เคยพบเจอเรื่องที่เกี่ยวแต่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวกันไหมครับ

เหมือนเวลาที่เขาผ่านเข้ามาในชีวิต สบตาให้กันในบางที เก็บไปเขินจนนอนไม่หลับ ดูคล้ายกับว่าเขาเกี่ยวข้องกับชีวิตเรา ทั้งๆ ที่คนนั้นอาจจะไม่ได้เกี่ยวอะไรกันเลย มันเกี่ยวกันไหม ที่เธอได้เดินเข้ามา ที่เธอได้มาสบตา ตัวฉันถึงเป็นแบบนี้ (กลายเป็นเพลงไปซะแล้ว)

แต่ถ้าจะให้ผมพูดถึงเรื่องที่เกี่ยวแต่ที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องในทางสถาปัตยกรรมแล้ว มันก็มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ดูน่าสนใจมากๆ แต่หลายคนกลับมองข้ามไป ซึ่งมันก็คือเรื่องที่เกี่ยวนี่แหละครับ โดยในความหมายตรงนี้คือ ที่ที่มีไว้สำหรับเกี่ยวแขวนสิ่งของต่างๆ นั่นเอง

และตอนนี้ทุกท่านคงอาจจะรู้สึกงุนงงจนอยากจะเอานิ้วเกี่ยวฝาโน้ตบุ๊กปิดลงเลยใช่ไหมครับ แต่อย่าเพิ่งทำอย่างนั้นเลยครับ เดี๋ยวผมจะลองพยายามทำให้มันเกี่ยวข้องกับเรื่องสถาปัตยกรรมให้ดู

การออกแบบพื้นที่การออกแบบพื้นที่

การออกแบบพื้นที่

สำหรับโลกของการออกแบบสถาปัตยกรรมในทศวรรษนี้ หนึ่งในทักษะสำคัญพื้นฐานในการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ถูกสอนกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก ก็คือการผลิตชุดเครื่องมือในการออกแบบพื้นที่ทางสถาปัตยกรรม ซึ่งในวงการสถาปนิกแล้ว เราต่างเรียกชุดเครื่องมือในการออกแบบนี้กันอย่างสั้นๆ ด้วยคำว่า ‘Tools’

ซึ่งไอ้เจ้า Tools หรือเครื่องมือที่ฟังดูเก๋ไก๋นี้ไม่ได้เป็นอุปกรณ์ช่าง ประแจ ไขควง แต่อย่างใดเลย หากเเต่เป็นเรื่องของการสร้างชุดเครื่องมือทางความคิดต่างหากที่จะช่วยให้เราสามารถกำหนดขอบเขตของรูปทรงในการสร้างสเปซแบบต่างๆ ได้ โดยไม่ฟุ้งและหลุดขอบเขตความเป็นจริงของงานสถาปัตย์ในโครงการนั้นๆ จนดูขาดๆ เกินๆ ซึ่งกล่าวได้ว่า Tools ก็คือการสร้างชุดตรรกะหนึ่งเพื่อนำไปใช้ออกแบบพื้นที่ใช้สอยต่างๆ นั่นเอง

แต่ถ้าจะลองขยายความเรื่องเครื่องมือการออกแบบนี้ให้เข้าใจได้มากขึ้นก็คงต้องยกตัวอย่างของการออกแบบอาคารตึกมหานครที่ออกแบบโดย โอเล เชียเรน (Ole Scheeren) ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมตึกสูงที่ดูคล้ายกำลังแตกเป็นพิกเซลจำนวนหลายๆ ชิ้น ไล่วนเป็นเกลียวตั้งแต่ยอดลงมาถึงพื้นดิน โดยที่ภาษาของจังหวะการเว้าแหว่งของพิกเซลที่เราได้เห็นบนตึกมหานครนี้สามารถนับว่านี่เป็นรูปแบบหนึ่งของ Tools ที่คุณโอเล เชียเรน สร้างขึ้นมาเพื่อออกแบบ หรืออีกตัวอย่างหนึ่งที่สามารถเห็น Tools ได้ชัดเจน ก็คือห้าง Siam Discovery ที่ถูกรีโนเวตใหม่โดย คุณโอกิ ซาโตะ (Oki Sato) โดยที่ Tools ของห้างนี้ที่เราสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนก็คือการใช้ภาษารูปทรงกรอบสี่เหลี่ยมที่ซ้อนทับไปมาบนผิวหน้าอาคารนั่นเองซึ่งเจ้ากรอบสี่เหลี่ยมนี้ยังเป็นลูกเล่นเข้าไปในการตกแต่งโถงห้างข้างในอีกด้วย

การออกแบบพื้นที่

ภาพ : CNN.com

การออกแบบพื้นที่

ภาพ : Archdaily.com

ตัวอย่างทั้งหมดที่ผมได้ยกมานั้นแม้จะดูค่อนข้างเป็นรูปธรรมที่ยิ่งใหญ่และมีความชัดเจนในการใช้ Tools มากๆ ในขณะที่เรื่องเล็กๆ อย่างการเกี่ยวแขวนสิ่งของที่ดูไม่เกี่ยวข้องอะไรกับสถาปัตยกรรมเท่าไหร่นัก ผมก็กลับมองว่าการเกี่ยวของนี่แหละก็คือ Tools ของชุดตรรกะแบบหนึ่งที่สามารถนำไปสร้างพื้นที่แบบไทยๆ ไม่ว่าจะการแขวนถุงพลาสติกที่ใส่สินค้า การตากเสื้อผ้า การห้อยหลอดไฟลงมาจากฝ้า ยันแขวนของศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่เราเห็นในทุกๆ วันนั่นเอง โดยที่คนทั่วไปสร้างเครื่องมือการออกแบบชุดนี้ขึ้นมากันเองโดยไม่รู้ตัว

ซึ่งความน่าสนใจสุดๆ สำหรับการออกแบบพื้นที่โดยการใช้ Tools การเกี่ยวแขวนนี้สำหรับผมก็คือเราสามารถสร้างฟังก์ชันใหม่ๆ ในพื้นที่ต่างๆ บนความเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้

การออกแบบพื้นที่

การออกแบบพื้นที่

อย่างที่ผมเคยเห็นมา เช่น ร้านขายอาหารริมทางที่พื้นที่หลังร้านติดกับริมรั้วระแนงเหล็กดัด เขาก็ใช้ Tools นี้โดยการเอาถุงที่ใส่วัตถุดิบต่างๆ มาจัดแจงเรียงแขวนไว้กับเหล็กดัดข้างหลังร้านนั้น เสมือนกำลังสร้างพื้นที่รั้วนั้นให้กลายเป็นตู้กับข้าวของร้านอาหารตนเองเสีย หรืออีกตัวอย่างหนึ่งของการที่ซุ้มวินมอเตอร์ไซค์ได้ไปตั้งชิดกับเสาไฟฟ้า พวกพี่วินเองก็จะเอาไม้เอาตะปูมาตอกกับเสาทำเป็นที่แขวนป้ายวินและแขวนหมวกไปในตัว หรือการเอาไม้ไผ่ยาวๆ มาสอดระหว่างเสาไฟเพื่อสร้างที่แขวนเสื้อกั้กวินด้วยกันเอง

อีกทั้งในคอลัมน์นี้เองตอนหนึ่งผมก็เคยกล่าวถึงปรากฏการณ์พื้นที่ขายของสไตล์ไทยคอลลาจ ที่ต้องการทำให้สินค้าอยู่ในหน้าร้านให้ได้มากที่สุดของร้านโชห่วย ส่วนหนึ่งที่การออกแบบสุดโต่งนี้ที่เกิดขึ้นได้นั่นก็เพราะการใช้การเกี่ยวแขวนเพื่อการโชว์สินค้าขึ้นไปบนฝ้าและกำแพงนั่นเอง

การออกแบบพื้นที่

การออกแบบพื้นที่

และถ้าถามผมว่าทำไมลักษณะของ Tools การเกี่ยวสิ่งของต่างๆ ถึงสามารถพบเห็นได้ง่ายโดยทั่วไป และกลายเป็นเครื่องมืออันยอดนิยมสำหรับการสร้างพื้นที่ของคนไทยมากๆ ซึ่งมันก็จะมีประมาณ 4 เรื่องที่ผมสันนิษฐานเอาไว้ว่าน่าจะเป็นเหตุผล ได้แก่

1. วิธีคิดในการติดตั้งที่เกี่ยวและแขวนสิ่งๆ ต่างๆ นั้น เราล้วนได้พื้นฐานมาจากกิจกรรมในชีวิตประจำที่สำคัญมากๆ อันหนึ่ง นั่นก็คือการตากผ้าเพราะเนื่องด้วยว่าประเทศของเราเป็นประเทศอุณหภูมิร้อนชื้น ทำให้เหงื่อซึมเสื้อผ้าได้ง่าย และนั่นทำให้เราต้องซักผ้าแทบทุกวัน อีกทั้งประเทศเรามีแดดแรงที่ไม่เคยให้ได้หนาวจนปากสั่น บวกกับการอยู่อาศัยในพื้นที่อันจำกัดมากๆ

ซึ่งในที่สุดแล้วเหตุปัจจัยเหล่านี้ได้พาเราไปสู่ทักษะการในดิ้นรนในการสร้างราวตากผ้าในลักษณะต่างๆ ไม่ว่าจะการขึงเชือกจากริมขอบอาคารหรือการที่นำแท่งไม้ยาวๆ ไปแขวนห้อยกับจุดต่างๆ เพื่อให้กลายเป็นราวตากได้ (ซึ่งค่อนข้างคล้ายการตากผ้าตึกสูงที่สิงคโปร์) ทั้งหมดทั้งมวลนี้ได้ส่งผลทำให้เราได้ฝึกทักษะและวิธีคิดการสร้าง Tools การเกี่ยวแขวนสำหรับการออกแบบที่ติดตัวเรานั่นเอง

การออกแบบพื้นที่ การออกแบบพื้นที่

2. ทักษะสายตาในการหาพื้นที่ในการเกี่ยวแขวนนั้นสามารถเป็นไปได้ในทุกที่ แม้ว่าจะไม่ได้มีผนังเอาไว้ตอกตะปู ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทำไมคนส่วนใหญ่จึงค่อนข้างมีทักษะทางนี้กันมากนัก (หรือว่าเรายึดติดมากไป ฮาๆ) แต่การใช้สายตามองพื้นที่ปกติธรรมดาให้ก้าวข้ามไปอีกสเต็ปนั้นมันกลับทำให้เหล็กดัด รั้วระแนง หูที่จับประตู หรืออะไรที่ดูน่าจะไม่เกี่ยวได้ กลายเป็นแขวนได้เฉยเลย ไม่ว่าจะเป็นจุดแขวนเล็กจุดเกี่ยวน้อย เราก็สามารถเอาของไปแขวนได้เฉยเลย เหมือนกับว่าอะไรก็ตามที่เราอยากจะให้เกี่ยว เดี๋ยวมันก็จะเกี่ยวได้เอง

การออกแบบพื้นที่

3. วัสดุอุปกรณ์ในการทำการเกี่ยวของนั้นหาง่ายมาก เช่น ถุงพลาสติกที่มีหูหิ้วไว้แขวน เชือกฟางที่เอาไว้ผูก หรือเหล็กตัวเอสที่เอาไว้เกี่ยว อุปกรณ์เหล่านี้ต่างเป็นสิ่งของหาได้ง่าย อีกทั้งยังสามารถติดตั้งจุดเกี่ยวด้วยตัวเองได้เช่นกัน

4. เรามีวัฒนธรรมการเกี่ยวแขวนสิ่งของเพื่อแสดงถึงศรัทธาและความเชื่อต่างๆ ไม่ว่าจะการแขวนไซดักทรัพย์ไว้ที่หน้าบ้าน การแขวนกระจกหกด้านกันเรื่องภัยอันตราย การแขวนโคมไฟสีแดงเพื่อความเป็นมงคลหรือว่าการแขวนกระจกซีดีเก่าๆ ไว้ที่หน้าต่างโดยเชื่อว่านกพิราบจะไม่มาวุ่นวาย

การออกแบบพื้นที่

การออกแบบพื้นที่

การออกแบบพื้นที่

โดยที่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ถ้าเรามองในแง่ความเป็นสากลมากขึ้น เราอาจจะสามารถเรียกได้ว่านี่คือ ‘Vertical Design’ หรือการออกแบบพื้นที่ในทางตั้ง โดยที่เทรนด์ในการออกแบบที่ผ่านมาก็คือ การออกแบบพวกสวน Vertical Garden หรือการออกแบบชั้นวางของต่างๆ ในห้องคอนโดฯ ที่มีพื้นที่อย่างจำกัดนั่นเอง

การออกแบบพื้นที่

ซึ่งถ้าลองเทียบกับโลกสากลแล้ว วิธีคิดของ Tools ในการเกี่ยวสิ่งของที่เห็นทั่วไปในบ้านเรา ค่อนข้างจะเป็นงานออกแบบ Vertical Design ที่คาดเดาไม่ได้และไม่มีรูปแบบตายตัว แต่กลับมีตรรกะที่ค่อนข้างแข็งแรงและมีประสิทธิภาพมากๆ เพราะบางครั้งเราจะเห็นได้ว่าวิธีการนี้สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาในพื้นที่แคบๆ หรือพื้นที่ขายของต่างๆ ที่ดูเหมาะสมกับบริบทบ้านเราเป็นอย่างมาก โดยที่เราอาจนับว่าการเกี่ยวนี้ก็คือลักษณะของวิธีคิดของพื้นถิ่นร่วมสมัยแบบ Urban Vernacular ประเภทหนึ่งในเมืองได้เช่นกัน โดยที่จริงๆ แล้ว Tools การออกแบบด้วยวิธีการเกี่ยวแขวนนี้เราก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่เรื่องจัดการพื้นที่ใช้สอยเท่านั้น

การออกแบบพื้นที่

ไม่นานมานี้ผมได้พบกับงานออกแบบ Re-design ที่ออกแบบโดยแม่ค้าขายน้ำคนหนึ่ง ณ ร้านขายแห่งหนึ่ง แกได้นำราวเกี่ยวเสื้อผ้าพลาสติก 2 อันมาต่อกับท่อพีวีซี กลายเป็นอุปกรณ์สำหรับช่วยในหิ้วถุงน้ำอัดลม ซึ่งทำให้แกสามารถหิ้วน้ำได้ทีละสิบกว่าถุง อันเป็นการเพื่อช่วยให้ในการเดินรอบเดียวนั้นขายน้ำได้มากกว่าเดิมหลายเท่าตัว (สุดยอด) ซึ่งนี่ก็ช่วยแสดงให้เราเห็นได้ว่าสุดท้ายมันก็น่าอยู่ที่เรานี่แหละที่จะเข้าใจว่ากระบวนคิดในการสร้างภาษาของการเกี่ยวแขวน จะสามารถต่อยอดและสร้างมูลค่าอะไรกับงานออกแบบของเราต่อๆ ไปได้บ้าง

และตอนนี้ผมหวังว่าหลายๆ ท่านคงมีความรู้สึกว่าการเกี่ยวที่ผมเล่ามาทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบทางสถาปัตยกรรมไม่มากก็น้อยนะครับ

ขอให้ทุกท่านได้เกี่ยวข้องแต่เรื่องดีๆ ในปี 2562 นี้ และมีแต่ความสุขนะครับ

สำหรับตอนนี้สวัสดีครับ

การออกแบบพื้นที่

การออกแบบพื้นที่

การออกแบบพื้นที่

ขอขอบคุณ: สุวิชา พิทักษ์กาญจนกุล และ ลัฏฐิกา บุญบันดาล

Writer & Photographer

Avatar

ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ ที่ยังมีสถาปนิกเป็นวิชาชีพ และมีงานเขียนเป็นวิชาเสริม ชอบปั่นจักรยานและทักทายกับคนแปลกหน้าโดยไม่จำเป็น