เรามาจากสายอาชีพงานดีไซน์เหมือนกัน แต่สารภาพจากใจจริง ก่อนหน้าที่จะได้คุยกับ แต๊บ-วรทิตย์ เครือวาณิชกิจ เราไม่รู้จริง ๆ ว่าการทำ Branding จะสนุกขนาดนี้ แบบที่ฟังจบแล้วอยากจะลองอยู่ในกระบวนการคิดแบบนั้นบ้าง

ความสนุกที่หมายถึงคือความมีระบบระเบียบ มีแพตเทิร์น ในขณะเดียวกันก็อิสระและไร้ขอบเขต (ฟังดูย้อนแย้งเหมือนเพลง Getsunova แต่หากอ่านจนจบแล้วคุณคงเข้าใจ)

อาจเป็นเพราะคนเล่าเอ็นจอยกับงานมากด้วย

วรทิตย์เป็นเจ้าของออฟฟิศชื่อ Farmgroup ที่ทำงานครอบคลุมหลายอย่างของ Brand Experience รวมถึงงานดีไซน์อื่น ๆ ที่อยากทำและทำได้

The Cloud เคยคุยกับวรทิตย์ไปแล้ว เมื่อครั้งที่เขาได้รางวัลนักออกแบบแห่งปี สาขา Graphic Design จากเวที Designer of the Year 2020 ครั้งนี้เราขอมาคุยกับเขาอีก โดยเจาะไปที่งานถนัดของวรทิตย์อย่างการออกแบบโลโก้ และงานอื่น ๆ โดยรอบที่เกี่ยวข้อง โดยมีงาน ‘เวทีราชดำเนิน’ ที่เพิ่งออกมาไม่นานเป็นตัวชูโรง

“พี่ไม่มีออฟฟิศแล้วนะ ขายเฟอร์นิเจอร์ทิ้งหมดเลย ตอนนี้เรา Work from Anywhere จะไป Work from the Beach ก็ได้” ดีไซเนอร์ใหญ่พูดด้วยท่าที่สบาย ๆ เป็นเหตุผลที่เรานัดพบกันที่โชว์รูมเฟอร์นิเจอร์สวย ๆ อย่าง Chanintr Work สุขุมวิท ซอย 26

In Design วันนี้ ขอเชิญทุกคนพบกับวรทิตย์กันอีกสักครั้ง เขาจะมาเล่าเกี่ยวกับที่มาที่ไปของอาชีพ วิธีการทำงาน และเบื้องหลังการดีไซน์ของหลาย ๆ งานให้เราฟังอย่างเอ็กซ์คลูซีฟ

โลโก้เวทีมวยราชดำเนินโฉมใหม่ และสารพันการออกแบบโลโก้ของ แต๊บ-วรทิตย์ แห่ง Farmgroup

Tips of The Iceberg
แค่ยอด แต่เห็นชัดที่สุด

ย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ระหว่างดีไซเนอร์คนนี้กับโลโก้สักหน่อย 

“พี่เรียนไม่เก่ง” วรทิตย์พูดเปิดด้วยประโยคนี้

เด็กชายวรทิตย์ชอบศิลปะมาแต่ไหนแต่ไร แรกเริ่มเลยเขาอยากเป็นสถาปนิก แต่ด้วยความที่ไม่สันทัดทางวิชาการอย่างคณิตศาสตร์หรือฟิสิกส์ เขาจึงมองหาอาชีพอื่นที่ได้ขีด ๆ เขียน ๆ 

วรทิตย์เลือกเรียนแอนิเมชันในระดับมหาวิทยาลัยใน 2 ปีแรก ที่ PennWest รัฐ Pennsylvania ก่อนจะค้นพบตัวเองตอนที่ได้กลับมาฝึกงานที่บริษัท The Bandits ที่ไทยเมื่อเรียนจบชั้นปีที่ 2 ว่า การทำ ‘โลโก้’ เป็นศาสตร์ที่โดนใจคนอย่างเขามากที่สุด

The Bandits แปลว่า กองโจร ที่นั่นเป็น Production House ที่เป็นเหมือนมือปืนรับจ้างถ่ายโฆษณา ถ่ายทำวิดีโอ ทั้ง Stationary System อย่างบนนามบัตร ซองจดหมาย หรือหัวจดหมายของพวกเขาจะมีเหล่าโจรเจ๋ง ๆ เป็นโลโก้สลับผลัดเปลี่ยนกันไป ทั้งตี๋ใหญ่ ลูแปง โรบินฮู้ด หรือชอลิ้วเฮียง 

“ตี๋ใหญ่ก็คือยิงนัดเดียวจอด แม่น! บอกคุณสมบัติของบริษัทว่าไม่พล่าม ไม่ไร้สาระ ส่วนโรบินฮู้ดก็ปล้นคนรวยเอามาให้คนจน เป็นบริษัทที่มีความดี”

“พี่ Amaze กับมันมาก นี่มันหัวจดหมายอะไร” เขาเล่าด้วยน้ำเสียงที่ทำให้เราเชื่อ ว่าเขา Amaze จริง ๆ 

โลโก้เวทีมวยราชดำเนินโฉมใหม่ และสารพันการออกแบบโลโก้ของ แต๊บ-วรทิตย์ แห่ง Farmgroup

“ตอนนั้นเราก็ไม่ได้มีความรู้เรื่องกราฟิกดีไซน์ไง เราแค่เข้าใจว่าหัวจดหมายมันต้องมีโลโก้บริษัทใหญ่ ๆ มาเจอนี่พี่เลยเกิดแรงบันดาลใจ” โลโก้ของ The Bandits ที่วรทิตย์ชอบใจ ออกแบบโดย ต้อม-ชัชวาล ขนขจี จากบริษัท Blind “มันทำให้พี่รู้สึกว่า Brand Identity มีหลักและสนุกได้ พี่รู้สึกชอบจากจุดนั้น”

หลังจากฝึกงานเรียบร้อยแล้ว วรทิตย์กลับไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย ตัดสินใจย้ายเมเจอร์จากแอนิเมชัน มาเรียน Graphic Design ตามหัวใจเรียกร้อง ซึ่งเขาก็ต้องจูนตัวเองใหม่ไม่น้อยกับเรื่องวิธีคิด หรือเรื่อง Grid System ที่ไม่เคยเรียนรู้มาก่อน

เมื่อเรียนจบวรทิตย์ได้ทำงานตรงสายกราฟิกที่ Bug Studio ซึ่งเป็น Multidisciplinary Design Studio ทำทุกอย่าง โดยจะหนักไปที่ Interior Design และ Exhibition-event Design ทำให้เขาได้ประสบการณ์กว้างขวาง และมาเปิดบริษัทที่ทำหลายอย่างชื่อ Farmgroup เป็นของตัวเองในเวลาต่อมา

“ตอนเริ่มต้นก็ทำแค่ Graphic Design แล้วขยายทีม มีสถาปนิก มี Interior Designer เข้ามาช่วยด้วย เราก็เลยใช้คำว่า Brand Experience

“เราเป็นอาหารตามสั่ง รู้ว่าเราทำอาหารแนว ๆ นี้นะ เราทำโลโก้ เราทำ Identity ทำสิ่งพิมพ์ได้ แต่ถ้าถามว่าลองทำป้ายมั้ย ลองทำ Sculpture มั้ย เราก็ทำ ไม่ได้พยายามลิมิตตัวเองว่าเราจะทำอะไร”

โลโก้เวทีมวยราชดำเนินโฉมใหม่ และสารพันการออกแบบโลโก้ของ แต๊บ-วรทิตย์ แห่ง Farmgroup
โลโก้เวทีมวยราชดำเนินโฉมใหม่ และสารพันการออกแบบโลโก้ของ แต๊บ-วรทิตย์ แห่ง Farmgroup

วรทิตย์บอกว่า หากจะทำ Branding นอกเหนือจาก Brand Strategy หรือ Brand Marketing แล้ว Brand Identity ก็เป็นหนึ่งในนั้น

“สำหรับโลโก้ ฝรั่งบางคนเขาเรียกว่ามันเป็น Tips of The Iceberg โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำนิดเดียวแต่เห็นก่อน โลโก้ทำให้เห็นแต่แรกว่าแบรนด์นี้เป็นใคร หรือจะทำให้เห็นว่าแบรนด์นี้มีการเปลี่ยนแปลงก็ได้เหมือนกัน” ดีไซเนอร์มากประสบการณ์พูด “จริง ๆ แล้วแบรนด์ไม่ใช่แค่โลโก้ มันมีอะไรหลาย ๆ อย่าง ทั้งหมดเราเรียกว่า Brand Experience ไม่ว่าจะเป็นการพูดจาหรืออะไรก็เป็น Branding ทั้งหมด แต่ Identity เป็นของอย่างแรกที่คนเห็น 

“เพราะฉะนั้นเวลาคนมาจ้างเราทำแบรนด์หรือให้เรามาทำ Brand Identity โลโก้ก็จะเป็นไอเท็มต้น ๆ ที่เขาขอให้เราดีไซน์ให้”

และแน่นอน พาร์ตออกแบบโลโก้เป็นพาร์ตที่วรทิตย์โปรดปรานในการออกแบบเป็นพิเศษ ก็โลโก้ถึงกับทำให้เขาย้ายวิชาเรียนมาแล้วนี่นา

Think / Thought / Thought
คิด คิดแล้ว คิดอีก

ได้โจทย์โลโก้มาแล้วเริ่มคิดที่อะไรก่อน – เราถามตามประสาคนอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับอาชีพนี้

“ในแง่มุมที่เป็นตัวกลางระหว่างดีไซเนอร์กับลูกค้า ตอนรับบรีฟเราต้องอ่านลูกค้าก่อนว่าเขาต้องการอะไร” ต๊อบ-วรารินทร์ สินไชย ผู้เป็น COO (Chief Operating Officer) เริ่มเล่าก่อนในพาร์ตของตัวเอง 

จากนั้นทีมก็จะเริ่มรีเสิร์ช ระดมสมองกันว่าได้อะไรจากการรีเสิร์ชนั้น แล้วจัดทิศทางการทำงานต่อ

“เวลาเราเริ่มทำก็จะเหมือนกรวย ให้ทุกคนไปคิดเยอะ ๆ กว้าง ๆ ไม่ต้องคิดลึก ไม่ต้องลงรายละเอียด หาความเป็นไปได้ที่หลากหลาย แล้วเราก็ค่อย ๆ Narrow Down ตัดออก หรือพยายามจัดกลุ่ม” วรทิตย์อธิบายต่อ

กว่าจะไปถึงผลลัพธ์สุดท้ายได้จริง ๆ พวกเขาต้องผ่านกระบวนการค้นคว้าเพิ่มเติมระหว่างทาง ศึกษาว่าทาร์เก็ตคนที่จะมาเห็นโลโก้นี้ โปรไฟล์เป็นอย่างไร แล้วก็ดูด้วยว่า ธุรกิจแบบเดียวกันในประเทศหรือต่างประเทศเขาทำอย่างไรกันบ้าง ซ้ำกันรึเปล่า ตามสัญชาตญาณที่ดีไซเนอร์มีเป็นปกติ

“ในขณะเดียวกันเราก็ดูถึงฟังก์ชันด้วย ว่าโลโก้ตัวนี้จะต้องโดนใช้ที่ไหน ใช้บนจอ ใช้บนสิ่งพิมพ์ ใช้บนแพ็กเกจจิ้ง ใช้บนหนังสือ ใช้บนอะไร มันก็จะช่วยให้เราตัดสินใจว่าจะเป็นรูปแบบสัญลักษณ์ เป็นรูปแบบของตัวอักษร เป็นชื่อเต็ม หรือมีทั้งหมด เราจะคิดพวกนี้ไปพร้อม ๆ กันทั้งหมด แล้วค่อย ๆ ย่อยออกมาเป็นผลลัพธ์สุดท้าย”

“สุดท้ายแล้วเราคิดเสร็จแล้วไปเสนอลูกค้า มันจะเสิร์ฟเป็นเหมือนเมนูสำเร็จแล้ว ตักกินได้เลย เราดีไซน์เมนูให้หมดแล้ว”

โลโก้เวทีมวยราชดำเนินโฉมใหม่ และสารพันการออกแบบโลโก้ของ แต๊บ-วรทิตย์ แห่ง Farmgroup

ต่อเนื่องจากขั้นตอนแรก ขั้นตอนสุดท้ายอย่างการพรีเซนต์ลูกค้าก็ต้องอ่านลูกค้าเช่นกัน พวกเขาต้องออกแบบการนำเสนอให้ถูกจริตลูกค้า และทำให้ลูกค้าเข้าใจงานได้มากที่สุด ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ฝั่งผู้ประสานงานกับผู้ออกแบบจะต้องทำงานร่วมกัน

“เราต้องรู้ลูกค้าก่อน ว่าแต่ละคนเขาเป็นสปีชีส์ไหน”

The Three Musketeers
สามงานน่าเล่า

01 Thai League (2015)

โลโก้เวทีมวยราชดำเนินโฉมใหม่ และสารพันการออกแบบโลโก้ของ แต๊บ-วรทิตย์ แห่ง Farmgroup

ในวาระเปลี่ยนนายกสมาคม Thai League ก็ถือโอกาสปรับโครงสร้าง รวมถึงออกแบบอะไรใหม่ ๆ บ้าง

เป็นจังหวะที่คนรู้จักที่วรทิตย์เคยทำงานด้วยในอดีต ได้เข้าไปเป็นผู้บริหารในสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย Farmgroup จึงได้งานน่าสนุกนี้มา

“เขาอยากจะปรับโครงสร้างลีกทั้งหมดใหม่ ก็เลยมาบอกเราว่าอยากหาสัญลักษณ์ที่ทันสมัยและเหมาะกับคนทุกเพศทุกวัย ไม่ใช่แค่ดีไซเนอร์ชอบ แต่คนทั้งประเทศจะต้องชอบ เพราะฟุตบอลเป็นของทุกคน ผลลัพธ์ก็เลยออกมาเป็นแบบนี้” วรทิตย์เริ่มเล่า

คนไทยกับช้างมีความสัมพันธ์กันแต่ดั้งเดิม รวมถึง ‘ช้างศึก’ ก็เป็นคำเรียกแทนฟุตบอลทีมชาติไทยมานานด้วย เหล่าดีไซเนอร์จึงเริ่มจากการพยายามเป็นช้างกันก่อนเป็นอันดับแรก

“เราก็ทำการบ้านกันเยอะ สเก็ตช์กันเยอะมาก” เขาเน้นเสียง “สุดท้ายก็ได้เป็นรูปตัว T ที่มีลูกฟุตบอลลอยผ่าน ฟึบ! หรืออาจจะมองเป็นช้างหันข้างก็ได้ เป็นช้างเผือก มีตา แล้วก็มีงาที่ไล่สีเป็น Gradient

“ก็เลยมีความ Abstract นิดๆ คงไม่มีใครอยากได้รูป ‘ช้าง’ เลย จะเอารูปช้างสักตัวมาเป็นสัญลักษณ์ทำไม มันจะเหมือน Illustration ไม่ใช่สัญลักษณ์”

สำหรับสี พวกเขานำสีของอัญมณีไทยอย่างนพเก้ามาเล่น อัญมณีแต่ละชนิดจากมีความแข็งต่างกัน พวกเขาจึงใช้ความแข็ง-อ่อน แทนลีกสูงสุดลงมาล่างสุดตามลำดับ

“เราพยายามไม่คิดอะไรลึก เบสิก ๆ แต่เอามานำเสนอให้มันทันสมัย” องค์ประกอบต่าง ๆ ก็เป็นลายไทยง่าย ๆ อย่างลายกนก ลายประจำยาม ลายไฟ ลายช่อฟ้า เพียงแต่นำมาใช้ให้มีความเหลี่ยม เป็น Geometry มากยิ่งขึ้น

โลโก้เวทีมวยราชดำเนินโฉมใหม่ และสารพันการออกแบบโลโก้ของ แต๊บ-วรทิตย์ แห่ง Farmgroup
โลโก้เวทีมวยราชดำเนินโฉมใหม่ และสารพันการออกแบบโลโก้ของ แต๊บ-วรทิตย์ แห่ง Farmgroup

นอกจากนั้น พวกเขาก็ได้ออกแบบฟอนต์ Thai League ไปด้วย โดยได้แรงบันดาลใจ ความเหลี่ยมมุม มาจากลายไทยเช่นกัน 

“เราออกแบบไปถึง Broadcast Design อย่างกราฟิกบนจอทีวีเวลาถ่ายทอดสดเลย” วรทิตย์เล่าอย่างมีไฟ ทราบมาว่าเขาเองก็เป็นคอฟุตบอลตัวยง “เราต้องศึกษาว่าโปรแกรมที่เขาถ่ายทอดสด ที่ขึ้นชื่อนักเตะ เขาใช้โปรแกรมอะไร มีการทำงานยังไง แล้วก็ต้องดีไซน์องค์ประกอบและเครื่องมือต่างๆ ให้เขาเอาไปใช้ได้สะดวกที่สุด 

“เขาประกาศชื่อนักฟุตบอลก่อนเตะ มีเวลาแค่ 15 นาทีในการพิมพ์ แล้วทำกราฟิกขึ้นตอนถ่ายทอด”

งานงานหนึ่งต้องศึกษาเยอะเลย – เราพูดอย่างประทับใจ

“ใช่ครับ พี่ว่ามันเป็นความสนุกอย่างหนึ่งของดีไซเนอร์นะ ยิ่ง Graphic Designer เรามีความรู้รอบตัวเยอะขึ้นเรื่อย ๆ เลย วันนี้เราทำแบรนด์รองเท้า อีกวันหนึ่งเราทำมวยไทย ทำอาชีพนี้ก็มีข้อดีอย่างหนึ่ง”

02 Plern (2021)

โลโก้เวทีมวยราชดำเนินโฉมใหม่ และสารพันการออกแบบโลโก้ของ แต๊บ-วรทิตย์ แห่ง Farmgroup

ไม่ได้เป็นการรีแบรนด์แต่อย่างใด Plern หรือ เพลิน เป็นแอปฯ ฟังเพลงใหม่ของ GMM Grammy เน้นเพลงไทยหลากค่ายเป็นพิเศษ

“ทีม GMM ไปเจออินไซต์มาว่า คนไทยส่วนใหญ่ฟังเพลงในยูทูบมากที่สุด ป้าเจ้าของร้านอาหารเขาก็จะเลือกเพลงหนึ่ง อาจจะหมอลำ เพลงฝรั่ง แล้วก็ปล่อยไหลไปทั้งวัน ซึ่งเขาบอกว่าคนไม่มายด์ที่จะมีโฆษณาแทรกด้วย ฟังฟรี” และนี่ก็คือที่มาของชื่อแอปฯ ‘เพลิน’ มาจากเปิดให้เพลิน ๆ ไป ไหลไปเรื่อย ๆ 

วรทิตย์และ Farmgroup อยากจะออกแบบงานที่ตอบโจทย์คนเหล่านั้น และตอบสนองความเพลินที่ว่า

ในที่สุด ‘เส้นเพลิน’ ถูกคิดค้นขึ้นมาใช้ในอาร์ตเวิร์กต่าง ๆ เส้นเพลินเป็น ‘เส้นเสียง’ ที่วิ่งไปเรื่อย ๆ ไม่มีวันจบ เหมือนการฟังเพลงของคนไทย สุดท้ายเส้นก็ปรากฏบนโลโก้ของแอปฯ ดูแล้วมีลักษณะเหมือน พ พาน

“เราคิด System สีโดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากอากาศในประเทศไทย และคิด System เส้นมาจากบรรยากาศ เพราะเพลงฟังแล้วสร้างบรรยากาศ แล้วก็ออกมาเป็น Identity แบบนี้”

เส้นนี้เปลี่ยนสถานะได้ เปลี่ยนสีได้ เปลี่ยนมุมได้ เปลี่ยนความหนาก็ยังได้ แค่ยังเป็นเส้นก็เรียกว่าเส้นเพลิน วรทิตย์บอกว่าการตั้งต้นตัวอย่างไว้ให้นี้เป็นการสร้างเทมเพลตและ Graphic Element ให้เส้นเพลิน Regenerate ตัวมันเองไปได้เรื่อย ๆ

โลโก้เวทีมวยราชดำเนินโฉมใหม่ และสารพันการออกแบบโลโก้ของ แต๊บ-วรทิตย์ แห่ง Farmgroup

“แบรนด์ต้องเจริญเติบโต อยู่แบบเดิมมันน่าเบื่อ เราก็ต้องสร้างกรอบความคิดบางอย่าง ให้เขาไปสร้างอะไรได้เองในอนาคตโดยที่ยังอยู่ในคอนเซ็ปต์เดิม” สร้างกรอบความคิดที่วรทิตย์กล่าว อธิบายง่าย ๆ ก็คือแนะนำให้รู้จักและทำตัวอย่างการใช้เส้นคร่าว ๆ เช่น เส้นแบบนี้จะใช้กับเพลย์ลิสต์เพลงอกหัก เส้นแบบนั้นจะใช้กับเพลย์ลิสต์เพลงลูกทุ่งฟังสบาย 

“เส้นนี้ก็เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ ใช้ง่าย เข้าใจง่าย และพัฒนาต่อไปได้ง่าย”

03 meat!y (2022)

โลโก้เวทีมวยราชดำเนินโฉมใหม่ และสารพันการออกแบบโลโก้ของ แต๊บ-วรทิตย์ แห่ง Farmgroup

‘รสชาติเหมือนเนื้อ ด้วยวัตถุดิบลับที่ใส่ลงไป’ คือคีย์เวิร์ดเกี่ยวกับโปรดักต์ Plant-based Meat (เนื้อที่ทำมาจากพืช) ที่ Betagro ให้กับ Farmgroup

ทีมดีไซน์จึงเล่นกับความตกอกตกใจที่กัดไปแล้วรู้สึกเหมือนกินเนื้อไม่มีผิด แต่ทำมาจากพืช พวกเขาเลือกใช้เครื่องหมายตัว L กลายมาเป็น ‘meat!y’

ในส่วนของอาร์ตเวิร์ก จะใช้สีชมพู-เขียวเป็นหลัก โดยสีชมพูเป็นตัวแทนของเนื้อ สีเขียวเป็นตัวแทนของพืช ส่วนโลโก้จะมีความหยักอยู่ในภาษา แทนความกรอบและความเป็นเนื้อ

“เนื่องจากโปรดักต์แรกเขาเป็นทงคัตสึ เราก็เลยคุยกันในทีมว่าถ้าเราเอาโลโก้ไปทอดกรอบ ขอบมันจะเป็นยังไงนะ” วรทิตย์เล่า เราสะดุดใจ ชอบคำว่า ‘เอาโลโก้ไปทอดกรอบ’ มาก ไม่ใช่ใครจะคิดได้ง่าย ๆ

“มันก็เลยได้ขอบของความทอดกรอบ แล้วก็มีเท็กซ์เจอร์ข้างในที่สื่อถึงความธรรมชาติ มีความไม่สมบูรณ์แบบ ไม่เนี้ยบกริบสีชัดเต็มเหมือนคอมพิวเตอร์ เราใส่องค์ประกอบเหล่านี้เข้าไป ทำให้แบรนด์มีความเกี่ยวโยงกับธรรมชาติมากขึ้น”

คุยกับ แต๊บ-วรทิตย์ เครือวาณิชกิจ เกี่ยวกับงานออกแบบโลโก้ที่เขารัก โดยมีงาน ‘เวทีราชดำเนิน’ เป็นตัวชูโรง

เครื่องหมาย ! เป็นทั้งส่วนหนึ่งของโลโก้ และเป็นทั้ง Graphic Element ที่ทีมดีไซน์นำไปออกแบบเป็นอาร์ตเวิร์กต่าง ๆ นำไปทำแพตเทิร์น หรือเตรียมไว้ให้ทางแบรนด์นำไปเล่นต่อ นอกจากนี้ยังออกแบบ ‘สติกเกอร์’ รูปวัว รูปไก่ รวมถึงโควตคำสั้น ๆ ไว้ให้ลูกค้านำไปใช้ เพื่อเพิ่มความสนุกให้กับแบรนด์ด้วย

“ในตลาดอาหาร Plant-based เมืองไทย ส่วนมากจะเป็นสีเขียว ภาพลักษณ์ดูธรรมชาติ ๆ แต่ Positioning ของแบรนด์นี้ เขาบอกเลยว่ามันต้อง Bold

“การที่คุณจะกินอะไรที่ดีต่อสุขภาพ ไม่จำเป็นต้องดูน่าเบื่อ หรือดูแล้วไม่อร่อย ก็เลยเป็นที่มาที่เราเลือกตัวอักษร เลือกสีแบบนี้มาใช้ รวมถึงการจัดวาง การนำไปใช้ด้วย พี่ว่าแบรนด์นี้ก็โดดเด่นที่สุดในตลาดเมืองไทย ณ ปัจจุบัน แล้วก็ฉีกมาจากที่ Betagro เคยทำด้วย”

คุยกับ แต๊บ-วรทิตย์ เครือวาณิชกิจ เกี่ยวกับงานออกแบบโลโก้ที่เขารัก โดยมีงาน ‘เวทีราชดำเนิน’ เป็นตัวชูโรง

New Era of Muay Thai
การปล่อยหมัดครั้งใหม่

จบจาก 4 งานที่วรทิตย์อยากเล่า เราถามต่อถึงงานของ Farmgroup ที่เป็นที่ฮือฮามากที่สุดงานหนึ่งเมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา

‘เวทีราชดำเนิน’ 

ที่นี่เป็นสนามมวยมาตรฐานเวทีแรกของประเทศไทย เปิดให้บริการตั้งแต่ พ.ศ. 2488 จนเมื่อปีนี้ GSV ได้มา Take Over กิจการต่อ ด้วยเป้าหมายจะปั้นที่นี่ให้เป็นสังเวียนมวยไทยอันดับ 1 ของโลก ซึ่งมีการจัดมวยผู้หญิงอย่างที่ไม่เคยมาก่อน และนอกจากมวย ก็ต้อนรับทั้งคอนเสิร์ต ปาร์ตี้ หรือกิจกรรมต่าง ๆ เหมือนอย่าง Wembley Stadium ของอังกฤษ

GSV ติดต่อมาที่ Farmgroup ให้รับหน้าที่พลิกโฉมเวทีคลาสสิกแห่งนี้ไป

เช่นเดียวกับหลายอาคารในถนนราชดำเนิน อาคารของเวทีมวยราชดำเนินเป็นสถาปัตยกรรมยุคอาร์ตเดโค ตามพระราชนิยมของ ร.5 ในสมัยนั้น ซึ่งตัวอักษร ‘เวทีราชดำเนิน’ ที่ปรากฏอยู่หน้าอาคาร ก็เป็นสไตล์อาร์ตเดโคแพ็กคู่มากับสถาปัตยกรรม

“ในฐานะที่เป็น Graphic Designer และคนชอบตัวอักษร พี่ก็รู้สึกว่ามันมีความพิเศษ มีคุณค่าเชิงวัฒนธรรมเหนือสิ่งอื่นใดเลย เพราะฉะนั้นต้องเก็บมันไว้ให้ได้” วรทิตย์หมายถึงอยากจะนำป้ายมาทำเป็นโลโก้ เพราะตัวอักษรนี้ก็เป็นเหมือนภาพเวทีราชดำเนินที่คนจำได้ชัดเจน

“จริง ๆ แล้วมีโลโก้ราชดำเนินอันเก่าอยู่ เป็นรูปคนต่อยมวยแล้วมีตัวอักษรวนรอบเป็นกลม อันนั้นก็ยังมีอยู่ แต่ไม่เคยโดนหยิบไปสื่อสารอะไรอยู่แล้ว เราก็เลยไม่ได้แตะ คิดซะว่าเป็นเหมือนครุฑ”

คุยกับ แต๊บ-วรทิตย์ เครือวาณิชกิจ เกี่ยวกับงานออกแบบโลโก้ที่เขารัก โดยมีงาน ‘เวทีราชดำเนิน’ เป็นตัวชูโรง

ฟอนต์ของป้ายอาคารมีดีไซน์เป็นวงกลม วรทิตย์บอกว่าอาจมาจากลักษณะรอบเวทีมวยที่เป็นวงกลมเช่นกัน พวกเขาที่ตั้งต้นว่าจะคิดโลโก้เป็นภาษาอังกฤษ เพราะเวทีราชดำเนินต้องการเป็นอันดับ 1 ของโลก จำเป็นต้องมีความสากลมากยิ่งขึ้น จึงได้แบบมาเป็นตัว R ที่ได้แรงบันดาลใจของ Curve ต่าง ๆ จากส่วนหนึ่งของตัวอักษรภาษาไทยบนป้าย ซึ่งกว่าจะได้ R ที่ลงตัว ก็ผ่านการทำงานร่วมกันหลาย ๆ ฝ่าย ทั้งทีม Farmgroup ทีม GSV และทีมออกแบบของ RWS

นอกจากนี้ Farmgroup ยังคิดกราฟิกชื่อเต็มของ ‘เวทีราชดำเนิน’ เป็นเวอร์ชันภาษาอังกฤษ เขียนว่า ‘Rajadamnern Stadium’ มาใช้ร่วมกับ Lettermark ตัว R ด้วย

ส่วนเวอร์ชันภาษาไทยดั้งเดิมก็มีการปรับปรุงเช่นกัน

“พี่เชื่อว่าตอนเขาดีไซน์เป็นป้ายมันมีข้อจำกัด เรื่องว่าวรรณยุกต์ข้างบนมันลอยไม่ได้ เพราะมันจะต้องมีเหล็กดามอยู่ เดี๋ยวจะไม่สวย เขาเลยทำให้ติดกัน” วรทิตย์กล่าว “แต่พอตอนนี้มันเป็น Digital Version พี่เลยปรับให้มีองศา มีตำแหน่งของวรรณยุกต์ที่ถูกต้อง แล้วก็ปรับขนาดตัวอักษร รวมถึงปรับปรุงโดยใช้เทคนิคเนิร์ด ๆ ต่าง ๆ เกี่ยวกับ Typography ให้เขา”

ในแง่การเลือกใช้สี พวกเขาเลือกสีน้ำเงินเข้ม สีฟ้าอ่อน และสีทองมาใช้ โดยที่สีน้ำเงินเข้มเป็นสีของโลโก้สนามมวยเก่าที่อยากเก็บไว้ สีฟ้าอ่อนเป็นสีเสื้อของกรรมการในสนามมวยราชเทวี ซึ่งแต่ละสนามก็จะใส่กันคนละสี ส่วนสีทองเป็นสีที่มีความสง่างามและเป็นโทนสีที่พัฒนามาจากสีของตัวอาคารเดิม

คุยกับ แต๊บ-วรทิตย์ เครือวาณิชกิจ เกี่ยวกับงานออกแบบโลโก้ที่เขารัก โดยมีงาน ‘เวทีราชดำเนิน’ เป็นตัวชูโรง
คุยกับ แต๊บ-วรทิตย์ เครือวาณิชกิจ เกี่ยวกับงานออกแบบโลโก้ที่เขารัก โดยมีงาน ‘เวทีราชดำเนิน’ เป็นตัวชูโรง

“พี่ว่าเวลาจะเป็นตัวบอกเองว่ามันประสบความสำเร็จรึเปล่า” วรทิตย์ให้ความเห็น หลังจากที่เวทีราชดำเนินปล่อยโลโก้ใหม่ออกมา ก็มีเสียงพูดถึงจากประชาชนหลายทาง ด้วยความคาดหวังว่าวงการมวยจะมีอะไรเปลี่ยนไป “ถ้าถามว่าโลโก้มีส่วนกับความสำเร็จมั้ย จะพูดว่ามีก็ได้หรือไม่มีก็ได้ แต่ถ้าประสบความสำเร็จแล้วมี Identity ที่ดี มันยิ่งต่อยอด กลายเป็น Asset อย่างหนึ่งที่แบรนด์มีติดตัว ซึ่งเป็นมูลค่ามหาศาลได้ในอนาคต”

เขาบอกว่า อย่างที่เห็นง่ายที่สุดเมื่อเปลี่ยนโลโก้ คือความกระชุ่มกระชวยของคนในองค์กรเอง Brand Identity ใหม่ ๆ นำมาซึ่งพลังงานที่ดีในการขับเคลื่อนต่อไป

“ถ้าคนในองค์กรภูมิใจที่จะ Represent Brand นี้ คนนอกเขาจะรับรู้ได้จากอะไรหลาย ๆ อย่าง”

Good Enough
ดี (พอแล้วหรือยัง)

วันเวลาผ่านไป มีโลโก้ที่รู้สึกเสียดายไหมนะ ว่าควรดีไซน์แบบนั้นแบบนี้มากกว่า 

“โห เสมอ! เรียกว่าเป็นคำสาปของดีไซเนอร์” วรทิตย์ตอบคำถามของเราทันควันโดยไม่เสียสักวินาทีหยุดคิด “เวลามันเดินไปเรื่อย ๆ ความคิดความอ่านก็เดินหน้าไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้น ถ้าเอางานเมื่อ 5 ปีที่แล้วมาให้คิดตอนนี้ ก็อาจจะไม่ได้ออกมาเหมือนตอนนั้น ทุกอย่างมัน Specific ณ ช่วงเวลานั้น โจทย์ตอนนั้น ธุรกิจตอนนั้น สิ่งแวดล้อมตอนนั้น”

“โลโก้ Farmgroup เองก็ซื่อบื้อที่สุดแล้ว เป็นรูปโรงนา ซึ่งเป็นโรงนาแบบฝรั่งด้วย” เขาพูดอะไรที่เราคิดไม่ถึงว่าจะได้ยิน

“ตอนแรกพี่ตั้งใจจะไม่มีโลโก้ เพราะเรารู้สึกว่าเราจะไม่มีวันแฮปปี้กับโลโก้และอยากจะแก้มันตลอดแน่ ๆ เลย แต่คนก็เรียกร้อง Company Stamp จนเราต้องมี”

ออฟฟิศที่ออกแบบโลโก้เยอะมาก แต่ตัวเองไม่มีโลโก้ มันก็แปลกเหมือนกันนะ – เราออกความเห็น

“แปลกเหรอ 

“จริง ๆ แล้วมันก็เหมาะสมแล้วรึเปล่า ความเป็นกลางอาจจะดีที่สุดแล้ว เราอาจจะควรเป็นกลาง เป็น Blank Canvas” วรทิตย์อารมณ์ดี “ก็เป็นอีกหนึ่งแนวคิดหนึ่งเนอะ เถียงไปก็ไม่มีวันจบเลยเรื่องนี้ (หัวเราะ)”

เราลองถามเขากว้าง ๆ ว่า สิ่งสำคัญของการออกแบบโลโก้คืออะไร ต้องจำง่าย เรียบง่าย สื่อสารได้ดีรึเปล่า แต่เขาก็บอกว่าคำตอบไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป ระยะมานี้วรทิตย์เริ่มสนใจโลโก้กระทรวงที่มีรายละเอียดเยอะ ๆ จากที่เคยคิดว่าเชย ตอนนี้เขารู้สึกว่างานเหล่านี้สวยงาม มีประวัติศาสตร์ เหตุผล และความหมายในตัวเอง

“วันนี้คิดแบบนี้ พรุ่งนี้อาจจะกลับมาไม่ชอบเหมือนเดิมก็ได้ ความคิดความอ่านคนเราเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ”

‘Good Design’ เป็นคำวรทิตย์ชอบใช้ แต่ก็เป็นคำที่กว้างมากในขณะเดียวกัน เมื่อก่อนมันอาจจะแปลว่าสวยงามและเวิร์กเท่านั้น แต่ตอนนี้ก็อาจจะต้องเพิ่มความยั่งยืนเข้ามาด้วย และหากจะถามว่า Good Design ต้องลงตัวไหม ก็อาจจะไม่เสมอไปเช่นกัน บางงานผู้ออกแบบอาจต้องการให้มันกบฏ หากทำให้เรารู้สึกถูกรบกวนได้ นั่นก็อาจเป็นอีกหนึ่ง Good Design

“เวลาเราทำงานกันในทีม เราก็จะใช้ Gut Feeling คุยกันว่ามัน Good Enough แล้วหรือยัง บางงานถ้าไม่ได้สวยมาก แต่มี Quality อย่างอื่น มันก็อาจจะทำให้อันนั้นเป็น Good Design ได้โดยไม่จำเป็นต้องสวย”

ทุกวันนี้วรทิตย์เดินทางมาถึงจุดสบายใจของอาชีพ เขาไม่ต้องการอะไรไปมากกว่าชีวิตที่สมดุล และรายได้ที่พอให้ครอบครัวดำรงชีวิต แต่เมื่อถามว่ายังมีโปรเจกต์อะไรที่อยากทำอยู่ไหม เขาก็มีคำตอบในใจ (นั่นไง) และตอบว่าอยากทำโปรเจกต์ที่ต้องคิดหลายอย่าง อย่างงานโอลิมปิกหรืองานสายการบิน (เป็นเพราะตอนนี้ลูกชายชอบเครื่องบินมาก) 

วรทิตย์บอกว่างานเหล่านี้เป็นงานระบบใหญ่ มีผลกระทบกว้างมาก ๆ และอาจจะเป็นเชื้อเพลิงให้มีการพัฒนาหลาย ๆ อย่างด้านการออกแบบของประเทศเรา หลัง ๆ มานี้เขาสนใจงานที่พัฒนาอะไร ๆ ให้กับคนหมู่มากมากกว่าพวก Luxury Brand 

อยากบอกอะไรกับคนรุ่นใหม่ในวงการดีไซน์บ้าง – เราถามส่งท้าย

คุยกับ แต๊บ-วรทิตย์ เครือวาณิชกิจ เกี่ยวกับงานออกแบบโลโก้ที่เขารัก โดยมีงาน ‘เวทีราชดำเนิน’ เป็นตัวชูโรง

“เด็กรุ่นใหม่เก่ง ๆ ทั้งนั้นเลย ทุกวันนี้พี่ก็ต้องอัปเดตตัวเองให้คุยกับเด็กรุ่นใหม่รู้เรื่อง” ดีไซเนอร์ใหญ่ตอบอย่างถ่อมตัว “สิ่งที่อยากฝากไว้ คือพี่ไม่อยากให้ทุกคนทำงานจนมันเขมือบชีวิตเรา อยากให้เรามีวินัยกับตัวเอง ดูแลตัวเองและคนรอบข้างให้ดี

“คนในอาชีพอย่างนี้ เวลามันไม่เคยพอ คิดเพิ่ม ทำเพิ่ม งานก็ยิ่งดีขึ้น ซึ่งน้อยคนนักที่จะรู้ว่าการหยุดก็คือการดีไซน์ที่ดีอย่างหนึ่งนะ”

เราตั้งใจฟัง หวังว่าจะนำมาปรับใช้กับชีวิตนอนน้อยของตัวเองบ้าง “สุดท้ายแล้ว It’s just a job นะ การหาเลี้ยงชีพไม่ใช่ทุกอย่าง ทุกคนต้องมีชีวิตของตัวเอง”

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล