13 สิงหาคม 2021
2 K

เมื่อวิกฤตการณ์โรคระบาดตบเท้าเยือนประเทศไทย ทุกคน ทุกกิจการ และทุกผู้ประกอบการ ล้วนรับผลกระทบ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เป็นสายพานหลักของประเทศ วินาทีนี้ผู้คนโหยหาการเดินทางมากที่สุด

เราเองก็อาศัยการเดินทางนี่แหละ คลายความหมองเศร้าท่ามกลางสถานการณ์สีเทา ตอนนั้นวัคซีนยังไม่ปักลงที่แขนซ้ายเลย เราตัดสินใจข้ามโลกมาลงที่จังหวัดไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น เป็นครั้งแรกที่มาเยือนต่างประเทศโดยไม่ต้องใส่แมสก์ (ในช่วงนี้) ตื่นเต้นเหมือนกันนะ เรานัดกับ ยูกิ ไกด์ท้องถิ่นให้พาทัวร์อากิฮาบาระ

แม้ภาษาอังกฤษจะได้บ้าง ภาษาญี่ปุ่นไม่ได้เลย ก็ยังเป็นทริปที่สนุกมาก ยูกิแนะนำอนิเมะ มังงะ และสารพัดตู้เกม เปิดโลกมาก! เป็นวัฒนธรรมใหม่ที่เราเพิ่งเข้าถึง แถมก่อนจากกันเขาก็สอนภาษาญี่ปุ่นฉบับเอาตัวรอดให้ด้วย ความน่าเอ็นดูของไกด์คนนี้ก็ดันพูดภาษาไทยได้คล่อง อย่างคำว่า สบาย ใจเย็น ต้มยำกุ้ง (ยูกิชอบเป็นการส่วนตัว)

ส่วนค่าเสียหายของทริปทัวร์อากิฮาบาระก็ราว 900 บาท ใช้เวลาประมาณ 45 นาที ราคาที่ว่ายังไม่รวมการเดินทางนะ เพราะมันราคา 0 บาท-ใช่ เราเดินทางไปญี่ปุ่นโดยไม่เสียเงินสักบาท และทุกอย่างเกิดขึ้นใน ‘บ้าน’

ซื้อเห็ดป่า ข้าวหมาก ปลาร้าสับ ผ่าน Virtual Tour ที่ให้คุณเดินตลาดออนไลน์ในยุคโควิด-19

เราเดินทางผ่านหน้าจอ โดยอาศัยการท่องเที่ยวเสมือน หรือ Virtual Tour เทคโนโลยีที่เป็นทางรอดในวันที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังไม่มีทางเลือก บริษัทชื่อดังระดับโลกก็เลือกการท่องเที่ยวเสมือนมาแก้ปัญหางดการเดินทาง ทั้ง Google Art & Culture , Amazon หรือ Airbnb เองก็พลิกวิกฤตเป็นโอกาส จากเดิมจัด Experiences กับคนในท้องที่ ก็เปลี่ยนเป็น Online Experiences แทน 

และอีกหนึ่งการปรับตัวที่สร้างสรรค์ คือบริษัทนำเที่ยวประเทศนิวซีแลนด์ สร้าง Cooee! แพลตฟอร์มไกด์ออนไลน์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือไกด์ท้องถิ่นให้มีรายได้ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 

การท่องเที่ยวเสมือน เทคโนโลยีที่จะทำให้การท่องเที่ยวและธุรกิจท้องถิ่นจับมือกันรอดพ้นวิกฤตการณ์โควิด-19

และที่น่าดีใจ ประเทศไทยก็เกิดพื้นที่สร้างสรรค์แบบนั้นแล้วเช่นกัน กระซิบก่อนเลยว่า การช้อปปิ้งของคุณจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เราภูมิใจนำเสนอ ‘เดินตลาดออนไลน์’ กับ ตลาดบ้านป่า ความรู้สึกตอนคุณจับจ่ายสินค้าลงตะกร้า จะไม่เหมือนกับตอนที่คุณเลือกซื้อของบนแอปพลิเคชันสีส้มที่มีนักฟุตบอลมาเป็นพรีเซนเตอร์อย่างแน่นอน 

ก่อนหน้าที่ตลาดบ้านป่าจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาด / มาตรการของรัฐ พ่อค้า-แม่ค้า จะเดินทางมาเปิดตลาดที่สวนเงินมีนา ซึ่งจุดประสงค์ของตลาดออนไลน์ก็เพื่อให้สมาชิกจากเครือข่ายสมัชชาคนจน สมาคมวิถีชนบท มีรายได้หล่อเลี้ยงตนเองและครอบครัว ตลาดบ้านป่าจะเปิดแผงเดือนละ 1 ครั้ง ผ่านโปรแกรม ZOOM และถ่ายทอดสดผ่านเพจเฟซบุ๊ก ตลาดบ้านป่า peasant market ขาช้อปอินบ็อกซ์เพื่อขอ Invitation เข้าตลาดได้

ซื้อเห็ดป่า ข้าวหมาก ปลาร้าสับ ผ่าน Virtual Tour ที่ให้คุณเดินตลาดออนไลน์ในยุคโควิด-19

ภายในตลาดออนไลน์จะมีผู้จัด ผู้ประกอบการท้องถิ่น (อาทิ บุรีรัมย์ นครสวรรค์ พัทลุง บึงกาฬ กาญจนบุรี ชุมพร ฯลฯ) และลูกค้า ตลอดระยะเวลา 2 ชั่วโมงเศษในการเดินตลาดผ่านหน้าจอ จะมีรายการคั่นสลับให้ตื่นตาตื่นใจ ช่วงแรกเป็นการแนะนำตลาด ต่อด้วยการยกเวทีให้พ่อค้า-แม่ค้ามาพรีเซนต์สินค้าของดีบ้านเกิด เช่น จักสาน น้ำผึ้งแท้เขาบรรทัด จิ้งหรีด เห็ดเผาะ ชาไม้ฝาง เขียดแห้ง ยาดมสมุนไพร ข้าวหมาก ปลาร้าสับ ด้วงสาคู ฯลฯ ผู้ขายบางบ้านก็ยกทั้งครอบครัวมาร่วมแจมหน้าจอ และแนะเคล็ดลับในการประกอบอาหารป่าให้ด้วย รับรองอร่อยเด็ดดวง!

ส่วนช่วงที่เราชอบมาก และไม่เหมือนการช้อปปิ้งออนไลน์ที่ไหนบนโลก คือ ผู้จัดจะให้ผู้ขายมาเล่าเรื่องราววิถีชีวิตในท้องถิ่นที่ตนอยู่ มีทั้งวัตถุดิบ วิธีประกอบอาหารป่า วิถีตลาดชุมชน จนถึงหัวข้อ ‘วิถีชีวิตปัจจุบันกับการหาอยู่หากินในป่าสาธารณะ ประโยชน์กับกฎหมายที่ไม่เข้าใจวิถีชีวิต และรายได้ที่หายไปในอนาคต’ เราเคยดูย้อนหลัง เขากำลังสนทนากันเรื่อง ‘เห็ดท้องถิ่น’ นับรวมเห็ดป่าด้วย แต่ละบ้านจะมาแชร์เรื่องเห็ดในพื้นที่ของตัวเอง แล้วผู้จัดก็เชิญอาจารย์จากภาควิชาการจัดการป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาให้ความรู้เพิ่มด้วย

ซื้อเห็ดป่า ข้าวหมาก ปลาร้าสับ ผ่าน Virtual Tour ที่ให้คุณเดินตลาดออนไลน์ในยุคโควิด-19

กิจกรรมเดินตลาดออนไลน์ของตลาดบ้านป่า จัดมาแล้ว 3 ครั้ง แสดงให้เห็นว่าการเดินตลาดทิพย์ก็เป็นอีกตัวเลือกให้ผู้ประกอบการเล็กจิ๋วยังมีทางรอด แม้จะนำเสนอแบบ Virtual Tour ผ่านโปรแกรม ZOOM และสนับสนุนโลคอลเหมือนตอนที่เราทัวร์อากิฮาบาระ แต่ก็มีความต่างตรงที่ตลาดนัดออนไลน์เชื่อมคนต้นน้ำกับปลายน้ำมาเจอกัน

ผู้บริโภคได้เห็นกับตาว่าของที่เรากำลังจะอุดหนุน มีที่มาที่ไปอย่างไร และสิ่งที่เป็นประโยชน์มากสำหรับคนเมืองอย่างเรา คือการเห็นความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น แถมผู้จัดยังชวนผู้บริโภคมีส่วนร่วม ด้วยการจัดประกวดเมนูอาหารจากวัตถุดิบในตลาดบ้านป่า เพื่อชิงโชคคูปองแทนเงินสดสำหรับใช้จ่ายในตลาด ถ้าเราเป็นพ่อค้า-แม่ขาย คงมีแต่รอยยิ้ม ที่ได้เห็นวัตถุดิบจากความตั้งใจลงไปอยู่ในจานข้าวของคนที่สนับสนุนพวกเขา

การเดินตลาดออนไลน์พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีในการช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารออนไลน์ของชาวบ้าน และเป็นอีกหนึ่งช่องทางกระจายรายได้สู่ผู้คนและชุมชน ให้ดำรงชีพและก้าวพ้นสถานการณ์โควิด-19 ตอนนี้ไปได้ ซึ่งหลายสำนักก็ทำนายว่า Virtual Tour จะกลายเป็นหมุดหมายใหม่ของการท่องเที่ยว

ซื้อเห็ดป่า ข้าวหมาก ปลาร้าสับ ผ่าน Virtual Tour ที่ให้คุณเดินตลาดออนไลน์ในยุคโควิด-19

ณ ตอนนี้สถานการณ์ไม่ยักจะดีขึ้นในเร็ววัน เราคงฟันธงไม่ได้ว่า ‘พวกเรา’ จะออกเดินทางอีกครั้งได้เมื่อไหร่ แต่อย่าเพิ่งคอตก ถอนหายใจ หรือเก็บหนังสือเดินทางใส่ลิ้นชักช่องลึกสุด ขึ้นชื่อว่าปัญหา ย่อมมีทางออกเสมอ

เราเชื่อว่ามนุษย์เก่งเรื่องเอาตัวรอด สถานการณ์นี้ก็เช่นกัน อย่าง Virtual Tour ก็กลายเป็นฮีโร่ในวิกฤตที่คนทั้งโลกต้องติดแหง่กอยู่กับบ้าน เทคโนโลยีเข้ามาเชื่อมคน มิตรภาพ วัฒนธรรมเข้าด้วยกัน-นั่นคือสิ่งที่เราได้ ส่วนทักษะการปรับตัวและความกล้าหาญที่จะเปลี่ยนแปลงธุรกิจ-นั่นคือสิ่งที่ผู้ประกอบการได้ แต่นั่นครบวงจรแล้วหรือ?

‘ทัวร์นำเที่ยว ไกด์ชุมชน คาเฟ่ ร้านอาหารท้องถิ่น ยันพ่อค้าแม่ขาย’ ฟันเฟืองเล็กๆ ที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เหล่านี้ก็สำคัญไม่แพ้วงล้อใหญ่ๆ ที่เราควรหันกลับมาให้ความสำคัญและสนับสนุนกิจการท้องถิ่นด้วยใจจริง จะด้วย Virtual Tour หรือกลวิธีใดก็ตาม จับมือกันทั้งเราและเขา ให้การเดินทางครั้งนี้ไปถึงจุดหมายปลายทางด้วยกัน

จงพาฟันเฟืองเล็กๆ เหล่านี้ ขับเคลื่อนไปพร้อมกับคุณและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 

และในฐานะนักเดินทาง จงอย่าลืมพวกเขา 

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก