และแล้วก็มาถึงตอนสุดท้ายแล้วครับ ผมได้แนะนำให้ผู้อ่านทุกท่านได้รู้จักกับทศชาติชาดกมาแล้ว 9 ตอน เต ช สุ เน ม ภู จ นา วิ และแล้วก็ถึงคิวของชาดกที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดและมีความสำคัญมากที่สุดในบรรดาทศชาติชาดกทั้ง 10 ตอน นั่นก็คือ ‘เว’ ซึ่งย่อมาจาก เวสสันดรชาดกหรือมหาชาติ นั่นเองครับ

สาเหตุที่เวสสันดกชาดกถูกยกให้เป็นมหาชาตินั้น ก็เนื่องจากชาดกเรื่องนี้ถือเป็นพระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ก่อนจะได้เป็นพระพุทธเจ้า อีกทั้งยังเป็นพระชาติที่ทรงทำเพ็ญบารมีครบทั้ง 10 ประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ทานบารมี’ ที่ทรงบริจาคทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกอย่างในที่นี้คือทุกอย่างจริงๆ นะครับ แม้แต่ภรรยาและบุตรของตนเองก็บริจาค ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ทำได้ยากและเป็นการเสียสละที่ยิ่งใหญ่ที่สุด 

การเทศนาเรื่องพระเวสสันดรชาดกหรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘เทศน์มหาชาติ’ นั้น มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นอย่างน้อยเพราะปรากฏหลักฐานอยู่ในจารึกหลักที่ 3 หรือจารึกนครชุม ซึ่งจารึกขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1900 ในรัชกาลของพระมหาธรรมราชาที่ 1 หรือพญาลิไท ความว่า

“…ธรรมเทศนาอันเป็นต้นว่า พระมหาชาติหาคนสวดแลมิได้เลย…” 

การเทศน์มหาชาตินี้ก็ยังคงมีสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทยจัดขึ้นในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ภาคกลางนิยมจัดขึ้นหลังออกพรรษา พ้นหน้ากฐินแล้ว ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือนิยมทำกันในเดือน 4 เรียกว่า ‘งานบุญผะเหวด’ ในขณะที่ภาคเหนือจัดขึ้นในเดือนยี่เป็งหรือวันเพ็ญเดือน 12 เรียกว่า ‘การตั้งธรรมหลวง’ ส่วนภาคใต้จัดขึ้นในช่วงเวลาที่แต่ละท้องถิ่นเห็นสมควร และเรียกว่า ‘เทศน์มหาชาติ’ แบบเดียวกับในภาคกลาง

และไม่ใช่เพียงแต่งานเทศน์หรืองานวรรณกรรมเท่านั้น เวสสันดรชาดกยังถูกบันทึกอยู่ในรูปของภาพเล่าเรื่องบนฝาผนังวัด บ้างเป็นงานจิตรกรรมฝาผนัง บ้างเป็นงานปูนปั้น บ้างเป็นจิตรกรรมในกรอบรูป รวมถึงแบบที่เป็นงานแกะสลักไม้ก็มีเหมือนกัน โดยวิธีการเขียนนั้นอาจแทรกอยู่ร่วมกับทศชาติชาดกเรื่องอื่น หรืออยู่ยึดพื้นที่ผนังเล่าเรื่องทั้งอาคารไว้แต่เพียงผู้เดียวก็ได้ แม้จะผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนาน แต่ฉากสำคัญหรือฉากที่ได้รับความนิยมในการนำมาเล่าเรื่องราวในทั้ง 13 กัณฑ์ของเวสสันดรชาดกนี้กลับแทบไม่ต่างจากเมื่อร้อยปีก่อนเลย ซึ่งจะเหมือนกันขนาดไหน ไปชมกันครับ

กัณฑ์ทศพรถือเป็นกัณฑ์แรกและเป็นปฐมเหตุของเรื่องนี้ เป็นกัณฑ์ที่ว่าด้วยการที่พระอินทร์ประทานพร 10 ประการให้กับนางผุสดี ก่อนจะลงไปจุติเป็นมารดาของพระเวสสันดรชาดก ซึ่งพรแต่ละข้อผม เชื่อว่าเป็นพรที่สาวๆ ทุกคนอยากจะได้แน่ๆ ไม่ว่าจะขอให้หน้าอกไม่หย่อนยาน ขอให้ผิวงาม หรือขอให้ท้องยังแบนราบแม้จะตั้งครรภ์อยู่ แต่พรข้อสำคัญที่นางผุสดีขอกับพระอินทร์ก็คือ “ขอให้มีโอรสเป็นผู้รักในการบริจาคทานยิ่งกว่าชีวิต” โดยกัณฑ์นี้ช่างมักจะเขียนเป็นภาพพระอินทร์ เทพเจ้าแห่งสายฟ้าผู้มีกายสีเขียวกำลังให้พรแก่นางผุสดี โดยมีแบกกราวด์หลากหลายแล้วแต่ยุคสมัย

เกร็ดอะไรที่ซ่อนในภาพฝาผนัง 13 กัณฑ์ของ เวสสันดรชาดก ชาดกสำคัญที่สุดในชาดกทั้ง 10
วัดวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง

กัณฑ์ที่ 2 คือกัณฑ์หิมพานต์ เป็นกัณฑ์ที่เป็นมูลเหตุในการออกไปอยู่ป่าของพระเวสสันดร เพราะพระองค์ได้หลั่งน้ำประทานช้างปัจจัยนาเคนทร์ ช้างที่มีความสามารถพิเศษในการบันดาลให้ฝนตกให้แก่พราหมณ์ 8 คนจากเมืองกลิงคราษฎร์ที่กำลังประสบปัญหาฝนแล้ง ซึ่งการประทานช้างวิเศษให้แก่เมืองอื่นสร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวเมืองเป็นอย่างมากและส่งผลให้พระเวสสันดรต้องถูกเนรเทศออกจากเมือง โดยมีนางมัทรี พระกัณหา และพระชาลี ติดตามไปด้วย 

ฉากสำคัญของกัณฑ์นี้ย่อมเป็นฉากที่พระเวสสันดรบริจาคช้างให้แก่พราหมณ์ทั้ง 8 โดยพระเวสสันดรจะอยู่บนช้างก็ได้ หรือจะลงมายืนบนพื้นก็ได้ แต่บางวัดก็จะเขียนเป็นฉากที่พราหมณ์ทั้ง 8 ขี่ช้างปัจจัยนาเคนทร์ออกจากเมือง ย้ำ 8 คน เรียกได้ว่าแน่นหลังช้างสุดๆ โดยจะมีชาวเมืองมาขัดขวาง แต่คนยืนหรือจะสู้ช้างเดิน ยังไงก็ขวางไม่ไหวหรอกครับ

เกร็ดอะไรที่ซ่อนในภาพฝาผนัง 13 กัณฑ์ของ เวสสันดรชาดก ชาดกสำคัญที่สุดในชาดกทั้ง 10
วัดยางทวงวราราม จังหวัดมหาสารคาม

กัณฑ์ที่ 3 คือทานกัณฑ์ เป็นกัณฑ์ที่พระเวสสันดรได้ถวายทานแบบดับเบิ้ล เพราะเมื่อพระเวสสันดรเสด็จออกจากเมือง ทรงประทับบนราชรถที่เทียมด้วยม้า ระหว่างทางมีคนมาขอม้า พระองค์ก็ประทานให้ มีคนมาขอราชรถ พระองค์ก็ประทานให้อีก จนพระองค์และนางมัทรีต้องอุ้มพระชาลีพระกัณหาขึ้นบ่าแทน (ซึ่งฉากนี้ได้กลายเป็นที่มาของเพลงแหล่ 4 กษัตริย์เดินดง นั่นเอง ลองไปหาฟังกันดูนะครับ) สำหรับกัณฑ์นี้ ช่างมักจะวาดภาพเป็นแอนิเมชันต่อเนื่อง โดยเริ่มจากพระเวสสันดรหลั่งน้ำประทานราชรถหรือม้าให้กับคนที่มาขอที่มาขอ แล้วต่อด้วยฉาก 4 กษัตริย์เดินดงครับ

เกร็ดอะไรที่ซ่อนในภาพฝาผนัง 13 กัณฑ์ของ เวสสันดรชาดก ชาดกสำคัญที่สุดในชาดกทั้ง 10
วัดอุดมประชาราษฎร์ จังหวัดกาฬสินธุ์

กัณฑ์ที่ 4 คือกัณฑ์วนประเทศน์ เป็นเฟสที่เล่าถึงการเดินทางช่วงสุดท้ายไปยังป่าวงกต โดยเริ่มจากการเสด็จไปยังเมืองเจตราษฎร์ ซึ่งกษัตริย์เมืองเจตราษฎร์จะยกราชสมบัติให้แต่พระองค์ปฏิเสธเพราะโดนเนรเทศจากเมืองมา แถมยังเป็นเชื้อสายกษัตริย์แห่งเมืองสีพี จะให้ไปครองเมืองอื่นคงไม่ได้ กษัตริย์เมืองเจตราษฎร์จึงให้พรานเจตบุตรทำหน้าที่เป็นคนเฝ้าทางเข้าป่าแทน โดยเมื่อทั้ง 4 พระองค์เดินทางไปถึงป่าแล้ว พระอินทร์ได้ให้เทวดามาเนรมิตศาลาไว้รองรับ ซึ่งถ้าดูจากเนื้อหาที่เล่าให้ฟัง ฉากที่จะต้องปรากฏในจิตรกรรมฝาผนังน่าจะต้องเป็นฉากที่กษัตริย์เมืองเจตราษฎร์มาเข้าเฝ้าพระเวสสันดร หรือฉากที่พระเวสสันดรและคณะเดินทางไปถึงศาลาในป่าวงกต ซึ่งก็มีจริงๆ แต่ในจิตรกรรมสมัยหลังนิยมเขียนฉาก 4 กษัตริย์เดินดงแทนกัณฑ์นี้มากกว่า ดังนั้นถ้าใครไปตามวัดเจอฉากนี้แล้วเขียนว่า ‘กัณฑ์วนประเวศน์’ ก็อย่าแปลกใจนะครับ

เกร็ดอะไรที่ซ่อนในภาพฝาผนัง 13 กัณฑ์ของ เวสสันดรชาดก ชาดกสำคัญที่สุดในชาดกทั้ง 10
วัดบวกครกหลวง จังหวัดเชียงใหม่

กัณฑ์ที่ 5 คือกัณฑ์ชูชก เป็นการเล่าถึงตัวละครที่จะกลายเป็นตัวแปรสำคัญของชาดกเรื่องนี้อย่างชูชก พราหมณ์ที่มีรูปร่างที่น่าจะเรียกได้ว่ารวมความน่าเกลียดเอาไว้ในหนึ่งเดียว (ใครสนใจลองไปหาอ่านนะครับ ผมบรรยายให้ฟังไม่ได้จริงๆ) ชูชกมีอาชีพเป็นขอทาน แต่มีความสามารถในการขอทานระดับสุดยอดจนมีเงินเยอะเลยเอาไปฝากเพื่อน แต่เพื่อนดันเอาเงินของชูชกไปใช้จนเกลี้ยง พอชูชกมาทวง เพื่อนก็เลยยกลูกสาวแสนสวยนามอมิตดาให้แทน ซึ่งนางอมิตดาเป็นภรรยาที่สมบูรณ์แบบ ดูแลชูชกอย่างดีจนเพื่อนพราหมณ์อิจฉาเลยไปพาลใส่ภรรยาตัวเอง บรรดานางพราหมณีก็เลยมาต่อว่านางอมิตดาตัวต้นเรื่องจนนางเสียใจ เลยขอให้ชูชกไปขอพระกัณหาและพระชาลีมาเป็นทาสรับใช้ ซึ่งแน่นอนว่าชูชกปฏิเสธไม่ได้เลยจำใจต้องไป พอช่างโบราณจะเล่าฉากนี้ ฉากสำคัญควรเป็นฉากที่ชูชกได้นางอมิตดามาใช่ไหมครับ แต่ว่าซีนใหญ่ที่นิยมมากกว่าสำหรับฉากนี้ คือฉากที่พราหมณ์ไล่ตีไล่ทุบภรรยาตัวเอง ไม่ก็ฉากที่นางอมิตดาโดยรุมด่าซะอย่างนั้นเลยครับ

เกร็ดอะไรที่ซ่อนในภาพฝาผนัง 13 กัณฑ์ของ เวสสันดรชาดก ชาดกสำคัญที่สุดในชาดกทั้ง 10
วัดใหญ่อินทาราม จังหวัดชลบุรี

กัณฑ์ที่ 6 อย่างกัณฑ์จุลพน เป็นกัณฑ์ที่ว่าด้วยการเดินทางครึ่งแรกของชูชกเพื่อไปหาพระเวสสันดร ซึ่งถ้าคุณคิดว่าชูชกเป็นยอดนักเดินทาง คุณคิดผิดครับ ชูชกไม่ได้รู้ทางขนาดนั้น แต่ชูชกมีตัวช่วยที่มาโดยไม่ทันตั้งใจ นั่นก็คือพรานเจตบุตร นั่นเอง แถมตัวช่วยยังมาพร้อมบรรยากาศไม่เป็นมิตรด้วย เพราะเจอกันปุ๊บ ชูชกโดนหมาของพรานเจตบุตรไล่จนต้องขึ้นไปหลบบนต้นไม้ แถมเกือบจะโดนยิงดับดิ้นสิ้นชีวี เดชะบุญ สกิลล์นักพูดระดับเทพของชูชกทำงาน หลอกพรานบุญว่าตัวเองเป็นคนของพระเจ้าสัญชัย จะมาพาพระเวสสันดรกลับเมือง พรานเจตบุตรก็หลงเชื่อ จึงชวนกันไปกินข้าวที่บ้านแถมยังบอกทางไปให้ชูชกอีกต่างหาก ดังนั้น เมื่อจะเขียนจิตรกรรมตอนนี้ ก็ต้องเขียนฉากที่ชูชกโดนหมาไล่ขึ้นต้นไม้แน่นอนครับ

เกร็ดอะไรที่ซ่อนในภาพฝาผนัง 13 กัณฑ์ของ เวสสันดรชาดก ชาดกสำคัญที่สุดในชาดกทั้ง 10
วัดช่องนนทรี กรุงเทพมหานคร

จากกัณฑ์จุลพน ก็ต้องต่อด้วยกัณฑ์ที่ 7 อย่างกัณฑ์มหาพนครับ นี่ถือเป็นภาคต่อของกัณฑ์จุลพน เพราะเป็นกัณฑ์ที่สกิลล์นักพูดของชูชกทำงานอีกครั้งเพื่อหลอกคนให้หลงเชื่อ โดยเหยื่อในครั้งนี้คืออัจจุตฤๅษีครับ แต่รอบนี้ชูชกไม่ได้โดนไล่ขึ้นต้นไม้แล้วนะครับ ทว่าสิ่งที่เหมือนกันก็คือ ฤๅษีโดนชูชกหลอกถามทางครับ รอบแรกหลอกว่าเป็นคนของพระเจ้าสัญชัย รอบนี้หลอกว่าอยากสนทนาธรรมกับพระเวสสันดร และฤๅษีก็โดนหลอกเข้าอย่างจัง บอกทางชูชกจนในที่สุด ชูชกก็หาทางไปหาพระเวสสันดรจนได้ และฉากนี้ก็มักจะแสดงด้วยภาพอัจจุตฤๅษีกำลังชี้บอกทางให้กับชูชก โดยฉากหลังอาจจะเป็นป่า ริมน้ำ หรือในศาลาก็ได้ครับ

เกร็ดอะไรที่ซ่อนในภาพฝาผนัง 13 กัณฑ์ของ เวสสันดรชาดก ชาดกสำคัญที่สุดในชาดกทั้ง 10
ภาพในกรอบฝีมืออาจารย์เหม เวชกร

เข้าสู่ครึ่งหลังของเนื้อเรื่องกับกัณฑ์ที่ 8 นามว่ากัณฑ์กุมาร ดูจากชื่อก็รู้เลยว่า ตัวเอกของกัณฑ์นี้ก็คือพระกัณหาและพระชาลีแน่นอน โดยกัณฑ์นี้เริ่มด้วยการที่ชูชกเซอร์เวย์ที่พักของพระเวสสันดรก่อน แล้วก็เฝ้ารอจนนางมัทรีออกไปหาผลไม้ในป่าจึงเดินเข้าไปขอสองกุมารกับพระเวสสันดร เพราะถ้าแม่อยู่ แม่ไม่มีทางยกลูกให้คนอื่นง่ายๆ แน่ๆ เรียกว่าชูชกแผนสูงใช้ได้ พอได้จังหวะเหมาะก็เข้าไปขอสองกุมาร ซึ่งก็แน่นอนว่าพระเวสสันดรยกให้ พอรู้ว่าจะต้องไปอยู่กับชูชก ทั้งพระกัณหาและพระชาลีต่างก็หนีไปหลบอยู่ในสระบัว จนพระเวสสันดรต้องตามไปเกลี้ยกล่อม พรรณนาคุณของทานบารมีจนสองกุมารใจอ่อน โดยพระชาลีขึ้นมาก่อน พระกัณหาจึงค่อยตามมา จากนั้นพระเวสสันดรจึงประทานสองกุมารแก่ชูชก ชูชกจึงข่มโดยการทุบตีทั้งสองจนหนีกลับมาหาพระเวสสันดร จนผู้เป็นพ่อต้องเกลี้ยกล่อมรอบที่สองให้สองกุมารให้ยอมตามชูชกไป ซึ่งฉากนี้ช่างนิยมวาดซีนที่พระเวสสันดรเกลี้ยกล่อมสองกุมารให้ขึ้นจากสระบัว โดยเลือกตอนที่พระชาลีขึ้นมากราบพระบาทบิดา แต่ก็มีบ้างที่ช่างวาดฉากยกสองกุมารให้ชูชก หรือฉากที่ชูชกเอาเชือกผูกข้อมือสองกุมารแล้วลากไปก็มีบ้างเหมือนกันครับ

เกร็ดอะไรที่ซ่อนในภาพฝาผนัง 13 กัณฑ์ของ เวสสันดรชาดก ชาดกสำคัญที่สุดในชาดกทั้ง 10
วัดคูเต่า จังหวัดสงขลา

ผมเชื่อว่ากัณฑ์ที่ 9 น่าจะเป็นกัณฑ์ที่ทุกคนรู้จักกันมากที่สุด เพราะเคยอยู่ในบทเรียนวิชาภาษาไทยสมัยเด็กๆ (ไมแน่ใจว่าเดี๋ยวนี้ยังมีรึเปล่า) นั่นก็คือกัณฑ์มัทรี นั่นเอง ซึ่งเป็นกัณฑ์ที่เล่าเหตุการณ์ระหว่างที่นางมัทรีหาผลไม้เสร็จ กำลังจะกลับไปหาพระเวสสันดร เหล่าเทวดากลัวว่านางมัทรีจะไปขัดขวางการประทานสองกุมารให้ชูชก จึงแปลงกายเป็นราชสีห์ เสือโคร่ง และเสือเหลือง ไปขวางทาง จนเมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้วจึงเปิดทาง พอกลับไปถึงนางมัทรีไม่เจอพระกัณหา พระชาลี ก็ออกตามหาจนสลบไป พระเวสสันดรต้องปลุกขึ้นมาและอธิบายเหตุผลจนนางมัทรีเข้าใจ และก็แน่นอนครับผมว่า ช่างเขียนย่อมจะวาดฉากที่นางมัทรีโดนราชสีห์ (ที่หน้าตาเหมือนตัวบนขวดเบียร์สิงห์ ยกเว้นของวัดราชาธิวาสที่เป็นสิงโตจริงๆ) เสือโคร่ง และเสือเหลืองขวางทางไว้ ถือเป็นฉากที่ติดตามากอีกฉากหนึ่งของพระเวสสันดรชาดกเลยก็ว่าได้

เกร็ดอะไรที่ซ่อนในภาพฝาผนัง 13 กัณฑ์ของ เวสสันดรชาดก ชาดกสำคัญที่สุดในชาดกทั้ง 10
วัดราชาธิวาส กรุงเทพมหานคร

เขาสู่เลขสองหลักแล้วสำหรับกัณฑ์สักกบรรพ ซึ่งเป็นกัณฑ์ที่ 10 เป็นกัณฑ์ที่ว่าด้วยท้าวสักกะหรือพระอินทร์ตามชื่อกัณฑ์เลยครับ เป็นกัณฑ์ที่เกิดจากความกังวลของพระอินทร์ว่า ขืนปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป พระเวสสันดรจะต้องยกนางมัทรีให้คนอื่นแน่นอน แล้วพระเวสสันดรก็จะต้องอยู่คนเดียว ดังนั้น พระอินทร์จึงแปลงกายมาเป็นพราหมณ์มาทูลขอนางมัทรี ซึ่งพระเวสสันดรก็ยกให้ตามคาด พอยกให้ปุ๊บ พระอินทร์ถวายคืนให้ พร้อมกับมอบพร้อมกับประทานพรให้พระเวสสันดร 8 ข้อ และฉากที่มักจะพบเป็นประจำ ก็คือฉากที่พระอินทร์ขอนางมัทรีจากพระเวสสันดร ซึ่งบางวัดถึงกับวาดเป็นพราหมณ์ตัวเขียวเพื่อบอกให้คนดูรู้ว่านี่คือพระอินทร์นะ ไม่ใช่พราหมณ์ธรรมดา

เกร็ดอะไรที่ซ่อนในภาพฝาผนัง 13 กัณฑ์ของ เวสสันดรชาดก ชาดกสำคัญที่สุดในชาดกทั้ง 10
วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม จังหวัดลำปาง

กัณฑ์ที่ 11 คือกัณฑ์มหาราช กัณฑ์นี้แบ่งฉากใหญ่ออกเป็น 2 ฉาก ฉากแรกคือฉากในป่า ซึ่งเป็นฉากระหว่างการเดินทาง พอถึงกลางคืน ชูชกก็ผูกเปลขึ้นไปนอนบนต้นไม้ ทิ้งสองกุมารให้อยู่บนพื้น จนเทวดาต้องแปลงตัวเป็นพระเวสสันดรและนางมัทรีมาดูแลสองกุมารทุกคน ส่วนฉากที่สองเป็นฉากในเมือง ซึ่งก็คือเมืองเชตุดรของพระเจ้าสัญชัยเพราะเหมือนโชคชะตาเข้าข้างสองกุมาร ชูชกพาทั้งสองเข้าไปยังเมืองเชตุดรจนทำให้ได้พบกับพระเจ้าสัญชัย ซึ่งพระองค์ตัดสินใจไถ่ตัว 2 กุมารจากชูชกพร้อมดูแลชูชกอย่างดี ชูชกไม่เคยกินดีอยู่ดีขนาดนี้จึงกินเกินขนาดจนท้องแตกตาย พระเจ้าสัญชัยจึงตัดสินใจที่จะไปพาพระเวสสันดรกับนางมัทรีกลับเมือง ซึ่งฉากนี้ถือเป็นฉากที่ช่างมีความหลากหลายในการเลือกฉากวาดมากที่สุดฉากหนึ่ง ถ้าฉากที่ฮิตจนถึงในยุคปัจจุบัน เป็นฉากที่ชูชกผูกเปลบนต้นไม้โดยผูกสองกุมารไว้ที่โคนต้นไม้ บางที่ก็เขียนฉากที่พระเจ้าสัญชัยไถ่สองกุมารจากชูชกภายในปราสาท บางที่เขียนฉากชูชกกินมากเกินท้องแตกตายก็มี แต่ถ้าเอาแบบพีกๆ ในจิตรกรรมฝาผนังพื้นบ้านบางทีถึงขั้นเขียนฉากงานศพชูชกซึ่งไม่มีในเนื้อเรื่องก็มี

เกร็ดอะไรที่ซ่อนในภาพฝาผนัง 13 กัณฑ์ของ เวสสันดรชาดก ชาดกสำคัญที่สุดในชาดกทั้ง 10
วัดกุฏิ จังหวัดเพชรบุรี

มาถึงกัณฑ์รองสุดท้ายอย่างกัณฑ์ฉกษัตริย์ซึ่งเป็นกัณฑ์ที่ 12 กันแล้วครับ ซึ่งกัณฑ์นี้เป็นเรื่องราวการรับพระเวสสันดรกลับเมืองครับ โดยเล่าถึงขบวนเสด็จของพระเจ้าสัญชัย นางผุสดี พระกัณหา และพระชาลี ที่เดินทางไปถึงอาศรมของพระเวสสันดรและนางมัทรี พอทั้ง 6 คนได้พบหน้ากันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาก็รู้สึกปลื้มปิติอย่างมากจนถึงแก่วิสัญญีหรือสลบกันหมด พอข้าวราชบริพารมาพบเข้าก็ดีใจจนสลบไปเช่นกัน จนพระอินทร์ต้องบันดาลฝนโบกขรพรรษซึ่งเป็นฝนพิเศษจนทั้งหมดฟื้นขึ้นมา แล้วจึงทูลเชิญพระเวสสันดรและนางมัทรีกลับเมืองเชตุดร ซึ่งซีนนี้ช่างนิยมเขียนหลักๆอยู่ฉากเดียว นั่นก็คือ ฉากที่ทั้งหมดพบกันอีกครั้งในที่พักของพระเวสสันดรและร้องไห้ดีใจจนสลบไป ซึ่งมีทั้งการสลบแบบนาฏลักษณ์และสลบจริงๆ อยู่ที่ว่าช่างที่เขียนฉากนี้เป็นช่างพื้นบ้านหรือช่างหลวง

เกร็ดอะไรที่ซ่อนในภาพฝาผนัง 13 กัณฑ์ของ เวสสันดรชาดก ชาดกสำคัญที่สุดในชาดกทั้ง 10
วัดสุวรรณาราม กรุงเทพมหานคร

และกัณฑ์สุดท้ายก็คือนครกัณฑ์ เป็นกัณฑ์ที่พูดถึงการเสด็จกลับเมืองเชตุดรของพระเวสสันดรและคณะ ซึ่งเมื่อกลับไปถึง พระเวสสันดรก็ได้ขึ้นครองราชสมบัติ ปกครองเมืองด้วยความเมตตาและทานบริจาคจนสิ้นอายุขัย ฉากหลักที่ช่างมักจะเขียน ก็คือฉากขบวนเสด็จของพระเวสสันดรกลับเมือง บางวัดเขียนทั้งขบวนขาไปและขบวนขากลับ ซึ่งวิธีสังเกตว่าขบวนไหนเป็นขบวนไหน ให้ดูที่ต้นทางกับปลายทางครับ ดูว่าฝั่งไหนเป็นเมือง ฝั่งไหนเป็นศาลา ซึ่งแน่นอนว่า ฝั่งที่ออกจากเมืองก็คือฉากขบวนขามาของกัณฑ์ฉกษัตริย์ ส่วนฝั่งที่ออกมาจากศาลาจเป็นขบวนขากลับเมืองเชตุดรของนครกัณฑ์ แต่ถ้าวัดไหนเขียนขบวนขาเดียวก็มักจะเป็นขบวนขากลับนะครับ

เกร็ดอะไรที่ซ่อนในภาพฝาผนัง 13 กัณฑ์ของ เวสสันดรชาดก ชาดกสำคัญที่สุดในชาดกทั้ง 10
วัดโบสถ์สามเสน กรุงเทพมหานคร

และแล้วก็จบลงอย่างสมบูรณ์กับมหากาพย์ทศชาติชาดกที่ยาวถึง 4 ตอนด้วยกัน หวังว่าท่านผู้อ่านทุกท่านจะชอบกับบทความแบบซีรีส์นี้นะครับ และก็หวังว่าบทความจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านทุกท่านไม่มากก็น้อย สำหรับช่วยในการดูจิตรกรรมฝาผนังหรือเข้าใจชาดกเซ็ตสำคัญเซ็ตนี้ครับผม ส่วนตอนถัดไปจะเป็นเรื่องอะไรก็รอติดตามกันนะครับผม


เกร็ดแถมท้าย

  1. สำหรับใครอยากรู้เรื่องราวของทศชาติชาดกเวอร์ชันหนังสือพร้อมภาพประกอบ ผมขอแนะนำหนังสือ 3 เล่มเดิมครับ ความเข้าใจในจิตรกรรมไทยประเพณี ของ เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว หนังสือชุด ทศชาติกับจิตรกรรมฝาผนัง ของ นิดดา หงส์วิวัฒน์ แล้วก็หนังสือชุด ท่องทศชาติผ่านจิตกรรรม ของ อู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย
  2. สำหรับใครที่เพิ่งมาอ่านบทความนี้ หรือลืมชาดกเรื่องก่อนๆ ที่ผมเล่าให้ฟัง หรืออยากกลับไปอ่านใหม่ เชิญอ่านในตอนก่อนๆในซีรีส์ จิตรกรรมฝาผนัง 101 ได้เลยครับผม
  3. และสำหรับใครที่อยากดูแบบรายการเกมโชว์ที่มีภาพประกอบอื่นๆ หรือเรื่องราวอื่น ก็ขอแนะนำรายการแฟนพันธุ์แท้ ตอน ทศชาติชาดก หาชมได้ YouTube ครับผม
  4. อีกหนึ่งความพิเศษของพระเวสสันดรชาดกก็คือ นี่เป็นชาดกเรื่องเดียวที่เคยถูกดัดแปลงเป็นทั้งละครโทรทัศน์และภาพยนตร์มาแล้วหลายครั้ง ซึ่งภาพยนตร์นั้นอาจจะเก่าสักหน่อยแต่มีถึง 3 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ ชูชกกับกัณหาชาลี ( พ.ศ. 2500) มหาเวสสันดร (พ.ศ. 2504) และ ชูชก กัณหา-ชาลี (พ.ศ. 2539) ส่วนละครนั้นมีทั้งเวอร์ชันละครช่อง 7 (พ.ศ. 2512 และ พ.ศ. 2539) กับเวอร์ชันช่อง 5 (พ.ศ. 2530) ใครสนใจ ลองไปเสิร์ชหาดูได้ บางเวอร์ชันยังพอหาดูได้อยู่นะครับ

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ