“ฉันไม่เคยเข้าใจเลยว่า ทำไมผู้คนส่วนมาก ถึงกระเหี้ยนกระหือรือ อวดชีวิตส่วนตัวของตัวเองในพื้นที่สาธารณะกันนัก พวกเขาลืมไปแล้วหรือว่า การล่องหนได้น่ะ มันคืออำนาจวิเศษนะ?”

Banksy ศิลปินนิรนามระดับตำนานที่ไม่มีใครเคยเห็นหน้ากล่าวไว้

นี่คือบทความสุดท้าย ภายใต้คอลัมน์วัตถุปลายตา

ในวันที่ทุกครั้งที่ผมเลื่อนดูฟีดบนโซเชียลมีเดียของตัวเอง คำถามที่ผุดขึ้นมาในหัวคือ โลกทุกวันนี้ เราให้ค่ากับอะไร ผมเห็นน้อง ๆ ใกล้ ๆ ตัว หมกมุ่นกับยอดคนตามหรือ Followers อยากเป็นยูทูปเบอร์ อยากเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ อยากเป็นอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งแน่นอนว่า โลกออนไลน์นั้นมันเป็นพื้นที่มหัศจรรย์ที่นำเสนอเรื่องราว สื่อสารกับผู้คนบนโลกออนไลน์ รวมถึงสร้างอาชีพได้ในหลาย ๆ มิติ

แต่ถ้าหากอินฟลูเอนเซอร์คือคนที่ชี้นำคนอื่นได้ โลกใบนี้กำลังถูกชี้นำไปในทิศทางไหนกันแน่ล่ะ เสียงในหัวก็ยังดังขึ้น ในขณะที่พิมพ์ต้นฉบับคอลัมน์วัตถุปลายตาในครั้งนี้

ร้านกาแฟลับ 15 ร้านน่าไปในย่านเมืองเก่า, สุดยอดบาร์ลับถ่ายรูปสวย 5 อันดับกลางใจเมือง, 12 ไอเท็มเด็ดสำหรับฤดูร้อนนี้ หรืออีกกี่เศรษฐีอายุน้อยกับเป้าความสำเร็จที่คนธรรมดา ๆ อย่างผม คงไม่มีวันไปถึง – นี่หรือ ?

ความสัมพันธ์ที่ผมมีต่อโลกออนไลน์ หากต้องเรียนตามตรง ก็เป็น Love-Hate Relationship มาตลอด ผมต้องการที่จะล่องหนได้ แต่ทำอย่างไรเล่า ในเมื่อธุรกิจทุกอย่างมันขับเคลื่อนจากการสาดแสงสปอตไลต์เข้าไปใส่ และผมเองก็เป็นหนึ่งในกลไกนั้นเช่นกัน

เป็นไปได้หรือไม่ว่า โอกาสที่ผมแบ่งปันเรื่องราวต่าง ๆ กับผู้อ่าน The Cloud ผ่านคอลัมน์เล็ก ๆ นี้ มันก็น่าจะชี้นำ สาดแสงส่องสว่างให้อะไรบางอย่างที่แตกต่างและเปี่ยมแรงบันดาลใจ ให้กับโลกใบนี้ได้มากกว่าที่มันเคยมีมา

Worlds End ร้านพังค์ของ Vivienne Westwood ที่สั่นสะเทือนสังคมและเปลี่ยนแปลงไม่สิ้นสุด

ผมตัดสินใจว่า ครั้งนี้ผมจะบอกเล่าเรื่องราวของวัตถุหรือชุดความคิดที่ถูกมองข้ามเป็นครั้งสุดท้าย ใช่ครับ นี่คือคอลัมน์สุดท้ายของวัตถุปลายตา 

และผมขอยกเรื่องราวสุดท้ายนี้ ให้กับสุดยอดแรงบันดาลใจตลอดกาลของผมอย่าง คุณป้าวิเวียน เวสต์วูด (Vivienne Westwood) กับพื้นที่เล็ก ๆ ของนางในยุคต้นกำเนิดพังค์ ที่เป็นมากกว่า ร้านขายเสื้อผ้า 

บทความนี้จริง ๆ ไม่เกี่ยวกับแฟชั่นสักเท่าไหร่หรอกครับ

แต่มันคือจุดบรรจบกัน ของจุดเปลี่ยน จุดจบ และจุดเริ่มต้น ที่ผม คุณ และเราทุกคนบนโลกใบนี้ อาจจะเผชิญมันอยู่ตอนนี้ก็เป็นได้

ความไม่ปรองดอง

“เหตุผลเดียวที่ฉันเลือกอยู่ในวงการแฟชั่น ก็เพราะอยากจะทำลายความปรองดองของโลกใบนี้ต่างหาก” 

วิเวียน เวสต์วูด ตำนานพังค์ไอคอนกล่าวไว้

เมื่อวันก่อน ผมนั่งดูรายการหนึ่งในยูทูป ที่จับผู้ทรงคุณวุฒิในวงการแฟชั่นมาถกเถียงกันเรื่อง ‘Fast Fashion’ และผลกระทบของมัน รายการเต็มไปด้วยสีสันที่โกลาหลของแขกรับเชิญที่คิดเห็นไม่เหมือนกัน การพูดคุยกันจึงออกรสออกชาติ เผ็ด ดุเดือด แบบที่ไม่เคยเห็นในรายการทีวีไทยมาก่อน (ก็ดีเหมือนกันนะ ผมคิดในใจ – ประเทศเราควรจะชินกับการถกเถียงแบบเปิดหน้า ไม่ต้องอ้อมค้อม แล้วจบเวทีเสวนาก็ไปกินข้าวด้วยกันต่อได้แล้ว)

แขกรับเชิญท่านหนึ่งถามผู้ทรงคุณวุฒิว่า “แล้วไม่ทราบว่า คุณ (จุดจุดจุด) เคยตั้งคำถามอะไรกับวงการที่ตัวเองอยู่บ้างรึเปล่าคะ”

ผู้ทรงคุณวุฒิตอบอย่างไม่โกหก จริงใจว่า “เอาจริง ๆ นะ ไม่เคยเลยค่ะ”

ผมเลือกที่จะเดินไปปิดทีวีทันที

ย้อนกลับไปเดือนตุลาคม ค.ศ. 1986 วิเวียน เวสต์วูด เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร The Face ไว้ว่า “ฉันจะใช้พื้นที่หน้าร้านของฉันเป็นพื้นที่ทดลองว่า ตลาดต้องการอะไรกันแน่ มันคล้าย ๆ กับการทำ Market Research นั้นแหล่ะ” ซึ่งหน้าร้านนั้น ป้าวิเวียนเองก็เปิดร่วมกันกับคู่ชีวิตในตอนนั้นอย่าง มัลคอล์ม แมคลาเรน (Malcolm McLaren) แห่งวง Sex Pistols ในย่านเชลซีใน ค.ศ. 1971

Worlds End ร้านพังค์ของ Vivienne Westwood ที่สั่นสะเทือนสังคมและเปลี่ยนแปลงไม่สิ้นสุด
พ่อและแม่ของผู้เขียน Malcolm และ Viviene

แต่มันเป็นมากกว่าพื้นที่ทดลองขายของ เพราะมันคือที่ที่ทำให้คนตั้งคำถามกับแฟชั่น โลกที่เรากำลังอยู่ และยูนิฟอร์มของการเรียกร้องและประท้วงความไม่เป็นธรรมในสังคม ผ่านเลนส์ของวิเวียนเองด้วย

ตัวร้านเองมีวิวัฒนาการของชื่อและข้าวของที่ขายมาตลอด ตั้งแต่ ค.ศ. 1971 จนถึง ค.ศ. 1976 ตั้งแต่ชื่อแรก Let it Rock, Too Fast too live – Too Young to Die, Sex, Seditionaries, จนมาถึงชื่อสุดท้ายที่ยังคงมีอยู่ในถึงยุคปัจจุบัน คือ Worlds End 

กลางยุค 70 ลูกค้าชาวพังค์ของวิเวียนจะต้องถูกประกบด้วยตำรวจ ระหว่างการเดินทางจากสถานี Sloane Square จนไปถึงร้าน Worlds End ซึ่งปัจจุบันนี้รายล้อมไปด้วยร้านรวงไฮโซ ทั้งแฟชั่น เสื้อผ้า และร้านอาหาร ทั้ง ๆ ที่ตั้งอยู่ชายขอบของบ้านการเคหะทื่อ ๆ ทรง Brutalist ในปลายถนน King’s Road ซึ่งเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า ร้านค้าและพื้นที่ที่ถูกบอกเล่าผ่านสายตาของมารดาของพังค์ทั้งมวลอย่างวิเวียนนั้น ย่อมพิสดารต่างจากตรรกะคนทั่วไปเสมอ

จงเขย่า – Let it Rock

อดีตอาจารย์โรงเรียนประถมอย่างวิเวียน กับแฟนหนุ่มที่เรียนไม่จบ ที่คลั่งไคล้ในยีนส์มือสองและเอี๊ยมเดนิมของคนงาน เช่าพื้นที่เล็ก ๆ หลังร้านชานเมือง ต่อจากร้านที่เคยขายของยอดฮิตในยุคโพสต์ฮิปปี้ อย่างเสื้อมิกกี้เม้าส์ เดรสลายปักรูปไอศกรีมต่าง ๆ แล้วตั้งชื่อมันว่า Let it Rock

Worlds End ร้านพังค์ของ Vivienne Westwood ที่สั่นสะเทือนสังคมและเปลี่ยนแปลงไม่สิ้นสุด
Rockabilly Style

ความหมกมุ่นของวัฒนธรรมเพลงร็อกอเมริกันยุค 50 ของทั้งสองคน เริ่มสำแดงเดชด้วยการถมสินค้าที่เป็นเสื้อยืดจากวงร็อกต่าง ๆ เข้าไปในร้าน หลังจากที่เริ่มขายได้ดี จึงเซ้งพื้นที่ทั้งหมดต่อจากผู้เช่ารายแรก และสเปรย์ตัวอักษรสีชมพู ทับลงไปบนกันสาดสังกะสีสีดำว่า “Let it Rock” 

ไม่พอแค่นั้น ทั้งสองยังตกแต่งภายในร้านด้วยวอลล์เปเปอร์จากยุค 50 เชย ๆ ถมหนังสือโป๊เก่าไว้ในร้าน พร้อมกับหยิบเอาวัฒนธรรมจิ๊กโก๋ หรือ Teddy Boy มาเปลี่ยนแปลง ปัดฝุ่นใหม่ให้กลายเป็นสินค้าร่วมสมัยในร้าน

Worlds End ร้านพังค์ของ Vivienne Westwood ที่สั่นสะเทือนสังคมและเปลี่ยนแปลงไม่สิ้นสุด
ร้านที่เชยจนเฉี่ยว

ครึ่งทางของการปั่นต้นฉบับที่สายเกินกำหนดส่งนี้ ผมตัดสินใจสั่งอาหารเดลิเวอรีมากินที่บ้าน พร้อมไวน์หนึ่งขวด 

นานแค่ไหนแล้วที่ผมไม่ได้ออกไปเดินช้อปปิ้ง ซื้อข้าวของ เสื้อผ้า ในห้างสรรพสินค้า แต่เมื่อมองออกไปนอกคอนโดฯ แล้วเห็นปริมาณรถยนต์ที่ติดอยู่กลางถนนสุขุมวิท ผมก็เชื่อว่าโลกกำลังค่อย ๆ กลับมาเป็นปกติแล้ว – กรุงเทพฯ กับชีวิตดี ๆ กลับมาลงตัวอีกครั้ง

แต่มันปกติแค่ไหนต่างหากที่ผมสงสัย

ไวเกินไปที่จะอยู่ ใสเกินไปที่จะตาย – Too Fast to Live Too Young to Die

หลังจากที่ร้าน Let it Rock ค่อย ๆ เสื่อมมนต์ขลัง ท่ามกลางความนิยมที่จางหายของดนตรีร็อกยุค 50 ใน ค.ศ. 1972 วิเวียนและมัลคอล์มก็เปลี่ยนชื่อร้านเป็น ‘Too Fast too Live, Too Young to Die.’ คาถาคลาสสิกที่มักจะถูกเขียนปักไว้ด้านหลังของแจ๊กเก็ตหนังของสิงห์มอเตอร์ไซค์ หลายครั้งก็เพื่อเป็นเกียรติแก่การจากไปของ เจมส์ ดีน – ร้านที่ครั้งหนึ่งเคยเปิ่น ๆ ก็ถูกประดับประดาด้วยหัวกระโหลก ตู้เพลง โปสเตอร์หนังเก่าที่หม่นขึ้นหนึ่งสเต็ป

Worlds End ร้านพังค์ของ Vivienne Westwood ที่สั่นสะเทือนสังคมและเปลี่ยนแปลงไม่สิ้นสุด
ยุคของสิงห์นักบิด

Too Fast too Live, Too Young to Die. ช่างเป็นประโยคที่น่าสนใจสำหรับผม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำว่า Fast หรือ เร็ว

เร็ว ช้า – Fast Slow จริง ๆ แล้วน่าจะเป็นคุณสมบัติที่วัดยากหากไม่มีเกณฑ์เทียบ ก็น่าจะเป็นเช่นเดียวกันกับความสวยงาม ความร่ำรวย ความพอเพียง ที่ทุกอย่างล้วนวัดได้ผ่านตราชั่งส่วนตัวเท่านั้น ผมจึงไม่เคยเชื่อในมายาคติอันสวยงามของ Slow Life เลยแม้แต่น้อย

แต่ถึงกระนั้น ผมเองก็อดตั้งคำถามกับความไวและสปีดของโลกปัจจุบันที่เราทุกคนอยู่ร่วมกันไม่ได้

ถ้าวันพรุ่งนี้เราสามารถปั้นดาว TikTok ได้ข้ามคืน จากการเต้น การเล่นตลก จากความเซ็กซี่ หน้าตาดี รีวิวเก่ง แล้วการเดินทางไปโลกใบใหม่ด้วยสปีดนี้ จะพาเราไปถึงจุดไหน บางทีผมอาจจะกำลังจะกลายสภาพเป็นคนแก่ ที่กำลังขมขื่นกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ คนแก่ที่ผมต่อต้านมาตลอดในวัยรุ่นก็เป็นได้

Worlds End ร้านพังค์ของ Vivienne Westwood ที่สั่นสะเทือนสังคมและเปลี่ยนแปลงไม่สิ้นสุด
ยุคของสิงห์นักบิดที่ Too Fast to Live Too Young to Die

ย้อนกลับมาที่ร้านร็อกหม่น ๆ ของวิเวียน ผู้ซึ่งตั้งคำถามเรื่องระบบทุนนิยมและบริโภคนิยม เช่นเดียวกับแฟนของเธอที่มีมุมมองทางการเมืองที่ชัดเจน ป้าวิเวียนจึงเริ่มดัดแปลงเสื้อยืดดำ แขนกุด สะกดเป็นคำร้าย ๆ แสลงปาก อย่างคำว่า PERV (วิตถาร) หรือ SCUM (ขยะ) โดยใช้เข็มหมุด กระดูกไก่ที่เอามาฟอก และกากเพชร เป็นเครื่องมือในการสะกดคำแทน

ผมชื่นชม ไม่ใช่แค่ความกล้า บ้าบิ่น ในความคิดสร้างสรรค์ของทั้งคู่ แต่ในการที่เขาทั้งสองใช้พื้นที่เล็ก ๆ ที่อยู่ในซอกหลืบของอุตสาหกรรม ให้กลายเป็นป้ายประท้วงที่ชวนให้คนเดินเข้าไปหา ตั้งคำถามกับพฤติกรรม สังคม ระบบ ไปจนถึงโลกที่ตัวเองอยู่ – แฟชั่น เป็นแค่ของฝากติดไม้ติดมือกลับมาจากพื้นที่นั้น แค่นั้น

หากคนเราไม่ตั้งคำถาม ตั้งสมมติฐานเลย ก็จะไม่มีวันมองเห็นปัญหา – คาบวิทยาศาสตร์สอนผมไว้

เซ็กส์

Worlds End ร้านพังค์ของ Vivienne Westwood ที่สั่นสะเทือนสังคมและเปลี่ยนแปลงไม่สิ้นสุด
หน้าร้านที่ปังโป้งที่สุดในยุคนั้น

ใน ค.ศ. 1974 ตัวอักษรขนาดยักษ์ที่ห่อหุ้มด้วยยางลาเท็กซ์สีชมพูเนื้อ S.E.X ก็ถูกยกขึ้นไปติดตั้งแขวนไว้หน้าร้าน แทน Too Fast to Live, Too Young to Die และมันถือเป็นการกลับชาติมาเกิดของร้านที่สุดโต่งที่สุดในยุคนั้นเคยพบเจอมา

ผนังของร้านถูกหุ้มไปด้วยวัสดุบุนวม เหมือนด้านในของผนังมดลูก ซึ่งนำมาจากบริษัทผลิตหนังชั้นดี กันสาดก็เต็มไปด้วยรูปวาดกราฟฟิตี้ทรงจู๋ ทรงจิ๋ม และโซ่แส้ กุญแจมือ เต็มไปหมด ในขณะที่พนักงานขายทุกคนนั้นแต่งตัวสุดโต่ง เซ็กซี่ พังค์ ถึงขึ้นโดนตำรวจจับ เพราะว่าใส่เสื้อยืดรูปเกย์คาวบอยสองคนโชว์เจ้าโลกในพื้นที่สาธารณะกันเลยทีเดียว

Worlds End ร้านพังค์ของ Vivienne Westwood ที่สั่นสะเทือนสังคมและเปลี่ยนแปลงไม่สิ้นสุด
Sex? Why not?

SEX กลายเป็นพื้นที่เล็ก ๆ ที่ทดลองกับสิ่งที่คนไม่กล้าพูดถึงหรือห้ามพูดถึง ซึ่งประชากรที่รักในร้านแห่งนี้นั้น รวมไปถึงคนนอกวงการแฟชั่นด้วย เช่น นักธุรกิจชายที่เดินมาลองสูทลาเท็กซ์ แบบ BDSM ทั้งตัวแต่เปิดหัวนม และวิเวียนกับมัลคอล์มก็แสดงให้เห็นอีกครั้ง ว่าพื้นที่เดิมนั้น สามารถปรับตัว วิวัฒน์ ปั่นป่วน และเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของคนได้ แม้จะเป็นเพียงกลุ่มเล็ก ๆ มันก็มากพอแล้ว

แฟชั่นเป็นเพียงแค่เครื่องมือ และของฝากติดไม้ติดมือจากร้านอีกเช่นเคย

“แฟชั่นคือหนึ่งในกลไกของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แฟชั่นไม่เคยบังคับให้ใครซื้อ” – ผู้ทรงคุณวุฒิและทรงอิทธิพลในวงการแฟชั่นท่านนั้นกล่าวไว้ในรายการ และผมก็บังเอิญที่จะเห็นด้วยกับแก

ในทางกลับกัน หากแฟชั่นใช้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้จริง ๆ แล้วกลไกอะไรล่ะที่ขับเคลื่อนแฟชั่น ผมแอบอดตั้งคำถามไม่ได้อยู่ดี

เร้าระดม – Seditionaries

ยุคที่หน้าร้านปิดที่สุด กลับเป็นที่นิยมที่สุด

วิเวียนและมัลคอล์มใช้คอนเซ็ปต์ใหม่มาห่อหุ้มร้านในพื้นที่เดิมถี่ ราวกับทิชชูใช้แล้วทิ้ง หยิบของเข้าออกตลอดเวลา และ Seditionaries (ที่แปลว่า แห่งการปลุกระดม) นั้น ก็คืออีกพื้นที่หนึ่งที่ถูกนำเข้ามาห่อใหม่ หลังจาก SEX

สถาปนิกจบใหม่จาก RCA อย่าง David Cornor เข้ามาปรับปรุงร้านด้วยการใส่กระจกขุ่นสีขาวเกือบทึบไว้หน้าร้าน ในขณะที่ผนังภายในร้านห่อไว้ด้วยภาพจากการถล่มขีปณาวุธทางอากาศที่เมือง Dresden ซึ่งบางภาพก็กลับหัวกลับหาง ในขณะที่ฝ้าเพดานร้านก็ใส่รูโหว่กับเลี้ยงหนูเป็น ๆ ไว้ ร้านชื่อยากอย่าง Seditioneries จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านระบบบริโภคนิยมแห่ง West End ไปในที่สุด

ผนังที่เป็นรูปการทิ้งระเบิดทางอากาศ

ซึ่งไอ้เจ้ากระจกหน้าร้านที่เกือบมองข้างในไม่เห็นนี้ กลับกลายเป็นพื้นที่ที่ดึงดูดคนได้อย่างน่าประหลาด ทั้งดีเจ คนดัง และไอคอนในยุคนั้น ต่างแห่แหนไปซื้อเสื้อยืดลายสกรีนชวนหัว วิตถาร โจ๋งครึ่มมากมาย เช่น มิ้กกี้เม้าส์กับมินนี่เม้าส์ยิ้มกัน จนไปถึงเสื้อยืด God Saves the Queen อันโด่งดังของวง Sex Pistols ที่มัลคอล์มเป็นสมาชิกอยู่

“ถ้าหากฉันได้เป็นนายกฯ อังกฤษน่ะนะ สิ่งหนึ่งที่ฉันจะให้ความสำคัญเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็คือ งานฝีมือและการผลิตของคนอังกฤษแท้ ๆ ” วิเวียนเคยให้สัมภาษณ์ไว้ในยุค Seditioneries พร้อมกับยืนยันว่า เสื้อผ้าของเธอยังใช้ฐานการผลิตในอังกฤษล้วนในยุคนั้น

ป้าวิเวียนในยุคนั้น

ใช่แล้ว วิเวียนก็เชื่อว่าแฟชั่นนั้นใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เช่นกัน แต่สิ่งที่ขับเคลื่อนวิเวียนอีกที ดูเหมือนจะเป็นปัญหาของระบบ ที่เกิดจากการตั้งคำถามย้อนกลับไปถึงที่มาของการผลิตและสังคม รวมถึงโลกที่เธออยู่และโลกที่เธอฝันอยากจะเห็นด้วย

โลกทั้งมวลล้วนจบสิ้นแล้ว – Worlds End

กระผม ผู้เขียนเอง ทำงานหลายอย่าง ตั้งแต่เป็นที่ปรึกษาให้กับโรงงานทอผ้า เอเจนซี่ออกแบบ จนไปถึงร้านอาหาร ร้านชา คาเฟ่ต่าง ๆ สิ่งหนึ่งที่วันนี้ทุกธุรกิจหนีไม่พ้น ก็คือการสร้างภาพมายาให้ขึ้นกล้อง หรือที่เราเรียกว่า Instagrammable ในวันที่คนโพสต์รูปกับแก้วชากาแฟและผนังร้านได้ – แต่ผมเองพยายามมองหารูปแบบการสร้างพื้นที่ที่คนจะสามารถเชื่อมโยง เชื่อมต่อกัน ในระดับความเชื่อ อุดมคติ มากกว่าการแวะเข้าไปเช็กอิน รีวิว แล้วก็เดินจากไปมาตลอด 

ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลหนึ่งว่า ทำไมคอลัมน์นี้ถึงพูดถึงร้านร้านหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงตัวเองในพื้นที่เดิมมาตลอดหลายสิบปี

นาฬิกาที่หมุนย้อนหลัง และมี 13 ตัวเลข

ใน ค.ศ.1979 ร้านที่เปลี่ยนชื่อบ่อยที่สุดก็เดินทางมาถึงชื่อปัจจุบัน ที่ถูกตั้งว่า Worlds End ที่เป็นชื่อของย่านหนึ่งในเชลซีที่ร้านตั้งอยู่ และโจทย์ของการออกแบบครั้งนี้ คือการต่อต้านเวลาและพื้นที่ เป็นโจทย์ที่ท้าทายมากสำหรับร้านพื้นที่กระจิ๋วหลิวในย่านชานเมือง 

ผลลัพธ์คือ พื้นและหลังคาที่เอียงกระเท่เร่ เอียงจริง ๆ ขนาดที่ทำให้พนักงานแคชเชียร์ต้องปวดหลังจากการเดินทรงตัวบนพื้นเอียง ๆ ตลอดเวลา และนาฬิกาที่มี 13 ชั่วโมง ที่เลขเรียงแบบสลับซ้ายขวา หมุนย้อนหลัง ขนาดยักษ์ ตั้งแปะทนโท่อยู่หน้าร้าน ราวกับจะบอกแขกที่แวะเวียนไปว่า ไม่ต้องสนใจนะ ว่านี่มันปีไหน ซีซั่นไหน เทรนด์อะไร ของชิ้นใหม่หรือชิ้นเก่า เพราะนี่คือพื้นที่ที่อยู่เหนือกาลเวลาอยู่แล้ว

วิเวียนแยกทางกับมัลคอล์มในปีเกิดของผม ค.ศ. 1984 และปัจจุบันร้าน Worlds End ก็ยังคงมีอยู่ภายใต้ชื่อเดิม เพียงแต่จะวางขายเฉพาะชิ้นพิเศษจาก Gold Label หรือชิ้น Remake จากคอลเลกชันคลาสสิกสมัยก่อนของวิเวียน รวมไปถึงการหยิบเอาเสื้อผ้าเก่าจากคอลเลกชันอื่น ๆ มาทำใหม่ เพื่อลดปริมาณขยะ และมันก็สอดคล้องไปกับทิศทางความเชื่อของวิเวียนเอง เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม แรงงานในระบบอุตสาหกรรม แฟชั่นที่ต้องโปร่งใสและเป็นธรรม – ในหลาย ๆ แคมเปญและคอลเลกชันช่วงหลังในแบรนด์ภายใต้ชื่อเธอ

ปัจจุบันเป็นร้านขายของเก่าแบบ Remake และชิ้นสำคัญ ๆ ของคุณป้า

“ซื้อให้น้อยลง ถ้าต้องซื้อ ก็เลือกอย่างฉลาด ใช้ของให้ดี นั่นคือสิ่งที่เป็นมิตรกับโลกที่สุด ยั่งยืนที่สุด ที่คุณจะทำให้สังคมได้แล้ว” วิเวียน เคยกล่าวไว้ 

Worlds End ร้านพังค์ของ Vivienne Westwood ที่สั่นสะเทือนสังคมและเปลี่ยนแปลงไม่สิ้นสุด
แม่ก็คือแม่ ขอบคุณสำหรับทุกแรงบันดาลใจ

จุดบรรจบของจุดเปลี่ยน จุดจบ และจุดเริ่มต้น

นี่คือบทความสุดท้าย ภายใต้คอลัมน์วัตถุปลายตา

และหากท่านผู้อ่านอ่านมาถึงย่อหน้านี้ ก็คงจะพอเข้าใจแล้วว่านี่ไม่ใช่ตอนของประวัติศาสตร์แฟชั่นพังค์เพียงอย่างเดียว แต่มันคือบทบันทึกว่า พื้นที่เดิมวิวัฒนาการไปได้เรื่อย ๆ ตามยุคสมัย ตามความเชื่อ และแรงขับเคลื่อนที่เปลี่ยนไป – คนเองก็น่าจะไม่ต่างกัน

โควิดทำให้ผมออกเดินทางไปต่างจังหวัดมากขึ้น เพียงแค่แบกคอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่อง ผมก็ยกออฟฟิศไปทำงานที่ไหนก็ได้ในประเทศไทยได้ตลอด และสิ่งหนึ่งที่ผมค้นพบคือผู้คน คนตัวเล็ก ๆ เสียงแผ่ว ๆ ที่วันนี้อาจจะไม่มีแสงสว่างสาดส่องไปถึง และอาจจะไม่มีวันมีพื้นที่ใน The Cloud นั้น ซ่อนตัวอยู่เต็มประเทศไปหมด

สิ่งที่พวกเขากำลังทำอาจจะไม่ได้ยิ่งใหญ่ เหมือนกับทายาทธุรกิจรุ่นสอง ไม่ได้อยู่ในกระแสสนใจของสังคม ไม่ได้เปลี่ยนโลก ไม่ไวรัล ไม่สามารถเรียกยอดไลก์ ยอดแชร์ ไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยกลไก Advertorial ใด ๆ แต่มันส่งต่อแรงบันดาลใจได้แน่นอน

หากพื้นที่บน The Cloud รวมถึงสื่อออนไลน์บนโลกอินเทอร์เน็ตอื่น ๆ ยังไม่มีพื้นที่ทดลองแบบ Let it Rock, Too Fast to Live, Too Young to Die, SEX, Seditionaries และ Worlds End ผมขอเปลี่ยนพื้นที่เล็ก ๆ นี้ ด้วยการเปลี่ยนโฉม เปลี่ยนทิศทาง เปลี่ยนการชี้นำ สาดแสงให้ จากคอลัมน์ ‘ วัตถุปลายตา’ ไปเป็นสิ่งอื่น กับรูปแบบงานเขียนเชิงทดลองที่คงเปรียบได้กับการเอาหนูไปใส่ไว้บนฝ้าเพดานที่มีรู กับแรงขับเคลื่อนที่เกิดจากการตั้งคำถาม เพื่อสำรวจปัญหาของวัฒนธรรมบริโภคนิยม ทุนนิยม รวมถึงอุตสาหกรรมสื่อออนไลน์เอง ผ่านการคุยกับคนตัวเล็ก ๆ ที่ซ่อนอยู่ในตะเข็บของสังคมแทน

หากโลกวันนี้ผมล่องหนไม่ได้ อย่างน้อยผมขอพกสปอตไลต์ ไปฉายในที่ที่จะมีประโยชน์ ปั่นป่วน เปลี่ยนแปลง ปลุกระดม และบันดาลใจได้ ก็ยังดีครับ

เมอร์รี่คริสต์มาส สุขสันต์วันปีใหม่ และพบกันใหม่เร็ว ๆ นี้ครับ

ข้อมูลอ้างอิง

www.anothermag.com/fashion-beauty/8672/clothes-for-heroes-the-story-of-westwoods-worlds-end-shop

en.wikipedia.org/wiki/Sex_(boutique)

www.kidsofdada.com/blogs/magazine/11950453-sex-shop

culturacolectiva.com/fashion/sex-punk-boutique-vivienne-westwood

selvedgeyard.com/2010/10/07/the-filth-the-fashion-vivienne-westwoods-70s-sex-rag-revolution/

art-sheep.com/sex-vivienne-westwoods-boutique-that-defined-britains-punks-nsfw/

www.vogue.com/article/vivienne-westwood-god-save-the-queen-shirt-40th-anniversary

punkflyer.com/seditionariesshop.html

Writer

Avatar

ศรัณย์ เย็นปัญญา

นักเล่าเรื่อง ผู้ร่วมก่อตั้ง 56thStudio ที่รักในความเป็นคนชายขอบ หมารองบ่อน และใช้ชีวิตอยู่ตรงตะเข็บชายแดนของรสนิยมที่ดีและไม่ดีอย่างภาคภูมิมาตลอด 35 ปี ชอบสะสมเก้าอี้ ของเล่นพลาสติก และเชื่อในพลังการสื่อสารของงานออกแบบและงานศิลปะ