ถ้าโลกไม่มีเสียงเพลง เราคงเหงาตายกันน่าดู 

ต้องขอชื่นชมและขอบคุณความฉลาดของนักคิดสมัยก่อน ที่ทำให้เนื้อเพลงและท่วงทำนองดีด สี ตี เป่า จากนักร้องและนักดนตรี ถูกจัดเก็บในวัสดุที่ให้เสียงใกล้เคียงการดูคอนเสิร์ตอย่าง ‘แผ่นเสียง’ ขึ้นมา 

แม้ปัจจุบันเทคโนโลยีจะก้าวกระโดด จนทำให้การฟังเพลงง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก แต่สิ่งที่น่าสนใจคือเสียงเพลงจากซีดีหรืออินเทอร์เน็ต ยังเปล่งเสียงที่ใกล้เคียงกับการเล่นดนตรีสดไม่ได้ จึงไม่แปลกที่ทำไมบางคนยังถวิลหาความวินเทจจากระบบแอนะล็อกนี้อยู่ 

เราจึงอยากพาผู้อ่านไปสัมผัสคลังเก็บแผ่นเสียงรอบกรุงเทพฯ ตั้งแต่ย่านเมืองเก่า สุขุมวิท ตลอดจนรัชดาภิเษก เพื่อช่วยตอบคำถามว่า 

“ทำไมกาลเวลาจึงไม่สามารถเอาชนะแผ่นเสียงพวกนี้ได้เลย” 

Track 01

สะพานเหล็กแผ่นเสียง-เทป

ร้านแผ่นเสียงที่ยืนหยัดข้ามยุคสมัย

ย้อนไปราว 30 – 40 ปีที่แล้ว ถนนเจริญกรุง เป็นถนนที่มีร้านแผ่นเสียงกว่า 30 ร้านตั้งเรียงรายกัน จนได้รับการกล่าวขานให้เป็นถนนแผ่นเสียงขนานแท้ โดยมีสะพานเหล็กแผ่นเสียง-เทป เป็นหนึ่งในร้านแผ่นเสียงยุคบุกเบิก

  ตอนนั้น อดิศักดิ์ แต้มศิริชัย เพิ่งเรียนจบและตัดสินใจเปิดร้านแผ่นเสียงกับพี่ชาย ด้วยความหลงใหลในแผ่นเสียงมาตั้งแต่เด็ก เวลาผ่านไปกว่า 50 ปี เขายังเป็นคนเฝ้าร้านเองทุกวันและรู้จักแผ่นเสียงในร้านของตัวเองดีกว่าใคร

“ยุคนั้นเราเหมือนเป็นผู้ผลิตแผ่นเสียง เทปและแผ่นเสียงบางชุดเราก็ทำเอง มีนักร้อง นักแต่งเพลงที่เขามาเสนอขายเพลงกับเรา” อดิศักดิ์วัย 70 ปีเล่าให้เราฟังถึงบทบาทของร้านขายแผ่นเสียงยุคก่อน 

ภาพลักษณ์สุดคลาสสิกของร้านที่คงอยู่จนถึงปัจจุบัน ไม่ได้ทำให้กลุ่มลูกค้าของร้านถูกจำกัดอยู่เฉพาะแค่นักสะสมแผ่นเสียงรุ่นใหญ่เท่านั้น หลายครั้งก็มีลูกค้าวัยรุ่นมากับผู้ปกครอง ซึ่งเป็นลูกค้าของร้านตั้งแต่ยังหนุ่ม ยังสาว

สำหรับอดิศักดิ์ เสน่ห์ของแผ่นเสียงคือความชัดกังวานที่เทปหรือซีดีเทียบไม่ติด แม้ว่าทุกวันนี้โรงงานผลิตแผ่นเสียงในประเทศไทยจะปิดตัวลงไปหมดแล้ว แต่ร้านสะพานเหล็กแผ่นเสียง-เทป ยังมีแผ่นเสียงอยู่แน่นขนัด รอให้ลูกค้าเข้ามาเลือกซื้อได้ตามชอบใจ แม้แต่แผ่นเสียงสุนทราภรณ์ชุดหายากแผ่นโปรดของเขา สนนราคากว่า 5,000 บาท จากทีแรกตั้งใจจะเก็บสะสมไว้เอง แต่อดิศักดิ์ก็แอบกระซิบว่าถ้ามีคนอยากได้ไปสะสมเขายินดีขายเช่นกัน

ร้านสะพานเหล็กแผ่นเสียง-เทป

ถนนเจริญกรุง แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

เปิดบริการทุกวันจันทร์-วันเสาร์ เวลา 11.00 – 18.00 น.

ติดต่อ 02 221 9807

Track 02

น้อง ท่าพระจันทร์

ร้านแผ่นเสียงที่ไม่มีใครไม่รู้จัก

แทบไม่มีใครไม่รู้จักร้านน้อง ท่าพระจันทร์ ร้านที่ยืนหยัดอย่างหยัดยืนริมแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ปี 2522 จากความรักในเสียงเพลงของสามพี่น้องแห่งตระกูลนาคน้อย พวกเขาเปลี่ยนงานอดิเรกให้กลายเป็นอาชีพอย่างจริงจัง

นก-อนุชา นาคน้อย น้องคนสุดท้องของร้านบอกกับฉันว่า เดิมทีร้านน้องไม่ได้ขายแผ่นเสียง แต่ขายเทปคาสเซ็ต สิบกว่าปีก่อนเขาไม่คิดว่าแผ่นเสียงจะกลับมาบูมได้ แต่เมื่อได้หยิบแผ่นเสียงลงเครื่องเล่นแล้วเขากลับเปลี่ยนใจ

“เพลงๆ เดียวกันที่เราเคยฟังจากซีดี พอไปฟังกับแผ่นเสียงแล้วอรรถรสของเพลงต่างกัน แผ่นเสียงทำให้เรารู้สึกเหมือนนั่งฟังนักร้องร้องเพลงสดอยู่ตรงหน้า ฉะนั้นซีดีต้องคุณภาพดีมากถึงจะทำให้เรารู้สึกแบบนั้นได้”

นอกจากแผ่นเสียง ร้านน้องยังมีเทปและซีดีให้เลือกฟังตามชอบ ไม่ว่าจะเพลงแนวไหนร้านน้องก็หาให้คุณได้หมด ‘เพียงแค่คุณเปิดใจ’ นกจะแนะนำเพลงแนวใหม่ให้คุณได้ฟัง พูดไม่ทันขาดคำก็มีลูกค้าวัยรุ่นคนหนึ่งเดินเข้ามา เพียงบอกว่าอยากได้เพลงเป็นของขวัญวันเกิดเพื่อน นกก็ช่วยแนะนำและเลือกให้ลองฟังทันที

“เราเป็น Music Lover ไม่ใช่ Collector” น้องคนสุดท้องนิยามตัวเองและร้านน้อง ท่าพระจันทร์ 

ชวนคนรักเสียงดนตรีไปฟังเพลงยุคแอนะล็อกจาก 7 ร้านแผ่นเสียง รอบกรุงเทพฯ
ชวนคนรักเสียงดนตรีไปฟังเพลงยุคแอนะล็อกจาก 7 ร้านแผ่นเสียง รอบกรุงเทพฯ

แผ่นเสียงส่วนใหญ่ในร้านจึงเป็นเพลงเพราะแบบฉบับเขา นกไม่เน้นแผ่นเก่าหายาก เพราะราคาสูงเกินจับต้อง ความตั้งใจของเขาเพียงต้องการให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงเสียงเพลงได้อย่างง่ายดาย

“สายเลือดเราเป็นดนตรีไปเกือบหมดแล้ว ยังนึกไม่ออกเหมือนกันว่าถ้าเปลี่ยนอาชีพจะทำอะไร” นกพูดพลางชวนฉันฟังเพลง ‘Tiger in the rain’ ของ Michael Franks แผ่นเสียงสุดโปรดที่นกได้ยินมาจากร้านอาหารในวันฝนพรำ

ร้านน้อง ท่าพระจันทร์

ท่าเรือท่าพระจันทร์ (ใกล้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์-สนามหลวง)

เปิดบริการทุกวัน เวลา 11.00 – 20.00 น.

ติดต่อ 02 221 4421 / 08 6317 9889

Facebook : Nong taprachan

Instagram : @nongtaprachan1

Track 03

Bungkum House

ร้านแผ่นเสียงใจกลางทองหล่อ

ถ้าไม่มาด้วยตัวเอง คงไม่เชื่อว่า ‘Bungkum House’ จะอยู่บนชั้น 4 ของอาคารพาณิชย์ใจกลางทองหล่อ เป็นแหล่งรวบรวมแผ่นเสียงไว้หลายประเภทกว่า 3,000 แผ่น มีทั้งแผ่นเสียงมือสองและแผ่นเสียงมือหนึ่งแบบใหม่กริ๊บ

จากความฝันในวัยเด็กของ กฤติกร สิทธิชัย เขาฝันอยากจะเป็นดีเจสแครชแผ่น แม้ผันตัวไปเป็นพ่อค้าเสื้อผ้ามาแล้ว แต่กฤติกรบอกเหตุผลน่ารักในการพลิกบทบาทจากนักสะสมมาเป็นเจ้าของร้านแผ่นเสียงว่า

“ผมกลัวธุรกิจหลักเจ๊ง แล้วจะไม่มีเงินซื้อแผ่นเสียง

“แผ่นเสียงก็เหมือนศิลปะ แต่งบ้านก็ได้ เพราะดีไซน์สวย เนื้อเสียงก็เพราะกว่า เหมือนมีคนมาเล่นดนตรีสดให้ฟังถึงหน้าบ้าน” หลังจบประโยคแสดงความหลงใหล เขาเดินไปหยิบแผ่นเสียงสุดโปรด เป็นแผ่นรวมเพลงของ Sarah Record  

ชวนคนรักเสียงดนตรีไปฟังเพลงยุคแอนะล็อกจาก 7 ร้านแผ่นเสียง รอบกรุงเทพฯ

“เพลงมันก็ดีเหมือนกันหมด อย่าไปวัดกันเรื่องราคาเลย เหมือนแผ่นนี้นั่นแหละ ตอนออกมาไม่มีคนสนใจเลยนะ กลับกันตอนนี้มีแต่คนต้องการ เพราะเพลงเขาดี นั่นแสดงให้เราเห็นแล้วว่าแผ่นเสียงมันมีคุณค่าซ่อนอยู่ในตัวเอง”

ร้าน Bungkum House

ชั้น 4 Black Amber Barber shop ซอยสุขุมวิท 55 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา

เปิดบริการทุกวัน เวลา 13.00 – 21.00 น. (ยกเว้นวันจันทร์-อังคาร)

ติดต่อ 08 6606 2230

Track 04

8 Musique 

ร้านแผ่นเสียงขนาด 15 ตารางเมตร

ร้านแผ่นเสียงเล็กๆ ขนาด 15 ตารางเมตร อัดแน่นไปด้วยแผ่นเสียงนับร้อยในยุค 60 จนถึงปัจจุบัน แถมยังแฝงด้วยความหลงใหลในแผ่นเสียงของ ป๋อง-ประพันธ์ อมรพิทักษ์สุข เจ้าของร้าน 8 Musique

จากบรรณาธิการหนังสือการ์ตูน จนถึงดีเจร้านทรูและเพลย์กราวด์ เขาผันตัวออกมาเปิดร้านแผ่นเสียงของตัวเอง รู้ตัวอีกทีก็เปิดร้านได้ 7 ปีแล้ว ป๋องบอกว่าเพลงจากแผ่นเสียงไพเราะ เสียงแต๊กๆ เป็นหมัดเด็ดมัดใจเขา

แม้ปัจจุบันคนจะฟังเพลงง่ายเพียงนิ้วคลิก แต่เขากลับตอบอย่างภูมิใจว่าแผ่นเสียงระบบแมนวลมีเสน่ห์กว่ามากราวกับมันมีชีวิต อาร์ตเวิร์กและลูกเล่นของปกแผ่นเสียงก็นับเป็นเอกลักษณ์ที่หาไม่ได้จากการฟังเพลงแบบสตรีมมิ่ง

เมื่อถามถึงแผ่นเสียงที่ป๋องรักมากที่สุด ชายหนุ่มเดินไปหยิบแผ่นซาวนด์แทร็กจากหนังเรื่อง ‘500 Days of Summer’ ออกมา บอกเลยว่ามีเพียง 2 แผ่นในประเทศไทยเท่านั้น! 

คำตอบสุดเท่ของป๋องที่มีต่อวงการแผ่นเสียงและเหตุผลที่เขายังคงเปิดร้านนี้อยู่ก็คือ 

“เอาน่า อย่างน้อยถ้าฝรั่งยังผลิต เราก็คิดว่ายังมีคนซื้อ” 

ร้าน 8 Musique 

ชั้น LG ตึก Eight ทองหล่อ ซอยสุขุมวิท 55

เปิดบริการทุกวัน เวลา 11.00 – 21.30 น.

Line : 8musique

Track 05

ร้านแผ่นเสียง

ร้านแผ่นเสียงในบ้าน บ้านในร้านแผ่นเสียง

บ้านปูนสีขาวสองชั้นทรง 70 ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ท่ามกลางสนามหญ้าสีเขียว มีร้านกาแฟขนาดเล็กอยู่ด้านข้าง ล้อมรอบด้วยกำแพงสีขาวสะอาดตา ดูไปดูมาเหมือนเป็นบ้านคนมากกว่าจะเป็น ‘ร้านแผ่นเสียง’ 

ชวนคนรักเสียงดนตรีไปฟังเพลงยุคแอนะล็อกจาก 7 ร้านแผ่นเสียง รอบกรุงเทพฯ

  แต่ใครจะเชื่อว่าบ้านหลังนี้แหละที่พาเราย้อนเวลากลับสู่ยุครุ่งเรืองของแผ่นเสียงอีกครั้ง!

  ร้านแผ่นเสียงในบ้านหลังสวยชื่อตรงตัวว่า ร้านแผ่นเสียง เป็นบ้านในร้านเป็นร้านในบ้านของ นก-พงศกร ดิถีเพ็ง ชายผู้เติบโตมากับเสียงเพลง เทป แผ่นเสียง และซีดี โดยเฉพาะแผ่นเสียง ‘เขิน’ ของวงแกรนด์เอ็กซ์ ทำให้เขาตกหลุมรักเสียงเพลงมากกว่าเดิม แม้จะทำงานมาสารพัดอย่าง สุดท้ายเขาก็กลับมาตายรังที่อาชีพนี้ อาชีพที่ทำงานกับเสียง  

“แสดงว่าผูกจิตมาตั้งแต่ชาติก่อน” นกบอกอย่างภูมิใจ

ชายเจ้าของบ้านบางทีก็เป็นชายเจ้าของร้านพาเราเดินสำรวจร้านแผ่นเสียง ภายในถูกแบ่งออกเป็น 3 ห้อง แต่ละห้องประดับด้วยปกแผ่นเสียง ห้องกลางเป็นห้องแผ่นเสียงผลิตใหม่ ส่วนห้องซ้ายเป็นห้องแผ่นเสียงเก่า มีเครื่องเล่นแผ่นเสียงและโซฟาห้องละ 1 ตัว บริการสำหรับคนรักแผ่นเสียงมานั่งหย่อนใจ ส่วนห้องฟังเพลงด้านขวาเราขอยกให้เป็นไฮไลต์ เมื่อนกเปิดม่านให้เราดูก็พบว่าเป็นมุมนั่งฟังเพลง เหมาะกับการทอดสายตาและดื่มด่ำกับบรรยากาศเป็นที่สุด         

ชวนคนรักเสียงดนตรีไปฟังเพลงยุคแอนะล็อกจาก 7 ร้านแผ่นเสียง รอบกรุงเทพฯ
ชวนคนรักเสียงดนตรีไปฟังเพลงยุคแอนะล็อกจาก 7 ร้านแผ่นเสียง รอบกรุงเทพฯ

ทีเด็ดของร้านคือมีแผ่นเสียงเก่าหายากจำนวนมากชนิดว่านับไม่ถ้วน แผ่นเสียงส่วนใหญ่เป็นแผ่นเพลงสากล แต่เพลงไทยก็มีมาก แม้นกจะเป็นสายเพลงร็อกสากลยุคเก่าหน่อย แต่เขาก็ฟังเพลงใหม่ทั้งไทยและเทศ 

“เดี๋ยวจะหาว่าลุงไม่ทันสมัย” พูดพลางเขาก็เดินไปเปิดเพลงของอะตอม ชนกันต์ให้ฟังพร้อมยิ้มร่า 

ไม่ว่าคุณจะเป็นวัยเก่าหรือวัยเก๋า เพียงเปิดบ้านเดินเข้ามา ‘ร้านแผ่นเสียง’ รับรองว่าไม่ผิดหวังแน่นอน

เลขที่ 3 ซอยประดิพัทธ์ 19 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร

เปิดบริการทุกวัน เวลา 11.00 – 19.00 น. 

ติดต่อ 08 1875 5888

Facebook : ร้านแผ่นเสียง Record Shop

Track 06

ไวนิลลิกา

ร้านแผ่นเสียงที่สร้างเพื่อนด้วยดนตรีร็อก

นี่คือร้านแผ่นเสียงสไตล์ร็อกสุดโต่งใจกลางศูนย์การค้า ฟอร์จูนทาวน์ ภายในห้องสี่เหลี่ยมเต็มไปด้วยแผ่นเสียงแนว Heavy Metal วางเรียงรายท่ามกลางแสงไฟสลัวอยู่กลางร้าน ดนตรีอันดุดัน หนักแน่น และถึงใจ ถูกปล่อยออกมาตั้งแต่เรายังไม่ก้าวเข้าไป บอกได้เลยว่า ‘โคตรมันส์ โคตรดุ โคตรเท่’ 

ชวนคนรักเสียงดนตรีไปฟังเพลงยุคแอนะล็อกจาก 7 ร้านแผ่นเสียง รอบกรุงเทพฯ

แต่เจ้าของร้านไวนิลลิกา (Vinyllica) ไม่ได้ดูดุดันแข็งกร้าวเลยสักนิด ตรงกันข้าม เขาพูดถึงแผ่นเสียงยุคเก่า แนะนำเพลงจัดจ้านอย่างเป็นกันเอง รวมถึงสอนวิธีทำความสะอาดแผ่นเสียงสุดละเอียดให้กับลูกค้าที่เขาเรียกว่า ‘เพื่อน’ อย่างใกล้ชิด แม้ วี-วีระ เวชวิชานิยม จะเปิดธุรกิจมาแล้ว 12 ปี แต่ความตั้งใจที่อยากให้ร้านแผ่นเสียงของเขาเป็นพื้นที่สร้างเพื่อนคอเดียวกันก็ยังคงเป็นจุดประสงค์หลักในการดำเนินกิจการ

“ลูกค้าบางคนมาคุยกับเราเป็นชั่วโมงไม่ซื้อสักแผ่นก็มี เราไม่เคยว่า สนุกด้วยซ้ำ วันนี้เขาไม่ซื้อ วันหน้าเขาอาจมาซื้อก็ได้ แต่เราได้ผูกความสัมพันธ์กันไว้แล้ว” วีระเล่าด้วยรอยยิ้มละมุน

ชวนคนรักเสียงดนตรีไปฟังเพลงยุคแอนะล็อกจาก 7 ร้านแผ่นเสียง รอบกรุงเทพฯ
ชวนคนรักเสียงดนตรีไปฟังเพลงยุคแอนะล็อกจาก 7 ร้านแผ่นเสียง รอบกรุงเทพฯ

ชายคนนี้ผ่านมาแล้วหลายบทบาท ตั้งแต่ขายคอมพิวเตอร์ ไปจนถึงคลุกคลีอยู่ในแวดวงการเมือง เมื่อถึงจุดหนึ่งเขาเลือกหยิบจับสิ่งที่เกิดมาก็เห็นเลยอย่างแผ่นเสียง ที่ซึมซับจากคุณพ่อมาตั้งแต่จำความได้ ผสมกับวงดนตรีสไตล์ร็อกที่ชอบตั้งแต่สมัยเรียนอย่างวง ‘Metallica’ มาตั้งเป็นชื่อร้าน โดยนำคำว่า Vinyl รวมกับคำท้ายของชื่อวงดนตรีโปรด

นั่นคงเป็นเหตุผลที่อัลบั้ม ‘Kill ‘​Em All’ ของ Metallica จะเป็นแผ่นเสียงเดียวจากอีกหลายพันแผ่นในร้าน ที่เขาเลือกหยิบและอินทุกครั้งที่ได้ฟัง

ร้านไวนิลลิกา (Vinyllica)

ชั้น 3 ฟอร์จูนทาวน์ ติดลิฟท์แก้ว 1 ถนนรัชดาภิเษก ดินแดง กรุงเทพมหานคร

เปิดบริการทุกวัน เวลา 11.00 – 21.00 น.

ติดต่อ 02 058 0434

Facebook : Vinyllica Shop,Fortune Town

Track 07

Hall of Frame Records

ร้านแผ่นเสียงที่ไม่เคยหยุดเล่น

“เรามีเครื่องเล่นแผ่นเสียงให้ลองคุณภาพแผ่นก่อน เพราะเราอยากเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้มีแผ่นที่ใช่จริงๆ”

ประโยคข้างต้นของ กฤษณ์ สังขปรีชา เจ้าของร้าน Hall of Frame Records (HOF) ไม่มีการใช้คำว่าซื่อสัตย์หรือจริงใจอยู่ในประโยคสักนิด แต่ฟังแล้วกลับเชื่ออย่างสนิทจนน่าแปลกใจ

เมื่อได้รู้ว่าชื่อของ HOF อยู่คู่คอเพลงมาตั้งแต่ปี 2542 ก็ยิ่งไม่น่าแปลกใจเข้าไปใหญ่ เพราะกฤษณ์เริ่มขายเทปเพลง ซีดี และแผ่นเสียงมาหลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ เขาผ่านการย้ายร้านมาแล้วถึง 5 ครั้ง เจอประสบการณ์ขายไม่ออก ห้องเล็กไป ค่าเช่าแพง กว่าจะเจอสถานที่ที่ชอบ ในเวลาที่ใช่ 

ปัจจุบัน HOF เป็นคลังดนตรีที่ทุกสัปดาห์จะมีแผ่นเสียงสุดเจ๋งหลากแนวเพลงมาลงเพิ่มอยู่เสมอ เหมือนกับตอนนี้ฉันกำลังฟังเพลงแนวอินดี้อย่าง Dancing in the Moonlight ของวง Toploader ที่กฤษณ์พึ่งได้มาสดๆ ร้อนๆ (บอกเลยว่าเพราะมาก) แต่ไม่ใช่ฉันคนเดียวนะที่ฟัง เพราะลูกค้าคนอื่นในร้าน ก็โยกย้ายออกสเต็ปตามจังหวะเสียงเพลงเช่นกัน

ชวนคนรักเสียงดนตรีไปฟังเพลงยุคแอนะล็อกจาก 7 ร้านแผ่นเสียง รอบกรุงเทพฯ
ชวนคนรักเสียงดนตรีไปฟังเพลงยุคแอนะล็อกจาก 7 ร้านแผ่นเสียง รอบกรุงเทพฯ

ถ้าถามว่าเขาหลงใหลแผ่นเสียงมาตั้งแต่ตอนไหน ก็คงเป็นตอนอายุ 12 ปี ในขณะที่เด็กชายกฤษณ์นั่งฟังวิทยุแล้วบังเอิญเจอเพลง Time ของ Pink Floyd ที่เปิดโลกทัศน์ ทำให้เด็กชายคนนี้จินตนาการถึงความตื่นเต้นของโลกภายนอกอย่างใสซื่อและไร้ความกังวล

แถมวันนี้อัลบั้ม Dark Side of the Moon ที่มีเพลง Time เป็นหนึ่งในเพลย์ลิสต์ ก็ยังคงอยู่ในมือเขา ราวกับไม่เคยหายไปจากชีวิตเลยด้วยซ้ำ

“อยากลองฟังไหม?” เขาถาม

 แน่นอน เราตอบรับ 

.

.

.

โห 

โคตร

_ (จงเติมคำในช่องว่าง)

ลองไปฟังกันดูนะ

ร้าน Hall of Frame Records (HOF) 

3058 ชั้น 3 ฟอร์จูนทาวน์ ถนนรัชดาภิเษก ดินแดง กรุงเทพมหานคร

เปิดบริการทุกวัน เวลา 12.00 – 20.00 น.

ติดต่อ 08 1844 9709

www.hof-records.co

เรื่อง : พัชญ์สิตา ไพบูลย์ศิริ, นิธิตา เอกปฐมศักดิ์, สาริศา เลิศวัฒนากิจกุล, ฉัตรชนก ชัยวงค์, ฉัตรชนก ชโลธรพิเศษ

ภาพ : ปวรุตม์ งามเอกอุดมพงศ์, กรริน วิจิตรประไพ

Writer & Photographer

Avatar

The Cloud

นิตยสารออนไลน์ที่เล่า 3 เรื่องหลักอย่าง Local, Creative Culture และ Better Living ส่งเนื้อหารายวัน แต่เสิร์ฟความประณีตแบบนิตยสารรายเดือน