ควันกำยานหอมฟุ้งและเสียงระฆังที่ย่ำอย่างครื้นเครงได้ยินมาแต่ไกล เป็นเสียงและกลิ่นที่ไม่ค่อยคุ้นเคยกันนักในกรุงเทพฯ บรรดาบาทหลวงรัสเซียร่างสูงใหญ่ในชุดยาวสีทองเปล่งประกายสดใส ยืนเรียงรายกันด้านหน้าโบสถ์ เพื่อรอต้อนรับสายคาดเอวของพระนางมารีย์พรหมจารี พระมารดาพระเจ้า 

พระศาสนจักรรัสเซียออร์โธดอกซ์กำลังมีงานฉลองใหญ่ครบรอบ 20 ปีการสถาปนาการแพร่ธรรมในประเทศไทย ผมเดินเข้าไปในซอยวชิรธรรมสาธิต 36 ที่นี่เป็นที่ตั้งของอาสนวิหารแห่งนักบุญนิโคลัสฯ โบสถ์ศูนย์กลางของชาวคริสต์นิกายรัสเซียออร์โธดอกซ์ในไทย ซึ่งนอกจากโบสถ์แห่งนี้แล้ว ยังมีโบสถ์ออร์โธดอกซ์กระจัดกระจายกันไปในจังหวัดที่มีชุมชนชาวรัสเซียอาศัยทำงานหรือมาพักผ่อนท่องเที่ยวอยู่มาก เช่น พัทยา สมุย ภูเก็ต และกาญจนบุรี 

สายคาดเอวพระแม่มารี ของศักดิ์สิทธิ์ที่ศาสนจักรรัสเซียเชิญมาเมืองไทย

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในห้องอาหารของโบสถ์คุณพ่อโอเล็กซ์และคุณพ่อมิเกล ซึ่งเป็นบาทหลวงประจำที่นี่ได้ให้การต้อนรับเราอย่างอบอุ่น เพื่อให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการฉลองครบรอบนี้ ท่านเชิญชวนให้ทุกๆ คน ไม่ว่าเชื้อชาติศาสนาไหน มาร่วมยินดีกับการฉลอง 20 ปีพระศาสนจักรรัสเซียในไทย

โดยในเหตุการณ์สำคัญนี้ ผู้นำศาสนจักรออร์โธดอกซ์ในไทยได้ขอร้องไปทางประเทศรัสเซีย ให้อัญเชิญชิ้นส่วนผ้าคาดเอวของพระนางมารีย์พรหมจารี พระมารดาของพระเยซูคริสต์มาให้ทุกคนสักการะด้วย แน่นอนว่า พระอัยกาคีริลล์ (Patriarch Kirill of Moscow) ประมุขพระศาสนจักรรัสเซียออร์โธดอกซ์ตอบรับด้วยความยินดี และอนุญาตให้อัญเชิญสายคาดเอวศักดิ์สิทธิ์ออกจากรัสเซีย ครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกที่พระธาตุอันสูงค่ายิ่งนี้จะเดินทางมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอัญเชิญไปเยี่ยมเยียนคริสตชนออร์โธดอกซ์ทุกๆ โบสถ์ในไทย

สายคาดเอวพระแม่มารี ของศักดิ์สิทธิ์ที่ศาสนจักรรัสเซียเชิญมาเมืองไทย

ผมฟังท่านแล้วตื่นเต้นมาก เราอาจจะต้องทำความเข้าใจประเพณีในศาสนาคริสต์ก่อนว่า ชาวคริสต์เคารพ Relic หรือ พระธาตุ ชิ้นส่วนของกระดูก ข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้าอาภรณ์ของนักบุญผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ที่เคยทำอัศจรรย์หรือสร้างคุณงามความดีไว้ในศาสนา แน่นอนว่าพระธาตุที่สำคัญที่สุดนั้นย่อมเกี่ยวข้องกับ พระเยซูคริสต์หรือแม่พระ แต่เนื่องจากในความเชื่อของศาสนาคริสต์ ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จขึ้นสวรรค์ทั้งร่างกายและวิญญาณไปแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีพระศพหรือกระดูกหลงเหลืออยู่ มีเพียงเสื้อผ้าบางส่วนที่คงเก็บรักษาไว้ในโลกเท่านั้น สำหรับในกรณีของพระนางมารีย์นั้น ได้แก่ ผ้าคาดเอวและชิ้นส่วนเสื้อคลุม ซึ่งในครั้งนี้ทางโบสถ์ได้อัญเชิญผ้าคาดเอวจากรัสเซียมาให้คริสตชนไทยสักการะเป็นโอกาสพิเศษ

ผ้าคาดเอวแม่พระ ชัยชนะต่อความตายของพระเป็นเจ้า

ผ้าคาดเอวแม่พระเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญเกี่ยวกับพระนางมารีย์ที่ยังคงเหลืออยู่ในโลกใบนี้ แม้จะไม่ปรากฏเรื่องราวในพระคัมภีร์ แต่ชาวออร์โธดอกซ์ก็เคารพชิ้นส่วนผ้านี้อย่างสูงตามประเพณีศักดิ์สิทธิ์ที่สืบทอดกันมา 

สายคาดเอวพระแม่มารี ของศักดิ์สิทธิ์ที่ศาสนจักรรัสเซียเชิญมาเมืองไทย

ตำนานเล่าว่าเมื่อพระนางมารีย์สิ้นพระชนม์ลง บรรดาสาวกจึงฝังพระศพพระนางไว้ แต่เมื่อกลับมาอีกครั้งก็พบว่าหลุมฝังพระศพนั้นว่างเปล่า เพราะพระเป็นเจ้าทรงรับพระนางเข้าสู่สวรรค์ทั้งร่างกายและวิญญาณแล้ว ขณะนั้นนักบุญโทมัสสานุศิษย์คนหนึ่งไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ เขาจึงไม่เชื่อว่าพระศพของพระแม่ถูกอัญเชิญขึ้นสู่สวรรค์จริงๆ พระมารดามารีย์ต้องการให้เขาเชื่อ จึงได้ปรากฏกายต่อหน้านักบุญโทมัสและประทานสายคาดเอวให้ท่านเพื่อพิสูจน์เรื่องนี้ นักบุญโทมัสจึงนำสายคาดเอวนี้ติดตัวไปยังดินแดนต่างๆ ที่ท่านไปแพร่ธรรม รวมทั้งที่อินเดีย จึงมีชิ้นส่วนผ้าคาดเอวนี้ในอินเดียด้วย อย่างไรก็ตามพระศาสนจักรรัสเซียออร์โธดอกซ์มิได้รับรองว่าชิ้นที่อยู่ในอินเดียเป็นของแท้

เมื่อนักบุญโทมัสสิ้นใจ มีการเชิญผ้าคาดเอวของแม่พระกลับไปเก็บรักษาไว้ในเอเชียกลาง

 ต่อมาเมื่อศาสนาคริสต์ตั้งมั่นลงในอาณาจักรโรมันแล้ว ในศตวรรษที่ 5 จักรพรรดิอาร์คาดิอุส (Arcadius) จึงนำผ้าคาดเอวนี้ไปประดิษฐานในกรุงคอนสแตนติโนเปิลอันเป็นเมืองหลวงด้านตะวันออกของอาณาจักรโรมัน และเก็บรักษาไว้อย่างดี จนกระทั่งในศตวรรษที่ 9 จักรพรรดินีโซอี (Zoe) ชายาของจักรพรรดิลีโอที่ 6 (Leo VI) ทรงถูกวิญญาณร้ายรบกวนและทรงสุบิน (ฝัน) ว่าหากได้สัมผัสผ้าศักดิ์สิทธิ์นี้ จะช่วยขับไล่วิญญาณได้ พระจักรพรรดิจึงมีโองการโปรดให้เปิดหีบผ้าคาดเอวศักดิ์สิทธิ์นี้อีกครั้ง เพื่อให้พระชายาโซอีทรงสัมผัสและทรงขับไล่วิญญาณร้ายนั้นได้อย่างน่าอัศจรรย์ มีบันทึกว่า แม้ผ้าผืนนั้นจะถูกเก็บไว้ถึง 400 ปี แต่ก็อยู่ในสภาพเหมือนเป็นของใหม่ มิได้ชำรุดผุพัง

สายคาดเอวพระแม่มารี ของศักดิ์สิทธิ์ที่ศาสนจักรรัสเซียเชิญมาเมืองไทย

ในศตวรรษที่ 10 ด้วยความศรัทธาต่อพระมารดามารีย์ สายคาดเอวที่ถักทอจากขนอูฐนี้จึงถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วน และแจกจ่ายออกไปยังโบสถ์ในนานาประเทศ ทั้งไซปรัส บัลแกเรีย และจอร์เจีย ต่อมาเมื่อกรุงคอนสแตนติโนเปิลถูกโจมตีจากชาวมุสลิมจนแตกใน ค.ศ. 1453 ผ้าคาดเอวรวมทั้งศาสนวัตถุศักดิ์สิทธิ์ต่างๆกระจัดกระจายหายสูญไป บางส่วนที่เคลื่อนย้ายทันเวลาก็ตกอยู่ในศาสนจักรท้องถิ่นต่างๆ บางส่วนก็อยู่ในความครอบครองของอาณาจักรมุสลิม

จนกระทั่งใน ค.ศ.1625 พระเจ้าซาร์มิคาเอล เฟโรโดโรวิช โรมานอฟ แห่งรัสเซีย ทรงได้รับผ้าคาดเอวจากพระเจ้าชาห์แห่งเปอร์เซีย เป็นของกำนัลพร้อมกับพระธาตุของนักบุญคนอื่นๆ อีกมากมาย จึงมีการประดับผ้าคาดเอวนี้ด้วยด้ายทองคำเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระนางมารีย์ และอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในวิหารอิปาตเยฟ (Ipatiev) ในเมือง Kostroma ทางตอนเหนือของรัสเซีย และกลายเป็นสถานที่แสวงบุญสำคัญสำหรับชาวรัสเซียออร์โธดอกซ์

สายคาดเอวพระแม่มารี ของศักดิ์สิทธิ์ที่ศาสนจักรรัสเซียเชิญมาเมืองไทย

“ที่นั่น คนรัสเซียต้องต่อแถวรอกันหลายชั่วโมงท่ามกลางอากาศหนาวจัด เพื่อจะได้สักการะผ้าคาดเอวชิ้นนี้” พ่อโอเล็กซ์บอกเรา

“แต่ว่าในโอกาสพิเศษนี้ เราอัญเชิญมาให้ชาวไทยและชาวรัสเซียในไทยได้นมัสการกันง่ายๆ เลยนะ แถมอากาศก็อุ่นกว่าด้วย” คุณพ่อหัวเราะ

“แล้วคนต่างศาสนาจะร่วมสักการะด้วยได้ไหมครับ” 

“แน่นอน เพราะแม่พระเป็นแม่ของทุกคน ไม่ใช่แม่ของชาวรัสเซียหรือชาวคริสต์เท่านั้นนี่นา ผ้าคาดเอวชิ้นนี้เคยตกเป็นสมบัติของพระเจ้าชาห์แห่งเปอร์เซียเช่นกัน แต่ก็ได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างให้เกียรติ เพราะชาวมุสลิมในยุคนั้นต่างก็ให้ความเคารพ ‘ท่านหญิงมัรยัม’ ในฐานะมารดาของนบีอีซาด้วย”

พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ใต้แสงเทียนและกลิ่นกำยาน

สายคาดเอวพระแม่มารี ของศักดิ์สิทธิ์ที่ศาสนจักรรัสเซียเชิญมาเมืองไทย

ขบวนแห่หีบรักษาผ้าคาดเอวแม่พระเริ่มเคลื่อนเข้าไปในโบสถ์ พร้อมกับเสียงสวดต้อนรับและควันกำยาน บาทหลวงค่อยๆ วางหีบศักดิ์สิทธิ์ลงบนแท่นกลางห้องโถง เพื่อให้ทุกคนได้เริ่มสักการะ พระศาสนจักรออร์โธดอกซ์นั้นขึ้นชื่อในเรื่องความเคร่งครัดตามหลักประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยอัครสาวก นอกจากพระคัมภีร์ที่เทิดทูนที่สุดแล้ว พิธีกรรมต่างๆ ก็ประกอบขึ้นอย่างซับซ้อนและเต็มไปด้วยรายละเอียดแบบโบราณ 

สายคาดเอวพระแม่มารี ของศักดิ์สิทธิ์ที่ศาสนจักรรัสเซียเชิญมาเมืองไทย

ภายในอาสนวิหารนั้นลูบไล้ด้วยสีทองทั่วทั้งโบสถ์ เบื้องหน้าเป็นฉากไอคอนหรือ Iconostasis ที่เป็นฉากกั้นระหว่างพระแท่น อันเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของนักบวชและส่วนของคริสตชนฆราวาส สายตาของบรรดานักบุญในภาพไอคอนจับจ้องลงมาบนตัวเราทุกทิศทาง เสมือนว่าเรากำลังอยู่ท่ามกลางพวกท่านเหล่านั้นในสวรรค์จริงๆ โดมขนาดใหญ่ตรงกลางแสดงภาพพระเยซูผู้ทรงสรรพานุภาพ หรือ Pantocrator ซึ่งแสดงภาพพระองค์ในฐานะผู้พิพากษาโลก ยิ่งทำให้บรรยากาศเคร่งขรึมจริงจังมากขึ้นไปอีก

สายคาดเอวพระแม่มารี ของศักดิ์สิทธิ์ที่ศาสนจักรรัสเซียเชิญมาเมืองไทย

“ไอคอน (Icon) เป็นเอกลักษณ์ของพระศาสนจักรออร์โธดอกซ์ ที่นี่เราแตกต่างจากนิกายอื่นๆ ที่อาจจะไม่มีรูปลอยตัว หรือใช้รูปปั้นสามมิติ แต่ไอคอนเป็นภาพวาดสองมิติที่มีระเบียบการวาดอย่างเคร่งครัด ไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบตามสุนทรียศาสตร์หรือตามใจของศิลปินได้ เพราะทุกท่วงท่า ทุกการแสดงออก แววตา ตัวอักษร การใช้สี การตวัดเส้น ล้วนมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ซุกซ่อนอยู่ ผู้ที่เรียนรู้อย่างจริงจังจึงจะอ่านไอคอนออกอย่างแจ่มแจ้ง และผู้ที่จะเขียนไอคอนได้ก็ต้องฝึกฝนกันอย่างยาวนาน” คุณพ่อคนหนึ่งบอกเรา

สายคาดเอวพระแม่มารี ของศักดิ์สิทธิ์ที่ศาสนจักรรัสเซียเชิญมาเมืองไทย

“อาสนวิหารแห่งนี้ ตั้งชื่อตามนักบุญนิโคลัสผู้กระทำอัศจรรย์ ท่านเป็นที่เคารพของศาสนจักรทั้งคาทอลิกและออร์โธดอกซ์ เรื่องราวของท่านเป็นที่เล่าขานกันมายาวนาน มีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นมากมาย เราจึงมักพบว่าชาวรัสเซียนิยมตั้งชื่อบุคคลหรือโบสถ์ตามนาม ‘นิโคลัส’ ของท่าน ถ้าคุ้นๆ ชื่อกัน น่าจะเคยได้ยินมาบ้างว่าท่านนิโคลัสก็เป็นต้นเค้าของซานตาคลอสในโลกตะวันตกนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ซานตาคลอสก็ไม่ใช่ผู้แจกของขวัญในวันคริสต์มาสตามธรรมเนียมรัสเซีย หากแต่เป็นนักปราชญ์สามคนที่เดินทางมาถวายบรรณาการแด่พระคริสต์เมื่อแรกประสูติต่างหาก”

สายคาดเอวพระแม่มารี ของศักดิ์สิทธิ์ที่ศาสนจักรรัสเซียเชิญมาเมืองไทย

พิธีดำเนินไปอย่างละเอียดซับซ้อน บิชอปหรือหัวหน้าบาทหลวงเริ่มด้วยการแต่งตัวที่แท่นกลางวัด ท่านถอดชุดเดิมออก และใส่ชุดใหม่สำหรับประกอบพิธี ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความหมายระลึกถึงการเตรียมตัวเข้าสู่พระมหาทรมาน หรือการถูกตรึงกางเขนของพระเยซูคริสต์ทั้งสิ้น มีบทภาวนาด้วยการขับเป็นทำนองยาวๆ ไม่ใช่เสียงดนตรี แต่มีเฉพาะเสียงของมนุษย์ที่พระเจ้าทรงสร้างโดยตรง ชวนให้เราตกอยู่ในภวังค์ กลิ่นกำยานที่ลอยคลุ้งในห้องอาสนวิหาร เสมือนคำภาวนาที่ลอยขึ้นไปยังสวรรค์ แสงเทียนวิบวับที่จุดบูชาพระธาตุของเหล่านักบุญ เสียงกระดิ่งกระพรวนดังเบาๆ บรรยากาศที่เคร่งขรึมแบบชาวรัสเซียช่วยให้จิตใจมนุษย์ลอยสูงขึ้นหาพระเป็นเจ้าได้อย่างน่าอัศจรรย์ 

สายคาดเอวพระแม่มารี ของศักดิ์สิทธิ์ที่ศาสนจักรรัสเซียเชิญมาเมืองไทย
สายคาดเอวพระแม่มารี ของศักดิ์สิทธิ์ที่ศาสนจักรรัสเซียเชิญมาเมืองไทย

การนมัสการพระเจ้าของชาวออร์โธดอกซ์นั้น ถือว่าประสาทสัมผัสต่างๆ จะต้องเปิดออกเพื่อสื่อกับพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นจมูกที่สัมผัสกลิ่นกำยาน หูที่คอยฟังทำนองสวด ตาและปากที่สัมผัสนมัสการภาพไอคอน (Icon) ของพระเป็นเจ้าและเหล่านักบุญ ลิ้นที่จะรับขนมปังและไวน์หรือศีลมหาสนิท (ซึ่งสงวนไว้สำหรับคริสตชนออร์โธดอกซ์เท่านั้น) และแน่นอนว่า ‘ใจ’ ของเราก็ต้องถูกยกขึ้นเพื่อนมัสการพระองค์ด้วย

สายคาดเอวพระแม่มารี ของศักดิ์สิทธิ์ที่ศาสนจักรรัสเซียเชิญมาเมืองไทย

เป็นภาพที่แปลกตาว่าในโลกสมัยใหม่ที่คนไทยมักจะคิดกันว่า ฝรั่งไม่เคร่งครัดในศาสนา แต่ในโบสถ์ออร์โธดอกซ์ ผู้คนต่างอุ้มลูกเล็กๆ พ่อแม่พาลูกชายวัยรุ่นมา เมื่อบาทหลวงชูศีลมหาสนิทขึ้น ทุกคนก็ก้มลงกราบกับพื้นเหมือนชาวไทยกราบเบญจางคประดิษฐ์ทีเดียว เราเห็นพลังของศาสนาที่ยังอุ้มชูจิตใจของคนในยุคสมัยใหม่ เป็นศรัทธาที่ไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบมากว่า 2,000 ปี แม้ว่าโลกจะเปลี่ยนไปแค่ไหน แต่ในโบสถ์แห่งนี้ พิธีกรรมต่างๆ ยังเป็นรูปแบบเดียวกับสมัยที่สาวกของพระคริสต์ยังจาริกออกเทศนาในเอเชียไมเนอร์

สายคาดเอวพระแม่มารี ของศักดิ์สิทธิ์ที่ศาสนจักรรัสเซียเชิญมาเมืองไทย

พิธีกรรมของรัสเซียออร์โธดอกซ์วันนี้ยาวนานกว่า 3 ชั่วโมง เพราะมีทั้งการสักการะพระธาตุผ้าคาดเอวแม่พระ ที่แม้ว่าคิวจะไม่ได้ยาวเท่าในรัสเซีย แต่ก็ต้องใช้เวลารอเหมือนกัน เราเห็นบางคนกราบลงกับพื้น บางคนจูบพระธาตุ บางคนก็คำนับ มีการเสกโบสถ์นักบุญเซอร์กีย์แห่งราโดเนียซ ซึ่งเป็นโบสถ์ขนาดเล็กที่ใช้ประกอบพิธีในวันธรรมดา การบวช ‘สังฆานุกร’ หรือผู้ช่วยบาทหลวง และการฉลองครบรอบ 20 ปี โดยมีพระคุณเจ้าเซอร์กีย์ ผู้นำศาสนจักรรัสเซียออร์โธดอกซ์แห่งสิงคโปร์และเอเชียอาคเนย์ และพระคุณเจ้าเธโอฟาน อาร์ชบิชอปแห่งเกาหลีเดินทางมาเป็นประธานในพิธี 

สายคาดเอวพระแม่มารี ของศักดิ์สิทธิ์ที่ศาสนจักรรัสเซียเชิญมาเมืองไทย

ก่อนจะมาเข้าร่วมพิธี ผมถามคุณพ่อโอเล็กซ์ว่า “แล้วผมจะยืนไหวหรือ”

 พ่อโอเล็กซ์หัวเราะ แล้วตอบว่า 

“ศรัทธาจะทำให้เรายืนไหว”

สายคาดเอวพระแม่มารี ของศักดิ์สิทธิ์ที่ศาสนจักรรัสเซียเชิญมาเมืองไทย

ผู้สนใจชมพระธาตุศักดิ์สิทธิ์นี้ ตามไปชมได้ ณ โบสถ์ต่างๆ ในเขตสังฆมณฑลในประเทศไทยตามกำหนดการ ดังนี้

• วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2562 – 9 มกราคม พ.ศ. 2563 ณ โบสถ์พระตรีเอกานุภาพ จ.ภูเก็ต

• วันที่ 10 – 13 มกราคม พ.ศ. 2563 ณ โบสถ์พระเยซูเจ้าเสด็จสู่สวรรค์ เกาะสมุย

• วันที่ 14 – 16 มกราคม พ.ศ. 2563 ณ โบสถ์นักบุญเจ้าชายวลาดิเมียร์ ผู้เทียบเท่าอัครสาวก จ.เชียงใหม่

• วันที่ 17 – 19 มกราคม พ.ศ. 2563 ณ อาสนวิหารนักบุญนิโคลัส กรุงเทพฯ

Writer

Avatar

ปติสร เพ็ญสุต

เป็นนักรื้อค้นหอจดหมายเหตุ ชอบเดินตรอกบ้านเก่าและชุมชนโบราณ สนใจงานศิลปะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเภท รวมทั้งคริสตศิลป์ด้วย ปัจจุบันกำลังติดตามธรรมาสน์ศิลปะอยุธยาและเครื่องไม้จำหลักศิลปะอยุธยา เคยคิดจะเป็นนักบวช แต่ไม่ได้บวช

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ