยิ่งมีประโยชน์ต่อคนอื่นนะ

04 จงมองให้เห็นคุณค่าในสิ่งเล็กๆ 

ถ้ามีโอกาส เราก็จะใช้วิชาที่เรามี ทำให้สังคมดีขึ้นให้ได้เหมือนกัน ผมนับถือแก๊ง MAYDAY ที่เขาทำป้ายรถเมล์ออกมาได้ขนาดนี้ ผมว่ากราฟิกดีไซน์มันก็ทำให้โลกเราดีขึ้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีภาพความเป็นโอทอป อาจเริ่มต้นจากเรื่องใกล้ตัวมากๆ อย่างฟอนต์วัดสายตาก็ได้

ผมว่าตอนนี้พอมีโซเชียลมีเดีย ทำให้คนไทยมีการคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) ขึ้นเยอะ และผลกระทบต่อสังคมทำให้คนสร้างงาน หรือเจ้าของแบรนด์ ดีไซเนอร์เอง ละเมียดละไมกับสิ่งที่เราจะทำมากขึ้น และถ้าคิดจะทำงานกับชาวบ้าน ต้องคิดด้วยว่าการทำงานนี้จะช่วยเขาจริงหรือเปล่า และต้องเป็นวิธีคิดที่ยั่งยืน ไม่ใช่แค่ใช้เป็นภาพ PR แต่ไม่ได้ช่วยอะไรเขาจริงๆ 

05 จงสร้างคุณค่าให้ตัวเอง

ไม่มีกฎข้อไหนที่ดีไซเนอร์จะต้องทำงานดึกหรือทำงานเสาร์-อาทิตย์ แต่คุณต้องมีวินัย ซึ่งการมีวินัยคือการตระหนักว่าคุณใช้เวลากับงานไปเท่าไหร่ และได้อะไรแค่ไหน อยากฝากให้ใช้เวลาให้มีประโยชน์ จะได้ไม่โดนเอาเปรียบ เพื่อที่เราจะได้มี Work Life Balance ที่ดีขึ้น

Writer

Avatar

ฐาปนี ทรัพยสาร

อดีตนักเรียนหนังสือพิมพ์ที่ก้าวเข้าสู่วงการประชาสัมพันธ์ ผู้เชื่อมั่นว่าตัวอักษรสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ หลงใหลในวัฒนธรรมและมนุษย์

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน