01

มีคนไทยทำงานในสมิธโซเนียน

สมิธโซเนียนเป็นเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ที่ดีที่สุดในโลก

ในวาระที่ผมเดินทางไปร่วมงานเลี้ยงรับรองฉลอง 2 ศตวรรษแห่งมิตรภาพ และ 185 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ทางสถานเอกอัครราชทูตไทยฯ ช่วยประสานงานให้ผมได้คุยกับผู้ดูแลระบบอาสาสมัครของสมิธโซเนียน ซึ่งถือเป็นระบบอาสาสมัครของพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่และดีที่สุดในโลก

ในระหว่างที่รถจากสถานเอกอัครราชทูตมุ่งหน้าไปยัง National Museum of Natural History เจ้าหน้าที่สถานทูตเล่าให้ฟังว่า มีคนไทย 1 คนทำงานอยู่ที่นี่ ที่ผ่านมาอาจจะมีคนไทยแวะเวียนมาทำงานบ้างในช่วงสั้นๆ แต่พี่คนนี้ทำงานที่นี่มา 50 กว่าปี และเป็นคนไทยคนเดียวที่ทำงานประจำอยู่ที่สมิธโซเนียนตอนนี้

หัวใจผมเริ่มเต้นแรง

พี่คนนี้เป็นนักวาดภาพวิทยาศาสตร์

หัวใจผมเต้นแรงขึ้นไปอีก

“ผมขอสัมภาษณ์เขาได้ไหม”

เจ้าหน้าที่ก้มหน้าส่งข้อความไปถามแล้วเงยหน้าขึ้นมาตอบผมว่า ได้ เดี๋ยวเขาจะรออยู่ที่ชั้นล่างของพิพิธภัณฑ์

หัวใจผมกระโดดโลดเต้นจนกระเป๋าเสื้อกระเพื่อม

02

ข้างฝาผมอธิบายทุกอย่าง

ช้างสตัฟฟ์ตัวเบ้อเริ่มยืนตระหง่านอยู่กลางโถงชั้นล่างของ National Musuem of Natural History ส่วนพี่วิชัย มะลิกุล ยืนรออยู่ข้างช้างตามที่นัดหมาย หลังจากทักทายกัน ชาวไทยวัย 75 ปี ก็เดินอย่างกระฉับกระเฉงพาผมทะลุพิพิธภัณฑ์เข้าสู่ส่วนสำนักงาน

พี่วิชัยพาผมเดินออกจากลิฟต์ เลี้ยวซ้ายและขวาอย่างละครั้งสองครั้ง ก้าวซ้ายสลับขวาอีกนิดหน่อย ก็คว้าลูกบิดเปิดประตูพาผมเข้ามาในห้องทำงานหรือสตูดิโอที่เขาใช้วาดรูป

ผนังห้องทั้งสี่ด้านแทบจะไม่มีที่ว่าง เพราะมีกรอบรูปนานาชนิดแนบจนแน่นไปหมด ไม่ว่าจะเป็นภาพแมลงที่วาด ภาพถ่ายเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ใบประกาศนียบัตร หน้าหนังสือพิมพ์ที่เขียนข่าวถึงเขา

วิชัย มะลิกุล, Smithsonian วิชัย มะลิกุล, Smithsonian

“คุณถ่ายภาพข้างฝาผมไปสิ มันอธิบายทุกอย่าง” พี่วิชัยบอกเมื่อเห็นว่าผมกำลังสำรวจผนังห้องทำงานของเขา

“New York Times เอาภาพยุงก้นปล่องผมไปลงประกอบเรื่องไวรัสซิก้าเมื่อ 2 ปีก่อน ส่วนนี่ The Washington Post เขียนเรื่องของผม”

พี่วิชัยชี้ให้ดูภาพถ่ายขาวดำฝีมือของเขา นักวาดคนนี้หัดถ่ายภาพเอง ล้างฟิล์มเอง อัดเอง แล้วก็หยิบอัลบั้มภาพขนาดโปสการ์ดมาให้ดู ด้านในเต็มไปด้วยภาพของราชวงศ์ไทยเมื่อเสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกา พี่วิชัยเล่าว่า เขาทำหน้าที่เป็นนักข่าวให้กับไทยรัฐและสกุลไทย เมื่อมีราชวงศ์เสด็จฯ มา เขาก็ลางานไปตามเสด็จฯ เพื่อบันทึกภาพ ในอัลบั้มนี้น่าจะมีครบทุกพระองค์

ถ้าพี่วิชัยมีฝีไม้ลายมือในการถ่ายรูปขนาดนี้ ทำไมเขาถึงไม่ถ่ายรูปแมลงแทน

ผมสงสัย แต่ยังไม่กล้าถาม

03

ถ้าคุณไม่วาด คนก็จะนึกภาพไม่ออก

ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองจะมาได้ถึงขนาดนี้นะพี่วิชัยย้อนกลับไปเล่าถึงตัวเองในวัยเด็ก ตอนนั้นเขาเป็นเด็กที่ชอบวาดรูป ในขณะที่เพื่อนๆ วาดรถถัง เขากลับนั่งวาดดอกไม้และผีเสื้อ

ช่วงนั้นมีสงครามเวียดนาม ทหารสหรัฐอเมริกาเป็นโรคมาลาเรียกันเยอะ กองทัพสหรัฐฯ จึงสนับสนุนโครงการวิจัยยุงที่เป็นพาหะโรคมาลาเรีย ผ่านองค์กร Southeast Asia Treaty Organization (SEATO) ซึ่งมีโครงการร่วมกับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

พอพี่วิชัยเรียนจบ ม.8 จากโรงเรียนเตรียมอุดมฯ SEATO ก็เปิดรับสมัครจิตรกรวาดภาพด้านชีววิทยา เขาลองไปสมัคร และสอบด้วยการสเกตช์ภาพกะโหลกหนู พี่วิชัยได้งานนั้นและเริ่มงานวาดภาพทางวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ พ.ศ. 2505

“วิชาทางกีฏวิทยาต้องมีรูปประกอบ คุณจะอารัมภบทลักษณะของแมลงว่า ช่วงปีก เส้นปีกอันแรกมีจุดขาวเป็นปล้องๆ นะ ถ้าคุณไม่วาดรูปนี้คนก็จะนึกภาพไม่ออก” พี่วิชัยพูดถึงความสำคัญของภาพวาดที่มีต่องานวิจัย

งานของพี่วิชัยคือการวาดภาพยุงในห้องแล็บ และลงพื้นที่ไปเก็บยุงกับทีมวิจัยบ้าง

“ยุงก้นปล่องมีสี่สิบกว่าชนิด แต่มีไม่กี่ชนิดที่เป็นพาหะมาลาเรีย จะฆ่ามันทั้งหมดก็ทำลายสมดุลธรรมชาติ เราต้องศึกษาว่า ยุงแต่ละพันธุ์มีลักษณะอย่างไร ปล้องขาวปล้องดำต่างกันยังไง แล้วก็ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ยุงกัดอะไรถึงนำโรค กัดคนสู่คน หรือกัดสัตว์สู่คน ทีมวิจัยต้องไปตามหมู่บ้านที่มาลาเรียระบาด เอาหมอเข้าไปด้วย เอาเลือดคนไข้มาตรวจ แล้วทีมงานก็ต้องออกไปให้ยุงกัด เพื่อเอาขวดมาครอบ ใช้หลอดดูดยุงเข้ามาในขวด ปิดฝาเอากลับมาที่แล็บ ส่วนยุงตัวผู้ที่ไม่กัดคนก็ต้องไปตามกระต๊อบ ไปเก็บยุงที่เกาะตามฝาบ้าน”

อย่าถามว่า ทีมนักเก็บยุงเป็นโรคมาลาเรียและไข้เลือดออกไหม ให้ถามว่าเป็นคนละกี่รอบดีกว่า

เมื่อได้ตัวอย่างยุง พี่วิชัยก็เอามาส่องกล้องจุลทรรศน์แล้ววาด

เขาหัดวาดภาพวิทยาศาสตร์ด้วยตัวเอง ผ่านการดูตัวอย่างจากหนังสือของ ดร.จอห์น เบลกิน แล้วก็เรียนเรื่องกายวิภาคของยุงด้วยตัวเอง

วิชัย มะลิกุล, Smithsonian วิชัย มะลิกุล, Smithsonian

เมื่อโครงการนี้เสร็จก็ได้หนังสือชื่อ lllustrated Key To The Female Anopheles Mosquitoes of Thailand

พี่วิชัยนั่งวาดภาพยุงเหล่านี้อยู่ 5 ปีครึ่ง

04

ถ้าคุณไม่ถามคำถามนี้ผมจะแปลกใจมาก

“มันเป็นคำถามที่ทุกคนต้องถาม ถ้าคุณไม่ถามคำถามนี้ผมจะแปลกใจมาก” พูดจบพี่วิชัยก็ลุกไปหยิบหนังสือที่ชั้น

ทิ้งผมไว้กับคำถามที่ว่า ทำไมถึงต้องวาดรูป ถ่ายรูปไม่ได้หรือ

วิชัย มะลิกุล, Smithsonian

“มันเป็นเรื่องความสมบูรณ์ของตัวอย่าง ตัวอย่างยุงที่เราจับมาได้อาจไม่สมบูรณ์ ตัวงอบ้าง แล้วเราก็ไม่ได้วาดแค่ยุง เราวาดลูกน้ำ ตัวโม่ง แต่ละตัวมีรายละเอียด มีปล้อง มีขน ภาพที่ออกมาขนาดและสัดส่วนต้องถูกต้องหมด ถ้าถ่ายรูปอาจจะไม่ได้รายละเอียดขนาดนี้”

พี่วิชัยเปิดตัวอย่างงานชิ้นที่เขาทำที่สมิธโซเนียนให้ดู

วิชัย มะลิกุล, Smithsonian วิชัย มะลิกุล, Smithsonian

“ภาพพวกนี้ตัวจริงของมันยาวแค่ 1 มิลลิเมตรกว่าๆ เราต้องเอาเครื่องใน เอาอวัยวะเพศ ของมันออกมา เพราะแมลงบางพันธุ์ต้องใช้อวัยวะเพศจำแนกตัวผู้ตัวเมีย ถ้าดูจากด้านนอกแต่ละตัวแทบไม่ต่างกัน คุณต้องดึงเครื่องในผีเสื้อ ดึงอวัยวะสืบพันธุ์ของมันออกมาจากปล้องหลัง ที่คุณเห็นในรูปนี่คือรังไข่ของผีเสื้อกลางคืน ขดอยู่ในตัว ผมก็ไม่รู้ว่าถ้าใช้วิธีถ่ายภาพ จะถ่ายยังไงให้สมบูรณ์”

05

วิทยาศาสตร์กับศิลปะต้องไปด้วยกัน

เมื่อปิดโปรเจกต์งานวิจัยยุงในประเทศไทย ดร.จอห์น อี. สเก็ตลอน พลเอกแห่งกองทัพสหรัฐฯ ก็เดินทางกลับไปตั้งหน่วยวิจัยทางการแพทย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สมิธโซเนียนเพื่อทำวิจัยเรื่องยุงต่อ เขาจึงชวนพี่วิชัยไปร่วมทำงานนี้ต่อที่สหรัฐอเมริกา

“ผมตอบตกลงทันที” พี่วิชัยในวัยเบญจเพสไม่กลัวการเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปใช้ชีวิตในสหรัฐอเมริกาคนเดียว เขาเริ่มต้นงานเดิมในประเทศใหม่เมื่อ พ.ศ. 2510 จากนั้นไม่นานคุณพวงทอง แฟนสาวที่พบกันตอนทำงานที่ SEATO ก็เดินทางตามมาทำงานที่กระทรวงเกษตร สหรัฐอเมริกา และแต่งงานใช้ชีวิตคู่ร่วมกันจนถึงปัจจุบัน

งานที่พี่วิชัยทำแทบไม่ต่างจากเดิม สายตาอยู่กับกล้องจุลทรรศน์สลับกับกระดาษวาดภาพ ในมือมีพู่กันเบอร์ศูนย์สามตัว แตะหมึกอินเดียนเป็นระยะ และสิ่งสำคัญที่สุดที่ขาดไม่ได้คือ สมาธิ

วิชัย มะลิกุล, Smithsonian วิชัย มะลิกุล, Smithsonian

ภาพวาดของเขามีขนาดประมาณเอสี่ บางรูปก็ใหญ่ถึงเอสาม บางรูปก็เล็กแค่เอห้า

“ผมไม่ได้วาดภาพสีหรือขาวดำ ยุงมีสีอะไรผมก็วาดตามนั้น ยุงสีก็มีนะ แต่ยุงสีมันไม่กัดคน กินน้ำหวานดอกไม้” พี่วิชัยหยิบรูปยุงสีสันสดใสยื่นให้ดู

วิชัย มะลิกุล, Smithsonian

การวางท่าทางของยุงก็ถือเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์

เพราะตามธรรมชาติเราอาจไม่เคยเห็นยุงเป็นๆ อยู่ในท่วงท่าที่สวยงามแบบนี้

“คนบอกว่า วิทยาศาสตร์กับศิลปะไปด้วยกันไม่ได้ แต่มันต้องไปด้วยกันนะในบางวิชา ตัวอย่างแมลงที่เราได้มาเป็นตัวอย่างแห้งๆ งอบ้าง เราต้องกำหนดท่าทางของมัน ซึ่งก็มีคนที่เขาทำมาก่อนแล้ว ว่าต้องให้ท่าทางของมันเป็นรูปแบบไหน แต่ขนาดและสัดส่วนต้องถูกต้อง”

วิชัย มะลิกุล, Smithsonian วิชัย มะลิกุล, Smithsonian

พี่วิชัยนั่งอยู่ในห้องนี้เพื่อวาดรูปยุงอย่างเดียว 17 ปี

“ไม่เบื่อนะ ผมมองเป็นความภูมิใจมากกว่า เพราะการวาดรูปยุงช่วยชีวิตคนได้” พี่วิชัยตอบพร้อมรอยยิ้ม

06

นักวิทยาศาสตร์เดินทางมาขอกอดผม

พอจบโครงการวิจัยเรื่องยุง พี่วิชัยก็ย้ายมาทำงานกับแผนกกีฏวิทยาของสมิธโซเนียน ตำแหน่งนักวาดภาพวิทยาศาสตร์เช่นเดิม

“นักกีฏวิทยาที่นี่รู้จักผมอยู่แล้ว พวกเขาชอบความละเอียดในงานของผม พอรู้ว่าผมว่างแล้ว เขาก็ตะครุบเลย” พี่วิชัยลุกไปหยิบภาพชุดใหม่มาให้ดู

วิชัย มะลิกุล, Smithsonian

งานใหม่ของเขาคือการวาดภาพผีเสื้อกลางคืน ซึ่งเป็นศัตรูพืชที่ทำให้ใบไม้ร่วง ผิวผลไม้เสีย เป็นงานวิจัยเพื่อช่วยภาคเกษตร เขานั่งวาดภาพตั้งแต่เช้ายันเย็นเหมือนเดิม และศึกษากายวิภาคของผีเสื้อกลางคืนด้วยตัวเองเหมือนเดิม

ถึงแม้ว่าจะเปลี่ยนจากยุงเป็นผีเสื้อกลางคืน แต่ภาพที่วาดก็ไม่ได้รื่นรมย์ขึ้นสักเท่าไหร่ เพราะเขาไม่ได้วาดผีเสื้อสีสันสดใส แต่เน้นการวาดเครื่องใน หรืออวัยวะเพศ เพื่อใช้ในการจำแนก

วิชัย มะลิกุล, Smithsonian

“ส่วนมากงานของผมอยู่ในงานวิจัยของสมิธโซเนียน ส่งไปทั่วโลก บางทีก็มีนักวิทยาศาสตร์เดินทางมาขอเจอผม มากอด มาจับมือ เขาบอกว่า ภาพวาดของผมช่วยงานวิจัยของเขามาก เพราะผีเสื้อกลางคืนยาวตัวละ 8 มิลลิเมตร มันเล็กมาก ต้องดูรูปถึงจะเห็นว่ารายละเอียดเป็นยังไง มีคนมาขอบคุณผมหลายกลุ่มเลย”

ถ้ามองย้อนกลับไป พี่วิชัยวาดรูปยุงอย่างเดียวที่ไทย 5 ปี

วาดรูปยุงอย่างเดียวที่สหรัฐฯ อีก 17 ปี

แล้วก็วาดรูปผีเสื้อกลางคืนอย่างเดียวอีก 25 ปี

07

เขาชวนผมวาดคู่มือดูผีเสื้อ

พอจบโครงการผีเสื้อกลางคืน พี่วิชัยก็ได้รับมอบหมายให้วาดรูปแมลงทั่วไป

เขาสั่งสมชื่อเสียงในวงการมานาน เลยมีคนมาชวนให้ใช้เวลาว่างนอกเวลาทำงานวาดภาพชุดใหม่ ซึ่งภาพชุดนี้ทำให้เขากลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และได้รับการยกย่องในฐานะศิลปิน

“ดร.พอล เอ. โอปลา มาพบผมที่นี่ เขาอยากปรับปรุงต้นฉบับหนังสือคู่มือดูผีเสื้อในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาของ Peterson Field Guides ที่พิมพ์ครั้งแรกช่วงปี 1950 เขาอยากชวนผมทำงานด้วย ทำออกมาเป็นคู่มือที่วางขายทั่วสหรัฐอเมริกา เวลาคนไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติก็ใช้เล่มนี้เป็นไกด์” พี่วิชัยหยิบคู่มือดูผีเสื้อเล่มนี้มาให้ดู

วิชัย มะลิกุล, Smithsonian วิชัย มะลิกุล, Smithsonian

Peterson Filed Guides เป็นสำนักพิมพ์ที่พิมพ์คู่มือศึกษาธรรมชาติที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในโลก พอพี่วิชัยรับงานนี้ เขาถือเป็นคนเอเชียคนแรกที่ได้ร่วมงานกับสำนักพิมพ์ งานของเขาคือ วาดภาพผีเสื้อ 541 รูป แต่ละรูปต้องใช้เวลาวาดประมาณ 4 – 5 ชั่วโมง

พี่วิชัยเริ่มต้นหัดวาดภาพผีเสื้อ หัดใช้เทคนิคแบบต่างๆ โดยเฉพาะสีเหลือบที่ดูวาวแววแบบเดียวกับปีกผีเสื้อ ด้วยตัวเองเช่นเดิม

วิชัย มะลิกุล, Smithsonian วิชัย มะลิกุล, Smithsonian

พี่วิชัยใช้เวลา 6 ปี วาดภาพชุดนี้

ภาพชุดนี้ถูกนำมาแสดงที่โรงแรมโอเรียนเต็ล ในประเทศไทย 3 ครั้ง ในวาระครบรอบ 120 ปี 125 ปี และ 130 ปี ของโรงแรม

08

ความงามของภาพวาดวิทยาศาสตร์ คือความงามในตัวของมันเอง

“คนนี้ตายแล้ว คนนี้ไม่สบายหนัก คนนี้เบลอไปแล้ว” พี่วิชัยพูดถึงคนที่อยู่ในภาพหมู่ซึ่งใส่กรอบติดบนผนังห้องทีละคน “คนนี้เป็นคนเกาหลี ตอนนี้ทั้งสมิธโซเนียนเหลือคนที่วาดภาพแบบเดียวกับผมแค่คนนี้คนเดียว”

ดูจากความเก่าของภาพถ่าย ก็พอจะเข้าใจได้ว่า งานนี้เป็นงานของคนยุคก่อนที่ไม่มีคนยุคหลังมารับช่วงต่อ

“การใช้งานไม่ได้น้อยลง แต่คนเริ่มใช้ดิจิทัลมากขึ้น ถ่ายรูปเอาเลย เร็วกว่า แต่ผมก็ไม่รู้ว่าเขาดึงไส้ดึงพุงออกมาถ่ายรูปยังไง” พี่วิชัยพูดถึงความโรยราของวงการภาพวาดวิทยาศาสตร์

การเข้ามาของดิจิทัลส่งผลไปทั่วทั้งสหรัฐฯ และทั่วโลก คนวาดรูปวิทยาศาสตร์ได้น้อยลงเรื่อยๆ พี่วิชัยเลยได้รับเชิญไปสอนให้นักกีฏวิทยาวาดรูปเบื้องต้นในมหาวิทยาลัยหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา รวมถึงหลายมหาวิทยาลัยในประเทศไทย

วิชัย มะลิกุล, Smithsonian วิชัย มะลิกุล, Smithsonian

“เสน่ห์ของการวาดภาพวิทยาศาสตร์คือ รายละเอียดและความเหมือน ไม่ใช่เรื่องจินตนาการหรือความสวยงาม ความงามของภาพวาดวิทยาศาสตร์คือความงามในตัวของมันเอง คุณจะเน้นให้ออกมาได้ยังไง มันต้องสวยด้วยรายละเอียด ความละเอียดของมัน สีเหลือบของมัน วาดยังไงถึงจะได้แบบนั้น”

วิชัย มะลิกุล, Smithsonian

ถ้าดูจากภาพแมลงต้นแบบ ไม่ว่าจะตัวไหน เชื่อว่า หลายคนคงมองว่าภาพวาดสวยกว่าตัวจริง แต่พี่วิชัยไม่เห็นด้วย

“ของจริงสวยกว่า สวยแบบธรรมชาติ ธรรมชาติสวยโดยตัวของมันเอง ที่ผ่านมามนุษย์พยายามทำลายความสวยแบบนั้นให้สวยอย่างที่เราต้องการ”

09

นักวิจัยตั้งชื่อยุงตัวนี้ตามนามสกุลผม

ห้องทำงานของพี่วิชัยเปรียบได้กับพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อม ไม่ว่าจะหยิบจับของชิ้นไหนก็มีเรื่องราวรายล้อมอยู่เต็มไปหมด

วิชัย มะลิกุล, Smithsonian

พี่วิชัยหยิบผีเสื้อสตัฟฟ์ที่ได้มาเพื่อวาดให้ดู “ผีเสื้อตัวนี้เป็นพันธุ์สมิงเชียงดาว เมื่อก่อนมีแถบอำเภอเชียงดาว แล้วก็ดอยผ้าห่มปกเยอะ แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว เพราะคนสะสมกัน ตัวนี้ได้มาจากภูฏาน”

วิชัย มะลิกุล, Smithsonian วิชัย มะลิกุล, Smithsonian

พี่วิชัยยื่นผีเสื้ออีกตัวให้ดู เขาบอกให้ถ่ายรูปแล้วซูมดู จะเห็นลายหัวกะโหลกอยู่บนตัวมัน แล้วก็ชี้ให้ดูลายผีเสื้อตัวนี้ในโปสเตอร์หนังเรื่อง The Silence of the Lambs ที่แปะอยู่บนผนัง

“ทีมงานหนังเรื่องนี้มาคุยกับผมด้วย บางฉากก็ถ่ายที่นี่ (สมิธโซเนียน) ในหนังเขาทำให้คนสะสมผีเสื้อดูเป็นคนบ้าๆ บอๆ ผมก็บอกว่าไม่ใช่ พวกเราไม่ได้บ้านะ” พี่วิชัยหัวเราะอย่างอารมณ์ดี

ชายไทยผู้เป็นเจ้าของรางวัล Man of The Year หรือพนักงานมนุษย์สัมพันธ์ดีเด่นของสมิธโซเนียน หยิบภาพวาดยุงสีส่งให้ดู เขาว่านี่เป็นภาพที่ใช้เป็นปกของนิตยสารสารคดี

รูปถัดมาเป็นรูปยุง คนทั่วไปคงมองว่ามันก็ไม่ต่างจากรูปยุงที่เราเห็นหลายตัวก่อนหน้านี้

“ตัวนี้นักวิจัยเขาตั้งชื่อตามนามสกุลผม เขาได้มาจากเชียงใหม่เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เป็น New Species” พี่วิชัยบอกว่าเขาสนิทสนมกับเหล่านักวิจัย รวมถึงยอมรับนับถือในฝีมือกัน นักวิจัยเลยตั้งชื่อสิ่งมีชีวิตที่เพิ่งค้นพบใหม่หลายสายพันธุ์ให้เป็นเกียรติกับเขา

วิชัย มะลิกุล, Smithsonian วิชัย มะลิกุล, Smithsonian

ไม่ใช่แค่ยุง แต่ยังรวมถึงผีเสื้อ ผีเสื้อกลางคืน และมดด้วย

นี่คงพอจะบอกได้ว่า พี่วิชัยเป็นที่รักในวงการขนาดไหน

10

ผมไม่ได้ภูมิใจตรงที่มันสวยนะ

ปีนี้พี่วิชัยอายุ 76 ปี ทำงานมาแล้ว 51 ปี เขาตัดสินใจเกษียณเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังเข้ามาทำงานสัปดาห์ละ 2 วัน ในฐานะของอาสาสมัคร

เขาว่า ตอนนี้กำลังทำหนังสือรวมเบื้องหลังการทำงานทั้งหมด เป็นการบันทึกประสบการณ์ทั้งหมดเก็บไว้

วิชัย มะลิกุล, Smithsonian

ผมขอให้พี่วิชัยพูดถึงงานตัวเองในรอบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา

“เห็นแล้วตื่นเต้น ไม่รู้วาดได้ยังไง ตอนน้ั้นสายตาของเรายังดี ความมานะก็ยังดี”

ถ้าถามคนทั่วไป คงได้คำตอบคล้ายๆ กันว่า สวยมาก

“ผมไม่ได้ภูมิใจตรงที่มันสวยนะ” พี่วิชัยพูดด้วยน้ำเสียงจริงจัง “ภาพพวกนี้ใช้เพื่อพิสูจน์ว่าแต่ละสายพันธุ์ต่างกันยังไง อย่างคู่มือผีเสื้อก็เป็นตำราให้ทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นใช้ศึกษาธรรมชาติ คุณค่าของมันอยู่ตรงนั้น”

วิชัย มะลิกุล, Smithsonian

พี่วิชัยวาดภาพแมลงมาทั้งชีวิต มองแต่แมลงที่ตายแล้วผ่านกล้องจุลทรรศน์ ผมอยากรู้ว่าเวลาที่เขาเห็นแมลงเป็นๆ บินอยู่ในธรรมชาติ เขารู้สึกอย่างไร

“การเห็นพวกเขาตอนยังมีชีวิต เป็นความสุขอย่างหนึ่งนะ เห็นว่าตอนที่มีชีวิตเป็นแบบนี้ ผมภูมิใจที่มีส่วนให้คนได้ศึกษาเขาและรู้จักเขา”

Writer & Photographer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป