The Cloud x ไทยประกันชีวิต
แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต จากพลังเล็กๆ สู่การสร้างคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ให้โลกใบนี้
ก่อนอื่นเราอยากขอให้หยุดความสงสารและเห็นใจเมื่อได้เห็นคำว่า ‘คนพิการ’ ที่ประทับอยู่บนหัวเรื่องนี้
จริงอยู่ที่ร่างกายคนพิการทำไม่ได้ทุกอย่าง แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะดำรงชีวิตหรือทำงานใดๆ ได้สักอย่าง
คนพิการจำนวนมากมีศักยภาพที่จะทำงานที่อยู่เหนือความไม่พร้อมของร่างกายได้ และปัจจุบันก็มีกฎหมายที่ส่งเสริมให้บริษัทต่างๆ จ้างคนพิการเข้าทำงานในองค์กร
แต่ในความเป็นจริงกลับมีคนพิการเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีงานทำ
แม้พวกเขาต้องการมีอาชีพ แต่มีข้อจำกัด ความไม่เข้าใจ และความไม่เสมอภาคหลายด้านที่ปิดโอกาสเหล่านั้นไป
ด้วยเหตุนี้จึงมีคนพิการกลุ่มหนึ่งที่รวมตัวกันออกมาทำงานเป็นต้นแบบ และส่งเสริมอาชีพคนพิการตามมาตรา 35 ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ที่เปิดโอกาสให้บริษัทต่างๆ จ้างงานหรือให้การสนับสนุนโครงการหรือการประกอบอาชีพของคนพิการได้
พวกเขาพิสูจน์ความสามารถด้วยการพลิกพื้นที่ป่าข้าวโพด 20 ไร่ บนที่ลาดเชิงเขาให้เป็นแปลงเกษตรผสมผสานและฟาร์มสเตย์ในชื่อ ‘View Share Farm’ ที่รองรับนักท่องเที่ยวได้ทุกกลุ่มคน
เราเชื่อว่าพื้นที่แห่งนี้ไม่ได้มีดีแค่การแสดงศักยภาพของพวกเขาเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ที่คนทั่วไปได้เข้ามาทำความรู้จัก บ่มเพาะความเข้าใจให้รู้ว่า แท้จริงแล้วความคิด ความมุ่งมั่น และความสุข ของเขาและเรานั้นไม่ได้ต่างกันเลย
01
รวมกลุ่มเพื่อสร้างความเป็นไปได้
รถตู้ลัดเลาะเข้ามาไกลในเขตอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา แต่ยังไม่มีทีท่าว่าเราจะถึงที่หมาย
ระหว่างโทรสอบถามทาง สัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็หายไปชนิดที่ขึ้นจอไว้ว่า No Service
โชคดีที่พูดคุยจนได้ความว่า ขึ้นเนินเขาด้านหน้าเราก็ใกล้ถึงที่หมายแล้ว
รถตู้เร่งเครื่องยนต์สู่เนินเขา จนเรามองเห็นแปลงเกษตรที่มีต้นพืชน้อยใหญ่งอกงามเป็นระเบียบลาดลงไปสู่ตีนเขา แสดงว่าเรามาถึงที่ตั้งของฟาร์มอันเป็นจุดหมายแล้ว
ที่นี่คือ View Share Farm ฟาร์มเกษตรผสมผสาน พร้อมบ้านพักสำหรับการท่องเที่ยว ที่บริหารและดำเนินการโดยกลุ่มคนพิการและผู้ดูแลคนพิการในเขตจังหวัดนครราชสีมา ได้รับการสนับสนุนอาชีพคนพิการจากผู้ประกอบการตามมาตรา 35 ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550
พงษ์เทพ อริยเดช เข็นวีลแชร์คู่ใจออกมาต้อนรับทักทายอย่างคล่องแคล่ว แล้วพาเราเข้าไปพบทีมงานที่วันนี้พร้อมใจกันสวมเสื้อทีมสีส้ม นั่งอมยิ้มทักทายอยู่ในศาลารับรองที่รับลมเย็นและมองเห็นฟาร์มเกษตรแห่งนี้ได้ชัดเจน
“เราพัฒนาพื้นที่ตรงนี้มาได้ 3 ปีแล้วครับ มีแต่คนบอกว่าไม่น่าเชื่อว่าจะทำกันได้ เพราะก่อนหน้านี้ที่นี่เป็นภูเขารกด้วยป่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีแต่คนถามว่าพวกพี่ๆ มาทำอะไรกันบนนี้” พงษ์เทพเริ่มบอกเล่าถึงความเป็นมา
ก่อนหน้านี้ใน พ.ศ. 2551 คนพิการในเขตจังหวัดนครราชสีมารวมตัวกันเป็นเครือข่ายเพื่อทำโครงการให้ความรู้เรื่องสิทธิ์ของคนพิการและผู้ดูแล พร้อมไปกับการช่วยเหลือดูแลกัน เพื่อให้คนพิการดูแลตัวเองได้
ต่อมาเมื่อมีมาตรา 35 ตามพระราชบัญญัติคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ให้เป็นทางเลือกแก่บริษัทที่ต้องการจ้างงานคนพิการ แต่ไม่สะดวกที่จะรับเข้าทำงานในบริษัทตามมาตรา 33 ได้ สามารถเลือกสนับสนุนโดยมอบเป็นทุนการประกอบอาชีพได้เช่นกัน
เงินก้อนเดิมที่เคยนำส่งกองทุนสนับสนุนและส่งเสริมคนพิการตามมาตรา 34 จะเปลี่ยนไปสร้างโอกาสให้คนพิการมีงานทำใกล้บ้านและมีอาชีพอิสระ พึ่งพาตัวเองได้อย่างมีศักดิ์ศรีทัดเทียมกับคนทั่วไปในสังคมได้
ฟังดูน่าจะเป็นทางเลือกใหม่ที่บริษัทต่างๆ ให้ความสนใจ แต่ในความจริงแล้ว กลับไม่ค่อยมีใครเลือกใช้ เพราะขาดความเข้าใจและขาดต้นแบบที่เป็นรูปธรรม
ด้วยเหตุนี้ใน พ.ศ. 2558 กลุ่มเครือข่ายคนพิการในจังหวัดนครราชสีมา จึงร่วมกันบุกเบิกเส้นทางใหม่เพื่อให้เกิดการสนับสนุนงานและอาชีพตามมาตรา 35 ให้เป็นจริงได้
“ตอนนั้นไม่มีใครกล้าทำ เพราะเป็นเรื่องใหม่ เราเองจากที่เคยรวมตัวกัน 30 กว่าคน ก็เหลือกันแค่ 18 คนที่ลุยกันต่อ เพราะหลายคนก็ไม่มั่นใจว่าจะมีสถานประกอบการที่ไหนเอาเงินมาให้คนพิการเป็นแสนต่อปีจริง แต่เราเห็นว่าเป็นข้อกฎหมาย ซึ่งถ้าผู้ประกอบการไม่จ้าง เขาก็จ่ายเข้ากองทุนฯ แต่ตอนนี้มีทางเลือกให้เขามาสนับสนุนคนพิการได้โดยตรง
“และถ้าเราไม่ทำ คนพิการในเขตบ้านเราจะไม่เห็นเลยนะว่ามีแบบนี้ เราไม่ได้มองว่าต้องการเงินมาทำอาชีพ แต่มองว่าคนพิการที่เขาไม่มีโอกาสมายืนตรงนี้เหมือนเรา เขาควรได้สิทธิ์ ถ้าเราได้มาและทำให้เขาเห็น แล้วเขานำไปต่อยอดได้ เราก็ต้องลุย” เอ๋-สำเภา จงเยือกกลาง เจ้าของที่ดิน 20 ไร่ที่นำมาพัฒนาเป็น View Share Farm แห่งนี้เล่าต่อ
เวลานั้นผู้บุกเบิกทั้ง 18 คนรวมตัวกันเป็นกลุ่มส่งเสริมอาชีพ ‘โครงการลูกข่าเหลือง’ เนื่องจากเป็นพืชปลูกง่ายและขายได้ และนำเสนอต่อผู้ประกอบการที่สนใจสนับสนุนอาชีพที่ผู้พิการถนัด คล้ายเป็นการจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการและเครือข่ายคนพิการของมูลนิธินวัตกรรมเพื่อสังคม มี คุณอภิชาต การุณกรสกุล ประธานกรรมการมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง
หลังจากการนำเสนอครั้งนั้น พวกเขาก็ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเอกชนที่ให้เงินทุนตามสิทธิ์คนพิการของกลุ่มจำนวน 10 คน มาตั้งต้นทำอาชีพตามโครงการให้สำเร็จ
ที่ลาดเนินเขา 20 ไร่ ของเอ๋ในวันนั้นเป็นเพียงป่าข้าวโพดแห้งๆ สำหรับเลี้ยงสัตว์ ที่ไม่มีใครมองออกว่าจะเป็นพื้นที่ทำเกษตรได้อย่างไร ยิ่งลักษณะผืนดินแห่งนี้น่าจะยิ่งทวีความท้าทายสำหรับความสามารถของคนพิการ ตามสายตาคนภายนอกที่มองมา
“คุณณรงค์ ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลของ บริษัท เฮชจีเอสที ที่เจอกันตั้งแต่วันนำเสนอโครงการ ขึ้นมาดูพื้นที่ด้วยกัน เขาก็ห่วงว่าพวกเราจะทำเพาะปลูกบนพื้นภูเขาได้ยังไง หลายคนก็มีคำถามว่าจะทำกันได้ไหม แต่พวกเราก็ให้คำรับรองไปว่าจะไม่ทำให้ผิดหวัง ซึ่งก็ต้องขอขอบคุณคุณณรงค์ที่เปิดใจ และให้โอกาสเราได้ทำ”
02
เพาะปลูกความเชื่อมั่น
งานปลูกข่าเหลืองของคนพิการ 18 คน เริ่มต้นอย่างมุ่งมั่น
ที่ดินรกร้างถูกปรับให้เป็นแปลงปลูกด้วยการจ้างแรงงานที่เป็นเพื่อนบ้านกัน เมื่อถึงวันปลูกข่าเหลืองลงแปลง คนพิการและผู้ดูแลทั้ง 18 ก็นัดหมายกันมา ใครแข็งแรงก็เดินปลูกข่าเหลืองตามแปลงไป ส่วนใครเดินไม่ไหวก็นั่งฟันข่าเตรียมลงดิน โดยมีชาวบ้านและเด็กน้อยแถวนั้นมาร่วมด้วยช่วยกัน
แม้ใครๆ บอกว่าข่าเหลืองปลูกง่าย แต่ความจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น ช่วงที่ข่าเหลืองแปลงใหญ่กำลังเติบโตใกล้เก็บเกี่ยว อยู่ๆ เมื่อผ่านอากาศเย็นเพียงคืนเดียว ข่าเหลืองครึ่งหนึ่งกลับติดเชื้อราและล้มตาย สุดท้ายพวกเขาเก็บผลผลิตขายได้เพียง 27 ตัน ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่เสนอไว้ แต่กลับไม่ได้ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้สนับสนุนลดน้อยลงไป
“คุณณรงค์เปิดใจให้พวกเรามาก แม้ปีแรกผลผลิตไม่ได้อย่างที่คิด แกก็เข้าใจ และบอกว่าอย่างน้อยก็มีผลผลิตขายได้ และบอกว่าการช่วยครั้งนี้ไม่เพียงช่วยปีเดียวแล้วจบไป อย่างน้อยอยากจะช่วยให้ได้ 3 – 5 ปี เพราะมองถึงเรื่องความยั่งยืนของอาชีพและกลุ่มของเราด้วย”
03
มุ่งสู่เกษตรผสมผสาน
แม้การทำเกษตรแปลงแรกไม่ประสบผลสำเร็จตามที่ตั้งเป้าไว้ แต่พวกเขาก็ไม่ยอมย่ำอยู่กับที่ และแม้แต่ละคนไม่มีความรู้ทางการเกษตร แต่ขวนขวายเรียนรู้และหาวิธีการทำเกษตรที่เหมาะกับพื้นที่ตรงนี้ให้ได้
พวกเขาเข้าไปปรึกษาหน่วยงาน แสวงหาเครือข่าย และนำคำแนะนำมาปรับใช้ และเริ่มขยับมาทำการเกษตรผสมผสานไปพร้อมกับนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อให้การเกษตรเชิงเขาได้ผลดีไม่แพ้แปลงปลูกบนที่ราบ
“เราเคยสร้างสระเก็บน้ำไว้ด้านบน แต่มันฝืนธรรมชาติ จึงเปลี่ยนมาเป็นเจาะบ่อบาดาล และใช้โซลาร์เซลล์ปั๊มน้ำมาเก็บในแท็งก์ จากนั้นโซลาร์เซลล์จะจ่ายน้ำด้วยระบบน้ำหยด ตอนนี้เราวางแผนจะทำระบบโซลินอยด์วาล์วแบบตั้งเวลารดน้ำต้นไม้ กำลังวางรูปแบบกันว่าจะทำอย่างไร เพราะการเกษตรบนเขาแบบนี้ต้องวางแผนกันเยอะกว่าปกติ”
ในที่สุดพื้นที่แห่งนี้ก็กลายเป็นพื้นที่เกษตรผสมผสานได้อย่างลงตัว มีการแบ่งแปลงปลูกสำหรับพืชหลายชนิด
หนึ่งคือ พืชไร่ที่ไม่ต้องการการดูแลมาก เช่น มันสำปะหลัง กินพื้นที่ 5 – 6 ไร่
สองคือ พืชสวนผลไม้นานาชนิดที่ลงไว้ในแปลงปลูกด้านบนเนินเขา มีทั้งมะยงชิด ลำไย เงาะ ส้มโอ กล้วยไข่ กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า ที่เริ่มให้ผลผลิตบ้างแล้ว
สามคือ แปลงปลูกตีนเขาที่เป็นพื้นที่สำหรับต้นมัลเบอร์รี่ ที่ออกผลงามจนเก็บมาทำน้ำมัลเบอร์รี่หอมชื่นใจไว้รับรองแขกที่เยือนได้ และต่อไปจะนำไปแปรรูปเป็นแยมหรือผลไม้อบแห้งไว้ขายได้อีกทาง
สี่คือ โรงเรือนปลูกเมลอนพันธุ์โกลเด้นพิงก์ 4 หลัง ที่พิถีพิถันในการดูแลชนิดที่คัดผลผลิต 1 ลูกต่อ 1 ต้น ตอนนี้กำลังออกผลใหญ่รอให้เก็บเกี่ยวขายได้อีกไม่นาน นอกจากนี้ยังมีแปลงปลูกใหญ่ที่เพิ่งเก็บเกี่ยวข้าวโพดไป ซึ่งทางกลุ่มกำลังตัดสินใจว่าจะปลูกพืชใบชนิดใดเพื่อนำไปขายให้ได้ราคาที่สุด
การทำเกษตรผสมผสานดำเนินไปพร้อมกับการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ปรับแปลงเพาะปลูกแห่งนี้โดยลดการใช้เคมีลงไปเรื่อยๆ เพื่อให้ผลผลิตในฟาร์มผ่านมาตรฐานอาหารเกษตรปลอดภัยในไม่ช้า
“เราขอคำปรึกษาจากอาจารย์ด้านเกษตร ตอนนี้ก็ทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยหมักวงตาข่าย ฮอร์โมนไข่ น้ำหมักจากเศษอาหาร จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง แล้วก็ค่อยๆ ปรับใช้กับพืชไปเรื่อยๆ ซึ่งก็เห็นผลที่ดี”
เชื่อไหมว่า การดูแลแปลงปลูกพืชทั้งหมดที่ว่านี้มีการวางแผนและวางระบบอย่างดี แม้ใช้ผู้ดูแลเป็นหลักเพียงไม่กี่คน
“คนที่ดูแลเป็นหลักจะเป็นสมาชิกที่อยู่ใกล้ๆ สองสามราย ถ้าหากเป็นงานที่ใช้แรงงานในแปลง เราก็จ้างคนในชุมชน ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้สูงอายุ” เอ๋ลงรายละเอียด มีพงษ์เทพเล่าเสริมเรียกรอยยิ้มของทุกคนได้ “มีครบครับ ทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ เราไม่ปิดกั้น คนที่เป็นทางจิตก็มีนะ แต่เราต้องเอาใจเขาหน่อย เขาไม่มีพิษมีภัย แต่ถ้าไม่ถูกใจ เขากลับบ้านเลยนะ เราก็ต้องเข้าให้ถูกทาง”
ต่อมาเมื่อพื้นที่การเกษตรเห็นผลน่าชื่นใจ สร้างความมั่นใจให้คนพิการและผู้ประกอบการได้ สมาชิกในกลุ่มจึงขยายเพิ่มเป็น 71 คน พร้อมเพิ่มพื้นที่เกษตรของกลุ่มอีก 2 แห่ง ในอำเภอพิมายและอำเภอโนนชัย จังหวัดนครราชสีมา โครงการของ View Share Farm ได้รับเงินสนับสนุนตามมาตรา 35 ตามสิทธิ์คนพิการเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว
แม้จะได้รับเงินทุนสนับสนุนเพิ่มขึ้นเพื่อสานต่ออีกหลายงานที่ตั้งใจ แต่สมาชิกในกลุ่มคิดต่อยอดมากไปกว่านั้น พวกเขาต้องการพัฒนางานและหารายได้เลี้ยงกลุ่มให้ได้ เพื่อให้เกิดเป็นอาชีพเพื่อคนพิการที่ยั่งยืนต่อไป
“ตอนนี้เงินปันผลจากรายได้ที่เราให้สมาชิกกลุ่มก็ดีขึ้น เขาพอใจกัน แต่เราก็อยากให้ได้มากกว่านั้น ส่วนการสนับสนุนจากบริษัท ที่ต่อไปหากมีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีบริษัทใดให้งบมาอีก เราก็จะลุยต่อเองให้ได้ ในเมื่อเขาตั้งต้นมาให้เราแล้ว เราก็ต้องทำต่อไป แม้เราอาจจะไปไม่ไว แต่เราจะทำเต็มกำลัง และเลี้ยงตัวเองให้ได้”
04
Farm Stay สำหรับทุกคน
ไม่น่าแปลกใจว่าทำไม View Share Farm แห่งนี้จึงต่อยอดงานเกษตรมาถึงฟาร์มสเตย์ เพื่อสร้างรายได้อีกทาง
“ปี 60 เราเริ่มคุยกับสมาชิกว่า จุดเด่นของวังน้ำเขียวคือ อากาศดี เป็นแหล่งโอโซนอันดับ 7 ของโลก เราควรทำการเกษตรเชิงท่องเที่ยว ให้เป็นที่ท่องเที่ยว ไปพร้อมกับเป็นสถานที่ดูงาน และศูนย์การเรียนรู้ ซึ่งตอนนี้เราเริ่มทำแล้ว”
เอ๋เล่าพลางชี้ให้ดูบ้านพัก 3 หลัง ซึ่งตั้งอยู่บนมุมดีที่สุดด้านบนเขา ที่มองลงมาเห็นแปลงปลูกสีเขียวทอดยาว ไปบรรจบผืนป่าและท้องฟ้ากว้างสุดลูกหูลูกตา ส่วนหน้าบ้านกำลังก่อสร้างน้ำตกและสระว่ายน้ำตามคำเรียกร้องของนักท่องเที่ยวที่เริ่มมาใช้บริการแล้ว
สิ่งพิเศษที่สุดที่ซ่อนอยู่ในฟาร์มสเตย์แห่งนี้คือ ทุกตารางเมตรของพื้นที่ปรับให้เหมาะกับคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม ผู้พิการที่ใช้ไม้เท้าหรือนั่งวีลแชร์มาเที่ยวได้อย่างสบาย เพราะเนินและทางลาดทั้งหมดปรับระดับอย่างเหมาะสม ห้องน้ำมีราวจับตามมาตรฐาน คนพิการหรือผู้สูงอายุก็ใช้สะดวกสบาย ทั้งราคาก็คุ้มค่า เพราะอยากให้คนมาสัมผัสบรรยากาศดีๆ ที่นี่ด้วยกัน
“ตอนตั้งชื่อที่นี่ เราก็คิดจากว่าเรานั่งวีลแชร์นะ แต่คำทั้งสองคำนี้ก็พ้องเสียงกับคำว่า View และ Share ซึ่งเราคิดว่าเป็นความหมายที่ดีว่า อยากให้คนมาดูวิวดีๆ ที่นี่ แล้วแบ่งปัน แชร์บอกต่อกันไป
“ใครอยากมาพักก็ได้ เราก็มีเต็นท์ให้เช่า 7 หลัง ถ้าเอามาเองก็คิดเป็นค่าพื้นที่ไปเหมือนเขาใหญ่เลยครับ เรามีห้องน้ำมีไฟให้ใช้ บ้านหลังใหญ่นอนได้ห้องละ 4 – 6 คน คิดราคา 1,200 บาท เพราะต้องออกมาใช้ห้องน้ำรวม ส่วนบ้านไม้ไผ่คิดหลังละ 900 บาท มีห้องน้ำในตัว หากนักท่องเที่ยวหรือหน่วยงานอยากเรียนรู้การทำเกษตร เราก็จัดกิจกรรมให้ได้
“ตอนนี้เป็นช่วงโปรโมตฟาร์ม เราก็มีส่วนลดราคาให้ หรือสำหรับหน่วยงานที่อยากมาเพื่อเป็นกำลังใจ เช่น คนพิการมาดูงาน เราก็คิดอีกราคาให้เช่นกัน” พงษ์เทพอธิบายราคาค่าที่พักที่เรียกว่าคุ้มค่าเกินค่าวิวทิวทัศน์และอากาศบนเขาลูกนี้
05
ขยายการสร้างอาชีพ
วันนี้เรียกได้ว่า View Share Farm แห่งนี้เป็นต้นแบบให้กับการสนับสนุนอาชีพคนพิการตามมาตรา 35 ในจังหวัดนครราชสีมาได้จริง สถิติเดิมที่เคยเป็นศูนย์เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 200 คน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางกลุ่มภูมิใจที่ได้ทำประโยชน์ให้กลุ่มคนพิการ แต่พวกเขาไม่หยุดความสำเร็จเพียงเท่านั้น
ปีที่ผ่านมาพวกเขาขยายงานสู่การขอเงินทุนส่งเสริมอาชีพให้สมาชิกรายบุคคลที่มีอาชีพเดิมอยู่แล้วได้ถึง 8 คน
“เรายื่นเรื่องขอเงินสนับสนุนให้ แต่คนพิการต้องมาเป็นสมาชิกของเรา เขาเขียนโครงการแจกแจงมาว่าต้องการนำเงินทุนต่อยอดอาชีพของตัวเองอย่างไร เมื่อได้เงินมาเขาก็นำไปทำอาชีพเดิมได้ ไม่จำเป็นต้องมาทำงานที่นี่ แต่เราจะมีการติดตามผลงาน และให้รายงานผลเพื่อนำส่งให้บริษัทที่ให้ทุนมา เพื่อให้บริษัทรู้ว่าเงินทุกบาทที่เขาให้มาสร้างอาชีพได้จริง
“มีคนขายลูกชิ้นคนหนึ่ง แกแขนขาด เราก็ให้แกเขียนโครงการมาและได้รับเงินทุนไป จากที่นั่งขายหน้าบ้าน ตอนนี้ขี่รถขายไปทั่วเลย ผมตั้งชื่อให้ร้านแกว่า ลูกชิ้นน้ำจิ้มมือหนึ่ง เพราะแกมีมือเดียว” พงษ์เทพเล่าอย่างอารมณ์ดี
บุญช่วย บุญนอก ผู้ดูแลน้องธิดารัตน์ คือ 1 ใน 8 สมาชิกที่ได้รับเงินสนับสนุนตามมาตรา 35 เพื่อทำงานอาชีพอิสระที่ตัวเองถนัด นั่นคือ เย็บกระเป๋าหนัง ร้อยลูกปัด ทำสินค้ากิฟต์ช็อปตามออร์เดอร์ และนำไปขายตามตลาดนัด เพื่อให้มีรายได้และเวลาได้ดูแลลูกสาวอย่างเต็มที่ ซึ่งวันนี้น้องธิดารัตน์ติดตามคุณพ่อมานั่งเล่นที่ฟาร์มแห่งนี้ด้วย
“พวกพี่ๆ ลำบากกว่าผมเยอะ แต่เขาก็มาดูแลอย่างดี เขาเห็นใจเรา เอาใจใส่ และแวะมาหาบ่อยกว่าหน่วยงานที่ดูแลคนพิการเสียอีก” บุญช่วยเล่าความประทับใจ
“ตั้งแต่ได้มาตรา 35 มาสนับสนุน คุณภาพชีวิตของผมดีขึ้นมาก” ดำรง สินธศักดิ์ศิริ ผู้ดูแลแปลงเกษตรที่อำเภอโชคชัยพูดขึ้น “เรารวมตัวกันตั้งแต่ปี 50 เป็นกำลังใจให้กันตั้งแต่ทำงานขับเคลื่อนคนพิการในจังหวัด ตอนนั้นทำเป็นจิตอาสา มีแต่คนว่าไม่ทำมาหากินกันเหรอ จนมาปี 58 ที่ได้ทุนมาทำงานกัน ชาวบ้านเขาก็เห็นว่าเราทำได้ เรามีอาชีพเลี้ยงตัวได้”
เช่นเดียวกับ สมาน เติบโต สมาชิกผู้บุกเบิกแต่เริ่มต้น เขาเคยทำงานเป็นวิศวกร แต่หลังประสบอุบัติเหตุจึงต้องใช้ไม้ค้ำยันช่วยเดิน แม้เคยเกิดความรู้สึกไม่ดีกับตัวเองมากมาย แต่การทำงานนี้ช่วยสร้างคุณค่าและความมั่นใจกลับมา
“เมื่อก่อนผมอยู่แต่กับบ้าน มันยากมากนะที่จะออกมาครั้งแรก เพราะเราเจอคำพูดไม่ดีเยอะ แล้วจะคิดไปเองว่า มีแต่คนมองเรา แต่พอได้ออกมาทำงานที่นี่ ชีวิตมีค่าขึ้น ได้เป็นเหมือนตัวอย่าง ให้คนพิการคนอื่นอยากทำงานเหมือนผม”
ทุกคนในกลุ่มต่างเห็นกันว่า กฎหมายเพื่อสนับสนุนอาชีพคนพิการฉบับปัจจุบันดีที่สุดเท่าที่มีมา เพียงแต่อยู่ที่การสร้างความเข้าใจ ส่งเสริมให้นำมาใช้ได้จริงด้วยการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ อย่างจริงใจเท่านั้น
“กฎหมายเขียนไว้ได้ดีแล้ว แต่บางทีคนทำงานมองกันต่างมุมและทำให้มันยากเอง ถ้ามีการเรียบเรียงข้อกฎหมายให้ฟังง่าย แนะนำให้คนพิการและสถานประกอบการเข้าใจ ทุกอย่างก็จบได้ด้วยดี”
06
ลดความเห็นใจ ขยายความเท่าเทียม
เห็นได้ชัดว่า งานปัจจุบันของกลุ่มส่งเสริมอาชีพคนพิการกลุ่มนี้พัฒนาจากจุดเริ่มต้นไปมาก เชื่อว่าที่ผ่านมาย่อมผ่านอุปสรรคมาไม่น้อย แต่ทุกคนต่างเล่าถึงทุกช่วงเวลาและปัญหาอย่างอารมณ์ดี โดยให้เหตุผลเหมือนกันว่า สุดท้ายปัญหาที่ว่าใหญ่และยากก็คลี่คลายไปได้ด้วยการร่วมมือและลงมือแก้ไขเสมอ
“อุปสรรคใหญ่น่าจะเป็นการซื้อใจคนมากกว่า” พงษ์เทพเกริ่นขึ้นมา “ที่ผ่านมาคนพิการอยู่กับคำว่า ‘เวทนานิยม’ ผมเรียนคอมพิวเตอร์และเอาเครื่องไปซ่อม อยู่ๆ ก็มีผู้หญิงคนหนึ่งยื่นแบงก์ยี่สิบมาให้ ทั้งที่ผมไม่ได้ทำอะไร แค่เขาเห็นว่าเราเป็นคนพิการ เขาก็มีแต่คำว่า ‘สงสาร’ และ ‘เวทนา’”
ก่อนจะมาเป็นหัวเรือใหญ่ในการส่งเสริมงานคนพิการ พงษ์เทพเคยทำงานเงินเดือนสูง ซึ่งต่อมาประสบอุบัติเหตุทำให้ต้องนั่งวีลแชร์ และเคยท้อแท้ขนาดที่นอนติดเตียงอยู่ 2 ปี แต่สุดท้ายชีวิตที่อยู่ดี ๆ กลับต้อง ‘ติดลบ’ ก็ต้องเดินต่อไป
“เมื่อพิการแล้วก็ต้องอยู่ให้ได้ และทำให้คนอื่นเห็นด้วยว่าเราอยู่ได้ ผมขับรถได้ ทำงานได้ ช่วยเหลือคนอื่นได้ นี่คือความภูมิใจ ทำให้เวทนานิยมที่คนมีลดน้อยไปได้ แต่ไม่ใช่ว่าเราดูแลตัวเองได้ มีงานทำ แล้วก็เฉย เราอยากให้คนพิการในสังคมอยู่ให้ได้เช่นกัน อย่าให้ใครดูถูกว่าพิการแล้วไม่ทำอะไร เราจึงต้องออกมาให้งานได้เกิด ล้มคำว่าเวทนานิยมไปให้ได้”
จากประสบการณ์ของเอ๋ก็เช่นกัน ความพิการกลายเป็นข้อจำกัดที่หลายคนในหมู่บ้านมองว่าเธอทำงานเป็นผู้นำไม่ได้ แม้จะได้รับการเลือกตั้งมาจากคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ก็ตาม
“ภาพของคนพิการติดลบมาก เราได้ยินเสมอว่า จะเลือกเอาคนพิการมาเป็นผู้นำ มานั่งเป็นรองสภาของตำบลเหรอ แต่เราก็สู้ด้วยงาน ต้องลบคำที่เขาว่าให้ได้ สองปีที่ทำงานก็ตามช่วยชาวบ้านตลอด พาไปทำกิจกรรม พาไปดูงาน หางบประมาณมาพัฒนาหมู่บ้านได้ทุกปี จนเขาไม่มีภาพว่าเราพิการ ทุกวันนี้ก็ยังต้องช่วยดูแลงานกองทุนหมู่บ้านอยู่เท่าที่เวลาจะมี แล้วก็พยายามสอนคนให้มาทำแทนเราให้ได้”
หลายชั่วโมงที่เราได้นั่งคุยทั้งการทำงานและประสบการณ์ชีวิตของทั้งหกคนนี้ ทำให้เราได้เข้าใจถึงความไม่เสมอภาคและความไม่เท่าเทียมที่ผู้พิการต้องประสบพบเจอมาตลอด
“สิบปีที่อยู่ในวงการนี้ ผมไม่เคยเห็นว่ามีอะไรเลยที่เป็นรูปธรรมให้กับคนพิการใน 32 อำเภอของบ้านเรา สิ้นเดือนมาได้เบี้ย 800 บาท หน้าหนาวมาก็รับผ้าห่มไป ปีใหม่อาจมีแจกขนมเพิ่ม คนพิการในโคราชมีตั้ง 88,000 คน คนพิการในประเทศมีสองล้านคน แต่ไม่มีใครมาดูแลให้ดีเลย ขนาดเรื่องสุขภาพ อากาศเปลี่ยนแปลง เขายังห่วงคนสูงอายุ เด็ก สตรีมีครรภ์ ไม่เห็นมีใครห่วงคนพิการ เราก็ต้องดูแลกันเอง” พงษ์เทพพูดจบก็หัวเราะในความจริงที่น่าเศร้าข้อนี้
“ยังคงมีคนพิการอีกจำนวนมากที่ไม่รู้เรื่องสิทธิ์ เราก็มาดูแลให้ ลุงขาพิการคนหนึ่งต้องเอาไม้ฉำฉามาเหลาเป็นขาเอง บางคนรอการช่วยเหลือจนตายก็ไม่ได้รับ บางคนไปติดต่อขออุปกรณ์ช่วยเหลือจากหน่วยงานก็ช้า เขาบอกว่า ทำไมมาติดต่อพี่แล้วได้เร็วจัง นั่นเพราะเราช่วยด้วยใจ ตรงไหนพอไปหยิบยืมมาได้ก็หามาให้ เพื่อให้คนพิการก้าวขึ้นบ้านเองได้ ออกมานอกบ้านเองได้ ให้เขามีความมั่นใจ ผมจะทำให้คนพิการออกมาติดสังคม คนเขาจะได้เลิกพูดกันสักทีว่า ทางลาดทำไปทำไม ไม่เห็นมีคนพิการออกมาสักคน”
สุดท้ายแล้ว ผลงานที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ น่าจะเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงศักยภาพของคนพิการที่คนทั่วไปเคยมองข้ามไป ซึ่งหากต่อไปสังคมจะให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมและลดเวทนานิยมลงได้ ย่อมเป็นเรื่องน่าชื่นใจไม่น้อย
“เพียงไม่เห็นว่าเราเป็นบุคคลประเภทที่สอง นั่นก็เท่ากับมองเห็นความเสมอภาคมากขึ้นแล้ว” พงษ์เทพกล่าวพร้อมรอยยิ้ม ที่เราเห็นว่าปรากฏอยู่บนใบหน้าของเขาตลอดตั้งแต่เริ่มต้นจบบทสนทนาในวันนั้น