30 พฤษภาคม 2018
12 K

ที่ระยะทาง 100 เมตร สายตาของฉันเริ่มพร่าเลือน และสองขาก็อ่อนแรงเต็มที

แสงรำไรจากหลอดไฟสีเหลืองนวลช่วยให้เหล่านักท่องเที่ยวเห็นทางข้างหน้าชัดเจนขึ้น พร้อมกับทำหน้าที่นำชาวต่างถิ่นย้อนกลับไปสัมผัสชีวิตของ ‘เวียดกง’ ผู้หลบซ่อนตัวและวางแผนการรบในความมืดภายในอุโมงค์ลับใต้ดินไม่ใกล้ไม่ไกลจากเมืองโฮจิมินห์

ฉันได้อ่านรีวิวท่องเที่ยวเวียดนามมานักต่อนัก แต่น้อยครั้งที่จะเจอใครเขียนถึงอุโมงค์กู๋จี (Cu Chi Tunnels) อาจด้วยที่นี่ไม่ใช่สถานที่ชิคๆ เหมาะกับการถ่ายรูปสวยๆ ลงอินสตาแกรม และการเดินทางมาก็ไม่สู้ใกล้นัก แต่มันคือสถานที่ท่องเที่ยวอันดับหนึ่งในเมืองหลวงเวียดนามจากการจัดอันดับของ TripAdvisor และเป็นจุดหมายที่ฉันตั้งใจเป็นอย่างยิ่งว่าจะต้องไปเยือนให้ได้

บนรถทัวร์ มีฉันกับพ่อ (ซึ่งถูกฉันพามา) และชาวมาเลย์อีก 2 คน เป็นชาวเอเชียเพียง 4 คน ไม่รวมไกด์และคนขับ ท่ามกลางกลุ่มชาวตะวันตกอีก 20 กว่าคน พวกเราใช้เวลาเดินทางจากกลางเมืองโฮจิมินห์ถึงเมืองกู๋จีราว 2 ชั่วโมง ระหว่างทางไกด์เล่าที่มาที่ไปและความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของอุโมงค์ลับแห่งนี้ พร้อมปล่อยตลกร้ายกระแนะกระแหนอเมริกา ท่ามกลางบรรดาชาวต่างชาติทั้งหลายที่โดยสารมาด้วยกัน ฉันไม่รู้หรอกว่าใครเป็นใคร มาจากไหนบ้าง แต่ความจริงทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นบาดแผลหรือรอยด่างพร้อย ก็คงเป็นสิ่งที่ถูกสอนให้ยอมรับและเข้าใจมาโดยตลอดในชาติของตัวเอง มุกตลกเหล่านั้นจึงพอเรียกเสียงหัวเราะได้อยู่บ้าง

ด้วยว่าสถานที่ในวันนี้เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์สงครามเวียดนาม ฉันจึงหาข้อมูลมาประกอบเพื่อให้การเดินทางมีอรรถรสมากขึ้น เล่าอย่างคร่าวๆ สงครามเวียดนามคือสงครามตัวแทน ที่อเมริกาเข้าร่วมเพื่อป้องกันการขยายอิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์ในคาบสมุทรอินโดจีน และกำจัดแนวคิดที่ขัดแย้งกับอุดมการณ์ทางการเมืองของตัวเอง จึงส่งทหารร่วมรบกว่า 8 ล้านนายเข้าสนับสนุนเวียดนามใต้ รบกับเวียดนามเหนือซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ และกลุ่มเวียดกงที่สนับสนุนคอมมิวนิสต์ในเวียดนามใต้ รบไปรบมาปาเข้าไปร่วม 17 ปี เสียกำลังพลไปกว่า 58,000 ราย สุดท้ายจึงยอมถอนทัพออกไป

เข้าอุโมงค์ลับเวียดกง ตามรอยสงครามเวียดนามที่โฮจิมินห์

เข้าอุโมงค์ลับเวียดกง ตามรอยสงครามเวียดนามที่โฮจิมินห์

สงครามเวียดนามได้คร่าชีวิตผู้คนไปมาก ตัวเลขผู้เสียชีวิตชาวเวียดนามมีบันทึกตั้งแต่เกือบล้านยัน 3 ล้าน ที่พิการไปก็มาก ผลกระทบระยะยาวจากอาวุธเคมีที่ทำให้เด็กเกิดมาผิดปกติ จะทำงานหาเลี้ยงชีวิตแบบคนทั่วไปก็ไม่ได้ รัฐจึงสร้างอาชีพให้แก่คนเหล่านี้ โดยตั้งโรงงานและสอนเทคนิคการผลิต Lacquerware ซึ่งเราก็ได้แวะชมหนึ่งในโรงงานก่อนถึงจุดหมาย

ภาพรถเข็นคนพิการตั้งเรียงรายรอรับนักท่องเที่ยว กับคุณลุงคุณป้าซึ่งพิการบ้างปกติบ้าง นั่งติดเศษเปลือกไข่ทีละชิ้นๆ ก็บีบคั้นหัวใจให้ฉันยอมควักเงินเกือบพันบาท ซื้อรูปประดับกลับบ้านแบบไม่รอเปรียบเทียบราคาเหมือนทุกที

เข้าอุโมงค์ลับเวียดกง ตามรอยสงครามเวียดนามที่โฮจิมินห์

รถทัวร์หลายสิบคันจอดอยู่ในลานจอดรถของอุโมงค์กู๋จี ยิ่งการันตีความนิยมของสถานที่แห่งนี้ (จากคำบอกเล่าของไกด์ มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมอุโมงค์แห่งนี้ราว 2,000 คนต่อวัน) หลังชำระค่าเข้าชมคนละ 110,000 ดอง (151 บาท) ไกด์ก็นำทางเราไปยังส่วนแสดงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอุโมงค์ ทั้งหนทางจัดการกับดินที่ขุดออกมาจากอุโมงค์ วิธีการระบายอากาศ กับดักศัตรู ทางเข้าลับ วิธีสร้างอาวุธ ฯลฯ สิ่งที่นำมาโชว์ก็มีทั้งของเก่าดั้งเดิมบ้าง มาสร้างเสริมเพิ่มเติมบ้าง จะว่าไปก็เหมือนพิพิธภัณฑ์นอกอาคารที่เปิดให้ชมบนพื้นที่เกิดเหตุจริงๆ

ในพื้นที่ยังมีให้ลองยิงปืน สนนราคากระสุน 10 นัด 600,000 ดอง (ราว 825 บาท) ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าใช้ปืนโบราณหรือปืนยุคไหน แต่ที่น่าตื่นเต้นที่สุดคือการลอดอุโมงค์ของจริงที่ฉันลุ้นอยู่ร่ำๆ ว่าจะได้เข้าหรือไม่

เข้าอุโมงค์ลับเวียดกง ตามรอยสงครามเวียดนามที่โฮจิมินห์

อุโมงค์กู๋จีมีความลึก 3 ระดับ แต่ที่ให้นักท่องเที่ยวเข้าชมคือที่ระดับตื้นสุดที่ 3 เมตรจากผิวดิน อุโมงค์ทั้งหมดมีความยาวรวมกว่า 200 กิโลเมตร แต่เปิดให้ชมเพียง 120 เมตรเท่านั้น พร้อมทางออกทุกๆ 20 เมตร สำหรับคนที่ขวัญหนีไปเสียก่อน ฉันฟังทีแรกยังรู้สึกว่าทางสั้นและตั้งใจจะเดินจนสุดทาง เส้นทางภายในอุโมงค์ก็ไม่น่าลำบากเท่าไหร่ ผิวผนังทั้งหมดฉาบปูนใหม่เพื่อรองรับการเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว ความสูงยังคงเป็นแบบเดิม คือต้องย่อตัวย่อขาเดินในท่าโก้งโค้งถึงจะผ่านไปได้ ความกว้างเหมาะสำหรับการสัญจรเพียงคนเดียว ในอุโมงค์มืดสลัวและมีแสงรำไรจากหลอดไฟเป็นระยะ แต่ไม่มากพอจะส่องให้เห็นเส้นทางโดยตลอด บางครั้งจึงต้องเดินในความมืด การถ่ายเทอากาศก็ไม่สู้ดีนัก พื้นอุโมงค์มีการเปลี่ยนแปลงของระดับอยู่เรื่อย เมื่อปราศจากไฟฉายในมือ ฉันต้องคอยลุ้นอยู่ตลอดว่าทางข้างหน้าจะเป็นเช่นไร เมื่อเจอแสงสว่างจากทางออกทีไรก็กลั้นใจเดินต่อไป หวังจะไปให้สุดทาง

เข้าอุโมงค์ลับเวียดกง ตามรอยสงครามเวียดนามที่โฮจิมินห์

เดินมาพักใหญ่ๆ ฉันเริ่มอ่อนแรงและหายใจไม่ออก ความมืดมิดและคับแคบชวนให้หดหู่และอึดอัดจนอยากอาเจียน คิดว่าหากมีทางออกข้างหน้าคงรีบออกทันที เพราะทนกับสภาวะเช่นนี้ไม่ไหวแล้ว แสงสว่างและเสียงเซ็งแซ่ข้างหน้าชวนให้เร่งฝีเท้าแม้เร่งไม่ค่อยขึ้น จนในที่สุดก็พบทางออกที่สุดปลายทาง 120 เมตร อันให้ความรู้สึกยาวนานชั่วกัปชั่วกัลป์

ฉันเป็นเพียงไม่กี่คนในกรุ๊ปทัวร์ที่เดินจนสุดทาง

เข้าอุโมงค์ลับเวียดกง ตามรอยสงครามเวียดนามที่โฮจิมินห์

ก่อนจบทริป เจ้าหน้าที่นำมาอาหารมาเสิร์ฟ เป็นหัวมันสำปะหลังต้ม แบบเดียวกับที่ชาวเวียดกงใช้ประทังชีวิตในช่วงสงคราม รสชาติหวานอ่อนๆ ไม่แย่นัก ฉันอดคิดไม่ได้ว่า ฉันที่สุขภาพแข็งแรงและกินดีอยู่ดีมีอาหารครบห้าหมู่ แค่ลองประสบการณ์ในอุโมงค์เพียงไม่กี่นาทีก็แทบลมจับ แต่ช่วงสงคราม เวียดกงมีเพียงหัวมันกินกันตาย ต้องใช้ชีวิตไม่ต่างจากหนูในอุโมงค์เช่นนี้มาร่วม 25 ปี พวกเขาต้องเข้มแข็งและรักชาติมากๆ ถึงผ่านช่วงเวลาเช่นนั้นมาได้

เข้าอุโมงค์ลับเวียดกง ตามรอยสงครามเวียดนามที่โฮจิมินห์

จุดหมายต่อไปสำหรับโปรแกรม Dark Tourism ครั้งนี้ คือ War Remnants Museum หรือแปลตรงๆ ว่า พิพิธภัณฑ์สิ่งของที่เหลือจากสงคราม นี่เป็นอีกหนึ่งในจุดหมายที่ฉันตั้งใจว่าจะต้องมา และแน่นอนว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอันดับต้นๆ ของเมืองนี้เช่นกัน

เข้าอุโมงค์ลับเวียดกง ตามรอยสงครามเวียดนามที่โฮจิมินห์

เครื่องบินรบและรถถังสมัยสงครามถูกตั้งเรียงราย ทั้งหมดประทับตรา US ARMY และอยู่ในสภาพเกือบสมบูรณ์ เบื้องหลังคืออาคารสามชั้นทรงสี่เหลี่ยมทึบตัน บรรจุเรื่องราวความโหดร้ายของสงคราม ตั้งแต่ข้อมูลสถิติตัวเลข ยันสิ่งของเครื่องใช้ของผู้คนในเหตุการณ์ แต่สิ่งที่สะเทือนใจที่สุด คือภาพถ่ายของผู้ได้รับผลกระทบจากสงคราม สภาพของผู้เคราะห์ร้ายจากระเบิดนาปาล์ม ทั้งที่รอดและไม่รอดชีวิต ถูกนำมาจัดแสดงแบบ uncensored ชนิดที่ผู้ขวัญอ่อนไม่ควรดู ความผิดปกติทางร่างกายที่แสดงออกและถ่ายทอดส่งต่อไปยังทายาทของเหยื่อจากอาวุธเคมี Agent Orange ภาพถ่ายจากกลักฟิล์มของช่างภาพสงคราม ที่เสี่ยงตายบันทึกช่วงเวลาประวัติศาสตร์เอาไว้

เข้าอุโมงค์ลับเวียดกง ตามรอยสงครามเวียดนามที่โฮจิมินห์

เข้าอุโมงค์ลับเวียดกง ตามรอยสงครามเวียดนามที่โฮจิมินห์

เมื่อเขาลั่นไกชัตเตอร์ บุคคลในภาพล้วนยังมีชีวิต แต่อีกไม่กี่นาทีต่อมา เสียงลั่นไกปืนจากทหารอเมริกันก็ดังขึ้น

ส่วนหนึ่งและเป็นส่วนใหญ่ของนิทรรศการแสดงเรื่องราวของชาวบ้านเวียดนามผู้เคราะห์ร้ายจากการรุกรานของทหารอเมริกัน ส่วนหนึ่งมาจากการที่ฝ่ายตรงข้ามของทหารเหล่านั้นคือเวียดกง และเวียดกงมักแต่งตัวธรรมดาแบบชาวบ้าน ทหารอเมริกันดูไม่รู้ แยกไม่ออกว่าใครเป็นใคร จึงสังหารเรียบทั้งลูกเล็กเด็กแดง

เข้าอุโมงค์ลับเวียดกง ตามรอยสงครามเวียดนามที่โฮจิมินห์

กล่องบริจาคที่ตั้งอยู่มุมห้องนิทรรศการถูกเติมจนเต็มด้วยธนบัตรจากหลากสกุลเงิน บ่งบอกจำนวนผู้ให้ความสนใจในประวัติศาสตร์ และความเห็นใจจากผู้มาเยือน สงครามคือความสูญเสีย แต่ก็เป็นความสูญเสียที่ต้องเรียนรู้และจดจำ

เธอในสภาพบาดเจ็บและบอบช้ำถกเสื้อขึ้นป้อนนมลูก พร้อมเรียกให้เขาซึ่งมีกล้องห้อยอยู่บนคอบันทึกภาพเอาไว้ เพื่อนำไปเผยแพร่ให้โลกได้เห็นความสูญเสีย

มนุษย์เราเรียนรู้อะไรจากสงครามบ้างนะ สิ่งที่เสียไปหรือสิ่งที่ได้มา

นิทรรศการไม่ได้แสดงแค่ความโหดร้ายของอเมริกา แต่ยังแสดงให้เห็นเสียงของผู้ไม่เห็นด้วย ผู้ที่ไม่ต้องการสงคราม คลื่นใต้น้ำ และพลังมวลชนที่ดำเนินการสวนกระแสอำนาจของผู้มีอิทธิพลในการกำหนดทิศทางประเทศ

ว่ากันว่าหลังสงครามเวียดนามครานั้น อเมริกาก็เข็ดกับการทำสงครามในบ้านคนอื่นอยู่นาน จนมาถึงสงครามที่อัฟกานิสถาน และล่าสุดก็…ซีเรีย

ภาพ : goodfreephotos.com

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเทียมเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

niita-chen

อดีตนักออกแบบผู้หันหน้าเข้าสู่แวดวงธุรกิจ และนักศึกษาชีวิตผ่านการเดินทาง