เมื่อครั้งที่แล้วผมเขียนถึงโบสถ์คริสต์ทรงไทย ที่เกิดจากความพยายามสร้างความเป็นไทยในยุคเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย สมัยจอมพลป.พิบูลสงคราม เพื่อนำชาติไทยเข้าสู่โลกสมัยใหม่และลดความรุนแรงจากความขัดแย้งกับฝรั่งเศสจากกรณีพิพาทสงครามอินโดจีน 

เผอิญผมได้ไปเที่ยวเวียดนามและมีโอกาสไปเยี่ยมชม ‘อาสนวิหารแม่พระแห่งลูกประคำ’ แห่งเมืองฟ้าตเยี่ยม ซึ่งเป็นโบสถ์คริสต์ที่สร้างขึ้นในรูปแบบศิลปะเวียดนามเช่นกัน จึงอยากพาไปชมงานสถาปัตยกรรมสวยๆ แปลกๆ ของโบสถ์คริสต์ในเวียดนาม ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่า ความรักชาติของชาวเวียดนั้นไม่แพ้ใครในโลกเลย 

การสร้างโบสถ์ทรงเวียดนามเป็นการพยายามลดความเป็นตะวันตกของศาสนาคริสต์ลง ให้สมกับคำว่า ‘คาทอลิก’ อันแปลว่า ‘สากล’ ซึ่งใช้วัฒนธรรมหรือศิลปะใดก็ได้ในการนมัสการพระเป็นเจ้า นอกจากนี้ ยังอยากชวนผู้อ่านคุยเรื่องความเป็นมาของคาทอลิกเวียดนาม ซึ่งมีความดราม่าไม่แพ้ญี่ปุ่นเลยทีเดียว

Phát Diệm Cathedral โบสต์คริสต์เวียดนามที่ผสานสไตล์โกธิคกับศาลเจ้า
อาสนวิหารแม่พระแห่งลูกประคำ สังฆมณฑลฟ้าตเยี่ยม จังหวัดนิญบิ่ญ สร้างใน ค.ศ.1892
ในภาพเป็นชาวบ้านที่มาออกกำลังกายกันหน้าโบสถ์ และเตรียมตัวเข้าร่วมพิธีกรรมในตอนเย็นวันธรรมดา


คาทอลิกเวียดนาม : นาฏกรรมของศรัทธา

เวียดนามมีประชากรชาวคริสต์นิกายคาทอลิกเกือบ 7 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ หรือ 6.3 ล้านคน ซึ่งถือว่าค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นรองก็แต่ฟิลิปปินส์เท่านั้น แต่ความเป็นคาทอลิกของเวียดนามนั้นผูกพันปะปนอยู่กับการเมืองอย่างแยกไม่ออก เพราะแม้ว่าบรรดามิชชานารีหลากหลายชาติ ทั้งสเปน โปรตุเกส ฝรั่งเศส เข้ามาเผยแผ่ศาสนาในเวียดนามตั้งแต่ 500 ปีก่อน แต่ผู้ที่ทำให้ศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกสถาปนาอย่างมั่นคงในเวียดนามคืออดีตเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส ซึ่งเป็นศัตรูคู่อาฆาตของชาวญวนมายาวนาน 

ชาวฝรั่งเศสมองการณ์ไกล เห็นสภาพภูมิศาสตร์เวียดนามซึ่งมีชัยภูมิที่ดี เป็นดินแดนยาวเหยียดเหมือนมังกรที่เต็มไปด้วยชายหาดและเมืองท่าเหมาะกับการค้าขายทางทะเล ดินแดนปากน้ำโขงทางตอนใต้ก็สร้างความหวังให้ฝรั่งเศสว่าจะใช้คมนาคมเข้าไปสู่ประเทศส่วนลึกในทวีปอย่างลาวหรือจีนได้ ดังนั้น ฝรั่งเศสจึงค่อยๆ แผ่อิทธิพลทางการเมืองเข้าไปในเวียดนาม 

ในสมัยนั้น ศาสนาคือศรัทธาและการเผยแผ่ศาสนาคือการทำตามพระบัญชาของพระเยซู ที่ให้เผยแผ่คำสอนของพระองค์ไปสู่นานาชาติ กระนั้นเองคริสต์ศาสนาก็มาพร้อมการแสวงหาเมืองขึ้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีเรื่องของการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องมิใช่น้อย

Phát Diệm Cathedral โบสต์คริสต์เวียดนามที่ผสานสไตล์โกธิคกับศาลเจ้า

อย่างไรก็ดี บาทหลวงชาวฝรั่งเศสหลายท่านก็สร้างคุณประโยชน์ให้เวียดนามมากมาย ที่เรารู้จักกันดีคือ คุณพ่ออเล็กซองเดรอะ เดอ โรดส์ (Alexandre de Rhodes) ผู้จัดทำพจนานุกรมเวียดนาม และนำอักษรละตินมาใช้เขียนภาษาเวียดนาม ซึ่งกลายเป็นพื้นฐานให้กับรูปแบบการเขียนของภาษาเวียดนามมาจนทุกวันนี้ 

อักษรแบบคาราโอเกะเช่นนี้ ในเมืองสยามบ้านเราก็มีกับเขาด้วย เรียกว่า ‘ภาษาวัด’ ใช้สำหรับบาทหลวงต่างชาติที่ฟังภาษาพื้นเมืองออกแต่เขียนไม่ได้ สำหรับสื่อสารกับบาทหลวงชาวพื้นเมือง ปรากฏในเอกสารโบราณมีใช้ทั่วไป 

อิทธิพลฝรั่งเศสต่อพระเจ้ายาลอง

เวลาอ่านพงศาวดารญวนช่วงที่ฝรั่งเศสเข้ามามีอิทธิพลในราชสำนักเวียดนามทีไร ผมจะนึกถึงนิทานคำกลอนเรื่อง พระอภัยมณี ของสุนทรภู่ทุกครั้ง เพราะโครงเรื่องมันคล้ายกันมากจนคิดว่าสุนทรภู่ที่มีอายุอยู่ร่วมสมัยเดียวกับพงศาวดารญวนช่วงนี้ อาจจะได้เคยฟังข่าวสารต่างประเทศมาบ้าง 

ในพระอภัยมณีมีตัวละคร ‘สังฆราชบาทหลวง’ ที่มีศิษย์ชื่อ ‘มังคลา’ อันเป็นบุตรของพระอภัยมณีแต่ไปเข้ารีตเป็นคริสต์ตามศาสนาเดิมของมารดา และทำสงครามเพื่อแย่งชิงดินแดนเมืองสิงหลให้กลับไปอยู่ในอิทธิพลของศาสนาฝรั่งดังเดิม สังฆราชบาทหลวงคู่แค้นของพระอภัยผู้นี้ทำศึกด้วยการขอความช่วยเหลือจากเมืองต่างๆ จัดทัพเรือเข้าต่อสู้กับฝ่ายพระอภัยมณี แต่ในที่สุดแล้วก็ไม่อาจชนะได้ จึงถอยทัพกลับไปเอง

เมื่อเปรียบเทียบกับเรื่องในพงศาวดารญวนนั้น มีบุคคลหนึ่งที่เรารู้จักชื่อกันดีคือ ‘องเชียงสือ’ หรือ ‘เหงียนแอ๋ง’ เป็นเจ้าศักดินาเชื้อสายสกุลเหงียนที่ปกครองดินแดนภาคกลางของเวียดนามเมื่อ 250 ปีก่อน (ตรงกับสมัยพระเจ้าตากสินและสมัยรัชกาลที่ 1) ในยุคนั้นพระจักรพรรดิราชวงศ์เลอ่อนแอ บ้านเมืองจึงปกครองด้วยขุนศึกตระกูลต่างๆ มากมาย 

บรรดาขุนศึกสกุลเหงียนพ่ายแพ้ให้กับพวกเต็ยเซิน (หรือในพงศาวดารไทยเรียกว่า กบฏไกเซิน) ซึ่งเป็นกบฏชาวนาที่ไม่พอใจการปกครองอันรีดนาทาเร้นของสกุลเหงียน จึงรวมตัวกันยกไพร่พลมาทำสงครามทำลายสกุลเหงียนเสีย องเชียงสือ ผู้เป็นหนึ่งในสมาชิกของสกุลเหงียน จึงหนีไปพึ่งพระบารมีพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ซึ่งมีพระราชประสงค์จะสร้างอิทธิพลในพื้นที่ทางใต้ของเวียดนามเพื่อกำราบกัมพูชาอยู่แล้ว จึงโปรดให้ยกทัพเรือมาช่วยกอบกู้บ้านเมืองของสกุลเหงียน แต่ก็พ่ายแพ้พวกเต็ยเซินอย่างรวดเร็ว ด้วยกลยุทธ์การปิดประตูตีแมวในคลองวามนาว 

ทัพเรือไทยถูกล่อให้เข้าไปในคลองและถูกตีกระหนาบอย่างยับเยินจนต้องถอยทัพกลับ ต่อมาเมื่อสยามติดพันศึกใหญ่กับพม่า องเชียงสือเห็นท่าทางจะพึ่งพิงสยามไม่ได้ จึงลอบหนีออกจากกรุงเทพฯ ไปขอความช่วยเหลือจากบาทหลวงฝรั่งเศสทางตอนใต้ของเวียดนามแถบปากแม่น้ำโขง โดยส่งลูกชายคนโตคือ องค์ชายกั๋ญ ให้ไปอยู่กับบิชอปชื่อ Pierre Pigneau de Behaine ซึ่งท่านได้พาองค์ชายเดินทางไปฝรั่งเศสเพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมตะวันตก และเข้ารีตเป็นคาทอลิกในที่สุด

บาทหลวงท่านนี้จัดทัพเรือด้วยงบประมาณของตนเอง และเรี่ยไรจากชาวฝรั่งเศสที่เห็นพ้องต้องกันว่า การสร้างอิทธิพลในเวียดนามจะนำประโยชน์มาให้ แม้ว่าทางการฝรั่งเศสจะไม่เห็นด้วย เพราะเวลานั้นคิดประมาทว่าเมืองเวียดนามมีผลประโยชน์น้อยก็ตาม

ท่านนำทัพเรือจากเมืองท่าฝรั่งเศสในอินเดียเข้ามาช่วยองเชียงสือปราบกบฏเต็ยเซิน และสถาปนาราชวงศ์เหงียน อันเป็นราชวงศ์สุดท้ายของเวียดนาม โดยองเชียงสือได้ปราบดาภิเษกตนเองเป็น ‘พระเจ้ายาลอง’ ปฐมกษัตริย์ ตั้งเมืองเว้อันเป็นแหล่งที่มั่นเดิมของตระกูลตนเป็นราชธานี แทนเมืองทังลองหรือฮานอย ซึ่งเป็นเมืองหลวงเดิมของพระจักรพรรดิมากว่าพันปี 

จากนั้นก็จ้างช่างฝรั่งเศสสร้างป้อมค่ายเมืองเว้ขึ้นเพื่อป้องกันศึกจากภายนอก เป็นป้อมรูปดาวขนาดมโหฬารแบบตะวันตก ด้วยเหตุนี้ ฝรั่งเศสจึงเข้าไปมีอิทธิพลในราชสำนักอย่างเต็มที่ และหมายมั่นปั้นมือว่าเมื่อสิ้นพระเจ้ายาลอง จะสถาปนาองค์ชายกั๋ญ ผู้เป็นคริสเตียนแล้วขึ้นเป็นพระจักรพรรดิที่จะนิยมฝรั่งเศสต่อไป บาทหลวงฝรั่งเศสได้รับเสรีภาพในการประกาศศาสนา ในช่วงระยะเวลานี้ประเทศเวียดนามมีจำนวนคาทอลิกถึง 300,000 คน

การกระทำขององเชียงสือในยุคนั้นดูจะไม่ค่อยถูกอกถูกใจรัฐบาลคอมมิวนิสต์รักชาติในปัจจุบันสักเท่าไร เพราะราชวงศ์เหงียนสถาปนาขึ้นจากเจ้าศักดินาที่กดขี่พวก ‘กบฏเต็ยเซิน’ ซึ่งมาจากชาวนาโดยตรง (อันเป็นกรรมาชีพที่คอมมิวนิสต์นิยมอยู่แล้ว จึงมีอนุสาวรีย์ของพระเจ้ากวางจุงเหงียนเหวะหรือผู้นำกบฏเต็ยเซินอยู่หลายแห่ง) 

อีกทั้งการที่องเชียงสือไปขอความช่วยเหลือจากต่างชาติ ทั้งสยามและฝรั่งเศส ประวัติศาสตร์เวียดนามในปัจจุบันเห็นว่าเป็นการชักศึกเข้าบ้าน เพราะเวียดนามต้องตกอยู่ในอิทธิพลของชาติอื่นไปอีกยาวนาน องเชียงสือได้ถวายบรรณาการแด่สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกอีกถึง 5 ครั้ง ซึ่งค่อนข้างเสียเกียรติของประเทศที่ใช้วัฒนธรรมขงจื้อ และมองตนเองสูงส่งกว่าประเทศที่ไม่ได้ปวารณาคำสอนของขงจื้อแบบจีน ส่วนฝรั่งเศสเองก็เข้ามาสร้างเครือข่ายอิทธิพลในราชสำนักจนอาจจะทำลายวัฒนธรรมขงจื้อลงได้

ดังนั้น ในช่วงรัชสมัยขององเชียงสือ ขุนนางจึงแบ่งออกเป็น 2 พวกคือ 

1. กลุ่มที่นิยมลัทธิขงจื้อ สนับสนุนองค์ชายรอง (ซึ่งต่อมาจะเป็นพระเจ้ามินหมางผู้เกลียดชังต่างชาติ) 

2.กลุ่มที่นิยมฝรั่งเศส สนับสนุนองค์ชายกั๋ญ ซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์โต มีสิทธิชอบธรรมในราชบัลลังก์และยังเข้ารีตเป็นคาทอลิกแล้วเรียบร้อย

จักรพรรดิมินหมางผู้นิยมลัทธิขงจื้อ

เนื่องจากองค์ชายกั๋ญผู้เป็นคริสเตียนสิ้นพระชนม์ไปก่อน พระเจ้ายาลองจึงสถาปนาองค์ชายรองที่เข้มแข็งและมีแนวคิดอนุรักษ์นิยมขึ้นเป็นรัชทายาท ต่อมาเมื่อพระราชบิดาสวรรคต ก็ได้ราชาภิเษกเป็นพระจักรพรรดิมินหมาง โดยเหตุว่าพระองค์นิยมลัทธิขงจื้อมาก แม้ว่าในต้นรัชสมัย ยังทรงโปรดให้บรรดามิชชันนารีทำงานในราชสำนักต่อไป โดยโปรดให้แปลแผนที่และหนังสือภูมิศาสตร์ต่างๆ ถวาย เมื่อเสร็จงานแล้ว ก็มีราชโองการขับไล่พวกบาทหลวงออกจากเวียดนาม มิให้กลับมาเผยแผ่ศาสนาอีก 

แต่บรรดาบาทหลวงเหล่านั้นก็ยังคงกลับไปซุกซ่อนตัวอยู่ตามหมู่บ้านห่างไกล โดยมีชาวคาทอลิกเวียดนามคอยช่วยเหลือให้ที่หลบซ่อน และในเมืองไซ่ง่อนทางภาคใต้ก็มีขุนศึกคู่พระทัยพระราชบิดา ชื่อ เลวันดึ๊ก (ในพงศาวดารไทยเรียกองต๋ากุน) ที่คอยสนับสนุนบรรดาคาทอลิกให้ก่อกบฏด้วยหวังจะได้ซื้ออาวุธที่ทันสมัยจากฝรั่งเศส พระเจ้ามินหมางทรงเกรงพระทัยเลวันดึ๊กขุนพลเก่า จึงทรงรอจนเลวันดึ๊กสิ้นใจ จึงโปรดให้จัดการสำเร็จโทษชาวคริสต์ทางภาคใต้ ในพงศาวดารสยามกล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่า

“องต๋ากุนมาสำเร็จราชการอยู่ตายลง เจ้าเวียดนามขัดเคืององต๋ากุนมานานแล้ว แต่ไม่รู้ที่จะทำประการใด ด้วยเป็นคนเก่าเดิมขององเชียงสือพระราชบิดา ครั้นองต๋ากุนตาย ก็ให้ข้าหลวงออกไปขุดศพองต๋ากุนขึ้นทำโทษ ประจานต่างๆ เหมือนทำโทษคนเป็น”

ฝ่ายขุนนางซึ่งภักดีต่อเลวันดึ๊กไม่อาจทนการข่มเหงจากราชสำนักที่สั่งเฆี่ยนศพเจ้านายตนเอง จึงยุยงให้เกิดกบฏขึ้น โดยมีชาวคริสต์ทางใต้เป็นกำลังเสริม ก่อการกระด้างกระเดื่องต่อราชสำนัก ทำให้พระเจ้ามินหมางทรงพิโรธมากขึ้น สั่งให้ประหารชีวิตชาวบ้านคริสเตียน

ประมาณกันว่ามีมรณสักขีจากเหตุการณ์ต่อต้านคริสต์ศาสนาครั้งนั้นราว 1.3 – 3 แสนคน ซึ่งปัจจุบันค้นพบรายชื่อเพียง 117 คน พระองค์ให้ขับไล่บรรดาชาวญวนคาทอลิกออกนอกประเทศด้วย ชาวคริสต์หลายกลุ่มจึงอพยพลงภาคใต้ไปอยู่ชายแดนกัมพูชา ห่างไกลราชภัยจากนครหลวงเมืองเว้ในภาคกลาง

ฝ่ายสยามในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งขัดเคืองพระเจ้ามินหมางมาหลายครั้ง ตั้งแต่คราวกบฏเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันท์ และนักองค์จันทร์กษัตริย์เขมร ซึ่งเวียดนามคอยสนับสนุนทั้งสองฝ่ายให้แข็งข้อต่อสยามมาตลอด ทั้งพระเจ้ามินหมางกำหนดให้สยามขานพระนามพระองค์ในราชสาส์นว่า ‘ดึกวางเด่’ หรือเทียบเท่าฮ่องเต้จีน

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าเป็นการยกตนข่มท่าน เมื่อเห็นว่าเกิดกบฏขุนนางญวนวุ่นวายขึ้นในภาคใต้ของเวียดนาม จึงเห็นเป็นโอกาสที่จะยกกองทัพไปสนับสนุนกลุ่มกบฏ

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งกองทัพเข้าไปถึงชายแดนญวนทางใต้ เกิดเป็นสงครามอนัมสยามยุทธ ยืดเยื้อกันกว่า 16 ปี ผลัดกันรุกผลัดกันรับ ไม่แพ้ชนะกันเด็ดขาด แต่ระหว่างศึกนั้น บาทหลวงที่ติดตามข้าราชการคาทอลิกสยามไปในกองทัพก็ได้เกลี้ยกล่อมให้บรรดาชาวญวนเข้ารีต ซึ่งหนีราชภัยหลบซ่อนตัวตามชายแดนใต้ ให้อพยพเข้ามายังสยาม ด้วยว่าพระเจ้าแผ่นดินสยามไม่ทรงกีดกั้นศาสนาคริสต์

ชาวญวนเข้ารีตเหล่านั้นอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในกรุงเทพฯ แถบตำบลสามเสน สร้างโบสถ์คริสต์ขึ้นกลางหมู่บ้าน เรียกว่า ‘ค่ายนักบุญฟรังซิสเซเวียร์’ กลายเป็นชุมชนเวียดนามขนาดใหญ่จนถึงปัจจุบัน (ซึ่งน่าจะได้นำมาเล่าในตอนถัดๆ ไป) 

พระเจ้าเทียวตรีเสียเมือง

หลังพระเจ้ามินหมางสวรรคต พระราชโอรสคือพระเจ้าเทียวตรีขึ้นครองราชย์ ก็ยังทรงคิดว่าศาสนาคริสต์บ่อนทำลายวัฒนธรรมขงจื้ออยู่ เนื่องจากคำสอนศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกในสมัยนั้นเคร่งครัดมาก จนคำสอนหลายประการก็ขัดแย้งกับวัฒนธรรมดั้งเดิม เช่น ห้ามบูชาฟ้าดินและไหว้ศาลบรรพบุรุษ ทั้งที่วัฒนธรรมขงจื้อให้ความสำคัญกับความกตัญญูมาก จนเกิดปัญหากระทบกระทั่งกับราชสำนัก เนื่องจากในอดีตไม่มีการศึกษาหลักการของวัฒนธรรมให้ถ่องแท้

บาทหลวงต่างชาติก็ไม่เข้าใจประเด็นเหล่านี้ แต่ปัจจุบันการห้ามเคารพบรรพบุรุษในศาสนาคริสต์มีแนวทางเปลี่ยนแปลงไปแล้ว และปรับใช้กับวัฒนธรรมเวียดนามได้อย่างลงตัว เช่น การใช้ธูปหรือการไหว้สุสานบรรพชนด้วยอาหารและผลไม้ ซึ่งไม่ปรากฏในวัฒนธรรมคาทอลิกประเทศอื่นๆ 

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของกบฏต่อต้านราชสำนักผสมโรงเข้าไปอีก ความวุ่นวายต่างๆ เหล่านี้ ทำให้พระจักรพรรดิเทียวตรีคิดว่าบรรดาบาทหลวงเป็นผู้คอยยุแยงอยู่เบื้องหลัง จึงสั่งให้เนรเทศบาทหลวงเสียอีกรอบ บางรูปที่ไม่ยอมถูกเนรเทศก็ถูกตัดสินโทษประหารชีวิตหรือจับขังคุก ความรุนแรงเช่นนี้ทำให้ฝรั่งเศสยื่นมือเข้ามาแทรกแซง และใช้เป็นข้ออ้างในการผนวกเวียดนามเข้าเป็นดินแดนในอาณานิคมของตน

พระเจ้าเทียวตรียังทรงทำสงครามกับสยามต่อไป แต่ต่อมาก็จำต้องขอเจรจาสงบศึก เพราะต้องรบกับฝรั่งเศสแทน ในพงศาวดารสยามได้กล่าวถึงเหตุการณ์พิพาทระหว่างฝรั่งเศสและญวนไว้ว่า

“แต่ก่อนเจ้าเวียดนามให้ฆ่าสังฆราชบาดหลวงฝรั่งเศสเสียเป็นหลายคน ฝรั่งเศสมาต่อว่าแล้วจะขอทำสัญญา เจ้าเวียดนามไม่ยอมทำสัญญา ฝรั่งเศสขัดใจก็ยิงเอาป้อมเรือรบกำปั่นของเจ้าเวียดนามซึ่งทอดอยู่ในอ่าวนั้น แตกเสียหายเป็นอันมาก แล้วก็กลับไป”

ฝรั่งเศสค่อยๆ ใช้ข้ออ้างจากการประหารบาทหลวงเข้ายึดดินแดนทางภาคใต้ และคืบคลานขึ้นมาถึงภาคกลางอันเป็นเมืองหลวง ในที่สุดก็เข้ายึดราชสำนักเมืองเว้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในรัชกาลต่อมา คือสมัยพระเจ้าตือดึ๊ก ผู้โปรดปรานวรรณกรรมและศิลปะ แต่ไม่ทรงเชี่ยวชาญทางด้านรัฐศาสตร์และการรบมากนัก พระองค์ทรงจารึกคำขอโทษไว้ในสุสานหลวง ว่าทรงไม่สามารถปกป้องบ้านเมืองได้เยี่ยงบรรพกษัตริย์

อาสนวิหารฟ้าตเยี่ยม (Phát Diệm Cathedral) ศิลปะโกธิคผสมญวน

เราอยู่หน้าอาสนวิหารแม่พระแห่งลูกประคำแห่งเมืองฟ้าตเยี่ยม ชุมชนคาทอลิกใหญ่โตมีประชากรนับล้านคน จนได้รับสมญาว่าเมืองหลวงของคาทอลิกในเวียดนาม สังฆมณฑลนี้มีโบสถ์คาทอลิกเยอะมากถึง 79 แห่ง เมื่อนั่งรถไปตามถนนก็จะเห็นยอดทรงโกธิคแหลมเสียดท้องฟ้าตั้งอยู่ในใจกลางชุมชนเป็นระยะๆ เล็กใหญ่แตกต่างกันไป แต่ก็ดูสร้างด้วยความประณีตศรัทธา มีศูนย์กลางเป็นอาสนวิหารที่สร้างขึ้นมากว่า 130 ปีในยุคที่ฝรั่งเศสเข้ามาปกครองเวียดนาม 

ด้วยวิสัยทัศน์ของ คุณพ่อเปโตร จาน ลุค (Peter Tran Luc หรือคุณพ่อซิกซ์) ซึ่งเป็นบาทหลวงเวียดนามที่ศึกษาวัฒนธรรมขงจื้อมาพอสมควร และต้องการประนีประนอมกับวัฒนธรรมประจำชาติ ท่านจึงเลือกใช้ศิลปะประยุกต์เวียดนามผสมกับฝรั่งเศส

แผนผังของอาสนวิหารได้แบบมาจากศาลบรรพชนญวนอย่างชัดเจน คือมีสระขนาดใหญ่ด้านหน้า ปลูกเกาะบอนไซ ซึ่งเป็นที่นิยมมากในเวียดนามเหนือบนเกาะ มีซุ้มประตูทางเข้าหินแบบเวียดนาม ใช้เครื่องหลังคาแอ่นอ่อนช้อย แกะสลักคริสต์ประวัติและนักบุญสำคัญต่างๆ ด้วยช่างญวน ส่วนซุ้มประตูโบสถ์นั้น เห็นได้ชัดว่าเป็นอิทธิพลศิลปะบาโรคผสมกับศิลปะเวียดนาม 

Phát Diệm Cathedral โบสต์คริสต์เวียดนามที่ผสานสไตล์โกธิคกับศาลเจ้า
อนุสาวรีย์คุณพ่อเปโตร จาน ลุค หรือคุณพ่อซิกซ์ ด้านหลังโบสถ์ คำสั่งเสียสุดท้ายของท่านคือให้ฝังศพไว้ใต้ทางเดินกลางโบสถ์ เพื่อผู้คนจะได้เหยียบย่ำไปมา เพื่อแสดงความถ่อมตัว แต่ก็ไม่ได้รับการปฏิบัติตาม
น่าเสียดายว่าชื่อเสียงของคุณพ่อลุคไม่ค่อยดีนัก เพราะท่านไปสนับสนุนฝรั่งเศสในขณะที่เข้ายึดจังหวัดนิญบิ่ญ โดยจัดหาพลปืน 150 คนให้


ตัวอาสนวิหารแม่พระแห่งลูกประคำ สร้างด้วยโครงสร้างแบบโบสถ์ฝรั่ง อาคารยาว 64 เมตร และกว้าง 18 เมตร มีหอระฆังขนาบด้านหน้า 2 หอแบบโกธิค แต่เครื่องยอดหอระฆังแทนที่จะเป็นทรงแหลม กลับเหมือนเอาเจดีย์แบบญวนมาประกบลงไป

การตกแต่งและรูปแบบหลังคาเป็นศิลปะญวนภาคเหนือทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นชายคาที่แอ่นงอนขึ้น การใช้ไม้แกะสลักที่ไม่ลงรักปิดทอง โชว์เนื้อไม้สวยงาม เป็นเอกลักษณ์ของศิลปะฮานอย ต่างกับภาคใต้ที่มักปิดทองทาสีแดงอย่างฉูดฉาด หอระฆังและส่วนประตูหน้าโบสถ์ใช้หินทรายตัด ซึ่งขนส่งมาจากแหล่งตัดหินที่ไกลออกไปถึง 200 กิโลเมตร

Phát Diệm Cathedral โบสต์คริสต์เวียดนาม ที่ผสานสไตล์โกธิคกับศาลเจ้า
อาสนวิหารแห่งฟ้าตเยี่ยม ประตูทางเข้าและหอระฆังแบบศิลปะเวียดนาม ตกแต่งด้วยไม้กางเขน
Phát Diệm Cathedral โบสต์คริสต์เวียดนาม ที่ผสานสไตล์โกธิคกับศาลเจ้า
รูปปั้นนักบุญมัทธิวบนหอระฆัง ศิลปะเวียดนาม

ภายในโถงอาคารชวนอ้าปากค้างด้วยความตกตะลึง ตื่นเต้นกับเสาไม้ขนาดใหญ่โตมโหฬาร ชนิดต้องใช้สองคนถึงจะโอบรอบ และด้วยความยาวของวิหารที่กว่า 64 เมตร สถาปนิกต้องคัดเสาไม้แก่นใหญ่มหึมาที่มีขนาดสูง 16 เมตรเท่าๆ กันถึง 52 ต้น แต่ละต้นมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 10 ตัน นึกภาพไม่ออกว่าจะต้องชักลากออกจากป่าด้วยความวิริยะอุตสาหะขนาดไหน ทำให้บรรยากาศข้างในคล้ายกับศาลเจ้าขนาดใหญ่ 

บริเวณพระแท่นกลางอาคาร ตกแต่งด้วยแผงรูปนักบุญลงรักปิดทองขนาดใหญ่ตามแบบศิลปะบาโรค ประดับรูปนักบุญสำคัญต่างๆ ในพระศาสนจักรคาทอลิก โดยตรงกลางพระแท่นเป็นพระนางมารีย์ขนาดใหญ่ เป็นที่น่าเสียดายว่าทางโบสถ์ห้ามถ่ายภาพภายในเด็ดขาด จึงต้องอาศัยภาพจากอินเทอร์เน็ตมาประกอบพลางๆ

Phát Diệm Cathedral โบสต์คริสต์เวียดนาม ที่ผสานสไตล์โกธิคกับศาลเจ้า
ภายในอาสนวิหารฟ้าตเยี่ยม ภาพ : www.vietnamtonkintravel.com

เขาย่ำระฆังตอน 5 โมง มิสซาเย็นกำลังเริ่มแล้ว บรรดาป้าๆ ลุงๆ เลิกออกกำลังกายแล้วเดินเข้ามาในโบสถ์อย่างเนืองแน่น แม้ว่าวันที่เราไปเยี่ยมเยียนไม่ใช่วันอาทิตย์ แต่ด้วยความศรัทธา ชาวบ้านรวมตัวกันสวดภาวนาตั้งแต่บ่าย 3 โมง และรอร่วมมิสซาประจำวันตอน 5 โมงครึ่งอีกรอบ ผู้คนแถวนี้เขาไปวัดกันทุกวัน ซึ่งเป็นภาพที่เราไม่คาดคิดว่าจะได้เห็นเลยในประเทศคอมมิวนิสต์

ผมอยู่ร่วมพิธีชั่วครู่ ที่นี่ยังใช้ระบบ ‘มิสซาขับ’ แบบโบราณ คือแทนที่จะกล่าวหรืออ่านพระคัมภีร์ตามปกติ กลับขับร้องเป็นทำนองคล้ายๆ อาขยาน ให้บรรยากาศชวนศรัทธา น่าเสียดายว่าด้วยความเร่งรีบในยุคปัจจุบัน การขับรูปแบบโบราณจึงไม่ค่อยพบเห็นแล้วในพระศาสนจักรสากล

Phát Diệm Cathedral โบสต์คริสต์เวียดนามที่ผสานสไตล์โกธิคกับศาลเจ้า
อาคารอาสนวิหาร แม้ว่าจะใช้ศิลปะเวียดนาม แต่โครงสร้างก็ยังเป็นแบบโบสถ์คริสต์ คือมีชั้นลอย (Gallery) และหน้าต่างช่องแสงเพื่อให้อาคารด้านในสว่าง
Phát Diệm Cathedral โบสต์คริสต์เวียดนามที่ผสานสไตล์โกธิคกับศาลเจ้า
ช่องแสงสลักรูปหงส์ม้วนหนังสือ เนื่องจากวัดนี้อุทิศให้พระนางมารีย์ ลวดลายต่างๆ จึงเน้นไปทางคติสัญลักษณ์ของสตรีแบบจีน-เวียดนาม
Phát Diệm Cathedral โบสต์คริสต์เวียดนาม ที่ผสานสไตล์โกธิคกับศาลเจ้า

ตัวอาสนวิหารยังล้อมรอบด้วยชาเปล (Chapel) หรือแปลเป็นไทยว่า ‘วัดน้อย’ หรือ ‘โรงสวด’ อีก 4 หลังประจำทิศ ได้แก่

‘วัดน้อยนักบุญเปโตร’ เป็นนักบุญประจำตัวคุณพ่อลุค ตกแต่งทางเข้าด้วยไม้แกะสลักศิลปะญวนปนฝรั่งเศสอย่างสวยงาม ตรงกลางหน้าบันเป็นไตรมงกุฎหรือมงกุฎของพระสันตะปาปา ผู้สืบตำแหน่งประมุขศาสนจักรต่อจากนักบุญเปโตร ปัจจุบันใช้เป็นห้องเรียนศาสนา

‘วัดน้อยพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า’ คติของการนับถือพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าผูกพันอยู่กับประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศสมาตั้งแต่ช่วงปลายราชวงศ์บูร์บอง พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ได้ประกาศถวายประเทศฝรั่งเศสไว้ในความคุ้มครองของพระหฤทัยของพระเยซู ดังนั้น หากไปเยี่ยมชมวัดที่มีการก่อตั้งโดยบรรดาบาทหลวงฝรั่งเศส อาคารแห่งนี้ตกแต่งด้วยลายไม้แกะสลักอย่างงดงามที่สุด ผสมผสานศิลปะญวนกับฝรั่งเศสไว้ได้อย่างลงตัวทีเดียว กลางหน้าบันแกะสลักเป็นลายดวงหทัยของพระเยซูที่ลุกเป็นเพลิงเพราะความรักของพระเจ้าที่มีต่อมนุษย์

Phát Diệm Cathedral โบสต์คริสต์เวียดนาม ที่ผสานสไตล์โกธิคกับศาลเจ้า
แผงทางเข้าไม้แกะสลักของวัดน้อยพระหทัยของพระเยซูเจ้า ตรงกลางหน้าบันเป็นรูปดวงหทัย ล้อมรอบด้วยลายพรรณพฤกษาแบบญวน
Phát Diệm Cathedral โบสต์คริสต์เวียดนาม ที่ผสานสไตล์โกธิคกับศาลเจ้า
วัดน้อยพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า ใช้เสาไม้สลักแบบฝรั่งเศสปนเวียดนาม ในเวลาบ่าย 3 โมงก็มีบรรดาคุณป้ามาสวดภาวนากันแล้ว เพื่อรอมิสซาตอนเย็น

‘วัดน้อยนักบุญร็อค’ นักบุญท่านนี้เกิดในยุคกลาง เป็นองค์อุปถัมภ์ของผู้เจ็บป่วยด้วยโรคระบาด เพราะตัวท่านเองก็เคยติดเชื้อโรคระบาดเช่นกัน

‘วัดน้อยนักบุญโยเซฟ’ ใช้สถาปัตยกรรมแบบเวียดนามเช่นกัน แต่ตกแต่งอย่างเรียบๆ 

นอกจากนี้ ทางด้านหลังอาสนวิหารยังมี ‘วัดน้อยหินหรือวัดดวงหทัยนิรมลของแม่พระเป็นวัดที่สร้างใน ค.ศ. 1883 จากหินทั้งหมด แต่ใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมเลียนแบบโครงสร้างไม้ คือขื่อคาน เสา อะเส ประดุ ตุ๊กตา หรือเครื่องบนที่เลียนแบบมาจากโครงหลังคาแบบโต่วกง (斗拱 หรือโครงหลังคาแบบจีน) ประดับลวดลายมงคลแบบเวียดนาม เช่น ลายพรรณพฤกษา ลายดอกโบตั๋น ลายสับปะรด วัดนี้อุทิศให้พระแม่มารีย์เป็นพิเศษ 

Phát Diệm Cathedral โบสต์คริสต์เวียดนาม ที่ผสานสไตล์โกธิคกับศาลเจ้า
วัดน้อยหิน หรือวัดน้อยดวงหทัยนิรมลของแม่พระ สร้างด้วยหินทั้งหลัง รวมทั้งโครงหลังคาด้วย
Phát Diệm Cathedral โบสต์คริสต์เวียดนามที่ผสานสไตล์โกธิคกับศาลเจ้า
พระแท่นภายในวัดน้อยหิน แกะสลักรูปดวงหทัยนิรมลของแม่พระ มีรูปดาบเสียบแทงอยู่ เสมือนความเจ็บปวดของแม่ที่ต้องเห็นลูกชายถูกทรมานจนตาย

ภายในวัดยังมีห้องขายของที่ระลึกถึง 2 ร้าน ร้านแรกเป็นร้านหนังสือเสริมศรัทธาและปรัชญา ซึ่งมีมากมายมหาศาล ไม่ได้มีแต่หนังสือศาสนา หนังสือของนักปรัชญาดังๆ ของโลกก็แปลไว้มาก ชนิดที่เราแอบอิจฉาคนญวนว่า เขามีหนังสือปรัชญาดีๆ ไว้อ่านในราคาถูกแสนถูก เรามองตาปริบๆ เพราะอ่านไม่ออก

ส่วนอีกห้องเป็นศาสนภัณฑ์ จำพวกรูปพระ สายประคำ กางเขน จี้แม่พระ ผมก็เลยเลือกรูป ‘แม่พระแห่งลาวาง’ ชาวญวนเชื่อว่า ในยุคสมัยพระเจ้ามินหมางและพระเจ้าเทียวตรี ซึ่งมีการเบียดเบียนศาสนาและเข่นฆ่าชาวคริสต์ตายไปเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านก็หลบหนีเข้าไปซ่อนตัวในป่า พระนางมารีย์ได้ปรากฏพระองค์มาในรูปสตรีชาวญวนในจังหวัดกวางตรี เพื่อสอนให้พวกเขาสวดภาวนาเพื่อบรรเทาความทุกข์ยาก และปกปักษ์หมู่บ้านให้รอดจากอันตราย จนปัจจุบันได้กลายเป็นสถานที่แสวงบุญสำคัญแห่งหนึ่งในประเทศเวียดนาม

Phát Diệm Cathedral โบสต์คริสต์เวียดนามที่ผสานสไตล์โกธิคกับศาลเจ้า

พลังศรัทธาของคนเวียดนามในปัจจุบันยังสะท้อนให้เห็นได้จากความผูกพันกับศาสนา แม้รัฐบาลคอมมิวนิสต์ไม่ค่อยเห็นด้วยกับคริสต์ศาสนาก็ตาม ยังคงมีการต่อต้านการเผยแพร่และการสร้างวัดใหม่อยู่เนืองๆ แต่จำนวนคาทอลิกเวียดนามก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ อาจเป็นเพราะนิกายคาทอลิกมีเอกลักษณ์ทางด้านการทำบุญอุทิศให้บรรพชน ซึ่งเมื่อประยุกตร์รูปแบบพิธีกรรมให้เข้ากับวัฒนธรรมเวียดนามได้ ก็ไปกันได้ดีกับวัฒนธรรมขงจื้อที่ให้ความสำคัญกับการไหว้บรรพชน 

ในเรื่องถัดๆ ไปผมคงจะมีโอกาสได้แบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับชาวคาทอลิกญวนในไทย ซึ่งถือว่าเป็นชาวคริสต์กลุ่มใหญ่ที่มีประวัติและธรรมเนียมประเพณีที่มีสีสันน่าสนใจทีเดียว


วิธีไปโบสถ์ฟ้าตเหงี่ยม

  • – อยู่ในจังหวัดนิญบิ่ญ ห่างจากกรุงฮานอย 121 กิโลเมตร ค่อนข้างไกล จำเป็นต้องเช่ารถ
  • – ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพด้านในตัวอาสนวิหาร
  • – การแต่งกายควรเป็นชุดสุภาพ ผู้หญิงควรใส่กระโปรงหรือกางเกงขายาว เสื้อที่คลุมไหล่ปิดมิดชิด
  • – สตรีคาทอลิกเวียดนามยังมีธรรมเนียมการคลุมศีรษะเข้าโบสถ์อยู่ หากไปร่วมพิธีกรรมควรศึกษาธรรมเนียมและอาจหาผ้าลูกไม้สีขาวหรือดำสำหรับคลุมผมด้วย

Writer & Photographer

Avatar

ปติสร เพ็ญสุต

เป็นนักรื้อค้นหอจดหมายเหตุ ชอบเดินตรอกบ้านเก่าและชุมชนโบราณ สนใจงานศิลปะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเภท รวมทั้งคริสตศิลป์ด้วย ปัจจุบันกำลังติดตามธรรมาสน์ศิลปะอยุธยาและเครื่องไม้จำหลักศิลปะอยุธยา เคยคิดจะเป็นนักบวช แต่ไม่ได้บวช