ในคลาสสุดท้ายของคอร์สริเน็น ดิฉันให้ผู้อบรมทุกคนออกมาเล่าริเน็น (ปรัชญา ความเชื่อของตน) บางท่านก็เลือกเล่าจากชีวิตตนเองก่อน บางท่านก็เล่าความเชื่อที่นำไปสู่ธุรกิจในปัจจุบัน

บางท่านก็เล่าตรงๆ ว่า เดิมทำธุรกิจเพื่อเงิน แต่พอประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อ จนมาค่อยๆ ตกตะกอนว่า ธุรกิจตนเองสามารถช่วยพนักงาน ช่วยลูกค้าได้ 

ในคืนนั้น มีอยู่ 2 ท่าน ที่พูดประโยคเดียวกัน คือ “ไม่เคยคิดจะทำธุรกิจเลย”

ท่านหนึ่งมีปัญหาเรื่องผิวหน้าที่แพ้ง่าย เลยทำสกินแคร์จากวัตถุดิบที่ดี อีกท่านเป็นทันตแพทย์ที่ดูแลฟัน และเริ่มทำยาสีฟันสำหรับเด็ก เพื่อให้เด็กๆ แปรงฟันได้ดีขึ้น

เรื่องราวของทั้งคู่ชวนให้ดิฉันนึกถึงอดีตซาลารี่แมนคนหนึ่งที่ลาออกไปเรียนแพทย์ และกลับมาเปิดคลินิกของตนเอง

อะไรคือแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจของเขา

อดีตมนุษย์เงินเดือนที่ขายไม่ค่อยออก

ทาคาฟุมิ โอบายาชิ (Takafumi Obayashi) จบจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตเกียว มหาวิทยาลัยชื่อดังของประเทศ เขาได้เข้าทำงานที่บริษัท Recruit ซึ่งเป็นบริษัทอันดับหนึ่งด้าน HR

หน้าที่ของเขาคือการขายโฆษณาลงเว็บ

เมื่อทำงานไปได้ปีกว่าๆ โอบายาชิก็ได้รับฉายาว่า ‘เซลล์ที่นัดลูกค้าได้ แต่ขายไม่ได้’ เขาชวนลูกค้าพูดคุยได้อย่างสนุกสนาน นั่งฟังเรื่องราวของลูกค้าได้เป็นวันๆ แต่ก็ปิดการขายไม่ได้

รุ่นน้องที่ทำโปรเจกต์เดียวกับโอบายาชิมีสภาพจิตใจไม่ค่อยแข็งแรงนัก ในฐานะหัวหน้า เขาจึงพารุ่นน้องไปพบแพทย์ประจำบริษัท โอบายาชิคาดหวังว่า คุณหมอที่บริษัทจะมีคำแนะนำดีๆ หรืออย่างน้อย รับฟังปัญหาของรุ่นน้องคนนี้บ้าง แต่หมอก็ซักถามรุ่นน้องเพียงเล็กน้อย และบอกว่า “เหนื่อยแย่เลยเนอะ พักงานหน่อยไหม” ทั้งหมดเสร็จสิ้นภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่นาที

กฎหมายญี่ปุ่นมีข้อบังคับว่า บริษัทที่มีพนักงานเกิน 50 คน ต้องมีแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ (Occupational Physician) หรือแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลสุขภาพของคนทำงาน คุณหมอมีหน้าที่ดูแลสุขภาพทั้งกายและใจให้กับพนักงาน

แต่ในโลกของความเป็นจริง คุณหมอที่โอบายาชิพบ มาตรวจคนไข้เหมือนเป็นงานอดิเรก ไม่ได้สนใจประวัติคนไข้ หรือชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ป่วยมากนัก

โอบายาชิรู้สึกผิดหวังมาก แต่ขณะเดียวกัน คุณหมอท่านนั้นก็ทำให้โอบายาชิรู้ว่า โลกนี้มีอาชีพที่นั่งฟังเรื่องราวของคนอื่นได้ตลอด จุดแข็งในการเป็นนักฟังของเขาน่าจะได้ใช้งานเต็มที่แน่ การที่เขาเป็นมนุษย์เงินเดือน จะทำให้ยิ่งเข้าใจคนไข้ได้ง่ายกว่าคุณหมอที่เรียนจบแล้วมาตรวจคนไข้เป็นแน่

เมื่อคิดเช่นนี้ได้แล้ว โอบายาชิก็ยื่นซองลาออกจากบริษัท Recruit ในวัย 30 ปี หลังจากทำงานบริษัทได้ 5 ปี 

สาขาวิชาที่แทบไม่มีใครอยากเลือกเรียน

ตอนลาออก โอบายาชิคิดว่าตนเองต้องไปสอบเข้าคณะแพทย์ใหม่อีกครั้ง และเขาก็มุ่งมั่นเตรียมทำเช่นนั้นด้วย แต่โชคดีที่มีมหาวิทยาลัยการแพทย์แห่งหนึ่ง เปิดรับคนที่ต้องการเปลี่ยนสายงาน และข้ามการเรียนวิชาพื้นฐานในปี 1 และ 2 ได้ โอบายาชิจึงเลือกสอบเข้ามหาวิทยาลัยนั้น และเริ่มเรียนแพทย์ตั้งแต่ชั้นปี 3 เป็นต้นมา

Vision Partner คลินิกดูแลสุขภาพกายและใจคนทำงานโดยอดีตเซลส์แมนที่ขายของไม่ค่อยได้, ปรัชญาการทำธุรกิจแบบริเน็น
ภาพ : overs.zigexn.co.jp/people

เขามุ่งมั่นที่จะเป็นแพทย์ด้านอาชีวเวชศาสตร์แต่แรก แต่เมื่อบอกอาจารย์หรือคนรอบๆ ก็มีคนบอกแต่ว่า “สาขานี้สบายดีเนอะ” ไม่ค่อยมีใครสนใจไปเป็นแพทย์ประจำบริษัทสักเท่าไร แพทย์ด้านศัลยกรรม ด้านสมอง หรือด้านประสาทวิทยาดูเท่ และน่าจะสร้างรายได้มากกว่ากันนี่นา

แพทย์ที่จะเชื่อมระหว่างบริษัทกับพนักงาน

ฝั่งแพทย์เอง ไม่มีใครอยากทำงานบริษัท ส่วนฝั่งบริษัทเองก็ไม่ค่อยให้ความสนใจเรื่องแพทย์เท่าไร แต่ยอมมี เพียงเพราะกฎหมายบังคับ

แต่โอบายาชิกลับเห็นศักยภาพอันยิ่งใหญ่ของวิชาชีพนี้

หากหมอช่วยเหลือผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าหรืออยู่ในภาวะวิตกกังวลได้ ก็ย่อมทำให้บริษัทเติบโตได้ ยิ่งพนักงานแข็งแรง บริษัทก็จะยิ่งเติบโต

เมื่อโอบายาชิทำงานแพทย์จนขึ้นปีที่ 10 เขาก็ตัดสินใจเปิดคลินิกของตนเอง เพื่อช่วยเหลือคนทำงาน โดยตั้งชื่อว่า Vision Partner

Vision Partner คลินิกดูแลสุขภาพกายและใจคนทำงานโดยอดีตเซลส์แมนที่ขายของไม่ค่อยได้, ปรัชญาการทำธุรกิจแบบริเน็น
ภาพ : vision-partner.jp

สาเหตุที่เขาเลือกใช้คำว่า Vision เนื่องจากบางครั้ง คนเราก็มีช่วงที่ไม่รู้จะก้าวเดินต่อไปอย่างไร หรือมองไม่เห็นศักยภาพของตนเอง คลินิกแห่งนี้จะมอบ Vision ของทุกคน โดยเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่เคียงข้างวิถีการใช้ชีวิต ปลดปล่อยศักยภาพของพวกเขาให้เบ่งบาน และเป็นพาร์ตเนอร์ที่ดีที่สุดสำหรับคนไข้ทุกคน

คลิกนิกแห่งนี้ให้คำปรึกษาด้านจิตใจ เช่น บางคนเครียดจนไม่กล้าไปทำงาน บางคนอารมณ์รุนแรงกว่าปกติ จะมีคุณหมอโอบายาชิและจิตแพทย์ท่านอื่นๆ ให้คำปรึกษา

นอกจากนี้ ยังมีบริการให้ความช่วยเหลือด้านอาชีพการงานอีกด้วย ใครที่แพทย์เห็นว่าไม่ควรต้องทำงานที่เดิมต่อ ก็จะมีระบบช่วยเหลือด้านการย้ายงาน

วันเปิดคลินิก

สิ่งที่ทำให้ดิฉันแปลกใจ คือวันที่คุณหมอเลือกเปิดคลินิก

คลินิก Vision Partner เปิดให้บริการวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ.​ 2020 เป็นช่วงที่ COVID-19 กำลังระบาดหนักในญี่ปุ่นทีเดียว

คุณหมอและพาร์ตเนอร์เคยคิดที่จะเลื่อนวันเปิดให้บริการเหมือนกัน แต่เมื่อพวกเขากลับไปทบทวนสาเหตุที่พวกตนตั้งใจเปิดคลินิก พวกเขาจึงตัดสินใจที่จะลุยต่อไป

Vision Partner คลินิกดูแลสุขภาพกายและใจคนทำงานโดยอดีตเซลส์แมนที่ขายของไม่ค่อยได้, ปรัชญาการทำธุรกิจแบบริเน็น
ภาพ : vision-partner.jp

ความตั้งใจในการเปิดคลินิกคือการทุ่มเทช่วยเหลือคนทำงาน

แม้คลินิกต้องจำกัดการรับคนไข้ หรือคนอาจยังไม่กล้าออกจากบ้านเท่าไร แต่หมอโอบายาชิก็ตัดสินใจเปิดคลินิก เนื่องจากช่วง COVID-19 และหลังจากนี้ จะเป็นช่วงที่คนมีโอกาสที่จะรู้สึกเครียด ซึมเศร้าได้มาก เขาจึงต้องการเป็น พาร์ตเนอร์ที่ช่วยคนเหล่านี้

ความฝันของคุณหมอ

ปัจจุบัน คุณหมอประจำอยู่ทั้งที่โรงพยาบาล คลินิก และบริษัท

การเปิดคลินิกเป็นของตนเอง ตลอดจนการให้สัมภาษณ์สื่อต่างๆ นั้น ทำไปเพื่อให้คนรู้จักแพทย์ด้านอาชีวเวชศาสตร์ ตลอดจนทำให้วงการแพทย์เองยอมรับแพทย์ด้านนี้ยิ่งขึ้น

คุณหมอมุ่งมั่นที่จะเพิ่มจำนวนแพทย์ด้านอาชีวเวชศาสตร์ที่มีความปรารถนาดีให้มีมากขึ้นในสังคมญี่ปุ่น ขณะเดียวกัน ต้องการทำให้บริษัทที่กฎหมายไม่ได้บังคับให้มีแพทย์ประจำได้เห็นความสำคัญของแพทย์เหล่านี้ ที่สามารถช่วยเหลือพนักงานของพวกเขาและเปิดใจรับแพทย์ด้านนี้ยิ่งขึ้น

หากเริ่มทำธุรกิจโดยหวังกำไร คลินิกดังเช่น Vision Partner คงไม่เกิดขึ้น

แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนวิธีคิดของผู้คน คุณหมอจึงตัดสินใจเปิดคลินิก ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างแพทย์ฝีมือดีเข้ามา ทำให้คนไข้และบริษัทได้เห็นผลลัพธ์ที่ดี

การเปิดคลินิกในช่วง COVID-19 นี้ อาจเป็นก้าวเล็กๆ ที่ก้าวออกไปลำบากมาก แต่ด้วย Vision ที่งดงาม และความมุ่งมั่นที่จะปฏิวัติทัศนคติของผู้คนต่ออาชีพตน คุณหมอโอบายาชิก็ค่อยๆ ก้าวเดินต่อไป

Writer

Avatar

เกตุวดี Marumura

อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นผู้หลงใหลในการทำธุรกิจแบบยั่งยืนของคนญี่ปุ่น ปัจจุบัน เป็นอาจารย์สอนการตลาดที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย