ไม่นานมานี้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์การใช้ภาษาถิ่น รวมไปถึงเรื่องเครื่องแต่งกายชาติพันธุ์ในรัฐสภาออกมาให้ถกกันอย่างดุเดือด ประกอบกับในวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมาถือเป็นวันชนเผ่าพื้นเมืองโลก ทีมของเราจึงอยากจะพาไปเยี่ยมชมมิวเซียมเล็กๆ แห่งหนึ่งที่ทำงานนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์มาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีวิธีการสื่อสารที่สนุกสนาน ชวนให้รู้สึกว่าเรื่องชาติพันธุ์ไม่ได้ไกลตัวอย่างที่คิด ว่าแล้วก็ตามเรามาขึ้น ‘รถบ้าน’ ที่มีชื่อว่า ‘วิวิธชาติพันธุ์’ ด้วยกันเลยดีกว่า

วิวิธชาติพันธุ์ นิทรรศการบนรถบ้านพร้อมจอหนังที่สัญจรไปส่งความรู้เรื่องคนกลุ่มน้อย

1

ขึ้นรถ

ใช่แล้ว สถานที่แห่งนี้ไม่ได้มีโถงอาคารเหมือนพิพิธภัณฑ์อื่นๆ แต่กลับจัดแสดงเนื้อหาอยู่ในรถบ้านขนาดเล็กกะทัดรัด ด้านในมีครัวจิ๋ว รายล้อมไปด้วยตู้ไม้ใส่หนังสือ และเบาะที่นั่งได้ไม่เกินสี่ห้าคน ประกอบด้วยข้าวของจากชาติพันธุ์ต่างๆ เรียงรายกันอยู่ ให้บรรยากาศอบอุ่นเหมือนนั่งอยู่ในบ้านของใครคนหนึ่ง โชคดีเหลือเกินที่เราได้พูดคุยกับ ดร.ชิตชยางค์ ยมาภัย และ ดร.พธู คูศรีพิทักษ์ สองหัวแรงผู้ขับเคลื่อนโปรเจกต์นี้มาตั้งแต่ต้น ให้เราได้ทำความรู้จักเรื่องราวเบื้องลึกเบื้องหลัง อีกทั้งความเป็นมาของสิ่งที่อยู่รอบตัวเราทั้งหลายเหล่านี้  

“ชื่อวิวิธชาติพันธุ์ ‘วิวิธ’ แปลว่า ความหลากหลาย ส่วน ‘ชาติพันธุ์’ ก็คือกลุ่มคนที่อยู่ร่วมกันโดยมีวัฒนธรรมร่วมหรือวิถีเดียวกัน ชื่อภาษาอังกฤษคือ Vivid Ethnicity ‘Vivid’ มีความหมายว่า สีสันอันสดใส พอรวมกับ ‘Ethnicity’ จึงมีความหมายว่า ตัวแทนสีสันอันสดใสของกลุ่มคนชาติพันธุ์ที่หลากหลาย” อาจารย์พธูเริ่มอธิบายคอนเซปต์ของพื้นที่สุดพิเศษแห่งนี้ให้เราฟัง 

ดร.ชิตชยางค์ ยมาภัย และ ดร.พธู คูศรีพิทักษ์

“เรามาจากสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ทำงานวิจัยด้านภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์มาโดยตลอด ก่อกำเนิดจากการศึกษาภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ก่อน เมื่อครั้ง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชปรารภแก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. คุณหญิงสุริยา รัตนกุล ว่า ‘ดูซิ แม้วเขาไม่ชอบให้คนเรียกว่าแม้ว เราก็ยังเรียกเขาอยู่ได้ เขาเป็นม้ง แค่นี้เรายังไม่รู้เลย แล้วเราจะไปทำอะไรได้’ 

“ถือเป็นจุดกำเนิดที่ทำให้คุณหญิงพยายามศึกษาทำความเข้าใจกลุ่มชาติพันธุ์ในเชิงลึก เพื่อเป็นสะพานเชื่อมระหว่างคนต่างวัฒนธรรมให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น โดยก่อตั้งโครงการศูนย์ศึกษาวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชียอาคเนย์ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท และบัดนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย งานวิจัยเริ่มต้นจากงานภาษาศาสตร์ จากนั้นจึงต่อยอดมาศึกษาเรื่องวัฒนธรรม ต่อมาได้สร้างเป็นหลักสูตรปริญญาโทด้านภาษาศาสตร์ วัฒนธรรมศึกษา ภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม และปริญญาเอกอีกสองสาขาคือ ภาษาศาสตร์ กับ พหุวัฒนธรรม” 

อาจารย์พธูเล่าต่อว่า “ที่สถาบันมีพิพิธภัณฑ์ที่อยู่คู่กันมาตั้งแต่เปิดอาคาร ชื่อว่า ‘พิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาวัฒนธรรม’ ซึ่งเนื้อหาจะเกี่ยวกับงานวิจัยของสถาบัน การทำงานภาคสนามเพื่อทำความเข้าใจภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มีโซนหมู่บ้านจำลอง นิทรรศการถาวรนี้อยู่แบบเดิมมาเป็นสิบปีแล้ว 

“จนเมื่อปีที่แล้ว ทีม iCulture ของเราสังกัดสถาบันวิจัยภาษาฯ ได้รับทุนจากงบประมาณแผ่นดินในโครงการเสริมสร้างความผูกพันต่อสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อการเปลี่ยนแปลงผ่านพิพิธภัณฑ์ ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้มีแผนพัฒนานิทรรศการถาวรแล้ว ยังจัดทำนิทรรศการเคลื่อนที่พิเศษ ‘วิวิธชาติพันธุ์’ เพื่อตระเวนสอนวิธีการเรียนรู้ผ่านกระบวนการคิดเชิงออกแบบให้แก่นักเรียนและชุมชนใน 7 จังหวัดใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งหลังจากจบโครงการแล้ว โครงการยังดำเนินต่อเนื่องด้วยตัวเอง แถมยังขยายพื้นที่ปฏิบัติการกว้างไกลไปทั่วประเทศด้วย”

2

การจัดการเรียนรู้ตามบริบท

“การนำนิทรรศการวิวิธชาติพันธุ์ออกไปสัญจรเผยแพร่ความรู้ ขับเคลื่อนด้วยกำลังสำคัญ 3 คน ถ้าเราสัญจรไปตามโรงเรียนก็อาจจะต้องมีอาสาสมัครมาช่วยเฉพาะกิจ ซึ่งการเรียนการสอนจะมีลักษณะแตกต่างกันไป เมื่อขึ้นมาบนรถบ้านคันนี้ จะเห็นว่ามีคอลเลกชันหลักคือ คลังห้องสมุด มีสารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์จากอาจารย์หลายท่านที่ทำมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสถาบันฯ รวมถึงงานวิจัยใหม่ๆ เชิงพัฒนาหรือแก้ปัญหาต่างๆ ในกลุ่มชาติพันธุ์ที่ร่วมสมัยมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีวัตถุจัดแสดงที่ได้มาจากการลงพื้นที่วิจัยในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเราก็นำมาใช้เป็นสื่อการสอนด้วย”

พูดไม่ทันขาดคำ กาแฟดริปจากกลุ่มคนลัวะ (ละว้า) ที่แม่ฮ่องสอนก็ถูกยกขึ้นมาเสิร์ฟ บทสนทนาของเราก็ดำเนินต่อพร้อมกลิ่มหอมของกาแฟที่ฟุ้งไปทั้งรถ 

วิวิธชาติพันธุ์ นิทรรศการบนรถบ้านพร้อมจอหนังที่สัญจรไปส่งความรู้เรื่องคนกลุ่มน้อย

อาจารย์พธูหยิบหนังสือสารานุกรมว่าด้วยชาวลัวะขึ้นมาให้เราดูหน้าตาของผู้ผลิตสิ่งที่เรากำลังถืออยู่ในมือไปพลางๆ 

“ยกตัวอย่างที่ช่างชุ่ย เราได้โจทย์ให้สอนเรื่องอาชีพ เราจึงชูเรื่องการเป็นนักพิพิธภัณฑ์ เรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่สื่อถึง 4 สายงาน แบ่งเป็นฐาน 1. นักวิจัย ฐานที่ให้ฝึกตั้งคำถาม เก็บข้อมูล หาคำตอบ 2. นักอนุรักษ์ ที่ฐานนี้จะได้ฝึกปฏิบัติการเป็นนักอนุรักษ์ ด้วยการขุดค้นหาชิ้นส่วนเครื่องปั้นดินเผา ล้างทำความสะอาด และนำมาต่อให้เป็นใบ เพื่อนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ เป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างความเข้าใจกระบวนการอนุรักษ์ 3. นักกิจกรรมการศึกษา ฐานนี้จะให้ลองออกแบบกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ ด้วยการร้อยลูกปัดจากชาติพันธุ์ต่างๆ 4. ภัณฑารักษ์ ฐานที่ให้ลองเอาชุดตุ๊กตาของแต่ละชาติพันธุ์มาจัดแสดง พร้อมเขียนคำบรรยายบนบอร์ดเล็กๆ 

“ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับความสนุกสนานในการลองเป็นนักพิพิธภัณฑ์ตามตำแหน่งที่แตกต่าง ซึ่งกิจกรรมที่จัดที่ช่างชุ่ยจะต่างกับกิจกรรมที่เราจัดตามมหาวิทยาลัย รายวิชาบริหารธุรกิจ บางแห่งให้โจทย์ว่าอยากได้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรม เราก็สอนให้ได้ โดยเริ่มจากการตั้งคำถามกับเด็กว่า ถ้าคุณต้องไปทำงานกับชุมชน คุณคิดว่าจะเป็น Local to Global หรือ Global to Local 

วิวิธชาติพันธุ์ นิทรรศการบนรถบ้านพร้อมจอหนังที่สัญจรไปส่งความรู้เรื่องคนกลุ่มน้อย
วิวิธชาติพันธุ์ นิทรรศการบนรถบ้านพร้อมจอหนังที่สัญจรไปส่งความรู้เรื่องคนกลุ่มน้อย

“เราใช้สินค้าชาติพันธุ์จาก Museum Shop ที่ได้มาจากแต่ละชุมชน มาประกอบเป็นธุรกิจการค้าแบบจำลอง ให้เขาลองวางแผนธุรกิจ ลงมือทำขนมด้วยตนเอง ออกแบบการจัดร้านกาแฟชาติพันธ์ุด้วยตนเอง และทดลองนำผลิตภัณฑ์ไปขายจริง ภายในสามชั่วโมงที่เรียนนี่แหละ ขายเพื่อน ขายอาจารย์ ปรากฏว่าขายดีมาก!” อาจารย์หัวเราะ 

“หรืออีกกรณีคือไปมิวเซียมอื่นๆ อย่างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง หรือพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ กระบวนการจะเน้นไปทางการสนทนามากกว่าที่นี่ ส่วนมากจะจุดประเด็นจากวัตถุจัดแสดงในนิทรรศการเช่นกัน” 

3

สิ่งของล้วนเล่าเรื่อง

เมื่อพูดถึงสิ่งของ อาจารย์บอกว่าหลายอย่างในรถนี้ชุมชนก็บริจาคมาให้ใช้สอนเรื่องวัฒนธรรมของเขา “อย่างเสื้อของปราชญ์ชาวปกาเกอะญอ เขาไม่ขายให้ แต่ถ้าเอามาใช้ในพิพิธภัณฑ์เขายกให้เลย รวมทั้งหม้อยา (ไปป์) ที่ทำจากเงินด้วย แล้วก็มีหม้อยาไม้ที่พือพือเขานั่งสูบๆ อยู่แล้วก็ยื่นให้เลย” 

วิวิธชาติพันธุ์ นิทรรศการบนรถบ้านพร้อมจอหนังที่สัญจรไปส่งความรู้เรื่องคนกลุ่มน้อย

อาจารย์พธูเล่า “พือพือแปลว่าคุณตาค่ะ” นอกจากนั้น อาจารย์พธูยังหยิบ ‘ครกไม้ไผ่’ ที่ใช้ตำน้ำพริกมาให้ดูอีกหนึ่งชิ้น ได้มาจากโครงการอีโคมิวเซียมดอยสี่ธาร ณ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

“เราเคยขอพือพือว่าอยากเอามาไว้ในมิวเซียม ซึ่งแกไม่ได้พูดภาษาไทยนะคะ แกพูดภาษากะเหรี่ยง วันที่แกยกครกไม้ไผ่มาให้แกก็มานั่งตำให้ดู แกคงอยากสาธิตให้เห็นวิธีการใช้” ซึ่งของเหล่านี้ยังเชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายในงานวิวิธชาติพันธุ์ด้วย เช่น มึซาโต๊ะ (แปลว่าน้ำพริก) แบรนด์ ‘พีพีพือพือ’ โดยโลโก้เป็นรูปของคุณตาคุณยายชาวปกาเกอะญอ ข้าวชาวดอย หรือกาแฟที่คั่วจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ (iCoffee) ซึ่งเป็นสินค้าที่ทีมงานช่วยกันพัฒนา เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน

วิวิธชาติพันธุ์ นิทรรศการบนรถบ้านพร้อมจอหนังที่สัญจรไปส่งความรู้เรื่องคนกลุ่มน้อย

“ผลของงานวิจัยที่ผ่านมา เราพบว่าหนึ่งในวิธีการสืบสานวัฒนธรรมที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือการทำสินค้าที่กินได้นี่แหละ” อาจารย์พธูยิ้ม

4

ว่าด้วยความหลากหลายของ ‘ไทย’

ในขณะที่มือของเรากำลังกางหน้าหนังสือที่เขียนโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะเรื่องแผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย ว่าด้วยการบันทึกแหล่งที่มาของภาษาอันหลากหลายจากแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ เราเห็นจุดหลากหลายสีพิมพ์กระจายอยู่ทั่วแผนที่ของประเทศไทย แต่ละจุดอธิบายถึงของการใช้ภาษาพื้นถิ่นต่างๆ  ชวนให้นึกในใจว่าจุดเหล่านี้ทำให้แผนที่นี้ดูสวยงามมีสีสันเหลือเกิน และชี้ให้เห็นว่าความหลากหลายทางชาติพันธุ์นั้นมีอยู่ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ไม่ใช่แค่บนภูเขาหรือตามขอบชายแดนอย่างที่หลายๆ คนเคยคิด

วิวิธชาติพันธุ์ นิทรรศการบนรถบ้านพร้อมจอหนังที่สัญจรไปส่งความรู้เรื่องคนกลุ่มน้อย

“ในประเทศของเรามีกลุ่มชาติพันธุ์อยู่ประมาณ 70 ชาติพันธุ์ แบ่งตามตระกูลภาษาได้เป็น 5 ตระกูลภาษา ซึ่งลายบนรถบ้านคันนี้ก็ดึงจุดเด่นกลุ่มชาติพันธุ์มาจาก 5 ตระกูลภาษานี้ อันแรกเป็นลายของภาษาตระกูลจีน-ทิเบต ซึ่งลวดลายคล้ายกากบาท มาจากเสื้อชาวปกาเกอะญอ อันที่สองมาจากตระกูลออสโตรเอเชียติก ซึ่งถอดแบบมาจากสร้อยของคนลัวะ ส่วนอันที่สามเป็นตระกูลไท เอามาจากลายหน้าหมอนของชาวไทดำ อันที่สี่เป็นออสโตรเนเซียน หรือพวกชาวเลหมู่เกาะในเอเชีย พวกมอแกลน อูรักลาโว้ย ฯลฯ ซึ่งกราฟิกก็มาจากลายฝาบ้านของชาวมอแกลน อันสุดท้ายเป็นภาษาของตระกูลม้ง-เมี่ยน ถอดลายมาจากกางเกงของชาวเมี่ยนหรือเย้านั่นเอง”

5

การเคารพและความภูมิใจในความต่างของกันและกัน

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจระหว่างบทสนทนาของเรา คือแต่ละคนบนรถจะเริ่มพูดถึงความเกี่ยวโยงของตนกับชาติพันธุ์ต่างๆ บ้างบอกว่าตัวเองเป็นคนเหนือ เลยคุ้นชินกับชาวม้ง อีกคนพูดขึ้นว่าตนมีเชื้อมอญอย่างภาคภูมิใจ 

อาจารย์บอกว่าสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก 

ดร.ชิตชยางค์ ยมาภัย และ ดร.พธู คูศรีพิทักษ์

“เคยเอารถคันนี้ไปที่ลำพูน ไปที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 26 ซึ่งมีนักเรียนจำนวนมากที่เป็นชนกลุ่มน้อย เขาก็เข้าแถวขึ้นมาเล่นบนรถกัน พอถามว่าเป็นคนจากที่ไหนก็ไล่ตอบกันมามากมายว่าลาหู่ ลีซู ม้ง อาข่า เย้า ฯลฯ ส่วนน้องที่เป็นคนไทยธรรมดาก็ยังพยายามบอกมาว่า เอ่อ ผมเป็นคนพื้นราบครับ”

เราเรียนรู้ได้จากบทสนทนาที่เกิดขึ้นว่า สถานที่นี้เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เขาจะพูดถึงและแลกเปลี่ยนระหว่างกันและกันเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของตัวเอง อีกทั้งประสบการณ์บนรถคันนี้ได้สร้างความมั่นใจแก่พวกเขา ให้เรื่องราวของเขามีความสำคัญ 

“ที่น่าตกใจคือ ตอนเอาไปใช้กับเด็กกรุงเทพฯ ปรากฏว่าพวกเขารู้เรื่องเกี่ยวกับชาติพันธุ์ที่หลากหลายน้อยมาก ซึ่งพอนึกย้อนกลับไป ตัวเราเองตอนเด็กๆ ก็ไม่รู้เรื่องนี้เหมือนกัน เพราะมันไม่มีในบทเรียน”

วิวิธชาติพันธุ์ นิทรรศการบนรถบ้านพร้อมจอหนังที่สัญจรไปส่งความรู้เรื่องคนกลุ่มน้อย

อาจารย์บอกว่าทั้งหมดนี้โยงไปสู่วัตถุประสงค์หลักของโครงการที่ นอกจากจะเป็นการจัดส่งความรู้เข้าสู่ชุมชน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เข้าถึงยากแล้ว ยังอยากให้เกิดสังคมที่เคารพความแตกต่างของกันและกัน เริ่มจากวัฒนธรรม ภาษา เชื้อชาติ สถานะ ไปจนถึงลักษณะทางกายภาพ เช่น ผู้พิการ 

“นอกจากนี้ ยังสร้างสำนึกรักในชาติพันธุ์ของตัวเองด้วย เราจะเห็นตัวอย่างจากคนกลุ่มน้อยที่เข้ามาอยู่เมืองใหญ่ บางครั้งเขาทำเป็นลืมอัตลักษณ์ของตัวเอง คืออยากเท่ หรืออยากมีความ Urban แต่พอคุยถึงชาติพันธุ์ตัวเองไปสักพักก็รู้สึกภูมิใจในบ้านเกิด อยากจะกลับไปพัฒนาบ้านของตัวเอง”

อาจารย์ยังแอบกระซิบว่า อีกเหตุผลที่ชาวบ้านชอบรถคันนี้คือ เมื่อถึงเวลากลางคืน มันเปลี่ยนเป็นจอฉายหนังกลางแปลง ฉายให้ผู้คนในหมู่บ้านดูกันด้วย

6

ต่อจากนี้ไป

เวลาไหลผ่านเราไปอย่างรวดเร็ว รู้ตัวอีกทีกาแฟแก้วที่ 2 ของเราก็หมด และถึงเวลาต้องลงจากรถบ้านอันแสนอบอุ่นคันนี้เสียแล้ว ด้วยความประทับใจเราจึงถามอาจารย์พธูถึงแผนการต่อยอดโครงการนี้ให้ยั่งยืนทิ้งท้ายก่อนจากกันด้วย

วิวิธชาติพันธุ์ นิทรรศการบนรถบ้านพร้อมจอหนังที่สัญจรไปส่งความรู้เรื่องคนกลุ่มน้อย

“ตอนแรกที่เราออกแบบโปรเจกต์นี้ มันเป็น Special Exhibition แต่มาตอนนี้เราก็ไม่รู้ว่าอายุมันจะยาวต่อไปได้อีกแค่ไหน ทั้งอายุของรถนิทรรศการที่ผ่านการเดินทางมามาก อีกส่วนก็คือการปฏิบัติงาน ที่ตอนนี้ทำผ่านกลุ่ม iCulture หรือกลุ่มพันธกิจวัฒนธรรมสถานบริรักษ์ ซึ่งอนุมัติจัดตั้งโดยสถาบันฯ เพื่อพันธกิจด้านพิพิธภัณฑ์ และวัฒนธรรมสถาน ของสถาบันฯ เราทำทุกอย่างด้วยตนเอง เป็นงานระดมทุนเพื่อพิพิธภัณฑ์ งานจิตอาสา บูรณาการศาสตร์ต่างๆ และบูรณาการการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ 

วิวิธชาติพันธุ์ นิทรรศการบนรถบ้านพร้อมจอหนังที่สัญจรไปส่งความรู้เรื่องคนกลุ่มน้อย

“ที่ผ่านมา เนื่องจากเราต้องทำวิจัยอยู่แล้ว บางครั้งก็เอาทุนวิจัยนั้นมาดำเนินการต่อ ส่วนบุคลากรก็คือฝึกนักศึกษาในคณะมาบ้าง เราก็อยากจะขับเคลื่อนงานพิพิธภัณฑ์ให้ตอบโจทย์สังคมในอนาคตด้วย”

ในขณะที่โบกมืออำลารถบ้าน เราเสียดายที่ยังมีเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งเรายังไม่รู้และอยากรู้อีกมาก ทั้งเรื่องความเชื่อ ดนตรี ประเพณี ความรัก ฯลฯ แต่เวลาดันหมดเสียก่อน คิดไปถึงคนที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านั้น ว่าพวกเขาจะอยากเรียนรู้หรือแสดงออกเรื่องชาติพันธุ์ของเขาบ้างไหมนะ? แล้วนอกจากที่นี่ (และรัฐสภา) แล้ว ยังมีพื้นที่ไหนที่เขาแบ่งปันตัวตนของเขาได้? มีวิธีอื่นอีกไหมที่จะช่วยไม่ให้เรื่องเล่าของพวกเขาจางหายไปในฝุ่นควันของความศิวิไลซ์?

ดร.ชิตชยางค์ ยมาภัย และ ดร.พธู คูศรีพิทักษ์

ติดตามข่าวคราวเพิ่มเติมของวิวิธชาติพันธุ์ได้ที่

Facebook : RILCAmuseumstudies

Website : museumlc.mahidol.ac.th

Writer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ