แสงแดดยามบ่ายส่องผ่านกระจกสีโบราณที่ล้อมรอบ ‘เรือนอนุรักษ์โกษา’ จรดลงบนโต๊ะไม้ปุ่มมะค่าทรงกลมอย่างพอดิบพอดี ขณะเดียวกันกับที่ชาอินเดียกลิ่นหอมฉุยถูกเสริฟตรงหน้าของเรา

“มาจากบริษัทชาเก่าแก่ที่ตกทอดมาในครอบครัวของเพื่อนน่ะครับ ผมก็เลยขอเป็นตัวแทนในเมืองไทย”

คุณโอ๊ค-อรรถดา คอมันตร์ เจ้าบ้าน อธิบายให้เราฟังอย่างภูมิใจ เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่นนี้เองที่บ่งบอกถึงความรักและความใส่ใจในทุกรายละเอียดของเขา เป็นเอกลักษณ์สำคัญของการเนรมิต ‘วิลล่า มูเซ่ เขาใหญ่’ (Villa Musée Khaoyai) อาณาจักรการเรียนรู้ที่จะพาผู้เข้าชมย้อนไปในยุควิกตอเรียนของสยาม (รัชกาลที่ 4 – 5) ผ่านการจัดแสดงของสะสมเลอค่า และเรื่องเล่าที่ร้อยเรียงทุกสิ่งเข้าด้วยกันอย่างละเมียดละไม

แต่นอกจากรสนิยมราคาแพงแล้ว การจัดแสดงแหล่งเรียนรู้ในลักษณะนี้แสดงให้เห็นตัวตนและวิสัยทัศน์ของนักสะสมอย่างไร? ทำไมผู้เข้าชมต้องถ่อมาถึงเขาใหญ่เพื่อสิ่งนี้? เสียงตอบรับของพวกเขาเป็นอย่างไร? คุ้มหรือไม่ในสายตาของเจ้าของ? เราขอชวนท่านผู้อ่านมาล้อมวงจิบชาและฟังคำตอบของคุณโอ๊คในเรือนโบราณแห่งนี้ไปพร้อมๆ กัน ท่ามกลางภาพถ่ายขาวดำคลาสสิกของขุนนางและเจ้านายสยามเป็นพยานรายล้อมบทสนทนาของเรา 

วิลล่า มูเซ่ เขาใหญ่

เริ่มต้นจากความชื่นชอบสมัย ‘วิกตอเรียน’

“มันก็แปลกนะ พอย้อนกลับไปเนี่ยตอนเด็กๆ ผมสะสมแสตมป์ ซึ่งทุกคนก็อาจจะเคยสะสม แต่แสตมป์ที่ผมสะสมไม่ใช่แสตมป์ของยุคนั้น ผมสะสมแสตมป์สมัยรัชกาลที่ 5 เลย กว่าจะได้แต่ละดวงก็ต้องเก็บเงินค่าขนมพอสมควร” คุณโอ๊คหัวเราะ

“อันนี้ตอบยากว่าทำไมเราถึงชอบยุคสมัยร้อยกว่าปีที่แล้ว คือความชอบยังเหมือนเดิมแต่ของเปลี่ยน จากแสตมป์เป็นเหรียญ แล้วก็เป็นเครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์ไม้ ไปจนถึงบ้านทั้งหลัง”

วิลล่า มูเซ่ เขาใหญ่

คุณโอ๊คขยายความว่า สมัยวิกตอเรียน (ค.ศ.1837-1901) หรือถ้าในไทยก็คือปลายสมัยรัชกาลที่ 3 ถึงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ตนโปรดปรานนั้นมีจุดเด่นของยุคคือการถ่ายทอดซึ่งกันและกันของศิลปวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตก เนื่องด้วยการปฏิวัติอุตสาหกรรมและการล่าอาณานิคม คุณโอ๊คบอกว่า ตนเองไม่ได้ศึกษาด้านประวัติศาสตร์มาโดยตรง แต่ชื่นชอบที่จะได้เรียนรู้จากวงสนทนาของเหล่าผู้ทรงคุณวุฒิ นักสะสมอาวุโส หรือแม้กระทั้งญาติผู้ใหญ่ในครอบครัวที่เคยรับราชการสมัยก่อน

“เวลาผมชอบอะไรแล้วผมจะตั้งใจศึกษาเกี่ยวกับเขามาก ช่วงหนึ่งชอบรถคลาสสิก เคยเอารถที่คุณพ่อซื้อให้ใหม่ไปขายแล้วก็เอาเงินไปซื้อรถโบราณ โดนพ่อว่าพอสมควร (หัวเราะ) จนตอนหลังเขาเห็นว่าเราทำจริง รักจริง เอารถมาทำใหม่จนฟื้นสภาพรถมาเป็น Original Condition พอทำเสร็จปุ๊บเอาไปประกวดได้ เล่นกับมันจนได้เป็นกรรมการสมาคมรถคลาสสิกเกือบ 20 ปีที่แล้ว”

คุณโอ๊คยังบอกอีกว่า ตนเองชื่นชอบการ ‘ซ่อม’ หรือการ ‘คืนชีวิต’ ให้ของเก่ามาก ตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์ รถ มาจนถึงเรือนโบราณ ซึ่งเป็นหัวข้อที่นำเราเข้าสู่ความเป็นมาของการเปิด ‘วิลล่า มูเซ่’ แห่งนี้

 พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส 

  “จริงๆ เป็นคนชอบเกี่ยวกับงานสถาปัตยกรรม แต่เรียนบริหารธุรกิจมาเพราะต้องดูแลกิจการของครอบครัว ด้วยความชอบก็ยังสะสมทั้งโต๊ะ ตู้ โคมไฟ ส่วนต่างๆ ของเรือน ฯลฯ เก็บไว้ยี่สิบกว่าปี ซึ่งโปรเจกต์นี้ต้องบอกว่าเป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เนื่องจากตอนน้ำท่วมใหญ่ พ.ศ. 2554 โกดังที่เก็บของเหล่านั้นเสียหายมาก โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ไม้ยุโรปอุ้มน้ำอย่างมะฮอกกานีหรือโอ๊ก

“ส่วนไม้เอเชียที่เป็นไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้สัก ไม้ชิงชัน ยังรอดมาได้ ก็เลยรู้สึกว่าของที่อยู่มาเป็นร้อยปีต้องมาเสียหายไปอย่างน่าเสียดาย จึงเกิดความคิดที่จะรวบรวมของเหล่านี้จัดแสดงไว้อย่างเหมาะสม”

วิลล่า มูเซ่ เขาใหญ่
วิลล่า มูเซ่ เขาใหญ่
วิลล่า มูเซ่ เขาใหญ่

ว่าแล้วทรัพย์สินโบราณที่เคยซ่อนตัวอยู่ในโกดังแถวพุทธมณฑลสาย 3 จึงถูกรวบรวมมาอยู่ร่วมกันอย่างในอดีตตามที่ภาพถ่ายโบราณได้เคยฉายเอาไว้ ในพื้นที่ว่างด้านหลัง ‘ภูวนาลี รีสอร์ท’ ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจของครอบครัวอยู่แล้ว ใน พ.ศ. 2555 เรือนไทยหลังแรกก็ถูกปรุงเรือนขึ้นอีกครั้ง ภายใต้แผนผังการออกแบบจากความคิดของคุณโอ๊คล้วนๆ เป็นเรือนทรงปั้นหยามีอายุย้อนไปถึงสมัยรัชกาลที่ 4 (เคยตั้งอยู่ย่านชุมชนหลังวัดอนงคาราม) ที่ทอดตัวยาวจรดศาลาท่าน้ำหลังงาม ด้านในเรือนประดับประดาด้วยเฟอร์นิเจอร์ที่เจ้าบ้านคัดสรรกับมือทุกชิ้น

“บางทีเราไปเห็นบ้านโบราณในกรุงเทพฯ โครงสร้างบ้านสวยงามแต่ข้างในไม่มีของ เราโชคดีที่มีของแต่งบ้านครบ พอเรามาทำบ้านปุ๊บก็เลยมีของสะสมมาแต่งบ้านเลย รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่างสวิตซ์ไฟ เราก็โชคดีที่เก็บไว้จากอินเดียบ้าง จากพม่าบ้าง เมื่อเข้ามาจะได้อารมณ์ของยุคนั้นอย่างครบถ้วน”

ความใส่ใจในรายละเอียดนี้ยังโยงไปถึงการตั้งชื่อเรือน ซึ่งคุณโอ๊คตั้งใจนำราชทินนามของบรรพบุรุษผู้ซึ่งรับราชการอยู่ร่วมในสมัยนั้นมาตั้งเป็นอนุสรณ์ ดังเรือนหลังแรกที่มีนามว่า ‘เรือนราชพงศา’ จาก ‘พระยาราชพงศานุรักษ์’ (ชม บุนนาค) ผู้เป็นสายสกุลทางแม่ของคุณโอ๊ค (คุณเดือนฉาย คอมันตร์) นั่นเอง

วิลล่า มูเซ่ เขาใหญ่
วิลล่า มูเซ่ เขาใหญ่

4 – 5 ปีต่อมาเรือนอีก 6 หลังก็ค่อยๆ ถูกประกอบปรุงเรือนขึ้นในพื้นที่ใกล้เคียง ทั้ง ‘เรือนสิงหฬสาคร’ เรือนไทยแฝดฝาลายปะกนจากจังหวัดสุพรรณบุรี ‘เรือนสัตยาธิปตัย’ เรือนไทยหมู่ภาคกลางสีแดงชาด ตั้งเคียงคู่ศาลาเก๋งญวณ ‘เรือนอิศรานุภาพ’ ตึกสไตล์โคโลเนียลที่นำมาประยุกต์เป็นสถานที่นวดแผนไทย ‘เรือนอนุรักษ์โกษา’ อีกตึกสไตล์โคโลเนียลขนาดใหญ่ที่เป็นที่ตั้งของ 1885 Café สถานที่จัดแสดงงานศิลปะและบาร์ ‘เรือนศรีสุนทร’ เรือนไทยผสมมอญจากราชบุรี และเรือนสุดท้ายที่เป็นเสมือนพระเอกตรงของที่นี่ นั่นก็คือ ‘เรือนประเสนชิต’ เรือนซึ่งเคยอยู่หัวมุมถนนนเรศตัดถนนสี่พระยา ถูกรื้อถอนมาบูรณะใหม่อย่างงดงามจนได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2558 จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ให้เข้าชมอยู่ใจกลางพื้นที่สีเขียวแห่งนี้ จนเป็นที่มาของชื่อสถานที่ ‘วิลล่า มูเซ่’

ไม่ใช่แค่ ‘แหล่งเรียนรู้’ แต่ต้องเป็น ‘แหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต’

แนวทางการจัดแสดงและเข้าชมวิลล่า มูเซ่ นอกจากการ ‘อนุรักษ์’ แล้ว ยังได้สร้างคาแรกเตอร์ให้กับตัวเรือนเพื่อร้อยเรียงเรื่องราวของสถานที่และสิ่งของให้ปรากฏภาพชัดเจนยิ่งขึ้น

วิลล่า มูเซ่ เขาใหญ่
วิลล่า มูเซ่ เขาใหญ่

“จากการสืบค้นและประเมินจากองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมต่างๆ แล้ว ก็พบว่าบ้านหลังนี้น่าจะสร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. 2450 หรือช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ผมเลยพยายามสร้างคาแรกเตอร์ขึ้นมา คิดตั้งโจทย์ให้ขุนนางที่อยู่บ้านหลังนี้เป็นชายโสด เกิดในรัชสมัยพระปิยมหาราช แล้วก็ได้ไปเรียนยุโรป เพราะฉะนั้น เทสต์การแต่งบ้านเลยมีความผสมผสานทั้งไทยและตะวันตก มีพรมเปอร์เซียบ้าง มีกล้องส่องทางไกล มีเขาสัตว์แต่งเรือน หรือแขวนศาสตราวุธที่ทางขึ้นบันได ถือเป็นอิทธิพลที่เราได้รับจากฝรั่ง ซึ่งสังเกตได้ในบ้านขุนนางต่างๆ ในยุคนั้น”

วิลล่า มูเซ่ เขาใหญ่
วิลล่า มูเซ่ เขาใหญ่
วิลล่า มูเซ่ เขาใหญ่

คุณโอ๊คอธิบายว่า การสร้างตัวละครสมมติขึ้นมา นอกจากจะช่วยให้บริบทต่อการจัดแสดงในเรือนแล้ว ยังช่วยให้ผู้ที่เข้าชมนึกภาพออกว่าบ้านโบราณลักษณะนี้เจ้าของเขาเคยอยู่กันได้จริงอย่างไร โดยห้องในเรือนประเสนชิตนี้ถูกจัดวางตามวิถีชีวิตของตัวละครดังกล่าว อาทิ ตู้กระจกที่มีหมวกและไม้เท้าของสุภาพบุรุษแขวนไว้ ห้องทำงานที่ประกอบไปด้วยตำราฝรั่ง บนผนังมีแขวนหนังสือพิมพ์ Le Petit Journal ที่เล่าเหตุการณ์ในไทยยุคนั้นจากมุมมองฝรั่งเศส (มีทั้งฉบับที่เล่าเรื่องกรณีพิพาทสยาม-ฝรั่งเศสซึ่งนำไปสู่นำไปสู่วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ไปจนถึงฉบับที่เราชอบเป็นพิเศษ คือเล่มที่เล่าเรื่องเหตุการณ์รถไฟแล่นชนช้างแถวทุ่งรังสิตในช่วงหลังการสร้างรถไฟสายแรกๆ ของไทย!) มีห้องนอนห้องเดียว ฯลฯ

ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ค่อยจะมีเชือกกั้น (นอกจากชิ้นที่เปราะบางจริงๆ อย่างเปียโนยี่ห้อ erard จากปี 1911) ทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนกำลังย้อนเวลาไปแอบเดินชมบ้านของท่านเจ้าคุณในอดีตจริงๆ และการเล่าเรื่องแบบนี้ก็ชวนให้นึกถึงพิพิธภัณฑ์ที่ผสมอาคารประวัติศาสตร์กับการร้อยเรียงด้วยจินตนาการ เช่น Dennis Sever’s House ที่ลอนดอน หรือ Lamarck University บนเกาะฟูก๊วก ประเทศเวียดนาม 

สมบัติ (สุดรัก) ผลัดกันชม

เมื่อเราถามคุณโอ๊คถึงเหตุผลที่ตัดสินใจเปิดคลังของสะสมสุดที่รักเป็นแหล่งเรียนรู้ภายใต้ชื่อ วิลล่า มูเซ่ เขาใหญ่ แทนที่จะเก็บไว้ดูคนเดียว คุณโอ๊คจึงเล่าให้ฟังว่า สมัยที่เขาเคยเก็บสะสมรูปถ่ายเก่าอย่างจริงจัง มีหลายๆ ครั้งเมื่อเขาต้องการจะค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับภาพที่ได้มา เขามักจะไปปรึกษา พลตรี หม่อมราชวงศ์ ศุภวัฒย์ เกษมศรี ซึ่งครั้งหนึ่งที่ท่านเคยพูดขึ้นมาว่า “เก็บไว้ดูทำไมคนเดียว ทำไมไม่แบ่งให้คนอื่นดูบ้าง” ถือเป็นการจุดแรงบันดาลใจที่จะแบ่งปัน จนต่อมาเขาได้จัดตั้งสำนักพิมพ์ สยาม เรเนซองส์ เพื่อเริ่มตีพิมพ์ภาพถ่ายโบราณ ซึ่งเป็นหนึ่งในขุดของสะสมสู่สายตาประชาชน

มีหนังสือเล่มแรก Siam: Days of Glory สมุดภาพความทรงจำ เมื่อครั้งแผ่นดินสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ที่จัดทำขึ้นเนื่องในโอกาสครบ 100 ปีการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ใน พ.ศ. 2553 และหนังสือเล่มนี้ยังได้รับพระราชทานรางวัลดีเด่นจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการประกวดหนังสือดีเด่น พ.ศ. 2554 ด้วย

วิลล่า มูเซ่ เขาใหญ่
วิลล่า มูเซ่ เขาใหญ่

“แม้มันจะไม่ใช่สายอาชีพเรา แต่เมื่อทำแล้วเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น แล้วเราทำได้ เราก็อยากทำ”

คุณโอ๊คบอกว่า แนวคิดเดียวกันนี้ก็ส่งผลมาถึงการเปิดประตูบ้านโบราณแต่ละหลังให้กับสาธารณะในฐานะแหล่งเรียนรู้

“ในฐานะนักธุรกิจ ถามว่าคุ้มไหม เงินลงทุนไม่คุ้ม แต่ความสุขน่ะคุ้ม แล้วก็มีความภูมิใจด้วย อย่างหลายๆ ท่านที่เขียนชื่นชมไว้ในสมุดเยี่ยมชม ก็เป็นคนที่ทำคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติบ้านเมืองมาก่อน บางท่านอยู่ในแวดวงนักวิชาการ นักเขียน ศิลปิน เป็นคนที่มีชื่อเสียง มาถึงเขาใหญ่เพื่อมาดู มาชมเรา เราก็ดีใจ” คุณโอ๊คเล่า

“ของเขาก็เปลี่ยนผ่านเป็นธรรมดามาแต่อดีต เราต้องเข้าใจว่าเราเป็นเพียงหนึ่งในผู้ดูแล แต่เมื่อเราได้รับมาดูแลแล้วเขาจะต้องอยู่นานกว่าเรา อย่างบ้านหลังนี้ สมมติเขาอยู่มาร้อยกว่าปี ผมก็หวังว่าจะดูแลให้เขาอยู่ต่อไปได้อีกร้อยกว่าปีในสภาพนี้”

วิลล่า มูเซ่ เขาใหญ่
วิลล่า มูเซ่ เขาใหญ่

นักสะสมกับวงการพิพิธภัณฑ์

บทสนทนาของเราออกรสล่วงเลยจนชาหมดกา จากจุดเริ่มด้วยความเป็นปัจเจก วนไปสู่ความหมายที่ยาวกว่าช่วงชีวิตของคนคนหนึ่ง เราพูดคุยกันถึงนิยามและจรรยาบรรณของ ‘นักสะสม’ ในฐานะผู้ดูแลและส่งสิ่งของ จนได้จังหวะถามความคิดเห็นของคุณโอ๊คถึงบทบาทของนักสะสมต่อวงการพิพิธภัณฑ์ในบ้านเรากันบ้าง

วิลล่า มูเซ่ เขาใหญ่

“บางครั้งคนอาจจะมองว่าเป็นพ่อค้าขายของเก่ารึเปล่า ซึ่งอยากให้มองในหลายๆ มิติมากกว่านั้น เพราะว่านักสะสมที่เขาคิดจะสะสมด้วยความรักก็มี”

คุณโอ๊คยังมองต่อไปว่านักสะสมเหล่านี้สามารถเป็นอีกแรงที่จะช่วยปลูกฝังจิตสำนึกรักในวัฒนธรรมของประเทศด้วย

“อย่างหนังสือที่ผมทำ ที่ผ่านมา เรามักจะเห็นแต่ตัวหนังสือแต่ไม่เห็นรูปถ่ายจริง พอเราสะสมรูปถ่ายแล้วเราเอาเข้ามาเผยแพร่ อาจารย์หลายๆ ท่านก็เข้ามาแสดงความเห็นกับเราว่า โอ้โห! ค้นคว้าศึกษามา 30 – 40 ปี แต่ยังไม่เคยเห็นรูปเลย ดังนั้น ในบางครั้งนักสะสมก็สามารถทำให้การศึกษาค้นคว้าบันทึกประวัติศาสตร์สมบูรณ์มากขึ้น”

อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจคือ หนังสือ ราชอาณาจักรสยาม ณ พระราชวังฟงแตนโบล : คณะราชทูตสยาม ๒๗ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๖๑ ซึ่งสำนักพิมพ์สยาม เรเนซองส์ ได้รับลิขสิทธิ์การแปลเป็นภาษาไทยและจัดพิมพ์

“ก่อนหน้านี้เรารู้จากพงศาวดารที่ พรณรงค์วิชิต (จอน บุนนาค) ท่านเขียนไว้ว่าราชทูตที่ไปฝรั่งเศส มีใครบ้าง เอาอะไรไปบ้าง แต่ไม่มีใครเคยเห็นของครบทั้งหมด เพราะขนาดในพิพิธภัณฑ์ของที่นั่นเองก็จัดแสดงแค่บางส่วน ที่เหลือก็เก็บไว้ในคลัง แต่เมื่อเขาทำหนังสือนี้ขึ้นมาในวาระครบ 150 ปีที่รัชกาลที่ 4 ทรงส่งคณะราชทูตสยามไปเจริญสัมพันธไมตรียังราชสำนักพระจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส ผมก็ขอลิขสิทธิ์มาแปลเป็นภาษาไทย

ทำให้คนไทยได้เห็นว่าคณะราชทูตที่เราเคยรู้แต่ชื่อ หน้าตาของแต่ละท่านเป็นอย่างไรบ้าง แล้วรูปถ่ายของแต่ละท่านนั้น บางท่านแม้แต่ลูกหลานเองก็ไม่เคยเห็น เพราะบางครั้งภาพถ่ายก็เสื่อมสภาพไป หรือบางท่านอาจไม่เคยถ่ายภาพในเมืองไทยด้วยซ้ำ แต่พอไปถึงฝรั่งเศส คนที่นั่นเขาถ่ายภาพเราไว้หมดเลย เพราะตอนนั้นการศึกษาเรื่องชาติพันธุ์และมานุษยวิทยานี้เป็นหัวข้อที่สำคัญมาก”

ย้อนกลับมาที่พิพิธภัณฑ์ เราต้องยอมรับว่าการที่วิลล่า มูเซ่ มีวิธีการนำเสนอที่ส่วนตัวมากกว่าหนังสือรวมรูป นิทรรศการที่ร้อยเรื่องตามจริตของบุคคลคนหนึ่งนั้นย่อมมีทั้งข้อดี เช่น คนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ง่าย ด้วยการเน้นรสนิยมและบรรยากาศที่สร้างอารมณ์ร่วม แต่ก็มาพร้อมกับข้อด้อย เช่น ความกังขาของการตีความประวัติศาสตร์และบริบทของพื้นที่ เป็นต้น พูดง่ายๆ ก็คือพิพิธภัณฑ์ลักษณะนี้ไม่ได้พยายามจะ ‘เป็นกลาง’ เหมือนพิพิธภัณฑ์อื่นๆทั่วไป

แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมีพื้นที่อย่างวิลล่า มูเซ่ ก็ถือว่าเป็นการขยายพื้นที่ให้บุคคลที่สนใจประวัติศาสตร์ ได้เสพการนำเสนอแบบใหม่ๆ และอาจเติมเต็มช่องว่างบางอย่างของวงการพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์บ้านเราได้ไม่มากก็น้อย

วิลล่า มูเซ่ เขาใหญ่

Writer & Photographer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร