เกาะลิบง เกาะที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดตรัง เป็นที่รู้จักจากน้องมาเรียม พะยูนน้อยกำพร้าแม่และเข้ามาอาศัยที่เกาะลิบง แต่สำหรับฉันแล้ว ก่อนจะมาสัมผัสดินแดนแห่งนี้ ยังไม่มีสิ่งใดที่อยากให้ติดตาม

บันทึกบัณฑิตอาสาสมัคร เรียนรู้วิถีชีวิตมุสลิมชาวเล 7 เดือน บนเกาะลิบง จ.ตรัง

การเดินทางไม่สิ้นสุด

ฉันเป็นคนกรุงเทพฯ แต่ชีวิตส่วนใหญ่คือการเดินทาง เพราะฉะนั้น การเดินทางครั้งนี้ไม่ได้น่าตื่นเต้นเท่าไหร่นัก จะกังวลก็แต่ข้าวของที่นำไปไม่พอใช้ ฉันเลือกเดินทางโดยรถ บขส. (บริษัท ขนส่ง จำกัด) กรุงเทพฯ-ตรัง-สตูล เพราะจุดหมายปลายทางของรถอยู่ที่จังหวัดสตูล ทำให้บนรถมีผู้โดยสารแน่นขนัด

การเดินทางเริ่มต้นจากขนส่งสายใต้ใหม่ จอดแวะรับตามจุดต่างๆ หลายที่ เวลาเดินไปเรื่อยๆ จนครบ 13 ชั่วโมง ก็ถึงจุดหมายปลายทางที่ยังไม่สิ้นสุด เพราะฉันต้องเดินทางต่อด้วยรถตู้เพื่อไปลงที่ท่าเรือหาดยาว เนื่องจากเป็นวันธรรมดา ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยว ทำให้ฉันต้องตัดสินใจเหมารถตู้หลังจากตั้งหน้าตั้งตารอตั้งแต่ 8 โมงเช้า

บันทึกบัณฑิตอาสาสมัคร เรียนรู้วิถีชีวิตมุสลิมชาวเล 7 เดือน บนเกาะลิบง จ.ตรัง

นาฬิกาบอกเวลาบ่าย 2 โมง ฉันใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง ก็ถึงท่าเรือหาดยาว มีเจ้าหน้าที่ท่าเรือเรียกฉันอย่างรวดเร็ว “เรือจะออกแล้ว ไปมั้ยเกาะลิบง” นั่นยิ่งกระตุ้นให้ฉันพร้อมออกเดินทางต่อในทันที ค่าเรือโดยสารราคาเป็นกันเอง เพียง 40 บาท ใช้เวลาประมาณ 25 นาที จากแดดที่แผดเผากลับมีน้ำฝนหยดลงมาปรอยๆ ประหนึ่งเป็นการต้อนรับฉันเข้าสู่เกาะลิบง ในที่สุดการเดินทางก็พาฉันมาถึงท่าเรือบ้านพร้าวของเกาะลิบง ที่ที่ฉันไม่เคยมา 

นี่เป็นครั้งแรกของฉันกับสัมภาระ 4 ใบ พี่เลี้ยงในพื้นที่ที่รับผิดชอบดูแลมายืนรอรับอยู่แล้วพร้อมพาฉันออกเดินทางด้วยรถเครื่อง (มอเตอร์ไซค์) เป็นระยะทางเกือบ 3 กิโลเมตรก็ถึงจุดสิ้นสุดการเดินทาง ขณะเดียวกันก็เป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางเพื่อจะเรียนรู้ ซึ่งสถานที่ตรงหน้าเป็นที่พักของฉัน มีม๊ะ (แม่) วัย 52 ปี ยืนคอยต้อนรับอยู่แล้ว

บันทึกบัณฑิตอาสาสมัคร เรียนรู้วิถีชีวิตมุสลิมชาวเล 7 เดือน บนเกาะลิบง จ.ตรัง

จากเด็กเทพฯ สู่เด็กเกาะ

เพียงเพราะฉันรักการทำกิจกรรมและงานอาสา จึงเป็นที่มาของการอยู่เกาะ 

เคยมีอาจารย์สมัยเรียนกล่าวไว้ว่า “การเรียนทำให้คนมีงานทำ… กิจกรรมทำให้คนทำงานเป็น” ประโยคที่ฉันไม่เคยจดใส่สมุดแต่ดังก้องอยู่ในใจจนถึงทุกวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่เป็นความจริง มองย้อนกลับไปสักกี่ครั้งก็เถียงไม่ออก ‘ทำงานได้’ กับ ‘ทำงานเป็น’ ต่างกันแค่คำสุดท้าย แท้จริงแล้วมีความหมายยิ่งนัก หากใครเคยได้ลองสัมผัส

ระยะเวลาเกือบ 7 เดือนสำหรับการใช้ชีวิตอยู่ที่เกาะลิบง จังหวัดตรัง พื้นที่ภาคใต้แต่ไม่ใต้สุดของประเทศไทย บนถนนอิฐตัวหนอนที่เป็นถนนสายหลักในการสัญจรไปมา สองข้างทางหนาแน่นด้วยป่ายางพารา พาหนะที่ใช้เดินทางมีเพียงรถเครื่อง รถพ่วง และรถจักรยาน รถบรรทุกมีให้เห็นบ้างในการรับส่งนักท่องเที่ยว

บันทึกบัณฑิตอาสาสมัคร เรียนรู้วิถีชีวิตมุสลิมชาวเล 7 เดือน บนเกาะลิบง จ.ตรัง

ทุกสิ่งก่อสร้าง ร้านค้าโชห่วย มีสินค้าอุปโภคบริโภคที่ตอบโจทย์สำหรับอยู่บนเกาะ นานๆ ครั้งจะมีตลาดนัด เป็นแหล่งช้อปปิ้งหรูไม่แพ้ห้างสรรพสินค้าในเมือง ช่วงหัวรุ่ง (ตอนเช้า) เริ่มมีแสงไฟส่องสว่างจากร้านค้า สาดแสงแข่งกับแสงจากไฟฉายดวงเล็กๆ ของชาวบ้านที่ออกมากรีดยางตั้งแต่ตี 2 ตี 3 แม่ค้าพ่อค้าเริ่มตั้งร้านขายอาหารท้องถิ่น มีให้เลือกทั้งข้าวยำ ข้าวเหนียวไก่ทอด ข้าวหมกไก่ ข้าวมันไก่ ขนมจีน ร้านน้ำชาหรือสภากาแฟเป็นสิ่งที่ฉันจะต้องแวะเวียนในทุกๆ วัน เมนูประจำคือโกปีอ้อใส่นม กลิ่นหอมของโกปีและความหวานของนมข้นยังคงติดปลายลิ้นชวนให้อยากลิ้มรสอีก ขนมมีให้เลือกเยอะแยะไม่แพ้อาหารหลัก มีปาท่องโก๋ ขนมจู้จุน ขนมตาหยาบ โรตีกรอบ โรตีใส่ไข่ ขนมรูหู

บันทึกบัณฑิตอาสาสมัคร เรียนรู้วิถีชีวิตมุสลิมชาวเล 7 เดือน บนเกาะลิบง จ.ตรัง
บันทึกบัณฑิตอาสาสมัคร เรียนรู้วิถีชีวิตมุสลิมชาวเล 7 เดือน บนเกาะลิบง จ.ตรัง

แสงไฟลิบๆ จากทะเลมีให้เห็นตามจุดต่างๆ เฉกเช่นเดียวกับกิจกรรมบนบก ทั้งหาหอยหลอด โหล๊ะกุ้ง วางอวนปู อวนปลากระบอก สุดแล้วแต่เวลาน้ำขึ้นหรือน้ำลง คลื่นลมแรงมากหรือน้อย เมื่อตะวันขึ้นฉายอย่างเต็มที่ เป็นเวลาที่ไม่ค่อยเห็นคนทำกิจกรรมนอกบ้านเท่าไรนัก เพราะที่นี่แดดแรงจริงๆ จะเห็นก็เพียงปลาเค็ม ปลาตากแห้งที่วางบนตะแกรงให้เชยชม กิจกรรมในบ้านจะเป็นการเตรียมวัสดุอุปกรณ์ ถ้าเป็นชาวประมงออกเลก็ทำไทรหมึก ไทรปู ไทรปลา อวนปู อวนปลา บ้างก็พักผ่อนจากการตัดยางกันตั้งแต่หัวรุ่ง กลุ่มแม่บ้านมุสลิมบ้านบาตูปูเต๊ะทำเครื่องแกงอย่างแข็งขัน ช่วยกันทำส่งร้านค้า พอบ่ายแก่ เริ่มครึกครื้น ร้านค้าขายขนมแพะ ลูกชิ้น ขนมจีน สภากาแฟออกมาทำงานกันอีกครั้ง 

เคารพในความต่าง

บันทึกบัณฑิตอาสาสมัคร เรียนรู้วิถีชีวิตมุสลิมชาวเล 7 เดือน บนเกาะลิบง จ.ตรัง

หนุ่ย ลูกสาว น้อง พี่ น้า สู สารพัดคำที่ทุกคนเรียกฉันพร้อมต่อท้ายด้วยชื่อ สัมผัสถึงความเป็นกันเองที่ชาวบ้านบนเกาะลิบงมอบให้กับคนแปลกหน้าอย่างฉันด้วยความเอ็นดู หมู่บ้านบนเกาะลิบงมีทั้งสิ้น 4 หมู่บ้าน บ้านที่ฉันต้องกินอยู่หลับนอน อยู่ในพื้นที่ของหมู่ที่ 1 บ้านโคกสะท้อนหรือบ้านพร้าว มีม๊ะ (แม่) ป๊ะ (พ่อ) และโต๊ะ (ยาย) ส่วนลูกสาวทั้ง 2 คน นานๆ ครั้งจะกลับมา แล้วก็มีแมวชื่อไอ้ลาย อีก 1 ตัว พร้อมกับเป็ดฝูงใหญ่ที่ออกไข่ทุกวัน

คนบนเกาะลิบงเกือบทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลาม วิถีชุมชนมุสลิมในพื้นที่ค่อนข้างเข้มแข็งและเป็นอัตลักษณ์ การใช้ชีวิตช่วงเดือนแรกเป็นการหมั่นเอาหน้าให้ทุกคนในเกาะเห็นเพื่อให้ทุกคนรู้จัก สิ่งที่ตามมาคือการตอบคำถามว่าเป็นใคร มาจากไหน มาทำอะไร อยู่บ้านใคร แต่สิ่งที่บรรดาป๊ะ ม๊ะ จ๊ะ หรือก๊ะ ต้องแปลกประหลาดใจ คือการมาใช้ชีวิตอยู่เป็นเวลา 7 เดือน อันที่จริงระยะเวลา 7 เดือน จะว่าน้อยก็น้อย จะว่านานก็นาน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง

บันทึกบัณฑิตอาสาสมัคร เรียนรู้วิถีชีวิตมุสลิมชาวเล 7 เดือน บนเกาะลิบง จ.ตรัง

สำหรับฉัน เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว เพราะทุกๆ วันกิจกรรมบนเกาะล้วนตื่นตาตื่นใจซะทุกอย่าง การลงสำรวจหญ้าทะเลที่เป็นอาหารหลักของพะยูนโดยการเดินในทะเลตอนช่วงน้ำแห้ง ใครจะรู้ว่าสัตว์หน้าดิน ปลาดาว ปลิง ปู จะอุดมสมบูรณ์ขนาดนี้ ได้เรียนรู้การทำประมงพื้นบ้าน โหล๊ะกุ้ง ต่อยหอย หาหมึก วางอวน ตกปลา เข้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชน ทำเครื่องแกง น้ำพริกปลาหยอง หรือแม้กระทั่งการทอดขนมตอนเช้า 

แต่ละวันผ่านไปอย่างรวดเร็ว จากวันเป็นเดือนฉันเริ่มสนิทสนมกับคนในเกาะ ไปกินข้าวเที่ยงบ้านนี้บ้าง ข้าวเย็นบ้านนั้นบ้าง ชวนนั่งเรือไปเที่ยวบ้าง เหมือนที่นี่เป็นครอบครัวใหม่ของฉัน คงเป็นเพราะชาวบ้านเอ็นดูที่ฉันมาเพียงลำพัง แม้แต่การเข้าไปเรียนศาสนากับมุสลิมะฮ์ (สตรีที่นับถือศาสนาอิสลาม) หรือกับเด็กๆ ช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ก็ไม่ได้นำมาซึ่งความแตกแยกในความแตกต่างทางด้านศาสนา กลับทำให้ฉันและคนในเกาะสนิทสนมกันมากขึ้น และยังชวนฉันมาเข้าร่วมเรียนด้วยอยู่บ่อยครั้ง

ความรู้นอกห้องเรียน

บันทึกบัณฑิตอาสาสมัคร เรียนรู้วิถีชีวิตมุสลิมชาวเล 7 เดือน บนเกาะลิบง จ.ตรัง

เมื่อมาอยู่บนเกาะลิบง สิ่งแรกคือการปรับตัวเรื่องภาษาใต้ ที่นี่แหลงใต้รัวแบบแร็ป ฉันคุยกับหลายๆ คนก็เกรงใจเพราะทุกคนล้วนบอกว่าพูดภาษากลางแล้วเหนื่อย บางทีการขับรถสวนกันการทักทายกันอย่างรวดเร็ว “มาจากไหน” คำตอบที่ฉันจะต้องรีบตอบต้องรวดเร็วเช่นกัน เขาว่ากันว่าช่วง COVID-19 ครั้งก่อนถ้าปิดเกาะลิบง สิ่งมหัศจรรย์คือ ชาวบ้านในเกาะจะไม่อดอยาก เพราะทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ อาหารทะเล ผักสวนครัว แม้กระทั่งข้าว ลิบงก็เคยปลูกมาแล้ว 

“คนขยัน ไม่อดตาย” หลายๆ คนบนเกาะพูดแบบนั้น ฉันก็ว่าจริง มีอะไรให้ทำทั้งวัน อยู่ที่ว่าจะทำหรือไม่เท่านั้น จะเรียนรู้และปรับตัวอย่างไร “มากก็เหลือ น้อยก็ไม่พอ” ใช้ได้กับทุกสถานการณ์ ความพอดีดีที่สุด 

บันทึกบัณฑิตอาสาสมัคร เรียนรู้วิถีชีวิตมุสลิมชาวเล 7 เดือน บนเกาะลิบง จ.ตรัง

การได้มาอาศัยอยู่ในฐานะลูกหลานชาวบ้านและนักศึกษาบัณฑิตอาสาสมัคร ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่คนแปลกหน้า ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม ที่สำคัญต่างศาสนา จะเข้ามาอยู่เพียงลำพังในที่แห่งนี้ รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 7 เดือน 

แต่คงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับการปรับตัวภายใต้หลักการพื้นฐาน 2 ข้อที่ฉันท่องขึ้นใจ คือการเคารพความต่างและจิตสำนึกของการเป็นอาสาสมัคร ประกอบกับน้ำใจของชาวบ้านบนเกาะลิบงที่หยิบยื่นให้กับนักศึกษาตัวเล็กๆ อย่างฉัน ทำให้ทุกๆ วันที่ใช้ชีวิตบนเกาะไม่น่าเบื่อและสนุก จนอยากเรียนรู้ทุกวัน หากเปรียบชีวิตตอนนี้ฉันคงไม่ต่างกับตำนาน ‘น้ำตาปลาพะยูน’ ดังบทเพลงพื้นบ้านรองเง็ง ที่ โต๊ะหยำ กุมุดา วัย 79 ปี ถ่ายทอดออกมา

“คิดถึงสาวกินข้าวไม่ลง ถูกเสน่ห์น้ำตาดุหยง กินข้าวไม่ลง คิดถึงเจ้าทุกเวลา…”

บันทึกบัณฑิตอาสาสมัคร เรียนรู้วิถีชีวิตมุสลิมชาวเล 7 เดือน บนเกาะลิบง จ.ตรัง

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

วรนุช ล้อมสุนทร

ภาพถ่ายสื่อความหมายได้ดีกว่าคำพูด บางทีภาพเดียวตราตรึงใจไปได้นานแสนนาน ไม่แปลกเลยที่จะพกกล้องถ่ายรูปไปด้วยในทุกสถานที่ที่ไปเยือน เพราะเราไม่รู้เลยว่าจะมีความประทับใจอะไรดีๆ เกิดขึ้นบ้าง