สมาคมสถาปนิกสยามฯ ประกาศให้วิหารน้อยได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประเภทงานอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมและชุมชนระดับดีมาก ประจำ พ.ศ. 2565 ซึ่งถือว่าเป็นรางวัลสูงสุดในประเภทนี้และครั้งนี้

“เมื่อทราบข่าว ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติและดีใจมาก ๆ ดิฉันมาทำบุญถวายพระอัฐิเสด็จปู่เป็นประจำทุกปีตั้งแต่เล็ก ๆ พอโตขึ้นมาก็เห็นความทรุดโทรมของที่นี่ วิหารน้อยเป็นอาคารโบราณที่สร้างขึ้นมานาน ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อได้มาเป็นประธานมูลนิธิราชสกุลอาภากร ในพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ก็คิดว่าจะต้องลงมือทำอะไรสักอย่าง

“ความที่ดิฉันยึดมั่นกับคำสอนของเสด็จปู่ที่ว่า ทำอะไรต้องทำจริง ก็เลยเกิดความคิดว่าจะบูรณะวิหารน้อยให้ดีที่สุด จึงได้ปรึกษากับกองทัพเรือ และขอให้กรมศิลปากรมาช่วย รวมทั้งเชิญผู้มีความรู้อย่างคุณวทัญญูให้มาร่วมเป็นที่ปรึกษาในการบูรณะครั้งนี้” หม่อมราชวงศ์จิยากร อาภากร เสสะเวช พระนัดดาใน พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ผู้ทรงเป็นต้นราชสกุลอาภากร) กล่าวอย่างภูมิใจ

หม่อมราชวงศ์จิยากร อาภากร เสสะเวช

“หัวใจของการบูรณะวิหารน้อย คือการนำองค์ความรู้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการมาใช้ในการบูรณะ เพื่อมุ่งอนุรักษ์และพัฒนาอาคารโบราณให้เหมาะสมต่อการใช้งานในอนาคต รวมทั้งบันทึกไว้เป็นองค์ความรู้และกรณีศึกษาสำหรับการบูรณะอาคารโบราณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาคารที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการอนุรักษ์อาคารสำคัญร่วมสมัยอื่น ๆ อีกมากมาย” คุณวทัญญู เทพหัตถี กรรมการผู้จัดการ บริษัท กุฎาคาร จำกัด สถาปนิกอนุรักษ์ผู้ร่วมเป็นที่ปรึกษาโครงการบูรณะวิหารน้อยครั้งล่าสุด กล่าวถึงความสำคัญของการบูรณะครั้งนี้

คุณวทัญญู เทพหัตถี
ภาพ : ปฏิพล รัชตอาภา

คอลัมน์ Heritage House จึงอยากเชิญชวนผู้อ่านทุกท่านไปร่วมทำความรู้จักกับวิหารน้อย เพื่อทราบถึงประวัติความเป็นมา ลักษณะเด่นทางสถาปัตยกรรม ตลอดจนกระบวนการอนุรักษ์ที่ถูกต้อง

“แต่การทำความรู้จักแต่เฉพาะวิหารน้อยอาจไม่เพียงพอ ผมคิดว่าเราควรเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดของสุสานหลวงวัดราชบพิธเสียก่อน ที่นี่มีทั้งเจดีย์ทรงลังกา ปราสาทขอมประยุกต์ สถาปัตยกรรมอิทธิพลโกธิก (Gothic) คลาสสิก ฯลฯ ซึ่งรูปแบบสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกันเช่นนี้ล้วนมีที่มาที่ไปทั้งสิ้น ทั้งหมดกำหนดขึ้นจากสถานะของบุคคลผู้นั้น อันเกี่ยวเนื่องกับรัชกาลที่ 5 ซึ่งเมื่อได้ทราบแล้ว เราจะรู้สึกได้เลยว่ารัชกาลที่ 5 ทรงคิดทุกอย่างอย่างรอบคอบ มีระเบียบแบบแผน” คุณวทัญญูได้ชวนเราให้เปิดมุมมองที่กว้างขึ้น

ถ้าพร้อมแล้ว ตามผมมาเลยครับ

สุสานหลวงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

“จริง ๆ แล้ว โดยธรรมเนียมไทยไม่เคยปรากฏการสร้างสุสานเพื่อบรรจุพระศพหรือพระอัฐิของเจ้านายในพระราชวงศ์มาก่อน การสร้างสุสานหลวงเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อเป็นที่บรรจุพระอัฐิเฉพาะพระมเหสีเทวี พระราชโอรส-ธิดา อัฐิของเจ้าจอมมารดา และเจ้าจอมในรัชกาลที่ 5 เท่านั้น กล่าวโดยภาษาสามัญก็คือ เป็นสถานที่สงวนไว้เฉพาะสมาชิกครอบครัวของพระองค์ท่าน” คุณวทัญญูเล่า

แต่เดิมนั้น หลังจากบำเพ็ญกุศลถวายพระศพจนครบวาระแล้ว ก็จะตามด้วยพิธีถวายพระเพลิงพระศพ แล้วจึงเชิญพระอังคารไปลอยน้ำบริเวณหน้าวัดสำเพ็งหรือวัดปทุมคงคาฯ เชิญพระอัฐิอีกส่วนหนึ่งไปบรรจุไว้ในพระบรมมหาราชวัง หรือวังของเจ้านายพระองค์นั้น ๆ หรือเชิญไปประดิษฐานยังวัดอันเกี่ยวข้องกับพระองค์ท่าน แต่ไม่มีการบรรจุรวมกันในลักษณะสุสานเช่นนี้

ภาพเก่าสุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม สมัยรัชกาลที่ 5

“ไม่มีบันทึกที่ปรากฏแน่ชัดว่าทำไมรัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสุสานหลวงขึ้น แต่พอจะสันนิษฐานได้ว่ามาจากสาเหตุสำคัญ 2 ประการ ประการแรก สภาพบ้านเมืองที่เปลี่ยนไป การประกอบพิธีอันเกี่ยวเนื่องกับพระศพไม่สะดวกเหมือนเมื่อก่อน เช่นการลอยพระอังคารในแม่น้ำ ในอดีตบริเวณหน้าวัดสำเพ็งหรือวัดปทุมคงคาฯ เป็นเขตนอกเมือง คนอาศัยอยู่ไม่มาก แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 จำนวนประชากรมีเพิ่มขึ้นมาก พื้นที่บริเวณนั้นกลายเป็นแหล่งชุมชน จึงไม่เหมาะที่จะลอยพระอังคารอีกต่อไป

“รัชกาลที่ 5 ทรงมีครอบครัวใหญ่ มีมเหสีเทวี เจ้าจอมมารดา รวมทั้งพระราชโอรส-ธิดาหลายพระองค์ ทั้งนี้คงจะโปรดให้รวบรวมสมาชิกครอบครัวของพระองค์ท่านไว้ด้วยกัน ไม่ต้องกระจัดกระจายไปบรรจุพระอัฐิไว้หลาย ๆ ที่ และสาเหตุสำคัญอีกประการคือ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ หรือ ‘สมเด็จพระนางเรือล่ม’ สวรรคต”

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 เกิดเหตุเรือพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ล่มลง ณ ตำบลบางพูด แขวงเมืองนนทบุรี เป็นเหตุให้สวรรคตพร้อม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ พระราชธิดา สมเด็จพระนางเรือล่มทรงเป็นพระอัครมเหสีที่รัชกาลที่ 5 ทรงสนิทเสน่หาเป็นอย่างยิ่ง นำความเศร้าโศกพระราชหฤทัยเป็นอย่างมาก จึงมีพระราชประสงค์จะสร้างที่บรรจุพระอัฐิไว้ให้สมพระราชสถานะ

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ พระราชธิดา

งานพระเมรุของสมเด็จพระนางเรือล่มมีขึ้นที่ท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2424 แต่กว่าจะเริ่มก่อสร้างเจดีย์บรรจุพระอัฐิที่สุสานหลวงนั้น ตกประมาณ พ.ศ. 2426 ล่วงมาหลังจากงานพระเมรุราว ๆ 2 ปี ในการนี้ ได้ทรงเลือกวัดราชบพิธฯ ด้วยเป็นวัดประจำรัชกาล ปรากฏพื้นที่ว่างข้างวัดซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกพอดี นอกจากนั้นยังตั้งอยู่ริมถนนอัษฎางค์ เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีได้สะดวก จึงนับว่าเป็นพื้นที่เหมาะสม

“เมื่อมีพระราชดำริที่จะสร้างอนุสรณ์สถานพระราชทานสมเด็จพระนางเรือล่มแล้ว ก็ทรงเล็งเห็นว่าสมควรจะสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อพระราชทานพระเมสีเทวีพระองค์อื่น ๆ รวมทั้งเจ้าจอมมารดาและเจ้าจอม ตลอดจนพระราชโอรส-ธิดาพร้อม ๆ กันไปเลย เชื่อว่าท่านทรงคิดรวบยอดแล้วว่าไหน ๆ จะทำแล้ว ก็ทำให้ครบเสียเลย 

“ตอนที่ท่านเริ่มสร้างสุสานหลวงนั้น มีเพียงสมเด็จพระนางเรือล่มสวรรคตพร้อมพระราชธิดาเท่านั้น ตามมาด้วยพระราชธิดาบางพระองค์ที่สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ส่วนพระมเหสีเทวี พระราชโอรส-ธิดาพระองค์อื่น ๆ ยังมีพระชนม์อยู่หมด สุสานหลวงจึงเป็นสุสานที่สร้างขึ้นก่อนคนตาย คิดว่านี่คือข้อพิสูจน์ที่ว่าทรงมองเผื่ออนาคตไปเลย เป็นการเตรียมการณ์ล่วงหน้า

เจดีย์สี่ ศาลาหนึ่ง

“สถาปัตยกรรมสำคัญเมื่อแรกสร้างสุสานหลวงคือศาลา 1 หลังและพระเจดีย์อีก 4 องค์ ซึ่งทั้งหมดตั้งเรียงในระนาบเดียวกัน” คุณวทัญญูชี้ให้ชม

พระเจดีย์องค์แรกได้พระราชทานไว้เพื่อบรรจุพระอัฐิสมเด็จพระนางเรือล่มและพระราชธิดา ส่วนอีก 3 องค์ที่เรียงต่อมานั้น พระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ) และ สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระบรมราชเทวี ส่วนศาลาที่ตั้งอยู่ริมสุดนั้น สร้างพระราชทานเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (เจ้าจอมมารดาแพ) การก่อสร้างพระเจดีย์และศาลาครั้งนี้ สันนิษฐานว่าใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 7 เดือน จนแล้วเสร็จเมื่อกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2427

“สมเด็จพระนางเจ้าทั้ง 4 พระองค์ทรงเป็นพระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง หมายถึงว่าทรงมีพระราชสมภพมาเป็นพระราชธิดาพระมหากษัตริย์ ซึ่งก็คือรัชกาลที่ 4 ส่วนศาลาอีกหลังนั้น พระราชทานให้เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ซึ่งเป็นพระสนมเอกคนสำคัญ ภายในมีพระพุทธรูปปางห้ามญาติขนาดสูงเท่าตัวท่าน ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อไว้ ได้พระราชทานนามพระเจดีย์ 4 องค์ไว้คล้องจองกัน คือ สุนันทานุสาวรีย์ รังษีวัฒนา เสาวภาประดิษฐาน และสุขุมาลนฤมิตร์ ส่วนศาลาที่บรรจุพระพุทธรูปนั้นปรากฏนามต่อมาว่า พิหารน้อย ก่อนจะกร่อนกลายเป็น วิหารน้อย อย่างที่เราเรียกในปัจจุบัน”

พระเจดีย์สุนันทานุสาวรีย์ที่ประดิษฐานพระอัฐิสมเด็จพระนางเรือล่มและพระราชธิดา

จดหมายเหตุราชกิจรายวันรัชกาลที่ 5 ได้กล่าวถึงพิธีก่อฤกษ์พระเจดีย์และศาลาที่สุสานหลวง เมื่อวันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2426 ความว่า

“อนึ่งเวลาเย็น วันนี้สวดมนต์ก่อพระฤกษ์พระเจดีย์สี่องค์กับศาลาที่วัดราชบพิธ โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวชิรุณหิศเสด็จไปทรงจุดเทียนแทนพระองค์ และในวันรุ่งขึ้นได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี และสมเด็จพระนางเจ้าทั้งสองพระองค์ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงก่อฤกษ์พระเจดีย์และศาลาที่วัดราชบพิธ ในการนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าจอมมารดาแพไปร่วมทำพิธีด้วย”

ข้อควรสังเกตประการหนึ่ง คือการเรียงลำดับอนุสรณ์สถาน ที่เริ่มด้วยวิหารน้อยก่อน แล้วจึงตามมาด้วยเจดีย์ทั้ง 4 องค์ ซึ่งสะท้อนตามลำดับการเข้ารับราชการเป็นพระภรรยา เจ้าจอมมารดาแพนั้นเป็นรักแรกของรัชกาลที่ 5 ได้ทรงสู่ขอต่อ พระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) และเริ่มรับราชการตั้งแต่ยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ยังมิได้ครองราชย์ ส่วนสมเด็จพระนางเจ้าทั้ง 4 พระองค์นั้น ทรงรับราชการเป็นพระภรรยาเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว

แผนที่โบราณแสดงที่ตั้งของวิหารน้อยและพระเจดีย์ทั้ง 4 องค์เรียงอยู่ในระนาบเดียวกัน บนสุดทรงเหลี่ยมคือวิหารน้อย จากนั้นจึงเรียงต่อมาด้วยพระเจดีย์สุนันทานุสาวรีย์ รังษีวัฒนา เสวภาประดิษฐาน และสุขุมาลนฤมิตร์

หม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย ทรงเป็นทั้งสถาปนิกและช่างผู้รับผิดชอบการก่อสร้างพระเจดีย์ทั้ง 4 องค์ จะสังเกตว่าพระเจดีย์ทรงกลมนี้ไม่ได้เป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณีล้วน ๆ แต่ท่านทรงนำรายละเอียดบางประการจากสถาปัตยกรรมโกธิก มาใช้ผสมผสานด้วย สังเกตได้จากหน้าต่างที่มีลวดลายวิจิตร แบ่งพื้นที่ออกเป็นช่อง ๆ ประดับกระจกหลากสีตามแบบโกธิก” คุณวทัญญูชวนผมให้สังเกต

พระเจดีย์รังษีวัฒนา โปรดสังเกตหน้าต่างที่มีลวดลายวิจิตร แบ่งพื้นที่ออกเป็นช่อง ๆ ประดับกระจกหลากสีตามแบบโกธิก

สถาปัตยกรรมโกธิกเป็นสถาปัตยกรรมที่เผยแพร่โดยทั่วไปในยุโรป และเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่มักจะนำมาใช้กับศาสนสถานอย่างโบสถ์

“การนำสถาปัตยกรรมโกธิกมาใช้กับสุสานเป็นสิ่งที่พบเห็นได้เสมอ สุสานมีความเกี่ยวเนื่องกับศาสนา มีคติความเชื่อลักษณะเดียวกัน จึงเลือกใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมเดียวกัน ขณะที่รัชกาลที่ 5 ทรงครองราชย์อยู่นั้น ตรงกับรัชสมัยของ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย จึงเป็นรูปแบบที่เรียกว่า ‘วิกตอเรียนโกธิก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือวัดนิเวศธรรมประวัติ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบวิกตอเรียนโกธิกทั้งหลัง”

พระเจดีย์เสาวภาประดิษฐาน โปรดสังเกตหน้าต่างที่มีลวดลายวิจิตร แบ่งพื้นที่ออกเป็นช่อง ๆ ประดับกระจกหลากสีตามแบบโกธิก

สำหรับแนวคิดที่สร้างอนุสรณ์สถานเป็นลักษณะเจดีย์ทรงลังกานั้นมีความเป็นมาอย่างไร

“เหตุผลสำคัญที่รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างเป็น ‘เจดีย์’ ก็เพราะว่ามีพระราชประสงค์ให้เป็นมากกว่าสถูปบรรจุพระอังคาร แต่ให้เป็นพระธาตุเจดีย์ เพราะมีหลักฐานว่าได้มีการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้บนยอดตั้งแต่แรกสร้าง คิดว่าพระองค์ท่านมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานความเป็นสิริมงคลให้พระมเหสีเทวีและพระราชโอรส-ธิดาที่ทรงสนิทเสน่หาได้ประทับอยู่ภายใต้ร่มพระบารมีแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนเหตุผลของการสร้างเป็นลักษณะ ‘เจดีย์ทรงลังกา’ นั้น น่าจะมาจากพระราชนิยมที่สืบเนื่องมาแต่ครั้งรัชกาลที่ 4”

พระเจดีย์สุขุมาลนฤมิตร์

วิหารน้อย

วิหารน้อยมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกผสมโกธิก ซึ่งแตกต่างจากพระเจดีย์ทั้ง 4 องค์ที่ตั้งอยู่ในระนาบเดียวกันโดยสิ้นเชิง

“แม้เจ้าคุณพระประยูรวงศ์หรือเจ้าจอมมารดาแพ จะเป็นผู้ที่ทรงยกย่องว่าเป็นพระสนมเอก แต่อนุสรณ์สถานของเจ้าจอมมารดาแพนั้นไม่สามารถนำเจดีย์ทรงลังกามาใช้ได้ เพราะท่านเป็นเพียงพระสนม ไม่ใช่สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชเทวี หรือพระบรมราชินี ดังนั้นจึงต้องลดศักดิ์ของอาคารลงมา และแปลงไปเป็นอาคารประเภทอื่นเสีย คือแทนที่จะสร้างเป็นเจดีย์ ก็เปลี่ยนมาเป็นศาลาแทน รวมทั้งเลี่ยงการใช้สถาปัตยกรรมแบบไทยไปเป็นตะวันตก โดยมีหม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย เป็นผู้ทรงออกแบบและควบคุมการก่อสร้างวิหารน้อยเช่นกัน” คุณวทัญญูอธิบาย

เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (เจ้าจอมมารดาแพ)

วิหารน้อยจึงเป็นศาลาเพียงแห่งเดียวที่ตั้งอยู่ในสุสาน สามารถใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีสงฆ์ได้ เมื่อรัชกาลที่ 5 ยังมีพระชนม์ชีพ ก็ทรงใช้พื้นที่วิหารน้อยสำหรับบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทานสมเด็จพระนางเรือล่มและพระราชธิดา ต่อมาวิหารน้อยจึงกลายมาเป็นพื้นที่สำหรับสมาชิกราชสกุลทุกมหาสาขาที่สืบเชื้อสายมาจากรัชกาลที่ 5 ใช้ประกอบพิธีสงฆ์เพื่อบำเพ็ญกุศลถวายพระอัฐิบรรพบุรุษของแต่ละราชสกุลอย่างต่อเนื่อง 

‘วิหาร’ เป็นคำที่เราใช้เรียกอาคารโถงที่มีพระพุทธรูปประดิษฐาน เพื่อให้ฆราวาสใช้ประกอบพิธีสงฆ์ร่วมกัน นี่คือสาเหตุที่รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูปปางห้ามญาติขนาดเท่าตัวเจ้าจอมมารดาแพเป็นพระพุทธรูปสำคัญประดิษฐานอยู่ในวิหารน้อยแห่งนี้

พระพุทธรูปขนาดเท่าตัวเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ (เจ้าจอมมารดาแพ)

ภายในวิหารน้อยเป็นที่บรรจุอัฐิเจ้าคุณพระประยูรวงศ์และสายสัมพันธ์ หนึ่งในนั้นคือ เจ้าจอมมารดาโหมด ในรัชกาลที่ 5 ผู้ซึ่งเป็นน้องสาวร่วมบิดามารดาของท่าน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงเป็นพระราชโอรสที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาผู้นี้ กล่าวง่าย ๆ คือทรงเป็น หลานป้า ของเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ดังนั้นวิหารน้อยจึงเป็นสถานที่ประดิษฐานพระอัฐิของพระองค์ท่านด้วย

เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (เจ้าจอมมารดาแพ) เมื่อล่วงเข้าสู่ปัจฉิมวัย
เจ้าจอมมารดาโหมด ในรัชกาลที่ 5 ผู้เป็นน้องสาวเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (เจ้าจอมมารดาแพ)
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ต้นราชสกุลอาภากร) ประสูติแต่เจ้าจอมมาราดาโหมด และทรงเป็นหลานป้าของเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (เจ้าจอมมารดาแพ)

การบูรณะวิหารน้อยครั้งล่าสุด เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2561 เริ่มต้นขึ้นจากมูลนิธิราชสกุลอาภากร โดยหม่อมราชวงศ์จิยากร อาภากร เสสะเวช ประธานมูลนิธิ ได้หารือกับกองทัพเรือเพื่อวางแนวทางบูรณะร่วมกับกรมศิลปากร

“หนึ่งในกรรมการมูลนิธิราชสกุลอาภากร คือ คุณสิน พงศ์หาญยุทธ ได้กรุณาชวนผมให้เข้ามาร่วมเป็นที่ปรึกษาในโครงการบูรณะครั้งนี้ โดยร่วมในกระบวนการต่าง ๆ ตั้งแต่ต้น ซึ่งทำให้เกิดการค้นคว้าและค้นพบข้อมูลสำคัญมากมาย เพื่อกำหนดแนวทางการอนุรักษ์ที่เหมาะสม” คุณวทัญญูกล่าวถึงภารกิจสำคัญครั้งนี้

“ก่อนที่ผมจะเข้ามาร่วมดำเนินการบูรณะ วิหารน้อยได้รับการบูรณะมาก่อนหน้านี้หลายครั้ง ในช่วงเวลาที่ต่างกัน ซึ่งส่งผลให้วิหารน้อยมีสภาพอย่างที่เห็นในปัจจุบัน”

เราลองมาย้อนเวลากลับไปสู่อดีตกว่าร้อยปีก่อน เพื่อศึกษาดูว่าวิหารน้อยมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

วิหารน้อยในอดีต  

“อาคารวิหารน้อยในปัจจุบันไม่ใช่อาคารต้นฉบับดั้งเดิมที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2427 เราสืบค้นจากภาพถ่ายโบราณจนพบภาพวิหารน้อยต้นฉบับ จะเห็นว่าแตกต่างจากปัจจุบันมาก เดิมเป็นอาคารปรากฏซุ้มยอดแหลมประดับอยู่ด้วย ประเด็นนี้น่าสนใจมาก โดยฐานันดรศักดิ์แล้ว รัชกาลที่ 5 ไม่สามารถพระราชทานยอดเจดีย์แบบลังกาได้ เพราะเจ้าคุณพระประยูรวงศ์เป็นเพียงเจ้าจอมเท่านั้น แต่ด้วยความที่เป็นผู้ที่ทรงสนิทเสน่หามาก จึงทรงเลี่ยงมาใช้ซุ้มยอดแหลมแบบตะวันตกแทน เรียกได้ว่ายังพระราชทานเกียรติยศให้กับอนุสรณ์สถานของท่านในรูปแบบที่แตกต่างเป็นพิเศษ”

ภาพวิหารน้อยแรกสร้างสมัยรัชกาลที่ 5 ภาพถ่ายต้นฉบับจากคุณศรีมนา สุริยะ ได้นำไฟล์ภาพมาลงสีเพื่อให้เห็นวิหารน้อยเด่นชัดขึ้น โปรดสังเกตยอดซุ้มยอดแหลมแบบโกธิก 2 ซุ้มที่ปรากฏอยู่
ภาพร่างด้านทิศเหนือที่ทำขึ้นหลังจากศึกษาข้อมูลและภาพถ่ายในอดีต

“รูปแบบสถาปัตยกรรมตอนแรกสร้างนั้นยึดแนวสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกเป็นหลัก มีการสอดแทรกองค์ประกอบแบบโกธิกผสมผสานเข้าไปในรายละเอียดบางประการ”

“ขอเริ่มที่สถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกก่อน ถ้าให้อธิบายถึงสถาปัตยกรรมลักษณะนี้อย่างกระชับที่สุดคือสถาปัตยกรรมที่มีองค์ประกอบตามแบบกรีกและโรมัน สิ่งที่สังเกตได้ง่ายสุดในอาคารหลังนี้ก็คือเสาและหัวเสาแบบกรีก ที่เสาปูนประดับอาคารมีการเซาะร่องตามแนวตั้ง เรียกว่า ฟลูต (Flute) มีซุ้มปูนปั้นประดับประตูและหน้าต่าง อย่างเช่นซุ้มโค้งครอบด้วยหน้าจั่วรูปสามเหลี่ยม เรียกว่า เพดิเมนต์ (Pediment) ประดับเหนือช่องหน้าต่างภายนอกอาคาร หากเข้าไปภายในก็จะพบซุ้มโค้งโรมันประดับเหนือบานประตูหน้าต่างเช่นกัน”

แล้ววิหารน้อยมีอะไรบ้างที่เป็นลักษณะสถาปัตยกรรมแบบโกธิก

“ลองสังเกตจากสิ่งใหญ่ ๆ ก่อนนะครับ การใช้ซุ้มยอดแหลมบนหลังคานั้นเป็นโกธิกที่ชัดมาก หรือการประดับเหล็กหล่อบนสันหลังคา รวมทั้งการประดับขอบซุ้มด้วยปูนปั้นซึ่งลวดลายลักษณะนี้ถือว่าการตกแต่งอาคารแบบโกธิก สำหรับช่องแสงบนบานประตูและหน้าต่างนั้น มีลวดลายเป็นลายเรขาคณิต ซึ่งไม่ถือว่าเป็นลายแบบโกธิก แต่วิธีการกรุกระจกหลากสีลงไปในช่องแสงเหล่านั้น ถือว่าเป็นวิธีการแบบโกธิก” คุณวทัญญูบรรยาย

ภาพ 3 มิติวิหารน้อยด้านทิศใต้ ลองสังเกตลักษณะทางสถาปัตยกรรมดั้งเดิมที่เคยปรากฏอยู่ ตามที่บรรยายไว้ในบทความ
ช่องแสงบนบานประตูและหน้าต่างเป็นลวดลายเป็นลายเรขาคณิต ซึ่งไม่ถือว่าเป็นลายแบบโกธิก แต่วิธีการกรุกระจกหลากสีลงไปในช่องแสงเหล่านั้น ถือว่าเป็นวิธีการแบบโกธิก

ภาพ 3 มิติที่นำมาแสดงประกอบบทความนี้ เกิดจากการวิเคราะห์และศึกษาภาพถ่ายโบราณที่ค้นพบ แล้วนำมาสร้างภาพจำลองในมิติต่าง ๆ เพื่อสะท้อนรายละเอียดได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

“อย่างเหล็กหล่อที่เป็นสันหลังคาก็ไม่มีให้เห็นแล้ว แต่เราสามารถจำลองออกมาเป็นภาพ 3 มิติให้เห็นได้ ก็เพราะเราสำรวจแล้วพบชิ้นส่วนเหล็กหล่อประดับหลังคา จากนั้นเราได้ลองนำมาเทียบเคียงกับอนุสาวรีย์แบบโกธิกอื่น ๆ ที่ปรากฏอยู่ในสุสานหลวง แล้วก็พบว่ามีลักษณะเหมือนกัน เราจึงร่างเป็นภาพขึ้นมาใหม่

“หรืออย่างเสาปูนปั้นเซาะร่องประดับอาคารหรือฟลูต ก็ไม่ปรากฏอยู่แล้วบนอาคารปัจจุบัน แต่เราสามารถสำรวจพบหลักฐานการเซาะร่องเดิม แล้วนำมาประมวลกับภาพถ่ายโบราณให้แน่ใจก่อนที่นำมาร่างเป็นภาพสามมิติอย่างที่เห็น”

สิ่งสำคัญอีกประการคือเรื่องของสี จากการสำรวจชั้นสีของผนัง ประตู หน้าต่าง ในการบูรณะครั้งล่าสุด พบร่องรอยว่าสีทาอาคารคือสีเหลืองอมน้ำตาล ส่วนสีที่ทาบัวปูนปั้นนั้นเป็นสีขาว และสีที่ทาวงกบและบานกรอบประตูหน้าต่างบนอาคารล้วนเป็นสีเขียว จึงเป็นสีที่นำมาใช้ทาอาคารในการบูรณะครั้งล่าสุด เพราะตรวจสอบอย่างละเอียดจนมั่นใจว่าเป็นเป็นสีดั้งเดิม

ก่อนการบูรณะครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2561 นั้น วิหารน้อยผ่านการบูรณะมา 4 ครั้ง ครั้งสำคัญที่สุดเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับอาคารหลังนี้พอสมควร และกลายสภาพมาเป็นอาคารอย่างที่เห็นในปัจจุบัน คุณวทัญญูค่อย ๆ ไล่เรียงเราฟังว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

“สิ่งที่เห็นชัดเจนที่สุดคือซุ้มยอดแหลมหายไป สันนิษฐานว่าน้ำฝนรั่ว ชำรุดหนักจนต้องรื้อหลังคาเดิมออกทั้งหมด คือหลังคาทรงนี้มักจะทำให้น้ำฝนเทลงมาสะสมและรั่วซึมอยู่แล้ว เมื่อรื้อซุ้มหลังคาออกจึงต้องสร้างหลังคาทรงจั่วขนาดใหญ่คลุมอาคารทั้งหลังขึ้นมาแทน พร้อมกับยื่นชายคาโดยรอบสำหรับป้องกันแดดและฝนให้ดีขึ้นกว่าเดิม ลักษณะหลังคาทรงจั่วคือหลังคาที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน”

วิหารน้อยเมื่อซุ้มยอดแหลมหายไป กลายเป็นหลังคาทรงจั่ว

“นอกจากเปลี่ยนหลังคาทั้งหมดแล้ว ยังมีการสร้างผนังขึ้นมาใหม่เพื่อปิดอาคารด้านหน้า พร้อมกับสร้างซุ้มประตูใหม่เพื่อเปิดเป็นทางเข้า จั่วเหนือซุ้มประตูโค้งปรากฏเป็นไม้ฉลุลายพรรณพฤกษาแบบวิกตอเรียน ที่ยอดจั่วประดับด้วยไม้สาระไน หรือไม้แกะสลักแนวตั้งที่ประดับตรงกลางจั่ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าสร้างขึ้นในภายหลัง เพราะลักษณะทางสถาปัตยกรรมเช่นนี้เป็นคนละยุคกับอาคารเดิม

“เมื่อมีจั่ว ก็มีการเพิ่มลายปูนปั้นประดับหน้าจั่ว เป็นลายพระอาทิตย์ครึ่งดวงเปล่งรัศมีเหนือน้ำ ซึ่งตอนที่ผมมีโอกาสเห็นครั้งแรกก็ไม่แน่ใจว่าเป็นลายอะไร เมื่อลองสืบค้นไปเรื่อย ๆ ก็พบว่าเป็นตราประจำพระองค์ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นไชยาสุริโยภาส

ลายปูนปั้นประดับหน้าจั่ว เป็นลายพระอาทิตย์ครึ่งดวงเปล่งรัศมีเหนือน้ำ เมื่อสืบค้นจึงพบว่าเป็นตราประจำพระองค์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นไชยาสุริโยภาส

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นไชยาสุริโยภาส (พระองค์เจ้าสุริยงประยุรพันธ์-ต้นราชสกุลสุริยง) ทรงเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาโหมด และเป็นพระอนุชาร่วมเจ้าจอมมารดาเดียวกันกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

“พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นไชยาสุริโยภาสสิ้นพระชนม์ลงเมื่อ พ.ศ. 2462 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งน่าจะเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่วิหารน้อยกำลังได้รับการบูรณะอยู่พอดี จึงมีการเชิญลายปูนปั้นตราประจำพระองค์มาประดับไว้เมื่อเชิญพระอัฐิมาบรรจุที่วิหารน้อยก็เป็นได้”

ตราประจำพระองค์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นไชยาสุริโยภาส
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นไชยาสุริโยภาส (พระองค์เจ้าสุริยงประยุรพันธ์ ทรงเป็นต้นราชสกุลสุริยง)

หลังจากการบูรณะครั้งใหญ่สมัยรัชกาลที่ 6 อย่างที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ได้มีการบูรณะวิหารน้อยอีก 2 ครั้ง แต่มิได้เป็นการบูรณะที่เปลี่ยนสภาพอาคารไปโดยสิ้นเชิง และแล้วก็มาถึงการบูรณะครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2561

การบูรณะวิหารน้อยครั้งล่าสุด

หลังจากที่ทำการศึกษาข้อมูลเชิงลึกอย่างละเอียด ก็ถึงเวลาลงมืออย่างจริงจัง หลักการสำคัญข้อแรกที่ทีมงานร่วมกันแก้ไขอย่างเร่งด่วนคือการจัดการปัญหาความชื้น ที่ทำลายอาคารโบราณหลังนี้ให้ทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็ว

“ความชื้นเกิดจากน้ำใต้ดิน เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องรีบแก้ไข เราขุดลงไปเพียงศอกเดียวก็เจอน้ำแล้ว สิ่งแรกที่ทำคือการตัดลดความชื้นด้วยการเจาะรูผนังอิฐลึกเข้าไปประมาณ 50 เซนติเมตร แล้วเอาไม้แบบกั้นไว้ จากนั้นก็เทคอนกรีตอีพ็อกซี่เรซิ่นเข้าไปแทนที่เนื้ออิฐเดิม ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนเกิดเป็นแนวป้องกันความชื้นไปรอบอาคาร จากนั้นก็ซ่อมเปลี่ยนอิฐที่ชำรุดด้วยอิฐขนาดเท่าเดิม ลอกปูนซีเมนต์เดิมออกทิ้งทั้งหลัง ใช้ปูนหมักฉาบกลับเข้าไปใหม่ เพราะปูนหมักมีคุณสมบัติที่สามารถช่วยระบายความชื้นได้”

การเจาะรูผนังลึกเข้าไปประมาณ 50 เซนติเมตร ก่อนเอาไม้แบบกั้นไว้ แล้วจึงเทคอนกรีตอีพ็อกซี่เรซิ่นเข้าไปแทนที่เนื้ออิฐเดิมเพื่อตัดลดความชื้น
การติดตั้งไม้แบบและเทคอนกรีตอีพ็อกซี่เรซิ่นเข้าไปแทนที่เนื้ออิฐเดิมเพื่อตัดลดความชื้น

เมื่อซ่อมอาคารให้มีสภาพแข็งแรงขึ้นแล้ว สิ่งที่ทำต่อมาก็คือการซ่อมประตูหน้าต่างทั้งหมด รวมทั้งช่องแสงบรรจุกระจกสี

“ประตูหน้าต่างผุเกือบทั้งหมดจากปัญหาความชื้น จึงต้องเปลี่ยนใหม่ ส่วนวงกบด้านบนและช่องแสงยังอยู่ในสภาพดี จึงรักษาไว้แล้วนำกลับมาใช้ พร้อมกับเสริมความแข็งแกร่งในจุดที่ยึดกับผนังอิฐด้วยการเสริมคอนกรีต และยึดด้วยสลักเกลียว

“การซ่อมกระจกสีในช่องแสงนั้นเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก ๆ เพราะต้องรื้อกระจกสีที่แตกหักเสียหาย รวมทั้งต้องรื้อแผ่นอะคริลิกสีที่นำมาใช้เปลี่ยนแทนกระจกสีในการซ่อมยุคหลัง ๆ ออกมาให้หมด ซึ่งกระบวนการนี้ต้องผ่าคิ้วไม้เดิมออกทีละช่อง ๆ จากนั้นจึงค่อย ๆ ใส่กระจกสีใหม่ลงไป โดยต้องทำคิ้วไม้ใหม่ทีละช่อง ๆ จนกว่าจะครบทั้งแผ่น ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้ช่างไม้ที่มีฝีมือละเอียดประณีตเป็นอย่างมาก”

ช่องแสงกรุกระจกสีก่อนบูรณะ จะสังเกตได้ว่ามีบางช่องที่ใช้แผ่นอะคริลิกแทนกระจกสี
งานซ่อมเปลี่ยนกระจกสีประตูหน้าอาคาร

การเรียงกระจกสีก็เป็นสิ่งที่ท้าทายทีมช่างเป็นอย่างมาก การจะใส่สีอะไรลงไปในแต่ละช่องแสงนั้น ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ทีมงานต้องศึกษาแบบแผน (Pattern) การใช้กระจกสีว่าเป็นอย่างไร เพื่อบูรณะให้ได้ใกล้เคียงกับของเดิมมากที่สุด

การสันนิษฐานรูปแบบ (Pattern) การวางกระจกสีในช่องแสงของบานหน้าต่างเมื่อแรกสร้าง แล้วร่างเป็นแบบขึ้นมา

“หรืออย่างช่องแสงรูปครึ่งวงกลมเหนือประตูใหญ่นั้น ตอนที่มาบูรณะก็พบว่าเป็นเพียงกระจกใสเท่านั้น ซึ่งเราเชื่อว่าช่องแสงรูปครึ่งวงกลมนี้ ในอดีตไม่น่าจะเป็นกระจกใสธรรมดา ๆ แต่ควรเป็นกระจกสีด้วย ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องสันนิษฐานรูปแบบกระจกสีขึ้นมาใหม่ เพื่อนำมาใช้กับช่องแสงรูปครึ่งวงกลมนี้โดยเฉพาะ เพื่อให้กลมกลืนกับช่องแสงชุดอื่น ๆ ที่ประดับอาคารอยู่

ช่องแสงรูปครึ่งวงกลมและช่องแสงอื่น ๆ เมื่อบูรณะแล้ว

“การบูรณะหลังคาก็สำคัญ เพราะอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมมาก ๆ เดิมเป็นหลังคาที่มุงด้วยกระเบื้องซีแพคโมเนียและเป็นโครงหลังคาไม้ ซึ่งสภาพผุชำรุดมาก ความชื้นทำให้มีปลวกเข้ามาทำลายทั้งหมด 

“เมื่อประเมินแล้วพบว่าโครงหลังคาหลักมีสภาพไม่แข็งแรง อาจเป็นอันตรายได้ จึงต้องเสริมโครงสร้างหลังคาเสียใหม่ด้วยเหล็ก เพื่อให้แข็งแรงและรับน้ำหนักได้มากขึ้น ระแนงไม้ที่ยังใช้ได้ก็นำกลับมาใช้ ส่วนที่ไม่สามารถใช้ได้ก็เปลี่ยนเป็นระแนงโลหะแทน

“ส่วนกระเบื้องมุงหลังคานั้น กลับมาเลือกใช้กระเบื้องว่าวสีเดิมตามแบบเดิมที่ปรากฏในหลักฐานที่ค้นพบ ส่วนไม้ฉลุนั้นก็ชำรุดมาก จึงนำมาขัด ปรับแต่งให้เรียบร้อย แต่ความที่ไม้ฉลุนั้นบางมาก ๆ จึงจำเป็นต้องเสริมความหนาลงไปบนชิ้นไม้ โดยการลอกลายและฉลุลายบนไม้ใหม่ให้เหมือนต้นแบบ ก่อนนำมาประกบติดกับไม้ฉลุเดิม ไม้ฉลุต้นฉบับจะพลิกกลับไว้ด้านใน เพื่อรักษาของเดิมไว้ให้ดีที่สุด ส่วนไม้ที่ฉลุใหม่แล้วนำมาประกบนั้น จะหันออกด้านนอก ส่วนไม้สาระไนที่ประดับบนยอดหลังคามาแต่เดิมนั้นเสียหายจนไม่สามารถซ่อมได้ จึงผลิตขึ้นใหม่ตามรูปแบบเดิมทุกประการ” 

นอกจากอาคารแล้ว สิ่งสำคัญคือการบูรณะภูมิสถาปัตย์โดยรอบ 

“การบูรณะครั้งก่อน ๆ มีการถมพื้นที่บริเวณรอบ ๆ วิหารน้อยให้สูงขึ้นจนบันไดหายไปหนึ่งขั้น เราจึงตัดสินใจรื้อแผ่นปูทางเดินออก แล้วขุดปรับดินลงไปให้เท่ากับระดับเดิมสมัยแรกสร้าง เพื่อให้อาคารกลับมามีสัดส่วนใกล้เคียงต้นฉบับ

ก่อนการบูรณะจะสังเกตเห็นว่าบันไดขั้นแรกถูกกลบทับด้วยพื้นทางเดินนอกอาคาร
หลังบูรณะให้กลับสู่ระดับเดิม

“ขณะที่สำรวจบริเวณ เรายังพบเสาโคมไฟทำจากเหล็กหล่อ นำเข้าจากอังกฤษมาแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งอยู่ผิดตำแหน่ง เราก็ขุดย้ายเสาไฟไปทำความสะอาด ลอกสี ขัดสนิม และทำสีใหม่ พร้อมทั้งสั่งผลิตโคมไฟหัวเสาพร้อมกับแกนเหล็กคอเสา โดยเลียนแบบของเดิมที่ค้นพบได้จากภาพถ่ายเก่า ก่อนนำกลับมาติดตั้งในตำแหน่งที่สร้างความสว่างและสวยงามให้กับพื้นที่

เสาโคมไฟคู่หน้าวิหารน้อยคือเสาที่ทำจากเหล็กหล่อ นำเข้าจากอังกฤษมาแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งนำมาบูรณะใหม่แล้วนำมาตั้งในตำแหน่งที่เหมาะสม

“นอกจากนั้นยังบูรณะอนุสาวรีย์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรองค์อรรคยุพา ซึ่งเป็นพระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาโหมดเช่นกัน และทรงเป็นพระขนิษฐาในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อพระชนมายุเพียง 4 เดือนเท่านั้น และเป็นพระราชธิดาพระองค์แรกที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระศพลงหีบและนำมาบรรจุตรงแท่น ก่อนสร้างอนุสาวรีย์ทำด้วยหินอ่อนพระราชทานในภายหลัง

อนุสาวรีย์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรองค์อรรคยุพา

“ส่วนอนุสาวรีย์ที่อยู่ในบริเวณเดียวกันกับวิหารน้อยคืออนุสาวรีย์ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเขจรจิรประดิษฐ์ ซึ่งเป็นพระราชธิดาที่ประสูติแต่ เจ้าจอมมารดาแส (แส โรจนดิศ) อนุสาวรีย์นี้มีรูปแบบสถาปัตยกรรมโกธิกอย่างชัดเจน จากการตรวจสอบแล้วพบว่าชำรุดเพียงเล็กน้อย จึงลอกสีเดิมออก ล้างทำความสะอาด และซ่อมแซมผิวปูนฉาบให้กลับมางดงามดังเดิม”

อนุสาวรีย์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเขจรจิรประดิษฐ์

เมื่อภายนอกมีสภาพสวยงามแล้ว ภายในก็ต้องบูรณะให้กลับมางดงามด้วยเช่นกัน

“สิ่งสำคัญภายในคือพระพุทธรูปยืนทั้ง 5 องค์ รวมทั้งพระพุทธรูปขนาดความสูงเท่าเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ด้วย ทุกองค์ชำรุดมาก ทองหลุดล่อน มีคราบดำ พระเนตรสูญหาย จึงต้องซ่อมแต่งผิวโลหะเดิมให้เรียบร้อย ลงรัก ปิดทองใหม่โดยใช้ทองตีมือสีออกแดงที่เรียกว่า ‘ทองกิมซัว’ บูรณะพระเนตรใหม่โดยใช้เปลือกหอยโข่งทะเลและนิล 

“ฐานของพระพุทธรูปก็ชำรุด ต้องนำกระจกเกรียบมาติดใหม่ โดยเลือกใช้กระจกเกรียบที่ทำอย่างโบราณ มีความบาง โดยเป็นฝีมือช่างกระจกเกรียบจากตำบลหนองแก๋ว อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนกระจังประดับฐานพระก็นำมาถอดพิมพ์จากต้นแบบ แล้วหล่อด้วยตะกั่วขึ้นใหม่ ก่อนนำมาซ่อมแซมจนสมบูรณ์

พระเนตรชำรุด รวมทั้งองค์พระด้วย
งานทารักปิดทองเพื่อบูรณะองค์พระ
พระพุทธรูปยืนทั้ง 5 องค์หลังบูรณะ

“อีกสิ่งสำคัญที่บูรณะคือป้ายจารึกพระนามและแท่นที่ประดิษฐานพระรูปพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งป้ายเดิมเป็นหินอ่อนมีลายเส้นจำนวนมาก ทำให้ตัวอักษรที่ปรากฏอยู่บนนั้นอ่านได้ไม่ชัด แท่นก็เป็นแท่นปูน จึงต้องออกแบบและทำขึ้นใหม่ โดยนำหินแกรนิตสีดำเรียบมาทำป้ายพระนาม ส่วนป้ายจารึกซ้าย-ขวาและแท่นทำขึ้นใหม่โดยใช้หินอ่อนสีขาว ชนิดไวท์คาราร่า ส่วนที่บรรจุพระอัฐิพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นไชยาสุริโยภาสนั้น เดิมเป็นช่องบรรจุพระอัฐิบนผนัง ซึ่งได้รักษาไว้ดังเดิม”

คุณวทัญญูบรรยายถึงขั้นตอนการบูรณะอย่างละเอียด และผมก็ได้พยายามถ่ายทอดออกมาให้ครบถ้วนมากที่สุด ด้วยหวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้สนใจศึกษาในอนาคต

กยิราเจ กยิราเถนํ – จะทำสิ่งไร ควรทำให้จริง      

“การบูรณะวิหารน้อย ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิของเสด็จปู่และบรรพบุรุษทุกพระองค์และทุกท่าน เป็นสิ่งที่ดิฉันปลื้มใจมาก และตั้งใจทำถวายพระองค์ท่านด้วยความกตัญญู” หม่อมราชวงศ์จิยากรกล่าว

ในฐานะที่เป็นพระนัดดา ผมอยากให้คุณหญิงเล่าถึงพระจริยวัตรของเสด็จปู่ให้พวกเราฟังสักหน่อย

“ดิฉันไม่มีโอกาสได้เฝ้าท่าน เพราะตอนที่ดิฉันเกิด ท่านสิ้นพระชนม์ไปนานกว่า 30 ปีแล้ว จึงได้แต่ฟังจากคำบอกเล่าของผู้ใหญ่ ภาพเสด็จปู่ในจินตนาการคือผู้ที่วางพระองค์ง่าย ๆ ใส่กางเกงแพร เสื้อผ้าป่านธรรมดา ๆ อยู่บ้าน เป็นผู้ยึดมั่นในพระพุทธศาสนา และการสร้างคุณความดี มีเมตตากับคนทุกระดับชั้น ท่านทรงวางพระองค์มัธยัสถ์ 

ท่านป้าเริง (หม่อมเจ้าเริงจิตรแจรง อาภากร พระธิดา) ทรงเล่าว่าถ้าลูก ๆ จะทูลขอเสื้อกางเกงใหม่ ท่านก็ให้เอามาใส่ให้ท่านดูก่อนว่าเก่าพอหรือยัง ถ้ายัง ก็ให้ใช้ต่อไป ท่านไม่ได้ประทานสิ่งของให้ลูกง่าย ๆ ลูก ๆ ของท่านต้องตั้งใจเรียนหนังสือ ต้องรู้จักทำงาน รู้จักหาเงิน รู้จักเก็บสะสมไว้เผื่อวันข้างหน้า ความที่ท่านเป็นทหารเรือ ท่านก็จะเสวยง่าย ๆ ข้าว ไข่เจียว ผักลวกจิ้ม ปลาทอด ไม่โปรดอะไรที่หรูหราฟุ่มเฟือย แล้วก็คิดถึงผู้อื่น พยายามช่วยเหลือผู้อื่น 

“เมื่อท่านเป็นทหารเรือ ท่านก็ทรงงานอย่างเต็มความสามารถ พัฒนากองทัพเรือให้เจริญก้าวหน้า จนทหารเรือเคารพพระองค์ท่านว่าเป็นพระบิดาของพวกเขา เมื่อมีเหตุให้ต้องทรงออกจากราชการอยู่ช่วงหนึ่ง พระองค์ท่านก็ไม่ได้ปล่อยพระองค์ให้ว่างโดยไม่ทำอะไร แต่ทรงศึกษาเรื่องแพทย์แผนไทยและเรื่องอื่น ๆ อย่างจริงจัง ทรงเป็น ‘หมอพร’ ออกรักษาประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เสด็จออกตรวจประชาชนบริเวณย่านนางเลิ้ง ไปจนเยาวราชและย่านอื่น ๆ ด้วยเครื่องมือสมัยใหม่ แต่ทรงใช้ยาตำราหลวงตามแบบฉบับแพทย์แผนไทย ทุกวันนี้เวลาครบวันสำคัญอันเกี่ยวเนื่องกับพระองค์ท่าน ชาวบ้านแถวนั้นยังจัดงิ้วถวายอยู่เลย” หม่อมราชวงศ์จิยากรกล่าวด้วยความภูมิใจ

แล้วเวลาคนเรียกขานถึงพระองค์ท่านว่า ‘เสด็จเตี่ย’ คุณหญิงรู้สึกอย่างไร

“ก็รู้สึกภูมิใจนะคะ คำว่าเสด็จเตี่ยสะท้อนความผูกพันใกล้ชิด เหมือนเราเป็นญาติกัน (หัวเราะ) แล้วพระองค์ท่านเองก็วางพระองค์เรียบง่าย ติดดิน ทรงเป็นที่รักและเคารพของชนหมู่มาก

“วิหารน้อยนั้นนอกจากจะเป็นสถานที่ประกอบพิธีสงฆ์ของทายาทเนื่องในวันสำคัญของเสด็จปู่แล้ว เรายังเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้ามาสักการะพระอัฐิในวันอื่น ๆ ด้วย ตามวาระสะดวก เนื่องจากมีผู้เรียกร้องเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยจะประกาศให้ทราบล่วงหน้าผ่าน Facebook ของมูลนิธิฯ ซึ่งเป็นมูลนิธิที่เราตั้งใจสานต่อพระปณิธานของพระองค์ท่านในทุก ๆ เรื่อง ไม่ว่าการทหาร การกีฬา การแพทย์แผนโบราณ ดนตรีไทย ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่พระองค์ท่านสนพระทัยและได้ทรงริเริ่มไว้”

และแล้วก็มาถึงคำถามสุดท้ายที่ผมได้ถามหม่อมราชวงศ์จิยากรว่าพระคุณลักษณะอะไรที่พวกเราควรดำเนินตามพระองค์ท่าน

“ขอให้รักในสิ่งที่ทำ ลงมือทำอย่างเต็มที่ อย่าย่อท้อเมื่อเจออุปสรรค มีมานะอดทน ไม่ว่าผลสำเร็จจะมาเร็วหรือช้า ก็ขอให้มั่นใจแล้วก้าวต่อไปจนสุดทาง เหมือนอย่างที่พระองค์ท่านทรงมีคติพจน์ประจำพระองค์ว่า กยิราเจ กยิราเถนํ หมายความว่า จะทำสิ่งไร ควรทำให้จริง”

เช่นเดียวกับการบูรณะวิหารน้อย สุสานหลวงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ครั้งนี้ที่ทุก ๆ ฝ่ายได้ร่วมกัน ‘ทำจริง’ โดยใช้พลังกันอย่างเต็มความรู้ความสามารถ เพื่อบูรณะให้อาคารโบราณหลังนี้กลับมางดงามสมบูรณ์ตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง เพื่อจะเป็นกรณีศึกษาสำหรับอาคารโบราณที่มีคุณค่าอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต

ขอขอบพระคุณ

· หม่อมราชวงศ์จิยากร อาภากร เสสะเวช ประธานมูลนิธิราชสกุลอาภากร ในพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

· คุณวทัญญู เทพหัตถี กรรมการผู้จัดการ บริษัท กุฎาคาร จำกัด สถาปนิกอนุรักษ์ผู้ร่วมเป็นที่ปรึกษาโครงการบูรณะวิหารน้อยครั้งล่าสุด

· ภาพถ่ายบางภาพที่ใช้ประกอบคอลัมน์นี้ ถ่ายโดย คุณสัญชัย ลุงรุ่ง ซึ่งมูลนิธิราชสกุลอาภากร ในพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้อนุญาตให้นำมาใช้ ผู้เขียนต้องขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูง

เอกสารอ้างอิง

การบูรณะวิหารน้อย สุสานหลวงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เรียบเรียงโดย วทัญญู เทพหัตถี ดำเนินการจัดพิมพ์โดย มูลนิธิราชสกุลอาภากร ในพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

Writer

Avatar

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่ค่อยมีใครอยากไป เลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker Instagram : LODE_OAK

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์