24 พฤศจิกายน 2021
18 K

ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

องค์กรใหญ่ด้านพลังงานอย่างกลุ่ม ปตท. คิดเช่นนั้น จึงรวมพลังกับบริษัทพันธมิตรอีกหลายภาคส่วน เพื่อขอเป็นอีกแรงหนึ่งในการช่วยแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศ ผ่านการสร้างสถาบันการศึกษา ผลิตบุคลากรที่มีทักษะความสามารถ รวมถึงการประดิษฐ์คิดค้นใหม่ๆ ด้วยการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

สถาบันวิทยสิริเมธี (Vidyasirimedhi Institute of Science and Technology) หรือในชื่อย่อว่า VISTEC เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ (Education Zone) ในเมืองแห่งนวัตกรรม Smart City วังจันทร์วัลเลย์ (Wangchan Valley) จังหวัดระยอง ด้วยความตั้งใจให้มีสถาบันอุดมศึกษาในระดับปริญญาโทและเอก เพื่อเน้นบ่มเพาะคนที่มีศักยภาพด้านการทำวิจัยโดยเฉพาะ

หากแรงบันดาลใจแต่แรกบนพื้นที่กว่า 3,400 ไร่มาจากซิลิคอนวัลเลย์ เมืองแห่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สหรัฐอเมริกา สถาบันวิทยสิริเมธี ซึ่งเรากำลังจะพูดถึงอยู่นี้ก็อาจเปรียบเหมือนมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สถาบันที่เป็นแหล่งผลิตและสร้างสรรค์เทคโนโลยี งานวิจัย และนวัตกรรมสุดไฮเทคในหุบเขาซิลิคอน

ศ.ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล อธิการบดีสถาบันวิทยสิริเมธี ให้เกียรติพูดคุยกับ The Cloud บอกเล่าถึงความตั้งใจที่ผ่านมา สิ่งที่กำลังทำอยู่ และความท้าทายในอนาคตข้างหน้าของสถาบันวิจัยไซส์จิ๋ว แต่คุณภาพคับแก้วเกินตัวแห่งนี้

เจาะลึกสถาบันวิทยสิริเมธี สถาบัน ป.โท และ ป.เอก เน้นบ่มเพาะนักวิจัยและนวัตกรรมไทย
01

ในโลกปัจจุบันที่ความก้าวหน้าทางนวัตกรรมถาโถมเข้ามาไม่หยุด เทคโนโลยีใหม่ๆ พร้อมใจเสนอตัวเข้ามาเป็นตัวช่วยในการใช้ชีวิตของมนุษย์ไม่เว้นวัน หลายประเทศจำเป็นต้องพยายามวิ่งให้ทันกับวิถีใหม่ เช่นเดียวกันกับประเทศไทยของเราก็จำเป็นต้องปรับตัวในหลากหลายด้าน

ไทยแลนด์ 4.0 ที่ได้ยินกันมาหลายปีให้หลังมานี้ เป็นอีกสัญญาณการขยับตัวครั้งใหญ่ ที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมมีส่วนอย่างมากต่อการกำหนดทิศทางเดินของประเทศ เมื่อเราอยากเปลี่ยนสถานะจากผู้ใช้กลายเป็นผู้ผลิต จากเศรษฐกิจแบบเดิมสู่การขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เพื่อนำไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วให้ได้

หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญมากคือ ‘คน’

“มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งสร้างคน ถ้าคนนั้นมีความรู้ดียิ่ง เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดี เป็นวิศวกรที่ดี ก็จะสร้างผลงานทางวิทยาศาสตร์ที่ดี เทคโนโลยีที่ดี นวัตกรรมที่ดี และยังนำไปสู่เชิงพาณิชย์ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว การจะสร้างสรรค์ไม่ใช่แค่คน ไม่ใช่แค่งาน แต่นำไปสู่การตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ และสอดรับกับทิศทางระดับโลก 

“นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมกลุ่ม ปตท. เชื่อว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศ เพราะเมื่อเราสร้างคน สร้างวิทยาศาสตร์ที่ดี มันก็จะตอบโจทย์ในระยะยาว” ศ.ดร.จำรัสเริ่มเล่าถึงที่มาที่ไปของสถาบันและความตั้งใจของกลุ่ม ปตท.

แม้ประเทศไทยจะมีมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่ง บางที่มุ่งมั่นผลิตคิดค้นงานวิจัยออกมาสู่สังคมอย่างหลากหลาย ดังที่เราอาจพอเห็นกันบ้างในหน้าสื่อ แต่สิ่งที่หลายคนไม่ทราบกัน คือความจริงแล้วปัญหาใหญ่ด้านงานวิจัยของบ้านเรา อยู่ที่จำนวนงานสวนทางกับคุณภาพ โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถึงจะทำออกมาจำนวนมาก แต่หลายงานถูกจัดอยู่ในกลุ่มขึ้นหิ้ง เพราะอาจจะยังไม่ตอบสนองความต้องการของสังคม หรือไม่สามารถสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อนำไปใช้ต่อได้

เราขอชวนดูภาพโมเดลที่สถาบันวางเป็นหลักคิดแนวทางในการผลิตงานวิจัยประกอบไปพร้อมกัน 

เจาะลึกสถาบันวิทยสิริเมธี สถาบัน ป.โท และ ป.เอก เน้นบ่มเพาะนักวิจัยและนวัตกรรมไทย

อาจารย์จำรัสอธิบายให้ฟังง่ายๆ ว่า งานวิจัยในโลกแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คืองานวิจัยที่มุ่งทำเพื่อความพอใจส่วนตัว ต้องการหาเพียงคำตอบใหม่ๆ ทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น เช่น ทำไมโลกถึงหมุนรอบตัวเอง ขณะที่อีกรูปแบบหนึ่ง คืองานที่สนใจประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมและสังคม

“ถ้าวิจัยตอบโจทย์ทางวิทยาศาสตร์ และให้ความสำคัญทางด้านอุตสาหกรรมไปพร้อมกัน ก็คือบริเวณที่เขียนว่า Pasteur ยกตัวอย่างเช่น การใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ผลิตวัคซีนแรกของโลก อย่างในช่วงโควิด-19 วัคซีน mRNA ก็เกิดจากแนวคิดนี้”

แล้วงานวิจัยส่วนใหญ่ในเมืองไทยอยู่ตรงไหนในภาพ อธิการบดีของ VISTEC ชี้ไปที่ส่วนสีเทาด้านล่าง คือเป็นงานวิจัยที่แทบไม่มีอะไรใหม่

ดังนั้น หัวใจสำคัญของ สถาบันวิทยสิริเมธี คือต้องการทลายกรอบและวิธีคิดสร้างงานวิจัยแบบเดิมๆ เพื่อผลิตงานวิจัยชั้นเลิศที่ตอบโจทย์ต่อความต้องการของประเทศและนานาชาติขึ้นมา ด้วยการผสมผสานองค์ความรู้ที่สร้างขึ้นมาใหม่ ให้เข้ากับการใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมด้วย

เรียกงานลักษณะนี้ว่า ‘Frontier Research’ หรืองานวิจัยชั้นแนวหน้า

02

ก่อนจะพาไปรู้จักหลากหลายผลงานของสถาบันฯ ขอแนะนำให้รู้จักกับหลักสูตรการเรียนการสอนของที่นี่เสียก่อน เพื่อให้เข้าใจภาพรวมยิ่งขึ้นว่า มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งนี้กำลังมุ่งทำงานพัฒนาด้านอะไรกันบ้าง

ภายในสถาบันวิทยสิริเมธีประกอบด้วย 4 สำนักวิชา คือ สำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล (School of Molecular Science and Engineering; MSE) สำนักวิชาวิทยาการพลังงาน (School of Energy Science and Engineering; ESE) สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล (School of Biomolecular Science and Engineering; BSE) และสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (School of Information Science and Technology; IST) นอกจากนี้ยังมีศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นแนวหน้า (Frontier Research Center; FRC) เพื่อช่วยสนับสนุนการดำเนินงานวิจัยต่างๆ

หากสังเกตให้ดี จะพบว่าแต่ละสำนักวิชาของ VISTEC ยังตั้งใจออกแบบมาให้สอดคล้องและตอบโจทย์เทรนด์การพัฒนาอุสาหกรรมแห่งอนาคต หรือ New S-Curve ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ที่มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นในอนาคต อันมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศ ประกอบด้วยอุตสาหกรรมการกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูง อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ เคมีชีวภาพ และเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมการแพทย์และผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์

“ที่เรามีสี่สำนักวิชา เพราะเราไปดูงานมาทั่วโลก ตามมหาวิทยาลัยชั้นนำ เราเลยรู้ว่าต้องเรียนเรื่องพวกนี้ ทำวิจัยเรื่องพวกนี้ ถึงจะอยู่ได้ในอีกสิบถึงยี่สิบปีข้างหน้า เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่าการผลิตคนของเราจะตอบโจทย์ไหม มันตอบโจทย์ตั้งแต่ก่อนผลิตแล้ว เพราะเรารู้ว่าโจทย์ของโลกเป็นยังไง จะมีงานทำไหม มีแน่นอน เพราะโลกจะทำแบบนี้ไปอีกสิบถึงยี่สิบปี” อาจารย์จำรัสอธิบายเพิ่มเติมถึงเรื่องหลักสูตร

เจาะลึกสถาบันวิทยสิริเมธี สถาบัน ป.โท และ ป.เอก เน้นบ่มเพาะนักวิจัยและนวัตกรรมไทย
สถาบันวิจัยที่มุ่งผลิตบุคลากรและนวัตกรรม ด้วยความเชื่อว่าวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม คือหัวใจในการพัฒนาประเทศ
03

จุดแข็งที่ VISTEC แตกต่างจากคนอื่นมีอยู่ 6 ข้อใหญ่ เป็นการสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่ในวงการศึกษา ยังไม่มีสถาบันไหนในไทยเหมือน โดยมีสถานที่ฝึกวิจัยแบบปฏิบัติจริงระหว่างเรียน มีหลักสูตรที่ออกแบบมาให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม และเทคโนโลยี โดยเป็นสถาบันเฉพาะทางที่มุ่งเน้นคุณภาพ และมุ่งพัฒนางานวิจัยขั้นแนวหน้า การยกระดับคุณภาพของงานวิจัยให้อยู่ในเกณฑ์สูง เป็นความแตกต่างที่สร้างขึ้นมาเพื่อจัดการศึกษาให้พัฒนาทักษะผู้เรียนและนักวิจัยให้มีศักยภาพโดดเด่นมากที่สุด

Residential Research Location สถานที่ฝึกวิจัยแบบปฏิบัติจริง

“นึกถึงคณะแพทยศาสตร์ที่มีโรงพยาบาลให้นักศึกษาแพทย์ฝึกฝนระหว่างเรียน คนที่จบไปก็สามารถทำงานได้เลย เราก็ออกแบบสถาบันฯ โดยเชิญบริษัทมาทำงานวิจัยร่วมกับเรา เหมือนกับสร้างโรงพยาบาลทางอุตสาหกรรมไว้ในคณะ เราเรียกว่านี่คือ Industial Hospital ดังนั้น หากคุณเรียนที่นี่จะพบว่าไม่เหมือนกับที่อื่น เรียนที่อื่น เมื่อเรียนเสร็จ ทำแล็บเสร็จแล้วก็กลับบ้าน แต่สำหรับที่นี่มีการฝึกการทำวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรม คุณจะเรียนรู้จากเคสจริงๆ เลยว่าอุตสาหกรรมกำลังทำอะไรอยู่ กำลังเกิดอะไรขึ้นในภาคธุรกิจเหมือนกับในโรงพยาบาล เพราะจะได้เห็นของจริงเลย

“จุดนี้ยังแตกต่างจากมหาวิทยาลัยในไทยทั่วไป แต่เหมือนกับมหาวิทยาลัยอื่นทั่วโลก เพราะจะทำให้เห็นว่า งานที่กำลังทำอยู่เกิดประโยชน์อะไร และทำให้เกิดแพสชันในการเรียน”

Full-time Postdoctoral System หรือระบบนักวิจัยหลังปริญญาเอกเต็มรูปแบบ

“อันนี้อาจแตกต่างมากในประเทศไทย คือคนที่จบปริญญาเอกแล้ว เราจะยังไม่ให้เป็นอาจารย์ แต่ให้ทำวิจัยก่อน เรียกอันนี้ว่านักวิจัยหลังปริญญาเอก โดยอาจารย์หนึ่งคน จะมีนักวิจัยที่จบปริญญาเอกแล้วมาช่วยงานสามคน ซึ่งแบบนี้ในมหาลัยอื่นไม่มี”

สำหรับระบบนักวิจัยหลังปริญญาเอกแบบเต็มรูปแบบนี้ VISTEC ถือเป็นที่แรกในประเทศไทยที่นำมาใช้ เพื่อส่งเสริมการฝึกปฏิบัติงานวิจัยที่ดี และช่วยเพิ่มคุณภาพของงานวิจัยได้อย่างต่อเนื่อง

Tenure-Track System หรือระบบขับเคลื่อนบุคลากร

อีกระบบหนึ่งที่ VISTEC นำมาใช้ คือการขับเคลื่อนบุคลากรแบบ Tenure Track เพื่อคัดสรรบุคลากรที่มีคุณภาพ และช่วยให้คณาจารย์รุ่นใหม่มีความกระตือรือร้นในการสร้างผลงานวิจัยอย่างมุ่งมั่นต่อเนื่อง มีการตั้งเงื่อนไขของตำแหน่งทางวิชาการที่เข้มข้น โดยเน้นจากการประเมินคุณภาพของผลงานทางวิชาการเป็นหลัก รวมถึงการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิในระดับนานาชาติมาร่วมประเมินด้วย 

“ภายใต้ระบบ Tenure Track อาจารย์ทุกท่านจะเป็นมืออาชีพเหมือนอาจารย์ในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ทุ่มเทกับงานวิจัย การเรียนการสอน เพื่อบ่มเพาะนักวิทยาศาสตร์วิศวกรและนักวิจัยรุ่นใหม่ สร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพดีเด่น และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและต่อสังคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับนานาชาติโดยรวม”

Curriculum Design การออกแบบหลักสูตร

ศ. ดร.จำรัส เผยว่า สิ่งที่มหาวิทยาลัยเปิดใหม่เท่านั้นที่จะทำได้ คือการออกแบบหลักสูตรให้ทันสมัย ซึ่งจุดเด่นของหลักสูตรของ VISTEC คือ ความมีประสิทธิภาพและมุ่งเน้นความเป็นเลิศทางด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม และเทคโนโลยี รวมไปถึงการปลูกฝังด้านบุคลิกภาพ ความเป็นผู้นำ การเข้าสังคม และการจัดการ  การนำเนื้อหาหลักสูตรของมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกมาผสมผสานปรับใช้ เพื่อให้ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมและสังคม รวมถึงช่วยสร้างแรงจูงใจให้นิสิตมีความมุ่งมั่นในการก้าวไปสู่อาชีพนักวิทยาศาสตร์ที่มีทักษะสูง นอกจากนี้ ยังเป็นการเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีในวันข้างหน้าด้วย

“การจะทำหลักสูตรทันสมัย สมติว่าหลักสูตรทางด้านคอมพิวเตอร์ที่ดีที่สุดในโลกอยู่ที่ MIT ต้องไปดูว่าเขาทำอะไร คิดอะไร ใช้มหาวิทยาลัยชั้นนำนั้นเป็นโมเดล ไปดูอุตสาหกรรมในอนาคตข้างหน้า โลกนี้จะทำอะไร เอาไปปรับใช้กับของเรา แล้วไปถามความเห็นจากนักวิทยาศาสตร์ จากสังคม ว่าต้องการอย่างที่เราต้องการหรือเปล่า หลักสูตรก็จะไปได้ไกลและตอบโจทย์”

Small Size Big Advantage สถาบันเฉพาะทางที่มุ่งเน้นคุณภาพ

อีกสิ่งหนึ่งคือ VISTEC เป็นองค์กรขนาดเล็ก เพื่อให้นิสิต คณาจารย์ และผู้บริหาร ติดต่อระหว่างกันได้ง่าย ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการในทุกด้านสะดวกและคล่องตัวยิ่งขึ้น

“เมื่อบุคลากรในสถาบันมีปัญหาอะไรก็แก้ไขได้เร็ว ถ้านิสิตมีปัญหา ไม่เกินครึ่งชั่วโมงผมก็รู้แล้ว การมีโครงสร้างที่เล็กนี่คือข้อได้เปรียบ” 

แม้สถาบันแห่งนี้จะมีขนาดเล็ก แต่คุณภาพไม่ได้เล็กตามขนาด เพราะหากมองไปที่อัตราส่วนจำนวนคณาจารย์ ต่อนักวิจัยหลังปริญญาเอก ต่อนักศึกษา คือ 1 : 3 : 5 ซึ่งถือว่าเป็นข้อได้เปรียบที่โดดเด่นกว่าสถาบันอื่น ทำให้การสร้างผลงานและบุคลากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูง

Frontier Research การวิจัยขั้นแนวหน้า

ความแตกต่างประการสุดท้าย เป็นสิ่งที่ VISTEC ให้ความสำคัญอย่างมาก ซึ่งได้เล่าถึงไปบ้างแล้วในตอนต้น คือการผลิตงานวิจัยขั้นแนวหน้า เป็นการผสมผสานงานวิจัยพื้นฐานในเชิงทฤษฎีร่วมกับการวิจัย เพื่อสร้างแนวคิดและผลิตองค์ความรู้ใหม่ๆ อันจะนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ นวัตกรรม หรือการใช้งานในด้านต่างๆ ซึ่งนอกจากช่วยแก้ปัญหางานวิจัยของไทยที่มีปริมาณมากกว่าคุณภาพแล้ว ยังตอบโจทย์ในเชิงอุตสาหกรรมที่สามารถนำความรู้มาใช้ประโยชน์ในชีวิตจริง และช่วยพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศอย่างยั่งยืน

สถาบันวิจัยที่มุ่งผลิตบุคลากรและนวัตกรรม ด้วยความเชื่อว่าวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม คือหัวใจในการพัฒนาประเทศ
สถาบันวิจัยที่มุ่งผลิตบุคลากรและนวัตกรรม ด้วยความเชื่อว่าวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม คือหัวใจในการพัฒนาประเทศ
04

เมื่ออุดมการณ์และเป้าหมายของสถาบันวิทยสิริเมธี คือการขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม คำถามจึงอยู่ที่ว่า แล้วงานวิจัยที่ตีตราของ VISTEC มีส่วนช่วยตอบโจทย์สังคม หรือเข้ามาใกล้ชิดกับชีวิตของเราทุกคนในฐานะประชากรของชาติอย่างไรบ้าง

ขอเริ่มต้นกันที่ตัวอย่างงานวิจัยด้านเทคโนโลยีพลังงาน ซึ่ง VISTEC ได้จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานที่ทันสมัยที่สุดในอาเซียน เพื่อวิจัยทางด้านนี้โดยเฉพาะ

ผลที่ได้คือแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออน มีจุดเด่นคือคุณสมบัติในด้านการกักเก็บพลังงานที่สูงขึ้น น้ำหนักเบา แถมอายุการใช้งานยังยาวนาน รวมถึงมีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล ดังนั้น ยิ่งหากเราผลิตแบตเตอรี่ที่มีราคาถูก รถยนต์ก็จะราคาถูกตามไปด้วย ที่สำคัญ แบตเตอรี่ของ VISTEC ยังมีคุณภาพดีที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจุดนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและส่งออกสินค้าด้านเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานให้กับประเทศไทยได้อย่างมหาศาล

ส่วนในสถานการณ์เกินคาดคิดอย่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอด 2 ปีมานี้ VISTEC ยังมีบทบาทอย่างมากต่อการช่วยพัฒนาเทคโนโลยีและเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้รับมือโรคระบาด อาทิ การวิจัยและพัฒนาชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยใช้เทคโนโลยี CRISPR Diagnostic ที่มีความรวดเร็วและระบุผลได้แม่นยำ เทียบเท่าชุดตรวจมาตรฐาน RT PCR น่าสนใจว่าทาง VISTEC ทำวิจัยนี้สำเร็จตั้งแต่ช่วงแรกของการแพร่

หรือคราวที่โควิด-19 โจมตีในบ้านเราอย่างหนักหน่วงเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา ทาง VISTEC ยังร่วมมือกับ Medensy บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ทางการแพทย์ สร้างแอปพลิเคชัน ‘CHIVID’ ขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคโควิด-19 จากระยะไกล เช่นในกลุ่มผู้ที่ทำ Home Isolation และตามโรงพยาบาลสนาม ดูแลอย่างครบวงจรตั้งแต่การรับผู้ป่วยเข้าระบบไปจนถึงค้นหาสถานที่พักคอยหรือโรงพยาบาล และที่พิเศษกว่านั้นคือ แอปพลิเคชันนี้สามารถติดตามอาการของผู้ป่วย ผ่านการแปรผลค่าของเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว รวมถึงข้อมูลการส่งยารักษาไปให้ถึงสถานที่กักตัว

สำหรับการพัฒนาด้านหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทาง VISTEC ได้สร้างหุ่นยนต์เลียนแบบพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิต เพื่อใช้สำรวจและทำงานในพื้นที่ขรุขระหรือมีสิ่งกีดขวาง เช่น ใช้ตรวจสอบจุดชำรุดของท่อน้ำมันและท่อส่งก๊าซ รวมถึงยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์อีกรูปแบบหนึ่ง ให้ทำงานร่วมกับมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยนำไปใช้เป็นหุ่นยนต์บริกรในร้านกาแฟและร้านอาหาร มีความสามารถจดจำลูกค้า เพื่อเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่มให้ได้อย่างอัตโนมัติและแม่นยำ

นอกจากนี้ยังมีโครงการ C-ROS (Cash Return from Zero Waste and Segregation of Trash) หรือโครงการขยะเพิ่มทรัพย์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกสิกรไทย โดยปักหมุดโครงการครั้งแรกที่จังหวัดน่าน ในชื่อ ‘น่าน Zero Waste’ ด้วยการนำเทคโนโลยีด้านชีวภาพมาใช้ เพื่อเปลี่ยนขยะอินทรีย์ให้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและสารชีวภัณฑ์ที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แถมปัจจุบันเทคโนโลยีนี้ยังนำไปใช้จริงในกว่า 10 ชุมชน ทั้งนี้ จุดมุ่งหมายคือเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับขยะอินทรีย์ และเป็นต้นแบบในการสร้างสังคมไร้ขยะ รวมถึงยังช่วยสนับสนุนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ต่อยอดเข้าสู่สังคมได้ในอนาคต

หรืองานบางชิ้นหลายคนอาจเคยพอได้ยินกันมาบ้าง อย่างโปรเจกต์การสร้างหน้าเสมือนมนุษย์ จำลองภาพเคลื่อนไหว 3 มิติเหมือนบุคคลจริงจากภาพถ่าย ผลงานของ ดร.ศุภศรณ์ สุวจนกรณ์ อดีตนักพัฒนาของ Google  Brain ซึ่งเคยได้รับเชิญไปพูดถึงงานชิ้นนี้บนเวทีงาน TED 2018 ที่แวนคูเวอร์มาแล้วนั้น ปัจจุบันก็เป็นหนึ่งในอาจารย์ของ VISTEC ด้วยเช่นกัน

“แพสชันคือการทำแล้วไม่เลิก การลุ่มหลงในงานวิจัยเป็นสิ่งที่สำคัญ ผมอยากให้แพสชันนี้เป็น DNA ของ VISTEC ทุกคนที่เข้ามาอยู่ที่นี่มี DNA คิดถึงแต่วิทยาศาสตร์เป็นหลัก เพื่อสร้างสิ่งใหม่ ค้นพบสิ่งใหม่” ท่านอธิการบดีเน้นย้ำ

สถาบันวิจัยที่มุ่งผลิตบุคลากรและนวัตกรรม ด้วยความเชื่อว่าวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม คือหัวใจในการพัฒนาประเทศ
สถาบันวิจัยที่มุ่งผลิตบุคลากรและนวัตกรรม ด้วยความเชื่อว่าวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม คือหัวใจในการพัฒนาประเทศ
05

“สถาบันวิทยสิริเมธีมีผลงานวิจัยเฉลี่ยต่อบุคลากรสูงที่สุดในประเทศไทย และเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของต่างประเทศอย่าง MIT และ Caltech ก็ถือว่าเราอยู่ในเส้นทางที่ดี 

“เราดูที่คุณภาพมากกว่าปริมาณ ถ้าเทียบตอนนี้ ในวิทยาศาสตร์ทุกสาขา เคมี ฟิสิกส์ ไบโอ และพลังงาน เราอยู่ที่หนึ่งของประเทศไทยเกือบทุกสาขาวิชา และอยู่ที่สามของอาเซียน เราเป็นแบบนี้ติดต่อกันมาสามปีแล้ว เพราะฉะนั้น ที่บอกว่าเราต้องการเป็น Ivy Leauge ในเมืองไทย เราถึงจุดนั้นไปแล้ว แต่เราต้องการเป็น Top 10 ของอาเซียนด้วย ซึ่งยังต้องพยายามต่อไป ถ้าเทียบในยุโรปเราก็อยู่ประมาณที่หนึ่งร้อย แต่อย่าลืมว่าเป้าหมายใหญ่เราต้องอยู่ที่ห้าสิบของโลก” อาจารย์จำรัสกล่าวถึงเป้าหมายของสถาบันที่วางไว้ตั้งแต่ระยะสั้นไปจนถึงระยะยาว

จากเป้าหมายแรกคือต้องขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทยให้ได้ภายใน ค.ศ. 2020 ซึ่งแน่นอนว่าวันนี้ VISTEC ก้าวข้ามจุดขั้นนั้นมาได้แล้วอย่างไม่ยากเย็นนัก 

ล่าสุดจากการจัดอันดับคุณภาพงานวิจัยของมหาวิทยาลัยต่างๆ หรือ Nature Index Ranking สถาบันวิทยสิริเมธีอยู่อันดับที่ 1 ของประเทศไทยในสาขา All Sciences, Chemical Science และ Life Science ยิ่งไปกว่านั้นเฉพาะสาขา Chemical Sciences ยังอยู่ที่เดิมอันดับที่ 1 ของประเทศต่อเนื่องมาถึง 3 ปี 

ขณะที่เมื่อเทียบกันกับในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน VISTEC อยู่ในลำดับที่ 3 โดยเป็นรองแค่ National University of Singapore (NUS) และ Nanyang Technological University (NTU) มหาวิทยาลัยชั้นนำด้านเทคโนโลยีของประเทศสิงคโปร์เท่านั้น 

ส่วนในระดับโลก VISTEC อยู่ในอันดับที่ 12 จากการจัดลำดับคุณภาพของมหาวิทยาลัยที่ก่อตั้งมาไม่เกิน 30 ปี

ในอนาคตอันใกล้ คือใน ค.ศ. 2025 VISTEC ตั้งใจว่าจะไปอยู่ใน Top 10 ของมหาวิทยาลัยในอาเซียน เป็นอีกก้าวถัดไปที่น่าเอาใจช่วย 

ส่วนเป้าหมายใหญ่ระยะยาว ซึ่งเปรียบเหมือนก้าวสำคัญที่ VISTEC ตั้งไว้ อาจารย์จำรัสบอกมาเป็นตัวเลขสั้นๆ ง่ายๆ คือ 20 และ 50 แต่เป็นความท้าทายที่ทำได้ไม่ง่ายนัก นั่นคือการอยู่ในลำดับที่ 50 ของการจัดลำดับมหาวิทยาลัยโลกให้ได้ภายใน 20 ปี หรือใน ค.ศ. 2035

“ถ้าเราไม่สร้างวิทยาศาสตร์ เราก็ต้องเป็นประเทศที่ซื้อ เราจะซื้อแบบนี้ตลอดชีวิตเหรอ เราสมควรที่จะเป็นไทยคิดค้น ไทยประดิษฐ์ และไทยพัฒนา ฉะนั้น VISTEC อยากเป็นส่วนหนึ่งในสังคมไทย ที่สร้างและผลิตนวัตกรรมออกมา” อธิการบดีของสถาบันวิทยสิริเมธีสรุปถึงสิ่งที่ VISTEC ตั้งใจทำอยู่อีกครั้ง

สถาบันวิจัยที่มุ่งผลิตบุคลากรและนวัตกรรม ด้วยความเชื่อว่าวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม คือหัวใจในการพัฒนาประเทศ

ภาพ : สถาบันวิทยสิริเมธี

Writer

Avatar

พณิช ตั้งวิชิตฤกษ์

นักลองฝึกพิสูจน์อักษร ผู้แสร้งเป็นนักลองฝึกเขียน อดีตเป็นนักเรียนภาษา ผู้สนใจเป็นนักเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ รักในมวลรอบข้างที่ดี กาแฟ ชาเขียว และแมวเหมียว