
“ที่ฝรั่งเขาสั่งซื้อไส้เดือนไป เขาสนใจเรื่องปุ๋ยแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นนะ สิ่งที่เขาให้ความสำคัญเป็นพิเศษเห็นจะเป็นเรื่องการสร้างนิสัยให้คนในครอบครัวเขามาชุมนุม เป็นจุดสนใจของบ้านมากกว่า”
หนึ่งในบางช่วงของลุงรีย์เจ้าของฟาร์ม Uncle Ree’s Farm ฟาร์มเกษตรในเมืองหลวงที่เล่าถึงการเลี้ยงไส้เดือนที่เริ่มต้นจากการเลี้ยงไส้เดือนเพื่อจัดการกับเศษอาหาร จนปัจจุบันยอดขายไส้เดือนเพื่อเลี้ยงได้โกอินเตอร์ไปไกลจนถึงต่างประเทศแล้ว
เลี้ยงไส้เดือนสร้างนิสัยได้ด้วย
“ได้ครับ”
ลุงรีย์ตอบแล้วเล่าให้ฟังต่อว่า การเลี้ยงไส้เดือนมีประโยชน์หลายทาง อย่างแรกคือการเลี้ยงไส้เดือนช่วยแก้โรคเสียดายของ พวกอาหารเหลือในตู้เย็น เศษอาหารที่เห็นแล้วก็เสียดายไม่อยากทิ้งไป อยากจัดการกับเศษอาหารพวกนี้ให้มีประสิทธิภาพกว่านี้
การเลี้ยงไส้เดือนแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เพราะไส้เดือนจะย่อยเศษอาหารที่เหลือจนได้ปุ๋ย ซึ่งปุ๋ยเหล่านี้ก็ตอบโจทย์คนที่ชอบปลูกพืชปลูกผักให้ใช้ประโยชน์ต่อยอดได้อีก ปุ๋ยจากมูลไส้เดือนเอาไปใช้เป็นดินรองพื้นปลูกพืช หรือจะต่อยอดด้วยการเอาปุ๋ยนี้มาทำน้ำหมัก หมักเป็นเอนไซม์เมือกไส้เดือนช่วยบำรุงพืชได้ด้วย
ประโยชน์อีกอย่างของการเลี้ยงไส้เดือนคือ เป็นจุดศูนย์กลางในการสร้างกิจกรรมร่วมกันภายในครอบครัว ทำให้มีการฝึกวางแผนร่วมกันภายในบ้าน ว่าเศษอาหารจะนำมาให้ไส้เดือนตรงนี้นะ ช่วยกันดูแล รวมถึงสร้างข้อตกลงร่วมกันว่าเมื่อสมาชิกไม่อยู่บ้าน จะจัดการสัตว์เลี้ยงน้อยๆ นี้อย่างไร เหมือนการเลี้ยงสัตว์อย่างน้องหมาน้องแมว ต่างเพียงแค่หากไส้เดือนตายก็วางแผนใหม่เลี้ยงใหม่ได้ ความเสียใจอาจไม่เท่ากัน ถือว่าได้ฝึกนิสัยและระเบียบวินัยไปพร้อมๆ กัน
ต่างชาติเขาเลยสั่งไส้เดือนไปเลี้ยงและฝึกนิสัยลูกด้วยวิธีนี้
ลุงรีย์บอกว่า ใครๆ ก็เลี้ยงไส้เดือนได้ทั้งนั้น ไม่ต้องกังวลเรื่องพื้นที่ ไม่ต้องสร้างโรงเรือน แค่มีพื้นที่ 1 ช่องกระเบื้องก็เลี้ยงได้แล้ว ขอแค่มีใจรักและเอาใจใส่มันแค่นั้นก็พอ ทั้งยังแนะนำวิธีการเลี้ยงมาอย่างละเอียด

อุปกรณ์
- ไส้เดือนพันธุ์ลายเสือ 500 กรัม
- มูลไส้เดือน 2 ถุง
- เอนไซม์ไส้เดือน 1 ขวด
- กระบะเพาะเลี้ยงขนาด 3 ใบ
- อาหารเสริม (เศษอาหาร)
6. ดิน Bedding 1 ถุง
วิธีทำ

- เตรียมกระบะเพาะเลี้ยงมีความสูงประมาณ 1 คืบจะมีความหนาพอดี ไม่กดทับ และอย่าลืมเจาะรูเพื่อระบายน้ำเผื่อมีน้ำขัง

- เริ่มต้นด้วยการใส่ดินขี้วัวหมักหรือที่ลุงรีย์เรียกว่า Bedding ลงไปครึ่งหนึ่งของกระบะเลี้ยง โดยชิดฝั่งใดฝั่งหนึ่งเพื่อเป็นบ้านใหม่ของไส้เดือน ในปริมาณ 10 เท่าของจำนวนไส้เดือนที่เราจะเลี้ยง

- นำเศษผักผลไม้ที่เตรียมไว้เป็นอาหารไส้เดือนใส่ลงไปในดิน Bedding แล้วกลบเพื่อป้องกันไม่ให้แมลงมาตอม แมลงอาจเป็นอันตรายกับไส้เดือน การใส่อาหารไส้เดือนไม่ควรมากเกินไป เพราะอาจทำให้อาหารย่อยไม่ทันจนเน่า หลักการใส่อาหารคือไม่ควรเกิน 1 เท่าตัวของปริมาณไส้เดือน เพราะเป็นปริมาณที่ไส้เดือนจะย่อยสลายได้ใน 1 เดือน เช่น ไส้เดือน 1 ขีด อาหารไม่ควรมากกว่า 1 กิโลกรัม

- ฉีดสเปรย์เอนไซม์ลงไปให้ทั่วดิน เพื่อให้เมือกไส้เดือนในน้ำเอนไซม์แต่งกลิ่นดิน Bedding จะทำให้ไส้เดือนคุ้นชินและย้ายเข้ามาอยู่บ้านหลังใหม่ที่เตรียมไว้
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าใส่เอนไซม์มากหรือน้อยเกินไป สังเกตได้จากการใช้นิ้วจิ้มลงไปในดิน หากเย็นชื้น ไม่แห้งหรือเปียกเกินไป ถือว่าพอดี เหมาะกับการเจริญเติบโตของไส้เดือน มิฉะนั้นไส้เดือนอาจตายได้


- มาถึงขั้นที่เรารอคอย คือการนำไส้เดือนลงไป โดยใส่ไส้เดือนในบริเวณว่างที่เราเว้นไว้พร้อมกับบ้านเก่าของเขา (ดินเก่า) ให้ปรับตัวก่อนเข้าสู่บ้านหลังใหม่ ถ้าต้องการความชัวร์ว่าไส้เดือนจะปลอดภัย โรยมูลไส้เดือนโรยกลบลงไปนิดหน่อย ไส้เดือนจะปรับตัวได้ง่ายขึ้น

6. นำกระบะเพาะเลี้ยงทั้ง 3 ใบมาเรียงต่อกันเป็นชั้น โดยให้ชั้นบนสุดเป็นเป็นกระบะเพาะเลี้ยงจริง และที่เหลือเป็นกระบะเปล่า สามารถนำถาดหรือกะละมังใส่น้ำมารองชั้นใต้สุดเพื่อป้องกันมด แมลง หรือหนูที่ได้กลิ่นอาหารจะมาก่อกวนและทำร้ายไส้เดือนได้

7. คลุมด้วยผ้าขาวบางและหนีบด้วยตัวหนีบผ้า เพื่อป้องกันแมลงวัน แมลงหวี่ และแมลงอื่นๆ ที่จะมารบกวนไส้เดือน การเติมอาหารสามารถเติมได้เรื่อยๆ ตามความเหมาะสม ส่วนการเติมดิน Bedding เติมได้ทุกๆ 1 เดือน หากไม่มีดิน Bedding ก็ใช้ปุ๋ยคอกหรือขุยมะพร้าวผสมกับกากกาแฟแทนได้เช่นกัน
8. หาที่จัดวางที่เหมาะสมให้ไส้เดือน สามารถเลี้ยงในอุณหภูมิห้องปกติ แต่ต้องให้พ้นจากแสงแดดและหลบฝน หากเป็นห้องแอร์ยิ่งดี เพราะอุณหภูมิจะชื้นพอเหมาะกับการเจริญเติบโตของไส้เดือน และฉีดน้ำแบบวันเว้นวันให้ความชื้นกับไส้เดือน
ข้อควรระวังในการเลี้ยงไส้เดือน
- การใส่เศษอาหารเยอะเกินไปอาจทำให้การย่อยของไส้เดือนทำได้ช้าลง
- สิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือเศษอาหารที่มีฤทธิ์เผ็ดหรือเป็นกรด เช่น พริก เปลืกมะนาว หรือน้ำส้มสายชู เหมาะที่จะใส่ในการเพาะเลี้ยงที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่กว่านี้
- เศษอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ อาจเป็นตัวเรียกแมลง มด หรือหนู มาก่อกวนหรือเป็นอันตรายต่อไส้เดือนได้
- การใส่ข้าวควรระวังเรื่องมดในข้าว
- ในกรณีไม่อยู่บ้านหลายวัน สามารถให้ความชื้นโดยการฉีดน้ำ ให้อาหารไว้ได้ แต่ก็ไม่ควรทิ้งไส้เดือนไว้นานกว่า 1 สัปดาห์
การเลี้ยงไส้เดือนจะได้ปุ๋ยจากมูลไส้เดือน และเรายังต่อยอดไปทำน้ำหมักเอนไซม์เมือกไส้เดือนเพื่อเป็นฮอร์โมนพืชได้ด้วย เรียกได้ว่าเลี้ยงไส้เดือนครั้งเดียวได้ประโยชน์แบบ 2 อิน 1 อุปกรณ์และขั้นตอนการทำ มีดังนี้
อุปกรณ์
- ถุงน้ำหมัก
- น้ำเปล่า
- มูลไส้เดือน
- กรวยกรอง
- ขวดสเปรย์
- กะละมังหรือภาชนะสำหรับรอง
วิธีทำ

- เก็บมูลไส้เดือนที่ผ่านจากการเลี้ยงมาแล้วไม่ต่ำกว่ากว่า 1 อาทิตย์ ปริมาณ 1 กิโลกรัม

- นำมูลไส้เดือนใส่ในถุงที่เตรียมไว้

- เตรียมน้ำเปล่า 1 ลิตรใสกะละมังไว้เพื่อหมักเอนไซม์

- นำถุงที่เตรียมไว้มาจุ่มในน้ำ สลับกับบีบคั้นเล็กน้อยเพื่อให้ได้เอนไซม์จากมูลไส้เดือน

- เมื่อได้น้ำที่ข้มข้นพอสมควรแล้ว ทิ้งไว้ 1 คืนเพื่อให้ตกตะกอน สุดท้ายคือการกรองน้ำหมักเอนไซม์เมือกไส้เดือนใส่ขวดสเปรย์ที่เตรียมไว้ และใช้รดต้นพืชได้ตามต้องการ

- ถ้าไม่สะดวกทำน้ำสเปรย์ นำมูลไส้เดือนใส่ถุงผ้าขนาดเล็ก วางไว้ตามกระถางต้นไม้ แล้วรดน้ำต้นไม้ตามปกติเพื่อให้เอมไซม์เมือกไส้เดือนละลายไปกับน้ำก็ได้เช่นกัน
ข้อควรระวังในการในการใช้น้ำหมักเอนไซม์เมือกไส้เดือน
- ในกรณีพืชขนาดเล็ก เช่น กระบองเพชร การใช้งานต้องเจือจางกับความเข้มข้นน้ำหมักเอนไซม์เมือกไส้เดือนกับน้ำเปล่าก่อน 1 เท่าจึงจะใช้ได้ เพราะความเข้มข้นของเอนไซม์ที่มากจะทำให้ยอดพืชเหล่านั้นไหม้ได้
- พยายามใช้ให้หมดภายใน 2 อาทิตย์ เพราะน้ำเอนไซม์จะค่อยๆ เจือจางลง
Uncle Ree’s Farm
โทรศัพท์ : 08 3236 0006
อินสตาแกรม : @unclereefarm
Line ID : @unclereefarm
G-mail : [email protected]