ในคลาสสุดท้ายของคอร์สริเน็น ดิฉันให้ผู้อบรมทุกคนออกมาเล่าริเน็น (ปรัชญา ความเชื่อของตน) บางท่านก็เลือกเล่าจากชีวิตตนเองก่อน บางท่านก็เล่าความเชื่อที่นำไปสู่ธุรกิจในปัจจุบัน
บางท่านก็เล่าตรงๆ ว่า เดิมทำธุรกิจเพื่อเงิน แต่พอประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อ จนมาค่อยๆ ตกตะกอนว่า ธุรกิจตนเองสามารถช่วยพนักงาน ช่วยลูกค้าได้
ในคืนนั้น มีอยู่ 2 ท่าน ที่พูดประโยคเดียวกัน คือ “ไม่เคยคิดจะทำธุรกิจเลย”
ท่านหนึ่งมีปัญหาเรื่องผิวหน้าที่แพ้ง่าย เลยทำสกินแคร์จากวัตถุดิบที่ดี อีกท่านเป็นทันตแพทย์ที่ดูแลฟัน และเริ่มทำยาสีฟันสำหรับเด็ก เพื่อให้เด็กๆ แปรงฟันได้ดีขึ้น
เรื่องราวของทั้งคู่ชวนให้ดิฉันนึกถึงอดีตซาลารี่แมนคนหนึ่งที่ลาออกไปเรียนแพทย์ และกลับมาเปิดคลินิกของตนเอง
อะไรคือแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจของเขา
อดีตมนุษย์เงินเดือนที่ขายไม่ค่อยออก
ทาคาฟุมิ โอบายาชิ (Takafumi Obayashi) จบจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตเกียว มหาวิทยาลัยชื่อดังของประเทศ เขาได้เข้าทำงานที่บริษัท Recruit ซึ่งเป็นบริษัทอันดับหนึ่งด้าน HR
หน้าที่ของเขาคือการขายโฆษณาลงเว็บ
เมื่อทำงานไปได้ปีกว่าๆ โอบายาชิก็ได้รับฉายาว่า ‘เซลล์ที่นัดลูกค้าได้ แต่ขายไม่ได้’ เขาชวนลูกค้าพูดคุยได้อย่างสนุกสนาน นั่งฟังเรื่องราวของลูกค้าได้เป็นวันๆ แต่ก็ปิดการขายไม่ได้
รุ่นน้องที่ทำโปรเจกต์เดียวกับโอบายาชิมีสภาพจิตใจไม่ค่อยแข็งแรงนัก ในฐานะหัวหน้า เขาจึงพารุ่นน้องไปพบแพทย์ประจำบริษัท โอบายาชิคาดหวังว่า คุณหมอที่บริษัทจะมีคำแนะนำดีๆ หรืออย่างน้อย รับฟังปัญหาของรุ่นน้องคนนี้บ้าง แต่หมอก็ซักถามรุ่นน้องเพียงเล็กน้อย และบอกว่า “เหนื่อยแย่เลยเนอะ พักงานหน่อยไหม” ทั้งหมดเสร็จสิ้นภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่นาที
กฎหมายญี่ปุ่นมีข้อบังคับว่า บริษัทที่มีพนักงานเกิน 50 คน ต้องมีแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ (Occupational Physician) หรือแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลสุขภาพของคนทำงาน คุณหมอมีหน้าที่ดูแลสุขภาพทั้งกายและใจให้กับพนักงาน
แต่ในโลกของความเป็นจริง คุณหมอที่โอบายาชิพบ มาตรวจคนไข้เหมือนเป็นงานอดิเรก ไม่ได้สนใจประวัติคนไข้ หรือชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ป่วยมากนัก
โอบายาชิรู้สึกผิดหวังมาก แต่ขณะเดียวกัน คุณหมอท่านนั้นก็ทำให้โอบายาชิรู้ว่า โลกนี้มีอาชีพที่นั่งฟังเรื่องราวของคนอื่นได้ตลอด จุดแข็งในการเป็นนักฟังของเขาน่าจะได้ใช้งานเต็มที่แน่ การที่เขาเป็นมนุษย์เงินเดือน จะทำให้ยิ่งเข้าใจคนไข้ได้ง่ายกว่าคุณหมอที่เรียนจบแล้วมาตรวจคนไข้เป็นแน่
เมื่อคิดเช่นนี้ได้แล้ว โอบายาชิก็ยื่นซองลาออกจากบริษัท Recruit ในวัย 30 ปี หลังจากทำงานบริษัทได้ 5 ปี
สาขาวิชาที่แทบไม่มีใครอยากเลือกเรียน
ตอนลาออก โอบายาชิคิดว่าตนเองต้องไปสอบเข้าคณะแพทย์ใหม่อีกครั้ง และเขาก็มุ่งมั่นเตรียมทำเช่นนั้นด้วย แต่โชคดีที่มีมหาวิทยาลัยการแพทย์แห่งหนึ่ง เปิดรับคนที่ต้องการเปลี่ยนสายงาน และข้ามการเรียนวิชาพื้นฐานในปี 1 และ 2 ได้ โอบายาชิจึงเลือกสอบเข้ามหาวิทยาลัยนั้น และเริ่มเรียนแพทย์ตั้งแต่ชั้นปี 3 เป็นต้นมา

เขามุ่งมั่นที่จะเป็นแพทย์ด้านอาชีวเวชศาสตร์แต่แรก แต่เมื่อบอกอาจารย์หรือคนรอบๆ ก็มีคนบอกแต่ว่า “สาขานี้สบายดีเนอะ” ไม่ค่อยมีใครสนใจไปเป็นแพทย์ประจำบริษัทสักเท่าไร แพทย์ด้านศัลยกรรม ด้านสมอง หรือด้านประสาทวิทยาดูเท่ และน่าจะสร้างรายได้มากกว่ากันนี่นา
แพทย์ที่จะเชื่อมระหว่างบริษัทกับพนักงาน
ฝั่งแพทย์เอง ไม่มีใครอยากทำงานบริษัท ส่วนฝั่งบริษัทเองก็ไม่ค่อยให้ความสนใจเรื่องแพทย์เท่าไร แต่ยอมมี เพียงเพราะกฎหมายบังคับ
แต่โอบายาชิกลับเห็นศักยภาพอันยิ่งใหญ่ของวิชาชีพนี้
หากหมอช่วยเหลือผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าหรืออยู่ในภาวะวิตกกังวลได้ ก็ย่อมทำให้บริษัทเติบโตได้ ยิ่งพนักงานแข็งแรง บริษัทก็จะยิ่งเติบโต
เมื่อโอบายาชิทำงานแพทย์จนขึ้นปีที่ 10 เขาก็ตัดสินใจเปิดคลินิกของตนเอง เพื่อช่วยเหลือคนทำงาน โดยตั้งชื่อว่า Vision Partner

สาเหตุที่เขาเลือกใช้คำว่า Vision เนื่องจากบางครั้ง คนเราก็มีช่วงที่ไม่รู้จะก้าวเดินต่อไปอย่างไร หรือมองไม่เห็นศักยภาพของตนเอง คลินิกแห่งนี้จะมอบ Vision ของทุกคน โดยเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่เคียงข้างวิถีการใช้ชีวิต ปลดปล่อยศักยภาพของพวกเขาให้เบ่งบาน และเป็นพาร์ตเนอร์ที่ดีที่สุดสำหรับคนไข้ทุกคน
คลิกนิกแห่งนี้ให้คำปรึกษาด้านจิตใจ เช่น บางคนเครียดจนไม่กล้าไปทำงาน บางคนอารมณ์รุนแรงกว่าปกติ จะมีคุณหมอโอบายาชิและจิตแพทย์ท่านอื่นๆ ให้คำปรึกษา
นอกจากนี้ ยังมีบริการให้ความช่วยเหลือด้านอาชีพการงานอีกด้วย ใครที่แพทย์เห็นว่าไม่ควรต้องทำงานที่เดิมต่อ ก็จะมีระบบช่วยเหลือด้านการย้ายงาน
วันเปิดคลินิก
สิ่งที่ทำให้ดิฉันแปลกใจ คือวันที่คุณหมอเลือกเปิดคลินิก
คลินิก Vision Partner เปิดให้บริการวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 2020 เป็นช่วงที่ COVID-19 กำลังระบาดหนักในญี่ปุ่นทีเดียว
คุณหมอและพาร์ตเนอร์เคยคิดที่จะเลื่อนวันเปิดให้บริการเหมือนกัน แต่เมื่อพวกเขากลับไปทบทวนสาเหตุที่พวกตนตั้งใจเปิดคลินิก พวกเขาจึงตัดสินใจที่จะลุยต่อไป

ความตั้งใจในการเปิดคลินิกคือการทุ่มเทช่วยเหลือคนทำงาน
แม้คลินิกต้องจำกัดการรับคนไข้ หรือคนอาจยังไม่กล้าออกจากบ้านเท่าไร แต่หมอโอบายาชิก็ตัดสินใจเปิดคลินิก เนื่องจากช่วง COVID-19 และหลังจากนี้ จะเป็นช่วงที่คนมีโอกาสที่จะรู้สึกเครียด ซึมเศร้าได้มาก เขาจึงต้องการเป็น พาร์ตเนอร์ที่ช่วยคนเหล่านี้
ความฝันของคุณหมอ
ปัจจุบัน คุณหมอประจำอยู่ทั้งที่โรงพยาบาล คลินิก และบริษัท
การเปิดคลินิกเป็นของตนเอง ตลอดจนการให้สัมภาษณ์สื่อต่างๆ นั้น ทำไปเพื่อให้คนรู้จักแพทย์ด้านอาชีวเวชศาสตร์ ตลอดจนทำให้วงการแพทย์เองยอมรับแพทย์ด้านนี้ยิ่งขึ้น
คุณหมอมุ่งมั่นที่จะเพิ่มจำนวนแพทย์ด้านอาชีวเวชศาสตร์ที่มีความปรารถนาดีให้มีมากขึ้นในสังคมญี่ปุ่น ขณะเดียวกัน ต้องการทำให้บริษัทที่กฎหมายไม่ได้บังคับให้มีแพทย์ประจำได้เห็นความสำคัญของแพทย์เหล่านี้ ที่สามารถช่วยเหลือพนักงานของพวกเขาและเปิดใจรับแพทย์ด้านนี้ยิ่งขึ้น
หากเริ่มทำธุรกิจโดยหวังกำไร คลินิกดังเช่น Vision Partner คงไม่เกิดขึ้น
แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนวิธีคิดของผู้คน คุณหมอจึงตัดสินใจเปิดคลินิก ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างแพทย์ฝีมือดีเข้ามา ทำให้คนไข้และบริษัทได้เห็นผลลัพธ์ที่ดี
การเปิดคลินิกในช่วง COVID-19 นี้ อาจเป็นก้าวเล็กๆ ที่ก้าวออกไปลำบากมาก แต่ด้วย Vision ที่งดงาม และความมุ่งมั่นที่จะปฏิวัติทัศนคติของผู้คนต่ออาชีพตน คุณหมอโอบายาชิก็ค่อยๆ ก้าวเดินต่อไป