ในความทรงจำของคนรักการ์ตูนญี่ปุ่น คงไม่มีใครลืมความดีใจตอนเห็นการ์ตูนเล่มโปรดเล่มใหม่วางแผง จนต้องรีบซื้อมาเปิดอ่าน ละเลียดความสนุกบนหน้ากระดาษไปกับเรื่องราวนั้นๆ

โคนันจะกลับร่างเดิมได้หรือไม่ บทสรุปความรักในเรื่องทัชจะเป็นอย่างไร โดราเอมอนจะมีของวิเศษอะไรออกมาอีก หงอคงจะเก็บดราก้อนบอลได้ครบหรือยัง ฯลฯ 

แม้เนื้อหามาจากแดนอาทิตย์อุทัย แต่เราก็เพลิดเพลินได้ไม่ขัดเขิน และรู้สึกผูกพันกับตัวละครเหมือนเป็นเพื่อนที่โตมาด้วยกัน สำหรับใครหลายคน การ์ตูนเหล่านี้คือหนังสือเล่มแรกๆ ที่ใช้ฝึกอ่าน

วิบูลย์กิจ จากเด็กมัธยมลอกลายด้วยใจรัก สู่ สำนักพิมพ์ ที่กำเนิดมังงะลิขสิทธิ์เล่มแรกของไทย

กว่า 50 ปีแล้วที่การ์ตูนญี่ปุ่นหรือ ‘มังงะ’ ยกขบวนบุกเข้ามาครองใจผู้อ่านชาวไทย ตั้งแต่ซูเปอร์ฮีโร่อย่างอุลตร้าแมน ไอ้มดแดง มาจนสู่ยุคเนื้อหาหลากหลายทั้งต่อสู้ กีฬา ดราม่า รักโรแมนติก ฯลฯ ส่งผลให้สำนักพิมพ์การ์ตูนเติบโต ร้านการ์ตูนหน้าโรงเรียนผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด

วิบูลย์กิจ คือหนึ่งในผู้บุกเบิกการ์ตูนญี่ปุ่นแปลไทย มีผลงานที่โดดเด่นโดยเฉพาะการ์ตูนผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็น โคนัน, คินดะอิจิ, GTO, แบล็กแจ็ค, ทัช และอีกมากมาย สำนักพิมพ์แห่งนี้ยืนหยัดผ่านความเปลี่ยนแปลงมาทุกยุคสมัย ตั้งแต่การ์ตูนยังไม่มีลิขสิทธิ์ จนถึงยุคดิจิทัลที่การอ่านก้าวไกลกว่าหน้ากระดาษ

บ.ก.วุฒิ-วรวุฒิ วรวิทยานนท์ บรรณาธิการบริหารของ วิบูลย์กิจ พับลิชชิ่ง กรุ๊ป

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา อยากชวนไปคุยกับ บ.ก.วุฒิ-วรวุฒิ วรวิทยานนท์ บรรณาธิการบริหารของวิบูลย์กิจ พับลิชชิ่ง กรุ๊ป ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการมายาวนานเกือบ 40 ปี ถึงเส้นทางอันยาวไกลของการ์ตูนญี่ปุ่น ที่สำคัญเขาเป็นคนที่รักการ์ตูนมาก และเชื่อว่าใครที่รักการ์ตูนแล้วจะรักไปจนวันตาย

มาร่วมย้อนวันวานแห่งความสุขไปด้วยกัน

01

ก้าวแรกสู่สังเวียน

หน้าแรกของการ์ตูนญี่ปุ่นในเมืองไทย เริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2508 เมื่อสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม และช่อง 7 สนามเป้า ได้นำหนังการ์ตูนชุดเข้ามาทยอยฉาย เช่น เจ้าหนูปรมาณู เจ้าหนูลมกรด หงอคงผจญภัย สายลับ 009 ตามด้วยหนังฮีโร่อย่าง อุลตร้าแมน หุ่นอภินิหาร 

ด้วยอรรถรสของเรื่องราวที่แปลกใหม่ ก็ทำให้ผู้ชมโดยเฉพาะเด็กๆ ติดกันงอมแงม

จากเดิมที่แผงหนังสือเคยมีการ์ตูนไทยครองตลาดผู้อ่านกลุ่มนี้ จึงเริ่มมีการ์ตูนญี่ปุ่นแปลไทยออกมาชน ใช้ชื่อไทยๆ เช่น การ์ตูนเด็ก ธิดา การ์ตูนทีวี พิริยะสาสน์ และได้รับความนิยมจนทำให้นักเขียนการ์ตูนไทยหลายคน นำตัวการ์ตูนญี่ปุ่นมาแต่งเป็นเรื่องราวแบบฉบับของตัวเอง 

สมัยนั้นวิบูลย์กิจยังเป็นโรงพิมพ์ที่รับพิมพ์งานทั่วไป และผลิตตัวหนังสือตะกั่วสำหรับงานเรียงพิมพ์ โดยมีเจ้าของคือ นวลจันทร์ พรพิบูลย์ กระทั่งพบกับจุดเปลี่ยน เมื่อมีเด็กนักเรียนมัธยมกลุ่มหนึ่งเสนอตัวขอจัดทำหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น จึงเกิดเป็นสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ ผลิตการ์ตูนเล่มแรกคือ ทีวีไลน์ ใน พ.ศ. 2518

ทีวีไลน์ เป็นนิตยสารรายเดือน เนื้อหาหลักคือการ์ตูนฮีโร่ เช่น อุลตร้าแมน ไอ้มดแดง กันดั้ม แต่ด้วยข้อจำกัดของเทคโนโลยีที่คัดลอกภาพโดยตรงจากหนังสือต้นฉบับไม่ได้ คนทำการ์ตูนยุคเก่าจึงใช้วิธีวางกระดาษไขแล้วเขียนลอกลายเส้นออกมา พร้อมกับแปลเป็นภาษาไทย แปะฉากหลังที่เรียกว่าสกรีนโทน โดยทุกคนจะมีอุปกรณ์คู่ใจ คือ ปากกาเขียนแบบ พู่กัน และคัตเตอร์  

วิบูลย์กิจ จากเด็กมัธยมลอกลายด้วยใจรัก สู่ สำนักพิมพ์ ที่กำเนิดมังงะลิขสิทธิ์เล่มแรกของไทย

“ถ้ามองมุมหนึ่งมันก็เหมือนการก็อปปี้นะ แต่ลายเส้นพู่กันเขาเนี้ยบมาก เส้นคมกริบ สวยงาม ตัวอักษรที่เป็นบทสนทนา เขาก็จะบรรจงเขียนด้วยมือ การที่จะทำผลงานให้มันสวยแบบนั้น มันต้องใช้ฝีมือ ผมมองว่า มันเป็นงานศิลปะชนิดหนึ่ง คนทำต้องฝึกฝนจริงๆ ถึงจะทำได้ละเอียดขนาดนี้”  

ตอนนั้นวรวุฒิ ยังเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาเทคโนโลยีการพิมพ์ การถ่ายภาพและการภาพยนตร์ ที่วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ เขาชอบการ์ตูนมาตั้งแต่เด็ก อ่านทั้งการ์ตูนไทยและญี่ปุ่น พอดีรู้จักกับรุ่นพี่ที่ ทีวีไลน์ จึงได้โอกาสเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในทีมงาน ทำทุกอย่าง ทั้งซื้อข้าวซื้อน้ำ ตลอดจนฝึกงานด้านบรรณาธิการ 

“เราขอเข้ามาทำอะไรก็ได้ เพื่อที่เราจะได้มีโอกาสใกล้ชิดกับสิ่งที่เราชอบก็คือการ์ตูน เราได้เห็นคนที่เขามีความสามารถมากๆ คนกลุ่มนั้นเขาทั้งแปล วาด ทำภาพสี ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันเป็นการทำงานภายใต้ความชอบ ไม่มีใครเรียนเรื่องนี้มาโดยตรง การแปลก็ศึกษาด้วยตัวเองจนแปลได้”

หลังจากความสำเร็จของ ทีวีไลน์ วิบูลย์กิจขยับไปทดลองทำหนังสือการ์ตูนรวมเล่ม เริ่มจาก คอบบร้า เห่าไฟสายฟ้า ก่อนจะมาถึง โดราเอมอน ซึ่งสมัยนั้นวิบูลย์กิจใช้ชื่อว่า ‘โดเรม่อน’ การ์ตูนเรื่องนี้โด่งดังเป็นพลุแตก แม้แต่ช่อง 9 ก็ยังนำชื่อ โดเรม่อน ไปใช้แทนชื่อที่ถูกต้อง

02 

MIX 

ในช่วง พ.ศ. 2527 กระแสการ์ตูนญี่ปุ่นเปลี่ยนแนวจากซูเปอร์ฮีโร่ หันมานิยมการ์ตูนแอคชัน วิบูลย์กิจจึงออกนิตยสารการ์ตูนเล่มใหม่อีกเล่มคือ The Zero โดยเปลี่ยนขนาดเป็นพ็อกเก็ตบุ๊ก และรวมการ์ตูนที่ได้รับความนิยม อย่าง ดราก้อนบอล โดราเอมอน ซิตี้ฮันเตอร์ หมัดเทพเจ้าดาวเหนือ ซึ่งเนื้อเรื่องจะเป็นเรื่องยาวต่อกัน ผูกเรื่องให้ต้องติดตาม ต่างกับการ์ตูนฮีโร่ที่จบในตอน

ต้นฉบับเหล่านี้ กองบรรณาธิการต้องไปสรรหาจากนิตยสารการ์ตูนญี่ปุ่น ตั้งแต่แผงหนังสือที่สนามหลวง จนถึงร้านหนังสือญี่ปุ่นในเมืองไทย ร้านที่นิยมคือ ไทยบุนโด ในย่านราชดำริ จากนั้นก็จะชำแหละหนังสือออกเป็นชิ้นส่วน เลือกเฉพาะการ์ตูนชื่อดังจากหลายเล่มหลายสำนักพิมพ์มารวมกัน 

แม้เทคโนโลยีการพิมพ์จะเปลี่ยนจากเลตเตอร์เพรส มาเป็นระบบออฟเซต ที่ใช้วิธีถ่ายภาพต้นฉบับลงบนแผ่นฟิล์มแม่พิมพ์ได้เลย แต่ก็ยังต้องอาศัยฝีมือและเทคนิกการตกแต่งภาพช่วยอย่างมาก

วิบูลย์กิจ จากเด็กมัธยมลอกลายด้วยใจรัก สู่ สำนักพิมพ์ ที่กำเนิดมังงะลิขสิทธิ์เล่มแรกของไทย
วิบูลย์กิจ จากเด็กมัธยมลอกลายด้วยใจรัก สู่ สำนักพิมพ์ ที่กำเนิดมังงะลิขสิทธิ์เล่มแรกของไทย

“มันจะถูกถ่ายออกมาจากแม็กกาซีนญี่ปุ่นที่อ่านจากขวามาซ้าย เราก็ต้องเอามากลับ แล้วเขาจะใช้กระดาษรีไซเคิลแบบหยาบๆ บางทีกระดาษสีเขียวบ้าง พิมพ์ตัวหนังสือสีม่วงๆ บ้าง เพราะฉะนั้นการก็อปปี้ไม่มีทางคมชัด ก็ต้องไปถ่ายเอกสารก่อนให้เป็นขาวดำ แล้วก็ต้องมาดราฟเส้น แต่งเส้น โดยทับลงบนเส้นที่เราถ่ายเอกสารมาให้คมชัดขึ้น”

กว่าจะได้การ์ตูนสักเรื่องจึงไม่ใช่งานง่าย เพราะต้องผสมผสานทั้งศาสตร์และศิลป์ รวมทั้งมีใจรักจริงถึงจะทำได้ดี แค่วิธีถ่ายเอกสารอย่างเดียว สำนักพิมพ์ต้องไปทดสอบเครื่องถ่ายรุ่นแล้วรุ่นเล่าจนพบเครื่องที่ให้ผลลัพธ์ดีที่สุด ต่างจากยุคปัจจุบันที่สแกนภาพเข้าไปในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้ทันที

อีกกระบวนการที่ต้องใช้ฝีมือ คือการลบตัวหนังสือซาวด์เอฟเฟกต์ภาษาญี่ปุ่นออก เช่น เปรี้ยง ตูม โครม เพื่อเขียนภาษาไทยทับลงไป ซึ่งต้องทำให้กลมกลืน เช่นเดียวกับบทสนทนาในบอลลูนคำพูด ฝ่ายกราฟิกจะลบตัวหนังสือญี่ปุ่น แล้วเขียนคำแปลลงบนแผ่นฟิล์มแม่พิมพ์เพื่อความรวดเร็ว ตรงนี้ต้องอาศัยเทคนิคและประสบการณ์อีกเช่นกัน

บ.ก.วุฒิ-วรวุฒิ วรวิทยานนท์ บรรณาธิการบริหารของ วิบูลย์กิจ พับลิชชิ่ง กรุ๊ป

“เราก็จะต้องเอาแป้งมาลง เพื่อลดไขมันบนมือกับความลื่น แล้วใช้ปากกาเขียนตัวหนังสือ มีหลายคนช่วยกัน ผมคือหนึ่งในนั้น แต่ลายมือจะคล้ายกันหมด เราต้องมานั่งตีเส้นบรรทัดบนกระดาษที่เป็นแผ่นรอง เอามาทาบแล้วเขียนลงไป ต้องใช้ศิลปะมาก เพราะคุณต้องวางองค์ประกอบและตัดคำให้มันพอดี ถึงจะสวย ถ้าเขียนผิดก็ต้องใช้ทิชชูชุบน้ำลบหรือขูดฟิล์ม แล้วก็เขียนใหม่” 

ด้วยความที่คัดเลือกมาเฉพาะการ์ตูนยอดฮิต ทำให้ The Zero โดดเด่นและเป็นที่ต้องการของผู้อ่านอย่างมาก จากยอดพิมพ์หมื่นต้นๆ ขยับขึ้นเป็นหลายหมื่นฉบับต่อสัปดาห์ ส่งผลให้ธุรกิจขายการ์ตูนเติบโตไปด้วย มีร้านการ์ตูนผุดขึ้นตามหน้าโรงเรียนและห้างสรรพสินค้าเต็มไปหมด ดังจะเห็นภาพเด็กๆ ไปมุงซื้อการ์ตูนกันจนชินตา ตามมาด้วยของเล่น ขนม ของสะสม เกม ที่เกี่ยวข้องออกมาขายกันถล่มทลาย 

“ต่างคนต่างก็ได้ประโยชน์จากตรงนั้น ถึงขนาดที่ว่า เวลาที่มีหนังสือออก เขาจะต้องมาแย่งคิวเพื่อให้ตัวเองได้ก่อน แล้วไปขายดักเลยที่หน้าโรงเรียน หนังสือจะต้องออกให้ทันก่อนโรงเรียนเลิก เด็กก็จะวิ่งมาซื้อ ดราก้อนบอล ตอนใหม่ออกมาหรือยัง อันนี้คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเรา มันได้รับความนิยมสูงมาก”

คู่แข่งที่ขับเคี่ยวกับ The Zero ในตอนนั้น คือนิตยสาร The Talent ของสำนักพิมพ์มิตรไมตรี สองฉบับนี้โดดเด่นขึ้นมาจากเจ้าอื่นๆ ในตลาด เพราะต่างหยิบ โดราเอมอน ได้ทั้งคู่ และมี ดราก้อนบอล เป็นตัวชูโรงเหมือนกัน เมื่อการแข่งขันรุนแรงขึ้น จุดที่เชือดเฉือนจึงวัดที่ความเร็ว ใครออกก่อนได้เปรียบ

“แต่ละคนจะมีวิธีการที่แตกต่างกัน ถึงขนาดต้องไปจ้างคนที่ต่างประเทศให้ส่งแฟ็กซ์กลับมา ที่ญี่ปุ่น นิตยสารการ์ตูนจะออกวันเดียวกันทั่วประเทศ ดังนั้นคืนก่อนหน้าจะมีนิตยสารมาส่งเตรียมไว้ที่ร้านแล้ว เราก็จะขอให้เพื่อนเราไปตีซี้กับร้านเพื่อเอาหนังสือมาก่อน แล้วชำแหละส่งแฟ็กซ์กลับมา ทางนี้ก็จะมีทีมงานนั่งรอหน้าเครื่องแฟ็กซ์เลย ออกมาปุ๊บแปล ทำสำเนาไปรีทัชภาพ ออกจำหน่าย เรียกว่าหนังสือญี่ปุ่นออกวันพฤหัสฯ บ่ายวันนั้นเราขายได้เลย เป็นปรากฏการณ์ที่คนไม่ได้อยู่ตรงนั้นจะไม่ได้เห็นว่า เราทำกันขนาดนี้เลย” บ.ก.วุฒิ เล่าแล้วหัวเราะ

วิบูลย์กิจ จากเด็กมัธยมลอกลายด้วยใจรัก สู่ สำนักพิมพ์ ที่กำเนิดมังงะลิขสิทธิ์เล่มแรกของไทย

หลายคนฟังแล้วอาจนึกว่า เวลานั้นวิบูลย์กิจขยายเป็นสำนักพิมพ์ใหญ่ มีคนทำงานหลักร้อย แต่ความจริงมีทีมงานอยู่เพียง 5 – 6 คน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา เวลาปิดเล่ม The Zero พวกเขาจะค้างกันที่ออฟฟิศ ตั้งโต๊ะทำงานติดเครื่องแฟ็กซ์ ข้างหลังคือที่นอน เตรียมพร้อมทำงานให้ได้เร็วที่สุด ทุกสัปดาห์วนเวียนอยู่อย่างนั้น แต่ทุกคนก็มีความสุขเมื่อย้อนนึกถึงช่วงการทำงานที่เข้มข้นในวันวาน

นอกจาก The Zero วิบูลย์กิจยังขยายไปทำนิตยสารการ์ตูนเล่มอื่นอีกกว่า 10 เล่ม ที่โดดเด่นเช่น GAMES นิตยสารที่รวบรวมการ์ตูนกีฬาหลากประเภท ทั้งฟุตบอล มวย เทนนิส มีเรื่องยอดฮิตคือ กัปตันซึบาสะ ก้าวแรกสู่สังเวียน ทัช-การ์ตูนเบสบอลของอาดาจิ มิตสึรุ และ กิฟท์ แม็กกาซีน ที่เจาะกลุ่มเด็กผู้หญิง นำขบวนโดย แคนดี้จอมแก่น การ์ตูนผู้หญิงตาโตระดับตำนาน ในเล่มยังมีการ์ตูนแนวความรัก แฟนตาซี สนุกสนาน อย่างเช่น  อสูรน้อยกระซิบรับ ตลอดจนเกร็ดความรู้และแถมของเล่นกระดาษ  

 บ.ก.วุฒิ รับผิดชอบหน้าที่บรรณาธิการ กิฟท์ แม็กกาซีน เต็มตัว แม้จะยังเรียนไม่จบ เรียกว่าวิบูลย์กิจมีทั้งนิตยสารการ์ตูน รายเดือน รายสัปดาห์อยู่หลายหัว

ทุกอย่างดูจะไปได้สวย แต่แล้วก็มีเหตุให้ต้องหยุดชะงักทั้งหมด เหมือนกับการ์ตูนที่กำลังเข้าสู่ไคลแมกซ์แล้วเปิดมาอีกหน้าพบกระดาษว่างเปล่า 

เพราะการเข้ามาของอุปสรรคครั้งใหญ่ที่ชื่อว่า 

‘กฎหมายลิขสิทธิ์’

03

Q.E.D. อย่างนี้ ต้องพิสูจน์

เวลานั้นกฎหมายลิขสิทธิ์ในเมืองไทยยังไม่เคร่งครัดนัก โดยเฉพาะกับการ์ตูนญี่ปุ่น สำนักพิมพ์ต่างๆ จึงแข่งขันกันโดยเสรี ไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ใดๆ กระทั่ง พ.ศ. 2535 มีบริษัทแห่งหนึ่งออกมาประกาศและส่งจดหมายเวียนแจ้งไปตามร้านขายการ์ตูนต่างๆ ว่า พวกเขาได้ลิขสิทธิ์ ดราก้อนบอล และการ์ตูนดังอีกหลายเรื่อง หากไม่หยุดจำหน่ายจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

ข่าวแพร่สะพัดไปถึงสำนักพิมพ์ต่างๆ รวมถึงวิบูลย์กิจ สร้างความปั่นป่วนให้กับทีมงานอย่างมาก เพราะแทบไม่ได้คิดเรื่องนี้ในหัวมาก่อนเลย   

“ช่วงนั้นเกิดวิกฤตระดับหนึ่ง ที่ผ่านมาไม่เคยเข้าใจหรือสนใจว่าลิขสิทธิ์คืออะไร เพราะเราไม่ได้ทำแค่เจ้าเดียว หลายเจ้าเขาก็ทำ เราก็คุยกัน พยายามหาข้อมูล สุดท้ายดูแล้วมันเป็นเรื่องของกฎหมาย เป็นเรื่องของสิ่งที่เป็นตราประทับ เราทำการ์ตูนกันมานาน ก็เลยคิดว่า ถ้าอย่างนั้นจำเป็นต้องทำเรื่องลิขสิทธิ์ให้ได้”

วิบูลย์กิจไม่เห็นด้วยกับการเจรจาผ่านคนกลาง จึงตัดสินใจเดินทางไปพูดคุยกับสำนักพิมพ์เจ้าของลิขสิทธิ์ที่ญี่ปุ่นโดยตรง บ.ก.วุฒิ จำได้ว่า ต้องตระเวนไปตามสำนักพิมพ์การ์ตูนชื่อดังต่างๆ แต่สิ่งที่ได้รับกลับมาคือเสียงต่อว่า 

“ไปนั่งให้เขาด่าก็มี คำว่าด่า คือตำหนิว่าการละเมิดลิขสิทธิ์ไม่ดี แต่เราก็เล่าให้ฟังว่า เราเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่มีใจอยากทำมาก แต่ประเทศเราเพิ่งรู้เรื่องพวกนี้ ที่มาก็เพื่ออยากคุยว่าควรทำยังไง บังเอิญโชคดีที่มีสำนักพิมพ์หนึ่งที่เข้าใจ เพราะเขาเติบโตมาจากคนที่ชอบการ์ตูนเหมือนกัน ก็เลยให้โอกาส งั้นคุณทำลิขสิทธิ์สิ แต่ที่ทำผ่านมาต้องหยุดทั้งหมด”

สำนักพิมพ์แห่งนั้นคือ อาคิตะ โชเต็น (Akita Shoten) เจ้าของลิขสิทธิ์การ์ตูนเรียก เขาว่าอีกา สิงห์นักปั่น โอตาคุน่องเหล็ก ฯลฯ ภายใต้เงื่อนไขใหม่ ทำให้วิบูลย์กิจตัดสินใจปิด The Zero และนิตยสารการ์ตูนญี่ปุ่นที่เคยสร้างรายได้ให้บริษัททุกเล่ม โดยหยุดการผลิต 1 เดือน เพื่อเริ่มต้นใหม่

หลังผ่านช่วงเวลาแห่งความวุ่นวาย วิบูลย์กิจกลับมาออกหนังสือการ์ตูนเล่มใหม่อีกครั้ง คือ จิ๋วพลังอึด ซึ่งต้องบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ว่า เป็นการ์ตูนลิขสิทธิ์เล่มแรกของเมืองไทย

จิ๋วพลังอึด ไม่ใช่การ์ตูนระดับแม่เหล็ก และแน่นอนว่า การ์ตูนเล่มเดียวคงไม่อาจเรียกความนิยมของผู้อ่านกลับคืนมาเหมือน The Zero แต่ไม่มีทางเลือกอื่น พวกเขาต้องยอมรับเพื่อพิสูจน์ความตั้งใจให้ทางญี่ปุ่นเห็น เพราะสิ่งที่หวังคือการได้ลิขสิทธิ์นิตยสารการ์ตูนอย่างถูกต้อง

จาก จิ๋วพลังอึด อาคิตะ โชเต็น ทยอยให้ลิขสิทธิ์การ์ตูนเรื่องอื่นๆ ตามมา เมื่อได้เห็นคุณภาพของหนังสือและความต่อเนื่องในการทำงาน ในที่สุดจึงยอมให้วิบูลย์กิจได้จัดทำนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ VIVA! FRIDAY  

“ถ้าออกแค่พ็อกเกตบุ๊กอย่างเดียว ตาย! เป็นไปไม่ได้ แต่การจะได้แม็กกาซีนมันยาก คุณจะต้องเป็นพาร์ตเนอร์ที่ดีจริงๆ เขาถึงจะให้ ความต่อเนื่องสำคัญมาก ถ้าตราบใดที่เรามีศักยภาพในการทำแม็กกาซีนที่มีความต่อเนื่อง หนึ่งคือมีตลาด สองเกิดความเชื่อมั่นว่าต้องทำต่อแน่นอน จะมาทำสองสามเล่มแล้วหยุดไม่ได้ เขาคงเห็นว่า เออ มันเอาจริงเว้ย พอเราได้ทำแม็กกาซีนของเจ้านี้ปุ๊บ เจ้าอื่นๆ ก็เลยตามมา”  

สำนักพิมพ์ที่ยอมให้ลิขสิทธิ์ต่อมาคือ โคดันฉะ (Kodansha) เจ้าของนิตยสาร Kodansha Comic Weekly หรือ KC.Weekly รายนี้ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของญี่ปุ่น และมีการ์ตูนชื่อดังอย่าง คินดะอิจิกับคดีฆาตกรรมปริศนา ทำให้สถานการณ์ของวิบูลย์กิจกลับมาหายใจคล่องอีกครั้ง 

หลังจากนั้น วิบูลย์กิจทยอยได้รับลิขสิทธิ์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ยุคหนึ่งมีนิตยสารการ์ตูนญี่ปุ่นมากที่สุดในประเทศไทย ออกทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ มีทั้งรายสัปดาห์ รายปักษ์ และรายเดือน เช่น KC.Weekly, NeoZ, VIVA! FRIDAY, KC.Trio, Young Friday, Mr. Monthly, RINA เป็นต้น

วิบูลย์กิจ จากเด็กมัธยมลอกลายด้วยใจรัก สู่ สำนักพิมพ์ ที่กำเนิดมังงะลิขสิทธิ์เล่มแรกของไทย

การได้ทำนิตยสารยังเป็นเงื่อนไขสำคัญ ที่ทำให้ได้รับสิทธิ์นำการ์ตูนในนิตยสารฉบับนั้นมาตีพิมพ์รวมเล่มก่อนสำนักพิมพ์อื่น 

คินดะอิจิกับคดีฆาตกรรมปริศนา, GTO คุณครูพันธุ์หายาก, Shoot คือส่วนหนึ่งของการ์ตูนเล่มจาก KC.Weekly ที่ทำให้วิบูลย์กิจกลับมายืนแถวหน้าในวงการอีกครั้ง อีกจุดเปลี่ยนสำคัญคือการได้ลิขสิทธิ์ ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน จากสำนักพิมพ์โชกะกุกัง การ์ตูนสืบสวนเล่มนี้สร้างปรากฏการณ์ในหมู่ผู้อ่านทุกเพศทุกวัย ยอดขายจึงเติบโตก้าวกระโดด และยังได้รับความนิยมมาถึงทุกวันนี้ 

วิบูลย์กิจ จากเด็กมัธยมลอกลายด้วยใจรัก สู่ สำนักพิมพ์ ที่กำเนิดมังงะลิขสิทธิ์เล่มแรกของไทย

04

การ์ตูน จากคนที่รักการ์ตูน

ถ้าถามว่า อะไรทำให้สำนักพิมพ์การ์ตูนแห่งหนึ่ง มีอายุยืนยาวมากว่า 40 ปี

บางทีคำตอบคงไม่ได้อยู่แค่ตัวเลขผลกำไร แต่มาจากแรงผลักดันข้างในของคนทำงาน ที่เป็นคนรักการ์ตูนจริงๆ   

“เราเป็นคนทำการ์ตูนที่ชอบการ์ตูน อ่านตั้งแต่แรกเริ่ม จนถึงวันนี้เราก็ยังหลงใหลอยู่ เราทำงานกับมัน คนทำงานทุกคนก็ทำงานด้วยความชอบการ์ตูน และทำอย่างเดียว ไม่ได้ทำอย่างอื่นเลย เพราะว่าเราถนัดเรื่องนี้ โฟกัสเรื่องนี้ แล้วทำมาตลอด 

“สิ่งแรกที่ตั้งใจมากคือ อยากให้ผู้อ่านได้อ่านเรื่องที่เราชอบ เราเห็นว่ามันสนุก ซึ่งเป็นความตั้งใจตั้งแต่ยุคแรกๆ เลย เราชอบการ์ตูนแบบนี้ ก็จะทำมันเพื่อให้คนอื่นได้อ่านด้วย”

ความรักการ์ตูน สะท้อนออกมาตั้งแต่การเลือกเรื่อง ที่มีทั้งแนว ‘ฮอตฮิต’ โด่งดังมาตั้งแต่ในญี่ปุ่น เพื่อให้ผู้อ่านชาวไทยมีโอกาสเสพอรรถรสเดียวกัน ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน ก็อยู่ในข่ายนี้ ทีมงานเห็นแล้วว่าพอตีพิมพ์ออกมาไม่เท่าไร ในญี่ปุ่นเริ่มมีการผลิตสินค้าเกี่ยวกับโคนันออกมาขาย จึงรีบติดต่อซื้อลิขสิทธิ์ทันที 

ผู้เขียนคนใดหรือการ์ตูนแนวไหนได้รับเสียงตอบรับที่ดี วิบูลย์กิจจะนำเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาแปลให้คนอ่านรู้จัก เช่น แฟนๆ ชอบเรื่อง ทัช ของอาดาจิ มิตสึรุ จึงนำ ไนน์, ราฟ, สโลว์สเตป ฯลฯ มาด้วย หรือการ์ตูนแนวสืบสวนอย่าง โคนัน คินดะอิจิ ไปได้ ก็ทดลองนำ Q.E.D. อย่างนี้ต้องพิสูจน์ มานำเสนอ  

วิบูลย์กิจ จากเด็กมัธยมลอกลายด้วยใจรัก สู่ สำนักพิมพ์ ที่กำเนิดมังงะลิขสิทธิ์เล่มแรกของไทย
วิบูลย์กิจ จากเด็กมัธยมลอกลายด้วยใจรัก สู่ สำนักพิมพ์ ที่กำเนิดมังงะลิขสิทธิ์เล่มแรกของไทย

อีกประเภทคือบรรณาธิการชอบ อาจด้วยอ่านสนุก เนื้อหาทรงคุณค่า เช่น การ์ตูนของเท็ตสึกะ โอซามุ ไม่ว่าจะเป็น เจ้าหนูปรมาณู แบล็กแจ็ค หรือ ฮิโนโทริ วิหกเพลิง การ์ตูนตลกแต่แฝงมุมคิดที่น่าสนใจ เช่น ผีซ่าส์กับฮานาดะ หรือการ์ตูนที่ให้กำลังใจต่อสู้ชีวิต เช่น ดร.โนงูจิ เป็นต้น  

ทีมบรรณาธิการของวิบูลย์กิจพยายามรักษาคุณภาพการผลิต ทั้งการแปล การพิมพ์ จัดทำรูปเล่มให้อยู่ในมาตรฐานที่น่าพอใจ เลือกสรรนักแปลที่เหมาะกับเรื่องแนวนั้น ช่วยตรวจสอบข้อมูล ดูภาพรวม ก่อนจะส่งให้เจ้าของลิขสิทธิ์ตรวจสอบอีกรอบหนึ่ง เมื่อได้รับอนุมัติถึงจะวางจำหน่ายได้ 

“การ์ตูนที่กลับซ้ายขวา เราต้องทำรหัสไว้ว่าแต่ละบอลลูนคืออะไร ไม่ให้หลง ไม่ให้พลาด ตัวหนังสือซาวนด์เอฟเฟกต์ ก็ต้องดีไซน์ให้สัมพันธ์กับภาพ บางทีต้องใช้อักษรศีลธรรมมาบัง ไอ้ส่วนที่เราดูแล้วมันโป๊ไปหน่อย เราก็จะโดนด่าประจำเรื่องพวกนี้ แต่มันผิดกฎหมาย ก็จะมีความยุ่งยากนิดหน่อย แต่พอทำไปเรื่อยๆ มันก็ชิน ยิ่งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทันสมัยขึ้น การทำงานก็ง่ายขึ้น 

“เราเชื่อว่ามันไม่มีความสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เราทำเต็มที่ที่สุด เท่าที่เรามีความสามารถ แล้วก็พัฒนามันอยู่เรื่อยๆ”

ด้วยความต่อเนื่องและรักษาคุณภาพในฐานะผลิตการ์ตูนอันดับต้นๆ ของเมืองไทย ทำให้วิบูลย์กิจได้ลิขสิทธิ์ของนักเขียนระดับปรมาจารย์อย่างเท็ตสึกะ โอซามุ (Tezuka Osamu) คุณูปการตรงนี้ส่งผลให้สำนักพิมพ์อื่นๆ ในญี่ปุ่นยอมรับและเกิดความเชื่อมั่น ไม่ว่าจะเดินเข้าไปที่ไหน ทุกคนต่างเปิดประตูต้อนรับ นับเป็นหมุดหมายที่สำคัญยิ่งของการทำงาน

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าเส้นทางทั้งหมดจะราบรื่น ระหว่างทางมีแบบทดสอบที่ต้องเผชิญอยู่ตลอด ตั้งแต่ปัญหาราคากระดาษแพง การสูญเสียรายได้จากร้านเช่าการ์ตูน สภาพเศรษฐกิจตกต่ำคนจึงซื้อน้อยลง ยิ่งเข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ต ทำให้เกิดการแปลการ์ตูนเถื่อน ผู้อ่านหันไปบริโภคสื่ออื่นมากขึ้น 

ส่งผลให้หลายครั้งสำนักพิมพ์ต้องตัดสินใจปรับเปลี่ยนบางอย่าง เพื่อรักษาธุรกิจให้เดินต่อไปได้ เช่น หยุดพิมพ์การ์ตูนเรื่องที่ไม่ทำกำไร หรือขึ้นราคาหนังสือ แม้รู้ดีว่าจะต้องพบกับเสียงบ่นจากแฟนการ์ตูน

“การพิมพ์ไม่จบ ทุกที่ก็มี ไม่ใช่แค่เรา ปัจจัยหนึ่งคือความไม่สำเร็จในการจำหน่าย ถึงระยะเวลาหนึ่งแล้วขายได้ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของค่าลิขสิทธิ์ที่ซื้อมา ทั้งเราและต่างประเทศก็มานั่งพิจารณาร่วมกัน เพราะถ้าฝืนจะไปไม่รอดทั้งเราและเขา เขาก็จะขายลิขสิทธิ์เรื่องอื่นไม่ได้ โอกาสที่จะทำเรื่องอื่นๆ ที่ดีก็ยาก จึงจำเป็นต้องตัดใจ สำนักพิมพ์อื่นเขาอาจเห็นโอกาสแล้วมารับช่วงต่อไปทำ เราก็ไปซื้อ เพราะเราก็เป็นคนอ่านเหมือนกัน

“ส่วนเรื่องราคา ปัจจัยหนึ่งมาจากกระดาษแพงขึ้น ราคาหนังสือก็ต้องขึ้นตาม ที่ผ่านมาเราขึ้นมากไม่ได้ เพราะถือว่ามันเป็นการ์ตูน ขายตั้งแต่สิบบาท สิบห้าบาท ขึ้นมาทีละห้าบาท ทุกวันนี้มาเก้าสิบแล้ว คนจะรู้สึกว่ามันแพง เพราะเมื่อก่อนซื้อสามสิบห้าเอง แต่มันคือเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เราเห็นความจริง พยายามเซฟต้นทุนมากที่สุด เพื่อจะผลิตเนื้อหาออกมาให้ได้ และเราอยู่ได้ด้วย คนในแวดวงสิ่งพิมพ์จะรู้ว่ากำไรแค่นิดเดียว ต้องอาศัยยอดขายมากๆ แต่ปัจจุบันยอดมันต่ำมาก ไม่รู้จะได้กำไรตรงไหนเลย”

วิบูลย์กิจ จากเด็กมัธยมลอกลายด้วยใจรัก สู่ สำนักพิมพ์ ที่กำเนิดมังงะลิขสิทธิ์เล่มแรกของไทย
วิบูลย์กิจ จากเด็กมัธยมลอกลายด้วยใจรัก สู่ สำนักพิมพ์ ที่กำเนิดมังงะลิขสิทธิ์เล่มแรกของไทย

การปรับตัวที่วิบูลย์กิจเริ่มมาเกือบ 10 ปี แล้ว คือผลิตการ์ตูนในรูปแบบ E-Book เพราะเล็งเห็นว่าความนิยมของผู้อ่านเปลี่ยนมาทางสื่อดิจิทัลมากขึ้น สำนักพิมพ์เองต้องเปลี่ยนความคิด จากเดิมที่มีแค่สื่อกระดาษ ควรมองตนเองเป็นผู้ผลิตเนื้อหาไปทางสื่อไหนก็ได้ บ.ก.วุฒิ จึงคุยกับเจ้าของลิขสิทธิ์ที่ญี่ปุ่นและทดลองทำเป็นรายแรกๆ ในเมืองไทย ทว่ายุคนั้นระบบการจ่ายเงินออนไลน์ค่อนข้างยุ่งยาก ผู้บริโภคเองก็ไม่นิยม ทำให้ก้าวไปได้ช้า 

แต่เมื่อพัฒนาต่อเนื่องทำให้ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันสามารถซื้อและอ่านได้ทางแอปพลิเคชัน Vibulkij ข้อดีคือการ์ตูนส่วนใหญ่ราคาถูกกว่ารูปเล่มกระดาษ และไม่เปลืองพื้นที่จัดเก็บ โดยผู้อ่านแต่ละคนจะมีชั้นหนังสือในแอปพลิเคชันเป็นของตนเอง อยากอ่านเมื่อไรก็เข้ามาได้  

วิธีคิดในการทำการ์ตูนเปลี่ยนไปเช่นกัน ตอนแรกเน้นให้ออกรวดเร็วเท่าทันญี่ปุ่น เพื่อต่อสู้กับพวกแปลเถื่อนในอินเทอร์เน็ต แต่พอทำไปสักระยะพบว่ายอดขายไม่กระเตื้อง จึงลองนำการ์ตูนเก่าๆ ที่มีอยู่แล้วกลับมาทำใหม่ในรูปแบบดิจิทัล เริ่มจาก คินดะอิจิ กับคดีฆาตกรรมปริศนา

ปรากฏว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ คนซื้อเยอะเกินคาด ทำให้ บ.ก.วุฒิ พบความจริงว่า ลูกค้าคือคนอ่านการ์ตูนกลุ่มเดิมที่เติบโตขึ้น ทำงานแล้ว มีความพร้อมในการซื้อ จึงกลับมาซื้อการ์ตูนที่เขาเคยชอบและประทับใจ ซึ่งวันนี้อาจหาซื้อแบบกระดาษไม่ได้อีกแล้ว แถมยังอ่านได้สะดวกจากสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต โดยไม่ต้องไปโหลดบิตหรือหาลิงก์เถื่อนที่ยุ่งยากและไม่ปลอดภัย 

ด้วยเหตุนี้ทำให้สำนักพิมพ์ทยอยนำการ์ตูนคลาสสิกกลับมาทำใหม่อีกครั้ง เช่น ผีซ่าส์กับฮานาดะ, ดร.โนงูจิ ด้วยใจนักสู้ หรือ Shoot ซึ่งได้เสียงตอบรับจากผู้อ่านอย่างอบอุ่น ส่วนการ์ตูนใหม่ๆ ก็ยังไม่ได้ทิ้ง แต่รวบรวมอยู่ในนิตยสารการ์ตูนออนไลน์ KC. DiGimag ออกประจำทุกวันจันทร์-พุธ-ศุกร์ ซึ่งทุกคนสามารถดาวน์โหลดมาอ่านได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 

05

ความรักการ์ตูน ไม่มีวันตาย

ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปอย่างไร ความตั้งใจที่ไม่เคยเปลี่ยนของ บ.ก.วุฒิ และทีมงาน คืออยากให้ผู้อ่านได้รับความสนุก และคุณค่าที่แฝงไว้ในการ์ตูนต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นอย่างครบถ้วน

“ผมว่างานของญี่ปุ่นเหมือนเป็นวรรณกรรมที่เป็นการ์ตูน มีทั้งปรัชญา ความลึกของมิติตัวละครนั้นๆ ไม่ได้เน้นความบันเทิงหรือแอคชันอย่างเดียว ในปัจจุบันนี้ยิ่งเยอะเข้าไปใหญ่ แล้วนักเขียนคนหนึ่งมีทีมงานเยอะมาก ทั้งในส่วนกองบรรณาธิการและทีมงานของตัวผู้เขียนเอง เพื่อค้นคว้าข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ทำให้แต่ละเรื่องมันน่าอัศจรรย์ 

“ยกตัวอย่างเรื่อง Dr.K เราจะเห็นว่า คุณต้องมีข้อมูลแพทย์จริงๆ แล้วภาพที่วาดออกมาก็ใช่ หัวใจเป็นหัวใจ เส้นเลือดมาหมด เขาเอาสิ่งเหล่านั้นมาผูกโยงกับเนื้อหา และกลายเป็นเรื่องราวได้อย่างน่าสนใจ หรือเรื่องอันโดนัทสึ ขนมหวานละลายใจ แค่การทำขนมอย่างเดียว เขาเจาะลึกไปถึงที่มาที่ไป วัตถุดิบ แล้วก็โยงไปถึงความเป็นดราม่าของเนื้อหา มันทำให้เราอินได้มากๆ ”

ตลอดหลายสิบปี วิบูลย์กิจมีผู้อ่านกลุ่มหนึ่งที่เป็นแฟนประจำอย่างเหนียวแน่น แวะมาพูดคุยถึงสำนักงาน ซื้อขนมมาฝาก หรือรวมตัวไปงานกิจกรรมต่างๆ ที่สำนักพิมพ์จัดขึ้น เป็นกำลังใจให้คนทำงาน หลายคนทำให้ บ.ก.วุฒิ พบว่าผลงานของพวกเขามีอิทธิพลและสร้างแรงบันดาลใจมากกว่าที่คิด

นักอ่านหญิงสาวคนหนึ่งชอบการ์ตูน Super Dr.K และ K2 มาก ทำให้อยากเรียนแพทย์ และในที่สุดก็ทำได้สำเร็จ เธอยังชอบวาดการ์ตูนและเคยนำต้นฉบับมาให้ บ.ก.วุฒิ ช่วยแนะนำ จนตอนหลังมีผลงานการ์ตูนของตนเอง

ผู้อ่านอีกคน ชอบอ่านการ์ตูนแล้วยังชอบเล่นเกม จึงไปเรียนโปรแกรมเมอร์เพื่อจะสร้างเกม เมื่อได้พูดคุยเห็นความตั้งใจ บ.ก.วุฒิ จึงช่วยผลักดัน แนะนำในหนังสือ จนภายหลังเขาได้ไปทำงานเบื้องหลังให้ PlayStation และ Nintendo 

นอกจากทั้งคู่ ยังมีผู้อ่านอีกหลายคนที่เล่าให้ฟังว่า เติบโตมากับการ์ตูนญี่ปุ่น และนำสิ่งที่ได้อ่านมาใช้ในการเรียน การทำงาน และชีวิตส่วนตัว

ในฐานะแฟนการ์ตูนคนหนึ่ง และคลุกคลีอยู่ในวงการมาเกือบ 40 ปี บ.ก.วุฒิ มีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า ‘ความชอบการ์ตูน จะติดตัวไปจนวันตาย’

“เวลาเจอใคร ผมจะถามว่า ทุกวันนี้อ่านการ์ตูนกันอยู่หรือเปล่า ผมเชื่อว่าเขาไม่ได้อ่านแล้ว เพราะด้วยปัจจัยการใช้ชีวิต การทำงาน การบริโภค ชีวิตครอบครัว ทำให้ต้องลดราจากการ์ตูนไป แต่ผมเชื่อว่าเขายังชอบอยู่ สนใจมันอยู่ ตัวผมเองก็เป็นอย่างนั้น ทุกวันนี้ก็ยังอ่านอยู่ แต่ไม่มากเหมือนเมื่อก่อน เพราะมีอย่างอื่นให้เราต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ความอยากอ่านการ์ตูน ไม่เคยหายไปจากเรา ความเป็นเด็กในตัวคุณยังอยู่ แต่คุณแค่ลืมมันไป

“ทุกวันนี้รูปแบบการ์ตูนเปลี่ยนไป มันเข้ามาใกล้มากขึ้น คุณหาได้ง่ายๆ บนมือถือ ความสนุกสนาน ความลึก มิติ ความเข้มข้นก็ยังเหมือนเดิม คุณย้อนกลับไปบริโภคได้ เข้าถึงได้ง่ายกว่าเดิม เรื่องที่คุณชอบในอดีต ถึงแม้มาอ่านปัจจุบัน เฮ้ย! มันยังสนุกอยู่”  

ถ้าอยากรู้ว่า สิ่งที่ บ.ก.วุฒิ พูดนั้นเป็นความจริงหรือไม่ ลองกลับไปอ่านการ์ตูนอีกครั้งดูสิ 


ข้อมูลประกอบการเรียบเรียง

  • สัมภาษณ์คุณวรวุฒิ วรวิทยานนท์ วันที่ 22 กันยายน 2563
  • หนังสือ 140 ปี “การ์ตูน” เมืองไทย โดย ไพศาล ธีรพงศ์วิษณุพร
  • หนังสือ good old day2 วันดีคืนดี โดย สืบสกุล แสงสุวรรณ
  • วิทยานิพนธ์ การอ่านหนังสือการ์ตูนที่แปลจากภาษาญี่ปุ่นของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา โดย พรทิพย์ เอื้ออภัยกุล คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Writer & Photographer

Avatar

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา

เพจเล่าเรื่องที่เชื่อว่าคนธรรมดาทุกคนต่างมีความเป็นยอดมนุษย์อยู่ในตัว