‘น้องนอนในห้องเสื้อ’ คือคอลัมน์ใหม่ใน The Cloud ที่ตั้งใจไปเยี่ยมห้องเสื้อแบรนด์แฟชั่น และคุยกันเรื่องบทเรียนธุรกิจ โดย น้องนอนในห้องลองเสื้อ เพจเล็กๆ ที่ชอบลองเสื้อในร้านนานๆ เป็นชีวิตจิตใจ 

ด้วยเพราะสนใจการไปเที่ยวร้านเสื้อผ้า ชอบการมีอยู่ของร้านเล็กๆ ในยุคที่ออนไลน์เฟื่องฟู และเติบโตมาในยุคที่คนซื้อเสื้อผ้าสำเร็จจากตลาดและห้างร้าน เวลาเห็นเสื้อตัดของแม่ในตู้เสื้อผ้าที่ทนแสนทน และยังรับพอดีกับรูปร่างก็อดอิจฉาไม่ได้ 

หลังจากวิ่งเข้าวิ่งออกห้องลองเสื้อแบรนด์ต่างประเทศมาจำนวนหนึ่ง ก็คิดอยากมีพื้นที่รวบรวมห้องเสื้อแบรนด์ไทยหลากสไตล์ หลากขนาด และหลากระดับดูบ้าง แต่จะไปลองเสื้อเฉยๆ ก็ดูใช้หน้าที่การงานในทางมิชอบ เลยขอเข้าไปพูดคุยเรื่องแนวคิดการทำธุรกิจแฟชั่น เผื่อใครที่สนใจธุรกิจ หรือแวดวงแฟชั่นเข้ามาก็จะได้ถือเป็นการแลกเปลี่ยนกัน แต่ถ้าใครคิดว่าธุรกิจแฟชั่นนั้นเข้มเกินไป ก็ข้ามไปอ่านเรื่องห้องลองเสื้อที่ล้อมกรอบด้านล่างอย่างเดียวก็ได้

‘น้องนอนในห้องเสื้อ’ ตอนที่ 1 พาไปเปิดห้องเสื้อ VL BY VEE แบรนด์ไทยที่วงการแฟชั่นและศิลปะญี่ปุ่นให้การยอมรับ ทั้งไม่เคยหายไปจากหน้านิตยสารและรายการวาไรตี้ของญี่ปุ่น และยังเป็นแบรนด์ที่มีแฟนๆ จงรักภักดีมาก ไม่ว่าจะออกคอลเลกชันไหนก็พากันกลับมาซื้อซ้ำ 

ในมุมของการออกแบบ VL BY VEE เป็นแบรนด์ไทยแท้ๆ ที่คิดอย่างคนญี่ปุ่น ละเอียดมาก (ในบทความมีคำว่าละเอียด ถึง 20 คำ) ละเอียดจนคนญี่ปุ่นยังชมว่าละเอียด

เข้าห้องเสื้อ VL BY VEE ลองชุดและลองคุยว่าทำไมเป็นแบรนด์ไทยขายดีที่ดังมากในญี่ปุ่น, วี-ฮิโรกะ ลิมวิภูวัฒน์

ในมุมธุรกิจ เราคุยกับ วี-ฮิโรกะ ลิมวิภูวัฒน์ เจ้าของแบรนด์ ถึงวิธีขายที่นอกตำรา การขายออนไลน์เมื่อ 13 ปีก่อน และวิธีคุยกับลูกค้าจนรู้ใจไปทุกเรื่อง ไปจนถึงขั้นตอนการขายในห้างฯ ญี่ปุ่นที่รู้แล้วทึ่งไม่หาย

ไม่ว่าความรู้สึกแรกที่คุณมีต่อเสื้อผ้าของ VL BY VEE จะเป็นอย่างไร สงสัยว่าใครใส่ สงสัยว่าใส่ยังไง สงสัยว่าทำไมขายดีจัง ลองฟังเรื่องราวด้านล่าง แล้วภาพแฟชั่นญี่ปุ่นของคุณจะเปลี่ยนไป (แต่ใจที่ยังอยากเป็นแม่บ้านญี่ปุ่นยังไม่เปลี่ยนแปลง)

ใครอ่านจบแล้วไปลองกระโปรงของคอลเลกชัน Autumn/Winter 2020-21 ‘MY PLEASURE’ อาจจะต้องบินไปถึงญี่ปุ่นนะ เพราะแม้จะขายที่ญี่ปุ่นแล้ว แต่ยังไม่เข้าร้านที่ไทยเลย 

เข้าห้องเสื้อ VL BY VEE ลองชุดและลองคุยว่าทำไมเป็นแบรนด์ไทยขายดีที่ดังมากในญี่ปุ่น, วี-ฮิโรกะ ลิมวิภูวัฒน์

1

จากนักเรียนธุรกิจผู้เรียนต่อด้านออกแบบสิ่งทอเพื่อทำงานศิลปะตามฝัน

ความฝันของวีคือการทำงานศิลปะ (Fine Art)

หลังเรียนจบคณะบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ วีสมัครเรียนต่อด้านการออกแบบสิ่งทอ ที่ Kobe Design University โดยมีเพียงแฟ้มผลงานวาดรูป จนได้เข้ามาเป็นนักเรียนวิจัยของคณะแฟชั่นและสิ่งทอ เธอใช้เวลาเพียงครึ่งปีก็สอบเข้าเรียนปริญญาโทได้

“การสอบเข้านั้นใช้ข้อสอบชุดเดียวกับคนที่เรียนแฟชั่นมาสี่ปี ช่วงเป็นนักเรียนวิจัยอยากเรียนวิชาอะไร หรือทดลองทำอะไรก็ปรึกษาอาจารย์ได้ทุกอย่าง ก่อนตัดสินใจเลือกเรียนด้านย้อมและสิ่งทอเพราะว่าเป็นแก่นของ Textile”

เข้าห้องเสื้อ VL BY VEE ลองชุดและลองคุยว่าทำไมเป็นแบรนด์ไทยขายดีที่ดังมากในญี่ปุ่น, วี-ฮิโรกะ ลิมวิภูวัฒน์

วีบอกว่าเธอชอบแต่งตัว ชอบเสื้อผ้า แต่ไม่ได้คิดว่าจะเรียนแฟชั่นเพื่อทำเป็นอาชีพ 

“ตอนนั้นอยากทำงานศิลปะมากกว่า ซึ่ง Textile อยู่ตรงกลางระหว่างศิลปะและโลกความเป็นจริง ช่วงเรียนก็คิดแต่จะสร้างงาน ไม่ได้จะทำสินค้าเลย สำหรับเรางานศิลปะไม่จำเป็นต้องเป็นภาพวาด เราสนุกกับการทดลองหาเทคนิคใหม่ๆ เพื่อให้ได้งานศิลปะแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน 

“ช่วงยังเป็นนักเรียนวิจัย เราทำงานทอผ้าเป็นเรื่องราวของช้างในเมืองไทย ซึ่งคนญี่ปุ่นเข้าใจว่าช้างไทยในเมืองคือสัญลักษณ์ของความล้าหลัง เรื่องเล่าตั้งแต่ป่าสู่เมือง จนถึงวาระสุดท้ายของช้าง ต่อมาเราอินเรื่องต้นไม้และเทวดาที่อยู่ในต้นไม้ เพราะโกเบที่เราอยู่มีแต่ภูเขา มีศาลเจ้าเก่าๆ ที่มีต้นไม้ใหญ่ๆ เป็นช่วงที่อยู่เหงาๆ แล้วรู้สึกถึงพลังงานบางอย่างที่มาจากต้นไม้เหล่านั้น และที่ผ่านมา Textile จะเป็นงานแบนๆ เราอยากทำให้มีมิติ ก็เลยลองทอผ้าด้วยเทคนิคทอสองชั้นจากกี่อันเดียว ยัดนุ่นลงไป จากนั้นสอยผ้าให้เป็นต้นไม้ นอกจากนั้นก็มีงานภาพที่ทอด้วยเทคนิคมัดหมี่ ซึ่งปกติจะเกิดลายเดียวกันทั้งผืน เราก็ต้องคำนวณเส้นเริ่มและเส้นจบ ไปจนถึงการย้อมหลายชั้นให้ได้สีไล่กันไป”

เข้าห้องเสื้อ VL BY VEE ลองชุดและลองคุยว่าทำไมเป็นแบรนด์ไทยขายดีที่ดังมากในญี่ปุ่น, วี-ฮิโรกะ ลิมวิภูวัฒน์

นอกจากใช้ทำงานศิลปะแล้ว ความรู้เชิงลึกเรื่องสิ่งทอทำให้วีเข้าใจวัตถุดิบ รวมถึงให้ความสำคัญกับเนื้อผ้าและเส้นใยมากๆ เธอรู้ว่าผ้าแบบไหนทำเสื้อทรงนี้สวย แบบไหนที่ใส่สบาย หรือแบบนี้ดีต่อสิ่งแวดล้อม

“มาจนถึงวันนี้ก็ยังใช้ความรู้ที่เรียนมาไม่หมดนะ วันหนึ่งถ้าเกิดได้ทำงานที่รวมความรู้ทุกอย่างที่มีก็คงดี”

เข้าห้องเสื้อ VL BY VEE ลองชุดและลองคุยว่าทำไมเป็นแบรนด์ไทยขายดีที่ดังมากในญี่ปุ่น, วี-ฮิโรกะ ลิมวิภูวัฒน์

เริ่มจากขายเสื้อผ้าคู่สีสนุกบนออนไลน์ ซึ่งป๊อปมากในสายตาคนญี่ปุ่น ทำให้ VL ยุคแรกขายดีสุดๆ

หลังเรียนจบ ช่วงปี 2007 วีกับเพื่อนชาวญี่ปุ่นตัดสินใจเริ่มทำร้านออนไลน์ชื่อ TAMARIBA มีเสื้อผ้าและข้าวของกระจุกกระจิกจากกี่เล็กๆ ที่บ้าน เป็นการทำเพราะความสนุก ไม่ได้มีคอลเลกชัน ซึ่งบางเดือนมีเสื้อผ้า 4 – 5 แบบแล้วแต่เวลาที่มี โดยระหว่างที่กลับมาประเทศไทย เธอยังคงทำงานศิลปะไปพร้อมๆ กับงานเขียนหนังสือ แปลหนังสือ และทำเสื้อผ้าเป็นเพียงงานอดิเรก ภายใต้ชื่อแบรนด์ ‘VL’ มาจาก ‘วชิราภรณ์ ลิมวิภูวัฒน์’ ชื่อ-นามสกุลของวี 

โจทย์ของวีตอนที่ทำแบรนด์ VL ช่วงปี 2007 คือทำเสื้อผ้าที่น่ารักและสดใหม่ให้คนญี่ปุ่นใส่ 

เข้าห้องเสื้อ VL BY VEE ลองชุดและลองคุยว่าทำไมเป็นแบรนด์ไทยขายดีที่ดังมากในญี่ปุ่น, วี-ฮิโรกะ ลิมวิภูวัฒน์

“Relax and Charming คือ ใส่สบาย เพราะขายบนออนไลน์ จะทำเสื้อที่ไม่มีไซส์หรือเข้ารูปคงไม่ได้ สบายแล้วยังต้องมีเสน่ห์ นั่นคือไม่ใช่เสื้อผ้าที่เห็นทั่วๆ ไปในท้องตลาด ต้องมีอะไรใหม่ เช่น บางทีก็ใส่ผ้าไทย แรกๆ เราใช้ผ้าขาวม้า ยุคนั้นแม้แต่แบรนด์ไทยก็ไม่มีใครใช้ผ้าขาวม้าทำเสื้อผ้าเลย เราชอบเรื่องนี้อยู่แล้วตั้งแต่ตอนเรียน ชอบเดินงาน OTOP ไปหาซื้อผ้าที่ดูไม่ทันสมัย มาทำให้ทันสมัย เพื่อมาเอามาใช้ในชุดยุคแรกของเรา”

เพราะคู่สีของผ้าขาวม้าไทยที่ไม่เหมือนใคร จึงดูป๊อปมากในสายตาคนญี่ปุ่น ทำให้ VL ยุคแรกขายดี

เข้าห้องเสื้อ VL BY VEE ลองชุดและลองคุยว่าทำไมเป็นแบรนด์ไทยขายดีที่ดังมากในญี่ปุ่น, วี-ฮิโรกะ ลิมวิภูวัฒน์

ช่วง 2 -3 ปีแรกของการทำแบรนด์ มีลูกค้าประจำรอซื้อในออนไลน์ ทุกครั้งที่ปล่อยสินค้าใหม่ก็ขายหมดภายใน 2 วัน วีเล่าว่าส่วนหนึ่งเพราะเธอทำในจำนวนจำกัดและราคาไม่แพง ช่วงปี 2011 จึงเริ่มทำแบรนด์ที่มีคอลเลกชันจริงจัง และนอกจากเสื้อผ้าออกแบบใหม่ เธอยังแตกไลน์เสื้อผ้ารีเมกจากเสื้อวินเทจที่เธอชอบ ภายใต้ชื่อแบรนด์ชื่อ VL’s Gumgum ซึ่งมีจุดแข็งคือความสนุก คาดเดาไม่ได้ว่าเธอจะเปลี่ยนรูปทรงหรือจับคู่สีออกมาอย่างไร

“เป็นช่วงที่อิสระมาก ไม่ได้คิดถึงธุรกิจเท่าไหร่ เราทำคอลเลกชันและไปแสดงงานที่ญี่ปุ่นเพียงปีละครั้ง ฟังดูจะเซอร์ๆ หน่อย เราพอใจทำเท่านี้ ทำ Pop-up โชว์เสร็จก็ขายเลย คนก็มาจองๆ ไว้ พอหมดงานก็ขายหมด แล้วถึงค่อยผลิตเพิ่มขายในออนไลน์ ซึ่งก็ขายได้เรื่อยๆ ไม่ได้มีปัญหา”

3

ปรับวิธีคิดเมื่อแบรนด์เริ่มอยากเห็นเสื้อผ้าเข้าไปขายอยู่ตามร้านดัง

เมื่อผลตอบรับดีขึ้นเรื่อยๆ ก็มาถึงจุดเปลี่ยน วีตัดสินใจพักงานศิลปะ มาลุยทำแบรนด์จริงจังในปี 2014 ตั้งแต่เปลี่ยนชื่อเป็น ‘VL BY VEE’ เพื่อให้คนค้นหาข้อมูลของแบรนด์ในอินเทอร์เน็ตง่ายขึ้น ทำลายพิมพ์ของตัวเอง ย้ายไปจัดนิทรรศการและงานโชว์ในช่วงเดียวกับ Tokyo Fashion Week เหมือนแบรนด์อื่นๆ เพื่อให้สะดวกต่อ Buyer (ผู้ซื้อ) ที่มาเลือกซื้อสินค้าไปลงขาย รวมถึงการทำประชาสัมพันธ์ต่อ

“เรามาถึงจุดที่อยากเห็น ‘ผล’ เริ่มมี Buyer เจ้าดังมาสนใจ ชวนไปแสดงงานใหญ่ แต่เราก็ยังไปไม่ถึงจุดที่ร้าน Selected รายใหญ่ซื้อของเราไปขาย เราเริ่มอยากเห็นเสื้อผ้าเราไปอยู่ตามร้านต่างๆ จึงต้องปรับวิธี” 

ความต้องการจาก Buyer ที่มากขึ้น ส่งผลต้องผลิตในจำนวนที่เพิ่มขึ้น จะมารีเมกทีละตัวเหมือนเดิมคงไม่ได้ 

“เรายังชอบงานรีเมกอยู่นะ แต่พอวัตถุดิบอย่างเสื้อวินเทจไม่เหมือนกันก็ลำบาก Buyer และเมื่อเราต้องผลิตเยอะขึ้น ก็ต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานให้มีระบบระเบียบมากขึ้นตามประสบการณ์ โดยแก่นของแบรนด์ที่อยากให้คนใส่สนุกและได้พลังงานบวกยังไม่เปลี่ยนไป

“ในมุมของกลุ่มลูกค้าที่เติบโตขึ้น ถ้าเรายังอยู่เหมือนเดิม กลุ่มคนที่ชอบเราจะเหลือเพียงคนที่ชอบแต่งตัวมากๆ จริงๆ เขาถึงรับได้ทุกอย่างที่เราปล่อยออกมา เมื่อกลุ่มเป้าหมายเปลี่ยนไป มีคนหลายวัย หลายอาชีพ จากเดิมมีลูกค้าหลักคือนักออกแบบที่สนุกกับงานของเรา เราต้องคิดถึงกลุ่มพนักงานออฟฟิศซึ่งที่ผ่านมาเขาชอบ Vibe ของแบรนด์ แต่ใส่ไปทำงานจริงไม่ได้ นึกภาพตัวเองใส่ในชีวิตประจำวันไม่ออก” วีเล่า

เข้าห้องเสื้อ VL BY VEE ลองชุดและลองคุยว่าทำไมเป็นแบรนด์ไทยขายดีที่ดังมากในญี่ปุ่น, วี-ฮิโรกะ ลิมวิภูวัฒน์

ปัจจัยสี่ที่ไม่ได้มีดีแค่เปลือกนอก

วีเชื่อเสมอว่าแฟชั่นไม่ควรมีดีแค่เปลือก เพราะแก่นของเสื้อผ้าคือการเป็นปัจจัยสี่ สำคัญคือต้องใส่สบาย วีจึงเลือกวัตถุดิบและผ้าที่ดี ใส่แล้วสบายตัว เป็นความรู้สึกที่เธอรู้สึกกับเสื้อผ้าจริงๆ งานของ VL BY VEE จึงออกมาแบบนี้ ซึ่งคนที่ใส่ก็สัมผัสได้ ไม่แปลกที่ลูกค้าญี่ปุ่นเกือบทุกคนจึงรู้สึกพิเศษกับแบรนด์

“เราไม่เคยลืมว่ากำลังทำเครื่องนุ่งห่มที่ใช้งานได้จริง ทำให้คิดถึงฟังก์ชัน สมมติทรงนี้ประหลาดจัง จะถอดและใส่อย่างไร โครงเสื้อสวยจากการเบี้ยวไปเบี้ยวมาใส่สบายจริงหรือเปล่า เป็นเราเองที่ชอบจับวัสดุต่างชนิดกันมาเจอกัน สำคัญคือเมื่ออยู่ด้วยกันแล้วซักได้จริงใช่ไหม เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะคนที่ซื้อไปในราคาเท่านี้ เขาไม่ควรรู้สึกมีปัญหาใส่ครั้งเดียวแล้วเสีย หรือใส่ไม่สบาย ไม่อยากให้รู้สึกว่าดีไซน์แปลกดีแต่อึดอัดจังเลย”

สำหรับวี เสื้อผ้าที่ดีคือเสื้อผ้าที่มีฟังก์ชันและดีไซน์ใหม่

“ถ้าผลิตแต่งานซ้ำๆ คนไปซื้อที่อื่นก็ได้ ไม่ต้องซื้อของเรา แค่นี้ก็มีคู่แข่งเยอะมากแล้ว เราบอกตัวเองเสมอว่า ถ้างานออกมาไม่ดีมันก็เป็นขยะของโลกเปล่าๆ จะมาเพิ่มขยะทำไม ถ้าสมมติต้องปล่อยของไม่ดีออกมาเยอะๆ สู้ทำแบบให้น้อยลง และทำให้ดีมากไปเลยไม่ดีกว่าหรอ เพราะถ้าคนที่ใส่รู้สึกสบายเขาก็จะกลับมาซื้อซ้ำ ไม่ใช่ซื้อครั้งเดียวแล้วเลิกไป ซึ่งนั่นไม่ใช่ประเด็นที่เราทำเสื้อ เราคิดเรื่องพัฒนาสินค้ามากกว่ากำไร ซึ่งไม่ควรเอาอย่างนะ ดังนั้นอย่าถามเราเรื่องขายเลย เราคิดว่าทำของที่ดี คนก็จะกลับมาหาเอง เราเชื่อแบบนั้น ซึ่งความจริงมันผิด”

ทำไมผิด เราถาม

“ทำธุรกิจก็ต้องศึกษาก่อนว่าใครต้องการอะไร แล้วจึงทำของออกมาตอบสนองตลาด แต่เราทำจากความชอบ ไม่ได้คิดทำเป็นธุรกิจ อยู่ๆ วันหนึ่งลุกขึ้นมาบอกว่าอยากรวย แบบนั้นไกลเกินไป ไม่ใช่ตัวเราเลย ไม่ทำดีกว่า ไม่ได้อยากทำอะไรแบบนั้น”

เข้าห้องเสื้อ VL BY VEE ลองชุดและลองคุยว่าทำไมเป็นแบรนด์ไทยขายดีที่ดังมากในญี่ปุ่น, วี-ฮิโรกะ ลิมวิภูวัฒน์

5

จุดแข็งของแบรนด์อยู่ที่ความละเอียดที่ลอกเลียนได้ยาก

“ความละเอียดเป็นจุดแข็งหนึ่งที่แบรนด์อื่นๆ แม้แต่ในญี่ปุ่นก็ไม่มี เขาอาจจะละเอียดแบบอื่น ซึ่งเราไม่รู้ คนที่เข้ามาดูเสื้อผ้าเรา ไม่ว่าจะดีไซเนอร์ญี่ปุ่นก็ตาม มักจะบอกว่างานของเรามันละเอียด ยิ่งดูยิ่งละเอียด เพราะเป็นนิสัยของเราเอง ชอบมองไปถึงเส้นด้ายและฝีเข็ม เรามองเห็นทุกอย่าง” วีเล่า

เข้าห้องเสื้อ VL BY VEE ลองชุดและลองคุยว่าทำไมเป็นแบรนด์ไทยขายดีที่ดังมากในญี่ปุ่น, วี-ฮิโรกะ ลิมวิภูวัฒน์

ถ้าไม่นับเรื่องลายพิมพ์และลายปักบนผ้าในแต่ละคอลเลกชันที่ถึงจะเป็นจุดเด่นของแบรนด์ ก็ยังมีโอกาสถูกลอกเลียนแบบอยู่ดี วีบอกว่าเธอไม่คิดว่าจะมีใครยอมลอกเลียนรายละเอียดที่ซ่อนอยู่เพราะมันยุ่งยากพอตัว

“เช่น เนื้อผ้าที่มองด้วยตาเห็นเป็นเส้นเล็กๆ มาจากการทำให้ผ้าพลีทเรียบชั้นหนึ่ง เพื่อให้เกิดลายก่อนจึงนำมากุ๊นแต่งคอเสื้อ ทำให้คล้ายก็คงทำได้ แต่ทำให้ละเอียดแบบนี้เลยคงยาก ซึ่งต่อให้เขาทำตามเป๊ะก็คงไม่เหมือน และดูไม่ใช่ VL เราก็เลยช่างมัน”

ไม่ใช่แค่แบบทรงของเสื้อผ้าแสนละเอียด วิธีคิดขายของ VL BY VEE ก็ช่างละเอียดจนเอาชนะใจแฟนๆ

“เราไม่ได้คิดว่าเราขายดีเพราะมีแผนการตลาดที่ดี เราไม่ได้ทำรีเสิร์ชรวบรวมข้อมูลว่าคนกลุ่มไหนกันแน่ที่ใส่ แต่ด้วยความที่ต้องเจอลูกค้าตลอดเวลา ทำให้เรารู้ว่าลูกค้าที่เข้ามาซื้อเป็นคนแบบไหน ก็ได้เรียนรู้และปรับปรุงแบบเสื้อผ้าของเราให้คนกลุ่มนี้ใส่ได้ ในด้านพัฒนาสินค้าเพื่อให้เหมาะกับลูกค้าก็ต้องเข้าไปดู ไปคุย ไปเจอ มันไม่ใช่แค่ภาพว่าดูดี ใส่แล้วสวย ลูกค้าคำนึงถึงเรื่องใส่แล้วซักยังไง ซักง่ายไหม สมมติเราบอกเราใช้ผ้าไหม เขาจะถามว่าแล้วผ้าไหมนี้ต้องส่งซักไหม ขี้เกียจจังเลย คนญี่ปุ่นเขาสนใจทุกอย่าง เขาจะเปิดป้ายดูว่าเสื้อตัวนี้คอตตอนกี่เปอร์เซนต์ โพลีเอสเตอร์กี่เปอร์เซนต์ เพราะฉะนั้น เราก็ยิ่งพยายามศึกษาให้มากกว่าเขา ละเอียดให้มากกว่าเขา เพื่อจะตอบคำถามได้ทุกอย่างและปรับปรุงงานเราได้ ช่วงหลังก็พยายามจูนกับคนไทยมากขึ้น ที่ร้านก็มีเสื้อเรียบๆ หรือสินค้าที่ขายเฉพาะในไทย ให้ลูกค้าใส่คู่กับเสื้อผ้าอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น”

เข้าห้องเสื้อ VL BY VEE ลองชุดและลองคุยว่าทำไมเป็นแบรนด์ไทยขายดีที่ดังมากในญี่ปุ่น, วี-ฮิโรกะ ลิมวิภูวัฒน์
เข้าห้องเสื้อ VL BY VEE ลองชุดและลองคุยว่าทำไมเป็นแบรนด์ไทยขายดีที่ดังมากในญี่ปุ่น, วี-ฮิโรกะ ลิมวิภูวัฒน์
เข้าห้องเสื้อ VL BY VEE ลองชุดและลองคุยว่าทำไมเป็นแบรนด์ไทยขายดีที่ดังมากในญี่ปุ่น, วี-ฮิโรกะ ลิมวิภูวัฒน์

6

ขั้นตอนกว่าจะเข้าไปการขายในห้างฯ ญี่ปุ่น

สตาฟรวมช่างฝีมือของ VL BY VEE ที่อยู่ในฝ่ายการผลิตตั้งแต่ต้นจนจบ ตอนนี้มีเพียง 6 คนเท่านั้น จะมีบางส่วนที่ต้องใช้ outsource หน้าที่หลักของวี คือควบคุมการผลิตให้ทันรายการสั่งซื้อทั้งหมด

“ไม่รู้ว่าทำได้ยังไง แต่ก็ทำได้ เราพยายามให้อยู่ในกรอบที่เราควบคุมได้ ซึ่งเมื่อเรารู้กระบวนการทุกขั้นตอน ถ้ามีปัญหาเราก็จะแก้ไขมันได้ง่าย เพราะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่เราก็หาช่างเย็บผ้าประจำฝีมือดีอยู่ตลอดเพราะบางทีก็เกือบส่งออร์เดอร์ไม่ทันเหมือนกัน”

นอกจากการขายตรงผ่าน Pop-up หากลูกค้าชอบก็ซื้อเลย ยังมีการเข้าระบบห้างร้านญี่ปุ่น ซึ่งมีขั้นตอนที่ละเอียดมาก เริ่มจากแบรนด์ต้องซื้อประกัน เวลามีอะไรเสียหายที่เกิดขึ้นต่อลูกค้าจะได้มีเงินจ่ายค่าเสียหาย จากนั้นต้องเข้ารับการตรวจสอบความปลอดภัย เพื่อออกใบรับรองยื่นห้างร้านขนาดใหญ่ในญี่ปุ่น ตั้งแต่ส่งผ้าวัตถุดิบในขนาดที่กำหนดเข้าทดสอบว่าไม่เป็นอันตรายต่อลูกค้าหรือทำให้สีตก เข้าเครื่องสแกนหาเข็มที่อาจตกค้างในเสื้อ ซึ่งเกิดขึ้นได้ในกรณีที่เป็นเข็มหมุด โดยเฉพาะเมื่อแบรนด์ไม่ได้ตัดเย็บในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ใช้เครื่องจักร 

วีบอกว่าหากพบความเสียหายจะส่งกลับมาแก้ไขยาก จึงทำให้วีรอบคอบกับเรื่องนี้มากกว่าคนญี่ปุ่นเสียอีก

“เคยมี Multibrand Store แห่งหนึ่งในญี่ปุ่น ขอส่งสินค้าคืน เพราะปัญหาเรื่องฝีเข็มของด้ายโพ้งในเสื้อที่ไม่สม่ำเสมอ ทำให้หลังจากนั้น QC ละเอียดขึ้นไปอีก และถ้าเลี่ยงได้ก็เลี่ยงการโพ้งไปเลย”

VL BY VEE แบรนด์ที่เต็มไปด้วยพลังบวกและความใส่ใจ

เราชอบเวลาที่วีเล่าที่มาของงานแต่ละคอลเลกชัน เพราะเมื่อฟังคอนเซปต์แล้ว เราว่าไม่จริงเลยที่วีบอกว่าเธอหยุดทำงานศิลปะเพื่อมาให้เวลากับแบรนด์เต็มตัว เบื้องหลังที่เหมือนทำงานศิลปะ คือการหยิบความสนใจรอบตัวและเรื่องราวที่พบมาบันทึกเป็นคอลเลกชัน เช่น

Spring/Summer 2016 ‘Sky Picnic’ เกิดขึ้นตอนวีนั่งสมาธิ

เข้าห้องเสื้อ VL BY VEE ลองชุดและลองคุยว่าทำไมเป็นแบรนด์ไทยขายดีที่ดังมากในญี่ปุ่น, วี-ฮิโรกะ ลิมวิภูวัฒน์

Autumn/Winter 2016-17 ‘Space Party’ เกิดขึ้นช่วงที่ดูหนัง Star Wars แล้วคิดถึงโปรดักชันโบราณในภาคเก่า หรือหนังเรื่อง E.T. the Extra-Terrestrial

เข้าห้องเสื้อ VL BY VEE ลองชุดและลองคุยว่าทำไมเป็นแบรนด์ไทยขายดีที่ดังมากในญี่ปุ่น, วี-ฮิโรกะ ลิมวิภูวัฒน์
เข้าห้องเสื้อ VL BY VEE ลองชุดและลองคุยว่าทำไมเป็นแบรนด์ไทยขายดีที่ดังมากในญี่ปุ่น, วี-ฮิโรกะ ลิมวิภูวัฒน์

Spring/Summer 2017 ‘Siesta’ เป็นคอลเลกชันที่คนเริ่มรู้จักแบรนด์ในวงกว้าง จากลายพิมพ์ที่แปลกตา แรงบันดาลใจจากสเปนที่เธอใฝ่ฝัน โดยลายเส้นวงกลมสีน้ำเงินจากไม้บรรทัดเรขาคณิตที่เล่นตอนเด็กๆ มีดอกไม้ให้ความรู้สึกนอนอาบแดดใต้ต้นไม้ใหญ่ในสวน

เข้าห้องเสื้อ VL BY VEE ลองชุดและลองคุยว่าทำไมเป็นแบรนด์ไทยขายดีที่ดังมากในญี่ปุ่น, วี-ฮิโรกะ ลิมวิภูวัฒน์
เข้าห้องเสื้อ VL BY VEE ลองชุดและลองคุยว่าทำไมเป็นแบรนด์ไทยขายดีที่ดังมากในญี่ปุ่น, วี-ฮิโรกะ ลิมวิภูวัฒน์

Spring/Summer 2019 ‘Tutti Frutti’ เป็นธีมผลไม้ที่วีตั้งใจแล้วว่าจะไม่ใส่แมว แต่เจ้าแมวก็นั่งอยู่บนโต๊ะนานมาก แบบ ‘ไม่ใส่ชั้นจริงหรอ’ สุดท้ายเธอก็ต้องวาดลงไป เป็นเหตุผลว่าทำไมมักจะมีแมวอยู่ในทุกๆ คอลเลกชัน

เข้าห้องเสื้อ VL BY VEE ลองชุดและลองคุยว่าทำไมเป็นแบรนด์ไทยขายดีที่ดังมากในญี่ปุ่น, วี-ฮิโรกะ ลิมวิภูวัฒน์

‘COMING UP ROSES’ เป็นสำนวนแปลว่า ทุกอย่างจะกลายเป็นดี คอลเลกชันที่วีเริ่มทำงานตามใจตัวเองครั้งแรก

จนกระทั้งวันนี้ กลุ่มลูกค้าหลักของ VL BY VEE ยังคงเป็นคนญี่ปุ่น

วีบอกว่าที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2014 ถึงงานคอลเลกชัน Autumn/Winter 2019-20 เธอทำงานจากความรู้สึกที่คิดถึงภาพคนใส่ โดยเฉพาะรูปร่างของคนญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนคนไทย ทั้งสัดส่วนและความสูง

“คนไทยมีเชื้อสายจีนเยอะ รูปร่างจะสูงกว่า ขณะที่คนญี่ปุ่นไม่ชอบใส่เสื้อที่เข้ารูปนัก ที่ผ่านมาเรามีเรื่องพวกนี้ในหัวเต็มไปหมด”

เข้าห้องเสื้อ VL BY VEE ลองชุดและลองคุยว่าทำไมเป็นแบรนด์ไทยขายดีที่ดังมากในญี่ปุ่น, วี-ฮิโรกะ ลิมวิภูวัฒน์

Spring/Summer 2020 ‘COMING UP ROSES’ เป็นคอลเลกชันแรกที่วีเริ่มทำงานตามใจตัวเอง

“ที่ผ่านมาก็เป็นความสนุกของการสร้างสรรค์อะไรสักอย่าง เพียงแค่ไม่ใช่เสื้อผ้าที่เราจะหยิบมาใส่ได้บ่อย แต่เราเห็นภาพว่าคนญี่ปุ่นจะหยิบมาใส่ได้บ่อย” 

เข้าห้องเสื้อ VL BY VEE ลองชุดและลองคุยว่าทำไมเป็นแบรนด์ไทยขายดีที่ดังมากในญี่ปุ่น, วี-ฮิโรกะ ลิมวิภูวัฒน์
เข้าห้องเสื้อ VL BY VEE ลองชุดและลองคุยว่าทำไมเป็นแบรนด์ไทยขายดีที่ดังมากในญี่ปุ่น, วี-ฮิโรกะ ลิมวิภูวัฒน์

วีออกแบบงานที่ลดทอนความน่ารักลง จากเดิมที่ใช้สีโทนพาสเทลเป็นหลัก เป็นคอลเลกชันที่มีความเป็นผู้ใหญ่ขึ้นจากลายผ้าที่ใช้สีโทนแข็งแรง และมีความเป็นผู้ชายเยอะขึ้น จากการเลือกเสนอเสื้อเชิ้ตหรือเสื้อผ้าทรงสุภาพบุรุษ แต่ทั้งหมดยังคงไว้ซึ่งรายละเอียดที่นับวันจะท็อปฟอร์มมากขึ้น

ขอเล่าตั้งแต่ภาพกุหลาบในหัวเจ้าของแบรนด์ โดยทั่วไปกุหลาบมาพร้อมภาพความโรแมนติก ความหวานชื่น วีเล่าว่าช่วงที่เธอคลุกคลีกับกุหลาบ ไม่ว่าจะซื้อจากปากคลองตลาดหรือทดลองปลูกในสวนกลับยากเย็น บ้างเปลี่ยนสีไปตามกรดของดินที่มีอยู่ก่อน กว่าจะสวยพร้อมให้ชื่นชมในแจกันได้ต้องผ่านอะไรมามากมาย

เข้าห้องเสื้อ VL BY VEE ลองชุดและลองคุยว่าทำไมเป็นแบรนด์ไทยขายดีที่ดังมากในญี่ปุ่น, วี-ฮิโรกะ ลิมวิภูวัฒน์

“พอพูดถึงกุหลาบ คนมักคิดถึงสีแดง สีชมพู ตอนที่ไปบ้านยายที่โมริโอะกะก็มีทุ่งกุหลาบสีทำนองนี้ แต่ประสบการณ์ปลูกกุหลาบไม่เห็นเป็นแบบนั้น เลยตั้งใจให้กุหลาบมีสีม่วง ก่อนจะจับคู่สีที่ดูแข็งแรงๆ

เข้าห้องเสื้อ VL BY VEE ลองชุดและลองคุยว่าทำไมเป็นแบรนด์ไทยขายดีที่ดังมากในญี่ปุ่น, วี-ฮิโรกะ ลิมวิภูวัฒน์

“Coming Up Rose เป็นสำนวนแปลว่า ทุกอย่างจะกลายเป็นดี เราว่าความหมายนี้เชื่อมโยงกับกุหลาบในหัวของเรา ก่อนจะถูกทำให้สวยต้องเจอกับหนาม ต้องผ่านมือหลายมือ เหมือนช่วงที่แสดงงานนี้ ญี่ปุ่นมีไต้ฝุ่นครั้งใหญ่ในรอบปี ทำให้แกลเลอรี่ต้องปิด ช่วงเปิดตัวคอลเลกชันจึงเงียบกว่าที่เคย แต่สุดท้ายก็ขายดี มีเอเจนซี่ติดต่อขอเสื้อผ้าไปใช้ ให้ดารานักแสดงใส่ในรายการวาไรตี้หรือถ่ายแบบเยอะเลย”

สำหรับคอลเลกชันล่าสุด Autumn/Winter 2020-21 ‘MY PLEASURE’ หยิบความสนใจช่วงที่ออกเดินทางในเมืองมากกว่าสถานที่เน้นธรรมชาติอย่างเคย ประกอบกับที่กลับไปฟังเพลงอิเล็กทรอนิกและเทคโน ที่เคยฟังในตอนยุค 90 ปลายๆ ถึง 2000

“มีการผสม Futuristic แบบ Retro ที่ผสมความ Sporty แต่ยังมีความ Elegance ด้วย” วีอธิบาย 

นั่นคือ แม้เสื้อผ้าจะมีความ Feminine แต่ก็มีความ Masculine ด้วยเช่นกัน มีเสื้อที่ใส่ไปทำงานได้ แต่หากดูโครงสร้างดีๆ จะพบความสนุกจากสิ่งที่ดูขัดแย้งกัน เป็นความ VL BY VEE ที่มีอยู่ในงานทุกคอลเลกชัน การใช้วัสดุที่คนทั่วไปมองว่าไม่ควรอยู่ด้วยกันให้มาอยู่ในเสื้อผ้าตัวเดียวกัน จะว่าไปก็สะท้อนหรือได้รับอิทธิพลจากงานรีเมกในยุคแรกอยู่

ล่าสุดช่วงวิกฤตโรคระบาดจากไวรัสโคโรน่า หน้ากาก VL BY VEE ก็ได้รับผลตอบรับดีในญี่ปุ่น จากลายผ้าต้นฉบับของแบรนด์ และเนื้อผ้าที่เหมาะกับการทำหน้ากาก ส่งผลให้ยอดขายดี เพราะคนกลับมาซื้อซ้ำและบอกต่อจนได้ลงแนะนำในเว็บไซต์แฟชั่นชื่อดังมากมาย เช่น SOEN, FUDGE และตามมาอีกหลายเจ้า ทำให้ VL BY VEE ได้กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ และยิ่งขายดีกันไปใหญ่ 

แบรนด์ที่วงการแฟชั่นและศิลปะในญี่ปุ่นให้การยอมรับ

“เราบอกตลอดว่าเราเป็นแบรนด์มาจากเมืองไทย แปลกที่เขาจัดให้เราเป็น Domestic Brand อยู่กับแบรนด์ญี่ปุ่น มีบทความแนะนำเราในเว็บไซต์ที่รวมนักออกแบบญี่ปุ่น หรือพวกเว็บไซต์แฟชั่นชั้นนำ อย่าง fashionsnap.com WWD ก็จะอัปเดตแฟชั่นของเราให้เกือบทุกซีซั่น เห็นชัดสุดในนิตยสาร SOEN ที่เล่าเรื่องวงการแฟชั่นและงานศิลปะ มีคอลัมน์ New Comer แนะนำดีไซเนอร์ญี่ปุ่นล้วนไม่ใช่ว่าใครก็มาลงง่ายๆ แต่เขาเลือกสัมภาษณ์เราทั้งที่เป็นคนไทย” วีเล่า หรืออาจจะเป็นเพราะแบรนด์อยู่ในสังคมญี่ปุ่นมานานพอ จนพวกเขาเปิดรับและมองเป็นแบรนด์ญี่ปุ่น

อะไรคือความยากของการทำธุรกิจแฟชั่นในยุคนี้ เราถาม

“บทเรียนปีนี้สอนว่า อะไรๆ ก็คาดเดาไม่ได้ เราพยายามรักษาไม่ให้ธุรกิจใหญ่เกินไป พยายามให้อยู่ในขนาดที่ควบคุมได้ ยิ่งมีคนข้องเกี่ยวมากผลที่ตามก็ยิ่งกว้าง ก็ต้องดูว่าทำในสเกลนี้ยังไงให้แข็งแรง โดยที่ไม่ทำอะไรเกินตัว”

ปัจจุบัน นอกจากญี่ปุ่นและไทยแล้ว ยังมีสินค้า VL BY VEE ที่ฮ่องกงด้วย 

“เคยมีแผนขายที่อังกฤษ แต่เมื่อถึงจุดที่ต้องขาย มีปัญหาเรื่องไซส์ หากจะต้องแก้ขนาดทั้งหมดเพื่อรองรับตลาดที่นั่น เราคงยังไม่พร้อมในตอนนี้”


น้องนอนในห้องลองเสื้อ : VL BY VEE

ห้องลองเสื้อของ VL BY VEE เดิมเป็นห้องนิรภัยใต้บันไดในโรงจำนำเก่า มีขนาดใหญ่พอให้ลองเสื้อพร้อมกันได้หลายคน ภายในตกแต่งด้วยพรมและเฟอร์นิเจอร์วินเทจที่วีขนมาจากบ้าน ซึ่งกลิ่นผลไม้อ่อนๆ ที่อบอวนอยู่ทั่วร้าน พร้อมเพลงแจ๊สที่เปิดคลอเบาๆ ทำให้บรรยากาศห้องลองเสื้อของที่นี่ผ่อนคลายและอยู่ได้นาน

เข้าห้องเสื้อ VL BY VEE ลองชุดและลองคุยว่าทำไมเป็นแบรนด์ไทยขายดีที่ดังมากในญี่ปุ่น, วี-ฮิโรกะ ลิมวิภูวัฒน์
เข้าห้องเสื้อ VL BY VEE ลองชุดและลองคุยว่าทำไมเป็นแบรนด์ไทยขายดีที่ดังมากในญี่ปุ่น, วี-ฮิโรกะ ลิมวิภูวัฒน์

ใครที่อยากลองเสื้อผ้าของ VL BY VEE แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นด้วยไอเท็มไหน ขอจงไปที่ร้าน VL BY VEE (ร้านเลขที่ 1 บนถนนหลานหลวง) หากพบวีหรือตั้ม (วิศุทธิ์ พรนิมิตร) ประจำการอยู่ ลองยิ้มทักทายพวกเขาสักนิดแล้วเอ่ยปากว่า อ่านมาจากคอลัมน์ ‘น้องนอนในห้องเสื้อ’ อยากให้ช่วยแนะนำตัวที่เหมาะกับคาแรกเตอร์ ซึ่งมั่นใจได้เลยว่าคู่รักศิลปินจะแนะนำเสื้อสีที่ดีต่อผิวของเรา ใส่แล้วขับผิวให้สวยและดูสดใส หรือถ้าไม่มั่นใจจุดใดบนร่างกาย วีก็ช่วยแนะนำเสื้อผ้ารุ่นที่ช่วงพรางความกังวลส่วนนั้นได้

“ส่วนใหญ่เราแนะนำให้เริ่มจากไอเท็มง่ายๆ ก่อน แต่ง่ายของคนไทยและญี่ปุ่นก็ไม่เหมือนกัน ง่ายของคนไทยคือเสื้อเดรสที่ไม่ต้องแมตช์เยอะ แต่ถ้าเป็นคนญี่ปุ่น แบบเสื้อที่สีดูโดดเด่นเกินไปถือว่าไม่ง่ายสำหรับเขา ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับอายุและภาพลักษณ์ของเขา ให้พูดเจาะจงยากมาก เพราะบางคนชอบใส่สีๆ บางคนชอบคุมโทน สีพื้น หรือถ้าอยากให้เขาลองอะไรใหม่ๆ ก็จะเลือกสีทองให้เขา ถ้าสีทองแรงไปก็เลือกสีขาวให้ หรือจับคู่สีบน-ล่างให้ ใจเราอยากให้ทุกคนได้ลองอะไรใหม่ๆ เพราะฉะนั้นเราจะแอบยื่นสิ่งเหล่านี้ให้เขาลอง”

เข้าห้องเสื้อ VL BY VEE ลองชุดและลองคุยว่าทำไมเป็นแบรนด์ไทยขายดีที่ดังมากในญี่ปุ่น, วี-ฮิโรกะ ลิมวิภูวัฒน์

เราคิดเหมือนกับวีว่าเหตุผลที่คนเราควรได้ลองสิ่งใหม่ๆ คือการเปิดประตูไปสู่โลกอีกใบ แล้วจะพบว่าชีวิตนี้คุ้มค่าแล้ว เกิดมาสักครั้งควรได้ลองทำอะไรใหม่ๆ 

“อย่างเราถ้าใส่เสื้อผ้าหลายแบบก็จะพอรู้ว่าเสื้อผ้าทรงประหลาดมีอะไร แต่สำหรับคนที่ไม่เคยลอง เขาจะรู้สึกว่าทรงมันใหม่ มันใส่ยังไงนะ บางคนชอบแบรนด์เราแต่ไม่เคยใส่เสื้อผ้าแนวนี้เลย แต่ชอบมาดู ซึ่งเขาก็จะไม่กล้าลองเพราะคิดว่าเป็นเสื้อผ้าสำหรับคนแต่งตัวจัดๆ หรือเปล่า เขาใส่แต่เรียบๆ มาตลอด เขาก็จะอ้ำๆ อึ้งๆ แต่ในหัวเราเห็นภาพเขาอีกแบบ เขาคนนี้จะเปล่งประกายแค่ไหนเมื่อได้ลอง พอใส่และเห็นตัวเองอีกแบบเขาก็มีความสุข และไม่ว่าดีไซน์แปลกตาแค่ไหนสำคัญคือต้องใส่สบาย” วีทิ้งท้าย ขณะที่ตั้มย้ำกับเราซ้ำๆ ว่า อยากให้ลองเสื้อสีแดงในมือหลังจบบทสนทนา

VL BY VEE

www.vlbyvee.com

IG @vlbyvee

Writer

Avatar

น้องนอนในห้องลองเสื้อ

ชื่อในวงการห้องลองเสื้อของ นภษร ศรีวิลาศ บรรณาธิการบทความธุรกิจ ที่สนใจเรื่องธุรกิจที่ดี ตาเป็นประกายได้ง่ายๆ หากได้ยินเรื่องกิจการครอบครัวสัญชาติไทยอายุเฉียดร้อย ปัจจุบันใช้หน้าที่การงานตีสนิทแบรนด์แฟชั่นไทยและเทศ หวังเป็นนักลองเสื้อเต็มเวลา

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล