ก่อนรัฐบาลจะประกาศล็อกดาวน์ครั้งล่าสุด ผู้เขียนได้เดินทางจากกรุงเทพฯ มาที่บ้านพักในอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ 

ก่อนขึ้นเครื่องบิน ผู้เขียนได้ลงทะเบียนในแอปฯ CM-CHANA เพื่อเขียนรายละเอียด ที่อยู่บ้านพัก ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิดใด หรือยังไม่ได้ฉีด ซึ่งผู้เขียนได้ฉีดวัคซีน AstraZeneca 1 เข็มแล้ว เมื่อลงจากเครื่องบิน มีเจ้าหน้าที่สนามบินเชียงใหม่มาตรวจสอบว่า ผู้โดยสารได้ลงทะเบียนเรียบร้อยหรือยัง ก่อนจะผ่านเข้าสู่อาคารด้านนอก ตามเงื่อนไขของทางการ หากฉีดวัคซีน AstraZeneca 1 เข็มเกิน 2 อาทิตย์ ถือว่ามีภูมิคุ้มกันได้ขึ้นมา 80 เปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องตรวจหาเชื้อ แต่ต้องกักตัวอยู่ในบ้าน 14 วัน 

พอผ่านจากสนามบิน ผู้เขียนขับรถตรงมาบ้านที่อำเภอเชียงดาว และพบว่าเพียง 3 ชั่วโมงหลังจากผู้เขียนเดินออกจากสนามบิน ทางเจ้าหน้าที่ในอำเภอเชียงดาวได้ขึ้นรายชื่อผู้เขียนว่าเป็นคนจากกรุงเทพฯ เดินทางเข้ามาในพื้นที่แล้ว 

เช้าวันรุ่งขึ้น เจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. พร้อมผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้าน ได้มาที่บ้าน เพื่อสัมภาษณ์ผู้เขียนอย่างละเอียดว่าฉีดวัคซีนหรือยัง ยี่ห้ออะไร และขอความร่วมมือให้กักตัวอยู่บ้าน 14 วัน

อสม. อาสาชาวบ้านนับล้านทั่วประเทศ มดงานด่านหน้าผู้ป้องกันโควิด-19
อสม. อาสาชาวบ้านนับล้านทั่วประเทศ มดงานด่านหน้าผู้ป้องกันโควิด-19

พอ อสม. กลับไปไม่นาน ทางเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลอำเภอเชียงดาวก็โทรศัพท์มาสัมภาษณ์อีกครั้งหนึ่ง และบอกว่าถ้ามีอาการอะไรภายใน 14 วันขณะกักตัวอยู่ภายในบ้าน ให้ติดต่อไปที่โรงพยาบาลเลย

ทุกเช้าและเย็น จะมีประกาศเสียงตามสายรายงานสถานการณ์โควิด-19 การปฏิบัติตัว และความเคลื่อนไหวข่าวสารภายในชุมชนให้รับทราบตลอด พร้อมกับการประกาศขออาสาสมัครไปช่วยงานโน้นงานนี้ตลอด 

ระบบ อสม. ในต่างจังหวัดหลายแห่งยังเข้มแข็ง ช่วยป้องกันการกระจายของเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องยอมรับว่าในชนบท ความสัมพันธ์ระดับชุมชนยังมีความเข้มแข็ง อยู่กันอย่างพึ่งพาและช่วยเหลือกัน ลำพังเจ้าหน้าที่ของรัฐคงทำอะไรมากไม่ได้ หากคนในชุมชน โดยเฉพาะ อสม. ผู้เป็นสมาชิกในชุมชนไม่ร่วมมือกันอย่างจริงจัง

เมื่อปีที่ผ่านมา ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ยกย่องประเทศไทยว่า ‘สามารถควบคุมโรคโควิด-19 ได้ดี’ เพราะมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นกำลังสำคัญประจำอยู่ทุกจังหวัด อสม. ถือเป็นด่านหน้าทำงานหนัก ลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน ให้ความรู้เรื่องสาธารณสุข การใช้ยา และการเฝ้าระวังการระบาด

ในหลายจังหวัด มีการแพร่ระบาดน้อย ตัวเลขลดลง เพราะรากฐานอันแข็งแกร่งของระบบสาธารณสุขขั้นมูลฐานของไทย โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขที่ฝังตัวอยู่ในชนบทไทยมานานร่วม 40 กว่าปีแล้ว เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ

อสม. อาสาชาวบ้านนับล้านทั่วประเทศ มดงานด่านหน้าผู้ป้องกันโควิด-19

คนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยในเมืองอาจจะไม่รู้จักคำว่า อาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม. ว่าคืออะไร แต่คนเหล่านี้คือตัวเชื่อมโยงให้การป้องกันโรคภัยไข้เจ็บครอบคลุมผู้ทั้งประเทศได้ อย่าแปลกใจว่าคนเหล่านี้คือชาวบ้านธรรมดา ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร พ่อค้า แม่ค้าในตลาด

เราทราบดีว่าในอดีต การรักษาพยาบาลทั่วโลกมักกระจุกอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ ผู้คนในชนบทหรือต่างจังหวัดมักขาดแคลนโรงพยาบาลหรือการรักษาพยาบาล อัตราการเสียชีวิตของชาวบ้านจึงสูงมาก

ต่อมาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2521 องค์การอนามัยโลกได้จัดให้มีการประชุมว่าด้วยการสาธารณสุขมูลฐาน (Primary Health Care) ที่เมืองอัลมา อตา สหพันธรัฐรัสเซีย เพื่อร่วมกันพิจารณาหาวิธีที่จะทำให้บรรลุถึงการมีสุขภาพดีถ้วนหน้าได้ และประกาศว่า “การสาธารณสุขมูลฐาน เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเพื่อความยุติธรรมในสังคม และเป็นกุญแจที่จะนำไปสู่เป้าหมายของการมีสุขภาพดีถ้วนหน้า”

สาธารณสุขมูลฐาน คือการดูแลสุขภาพที่อยู่บนพื้นฐานของการปฏิบัติ โดยใช้เครื่องมือที่ถูกต้องตามหลักการและเป็นที่ยอมรับ ในการดูแลสุขภาพส่วนบุคคล ครอบครัว และชุมชน การจัดการสาธารณสุขมูลฐานต้องอาศัยความร่วมมือจากชุมชน และในทุกขั้นตอนต้องเกิดจากการรับฟังความคิดเห็นของคนในชุมชน

สาธารณสุขมูลฐาน เป็นระบบบริการสาธารณสุขที่เพิ่มเติม หรือเสริมจากระบบบริการสาธารณสุขของรัฐ ซึ่งจัดบริการในระดับตำบล หมู่บ้าน โดยประชาชนและความร่วมมือของชุมชนเอง อาจจะเรียกได้ว่า “สาธารณสุขมูลฐาน คือการดูแลสุขภาพอนามัยโดยประชาชน เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน ด้วยการสนับสนุนของรัฐ”

ต้องขอบคุณคุณหมอแห่งกระทรวงสาธารณสุขในสมัยนั้น ผู้ได้วางรากฐานให้กับสาธารณสุขมูลฐานไทยตั้งแต่เมื่อ 40 กว่าปีก่อน โดยให้ชาวบ้านได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน ไม่ใช่มีเฉพาะหมอหรือพยาบาลเท่านั้น และมี อสม. เป็นกำลังสำคัญ 

อสม. อาสาชาวบ้านนับล้านทั่วประเทศ มดงานด่านหน้าผู้ป้องกันโควิด-19
อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ประชาชนคนธรรมดาที่ประคับประคองระบบสาธารณสุขไปพร้อมกับบุคลากรทางการแพทย์

อสม. คืออาสาสมัครที่ได้รับการฝึกอบรมจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อให้รักษาพยาบาลได้อย่างง่ายๆ เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชน

การคัดเลือกอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จะคัดเลือกโดยวิธีออกเสียงในที่ประชุม ซึ่งประกอบด้วยกรรมการพัฒนาหมู่บ้าน กลุ่มผู้สื่อข่าวสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตำบล แต่จะไม่มีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากทางราชการ เพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจว่า อสม. เป็นข้าราชการ

อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ประชาชนคนธรรมดาที่ประคับประคองระบบสาธารณสุขไปพร้อมกับบุคลากรทางการแพทย์

อสม. ซึ่งกำเนิดขึ้นจากแนวทางในการใช้การสาธารณสุขมูลฐาน นับเป็นกำลังสำคัญในการดูแลสาธารณสุขของพี่น้องประชาชนทั้งในการ ป้องกันโรค รักษาพยาบาลเบื้องต้น และติดตามปัญหาสุขภาพผลงานสำคัญในช่วงแรกคือ เมื่อเกิดการระบาดของโรคไข้มาลาเรีย ได้มีการอบรม อสม. ให้เข้าใจโรคร้ายนี้ เพื่อกระจายไปบอกต่อให้กับชาวบ้านในพื้นที่ว่าจะป้องกันโรคได้อย่างไร จนสามารถควบคุมการระบาดของโรคร้ายนี้ได้ 

หลักการสำคัญคือ การป้องกันไม่ให้ประชาชนเกิดโรค ก่อนที่จะเป็นโรคแล้วต้องมารักษาพยาบาล

อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ประชาชนคนธรรมดาที่ประคับประคองระบบสาธารณสุขไปพร้อมกับบุคลากรทางการแพทย์
อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ประชาชนคนธรรมดาที่ประคับประคองระบบสาธารณสุขไปพร้อมกับบุคลากรทางการแพทย์

หลังจากนั้นมีการอบรมชาวบ้านในหมู่บ้านให้เป็น อสม. เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ไปทั่วประเทศ อสม. ถือเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญที่จะคอยส่งข่าวสารจากหน่วยงานของรัฐลงไปในพื้นที่ ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขมีจำนวน อสม. ทั้งสิ้น 1 ล้าน 5 หมื่นคน ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดย อสม. 1 คน จะดูแลประชากรในละแวกใกล้เคียงจำนวน 20 หลังคาเรือน จนกลายเป็นกำลังหลักของกระทรวงสาธารณสุข

โดยมีภารกิจสำคัญ อาทิ กระตุ้นเตือนให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาโภชนาการที่เกิดขึ้น เช่น โรคขาดสารอาหารในเด็ก 0 – 5 ชวบ หรือเด็กแรกเกิดมีน้ำหนักต่ำ สอนอนามัยแม่และเด็ก จัดหาน้ำสะอาด อบรมให้ความรู้ระบบสุขาภิบาล การคุ้มครองผู้บริโภค การวางแผนครอบครัว การป้องกันควบคุมอุบัติเหตุอุบัติภัย ร่วมกันค้นหาผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิต มะเร็ง พร้อมทั้งจัดทำทะเบียนรายชื่อผู้ป่วยเพื่อรับการรักษาหรือส่งต่อ นอกจากนี้ยังช่วยอบรมการป้องกันโรคสำคัญ อาทิ โรคไข้เลือดออก โรคพยาธิ โรคเอดส์ และล่าสุดคือโรคโควิด-19 

พอเกิดโรคโควิด-19 อสม. มีวิธีทำงานคือ

“คอยสอดส่องดูแล ให้ข้อมูลความรู้กับลูกบ้านในการป้องกันโรค ใครมาจากต่างจังหวัด ต้องเก็บข้อมูล คอยดูการกักตัว และประชุมกันตลอดว่า จะรับมือกับผู้ป่วยอย่างไรหากเกิดขึ้น” อสม. คนหนึ่งได้บอกผู้เขียน

ผู้เขียนจำได้ว่าตอนเดือนเมษายน เมื่อมีการระบาดช่วงใหม่ๆ มีคนในหมู่บ้านหนึ่งในอำเภอเชียงดาว ติดรวดเดียว 7 คน มีการปิดหมู่บ้านนั้น ชาวบ้านช่วยกันส่งข้าวส่งเสบียงให้กับคนในหมู่บ้านที่โดนกักตัว และตรวจหาเชื้ออย่างเข้มแข็ง ภายในไม่กี่วัน ไม่มีคนติดโรคเพิ่ม

ขอบคุณ อสม. และเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขทุกคนที่ทำงานอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยมาตลอดร่วม 2 ปีที่ผ่านมา และเป็นกำลังสำคัญในการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ในหลายจังหวัด

ภาพ : Facebook เพื่อน อสม. และ อสม. อาสาสมัครสาธารณะสุข ประจำหมู่บ้าน

Writer

Avatar

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

นามปากกา วันชัย ตัน นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี อดีตรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย (THAIPBS) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTVHD36 มีผลงานเขียนตีพิมพ์เป็นหนังสือ 28 เล่ม เป็นนักเดินทางตัวยง จากความเชื่อที่ว่า การใช้ชีวิตให้มีความสุขควรประกอบด้วยสามสิ่ง คือ ทำงานที่ใจรัก ช่วยเหลือคนรอบข้าง และเดินทางท่องเที่ยว