ภาพถ่ายมนุษย์คนแรก ถ่ายในกรุงปารีสเมื่อ พ.ศ. 2382 (ค.ศ. 1839) หรือ 180 ปีที่แล้ว โดยจิตรกรฝรั่งเศสชื่อ นายหลุยส์ ฌาก มองด์ ดาแกร์ (Louis Jacques Mande Daguerre)

แม้ตัวตายแต่ชีพยัง ชื่อของเขากลายเป็นคำเรียกวิธีถ่ายภาพ ที่ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการถ่ายภาพ คือ ดาแกโรไทป์ (Daguerreotype) ที่มีเพียงก๊อปปี้เดียวในโลก ทำซ้ำไม่ได้ ก่อนจะพัฒนามาเป็นการถ่ายภาพหลากหลายวิธีต่อมา เช่น วิธีกระจกเปียก กระจกแห้ง ออโตโครม (Autochrome) ถ่ายโอนสีย้อม (Dye Transfer) และวิธีอื่นๆ ที่ค่อยๆ พัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ

การถ่ายภาพยุคแรกไม่ใช่ของง่าย ทั้งขั้นตอนการเตรียมและการถ่าย ช่างภาพต้องมีความรู้ทั้งด้านเคมี ฟิสิกส์ และคณิตศาสตร์ ใช้การคิดคำนวณและประสบการณ์ และต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะการถ่ายภาพระบบดาแกโรไทป์ต้องใช้เวลานานในการขัดแผ่นเงิน ใช้เวลาเปิดรับแสงนาน อีกทั้งยังมีการใช้ไอปรอทสร้างภาพ ไอปรอทเป็นพิษต่อร่างกาย คืออาจทำให้ตาบอดและเกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โลกใช้เวลา 2 ศตวรรษพัฒนาวิทยาการถ่ายภาพ จนถึงปัจจุบันที่แตะเพียงปุ่มเดียวใครๆ ก็บันทึกภาพได้ แชร์ภาพให้เพื่อนได้ในเสี้ยววินาที

อรรถดา คอมันตร์, ภาพถ่ายโบราณ, รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5

ตั้งแต่วิทยาการถ่ายภาพแบบดาแกโรไทป์เข้ามาในสยามเมื่อ พ.ศ. 2388 บทบาทของภาพถ่ายไม่เพียงเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ แต่ทำหน้าที่เป็นกุศโลบายทางการทูต เป็นข้อมูลทางการทหาร เป็นของขวัญแก่กันทั้งในระดับคนชั้นสูงและสามัญชน นอกจากเรื่องราวบนภาพถ่าย คำถามที่ว่า ใครเป็นคนถ่าย ถ่ายอย่างไร ถ่ายจากมุมไหนจึงได้ภาพเช่นนี้ ก็น่าสนใจไม่น้อย

อรรถดา คอมันตร์ นักสะสมภาพถ่ายและเอกสารโบราณยุครัชกาลที่ 4 และ 5 เป็นผู้หนึ่งที่ไม่เพียงเก็บสะสม แต่ศึกษาค้นคว้าจากทั้งหนังสือและผู้รู้ เพื่อเข้าใจอดีตของสยามและตอบคำถามต่างๆ ข้างต้นผ่านหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างภาพถ่าย อะไรคือปัจจัยที่ดันราคาภาพถ่ายเก่าให้แพงระยับ อะไรคือบทบาทของภาพถ่ายต่อสังคมไทยในยุคนั้น พร้อมเปิดคลังสะสมชมภาพถ่ายและเอกสารโบราณ 13 ชิ้นที่โดดเด่นเป็นพิเศษของเขาจากทั้งหมดหลายพันชิ้น

อรรถดา คอมันตร์, ภาพถ่ายโบราณ, รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5

เส้นทางความหลงใหลของโบราณ

คุณอรรถดาเริ่มสะสมแสตมป์และเหรียญตั้งแต่วัยเรียน ด้วยเหตุที่โรงเรียนอยู่ใกล้ไปรษณีย์กลางที่บางรัก แหล่งขายแสตมป์ เด็กชายอรรถดาจึงใช้ชีวิตหลังเลิกเรียนเตะบอลกับเพื่อน สลับกับไปเดินดูร้านขายของเก่าในบางวัน เริ่มซื้อของเล็กๆ น้อยๆ ด้วยเงินค่าขนม เพื่อนรุ่นเดียวกันบางคนเน้นเก็บแสตมป์ในรัชกาลปัจจุบัน (ตอนนั้นคือรัชกาลที่ 9) แต่คุณอรรถดาเน้นเก็บแต่แสตมป์ยุคแรกเริ่ม คือยุครัชกาลที่ 5

เมื่อเห็นว่าลูกชายจริงจัง คุณแม่จึงยอมให้สมุดแสตมป์โบราณของครอบครัว คุณอรรถดาเกิดแรงบันดาลใจ เก็บสะสมต่อเนื่องจากจุดนั้น

อรรถดา คอมันตร์, ภาพถ่ายโบราณ, รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5

“บรรพบุรุษผมรับราชการ ในบ้านเลยมีซองจดหมายเก่า แสตมป์ โปสต์การ์ด แทนที่จะไปเสียเงินซื้อ เราก็ค่อยๆ ตะล่อม ขอหน่อย แต่ส่วนใหญ่จะไม่ได้ครับ” คุณอรรถดาหัวเราะชอบใจ “อะไรก็ตามที่คุณแม่ยอมให้มา ผมเก็บไว้แบบนั้นเลย ความรู้สึกตั้งแต่เด็กคือ เราชอบของที่เป็นต้นฉบับ ไม่อยากทำลาย”

แม้ไม่ได้เรียนสาขาสถาปัตยกรรมหรือโบราณคดีอย่างที่ชอบ และเลือกศึกษาด้านธุรกิจเพื่อรับช่วงกิจการของครอบครัว แต่คุณอรรถดายังคงหลงใหลใน ‘ของเก่า’ เขาเริ่มเก็บเอกสารโบราณเมื่อไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา เริ่มจากโปสเตอร์หนัง จนเมื่อเห็นของจากเอเชียตามตลาดขายของเก่า (Flea Market) ทำให้เขาเริ่มตามเก็บทุกอย่างตั้งแต่หนังสือพิมพ์ โปสการ์ด ป้ายสังกะสี และภาพถ่าย แต่ของจากไทยค่อนข้างมีน้อย

อรรถดา คอมันตร์, ภาพถ่ายโบราณ, รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5 อรรถดา คอมันตร์, ภาพถ่ายโบราณ, รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5

เมื่อเข้าสู่วัยทำงาน เขาเริ่มเล่นรถโบราณถึงขั้นสั่งซื้ออะไหล่ทางอินเทอร์เน็ตมาซ่อมรถเอง

“คุณพ่อซื้อรถใหม่ให้ ผมขาย เอาเงินไปซื้อรถคลาสสิกแทน ก็โดนว่าพอสมควร” คุณอรรถดายิ้ม เขาทำรถเสร็จคันหนึ่งๆ จะมีคนเรียงคิวขอซื้อต่อ เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักพอสมควรในวงการนักเล่นรถคลาสสิก และเคยเป็นกรรมการสมาคมรถโบราณ นอกจากรถคลาสสิก คุณอรรถดายังเก็บสะสมเฟอร์นิเจอร์และภาพถ่ายโบราณไปพร้อมๆ กัน

“ผมชอบงานสถาปัตยกรรม ชอบงานไม้ ส่วนหนึ่งที่เริ่มสะสมเฟอร์นิเจอร์เพราะเห็นจากภาพถ่ายสมัยนั้น เขาแต่งบ้านกันอย่างไร พอเห็นแล้วชอบ ก็เก็บมาเรื่อยๆ”

อรรถดา คอมันตร์, ภาพถ่ายโบราณ, รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5

สำหรับภาพถ่ายโบราณ เขาเก็บสะสมอย่างจริงจังมากว่า 20 ปีแล้ว

คุณอรรถดาเล่าว่า หมอสอนศาสนา นักสำรวจ นักธรรมชาติวิทยา แพทย์ และพ่อค้า เป็นผู้นำความรู้เรื่องการถ่ายภาพแบบดาแกโรไทป์แพร่กระจายไปประเทศอื่นๆ รวมทั้งประเทศสยามในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่ความรู้เรื่องการถ่ายภาพเข้ามาราว พ.ศ. 2388 โดยท่านสังฆราชปัลเลอกัวซ์และบาทหลวงลาร์โนดี แต่ชาวสยามยุคนั้นถือว่าการถ่ายรูปเท่ากับทอนอายุให้สั้นลง จึงไม่มีหลักฐานปรากฏว่ามีภาพถ่ายของสยามในสมัยนั้นเลย

ปัจจุบัน ภาพถ่ายสยามสมัยรัชกาลที่ 4 และ 5 กลายเป็นของสะสมที่มูลค่าเพิ่มตามเวลา ยุคราวร้อยกว่าปีถึงร้อยหกสิบปีมาแล้วสยามเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เพราะเป็นช่วงประเทศตะวันตกออกล่าอาณานิคม บางคนเรียกยุควิกตอเรียนหรือยุคโคโลเนียล คุณอรรถดากล่าวว่า เขาชอบของจากยุคนั้น (ศตวรรษที่ 19) เป็นพิเศษ เป็นยุคผสมผสานระหว่างตะวันตกกับตะวันออก

“ตั้งแต่ยุคที่เราทำสนธิสัญญาเบาว์ริง พ.ศ. 2398 เป็นต้นมา ฝรั่งเริ่มเข้ามามีอิทธิพลกับทั้งสถาปัตยกรรมและงานช่างแขนงต่างๆ พวกภาพถ่ายก็เริ่มช่วงนั้นพอดี จริงๆ การถ่ายภาพเข้ามาในยุครัชกาลที่ 3 แต่ยังไม่ถ่ายกันจริงจัง ตามหลักฐานที่พบก็คือ รัชกาลที่ 4 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ฉายพระบรมรูป” คุณอรรถดากล่าว นั่นเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ทำให้ขุนนางและไพร่ฟ้าประชาชนเห็นว่า ถ่ายรูปแล้วไม่เป็นอะไร

อรรถดา คอมันตร์, ภาพถ่ายโบราณ, รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5

“สมัยรัชกาลที่ 4 คนที่ถ่ายภาพเป็นจริงๆ ที่เป็นคนไทย อาจมีแค่ 2 – 3 คนทั่วประเทศ อาจมีฝรั่งอีกไม่เกิน 10 คน พอเข้าต้นรัชกาลที่ 5 อาจจะหลายสิบคน ช่วงกลางถึงปลายรัชกาล พระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ก็ถ่ายภาพได้แล้ว พอเข้ารัชกาลที่ 6 และ 7 คนที่ถ่ายภาพเป็นคงมีหลายพันคน” คุณอรรถดาอธิบายเรื่องความนิยม

‘ยุคทอง’ ของการถ่ายภาพคือสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ทรงศึกษาวิธีการถ่ายภาพอย่างละเอียด ทรงจัดให้มีการประกวดภาพถ่าย ต่อเนื่องไปถึงยุครัชกาลที่ 6 และ 7 ที่พระมหากษัตริย์ไทยทั้งสองพระองค์ทรง ‘เล่นกล้อง’ และทรงใช้ภาพถ่ายเป็นส่วนหนึ่งในการบันทึกสภาพความเป็นอยู่ของพสกนิกร จำนวนคนที่ถ่ายภาพเป็นและร้านถ่ายภาพ เพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ และยังมีจำนวนมากที่ตกทอดมาให้ชาวไทยปัจจุบันได้ศึกษาอดีต

ภาพถ่ายโบราณของไทยส่วนหนึ่งในครอบครองของคุณอรรถดา เขาใช้เวลาและทรัพย์สินส่วนตัวไป ‘ตามกลับมา’ จากต่างประเทศ ผ่านช่องทางการประมูล ร้านขายของโบราณ และตลาดขายของมือสอง เรียกได้ว่าเขาเสาะหาของจากตลาดทุกระดับ

อรรถดา คอมันตร์, ภาพถ่ายโบราณ, รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5

ภาพถ่ายและของโบราณของไทยอื่นๆ ไปอยู่ต่างประเทศได้อย่างไร

คุณอรรถดาตอบว่า “ก็มีทั้งไปแบบถูกต้องและไม่ถูกต้อง แบบถูกต้องก็คือสมัยโบราณเราส่งราชทูตไป มีของไปเป็นเครื่องมงคลราชบรรณาการ หรือฝรั่งที่เข้ามารับราชการในสยาม พอถึงเวลากลับประเทศ เขาเอาของของไทยกลับไปด้วย ทั้งของที่เขาได้รับพระราชทานและของต่างๆ ที่เขาซื้อเอง

“ของหลายชิ้นที่ผมได้มามีประวัติระบุไว้ เช่น ได้มาจากบ้านกงสุลอเมริกันที่เคยอยู่ในไทย พอเขาเสียชีวิต ลูกหลานบางคนเอาออกมาขาย แบบนี้ก็มี หรือเป็นของที่ติดตามไปกับนักเรียนไทยที่ไปเรียนต่อต่างประเทศในสมัยนั้น อาจจะไม่ได้นำกลับหรือมอบให้เพื่อนไว้ เพราะช่วงรัชกาลที่ 4 – 7 หนึ่งในของขวัญที่ให้กันง่ายคือภาพถ่าย เขามอบภาพถ่ายให้กันเป็นที่ระลึก ตั้งแต่ระดับพระมหากษัตริย์จนถึงสามัญชนที่มีโอกาสไปต่างประเทศ มีลายเซ็น อีกวิธีที่ของไทยจะไปอยู่ต่างประเทศคือ งานแสดงสินค้าจากต่างประเทศที่เรียกว่างานเอ็กซ์โป”

อรรถดา คอมันตร์, ภาพถ่ายโบราณ, รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5

ปัจจัยที่กำหนดราคาภาพถ่ายโบราณ

ภาพถ่ายโบราณแต่ละใบมีราคาต่างกัน บางชิ้นราคาหลักล้าน แล้วอะไรเป็นสิ่งกำหนดราคา

“ภาพถ่ายโบราณของไทยโดยเฉพาะของช่วงรัชกาลที่ 4 และ 5 เท่าที่ผมสัมผัสมา ผมคิดว่าราคาอยู่ในระดับสูงสุดทั่วโลก ทั้งในการประมูลและร้านค้าต่างประเทศ สาเหตุเพราะมีคนมาถ่ายภาพในเมืองไทยน้อย ตอนนั้นการถ่ายภาพยังเป็นของใหม่ คนที่มาถ่ายภาพส่วนใหญ่เป็นฝรั่งมีชื่อเสียง ภาพจึงมีมูลค่าในแง่ความเป็นศิลปินด้วย

“ผมเคยอ่านหนังสือเจอว่าภาพถ่ายโบราณสมัยศตวรรษที่ 19 ของทั่วโลก ทุกวันนี้อาจจะเหลืออยู่ไม่ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ แล้วของไทยล่ะ ยิ่งน้อยลงไปอีก ปัจจุบันจะเหลือสักเท่าไร เพราะภูมิอากาศบ้านเรา วัสดุทางเคมีที่นำมาใช้กับภาพถ่ายค่อนข้างบอบบาง บางอย่างเป็นของจากธรรมชาติเช่นไข่ขาวที่เรียกว่า กระดาษอัลบูมิน พอโดนความชื้น เกิดปฏิกิริยากับแสงแดดก็เปลี่ยนสภาพ ทำให้ภาพถ่ายยุคนั้นเหลือรอดมาถึงปัจจุบันค่อนข้างน้อยมากๆ”

อรรถดา คอมันตร์, ภาพถ่ายโบราณ, รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5

คุณอรรถดาระบุปัจจัยที่ ‘ดันราคา’ ภาพถ่ายโบราณ ไว้ว่าคือ “ขนาด สภาพ ใครอยู่ในภาพ ใครเป็นคนถ่าย ถ้ามีชื่อห้องภาพด้วยยิ่งมีราคา หรือถ้ามีลายเซ็นบุคคลสำคัญก็ยิ่งแพง

“ถ้ามีชื่อห้องภาพ ยิ่งทำให้รู้ด้วยว่าเป็นก๊อปปี้แรกหรือเปล่า ถ้าคนไม่ศึกษาประวัติศาสตร์ว่าใครเป็นคนถ่าย ว่าเขาเข้ามาเมืองไทยสมัยไหน อาจจะเล่นแบบไม่ถูกทาง บางภาพ ถ่ายสมัย ร.4 แต่มาอัดสมัย ร. 5 ซึ่งราคาต่ำกว่าแน่นอน นักสะสมตัวจริงอาจไม่นิยม เพราะเขาจะชอบของเก่าที่มันถึงยุค”

เราเดินเข้าร้านถ่ายรูปวันนี้ เลือกขนาดรูปได้เช่นนิ้วครึ่ง สองนิ้ว สองนิ้วครึ่ง แต่สมัยก่อน ขนาดมาตรฐาน’ ของรูปถ่ายมี 2 แบบ คุณอรรถดาอธิบายว่า

“ภาพถ่ายยุคแรกมีขนาดเล็กสุดที่เรียกว่า Carte de Visite (CdV) (6.5X11 ซม.) ภาษาไทยเรียกขนาดการ์ด หรือการ์ดไพ่ เป็นภาพถ่ายระบบฟิล์มกระจกที่เกิดต่อจากแบบดาแกโรไทป์ และเป็นขนาดที่นิยม อยู่ในช่วงรัชกาลที่ 4 และ 5 และมีขนาดที่เรียกว่า Cabinet (11X17 ซม.) ใหญ่กว่าโปสการ์ดนิดหนึ่ง

อรรถดา คอมันตร์, ภาพถ่ายโบราณ, รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5

ภาพขนาด Carte de Visite (ภาพขวา) และขนาด Cabinet (ภาพซ้าย)

“2 แบบนี้คือขนาดมาตรฐาน ซื้อหาได้ตามห้องภาพทั่วไป เหมือนยุคนี้เราเข้าไปถ่ายรูปที่ร้านก็เลือกได้ ช่วงรัชกาลที่ 4 มีแต่ CdV ต้นรัชกาลที่ 5 ก็ยังมี CdV และเริ่มมีขนาด Cabinet ด้วย

“แต่ถ้าภาพขนาดใหญ่กว่านี้ กรรมวิธีทำค่อนข้างลำบาก ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ก็มีการขยายภาพใหญ่ แต่ไม่มีขาย จะทำสำหรับบุคคลพิเศษจริงๆ เช่น มอบให้ผู้นำรัฐ ใหญ่นี่คือขนาดเป็นฟุตเลย สำหรับภาพถ่าย ยิ่งขนาดใหญ่ยิ่งแพงก็จริง แต่ต้องดูสภาพด้วย ถ้าใหญ่ แต่ต้องเข้าไปจ้องใกล้ๆ ถึงจะรู้ว่าเป็นใคร ก็จะอีกราคาหนึ่ง”

สำหรับภาพถ่ายและสิ่งพิมพ์ ปัจจัย ‘ใครอยู่ในภาพ’ อาจดันราคาปัจจุบันให้ต่างกันเป็นร้อยเท่า คุณอรรถดาเล่าว่า หนังสือพิมพ์ฝรั่งบางฉบับในสมัยนั้น หากภาพบุคคลที่ ‘ขึ้นปก’ คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ราคาจะสูงกว่าสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียมาก เพราะยังมีสิ่งพิมพ์อื่นอีกมากมายที่มีพระบรมฉายาลักษณ์พระนางวิกตอเรียบนปก และเพราะคนขายที่เป็นฝรั่งรู้ว่านักสะสมชาวไทยรักและเทิดทูนพระเจ้าอยู่หัว

อีกหนึ่งข้อเท็จจริงคือที่ทำให้ภาพถ่ายต้นฉบับแพงกว่าภาพถ่ายที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์คือ หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ยุคนั้นมียอดพิมพ์ครั้งละหลักแสน ของที่ ‘เหลือรอด’ มาถึงปัจจุบันจึงมีมากกว่าภาพถ่ายเยอะ

สำหรับภาพถ่าย ถ้าเป็นระบบดาแกโรไทป์ จะมีเพียงชิ้นเดียวในโลก ทำซ้ำไม่ได้ ส่วนระบบฟิล์มกระจกอาจมีการก๊อปปี้ไว้ไม่เยอะ ไม่ใช่เป็นแสนๆ ฉบับเหมือนหนังสือพิมพ์ เวลาผ่านไปร้อยกว่าปี ภาพถ่าย 1 โหลเหล่านั้นสูญหายหรือเสียหายไปตามกาลเวลา ภาพถ่ายโบราณบางภาพที่คุณอรรถดามีจึงอาจเป็นชิ้นเดียวในโลก เพราะยังไม่มีนักสะสมคนใดหาภาพที่เหมือนกันเจอ

อรรถดา คอมันตร์, ภาพถ่ายโบราณ, รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5

ภาพหนึ่งภาพบอกคำเป็นพัน เหตุการณ์และบุคคลในภาพถ่ายโบราณ 1 ใบอาจนำมาเขียนหนังสือได้เป็นเล่มๆ คุณอรรถดาเล่าว่า เนื้อหาในภาพถ่ายตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีทั้งภาพในราชสำนักและภาพชีวิตสามัญชน รวมทั้งสภาพบ้านเรือนและภูมิประเทศ

นอกจากนั้น ภาพถ่าย 1 ใบ ยังมี ‘เนื้อหา’ อื่นอีก ได้แก่ แสดงวิวัฒนาการด้านเทคนิคและศิลปะการถ่ายภาพ และเป็นหลักฐานบันทึกประวัติของช่างภาพชาวต่างประเทศที่เข้ามาในสยาม รวมทั้งช่างภาพชาวไทยที่เรียนรู้วิชาถ่ายภาพจากบุคคลเหล่านี้

ภาพถ่ายกษัตริย์’ กับบทบาทที่มากกว่าการบันทึกภาพ

แม้คนที่ไม่ได้สนใจประวัติศาสตร์ คงเคยเห็นพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 5 ที่ฉายคู่กับซาร์นิโคลัสที่ 2 ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับในยุโรปใน พ.ศ. 2440 ภาพนั้นทำให้นานาประเทศในยุโรปต้อง ‘คิดทบทวน’ ก่อนจะกำหนดบทบาททางการเมืองกับประเทศสยาม

ก่อนหน้าภาพประวัติศาสตร์ดังกล่าว เคยมี ‘ภาพถ่ายกษัตริย์’ ที่ถูกใช้ในเชิงการทูตมาแล้ว และบังเอิญว่าคุณอรรถดามีภาพถ่ายโบราณที่เกี่ยวข้องอยู่ถึง 2 ภาพ ก่อนไปชมภาพเหล่านั้น เราควรรู้จักภาพถ่ายที่ใช้ในเชิงการทูตก่อนสักนิด

อรรถดา คอมันตร์, ภาพถ่ายโบราณ, รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5

ตอนต้นได้กล่าวไปแล้วว่า ภาพถ่ายระบบแรกของโลกคือระบบดาแกโรไทป์ ปัจจุบัน ในประเทศไทยยังไม่มีใครหาภาพถ่ายดาแกโรไทป์เจอ แต่มีหลักฐานปรากฏว่ามีพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉายโดยระบบดาแกโรไทป์อยู่ 3 ชิ้น คือที่สถาบันสมิธโซเนียน สหรัฐอเมริกา (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ประธานาธิบดีแฟรงคลิน เพียร์ซ พ.ศ. 2399) ที่พระราชวังวินด์เซอร์ สหราชอาณาจักร (พระราชทานแก่พระนางเจ้าวิกตอเรีย พ.ศ. 2400) และที่พิพิธภัณฑ์วาติกัน กรุงวาติกัน (พระราชทานแก่สันตะปาปาปิอัสที่ 9 พ.ศ. 2404)

ยังมีอีกชิ้นหนึ่ง เป็นพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฉลองพระองค์ประดับด้วยเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Legion d’ Honneur ที่จักรพรรดินโปเลียนส่งมาทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อปี 2406 ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พระราชวังฟองแตนโบล

ศาสตราจารย์ศักดา ศิริพันธุ์ ระบุเกี่ยวกับภาพนี้ในหนังสือ กษัตริย์กับกล้อง วิวัฒนาการภาพถ่ายในประเทศไทย ว่า จากการสังเกตสำเนาภาพดังกล่าว ภาพต้นฉบับน่าจะเป็นแบบดาแกโรไทป์ ถ่ายประมาณ พ.ศ. 2406 และทำซ้ำเพื่อส่งไปยังฝรั่งเศส เพราะภาพดาแกโรไทป์สีซีดจางไว แต่ไม่มีหลักฐานปรากฏว่าพระราชทานแก่จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 เมื่อไร

ส่วนพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ที่มีหลักฐานปรากฏว่ารัชกาลที่ 4 ทรงส่งไปพระราชทานแก่จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ในพ.ศ. 2404 และปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่หอจดหมายเหตุพระราชวังฟองแตนโบล ฝรั่งเศส ศาสตราจารย์ศักดา ศิริพันธุ์ ระบุไว้ว่า จากคำบอกเล่าและข้อมูลจากหนังสือต่างๆ ที่เขียนถึงภาพนี้ กล่าวกันว่าเป็นภาพถ่ายแบบดาแกโรไทป์

แต่ภาพที่ผู้เขียน (ศาสตราจารย์ศักดา) เห็นที่หอจดหมายเหตุพระราชวังฟองแตนโบล วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2533 เป็นภาพถ่ายระบบฟิล์มกระจกเปียก (Wet Plate) ลงบนกระดาษอัลบูมินและระบายสี แต่ก็นับได้ว่าเป็นภาพอัลบูมินระบายสีที่เก่าแก่ที่สุดที่ค้นพบเป็นครั้งแรกจนกระทั่งทุกวันนี้

อรรถดา คอมันตร์, ภาพถ่ายโบราณ, รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5

ภาพอัลบูมินระบายสีนี้ต่างจากภาพระบบดาแกโรไทป์ คือทำซ้ำได้ โดยวิธีอัดขยายภาพเนกาตีฟ ที่ถ่ายด้วยวิธีการกระจกเปียกบนกระดาษอัลบูมินได้ครั้งละหลายๆ ภาพ แล้วระบายสีให้เหมือนจริง ภาพถ่ายดังกล่าวเป็นตัว ‘เล่า’ ว่า วิธีถ่ายภาพแบบกระจกเปียกได้เผยแพร่เข้ามาในสยามแล้วประมาณ พ.ศ. 2403

คุณอรรถดากล่าวว่า ในครั้งนั้นช่างภาพหลวงอาจจะอัดซ้ำไว้ไม่มาก ภาพ 1 ใบถูกส่งไปฝรั่งเศสในฐานะของขวัญจากกษัตริย์ถึงกษัตริย์ ที่เหลือคงถูกเก็บรักษาไว้ในที่อันควร มาถึงปัจจุบัน ตัวเขาเองมีอยู่ในครอบครองใบหนึ่ง (คือภาพหมายเลข 3 ใน 13 ภาพด้านล่าง) เป็นหนึ่งในภาพต้นฉบับเก่าแก่ที่สุดที่มี

สำหรับคนทั่วไป ภาพต่างๆ เหล่านั้นก็คือภาพของพระมหากษัตริย์และบุคคลระดับราชทูต แต่ถ้ามองในแง่ชั้นเชิงทางการทูต การที่รัชกาลที่ 4 ทรงส่งพระบรมสาทิสฉายาลักษณ์ของพระองค์เองไปยังประเทศในยุโรป เป็นดังหนึ่งสื่อเจริญพระราชไมตรี และแสดงให้เห็นว่าแม้สยามจะอยู่ในดินแดนห่างไกลจากอารยประเทศในยุโรป แต่ได้เริ่มมีการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว (เพราะการถ่ายภาพทั้งระบบดาแกโรไทป์และกระจกเปียก ช่างภาพต้องมีความรู้ด้านเคมีและฟิสิกส์เป็นอย่างดี)

ดังนั้น เหตุผลที่หลายๆ ประเทศใช้ในการล่าอาณานิคม คืออ้างว่าเพื่อยึดครองประเทศที่ยังล้าหลังและป่าเถื่อน จึงจะทำกับสยามไม่ได้

หนังสือประวัติศาสตร์การถ่ายภาพที่เขียนโดยผู้เชี่ยวชาญอย่างน้อย 3 เล่ม เห็นตรงกันว่า ‘ภาพถ่ายกษัตริย์’ ที่ส่งไปพระราชทานมิตรประเทศมีบทบาทสำคัญในแง่การธำรงความมั่นคงของชาติด้วย อีกทั้งยังเป็นตัวอย่างให้ชาวสยามเลิกเชื่อในเรื่องงมงายและหันมาสนใจวิทยาการสมัยใหม่บ้าง

แล้วใครเป็นผู้อัญเชิญพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ดังกล่าวไปส่งถึงพระหัตถ์จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ที่ฝรั่งเศส

ปรากฏหลักฐานว่ามีการบันทึกภาพราชทูตท่านนั้นไว้ ท่านอัญเชิญพระราชสาส์นและเครื่องมงคลราชบรรณาการจากรัชกาลที่ 4 ไปถวายแด่จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2404 เวลา 17.00 น. คุณอรรถดาเสาะหาภาพนี้มาจากต่างประเทศ

ราชทูตท่านนั้นคือ เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) คุณตาของ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งคุณอรรถดากล่าวว่า ทางไทยเราไม่ได้มีการบันทึกภาพไว้เลยว่าส่งใครไป ของขวัญคืออะไร แต่ทางฝรั่งเศสบันทึกภาพไว้หมด

อรรถดา คอมันตร์, ภาพถ่ายโบราณ, รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5

“ภาพนี้ ตัว N คือ Nadar (ชื่อจริงคือ Gaspard-Félix Tournachon) ช่างภาพในราชสำนักของฝรั่งเศสสมัยพระเจ้านโปเลียนที่ 3” คุณอรรถดาอธิบาย

โจคิม เค.เบ้าวซ์ (Joachim K. Bautze) ระบุในหนังสือ สยามผ่านมุมกล้องจอห์น ทอมสัน 2408-9 รวมทั้งนครวัดและเมืองชายฝั่งประเทศจีน เรียบเรียงโดย ไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์ ไว้ว่า นาดาร์เป็นช่างภาพชื่อดัง ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการให้เป็นช่างภาพประจำคณะราชทูตจากสยามชุดนี้ เขาถ่ายภาพคณะราชทูตทั้งด้านหน้า ด้านข้าง รูปหมู่ รูปเดี่ยว เพื่อใช้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของฝรั่งเศส ภาพถ่ายของนาดาร์ทำให้ชาวโลกเกิดความสนใจคณะราชทูตจากสยามเป็นอย่างยิ่ง

ร้อยกว่าปีให้หลัง ชาวไทยเพิ่งได้เห็นหน้าค่าตาของเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์แบบชัดเจนจากภาพถ่ายโบราณในครอบครองของคุณอรรถดานี่เอง คุณอรรถดากล่าวว่า

“…ภาพนี้ได้มาจากเมืองนอก คนในรูปคือเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) เป็นการเปิดเผยครั้งแรกในเมืองไทยว่าเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ หน้าตาท่านชัดๆ เป็นอย่างไร คุณแม่ผมเป็นประธานคณะกรรมการจัดทำหนังสือสายสกุลบุนนาค ตอนทำหนังสือยังหารูปท่านชัดๆ ไม่ได้เลย มีแต่รูปรางๆ ได้จากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ก็เสียดายที่ตอนนั้นเรายังไม่ได้ภาพนี้มา…” คุณอรรถดากล่าว

อรรถดา คอมันตร์, ภาพถ่ายโบราณ, รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5

ภาพถ่ายชาวบ้าน’ บันทึกสภาพชีวิตเพื่อสารพัดจุดประสงค์

“…ช่างภาพยุคแรกๆ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นฝรั่งมาจากต่างประเทศ นอกจากถ่ายภาพพระมหากษัตริย์แล้ว ยังถ่ายภาพชาวบ้านและสภาพบ้านเรือนด้วย มีทั้งสองอย่างนี้คู่กันมาตั้งแต่ยุคแรกแล้ว…” คุณอรรถดาอธิบาย

“…ที่เขาไปถ่ายภาพชาวบ้าน ผมคิดว่าเป็นเพราะทั้งได้รับคำสั่งและเป็นความสนใจของเขาเอง คำสั่งอาจแฝงมากับการล่าอาณานิคม และตัวช่างภาพเองคงสนใจด้วย ชาวตะวันตกที่ไม่เคยมาตะวันออก เขาคงอยากบันทึกภาพไว้ วัดวาอารามเป็นยังไง หน้าตาคนเป็นยังไง แต่งชุดยังไง รูปเหล่านี้มีราคาค่อนข้างสูงทีเดียวในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการประมูลของ Christy’s Sotheby’s หรือของดีลเลอร์รายย่อย ขายรูปของคนไทยค่อนข้างราคาสูง คนซื้อส่วนใหญ่เป็นนักสะสมชาวยุโรป ทั้งชาวเยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส

อรรถดา คอมันตร์, ภาพถ่ายโบราณ, รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5

ภาพชีวิตของสามัญชน ช่างภาพฝรั่งเขาไม่ได้ถ่ายเฉพาะในเมืองหลวง แต่ไปถึงรอบๆ หัวเมืองต่างๆ ด้วย ทั้งลาว เขมร เพราะตอนนั้นยังเป็นประเทศราชของไทยอยู่

ภายหลังที่ปริมาณภาพถ่ายเพิ่มขึ้นก็เป็นเพราะคนสามัญเริ่มถ่ายภาพเป็น เริ่มมีห้องภาพ สตูดิโอ คนชั้นขุนนางและคนสามัญก็เริ่มเข้าร้านไปถ่ายรูปตัวเอง ยุคก่อนหน้านี้คือช่างภาพเป็นฝรั่ง มีแต่เฉพาะพระมหากษัตริย์และชนชั้นนำที่จ้างได้ คนทั่วไปจ้างไม่ไหว…” คุณอรรถดากล่าว

ช่างภาพตะวันตกคนสำคัญที่ทำหน้าที่บันทึกภาพชีวิตสามัญชนมีหลายท่าน เช่น จอห์น ทอมสัน (John Thomson) โรเบิร์ต เลนซ์ (Robert Lenz) คุณอรรถดามีผลงานภาพถ่ายของช่างภาพทั้งสองคนอยู่หลายชิ้น

พ.ศ. 2408 – 2409 จอห์น ทอมสัน ช่างภาพชาวสกอต เดินทางมาถ่ายรูปพระราชวัง พระราชพิธี รวมทั้งทิวทัศน์ในกรุงเทพฯ พระนครศรีอยุธยา และเพชรบุรี และเดินทางไปถ่ายภาพหลายประเทศในเอเชีย ช่างภาพผู้นี้เองที่มีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงกระบวนการถ่ายภาพแบบกระจกเปียกให้เหมาะกับภูมิอากาศในประเทศร้อนชื้น (เช่น วิธีจัดแสง การเลือกเวลาที่เหมาะสม การใช้สามขาตั้งกล้อง การบรรจุเพลตก่อนขนส่งมาเอเชียเพื่อไม่ให้ขึ้นสนิม การปรับปรุงและใช้สารเคมีต่างๆ เพื่อให้ได้ภาพถ่ายที่มีรายละเอียดมากขึ้น ฯลฯ) ภาพถ่ายของเขาที่ยังหลงเหลือในปัจจุบันยังคมชัด บ่งบอกเรื่องราวในอดีตได้เป็นอย่างดี

อรรถดา คอมันตร์, ภาพถ่ายโบราณ, รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5

ทอมสันได้รับยกย่องจากนักนิเทศศาสตร์และนักวารสารศาสตร์ทั่วโลกว่าเป็น Photojournalist คนแรกของโลก เพราะทั้งเขียนหนังสือเชิงท่องเที่ยวและถ่ายภาพประกอบด้วยเสร็จสรรพ

อย่างไรก็ตาม หนังสือประวัติศาสตร์บางเล่มตั้งข้อสังเกตว่า ผลงานภาพถ่ายของทอมสัน ไม่ได้ถ่ายเพราะความอยากรู้อยากเห็นและบันทึกความทรงจำเพียงอย่างเดียว แต่ภาพถ่ายภูมิทัศน์ดังกล่าวยังมีประโยชน์โดยตรงต่อการทหารของประเทศสหราชอาณาจักรในยุคล่าอาณานิคมอีกด้วย ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่าการเดินทางของเขาและการขนส่งเพลตและสารเคมีสำหรับถ่ายภาพมายังเอเชียต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก ทอมสันเขียนบทความและสอนวิชาถ่ายภาพให้ราชสมาคมภูมิศาสตร์ของสหราชอาณาจักร และปัจจุบันผลงานภาพถ่ายของเขาก็ถูกอนุรักษ์ไว้ที่นี่ จึงเป็นไปได้ว่าสถาบันแห่งนี้นี่เองที่เป็น ‘นายทุน’ สนับสนุนให้ทอมสันถ่ายภาพเพื่อประโยชน์ทางทหาร

ไม่เพียงในกรณีของทอมสัน จำนวนร้านถ่ายรูปของชาวญี่ปุ่นและช่างถ่ายรูปเร่ชาวญี่ปุ่นเพิ่มจำนวนมากขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 จนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ภาพถ่ายสภาพบ้านเมืองสยามส่วนหนึ่งถูกใช้โดยกองทัพญี่ปุ่นเพื่อประโยชน์ทางการทหาร

อรรถดา คอมันตร์, ภาพถ่ายโบราณ, รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5

ช่างภาพชาวต่างชาติอีกคนที่คุณอรรถดาเอ่ยถึงเพราะมีบทบาทสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ภาพถ่ายของสยาม คือ โรเบิร์ต เลนซ์ เช่นเดียวกับทอมสัน ที่เขาทั้งถ่ายภาพบุคคลและเหตุการณ์ในราชสำนักสยาม และสถาปัตยกรรม ทิวทัศน์ ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย

โจคิม เค.เบ้าวซ์ กล่าวถึงเลนซ์ในหนังสือ Unseen Siam: Early Photography 1860-1910 ว่า ในบรรดาช่างภาพที่ทำงานช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ผลงานถ่ายภาพของโรเบิร์ต เลนซ์ ถือเป็นภาพสะท้อนความเป็นสยามช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ได้เป็นอย่างดี ‘ลายเซ็น’ ของเลนซ์คือภาพสีออกแดงหรือม่วง อันเป็นผลจากการผสมน้ำยาเคมีแบบของเขา

บนเส้นทางนักสะสมของคุณอรรถดา ได้สืบเสาะหาภาพต้นฉบับทั้งจากในและต่างประเทศไว้เป็นจำนวนมาก จนเปิดเป็นนิทรรศการพิเศษ ‘120 ปี โรเบิร์ต เลนซ์ และห้องภาพในสยาม’ ไปเมื่อ พ.ศ. 2560

อรรถดา คอมันตร์, ภาพถ่ายโบราณ, รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5

ก่อนพาไปชมภาพถ่ายชิ้นเด่นที่เขาเตรียมไว้แล้ว คุณอรรถดากล่าวว่า เป็นคนชอบหนังสือสวยงาม หนังสือสะสม และคิดว่าภาพในหนังสือนั้นเป็นข้อมูลที่มีคุณค่า บางเล่มเป็นภาษาที่เขาอ่านไม่ออกแต่ก็ซื้อเก็บไว้เพื่อดูภาพ บางภาพหาไม่ได้จากอินเทอร์เน็ต ด้วยความชอบหนังสือนี้เอง ภาพถ่ายในครอบครองของเขาส่วนหนึ่งจึงถูกนำมาจัดทำหนังสือประวัติศาสตร์ในนามสำนักพิมพ์สยาม เรเนสซองส์ เพื่อเผยแพร่ให้คนทั่วไปมีโอกาสเห็น

“…ภาพที่ผมมี วันนี้สภาพยังดีอยู่ แต่อีก 10 – 20 ปีอาจจะเสื่อมสลาย น้ำท่วม หรือเกิดเหตุอะไรขึ้น กลายเป็นว่าคนรุ่นหลังไม่มีโอกาสได้เห็นอีก เลยทำเป็นหนังสือดีกว่า พิมพ์ครั้งหนึ่งหลายพันเล่ม ภาพเหล่านี้ก็จะยังคงอยู่ต่อไปอีกเป็นร้อยๆ ปี มันจะมีประโยชน์มากกว่าอยู่กับผม…” คุณอรรถดาทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม

อรรถดา คอมันตร์, ภาพถ่ายโบราณ, รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5

13 ภาพถ่ายและเอกสารโบราณชิ้นเด่น ทุกชิ้นเป็นเอกสารต้นฉบับ

1

อรรถดา คอมันตร์, ภาพถ่ายโบราณ, รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5

“ทราบจากดีลเลอร์ว่า ชิ้นนี้เขาแกะมาจากปกหน้าของอัลบั้ม ตัวอัลบั้มอยู่ที่ไหนก็ไม่ทราบ ได้มาแค่นี้ เป็นแผ่นเงินแท้ เป็นภาพของรัชกาลที่ 5 น่าจะเป็นอัลบั้มสำคัญมากพอสมควรถึงกับทำรูปท่านไว้ งานค่อนข้างละเอียดมาก ไม่แน่ใจว่าเป็นช่างไทยหรือจีน แต่คิดว่าไม่ใช่ช่างยุโรป เพราะเขาจะใช้ Silver Plate (เงินชุบ) มากกว่า แต่นี่เป็นแผ่นเงินแท้”

2

อรรถดา คอมันตร์, ภาพถ่ายโบราณ, รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5

“ภาพนี้ไม่ใช่ระบบดาแกโรไทป์ เพราะสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่มีระบบนี้แล้ว ภาพนี้น่าจะทำที่ยุโรป เพราะเป็นงาช้างทั้งแผ่นลงสี แต่ใส่กรอบแบบดาแกโรไทป์ คือกรอบหนังแบบนี้ไม่น่าจะทำที่เมืองไทย เพราะสมัยนั้นเมืองไทยหากรอบแบบดาแกโรไทป์ยังไม่ได้ อาจทำช่วงเสด็จประพาสยุโรป”

3

อรรถดา คอมันตร์, ภาพถ่ายโบราณ, รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5

“ภาพนี้ รัชกาลที่ 4 ทรงฉายกับเครื่องมงคลราชบรรณาการที่พระจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ทรงส่งมาถวาย สภาพคมชัดมาก สมัยนั้นเขาอาจจะถ่ายไว้หลายใบ เป็นภาพเดียวกันกับภาพที่ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พระราชวังฟองแตนโบล สันนิษฐานว่า รอสสิเยร์ (Pierre Rossier) เป็นคนถ่าย เป็นช่างภาพชาวสวิสที่เข้ามาเมืองไทยในช่วงนั้น รัชกาลที่ 4 ทรงได้เครื่องมงคลราชบรรณาการจากพระเจ้านโปเลียน 3 ราว พ.ศ. 2399 หลังจากนั้นท่านก็ถ่ายรูปส่งไปพร้อมเครื่องมงคลราชบรรณาการให้พระเจ้านโปเลียนที่ 3 บ้าง”

4

อรรถดา คอมันตร์, ภาพถ่ายโบราณ, รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5

“พระราชหัตถเลขาจากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวถึง นายแพทย์ซามูเอล สมิธ เป็นจดหมายสั้นๆ แต่จดหมายของพระองค์หายากมาก มีตราพระราชลัญจกรของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว”

5

อรรถดา คอมันตร์, ภาพถ่ายโบราณ, รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5

“ภาพนี้เป็นขนาดภาพใหญ่พิเศษ ได้มาจากต่างประเทศ ช่างภาพคือ จอห์น ทอมสัน ภาพนี้ถือว่าสวยและหายาก”

6

อรรถดา คอมันตร์, ภาพถ่ายโบราณ, รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5

ภาพนี้เป็นภาพรัชกาลที่ 5 ฉายในคราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ซึ่งได้มาจากการประมูล ภาพจากงานประมูลมีข้อดีคือ เขาจะระบุประวัติไว้หมดเลยว่าได้มาจากบ้านใคร เพราะเขาทำแบบโปร่งใส ของชิ้นนี้เขาสืบทราบว่าได้มาจากบ้านของ โทมัส น็อกซ์ (Thomas Knox) กงสุลอังกฤษที่ภายหลังมีเรื่องกับราชสำนักสยาม”

7

อรรถดา คอมันตร์, ภาพถ่ายโบราณ, รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5

“ภาพนี้ ตามที่ผู้รู้บอก คิดว่าเป็นภาพพิมพ์เพื่อจะเอาไปพิมพ์อะไรบางอย่าง เช่น แสตมป์ ชิ้นนี้ผมประมูลได้มา เขามีประวัติว่าได้มาจากลูกหลานของกงสุลอเมริกันที่เคยอยู่ในเมืองไทย คือ โคโลเนล เดวิด บี.ซิกเคลส์ (Colonel David B.Sickels) เขาได้มาใน ค.ศ. 1883 ถ้าพระองค์ท่านหันด้านข้างแบบนี้ก็ค่อนข้างแน่นอนว่าถ่ายเพื่อเป็นแบบสำหรับไปทำอย่างอื่น”

8

อรรถดา คอมันตร์, ภาพถ่ายโบราณ, รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5

“ภาพทิวทัศน์แม่น้ำสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นหนึ่งในภาพเก่าสุดที่มี ได้จากการประมูลเลยรู้ประวัติ ภาพนี้ทางต่างประเทศเขาบอกว่า ช่างภาพคือ วิลเฮล์ม เบอร์เกอร์ (Wilhelm  Burger) ก็ประมาณปลายรัชกาลที่ 4 แต่ยังไม่ฟันธงร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะช่วงนั้นช่างภาพไทยชื่อ ฟรานซิส จิตร ก็ถ่ายภาพแล้ว บางท่านจะแย้งว่า วิลเฮล์ม เบอร์เกอร์ อาจจะไม่เคยมาสยาม เพราะว่าหลักฐานน้อยมาก แต่โดยเนื้อกระดาษและสีฟิล์มแบบนี้ เขาก็ระบุว่าเป็นสมัยรัชกาลที่ 4”

9

อรรถดา คอมันตร์, ภาพถ่ายโบราณ, รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5

“นี่คือภาพวัดพระแก้วในสมัยรัชกาลที่ 5 บางครั้งสีของวัสดุที่ใช้กับภาพถ่ายจะบอกได้ว่าช่างภาพคือใคร อย่างภาพนี้ ถ่ายโดยโรเบิร์ต เลนซ์ เพราะภาพออกสีม่วงหรือสีม่วงอมเหลือง ช่างภาพแต่ละคนจะมีเทคนิคผสมน้ำยาไม่เหมือนกัน ประมาณกลางรัชกาลที่ 5 เทคโนโลยีฟิล์มกระจกดีขึ้นมาก คุณภาพน้ำยาก็ดีขึ้นมาก ภาพถ่ายค่อนข้างคมชัดและคงทน ที่ยิ่งทำให้มั่นใจแน่นอนเพราะภาพนี้ถูกฉีกออกจากอัลบัมรวมภาพถ่ายของโรเบิร์ต เลนซ์ เพื่อขายแยก เพราะได้ราคาดีกว่าขายทั้งอัลบั้ม”

10

อรรถดา คอมันตร์, ภาพถ่ายโบราณ, รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5

“ภาพคล้องช้างที่อยุธยาสมัยรัชกาลที่ 5 ถ่ายโดยโรเบิร์ต เลนซ์ เช่นกัน เพราะมาจากอัลบั้มเดียวกัน ถ้าจะหาภาพคมชัดขนาดนี้ในเมืองไทย หาไม่ได้ครับ ไม่มีทาง ภาพที่เป็นต้นฉบับจริงๆ มาจากต่างประเทศอย่างเดียวเท่านั้น”

11

อรรถดา คอมันตร์, ภาพถ่ายโบราณ, รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5

“ภาพถ่ายเรือนแพสมัยรัชกาลที่ 5 ภาพนี้บ่งบอกได้ดีอย่างที่กล่าวกันว่า ภาพหนึ่งภาพทำให้เรามีจินตนาการว่าคนถ่ายเขายืนถ่ายอยู่ตรงไหน ถ่ายอย่างไร หรือถ้าคนชอบเครื่องแต่งกายโบราณ พอเขาดูรูปที่ชัดขนาดนี้จะเห็นเลยว่าสมัยนั้นชาวบ้านแต่งตัวอย่างไรหรือคนชอบเรือนไทย ภาพนี้ก็จะบอกได้ว่าเรือนแฝดในน้ำและหลังคาจากมีหน้าตาเป็นอย่างไร บางภาพเป็นร้านค้าบนเรือนแพ มีถังปี๊บวางอยู่ เขาอ่านได้เลยว่าบนปี๊บเขียนยี่ห้ออะไร เป็นภาษาจีนหรือไทย เพราะภาพยังชัดมาก แล้วนำไปค้นคว้าต่อ”

12

อรรถดา คอมันตร์, ภาพถ่ายโบราณ, รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5

“ภาพรัชกาลที่ 5 ทรงระแทะ เมื่อเสด็จประพาสหัวเมืองทางใต้ เข้าใจว่าถ่ายภาพเพื่อนำไปมอบให้ผู้นำประเทศในยุโรปแต่ไม่ทราบว่าเป็นใคร สมัยก่อนเหมือนเป็นการประชาสัมพันธ์ประเทศด้วย คือรวมเล่มภาพถ่าย มีหลายหมวด ทั้งภาพพระบรมวงศานุวงศ์ ภาพพระราชพิธี ภาพชาวบ้าน วัดวัง แม่น้ำ คือพอฝรั่งได้เล่มนี้ไปปุ๊บรู้เลยว่าเมืองไทยเป็นอย่างไร”

13

อรรถดา คอมันตร์, ภาพถ่ายโบราณ, รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5

“ภาพงานพระเมรุเจ้านาย 4 พระองค์ คือ พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าตรีเพชรุตม์ธำรง ทั้งสี่พระองค์สิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2430 ในภาพเป็นงานพระเมรุซึ่งจัดที่ท้องสนามหลวง เมื่อเห็นภาพแล้วน่าคิดต่อว่าช่างภาพถ่ายจากมุมไหน”

อรรถดา คอมันตร์, ภาพถ่ายโบราณ, รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5

หนังสือประกอบการเขียน

ไกรฤกษ์ นานา. “สมุดภาพรัชกาลที่ 4 วิกฤตและโอกาสของรัตนโกสินทร์ในรอบ 150 ปี”. กรุงเทพฯ:ศิลปวัฒนธรรม. 2550

ไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์. “สยาม ผ่านมุมกล้องจอห์น ทอมสัน 2408-9”.กรุงเทพฯ:ริเวอร์บุ๊คส์. 2558

ศักดา ศิริพันธุ์. “กษัตริย์กับกล้อง วิวัฒนาการภาพถ่ายในประเทศไทย”.กรุงเทพฯ:ด่านสุทธาการพิมพ์. 2535

Joachim K. Bautze. “Unseen Siam: Early Photography 1860-1910”.Bangkok:River Books. 2016

Writer

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

นักเรียนเศรษฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแนวไปเรียนทำอาหารอย่างจริงจัง เป็น introvert ที่ชอบงานสัมภาษณ์ รักหนังสือ ซื้อไวกว่าอ่าน เลือกเรียนปริญญาโทในสาขาที่รู้ว่าไม่มีงานรองรับคือมานุษยวิทยาอาหาร มีความสุขกับการละเลียดอ่านหนังสือและเรียนรู้สิ่งใหม่ผ่านภาพถ่ายเก่าและประวัติศาสตร์สังคม

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ