แม้ขณะนี้พิพิธภัณฑ์หลายแห่งทั่วโลกปิดทำการ เพื่อตอบรับนโยบายลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 แต่ผู้สนใจยังเข้าชมโบราณวัตถุและงานศิลปะได้ตามช่องทางออนไลน์จำนวนมากที่มีให้บริการอยู่ตอนนี้

ก่อนหน้าเกิดการระบาด พิพิธภัณฑ์หลายแห่งพัฒนาพื้นที่ออนไลน์เพื่อใช้เป็นช่องทางเผยแผ่องค์ความรู้สู่ประชาชนทั่วโลกมานานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ British Museum พิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ในย่าน Bloomsbury กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ซึ่งก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1753 

นอกจากเป็นพื้นที่เรียนรู้ของประชาชนทั่วไปแล้ว พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังเป็นศูนย์กลางการวิจัยด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ด้วยการเป็นสถานที่เก็บรักษาโบราณวัตถุกว่าแปดล้านชิ้น ครอบคลุมห้วงเวลากว่า 2 ล้านปี  

บริติช มิวเซียม พยายามพัฒนาพื้นที่ออนไลน์ให้น่าสนใจตลอดเวลา เพราะนอกจากเป็นทางเลือกให้บุคคลทั่วไปได้เห็นโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์โดยไม่ต้องเดินทางมาด้วยตัวเองแล้ว ยังเป็นช่องทางนำเสนอความรู้ใหม่ๆ สู่สาธารณชนที่สะดวกและรวดเร็วอีกด้วย

8 สมบัติล้ำค่าจากทั่วโลกใน British Museum ที่เข้าไปชมชัดๆ ได้ทางออนไลน์
ด้านหน้าบริติช มิวเซียม จาก Google Street View

ช่องทางออนไลน์หนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันดีก็คือ Google Street View ครับ แค่มีอินเทอร์เน็ตเราก็เดินชมบริติช มิวเซียม ผ่าน Google Street View ได้ เพียงใส่คำว่า British Museum ในช่องค้นหาของ Google Maps 

เมื่อยกเจ้า Pegman มาวางบริเวณตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ เราจะเห็นแนวเส้นสีฟ้าลากเป็นเส้นทางให้เรากดเดินตามไปรอบๆ ยิ่งถ้าเข้าชมผ่านเว็บไซต์ Google Arts and Culture เรายังเลือกเส้นทางตามทัวร์ที่คัดเป็นไฮไลต์ไว้ก่อนแล้วได้อีกต่างหาก

วันนี้เราจะมาลองเดินดูรอบๆ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้กันครับว่า มีโบราณวัตถุชิ้นไหนที่น่าสนใจบ้าง 

01 มัมมี่น้องแมว : สิ่งบูชาเทพเจ้าอียิปต์

(อียิปต์ในยุคโรมัน ปี 30 ก่อนคริสตกาล – ค.ศ. 641) ห้องโบราณวัตถุอียิปต์ ชั้น 3 
8 สมบัติล้ำค่าจากทั่วโลกใน British Museum ที่เข้าไปชมชัดๆ ได้ทางออนไลน์
มัมมี่แมวในตู้จัดแสดงมัมมี่สัตว์จากอารยธรรมอียิปต์โบราณ

ในสมัยอียิปต์โบราณ นอกจากเก็บรักษาศพมนุษย์ด้วยการทำมัมมี่แล้ว ยังมีการทำมัมมี่สัตว์ สัตว์เลี้ยงจำพวกสุนัข แมว และนก ถูกทำเป็นมัมมี่และบรรจุลงในสุสานเดียวกับเจ้าของ เพื่อให้ไปอยู่ร่วมกันในปรโลก มัมมี่สัตว์จำนวนมากเป็นเครื่องบูชาประกอบการสักการะแสวงบุญ สัตว์ที่อยู่ในจำพวกเครื่องบูชาเพื่อการแสวงบุญนี้ ส่วนใหญ่มีความเชื่อมโยงกับเทพเจ้า เช่น แมวสำหรับเทพ Bastet นกไอบิสสำหรับเทพ Thoth 

8 สมบัติล้ำค่าจากทั่วโลกใน British Museum ที่เข้าไปชมชัดๆ ได้ทางออนไลน์
มัมมี่แมว 3 ชิ้น ข้างๆ กันคือมัมมี่ปลา

เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วเพิ่งมีการค้นพบมัมมี่แมวจำนวนสิบกว่าชิ้นในสุสานใกล้พีระมิดขั้นบันไดในเมือง Saqqara ในอดีตกิจกรรมแสวงบุญที่มีการประเคนมัมมี่สัตว์เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จนถึงขั้นศาสนสถานบางแห่งต้องสร้างฟาร์มสัตว์ขึ้นเอง เพื่อผลิตมัมมี่มาวางขายเหล่าผู้ศรัทธา 

การทดลองสแกนมัมมี่สัตว์บางชนิดชี้ให้เห็นว่ามัมมี่บางชิ้นไม่ได้ทำขึ้นจากสัตว์ทั้งตัว แม้รูปทรงภายนอกตรงกับสัตว์ชนิดนั้นๆ การค้นพบนี้ทำให้เรามองเห็นแง่มุมหลากหลายเกี่ยวกับมัมมี่สัตว์ เช่น ความเป็นไปได้ที่สัตว์บางชนิดได้รับความนิยมจนขาดตลาด จึงต้องแบ่งชิ้นส่วนมาทำมัมมี่ หรือมีการทุจริตในกระบวนการผลิตมัมมี่ เนื่องจากผู้ศรัทธาไม่น่าแกะผ้าห่อเพื่อตรวจดูว่ามีมัมมี่สัตว์ทั้งตัวจริงๆ (เหมือนการโกงถังสังฆทานในปัจจุบัน) 

อ่านเพิ่มเติมเรื่องมัมมี่สัตว์ได้ที่นี่ และที่นี่

02 ศิลาโรเซตตา (Rosetta Stone) : จารึกที่ไขปริศนาภาษาอียิปต์โบราณ

(ปี 196 ก่อนคริสตกาล) ห้องศิลปวัตถุอียิปต์ขนาดใหญ่ ชั้น G
8 สมบัติล้ำค่าจากทั่วโลกใน British Museum ที่เข้าไปชมชัดๆ ได้ทางออนไลน์
ศิลาโรเซตตาในตู้กระจกกลางห้องจัดแสดง

ศิลาโรเซตตาเป็นศิลาจารึกบนหินแกรนิต ความสูงประมาณ 1 เมตร บนผิวด้านหนึ่งปรากฏจารึกแบ่งเป็น 3 ส่วน แต่ละส่วนบันทึกข้อความเดียวกัน ส่วนล่างสุดเป็นภาษากรีกโบราณ เขียนด้วยอักขระกรีก ที่เหลือ 2 ส่วนคือส่วนกลางและส่วนบนสุดเป็นภาษาอียิปต์โบราณยุคปลาย แต่เขียนด้วยอักขระ 2 แบบ จารึกส่วนกลางใช้อักษรเดโมติก (Demotic) ซึ่งเป็นอักษรทั่วไปที่ใช้เขียนภาษาอียิปต์โบราณยุคปลาย ร่วมสมัยกับภาษากรีกในช่วงราชวงศ์ปโตเลมี 

อักษรเดโมติกเป็นอักษรที่พัฒนามาจากอักษรภาพตัวย่อ (Hieratic) ซึ่งพัฒนาอีกทอดหนึ่งมาจากอักษรภาพตัวเต็ม (Hieroglyphs) ที่เรามักจะเห็นบ่อยครั้งเมื่อมีการพูดถึงอักขระในสมัยอียิปต์โบราณ อักษร Hieroglyphs นี้เองที่ใช้จารึกข้อความในส่วนบนสุดของศิลาโรเซตตา 

เพราะศิลาโรเซตตาบันทึกข้อความเดียวกันด้วยอักขระ 3 แบบนี้เอง นักอียิปต์วิทยาในสมัยศตวรรษที่ 19 จึงถอดความภาษาอียิปต์โบราณซึ่งเป็นภาษาที่ตายไปแล้วได้ในที่สุด โดยอาศัยการเปรียบเทียบคำนามจำพวกชื่อคนหรือสถานที่จากข้อความภาษากรีก ซึ่งเป็นภาษาโบราณที่นักวิชาการยุโรปเข้าถึงแล้วในขณะนั้น

8 สมบัติล้ำค่าจากทั่วโลกใน British Museum ที่เข้าไปชมชัดๆ ได้ทางออนไลน์
ห้องศิลปวัตถุอียิปต์ขนาดใหญ่ ชั้น G

จารึกบนศิลาโรเซตตาเป็นประกาศการขึ้นครองราชย์ครบรอบหนึ่งปีของฟาโรห์ปโตเลมีที่ 5 แห่งราชวงศ์ปโตเลมี (ครองราชย์ 204 – 181 ก่อนคริสตกาล) ราชวงศ์สุดท้ายที่ปกครองยุคสมัยที่นักประวัติศาสตร์นับว่าเป็นยุคอียิปต์โบราณ สถาปนาขึ้นโดย ปโตเลมี โซเตอร์ (Ptolemaios Soter) หนึ่งในแม่ทัพคนสำคัญของกษัตริย์อเล็กซานเดอร์มหาราช 

เมื่ออเล็กซานเดอร์สวรรคตอย่างกะทันหันที่นครบาบิโลน หลังจากแผ่ขยายอำนาจจากคาบสมุทรกรีกมายังอียิปต์และต่อไปไกลจนถึงเทือกเขาฮินดูกูช แม่ทัพผู้มีอิทธิพลจึงแบ่งดินแดนทั้งหมดนี้เป็นส่วนๆ โดยแต่ละคนแยกกันไปปกครองดินแดนส่วนแบ่งของตนเอง 

ปโตเลมี โซเตอร์ กลับมาสถาปนาครองอเล็กซานเดรีย เมืองหลวงของดินแดนบนลุ่มแม่น้ำไนล์เป็นศูนย์กลางทางการค้าและวัฒนธรรมในภูมิภาคทะเลเมดิเตอร์เรเนียนฝั่งตะวันออกกว่า 300 ปี บุคคลทางประวัติศาสตร์ในราชวงศ์ปโตเลมีที่มีชื่อเสียง คงหนีไม่พ้นพระนางคลีโอพัตราที่ 7 นั่นเอง 

03 รูปสลักบนหน้าบันและเชิงหลังคามหาวิหารพาร์เธนอน : ศิลปะกรีกคลาสสิกที่ชาวกรีซหวงแหน

(ช่วงปี 440 ก่อนคริสตกาล) ชั้น G
8 สมบัติล้ำค่าจากทั่วโลกใน British Museum ที่เข้าไปชมชัดๆ ได้ทางออนไลน์
รูปสลักบนหน้าบันฝั่งทิศตะวันออก ณ มหาวิหารพาร์เธนอน

ในวงการโบราณคดี รูปสลักบนหน้าบันและเชิงหลังคาของมหาวิหารพาร์เธนอนเป็นกลุ่มศิลปวัตถุที่รู้จักกันดีในฐานะข้อพิพาทใหญ่ระดับสากล เพราะเป็นกลุ่มศิลปวัตถุที่รัฐบาลสาธารณรัฐเฮลเลนิก (กรีซ) เรียกร้องให้บริติช มิวเซียม ส่งกลับมาเก็บรักษาไว้ที่นครเอเธนส์ดังเดิม 

เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อต้นศตวรรษที่ 19 ลอร์ดเอลกิน (Lord Elgin) เอกอัครราชทูตบริเตน ณ นครอิสตันบูล จักรวรรดิออตโตมัน เคลื่อนย้ายชิ้นส่วนรูปสลักจำนวนหนึ่งจากซากวิหารซึ่งตั้งอยู่บนยอดเนินอะโครโพลิส (Acropolis) กลางเมืองเอเธนส์ (ขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองขององค์สุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมัน) มาจัดแสดง ณ กรุงลอนดอน เมื่อกรีซประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการจากจักรวรรดิออตโตมันใน ค.ศ. 1829 รูปสลักเหล่านี้จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการสร้างเอกลักษณ์ประจำชาติของสาธารณรัฐกรีซ และมีความสำคัญในบริบททางการเมืองตลอดมา

8 สมบัติล้ำค่าจากทั่วโลกใน British Museum ที่เข้าไปชมชัดๆ ได้ทางออนไลน์
ห้องจัดแสดงรูปสลักจากมหาวิหารพาร์เธนอน
8 สมบัติล้ำค่าจากทั่วโลกใน British Museum ที่เข้าไปชมชัดๆ ได้ทางออนไลน์
รูปสลักจากเชิงหลังคาฝั่งทิศเหนือ แสดงรูปขบวนม้าฉลองเทศกาล Panathenaic

รูปสลักบนหน้าบันและเชิงหลังคามหาวิหารพาร์เธนอนเป็นตัวอย่างชิ้นสำคัญของงานศิลปะกรีกยุคคลาสสิก ที่มุ่งเสนอความสมดุลระหว่างองค์ประกอบหลัก 3 อย่าง ได้แก่ รูปร่างมนุษย์ อิริยาบถความเคลื่อนไหว และลักษณะของเครื่องแต่งกาย ซึ่งต่างจากศิลปะแบบเฮลเลนิสติก (Hellenistic) ในยุคถัดมาที่เน้นการแสดงอารมณ์ 

ปัจจุบันมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ใช้การฉายรังสีอัลตราไวโอเลตและอินฟราเรดลงบนพื้นผิวของรูปสลักและชิ้นส่วนทางสถาปัตยกรรมสมัยกรีกโบราณ เพื่อเผยให้เห็นเม็ดสีที่ยังหลงเหลืออยู่ เกิดเป็นข้อสรุปที่ว่า แท้จริงแล้ว โลกศิลปะในสมัยกรีกโบราณเต็มไปด้วยสีสันที่สลับซับซ้อน ต่างจากภาพความเข้าใจในปัจจุบันที่มาจากการพบเห็นงานศิลปะกรีกที่สีสันต่างๆ ได้หลุดลอกออกหมดแล้วจนเหลือแต่เนื้อหินสีขาว

ดูภาพจำลองรูปสลักกรีกโบราณแบบมีสีสันสมบูรณ์ที่เว็บไซต์นิทรรศการพิเศษของ Liebieghaus นครแฟรงค์เฟิร์ตที่นี่

04 หมวกเหล็กจาก Sutton Hoo : กรุสมบัติที่เปลี่ยนภาพจำ ‘ยุคมืด’ ไปโดยสิ้นเชิง

(ค.ศ. 600 – 650) ห้องโบราณวัตถุจากแหล่งโบราณคดี Sutton Hoo ชั้น 3
8 สมบัติล้ำค่าจากทั่วโลกใน British Museum ที่เข้าไปชมชัดๆ ได้ทางออนไลน์
หมวกเหล็กจากแหล่งโบราณคดี Sutton Hoo

หมวกเหล็กที่เห็นในภาพเป็นส่วนหนึ่งของกรุสมบัติที่เรียกรวมๆ กันว่ากรุสมบัติจาก Sutton Hoo (อ่านว่า ซัต-ทัน-ฮู) กรุสมบัติขนาดใหญ่สมัยยุคกลางตอนต้นที่ขุดพบโดยบังเอิญใน ค.ศ. 1939 ที่เทศมณฑลซัฟโฟล์ก (Suffolk) ประมาณ 160 กม. ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงลอนดอน 

คุณป้าเอดิธ พริตตี้ (Edith Pretty) เจ้าของที่ดินในขณะนั้น ว่าจ้างให้นาย เบซิล บราวน์ (Basil Brown) ผู้ช่วยนักโบราณคดีที่พิพิธภัณฑ์ในเมืองอิปสวิช (Ipswich) ลองมาขุดค้นเนินดินจำนวนหนึ่งภายในเขตที่ดินของคุณป้า ระหว่างการขุดค้นครั้งแรกใน ค.ศ. 1938 บราวน์พบโบราณวัตถุจำนวนเพียงเล็กน้อย แต่ในการขุดค้นครั้งถัดมาใน ค.ศ. 1939 บราวน์พบซากเรือความยาว 27 เมตร และสมบัติจำนวนมาก ถือเป็นการค้นพบโบราณวัตถุจากสมัยยุคกลางตอนต้นในเกาะอังกฤษที่ใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยมีมา

8 สมบัติล้ำค่าจากทั่วโลกใน British Museum ที่เข้าไปชมชัดๆ ได้ทางออนไลน์
ตู้จัดแสดงสมบัติโบราณจากแหล่งโบราณคดี Sutton Hoo

แซม เพื่อนนักเรียนปริญญาเอกสายโบราณคดียุคกลางตอนต้นในอังกฤษ เล่าให้ฟังคร่าวๆ ว่า การค้นพบที่ Sutton Hoo นอกจากทำให้ภาพความเข้าใจเรื่องสังคมยุคกลางหลังการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตกเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงแล้ว ยังทำให้สังคมอังกฤษในขณะนั้นเกิดความตื่นตัวเรื่องโบราณคดี จนนำไปสู่การพัฒนาแนวคิดและวิธีการทางโบราณคดีในเชิงวิชาการอีกด้วย

กรุสมบัติ Sutton Hoo เต็มไปด้วยโลหะและอัญมณีมีค่าที่ผ่านการผลิตจากช่างฝีมือผู้ชำนาญ เป็นหลักฐานว่าเทคโนโลยีและวัฒนธรรมชั้นสูงไม่ได้หายไปหลังการล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน จนกลายเป็น ‘ยุคมืด’ อย่างที่เคยเรียกขานกันติดปาก ในทางกลับกัน เทคโนโลยีต่างๆ ยังคงอยู่และมีการแลกเปลี่ยนกันในระดับภูมิภาค แทนที่จะโยงเข้าสู่ศูนย์กลางอย่างในสมัยโรมัน

อ่านเพิ่มเติมเรื่องการค้นพบที่ Sutton Hoo ที่นี่

05 ภาพสลักรูปนูนต่ำจากพระราชวังต่างๆ ในจักรวรรดิอัสซีเรีย : หลักฐานอาณาจักรโบราณที่รอดพ้นจากการทำลายของกลุ่ม IS

(ศตวรรษที่ 9 – 7 ก่อนคริสตกาล) ชั้น G 
8 สมบัติล้ำค่าจากทั่วโลกใน British Museum ที่เข้าไปชมชัดๆ ได้ทางออนไลน์
ภาพสลักรูปนูนต่ำจากท้องพระโรงในพระราชวังนครคัลฮู

ภาพสลักนูนต่ำที่จัดแสดงอยู่ที่บริติช มิวเซียมนี้ ชะลอมาจากพระราชวัง 4 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองหลวงในยุคต่างๆ ของจักรวรรดิอัสซีเรีย ได้แก่ คัลฮู (Kalhu) ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อที่ปรากฏในพระคัมภีร์ไบเบิล คือนิมรูด (Nimrud) ดูร์-ชาร์รูคีน (Dur-Sharrukin) และ นีนูอา (Ninua) ในพระคัมภีร์นิเนเวห์ (Nineveh) 

ประมาณ 800 ปีก่อนคริสตกาล จักรวรรดิอัสซีเรียพัฒนาจากนครรัฐที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองอัชชูร์ (Ashur) ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำไทกริส บริเวณภาคเหนือของประเทศอิรักในปัจจุบัน กลายเป็นจักรวรรดิที่มีอำนาจทางการเมืองครอบคลุมทั่วทั้งพื้นที่ลุ่มแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติส เรื่อยไปทางตะวันตกจนถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ก่อนจะเสียอำนาจให้กับกลุ่มการเมืองที่มีศูนย์กลางที่เมืองบาบิโลน ทางตอนกลางของประเทศอิรัก ในอีกประมาณ 300 ปีถัดมา

แม้ไม่ได้รับการบำรุงรักษาที่เหมาะสมมากว่า 2,000 ปี แต่ภาพสลักนูนต่ำหลายชิ้นยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์มาก ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นร่องรอยของสีสันบนภาพสลักที่เคยประดับอยู่ ณ ท้องพระโรงที่พระราชวังในนครคัลฮู และรายละเอียดสีหน้าอิริยาบถของสิงโตหลายสิบตัวที่อยู่บนภาพสลักเรื่องประเพณีการล่าสิงโตของราชสำนักอัสซีเรียจากพระราชวังในนครนีนูอา

8 สมบัติล้ำค่าจากทั่วโลกใน British Museum ที่เข้าไปชมชัดๆ ได้ทางออนไลน์
ร่องรอยของสีบนภาพสลักรูปนูนต่ำจากท้องพระโรงในพระราชวังนครคัลฮู
8 สมบัติล้ำค่าจากทั่วโลกใน British Museum ที่เข้าไปชมชัดๆ ได้ทางออนไลน์
ประเพณีล่าสิงโตของราชสำนักอัสซีเรีย

น่าเสียดายที่บางส่วนของโบราณสถานเหล่านี้ถูกทำลายไปในเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศอิรัก เหตุการณ์นี้นอกจากทำให้เราตั้งคำถามถึงบทบาทหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์และอาชีพนักโบราณคดีแล้ว ยังคอยย้ำเตือนให้เราระลึกอยู่เสมอว่า การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมมีมิติทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างชัดเจน 

ฟังอาจารย์ ดร. มาร์ติน เวิร์ธธิงตัน (Martin Worthington) อ่านออกเสียงจารึกภาษาบาบิโลนที่สลักคาดกลางรูปภาพต่างๆ บนแผ่นหินรอบท้องพระโรงพระราชวังนครคัลฮูได้ที่นี่ (ต้องลงทะเบียนกับ BBC)

06 ภาพสลักรูปการกรีดเลือดบูชายัญจากอารยธรรมมายัน : พิธีสร้างความเจ็บปวดของอาณาจักรโบราณ

(ค.ศ. 700 – 750) ห้องศิลปวัตถุจากอเมริกากลาง ชั้น G
8 สมบัติล้ำค่าจากทั่วโลกใน British Museum ที่เข้าไปชมชัดๆ ได้ทางออนไลน์
ภาพสลักรูปพระนาง K’abal Xook กรีดเลือดจากลิ้นตัวเอง

หินแกะสลักรูปการกรีดเลือดบูชายันนี้มาจากนครโบราณ Yaxchilan ปัจจุบันตั้งอยู่ในรัฐเชียปัส (Chiapas) ทางตอนใต้ของประเทศเม็กซิโก พิธีกรรมการกรีดเลือดนี้เป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ที่ปฏิบัติกันในหมู่ชนชั้นผู้ปกครอง ภาพสลักนี้แสดงรูปของสตรีชั้นสูงนามว่า K’abal Xook กำลังดึงเชือกที่มีหนามพันอยู่โดยรอบให้ทะลุผ่านลิ้นของนาง
พิธีกรรมที่มีขั้นตอนการทรมานร่างกายให้เกิดความเจ็บปวดหรือสูญเสียโลหิต ทั้งแบบที่เกิดกับผู้นำการประกอบพิธีกรรมเองหรือกับผู้ที่ถูกนำมาบูชายัญ เป็นพิธีกรรมสำคัญตามคติความเชื่อแบบมายันโบราณที่มีบทบาททางการเมืองการปกครอง 

ในทางจิตวิทยา การทรมานตนเองให้เจ็บปวดถึงขีดสุดอาจนำไปสู่สภาวะหลุดพ้น (Transcendental Experience) ทำให้ผู้ปฏิบัตินำประสบการณ์จากสภาวะดังกล่าวมาใช้สร้างอัตลักษณ์และความชอบธรรมเหนือผู้อื่น ที่ไม่ได้รับโอกาสหรือปฏิบัติกิจกรรมลักษณะนี้ไม่ได้ 

ในกรณีของพิธีกรรมการกรีดเลือดนี้ หลักฐานทางโบราณคดีค่อนข้างสอดคล้องกับทฤษฎีดังกล่าว เพราะหินแกะสลักชิ้นที่อยู่ถัดจากภาพการดึงเชือกหนามทะลุลิ้น แสดงภาพพระนาง K’abal Xook มองเห็นภาพนิมิตเป็นเทพเจ้าที่มีร่างเป็นอรพิษลอยขึ้นจากชามที่ใช้รองเลือดของพระนางเอง

8 สมบัติล้ำค่าจากทั่วโลกใน British Museum ที่เข้าไปชมชัดๆ ได้ทางออนไลน์
พระนาง K’abal Xook เกิดนิมิตหลังจากการกรีดเลือด

อารยธรรมมายันเป็นอารยธรรมโบราณในแถบอเมริกากลาง มีศูนย์กลางบริเวณคาบสมุทรยูคาทาน และมีอิทธิพลเหนือดินแดนที่ในปัจจุบันคือประเทศฮอนดูรัส เบลีซ กัวเตมาลา และบริเวณภาคใต้ของเม็กซิโก เมื่อไม่นานมานี้เริ่มมีการนำเทคโนโลยีการสแกนภาพสามมิติของภูมิประเทศโดยใช้ลำแสงเลเซอร์ (LiDAR) มาตรวจหาซากโบราณสถานและร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ในบริเวณที่นักโบราณคดีเดินทางมาสำรวจได้ยาก เมื่อ ค.ศ. 2018 มีการรายงานการค้นพบสิ่งปลูกสร้างโบราณจำนวนกว่า 60,000 แห่งกลางป่าฝนในประเทศกัวเตมาลา

อ่านเรื่องการค้นพบเมืองโบราณในกัวเตมาลาด้วยเทคโนโลยี LiDAR ได้ที่นี่

07 ผนังกระเบื้องเคลือบลายสิงโตจากนครบาบิโลน : ชิ้นส่วนกำแพงเมืองของนครสวนลอยฟ้า

(ต้นศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล) ห้องโบราณวัตถุเมโสโปเตเมีย ชั้น 3
8 สมบัติล้ำค่าจากทั่วโลกใน British Museum ที่เข้าไปชมชัดๆ ได้ทางออนไลน์
สิงโตสีเหลืองสดบนพื้นหลังสีลาพิส ลาซูลี จากนครบาบิโลน

ชิ้นส่วนผนังกระเบื้องเคลือบที่ประกอบกันเป็นรูปสิงโตนี้เป็นส่วนหนึ่งของกำแพงความยาว 180 เมตร ขนาบสองด้านของถนนใหญ่ที่ทอดยาวจนถึงประตูเมืองทางทิศเหนือของนครบาบิโลน ปัจจุบันประตูเมืองนี้เป็นที่รู้จักกันในนามประตูอิชตาร์ (Ishtar) เทพีแห่งความรักและสงครามตามคติเมโสโปเตเมีย

ซากปรักหักพังที่ขุดพบระหว่าง ค.ศ. 1902 – 1904 ย้ายมาประกอบขึ้นใหม่ที่พิพิธภัณฑ์เปอร์กามอนในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี โดยจำลองบรรยากาศเสมือนเดินเข้าสู่นครบาบิโลนในสมัยโบราณ ชิ้นส่วนกระเบื้องที่จัดแสดงอยู่ที่บริติช มิวเซียมนี้ แท้จริงแล้วยืมมาจากเบอร์ลินภายใต้ข้อตกลงแลกเปลี่ยนโบราณวัตถุเพื่อการจัดแสดงระยะยาว 

นครบาบิโลนตั้งคร่อมสองฝั่งแม่น้ำยูเฟรติส เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของอารยธรรมเมโสโปเตเมียเป็นเวลาเกือบ 2,000 ปี ณ ใจกลางเมืองเป็นที่ตั้งของมหาวิหารเอซังกิล (Esagil) มหาวิหารของเทพเจ้ามาร์ดุก (Marduk) มหาเทพองค์สำคัญในคติความเชื่อเมโสโปเตเมีย 

ทางทิศเหนือของมหาวิหารเป็นที่ตั้งของอาคารสูงคล้ายพีระมิดขั้นบันไดแบบอียิปต์โบราณ มีชื่อเรียกตามภาษาบาบิโลนว่า ซิกกูรัต (Ziqqurat แปลว่า ที่ยกสูง) ชั้นบนสุดสร้างเป็นวิหารเพื่อประกอบพิธีกรรมต่างๆ ซิกกูรัตนี้เป็นส่วนประกอบหลักของศาสนสถานขนาดใหญ่ พบเห็นได้ตามเมืองสำคัญทั่วลุ่มน้ำไทกริส-ยูเฟรติส

นครบาบิโลนนอกจากเป็นเมืองที่มีความสำคัญในภูมิภาคลุ่มน้ำไทกริส-ยูเฟรติสแล้ว ยังเป็นเมืองที่มีอิทธิพลในระดับสากล ดังที่สะท้อนให้เห็นผ่านบันทึกคำบอกเล่าของคนในอารยธรรมอื่นๆ สำหรับชาวกรีกโบราณ บาบิโลนคือมหานครที่ยิ่งใหญ่ เป็นที่ตั้งของสิ่งมหัศจรรย์ของโลกคือ สวนลอยแห่งบาบิโลน ในทางกลับกัน บาบิโลนคือสถานที่โสมมอโคจรตามความเชื่อของชาวยิวและคริสเตียน ในกลุ่มอารยธรรมที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ยังปรากฏหลักฐานคำว่า พาเวรุรัฐ  (บาเวรุ-Bāveru) ใน อรรถกถาชาดก ตอนที่ 339 ซึ่งนักวิชาการบางคนเชื่อว่าอาจหมายถึงนครบาบิโลนอีกด้วย

08 พระพุทธรูปคันธาระ : พระพุทธรูปยุคแรกของโลก

(ค.ศ. 100 – 300) ห้องศิลปะเอเชีย ชั้น 1
8 สมบัติล้ำค่าจากทั่วโลกใน British Museum ที่เข้าไปชมชัดๆ ได้ทางออนไลน์
พระพุทธรูปประทับนั่ง มีฉัพพรรณรังสีปรากฏเหนือพระเศียร

พระพุทธรูปคันธาระเป็นชื่อเรียกอย่างลำลองของกลุ่มศิลปวัตถุเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่มาจากแคว้นคันธาระ (ส่วนหนึ่งของประเทศปากีสถานและอัฟกานิสถานในปัจจุบัน) มีความสำคัญมากในฐานะพุทธศิลป์กลุ่มแรกที่สร้างรูปแทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมาในรูปของมนุษย์ ต่างจากพุทธศิลป์ในชมพูทวีปยุคแรกๆ ที่นิยมใช้สิ่งอื่นเป็นสัญลักษณ์ เช่น ต้นโพธิ์ กวางหมอบ และรอยพระพุทธบาท
หลายคนอาจตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดพระพุทธรูปในยุคแรกดูคล้ายรูปสลักจากอารยธรรมกรีกโบราณ ที่เป็นเช่นนี้เพราะดินแดนในพื้นที่เอเชียกลางระหว่างเปอร์เซียและลุ่มแม่น้ำสินธุ ทางทิศใต้ของเทือกเขาฮินดูกูช เรียกรวมๆ ว่า พาราโพมิซาเด Parapomisadae ได้รับอิทธิพลทางศิลปะจากอารยธรรมกรีก ผ่านการยกทัพเข้ายึดครองโดยกษัตริย์อเล็กซานเดอร์มหาราช ดังที่ได้เล่าไปแล้วเกี่ยวกับราชวงศ์ปโตเลมี 

เมื่ออเล็กซานเดอร์มหาราชสวรรคตอย่างกะทันหันที่นครบาบิโลน อิทธิพลของอารยธรรมกรีกในดินแดนตะวันออกกลางและเอเชียกลางไม่ได้หายไป ในทางกลับกัน การแบ่งดินแดนกันในหมู่แม่ทัพคนสนิทของกษัตริย์อเล็กซานเดอร์นำไปสู่การตกผลึกทางอำนาจในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เอเชียกลาง กลุ่มอาณาจักรเหล่านี้ยังคงเชื่อมต่อกันในฐานะส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมภาคพื้นทวีป และรุ่งเรืองเรื่อยมา จนถึงการขยายอำนาจของอิทธิพลอิสลามในคริสตศตวรรษที่ 7  

นอกจากการสร้างพระพุทธรูปโดยได้รับอิทธพลจากศิลปะกรีกแล้ว มรดกทางวัฒนธรรมจากพื้นที่เอเชียกลางที่เป็นที่รู้จักในปัจจุบัน คือพระพุทธรูปบามิยันที่โดนระเบิดทำลายไปเมื่อ ค.ศ. 2001 นั่นเอง 

8 สมบัติล้ำค่าจากทั่วโลกใน British Museum ที่เข้าไปชมชัดๆ ได้ทางออนไลน์
หน้าแรกของเว็บไซต์นิทรรศการออนไลน์ The Museum of the World

ถ้า 8 ชิ้นยังไม่จุใจ อยากเห็นอีกเต็มๆ ผู้สนใจเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แบบ Interactive ขณะนี้ ทางบริติช มิวเซียม ได้คัดเลือกโบราณวัตถุจำนวนหนึ่งมาจัดแสดงในนิทรรศการออนไลน์ ภายใต้ชื่อโครงการ The Museum of the World เป็นเว็บไซต์ที่ทำได้สนุกและสวยงามชนะเลิศ

นิทรรศการออนไลน์ The Museum of the World ร้อยเรียงเรื่องราวที่เกี่ยวกับพัฒนาการทางสังคม ความเชื่อ และศิลปะของมนุษยชาติผ่านโบราณวัตถุที่มีความเชื่อมโยงกับอารยธรรมมนุษย์ตั้งแต่สองล้านปีก่อนคริสตกาลจนถึงปัจจุบัน โดยมีเนื้อหาครอบคลุมแหล่งโบราณคดีจาก 5 ภูมิภาค ได้แก่ แอฟริกา อเมริกา เอเชีย ยุโรป และโอเชียเนีย

ผู้สนใจกดเลือกเส้นเรื่องเนื้อหาจากหัวข้อที่สร้างไว้แล้วได้ หรือลองกดรูปวงกลมสีซึ่งแทนโบราณวัตถุหนึ่งชิ้น แล้วดูว่าเส้นเรื่องที่เชื่อมโยงกับโบราณวัตถุชิ้นนั้นๆ นำไปสู่โบราณวัตถุชิ้นอื่นๆ ชิ้นใดบ้าง เมื่อกดที่วงกลมสีแต่ละวง จะปรากฏเนื้อหาเกี่ยวกับโบราณวัตถุแต่ละชิ้น พร้อมทั้งคำบรรยายแบบอ่านออกเสียงชัดเจน

8 สมบัติล้ำค่าจากทั่วโลกใน British Museum ที่เข้าไปชมชัดๆ ได้ทางออนไลน์
โบราณวัตถุปรากฏเมื่อคลิกที่รูปวงกลมสี

ความพิเศษของนิทรรศการออนไลน์นี้ คือการนำเสนอเรื่องราวของโบราณวัตถุหลายชิ้น ที่ไม่ได้โดดเด่นเวลาตั้งอยู่ในห้องจัดแสดง เพราะอาจตั้งอยู่ใกล้กับโบราณวัตถุบางชิ้นที่ลักษณะสะดุดตากว่า หรือตั้งอยู่ในจุดที่เข้าถึงยาก อย่างแผ่นจารึกดินเหนียวอักษรลิ่มภาษาบาบิโลนเรื่องมหากาพย์ อะตราฮะซิส (Atrahasis) วรรณคดีสำคัญเรื่องการกำเนิดโลกในอารยธรรมเมโสโปเตเมีย ซึ่งต่อมาเค้าเรื่องตอนน้ำท่วมใหญ่ปรากฏในพระคัมภีร์ไบเบิล

8 สมบัติล้ำค่าจากทั่วโลกใน British Museum ที่เข้าไปชมชัดๆ ได้ทางออนไลน์
จารึกแผ่นดินเหนียววรรณคดีเรื่องอะตราฮะซิสในนิทรรศการออนไลน์ The Museum of the World

ข้อมูลทางโบราณคดีจำนวนมากของบริติช มิวเซียม เก็บไว้ในฐานข้อมูลโบราณวัตถุออนไลน์ โดยท่านผู้สนใจสามารถลองพิมพ์คีย์เวิร์ดเพื่อค้นหาได้เลย โบราณวัตถุหลายชิ้นมีเนื้อหาอธิบายไว้ชัดเจน พร้อมรูปถ่ายความคมชัดสูง และรายการหนังสือหรือบทความทางวิชาการที่ไปหาอ่านต่อเองได้หากสนใจเรื่องราวเพิ่มเติม 

ที่ผ่านมาบริติช มิวเซียม ยังอาศัยสื่อสาธารณะเผยแพร่ความรู้ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี โดยมักจัดรายการพอดแคสต์ร่วมกับสถานีวิทยุ BBC 4 นอกจากนี้เมื่อ ค.ศ. 2017 พิพิธภัณฑ์ได้ร่วมมือกับ ทอม สก็อตต์ (Tom Scott) ยูทูปเบอร์ชื่อดังด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชาวอังกฤษ ผลิตวิดีโอเผยแพร่เนื้อหาทางโบราณคดีในยูทูป โดยได้เชิญ อาจารย์เออร์วิง ฟิงเกิล (Irving Finkel) หัวหน้าภัณฑารักษ์ผู้ดูแลกลุ่มโบราณวัตถุเมโสโปเตเมียของพิพิธภัณฑ์ มาเล่นเกมกระดานแบบเมโสโปเตเมียโบราณแข่งกับนายสก็อตต์ 

8 สมบัติล้ำค่าจากทั่วโลกใน British Museum ที่เข้าไปชมชัดๆ ได้ทางออนไลน์
หน้าแรกของฐานข้อมูลออนไลน์ในบริติช มิวเซียม
8 สมบัติล้ำค่าจากทั่วโลกใน British Museum ที่เข้าไปชมชัดๆ ได้ทางออนไลน์
ตราประทับจากอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุพร้อมข้อมูลทางโบราณคดีและภาพถ่ายจากฐานข้อมูลออนไลน์
8 สมบัติล้ำค่าจากทั่วโลกใน British Museum ที่เข้าไปชมชัดๆ ได้ทางออนไลน์
เกมกระดานแบบเมโสโปเตเมียโบราณ ค้นพบในสุสานหลวง นครอูร์ ในประเทศอิรัก

วิธีการเล่นเกมนี้ค้นพบขึ้นใหม่โดยอาจารย์ฟิงเกิลเอง หลังจากอาจารย์พบแผ่นดินเหนียวที่จารึกวิธีการเล่นเกมนี้ในคลังเก็บรักษาโบราณวัตถุของพิพิธภัณฑ์ โดยล่าสุดวิดีโอดังกล่าวมีผู้เข้าชมแล้วกว่าสองล้านครั้ง ชมคลิปการเล่นเกมระหว่างนาย Scott และอ.ฟิงเกิล ได้ที่นี่

นอกจากบริติช มิวเซียม แล้ว ยังมีพิพิธภัณฑ์จำนวนมากที่พัฒนาช่องทางออนไลน์ขึ้น เพื่อนำเสนอเนื้อหาทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และศิลปะให้แก่สาธารณชนครับ เว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์ Metropolitan Museum of Art นครนิวยอร์ก เป็นคลังเนื้อหาออนไลน์ขนาดใหญ่มาก จัดทำเนื้อหาให้เหมาะสมกับคนดูกลุ่มต่างๆ เช่น เด็ก นักท่องเที่ยว และผู้สนใจเนื้อหากึ่งวิชาการ 

ทางฝั่งยุโรป พิพิธภัณฑ์ใหญ่ๆ อย่างพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ที่กรุงปารีส พิพิธภัณฑ์ Rijksmuseum ที่นครอัมสเตอร์ดัม หอศิลป์อุฟฟีซี (Uffizi) ที่นครฟลอเรนซ์ Kunsthistorisches Museum ที่กรุงเวียนนา ล้วนมีแอปพลิเคชันหรือนิทรรศการออนไลน์ที่เราสามารถกดเข้าไปชมศิลปวัตถุต่างๆ พร้อมคำบรรยายและภาพถ่ายคมชัดแบบไม่ต้องแย่งกันดูอย่างในสถานที่จริง 

ส่วนทางฝั่งเอเชียก็ไม่แพ้กันครับ National Palace Museum กรุงไทเป เปิดให้เข้าชมผ่าน Google Street View ได้ และพิพิธภัณฑ์ในตำนานอย่าง The Iraq Museum กรุงแบกแดด ก็มีช่องทางเข้าชมแบบ Virtual Tour มาตั้งแต่ ค.ศ. 2009 

เรียกได้ว่าทั้งหมดทั้งปวงนี้ก็เพียงพอให้เรา Home School วิชาประวัติศาสตร์ ศิลปะ และสังคม ไปได้ตลอดทั้งปีแน่ๆ ทีเดียวครับ 


เนื้อหาบางส่วนดัดแปลงจากหนังสือ A History of the World in 100 Objects โดย นีล แมคเกรเกอร์ (Neil MacGregor) อดีตผู้อำนวยการบริติช มิวเซียม

Writer

Avatar

พีรพัฒน์ อ่วยสุข

นักเรียนโบราณคดี อาชีพหลักคืออ่านจารึกอักษรลิ่ม เวลาว่างชอบคุยกับแมว ดูมหรสพ