“ชื่อ วิโอเลต วอเทียร์ มีคนเรียกผิดบ่อยไหม” เราถาม

“ตลอดเวลาค่ะ” เธอตอบกึ่งตลกกึ่งน้อยใจ 

“ไวโอเลตนี่คือไปไกลสุดแล้ว แต่เวลาเขียนจะมี วีโอเลต หรือ วิโอเล็ต เติมไม้ไต่คู้ หรือ วอร์เทียร์ ที่วอแหวนมีรอเรือการันต์ กลายเป็นคำว่าสงคราม ซึ่งที่ถูกต้องคือง่ายที่สุด วิโอเลต วอเทียร์”

วี-วิโอเลต วอเทียร์ เราเช็กตัวสะกดชื่อเธออีกครั้ง 

เรื่องราวการเติบโตของ วิโอเลต วอเทียร์ ผ่านอัลบั้มเดี่ยวครั้งแรกที่อยากให้เป็นบันทึกของช่วงชีวิตหนึ่ง

วีแจ้งเกิดในวงการดนตรีทันทีที่เปล่งโน้ตท่อนแรกของ Leaving On A Jet Plane ออกมาบนเวที The Voice Thailand เมื่อ 7 ปีก่อน หลังจากนั้น เราก็เห็นผลงานเธอมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นซิงเกิล มิวสิกวิดีโอ ผลงานการจัดรายการวิทยุ ไปจนถึงบทบาท เจ๋ โปรดิวเซอร์สุดติสต์ในภาพยนตร์เรื่อง ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ ที่เป็นที่พูดถึงอย่างมากในช่วงนั้น เธอเพิ่งปล่อยซิงเกิลจากอัลบั้มใหม่ออกมา 4 เพลง ได้แก่ Brassac, Smoke, Drive และล่าสุด I’d Do It Again พร้อมกับมิวสิกวิดีโอที่ตั้งใจทำจริงๆ

ในอีกมุมหนึ่ง เธอเป็นนิสิตจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นลูกสาวคนโตของครอบครัวขนาด 4 คน มีน้องชายที่สนิทมากหนึ่งคน เพิ่งทำอัลบั้มเดี่ยวของตัวเองเสร็จสมบูรณ์เมื่อหนึ่งเดือนที่ผ่านมา และกำลังจะปล่อยในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

นี่จะเป็นอัลบั้มเดี่ยวครั้งแรกของวี เป็นการรวบรวมชีวิตของเธอในช่วง 6 – 7 ปีที่ผ่านมา เธอพัฒนาจากคนที่ใช้อารมณ์เป็นตัวตัดสินการกระทำ มาใช้เหตุผลและพยายามเข้าใจคนรอบข้างมากขึ้น เธอเคยไขว้เขว เคยลังเลกับเส้นทางที่ตัวเองเลือก และพบว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือสิ่งที่เธอเชื่อ โดยหวังว่าจะมีคนชอบเหมือนๆ กัน

วีเปลี่ยนจากเจ้าของผลงานหม่นๆ เป็นศิลปินที่มีมิติทางด้านความคิดมากขึ้น เธอบอกให้รอฟังอัลบั้มเต็ม แล้วจะเห็นได้ถึงทัศนคติ ความคิด หรือแม้กระทั่งอารมณ์ที่โตขึ้น การเติบโตที่เรียนรู้ผ่านงาน คนรอบข้าง ความรัก และทุกสิ่งที่หล่อหลอมให้เธอเป็นอย่างในวันนี้

วีบอกว่าเพลงคือตัวตนของศิลปินในอดีต เราเลยชวนคุยเรื่องอดีตของเธอ

เรื่องราวการเติบโตของ วี วิโอเลต ผ่านอัลบั้มเดี่ยวครั้งแรกที่อยากให้เป็นบันทึกของช่วงชีวิตหนึ่ง

ก่อนหน้านี้คุณไม่เคยมีอัลบั้มเต็มมาก่อน ชีวิตเดินมาถึงจุดไหนถึงคิดว่าควรมีอัลบั้มของตัวเองสักที

ตอนที่ออกจาก The Voice Thailand มาเริ่มทำเพลง เรารู้ว่าเราแต่งเพลงภาษาอังกฤษมากกว่า เราอยากทำเพลงภาษาอังกฤษ แต่ตอนนั้นอยู่ค่ายและค่ายไม่เห็นด้วยกับการรีบทำเพลงภาษาอังกฤษ เขาอยากให้ทำเพลงภาษาไทยก่อน 

ตอนนั้นเราใหม่กับวงการมากๆ ก็โอเค เชื่อผู้ใหญ่ แต่ระหว่างนั้นเราก็เขียนเพลงภาษาอังกฤษของเราไป เขาก็ไม่เคยหันมามองเพลงภาษาอังกฤษเลย แล้วตอนนั้นสัญญาจะหมด เลยคิดว่ามันอาจจะเป็น Chapter ใหม่ให้เราออกมาทำเพลงภาษาอังกฤษและอัลบั้ม เพราะที่ผ่านมาเราไม่เคยมีอัลบั้ม ไม่เคยมีอีพี มีแต่ซิงเกิล 

ตอนแรกไม่คิดว่าอัลบั้มจะใช้เวลานานขนาดนี้ เพราะเข้าใจว่าตัวเองมีเพลงประมาณหนึ่งแล้ว มันจะมีโมเมนต์ของการ “เอ๊ะ หรือเพลงนี้ไม่เหมาะ” มีการจับออก จับเข้า แต่งใหม่ แก้ดนตรี รื้อโครง เหมือนย้ำคิดย้ำทำ ต้องคอยเตือนตัวเองว่า โอ้ย ไม่ได้แล้ว จมเกินไปแล้ว ต้องถอยออกมา ต้องพักแป๊บหนึ่ง

สำหรับศิลปินที่อยู่ในยุคที่คนส่วนใหญ่ไม่ซื้ออัลบั้มกันแล้ว การมีอัลบั้มยังสำคัญอีกเหรอ

เราว่ามันสำคัญ เราไม่รู้ว่าคนอื่นมองว่ามันสำคัญไหม แต่อย่างหนึ่งที่เราเห็นคือ ทำเพลงเดียวมันง่ายกว่าอัลบั้ม มันไม่ต้องคำนึงถึงภาพรวม มองแค่เพลงเพลงเดียว ในขณะที่อัลบั้มต้องดูว่าคอนเซปต์ใหญ่คืออะไร เรื่องที่คุณเล่าแต่ละอย่างสอดคล้องกันไหม ดนตรีไปด้วยกันยังไง มันอยู่ด้วยกันได้จริงเหรอ สำหรับเรามันต้องทำตามแผนที่วางไว้ 

ก่อนหน้านี้เราปล่อยแต่ซิงเกิล สิ่งที่เห็นคือเวลาไปเล่น Live Show ดูเพลงเรียงกันแล้วมันไม่เป็นก้อน ไม่กลม โทนสีมันแปลกๆ ไม่ค่อยเข้าที่ เราเลยเข้าใจว่าอัลบั้มมีหน้าที่เป็นตัวแทนในแต่ละยุคของศิลปิน ยุคนี้ฉันเป็นคนแบบนี้ โทนสีฉันเป็นแบบนี้ ยุคต่อมาฉันโตขึ้นเป็นอีกแบบหนึ่ง เป็นอีกสีหนึ่ง มันจะเห็นช่วงชีวิตของคนคนหนึ่งชัดเจนในแบบที่บอกไม่ได้จากเพลงแค่เพลงเดียว อย่างน้อยจะเห็นเลยว่าพื้นฐานของคนคนหนึ่งเป็นแบบนี้ 

เหมือนอย่างที่อะเดล (Adele) หรือ เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) มีอัลบั้มเล่าเรื่องชีวิตแต่ละช่วง

ศิลปินฝรั่งจะเป็นแบบนี้ อัลบั้มเลยเป็นสิ่งที่สำคัญมากในอาชีพของเขา เราเลยอยากมีให้รู้ว่า ก้อนนี้คือวี 2020 เป็นแบบนี้นะ ปี 2022 อาจจะเป็นวีในอีกโทนหนึ่งก็ได้ มันทำให้ได้เห็นการเติบโต ไม่ใช่แค่ปล่อยเพลงไปเรื่อยๆ หน้าอยู่บนมีเดียตลอดก็จริง แต่ถ้าเพลงเราไม่ชัด ตัวตนของเราก็คงไม่ชัดเหมือนกัน

เรื่องราวการเติบโตของ วี วิโอเลต ผ่านอัลบั้มเดี่ยวครั้งแรกที่อยากให้เป็นบันทึกของช่วงชีวิตหนึ่ง

คุณเป็นคนหนึ่งที่เคยแต่งเพลงจากคำถามที่ว่า คนฟังอยากฟังอะไร

ใช่ พอทำเพลงไปรู้เลยว่ามีเพลงช้าเยอะ เราชอบเขียนเพลงเศร้า ชอบเขียนเพลงช้า ถ้าไปโชว์บรรยากาศจะเนือยๆ เพราะที่ผ่านมาเพลงสนุกเราน้อยมาก ถ้างั้นเราทำเพลงเร็วขึ้นมาน้อย แต่ก็ยังกลัวว่าคนฟังจะชอบหรือเปล่า มันจะหลุดความเป็นตัวเองไปหรือเปล่า ที่ตรงนี้เลยไม่ใช่ Comfort Zone อีกต่อไป เพราะเรายังต้องค้นหาหนทางที่ลงตัว ในทางหนึ่งเรานึกถึงเวลาเล่นสด เราคิดถึงคนดู อยากให้เขาเอ็นจอย แต่อีกทางหนึ่งพอเราโฟกัสกับคนฟังมากเข้า มันไม่มีไม้บรรทัดว่าเราควรจะตามใคร ก็เลยตัดสินใจใช้ไม้บรรทัดตัวเอง เอาที่ตัวเองโอเค คนอื่นไม่รู้หรอก แค่ตัวเองชอบก็พอแล้ว

โดยไม่ได้คำนึงถึงว่าจะมีคนฟังไหม

ไม่รู้ เพราะสุดท้ายไม่มีใครรู้หรอก เอาเป็นว่าเราชอบ มันต้องมีคนที่ชอบเหมือนเราบ้างแหละ

ตัวเองเปลี่ยนไปแค่ไหนนับจากที่ไปประกวด The Voice Thailand คราวนั้น

ถ้าในฐานะคนคนหนึ่ง เราว่าเราเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ปกติเราเป็นคนทำอะไรด้วยความรู้สึก ซึ่งก็ยังเป็นอยู่ แต่เริ่มทำอะไรด้วยเหตุผลเยอะขึ้น จากที่แต่ก่อนอารมณ์จะนำเหตุผล ก็ไม่ชอบแบบนี้ ไม่เอาไม่ชอบ แต่ตอนนี้ โอเค ไม่ชอบ แต่เรามีเหตุผลว่าทำไมถึงไม่ชอบ เรียนรู้ที่จะยืดหยุ่นกับชีวิตมากขึ้น

เราว่าอายุที่เพิ่มขึ้นด้วยก็ส่วนหนึ่ง ประสบการณ์การทำงานกับคนรอบข้างก็อีกส่วนหนึ่ง ตอนเด็กๆ เราจะงอแง มีมุมเอาแต่ใจอยู่ โตมาถึงรู้ว่ามันมีคนที่เหนื่อยกว่าเราเยอะ พี่ช่างไฟวิ่งวุ่นกันทั้งวัน ในขณะที่เราอยู่ในห้องแอร์ด้วยซ้ำ จะงอแงอะไร พอทำงานไปเรื่อยๆ เราได้เห็นอะไรมากขึ้น ได้มองทุกอย่างเป็นภาพกว้างมากขึ้น เราเชื่อว่ามันจะโตกว่านี้ได้อีก แต่ก็ต้องค่อยๆ เป็นไปตามวัย

ส่วนในฐานะศิลปิน เรามีความรู้มากขึ้น ตอนเข้าวงการใหม่ๆ ไม่เคยรู้เรื่องสัญญา ลิขสิทธิ์ การวางตัว เมื่อก่อนเราเป็นคนตอบคำถามตรงๆ ตอนนี้ก็ตรงแหละ แต่รู้จักใช้คำพูดให้ดีขึ้น จำได้เลยว่าเคยไปดูเปิดตัวหนัง ดูจบมีกล้องมาสัมภาษณ์ “หนังเป็นยังไงบ้างคะ” แล้วเราเป็นคนค่อยๆ คิดวิเคราะห์ ยังไม่รู้ว่ามันดีหรือไม่ดี เราชอบหรือไม่ชอบ เลยตอบไปว่า “ยังไม่ค่อยแน่ใจเลยค่ะ กำลังซึมซับอยู่” พอตอบไปมึนๆ เราก็เดินออกมา เพื่อนที่ไปด้วยกันบอกว่าได้ยินเขาคุยกันว่า น้องยังเด็ก น้องยังใหม่ (หัวเราะ) ซึ่งเราก็ใหม่จริงๆ แหละ เวลาผ่านไปเลยได้ปรับตัว เรียนรู้งาน ได้โตมากับคนแวดล้อมในวงการนี้ มีผู้ใหญ่สอนเรื่อยๆ เราก็รับมาแล้วปรับใช้ให้เข้ากับเรา

ถ้าวันนี้มีคนถือกล้องมาถามหลังดูหนังเสร็จจะตอบว่า…

ตอนนี้ก็จะบอกว่าชอบตรงไหน ซีนนี้เราชอบมากๆ ไม่งั้นเขาไม่เชิญเราไปดูหรอก ถูกไหม (หัวเราะ) 

เรื่องราวการเติบโตของ วี วิโอเลต ผ่านอัลบั้มเดี่ยวครั้งแรกที่อยากให้เป็นบันทึกของช่วงชีวิตหนึ่ง

วี วิโอเลต ในวันนั้นเคยเจอคอมเมนต์แย่ๆ ไหม

ตอนนั้นไม่ค่อย เพราะเราใหม่กับวงการมาก ความสนใจเลยไม่ได้พุ่งเป้ามาที่เรา เราค่อยๆ เติบโตเป็นขั้นบันได ค่อยๆ เรียนรู้ไป ในทางกลับกัน ถ้าคนรู้จักเราเท่าวันนี้ในตอนนั้นคงโดนด่าไปแล้ว คงต้องมีคนบอกว่า “อะไรเนี่ยคนนี้ ช่างเป็นคนแข็งกร้าวอะไรเช่นนี้”

แล้วในวันนี้ล่ะ

เอาจริงๆ ไม่รู้เลย เพราะเลิกอ่านไปประมาณหนึ่งแล้ว เมื่อก่อนเราอ่าน เป็นแบบอ่านและไม่อ่านในเวลาเดียวกัน ใจบอกว่าอย่าอ่านแต่ก็อดไม่ได้ที่จะเข้าไปดู มันเลยกลายเป็นอ่านบ้างไม่อ่านบ้าง

เรารู้ว่าตัวเองเซนซิทีฟมาก กลัวจะเจอคอมเมนต์ที่แย่จริงๆ แม้เราจะดูแข็งแกร่งขนาดไหน แต่ถ้าเจออะไรที่ตรงจุดจริงๆ ก็คงไม่ไหวเหมือนกัน ถ้าไม่มีอะไรสำคัญหรือร้ายแรงจริงๆ ก็เลยจะพยายามไม่เข้าไปดู

เมื่อกี้คุณบอกว่า อัลบั้มเป็นเหมือนช่วงชีวิตหนึ่งของศิลปิน แล้วอัลบั้มใหม่ที่กำลังจะออกเดือนหน้าเป็นช่วงชีวิตไหนของคุณ

อัลบั้มนี้มีวีในหลายยุคมาก ถ้าฟังเพลงจะรู้สึกเลยว่ามันคนละช่วง เมื่อก่อนเราจะมีความแบบ ฉันว่าฉันดาร์ก ฉันมีความสวยงามในความมืด มันเป็นความคิดตอนเด็กๆ ว่าดาร์กแล้วจะเท่ ทั้งที่ตอนนี้เราเป็นคนสดใส เป็นคนสว่างกว่าที่คิดไว้เยอะ สีของอัลบั้มเลยมีทั้งความมืดและความสว่างในเวลาเดียวกัน พอมันมียุคที่ต่างกันขนาดนั้น เราเลยต้องหาจุดเชื่อมตรงกลางที่ครึ้มๆ ถ้าเปรียบกับท้องฟ้า เราต้องมีเฉดสีฟ้าให้ครบประมาณหนึ่ง อยู่ๆ จะเป็นสีสองขั้วแล้วกระโดดข้ามไปเลยไม่ได้ 

พอทำมาเรื่อยๆ เราก็เริ่มเห็นว่าขาดเหลืออะไร เรื่องคือตามอารมณ์ ส่วนสไตล์มีตามโจทย์บ้าง อย่างเรารู้ตัวว่าไม่ค่อยมีเพลงเต้นเท่าไหร่ ลองทำเพลงที่เร็วขึ้นมาหน่อยไหม แต่เอ๊ะ ยังขาดเพลงแนวเฉลิมฉลองนะ เวลาไปเล่นตามงาน บางทีก็รู้สึกว่าเพลงเรามันไม่ได้เข้ากับงานแบบนี้เนอะ เลยอยากมีเพลงให้กำลังใจ เป็นเพลงเฟสติวัล เพลงกว้าง Confeitti พุ่งๆ อัลบั้มนี้ก็ยังมีไม่ครบแน่นอน รออัลบั้มหน้าแล้วกัน (หัวเราะ)

แปลว่าคุณไม่ได้คิดแค่ว่าจะแต่งเพลงอะไร แต่มองไกลไปถึงว่าจะเอามันไปร้องยังไง ร้องที่ไหน

เวลาเราทำเพลงออกไป เราต้องร้องเพลงนั้นไปตลอดชีวิต แล้วถ้าเราไม่แฮปปี้กับเพลงนั้น เราจะทนร้องมันไปตลอดชีวิตได้เหรอ เราเลยต้องทำเพลงที่ตัวเองชอบจริงๆ เพลงที่เราจะสนุกกับการเล่นสด

หลายครั้งตอนเราเขียน ตอนทำดนตรี เราชอบจินตนาการว่าตัวเองอยู่ในเทศกาลดนตรี มิติของเพลงเราจะใหญ่ๆ สเปซกว้างๆ เพราะในหัวเราคือเล่นเฟสติวัลอยู่ตลอด เราชอบอารมณ์ของมัน เวทีใหญ่ๆ คนดูที่มาดู เวลาไปเล่น Big Mountain หรือ Cat Expo จะรู้สึกว่า นี่แหละที่ฉันรอมาทั้งชีวิต เลยชอบทำเพลงที่ทำให้ความรู้สึกเราเป็นเหมือนตอนอยู่ตรงนั้น ผลก็คือแทบไม่ได้เตรียมเพลงไว้สำหรับผับห้องแคบเลย

พอต้องมีอัลบั้มเดี่ยวขึ้นมาจริงๆ คุณหยิบเอาเรื่องไหนในชีวิตมาเล่า

เราเขียนเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วกระทบกับความรู้สึกตัวเอง เรื่องบางเรื่องเอาความรู้สึกมาแต่งเป็นเรื่องใหม่ เรื่องบางเรื่องเป็นความจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ อัลบั้มที่กำลังจะออกพูดถึงความรักที่ไม่ได้ไปต่อ มันเป็นห้วงหนึ่ง เป็นจังหวะหนึ่งของชีวิต แต่ไม่มีความรักไหนที่อยู่กับเราเลย 

เพลงที่ปล่อยมาแล้วก็มี Drive เล่าถึงรักที่ไปต่อไม่ได้ Smoke คือความลุ่มหลงมากๆ ส่วน Brassac เป็น Summer Love พอแต่งๆ ไปมันอยู่ด้วยกันได้โดยที่เราไม่ได้เริ่มจากคอนเซปต์ สุดท้ายฟังไปเรื่อยๆ ก็เลยรู้ว่าคืออะไร มันคือความรักที่ไม่ได้อยู่กับเราไปตลอด แต่จะเป็นความทรงจำ เป็นเหมือนบันทึกของเราที่ไม่ใช่แค่ช่วงชีวิตเดียว จะเห็นว่าเราโตขึ้นยังไง

แล้วคุณโตขึ้นยังไง

ถ้าฟังเพลงที่ปล่อยไปแล้วจะเห็นเราเป็นสามยุค Drive คือยุคแรกสุด ดาร์กๆ หม่นๆ มีความเจ็บปวด ตอนนั้นอายุประมาณยี่สิบเอ็ด ยี่สิบสอง เราเป็นคนทำตามอารมณ์ ทำตามอารมณ์มากๆ บูชาความรัก จริงๆ เราว่าตัวเองเป็นคนสดใสมานานแล้วแหละ แต่จะมีความสวยงามในความมืดหม่นบางอย่างที่เราชอบ ชอบความดราม่า การเค้นอารมณ์ ฆ่าฉันให้ตายเลยด้วยเพลงของเธอ เวลาเขียนเพลงเราจะใจร้ายมาก สมัยนั้นรู้สึกว่าความดาร์กมันเท่ ลานา เดล เรย์ (Lana Del Rey) คือแม่ (หัวเราะ) ทั้งๆ ที่ชีวิตจริงไม่ได้มืดหม่นเลย มีความสุข ไปมหาลัยฯ อยู่กับเพื่อน อาจจะมีช่วงอกหัก เป็นช่วงเทิดทูนความรัก 

ต่อมาเป็นช่วงอายุยี่สิบสาม ยี่สิบสี่ ยังมีความดาร์กอยู่แต่เบาขึ้นเยอะ เราเริ่มเขียนอะไรในแง่บวกมากขึ้น อย่าง Smoke จริงๆ คิดว่าจะออกมาเป็นเพลงสว่างเลย แต่แรกๆ ยังมือหนักอยู่ เรายังไม่ชินมือกับการทำดนตรีแบบนั้น ส่วน Brassac เขียนไล่เลี่ยกัน แต่ดนตรีเพิ่งมาขึ้นทีหลัง เลยจะเห็นได้ว่ามันเบาขึ้น สบายขึ้น 

เรายอมรับว่าตัวเองมีความสดใสอยู่ในตัว ไม่ได้ดาร์ก เท่ เครียดอย่างเดียว ตอนที่ไปเล่นคอนเสิร์ตจะเห็นเลยว่าเพลงมันทึม มันไม่เปิด เราอยากรู้สึกมีชีวิตชีวาเวลาไปดูคอนเสิร์ต มุมมองที่มีต่อความรักในช่วงนั้นก็เปลี่ยนไปด้วย ก่อนหน้านั้นมีแฟน อกหัก แล้วเราก็เรียนรู้ที่จะอยู่คนเดียว อยู่กับเพื่อน Single and Happy เราทำตามใจตัวเอง คิดถึงสิ่งที่เราต้องการจริงๆ โดยที่ไม่ต้องไปนั่งนึกถึงความรู้สึกของอีกคนหนึ่ง เพลง Brassac เลยมีความ “We don’t need forever.” ความรักเป็นสิ่งดี และในช่วงนั้นเราไม่ได้ให้มันกับคนอื่นที่ไม่ได้สำคัญกับชีวิต เราให้กับคนใกล้ตัว เพื่อน ครอบครัว ให้กับตัวเอง เป็นช่วงที่เรามีความสุขมาก มันไม่ได้อยู่ในโฟกัสเราด้วยซ้ำว่าจะต้องคุยกับใคร 

ยุคสุดท้ายสว่างสุด เพลงยังไม่ได้ปล่อยออกมา ต้องรอฟัง มันเป็นความสว่างที่ชัดเจนมากๆ เป็นยุคที่เรามองกลับไปถึงเรื่องในอดีต แต่ไม่ได้มองด้วยความเสียดายนะ มองอย่างเข้าใจแล้วคิดว่ามันก็เป็นความทรงจำที่ดี เพลง I’d Do It Again จะมีท่อนที่บอกว่า “We were so in love but we both messed it up.” ความรักมันไม่เวิร์กเพราะ “ํYou were storm and I was fire.” เราเข้ากันไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่สุดท้ายถ้าย้อนกลับไปฉันก็จะทำเหมือนเดิม มันเป็นการพูดถึงด้วยเหตุผล ด้วยความเข้าใจ เป็นการมองย้อนกลับไปนึกถึงถึงแต่สิ่งดีๆ พอสัมภาษณ์วันนี้แล้วได้ประจักษ์กับตัวเองเหมือนกันว่า อ๋อ อัลบั้มนี้เป็นอย่างนี้นี่เอง (หัวเราะ)

เรื่องราวการเติบโตของ วี วิโอเลต ผ่านอัลบั้มเดี่ยวครั้งแรกที่อยากให้เป็นบันทึกของช่วงชีวิตหนึ่ง
เรื่องราวการเติบโตของ วี วิโอเลต กับอัลบั้มเดี่ยวครั้งแรกที่บันทึกช่วงชีวิตหนึ่งของเธอ

เพลงคุณเป็นภาษาอังกฤษหมดเลย คิดว่าจะเข้าถึงคนไทยยากไหม เพราะศิลปินหลายคนก็เคยเริ่มจากเพลงภาษาอังกฤษแล้วสุดท้ายก็เปลี่ยนมาเป็นภาษาไทย

อันนี้จริงนะ แต่ Smoke เป็นเพลงที่พิสูจน์ว่ามันไปได้ เรารีบปล่อยเพลงนี้เพราะอยากมีเพลงใหม่ไปเล่น Big Mountain ปีแรกที่เล่นเพลงนี้คนก็รู้จักบ้างไม่รู้จักบ้าง หลังจากนั้นระหว่างปีได้ไปโชว์ต่างๆ มีคลิปไวรัลจากงานคอนเสิร์ตบ้าง ต้องขอบคุณ TikTok ไม่รู้ว่าไปโผล่ในนั้นได้ยังไงเหมือนกัน (หัวเราะ) พอครบปีได้มาเล่น Big Mountain อีกครั้ง ข้อพิสูจน์คือจุดที่ปล่อยไมค์แล้วคนร้องตาม โดยที่เราไม่ต้องร้องไปด้วย 

เราว่าภาษาไม่ใช่กำแพงหรอก คนไทยก็ฟังเพลงต่างชาติ ฟังเพลงเกาหลี ถ้าอยากรู้ความหมายเราแปลได้ มันอยู่ที่ความรู้สึกมากกว่า เนื้อหาต้องโดน และใช้คำที่ไม่ยากเกินไป เราเป็นคนเล่าเรื่องชั้นเดียว ไม่ได้เล่าหลายชั้น และเพลงเราไม่มีคำยากเลย เพราะตัวเองก็ใช้คำยากไม่เป็นด้วยเวลาพูดภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน (ยิ้ม) 

นอกจากเขียนเพลงแล้ว คุณเขียนไดอารี่ด้วย

เราเคยเขียนตอนเด็กๆ ตั้งแต่ช่วงอายุประมาณสิบเอ็ดถึงสิบสี่เขียนไดอารี่ตลอด เขียนทุกวัน เคยบังเอิญไปเปิดดูแล้วแบบ นี่ฉันเขียนอะไรของฉันเนี่ย กลัวตัวเองมาก ลองนึกภาพตามนะ เด็กผู้หญิงอายุสิบสองที่อ่านหนังสือสำนักพิมพ์แจ่มใสตลอด การเขียนก็จะมีวิธีเขียนให้ดูเป็นแจ่มใสขึ้นมานิดหนึ่ง เคยพยายามจะกลับไปเขียนหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่เป็นนิสัย เพราะอะไรไม่รู้เหมือนกัน จนรอบนี้เริ่มติดแล้ว เพราะมันมีแอปฯ ในมือถือ 

ช่วงก่อนหน้านี้เรามีความรู้สึกดิ่งๆ ในตัวเอง มีน้อยใจเพื่อน น้อยใจที่บ้าน ตอนทำอัลบั้มจะมีช่วงที่เราสงสัยในตัวเองเยอะมาก เหมือนบางครั้งเราฟังคนอื่นเยอะเกินไปเลยเขว เราควรจะทำเพื่อพลีสใคร เราเลยไม่แน่ใจว่าสิ่งที่มันดีหรือยังนะ สุดท้ายเราเลยต้องการอะไรบ้างอย่างที่จะช่วยทบทวน ช่วยเรียบเรียงความคิดตัวเองอีกที บางอย่างเรารู้สึกว่ามันส่วนตัวจนไม่อยากบอกคนอื่น หรือความคิดที่เรารู้ว่ามันไม่ดี เราไม่อยากยอมรับว่าเรามี เราเลยไม่อยากพูดให้คนอื่นฟังเพราะไม่อยากถูกตัดสิน 

การมีไดอารี่ก็ช่วยทบทวนความคิด พอเขียนออกไปได้รู้ว่าเราคิดอะไร เรามองอะไรพลาดไปหรือเปล่า มันขาดตรงไหนอยู่ มีจุดที่เราเอาออกไป

อยากเล่าว่าแอปฯ นี้ดีมาก มันไม่ต้องเขียนเยอะแต่จะถามอารมณ์เราว่าวันนี้คุณรู้สึกอะไร อะไรทำให้รู้สึกแบบนั้น มีเรื่องอะไรเกิดขึ้น ใส่ข้อความหน่อย ใส่รูปหน่อย มันสร้างนิสัยให้เราถ่ายรูปเล่นนิดๆ ด้วย เพราะเราจะรู้สึกอยากให้ทุกวันมีรูปใส่เข้าไปจังเลย มันอาจจะไม่เกี่ยวกับสิ่งที่เล่าด้วยซ้ำ แต่เป็นรูปที่เราทำให้เรารู้สึกบางอย่างตอนถ่ายออกมา 

อย่างวันล่าสุดที่เขียนคือ 30 เมษายน เป็น History Mark คืออัลบั้มมาสเตอร์เสร็จทุกอย่างจริงๆ

ที่บอกว่ารู้สึกสงสัยในตัวเอง สุดท้ายคุณมีวิธีการจัดการมันอย่างไร

จริงๆ มันมีตลอดตั้งแต่เข้าวงการมา บางครั้งเราเจออะไร เราจะมุ่งหน้าไปข้างหน้า จนบางทีก็ลืมข้างหลังเหมือนกันนะ บางทีเราลืมบางอย่างของตัวเอง พอหันกลับมาจะเห็นว่า เฮ้ย ฉันมีสิ่งนี้นี่หว่า เราเลยต้องถามตัวเองว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันดีไหมนะ หรือไม่ดีวะ เพราะแต่ก่อนมันเคยดีกว่านี้ ก็เลยเกิดการเปรียบเทียบ อาจจะไม่ใช่การเปรียบเทียบกับคนอื่น แต่เป็นการเปรียบเทียบกับตัวเองอยู่ดี ซึ่งถ้าให้เรากลับไปเป็นคนเก่าคงเป็นไปไม่ได้ ประสบการณ์มันไม่เหมือนกัน ชุดความคิดก็เปลี่ยนไป สิ่งที่ทำได้คือจำสิ่งนั้นแล้วแก้ไขสำหรับวันข้างหน้า ซึ่งเรายังหยิบข้อดีบางอย่างจากตัวเองในอดีตกลับมาใช้ได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องกลับไปเป็นคนเก่า อย่างเช่นตอนเด็กๆ เรามีภาพในหัวว่าอยากโตไปเป็นคนแบบนี้ เราก็เอาสิ่งนั้นมาใช้กับตัวเองในวันนี้ ปรับวิธีการคิด วิธีการใช้ชีวิต

เรื่องราวการเติบโตของ วี วิโอเลต ผ่านอัลบั้มเดี่ยวครั้งแรกที่อยากให้เป็นบันทึกของช่วงชีวิตหนึ่ง

ภาพตัวเองในหัวที่เคยอยากเป็นตอนโตตรงกับวีในวันนี้ไหม

เราว่ายี่สิบหกมันเป็นวัยที่ไม่เคยถูกมอง เป็นวัยที่เรามองข้ามไปเลย (หัวเราะ) เราจะคิดถึงยี่สิบ ข้ามไปอีกทีก็สามสิบเลย เราไม่ได้นึกถึงช่วงตรงกลางเลย ตอนอายุยี่สิบห้าคือตกใจมาก

เพราะอะไร

มันคือครึ่งหนึ่งของยี่สิบกับสามสิบ แล้วมันเป็นอารมณ์ว่านี่ครึ่งทางแล้วนะ อีกครึ่งก็จะสามสิบแล้ว เราเคยคุยกับพ่อว่า วีใกล้สามสิบมากกว่ายี่สิบแล้วนะ พ่อบอกว่า ก็ถูกแล้ว เธอต้องใกล้สามสิบเข้าไปเรื่อยๆ เพราะเวลามันไม่เดินย้อนกลับ เธอจะกลับไปใกล้ยี่สิบไม่ได้แล้ว พอขึ้นยี่สิบหก ก็ โห อีกนิดเดียวก็สามสิบ แล้วปีนี้ที่กำลังจะยี่สิบเจ็ด มันก็มาถึงครึ่งทางของยี่สิบห้ากับสามสิบแล้ว

ทำไมการเข้าใกล้สามสิบถึงเป็นเรื่องใหญ่

เพราะเรารู้สึกว่าตัวเองยังไม่ได้โตขนาดนั้น เรายังอยากซ่า อยากไปเที่ยว ภาพบางอย่างของผู้ใหญ่มันยังไม่ตรงกับภาพเราในตอนนี้ แม้เราจะเป็นผู้ใหญ่แล้ว 

ถ้าถามตอนนี้ว่าภาพตัวเองในวัยสามสิบเป็นยังไงก็คงไม่ชัวร์ ตอบไม่ได้ เพราะไดเรกชันของชีวิตมันพาเราไปเรื่อยๆ เมื่อก่อนเราก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะมาทางนี้เหมือนกัน แต่เรารู้ว่าอยากโตไปเป็นคนแบบไหน เราอยากเป็นคนนิสัยดี เป็นที่รักของคนรอบข้าง อย่างน้อยเรารู้ว่าอยากเป็นคนแบบนี้ ไม่ว่าเราจะไปอยู่ในสภาพแวดล้อมไหนก็ตาม เราจะเป็นคนแบบนี้

เรื่องราวการเติบโตของ วิโอเลต วอเทียร์ ผ่านอัลบั้มเดี่ยวครั้งแรกที่อยากให้เป็นบันทึกของช่วงชีวิตหนึ่ง

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan