“ห้ามถ่ายรูปนะ ชาวบ้านไม่ถูกใจสิ่งนี้” กันซานี (Gantzani) ผู้เป็นพนักงานฝ่ายกิจกรรมแห่ง Pumulani Lodge บอกผมระหว่างที่เรากำลังเดินไปหมู่บ้านอึมเบยา ที่ตั้งอยู่ริมทะเลสาบมาลาวี (Lake Malawi) ทะเลสาบแสนสวยที่ตั้งอยู่ในประเทศชื่อเดียวกันในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก

“ต้องขอชาวบ้านก่อน จะถ่ายได้ก็ต่อเมื่อพวกเขาอนุญาตแล้วเท่านั้น อย่าถ่ายโดยไม่บอกไม่กล่าวโดยเด็ดขาด ชาวบ้านไม่ชอบมากๆ เลย” เสียงกันซานียังคงดังงึมงำอยู่เรื่อยๆ ระหว่างที่เราเดินไปหมู่บ้านกัน

กันซานีชวนผมไปเดินเล่น เพราะเขาเห็นว่าผมทำกิจกรรมทุกประเภทที่ลอดจ์แห่งนี้มีไว้ให้หมดแล้วทุกกิจกรรม ไม่ว่าจะไปดำน้ำ หัดพายเรือแบบนั่ง หัดพายเรือแบบยืน ไปดูเขาให้อาหาร Fish Eagle ไปเดินป่า ไปดูดาว ฯลฯ หน้าที่ของพนักงานฝ่ายกิจกรรมอย่างเขา จึงต้องหากิจกรรมให้แขกอย่างผมทำอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการฟุ้งซ่าน และวันนี้คือการไปเดินเที่ยวหมู่บ้านอึมเบยาที่เขาเองก็อาศัยในหมู่บ้านนี้

ผมได้รับการเตือนเรื่องการถ่ายรูปบุคคลและสถานที่ต่างๆ เวลาเดินทางในทวีปแอฟริกาเสมอ และผมก็พยายามไม่ทำให้ใครต้องอารมณ์เสีย โดยผมจะขออนุญาตทุกครั้ง ถ้าได้รับการปฏิเสธผมก็จะขอโทษและเดินจากไปด้วยความเข้าใจ คนแอฟริกาไม่ถูกกับกล้องเพราะในบางประเทศก็อยู่ในภาวะสงครามมานานจนไม่ไว้ใจกัน บางดินแดนก็มีความเชื่อเรื่อง ‘ขวัญ’ ที่อาจจะออกจากร่างไปเมื่อโดนถ่ายภาพ แต่ส่วนใหญ่คิดว่าคนถ่ายภาพจะนำภาพเขาไปขายหาผลประโยชน์ หรือไม่ก็นำไปออกสื่อในทางที่เสียหาย เช่น ทำให้คนเข้าใจว่าแอฟริกายากจนข้นแค้น เป็นต้น

“ได้เลย ถ้าจะถ่ายรูปใครก็จะบอกยูก่อนละกัน แล้วถ้าถ่ายไม่ได้ก็บอกเราด้วยละกันนะ” ผมยืนยันให้เขาสบายใจ และผมก็แอบทำใจไว้แล้วว่า ผมคงไม่มีรูปถ่ายสักรูปติดกล้องกลับไปวันนี้ ว่าแล้วผมก็เก็บกล้องและไอโฟนใส่เป้พร้อมกับคิดเสียว่าไม่พกมาก็ละกัน

แต่กฎย่อมมีข้อยกเว้น และบางทีก็มาจากผู้สร้างกฎเสียเอง

ที่หมู่บ้านอึมเบยา ผมพบหญิงสาวคนหนึ่งนั่งสานเสื่ออยู่อย่างตั้งใจ ผมขออนุญาตกันซานีเข้าไปนั่งดูเธอสานเสื่ออยู่นาน ผมพยายามชวนเธอคุยด้วยภาษาถิ่นเท่าที่พูดได้ เวลาผ่านไปหลายนาทีจน…

“ไม่ถ่ายรูปเหรอ? มานั่งดูอยู่ตั้งนานแล้วนะ” เจ้าของเสียงคือผู้หญิงคนนั้น คนที่ผมไปนั่งดูเธอสานเสื่ออยู่พักใหญ่ และกันซานีเป็นผู้แปลคำพูดของเธอให้ผมฟัง เมื่อชวนให้ถ่ายรูปแบบนี้ก็นับว่าเข้าทางผมมากๆ ผมจึงหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายเฉพาะแค่มือของเธอก่อนเพื่อหยั่งเชิง

เอาชนะใจชาวมาลาวี ทวีปแอฟริกา ที่กลัวเสีย ‘ขวัญ’ จากการถูกถ่ายรูป

เวลาไปประเทศอื่นๆ ในแอฟริกาหากผมถ่ายรูปใครเสร็จแล้ว ผมจะหันกล้องให้ผู้เป็นแบบดูภาพตัวเองทันที ส่วนมากผมจะได้รับรอยยิ้มอายๆ ไม่ก็เสียงหัวเราะเขินๆ กลับมาจากแบบในกล้อง แต่ไม่ใช่หนนี้ที่มาลาวี

“ทำไมถ่ายแต่มือ?” เธอตัดพ้อเหมือนกับว่า “แล้วตัวฉันไปไหนล่ะ?”

ผมรีบกลั้นยิ้มแล้วกดภาพเธอใหม่ คราวนี้เห็นผ่านหลังลงไปยังมือที่กำลังสานเสื่อหนึ่งรูป กับถ่ายย้อนจากมือกลับมาที่ใบหน้าของเธออีกหนึ่งรูป เมื่อผมหันภาพให้ดู เธอก็เขินเอามากๆ และบอกว่าขอให้ลบภาพที่เห็นหน้าเธอออกเพราะเธออาย

“ได้ๆๆ เดี๋ยวผมจัดให้ครับ” ว่าแล้วผมก็ลบรูปที่เธอไม่ชอบออกทีนที 

เอาชนะใจชาวมาลาวี ทวีปแอฟริกา ที่กลัวเสีย ‘ขวัญ’ จากการถูกถ่ายรูป

จากนั้นผมก็ได้ยินเสียงปรบมือดังแปะๆๆ พร้อมกับมีเสียงตะโกนเรียกมาจากบ้านใกล้ๆ กัน เธอตะโกนภาษาถิ่นมาบางอย่างและกันซานีก็แปลให้ฟังว่า “เธอชวนไปที่บ้าน ให้ไปถ่ายรูปเธอบ้าง เธอสานเสื่อผืนนึงเสร็จพอดี”

ไปๆๆ งั้นเราไปกัน ผมร่ำลาชาวหญิงผู้ใจดีและรีบเดินต่อไปยังบ้านหลังที่สองด้วยใจพองโต พอผมย่างเท้าเข้าบริเวณบ้าน เธอรีบกางเสื่อผืนสวยให้ดูอย่างภูมิใจ เสื่อมีรายละเอียดงดงาม พอจับแล้วนุ่มน่านั่งมากๆ ไม่ทันไรเธอก็ลงไปนั่งและเรียกกันซานีให้มาอยู่ด้วยกัน แล้วบอกให้ผมถ่ายภาพนั้นไว้ พอผมนับ นึง.. ส่อง.. ซั่ม.. เธอก็หัวเราะและเอาหน้าหลบหลังกันซานี ผมพยายามใหม่ คราวนี้ไม่นับ แต่เธอก็ก้มหลบอีกและหัวเราะเขินอย่างเอิกเกริก ผมก็พยายามอยู่หลายรอบ จนได้ภาพเธอยิ้มสวยข้างๆ กับซานีบนเสื่อที่เธอสานเองกับมือ

เอาชนะใจชาวมาลาวี ทวีปแอฟริกา ที่กลัวเสีย ‘ขวัญ’ จากการถูกถ่ายรูป

เธอชวนผมมาที่ชานบ้านเพื่อดูเธอสานเสื่อต่อ เธอทำอย่างตั้งใจมากๆ แสงกำลังสวยและเธอกำลังมีสมาธิ ผมอยากถ่ายภาพเธอไว้ แต่มนุษย์ขี้เขินอย่างเธอต้องเสียสมาธิแน่ๆ หากผมบอกเธอตรงๆ ผมเลยแอบถ่ายเธอโดยไม่บอก และนี่เป็นรูปเดียวที่ผมไม่ขออนุญาตเจ้าของภาพ แต่ผมยื่นภาพที่แอบถ่ายให้เธอดู

“ชอบๆๆ ชอบภาพนี้มากๆ” เธอพูดออกมาอย่างจริงใจ และนั่งมองรูปนี้อยู่นาน

เอาชนะใจชาวมาลาวี ทวีปแอฟริกา ที่กลัวเสีย ‘ขวัญ’ จากการถูกถ่ายรูป

ผมดีใจมาก แต่ไม่รู้จะให้เธอได้ครอบครองภาพเผลอของเธอภาพนี้ได้อย่างไรนอกจากส่งไลน์ให้กันซานีเก็บไว้ และอาจขอที่โรงแรมพรินต์ใส่กระดาษให้เธอ จากนั้นผมก็เดินผละออกมาจากบ้านหลังนั้น และเดินลึกเข้าไปในหมู่บ้าน

“ไหนว่าชาวบ้านไม่ชอบให้ถ่ายรูปไง? ทำไมกลายเป็นว่าพวกเขามาชวนเราถ่ายรูปเสียเองล่ะ?” ผมถามกันซานี

“เพราะยูไม่ยกกล้องเล็งไปที่พวกเขา ยูไม่ถือกล้องตลอดเวลา ยูพยายามสื่อสารกับพวกเขาจนเป็นเพื่อนกับพวกเขา ยูรอให้เขายอมแพ้ต่อกล้องเอง… มันไม่เหมือนกันนะ” กันซานีอธิบายในขณะที่เราเดินต่อไปยังหมู่บ้านที่สองที่ชื่อว่าหมู่บ้านอึมเตวา (M’tewa)

“ชาวบ้านหมู่บ้านอึมเตวา ก็ไม่ชอบให้ถ่ายรูปนะ” อีกละ กันซานียังคงย้ำกับผมด้วยเรื่องเดิม

“ตอนไปหมู่บ้านอึมเบยา นายก็บอกเราแบบนี้” ผมแอบคัดค้านเล็กๆ เมื่อนึกถึงการเดินเล่นในหมู่บ้านอึมเบยาเมื่อสักครู่ 

การทำตัวเป็นเหมือนคนไม่มีกล้องถ่ายรูป และพยายามผูกมิตรด้วยการไปชวนพูดชวนคุยกลับก่อให้เกิดปรากฏการณ์ที่ชาวบ้านพ่ายแพ้ต่อกล้องหันมาชวนเราให้ถ่ายรูปเสียเอง ปรากฏการณ์นี้ทำให้ผมคิดว่า ผมน่าจะพอมีหวังที่จะได้รูปจากหมู่บ้านอึมเตวากลับไปสักนิดสักหน่อยก็ยังดี ถ้าลองใช้วิธีเดิมอย่างที่เคยใช้มาเมื่อสักครู่

พอเดินพ้นเขตหมู่บ้านอึมเบยาสู่หมู่บ้านอึมเตวา ผมก็เห็นโอกาสดีที่จะผูกมิตร แม่หญิงของหมู่บ้านกำลังรวมตัวช่วยกันโขลกช่วยกันตำคาสซาวา (Cassava) ซึ่งเป็นพืชประเภทมันและเป็นอาหารหลักของชาวแอฟริกา ที่นำมาทำเป็นแป้งกลมๆ คล้ายหมั่นโถวไว้บิจิ้มกินกับแกงสารพัดชนิด ผมจึงขออนุญาตกันซานีเข้าไปอาสาช่วยตำคาสซาว่าอย่างรวดเร็ว

เอาชนะใจชาวมาลาวี ทวีปแอฟริกา ที่กลัวเสีย ‘ขวัญ’ จากการถูกถ่ายรูป

เหล่าแม่หญิงก็ส่งไม้ดุ้นใหญ่มาให้ผมร่วมโขลกกับพวกเธอ ที่ครกใบเขื่องมีผู้โขลกอยู่ 4 คน แต่ละคนต้องเล็งจังหวะกันดีๆ เพื่อผลัดกันโขลกสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนไป แน่นอนว่ามือใหม่อย่างผมย่อมทำผิดทำพลาดโขลกไม่ลงจังหวะกับเขาบ้าง หรือไม่ก็เมื่อถึงตาผมแล้ว แต่ผมดันยืนมึนอยู่ไม่โขลกลงไปสักที

ผมรีบขอโทษพวกเธอซ้ำแล้วซ้ำอีกด้วยเกรงว่าเธอจะโกรธ แต่กลับกลายเป็นว่าพวกเธอขำมากๆ และแสดงท่าทีเอ็นดูต่อนักโขลกมือใหม่ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมคิดว่าพวกเธอน่าจะเข้าใกล้อาการพ่ายแพ้ต่อกล้องเต็มทน และมันก็เป็นจริงเมื่อกันซานีเดินมาบอกผมว่า “เขาถามว่าไม่ถ่ายรูปเหรอ” จากการแปลภาษาถิ่นให้ผมเข้าใจ

หุๆๆ นั่นไงล่ะ ผมแอบฮิฮะพร้อมกับยกมือปาดเหงื่อบนหน้าผาก นี่ผมถึงกับอาบเหงื่อต่างน้ำเพื่อแลกกับรูปถ่ายสักสองสามใบเลยนะเนี่ย แต่เดี๋ยวก่อน ถ้าผมขอถ่ายเป็นคลิปล่ะ พวกเธอจะยอมไหม?

“กันซานี ถ้าเราจะขอถ่ายเป็นคลิปได้ไหม? แบบเป็นภาพเคลื่อนไหวด้วยนะ” ผมถามให้เขาช่วยแปลให้พวกเธอเข้าใจ และพอกันซานีแปลจบผมก็ได้ยินเสียงโห่ฮาอย่างดีใจ นั่นแปลว่าสำเร็จ

คราวนี้ผมหยิบไอโฟนขึ้นมากดปุ่มบันทึกวิดีโอและพวกเธอก็ไม่ได้แค่ให้ผมถ่ายเฉยๆ แต่ยังร้องเพลง ปรบมือกันสนุกสนาน โดยมีเด็กๆ มาร่วมเล่นร่วมร้องกันมากมายจนผมได้ทั้งคลิปและภาพถ่าย ผมแอบคิดว่าชาวบ้านหมู่บ้านอึมเตวามีอาการพ่ายแพ้ต่อกล้องหนักกว่าหมู่บ้านที่แล้วอีกนะเนี่ย

“กันซานี เราเดินต่อไปอีกหมู่บ้านกันเหอะ อย่าเพิ่งกลับเลยนะ” ผมชักติดใจ และเราก็มุ่งหน้าจากหมู่บ้านอึมเตวาไปยังหมู่บ้านที่ 3 นั่นคือหมู่บ้านกาซันกา (Kasankha)

หมู่บ้านกาซันกาเป็นหมู่บ้านที่ใหญ่กว่า 2 หมู่บ้านที่ผ่านมา สังเกตได้จากการที่มีร้านชำใหญ่ถึง 2 ร้าน ขายข้าวของเครื่องใช้มากมาย มีตลาดและมีบ่อน้ำบาดาลหลายจุด เด็กๆ วิ่งกรูมาเดินตามผมเป็นพรวน ผมยังแอบกล้องไว้ในเป้ แต่ลองหยิบไอโฟนขึ้นมาหันหน้าไปทางกันซานีเป็นเชิงขออนุญาต และเขาก็พยักหน้า ผมเลยใช้มันถ่ายภาพเด็กๆ 

เอาชนะใจชาวมาลาวี ทวีปแอฟริกา ที่กลัวเสีย ‘ขวัญ’ จากการถูกถ่ายรูป

โอ้โห เด็กๆ สนุกกันใหญ่ ต่างแอ็กท่าสู้ไอโฟนแบบไม่ต้องร้องขอ และเมื่อผมหันภาพให้พวกน้องๆ ดู พวกเขาก็หัวเราะกันเสียงใสสนั่นหมู่บ้าน เป็นการเชิญชวนให้เด็กคนอื่นๆ วิ่งกรูกันเข้ามา ปรากฏการณ์พ่ายแพ้ต่อกล้องเกิดขึ้นโดยที่ผมยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติการใดๆ เลย 

เอาชนะใจชาวมาลาวี ทวีปแอฟริกา ที่กลัวเสีย ‘ขวัญ’ จากการถูกถ่ายรูป

ผมสังเกตเห็นว่ามีผู้คนออกมารวมตัวกันมากมาย เหมือนว่าจะมีพิธีอะไรสักอย่าง แล้วผมก็ถามกันซานี เขาอธิบายว่ากำลังจะมีการเต้นระบำที่ลานหมู่บ้าน ระบำนี้เรียกว่า ‘กุเล วัมกุลุ’ (Gule Wamkulu)

กันซานีอธิบายเพิ่มเติมว่ากุเล วัมกุลู คือระบำหน้ากาก มีความหมายว่าระบำอันยิ่งใหญ่ (Great Dance) ใช้เต้นในงานทุกประเภท ไม่ว่าในงานรื่นเริงหรือในงานศพ รวมทั้งในพิธีขลิบอวัยวะเพศเด็กชายด้วย และจะเต้นกันในแถบทะเลสาบมาลาวีเท่านั้น โดยผู้เต้นต้องเป็นเพศชายและต้องผ่านการคัดเลือกจากผู้เต้นรุ่นก่อนๆ ที่เรียกกันว่าอึนยาอู (Nyau) ท่าเต้นนั้นได้รับการถ่ายทอดเฉพาะภายในกลุ่ม ส่วนประกอบสำคัญของกุเล วัมกุลุคือหน้ากาก โดยหน้ากากแต่ละอันจะสื่อความหมายที่แตกต่างกันไป และมีมากกว่า 150 แบบ

“ขอไปดูด้วยได้ไหม?” ผมอ้อนกันซานีอีกครั้ง และเขาหันมายิ้มกว้าง นั่นแปลว่าได้ เราก็เดินตามชาวบ้านไปที่ลานโดยมีน้องๆ หนูๆ จากหมู่บ้านกาซันกาที่ยังเดินตามผมมาเป็นพรวน พวกเขาเป็นเจ้าบ้านที่น่ารักมากๆ เพราะเขาเดินไปร้องเพลงไปอย่างสดใส และทำให้แขกจากเมืองไทยคนนี้ประทับใจสุดๆ

เอาชนะใจชาวมาลาวี ทวีปแอฟริกา ที่กลัวเสีย ‘ขวัญ’ จากการถูกถ่ายรูป

ที่ลานใหญ่มีนักดนตรีมายืนรออยู่หลายคน ทุกคนเข้ามาจับมือทักทายอย่างเป็นมิตรจนผมเลิกเกร็ง เกรง และกังวล เขาก่อกองไฟเล็กๆ เพื่อลนหน้ากลองที่ทำจากหนังวัว พร้อมกับลองใช้ไม่ตีไปเรื่อยๆ จนได้เสียงทุ้มกังวาล ข้างๆ นั้นมีผู้หญิง 3 คนในผ้านุ่งพื้นเมืองสีสดใส พวกเธอคือนักร้องที่จะร้องเพลงประกอบการเต้น ผมได้ยินเธอคุยกันไป โยกตัวไป และวอร์มเสียงร้องอยู่เบาๆ ชักตื่นเต้นแล้วสิ

สักพักใหญ่ผมเห็นนักเต้นที่สวมหน้ากากเดินออกมาสามสี่คน หน้ากากนั้นมีสีสันสดใส ชุดที่ใส่อยู่ก็จัดจ้านไม่แพ้กัน ผมอยากหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายภาพมาก แต่ผมไม่ทราบว่าพวกเขาไปถึงจุดที่เกิดอาการพ่ายแพ้ต่อกล้องกันหรือยัง ผมยังไม่ได้คุยอะไรกับพวกเขาเลย แล้วผมจะถ่ายรูปได้ไหมนะ?

เอาชนะใจชาวมาลาวี ทวีปแอฟริกา ที่กลัวเสีย ‘ขวัญ’ จากการถูกถ่ายรูป
เอาชนะใจชาวมาลาวี ทวีปแอฟริกา ที่กลัวเสีย ‘ขวัญ’ จากการถูกถ่ายรูป

ผมหันมาทางเด็กๆ เพื่อนซี้ที่ชินกับการถ่ายรูปของผมแล้วพร้อมกับหยิบไอโฟนออกมาก่อนและถ่ายรูปเล่นกับพวกเด็กๆ เพื่อลองดูท่าทีของชาวบ้านคนอื่น ขณะนั้นกลองก็เริ่มบรรเลง นักร้องเริ่มร้องเพลงพื้นเมือง ชาวบ้านต่างมาออกันแน่น ต่อมาไม่นานมีคนมาสะกิดแขนผม พอหันกลับไป เขาคือหนึ่งในมือกลอง ผมใจหายวาบทันทีเพราะคิดว่าเขาไม่พอใจ

“ทำไมถ่ายแต่เด็กๆ ล่ะ? พวกเราเล่นกลองอยู่นะ ถ่ายพวกเราด้วยสิ แล้วเดี๋ยวอย่าลืมถ่ายนักเต้นระบำด้วย เขาเป็นเพื่อนของพวกเราเอง” คุณพี่มือกลองอธิบายเสียงเครียด พร้อมกับชี้ไปยังนักเต้นที่สวมหน้ากาก โดยมีกันซานีแปลให้ผมฟังพร้อมรอยยิ้ม 

เอาชนะใจชาวมาลาวี แอฟริกา ที่กลัวเสีย ‘ขวัญ’ จากการถูกถ่ายรูป

ยิ้มของกันซานีกว้างแล้วแต่ผมยิ้มกว้างกว่า เพราะคราวนี้ผมได้บันทึกทั้งภาพและวิดีโอคลิปการเต้นระบำสำคัญนี้ไว้มากมาย

กุเล วัมกุลุเป็นระบำที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ผู้เต้นต้องแข็งแรงมากๆ โดยเฉพาะเมื่อเวลาเขารัวเท้าอย่างรวดเร็วจนฝุ่นคลุ้ง ผมยืนหน้าสุด ดังนั้นฝุ่นจึงเข้าหน้าผมเต็มๆ จนผมจาม “ฮ้าดเช่ย” ออกมาสนั่น

เอาชนะใจชาวมาลาวี แอฟริกา ที่กลัวเสีย ‘ขวัญ’ จากการถูกถ่ายรูป
เอาชนะใจชาวมาลาวี แอฟริกา ที่กลัวเสีย ‘ขวัญ’ จากการถูกถ่ายรูป

“ขอโทษครับ ฮ้าดเช่ย” ผมรีบขอโทษผู้เต้นกับชาวบ้าน แต่ดันจามอีกหน แต่ชาวบ้านก็ไม่ว่าอะไร

เมื่อการเต้นจบลง ผมรีบนำรูปและวิดีโอคลิปไปให้พวกเขาดูตามที่ผมเคยปฏิบัติมา พวกเขาดูไปเฮไปอย่างสนุกสนาน 

ระหว่างเดินกลับ Pumulani Lodge ผมหันมากล่าวกับกันซานีว่า “ยูต้องให้ข้อมูลใหม่แล้วล่ะว่าชาวบ้านหมู่บ้านอึมเบยา อึมเตวา และกาซันกา ชอบถ่ายรูปมากๆ แต่ต้องใจเย็นๆ และรอให้เขาพ่ายแพ้ต่อกล้องเองก่อน จากนั้นก็จะได้รูปกลับไปเพียบ จริงมั้ย” 

เขายิ้ม ผมว่าจริง งั้น….กันซานี หันหน้ามาหน่อย ขอรูปนึงซะดีๆ

อย่าลืมนะครับ ถ้าไปเที่ยวมาลาวี ต้องยึดคติว่า ‘ช้าๆ ได้รูปงามๆ’ นะครับ

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่ค่อยมีใครอยากไป เลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker Instagram : LODE_OAK