เมื่อพิมพ์คำว่า ‘สมุทรสงคราม’ ลงในช่องเสิร์ชของเว็บไซต์เสิร์ชเอนจิ้น ทั้ง ‘ภาพถ่าย’ และ ‘ภาพลักษณ์’ ของเมืองสามน้ำแห่งนี้ล้วนปรากฏแต่ที่ท่องเที่ยวยอดนิยมหรือพิมพ์นิยมซึ่งหาชื่อเพื่อปักหมุดไม่ยาก ในวาระที่ได้บอกเล่าเรื่องจังหวัดนี้ ไหนๆ ได้ฉายา ‘เวนิสแห่งตะวันออก’ เราจึงอยากเปลี่ยนแนวและบรรยากาศ พาลงเรือเที่ยวตามน้ำทั้งห้า ที่ไม่เชิงเป็น Hidden Place เพราะมันแอบแฝงอย่างแนบเนียนในวิถีชีวิตคนสมุทรสงครามมาโดยตลอด หากเราลองสังเกต

ทริปเที่ยวตามน้ำครั้งนี้ของ The Cloud จะพาคุณไปดู ชม ดม ชิม เสน่ห์ที่แท้ของสมุทรสงคราม เมืองที่ทุกอาชีพพื้นถิ่นขับเคลื่อนด้วยน้ำ (ที่ดี) 

น้ำคลอง เส้นทางสัญจรหลักในอดีตที่เลาะเลื้อยตามเทือกสวนเรือนไม้โบราณแบบเฉพาะสไตล์สมุทรสงคราม เป็นอีกเส้นทางท่องเที่ยวที่ถ้าใครหลงรักสถาปัตยกรรม อาจตกหลุมรักได้ไม่ยาก วันไหนน้ำเกิด (น้ำขึ้นสูง) หาเรือพายสักลำ จ้วงเหนือผืนน้ำสายสงบ ที่ไม่ค่อยถูกรบกวนจากคนภายนอก ลอดใต้ร่มไม้ผลผสมจากสวนสองฟากฝั่งคลอง ชมห้องนั่งเล่นริมน้ำที่บอกเล่าวิถีของคนอยู่ นั่นล่ะ เสน่ห์ของชีวิตริมคลอง

น้ำตาล สมุทรสงครามเป็นเมืองสามน้ำ นอกจากน้ำจืด น้ำเค็ม ก็มีอีกน้ำ คือน้ำกร่อย ช่วงไหนของจังหวัดมีสวนมะพร้าว นั่นล่ะ ดินแดนน้ำกร่อย อีกอาชีพสำคัญที่ฮิตมาแต่อดีตจึงเป็นคนเคี่ยวตาล ซึ่งก็คือคนทำน้ำตาลมะพร้าว ว่ากันตามจริง น้ำตาลมะพร้าวหากินไม่ยาก มีขายให้ทั่ว แต่น้ำตาลมะพร้าวเนื้อแท้ ไร้การปรุงแต่งทั้งจากน้ำตาลทรายและสารกันบูดสิหายาก แต่ชาวสวนที่นี่ยังอยากเห็นคนได้กินของที่ดี เพื่อรับรู้เสน่ห์ของน้ำตาลมะพร้าวรสหอม หวาน มัน หลายคนจึงยังคงวิถีการเคี่ยวน้ำตาลมะพร้าวเนื้อแท้ที่อร่อยและปลอดภัย

น้ำแดง น้ำตาลมะพร้าวคือหนึ่งของขึ้นชื่อของเมืองนี้ แต่ไม่ใช่แค่เอาไปทำขนมไทยกลิ่นหอม คนสมุทรสงครามบอก น้ำตาลมะพร้าวยังไปอยู่ในอาหารคาวได้เช่นกัน ทั้งแกงเขียวหวาน ฯลฯ แต่อีกหนึ่งเมนูที่ไม่พูดถึง คงหาว่ามาไม่ถึง เพราะเป็นอาหารจาน ไม่สิ… ชาม ที่มีแค่ 3 จังหวัดในประเทศเท่านั้น คือ ‘ก๋วยเตี๋ยวน้ำแดง’ เพราะหัวใจของก๋วยเตี๋ยวชนิดนี้คือรสหวาน หอม เฉพาะที่ได้จากน้ำตาลมะพร้าวเคี่ยวกับน้ำจนข้นเหนียว ราดบนเส้นลวกเป็นเหมือนท็อปปิ้ง แล้วตามด้วยน้ำซุปก๋วยเตี๋ยว แค่นี้แหละ ชามเดียวไม่พอ

น้ำปลา เลยด่านสวนมะพร้าวย่านน้ำกร่อยออกไปชายทะเลอ่าวไทย ยังมีหมู่บ้านชาวประมงของผู้ใหญ่แดง ผู้หาหนทางแก้ไขปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะตลิ่งด้วยวิธีธรรมชาติ จนเกิดป่าชายเลนพิทักษ์หมู่บ้านเป็นแนวยาวถึง 9 กิโลเมตร กลายเป็นที่กรองน้ำธรรมชาติ และแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ ชาวประมงพื้นบ้านจึงมีสัตว์น้ำกินกันตามฤดูกาล เช่นหนึ่งภูมิปัญญาที่สืบทอดมาเนิ่นนานคู่ชาวประมง ‘หัวน้ำปลาหมัก’ ที่ได้จากปลาสดจากแห เกลือบริสุทธิ์ในพื้นที่ เคล้าให้ทั่วแล้วหมักใส่ไหปีเต็มๆ อร่อย!

น้ำพัก เบื้องหลังแนวป่าชายเลนผืนยาวมีผืนนาซ่อนอยู่ แต่เป็นนาเกลือ ผืนนาที่ปลูกปั้นเกลือบริสุทธิ์จากการผันน้ำทะเลอ่าวไทยบริสุทธิ์มาพักไว้ ซึ่งถูกกรองอย่างดีโดยรากไม้ป่าชายเลนฝีมือผู้ใหญ่แดงและชาวบ้าน สมุทรสงครามเป็นอีกแหล่งใหญ่ในการผลิตเกลือ จึงมีนาเกลือให้เห็นมากมาย ทว่าไม่ได้มากสำหรับเกษตรกรนาเกลือที่อยู่กับเกลือมาเนิ่นนาน ด้วยเหตุที่ถูกกว้านซื้อที่ นาเกลือที่เห็นจึงไม่ใช่เพียงแหล่งผลิตวัตถุดิบ หากแต่เป็นศูนย์รวมภูมิปัญญา ที่ถ้าไม่รักษา อาจสูญหาย

ผู้กำกับ : วินัย สัตตะรุจาวงษ์

ผู้ถ่ายภาพ : ธานี นทีพิทักษ์, วัชรพล แสงอรุณโรจน์, ธนบัตร ชาวนาฟาง, วินัย สัตตะรุจาวงษ์

ผู้ลำดับภาพ : วินัย สัตตะรุจาวงษ์

ผู้ควบคุมการผลิต : วินัย สัตตะรุจาวงษ์

โปรดิวเซอร์ : พรนภา อนะหันลิไพบูลย์

ผู้ดำเนินรายการ : นิสา คงศรี

ครีเอทีฟ : ศกุนตลา แย้มปิ๋ว

Video Subtitler : ศกุนตลา แย้มปิ๋ว

ผู้ประสานงาน : ศุภมณฑา กัญโส / เดอะมนต์รักแม่กลอง

บรรณาธิการศิลปกรรม : สุวิชา พุทซาคำ

Director

Avatar

วินัย สัตตะรุจาวงษ์

ผู้กำกับรายการและโฆษณาที่ช่วงนี้หันมาสนใจงานแนวสารคดี จึงเน้นทำงานที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความจริง ตัวอย่างผลงานที่ผ่านมาคือ รายการ human ride และ เป็น อยู่ คือ