ใน The Cloud มีคอลัมนิสต์อยู่คนหนึ่งที่เนิร์ดสถาปัตยกรรมจัด ๆ ไม่ว่าจะเป็นหนัง ละคร ซิตคอม หรือแม้แต่เกม หากอะไรได้ผ่านตาคนคนนี้แล้ว เขาก็หยิบมาวิเคราะห์เชื่อมโยงกับทฤษฎีสถาปัตยกรรมได้ทั้งนั้น 

เขาคนนั้นมีชื่อจริงสั้น ๆ จำง่ายว่า วีรสุ แซ่แต้ และมีชื่อเล่นที่เราเพิ่งได้รู้ในคราวนี้ว่า ‘เจ’

วีรสุเป็นคนไทย เรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาการออกแบบสถาปัตยกรรม (หลักสูตรนานาชาติ) จุฬาฯ หรือที่เรียกว่า INDA แล้วไปทำงานสถาปนิกที่ประเทศจีนสักพัก จากนั้นเมื่อมีโอกาสก็ได้ไปเรียนต่อในระดับสูงขึ้นและเริ่มทำงานที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ จนตอนนี้ก็ยังไม่ได้กลับมา

วีรสุ แซ่แต้ สถาปนิก-คอลัมนิสต์ ที่วิเคราะห์สถาปัตย์ในหนังตั้งแต่ชินจังยัน Inception
วีรสุ แซ่แต้ สถาปนิก-คอลัมนิสต์ ที่วิเคราะห์สถาปัตย์ในหนังตั้งแต่ชินจังยัน Inception

ทั้งการวิเคราะห์บ้านโนบิสุดคลาสสิก สถาปัตยกรรมล้ำ ๆ ใน Inception ชุมชนบ้าน ๆ อย่างซอยเถิดเทิง การใช้สถาปัตยกรรมก่ออาชญากรรมใน โคนัน มาจนถึงบ้านโนะฮาร่าของชินจังซึ่งเป็นชิ้นล่าสุด ก็ล้วนมาจากการกลั่นสมองหน้าคอมของวีรสุที่เมือง Delft เนเธอร์แลนด์ ทั้งนั้น

เขาทำให้ผู้อ่านทั้งที่เป็นสถาปนิกและไม่ใช่ ได้สวมแว่นตานักวิเคราะห์ไปกับเขา แล้วเข้าใจโดยพร้อมกันว่าสถาปัตยกรรมที่ปรากฏในหนังเรื่องนั้นว้าวตรงไหน โดยไม่ทำให้รู้สึกเลยว่าทฤษฎีที่เขาพูดนั้นยุ่งยากจนเกินไป

เนื่องในโอกาสที่วีรสุเขียนบทความสนุก ๆ ลงในคอลัมน์ Set Design มาให้พวกเราอ่านกันเกิน 20 ตอนแล้ว เราจึงติดต่อสัมภาษณ์เขาเป็นพิเศษผ่านทาง Zoom เขาเป็นใคร มีชีวิตยังไง ชอบเสพอะไรบ้าง ทำไมถึงสนใจสถาปัตยกรรมในสื่อขนาดนี้ และแต่ละเรื่องที่เคยเขียนมานั้นพิเศษยังไงในมุมของผู้เขียน คอลัมน์ The Columnist จะพาไปรู้จักคอลัมนิสต์ผู้ไม่เคยเปิดหน้าด้วยบทสนทนาเนิร์ด ๆ ของเรา

วีรสุ แซ่แต้ สถาปนิก-คอลัมนิสต์ ที่วิเคราะห์สถาปัตย์ในหนังตั้งแต่ชินจังยัน Inception

เรียกตัวเองว่า ‘เนิร์ดสถาปนิก’ เหรอ

เราคิดคำนี้ขึ้นมาเอง เพราะเพื่อนส่วนใหญ่เป็นสถาปนิกด้วยล่ะ เวลาไปไหนเราก็เลยชอบพูดเกี่ยวกับเรื่องสถาปัตยกรรมกัน 

ทำไมถึงอยากเรียนสถาปัตย์ตั้งแต่แรก

ยังจำคำถามนี้ตอนที่สอบสัมภาษณ์เข้า INDA ได้อยู่เลย ตอนนั้นมันเริ่มต้นง่ายมาก คือเราอยากสร้างบ้านของตัวเอง ยังไม่มีความรู้ด้วยซ้ำว่าจริง ๆ แล้วสถาปนิกต้องทำอะไรบ้าง 

แล้วพอจบ INDA ไปเรียนต่อที่เนเธอร์แลนด์ ทำไมถึงตัดสินใจอยู่ทำงานที่นั่นต่อ

มันไม่ค่อยได้วางแผนเท่าไหร่นะ พอเรียนจบ เขาให้วีซ่าในการหางานมา 1 ปี เลยลองตั้งเป้าหมายว่ายังไงเราก็ต้องลองก่อน ตอนนั้นไม่ได้หว่านบริษัทไปเยอะ แค่ประมาณ 5 ที่ แต่ก็ตั้งใจว่าเราจะทำให้เต็มที่ (หัวเราะ)

เมืองที่ได้งานไม่ได้เป็นเมืองใหญ่ เป็นชีวิตที่น่าเบื่อแต่ก็มีความสุขแบบเรียบง่าย แล้วมันก็สอนอะไรหลาย ๆ อย่างให้กับเรา ถ้าเปรียบเทียบกัน ตอนทำงานที่จีน วัฒนธรรมการทำงานเป็นแบบหามรุ่งหามค่ำ ต้องพิสูจน์อะไรมากมาย ต้องทำให้เต็มที่และทำงานให้เกินเวลา แต่ที่นี่เขาสอนให้เรารู้ว่า เขาจ้างเรา 8 ชั่วโมง เราก็ควรจะทำงานให้จบอยู่ใน 8 ชั่วโมง แล้วทุกคนก็จะมาให้ตรงเวลา มันเป็นวิธีคิดที่ดีเหมือนกันครับ

วีรสุ แซ่แต้ สถาปนิก-คอลัมนิสต์ ที่วิเคราะห์สถาปัตย์ในหนังตั้งแต่ชินจังยัน Inception

ช่วยอธิบายประโยคที่เขียนไว้ตรงแนะนำตัวเองว่า ‘หลงใหลในสถาปัตยกรรมและแสวงหาความหมายของสถาปัตยกรรมที่มีจิตวิญญาณ’ 

ปกติสถาปัตยกรรมเป็นสิ่งที่พูดไม่ได้ ถ้าเราไม่ได้คิดอะไรกับมันมาก มันก็เป็นแค่ตึก แต่ในคอลัมน์ Set Design จะพยายามทำให้ตึกเหล่านี้กลายเป็นตัวละครที่มีชีวิต 

ถ้าเกิดเขียนบรรยายบุคลิกหรือลักษณะของตึกทั่ว ๆ ไป คอนโด 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ จะดูเป็นการบรรยายลักษณะทางกายภาพ แต่เราทำให้ลักษณะทางสถาปัตยกรรมกลายเป็นตัวละครที่มีผลต่อคนที่ใช้งาน อันนี้คือประเด็นที่เริ่มเขียนคอลัมน์นี้

อย่างนี้แปลว่าเป็นคนชอบศึกษาทฤษฎีสถาปัตยกรรมด้วยรึเปล่า

นักเรียนสถาปัตย์ทุกคนรู้กันว่ามีทฤษฎีเยอะมาก ตั้งแต่ยุคเก่าจนถึงยุคใหม่ ทฤษฎีพวกนี้เกิดขึ้นหลังจากที่แต่ละยุคจบไปแล้ว พอจบไปยุคหนึ่ง ก็จะมีนักประวัติศาสตร์มาตีความว่า โอเค ยุคนี้คือแบบนี้นะ แล้วก็จะมีทฤษฎีที่เราเรียนกัน

แต่พอมาเรียนที่เนเธอร์แลนด์ เขามักตั้งคำถามกับทฤษฎีพวกนี้ อย่างที่เราเรียนประโยคของ Mies van der Rohe ว่า ‘Less is More’ ครูที่นี่เขาก็จะถามว่า เคยคิดไหมว่าก่อนที่จะพูดประโยคนั้น Mies van der Rohe พูดประโยคก่อนหน้าว่าอะไร คุณเชื่อหรือเปล่าว่าเขาพูดแค่ 3 คำ อะไรแบบนี้ 

มันทำให้เราตื่นว่า จริง ๆ แล้วสิ่งที่จำกัดความมาในหนังสือเป็นแค่ส่วนเล็ก ๆ ของประโยคพวกนั้น เพราะถ้าคุณมองในงานของ Mies van der Rohe จริง ๆ มันเป็นงานที่ดีเทลมากเหมือนกัน อย่างงาน Barcelona Pavilion ที่สเปน ก็ไม่ใช่แค่ Less แต่มีรายละเอียดอยู่ในนั้น

วีรสุ แซ่แต้ สถาปนิก-คอลัมนิสต์ ที่วิเคราะห์สถาปัตย์ในหนังตั้งแต่ชินจังยัน Inception

ดูจากที่ชอบวิเคราะห์นู่นนี่แล้ว นอกจากงานสถาปัตยกรรม คุณน่าจะเป็นคนสนใจสิ่งรอบด้านด้วย

จริง ๆ สถาปัตยกรรมเป็นตัวสื่อถึงสภาพสังคมและประวัติศาสตร์ในแต่ละยุคที่สร้างมันขึ้นมา และยังถ่ายทอดบริบทในยุค ๆ นั้นไว้ด้วย 

เวลาเลือกหนังมาเขียน บริบทของหนังจะเข้ามาเอง ซึ่งบริบทนั้นย่อมเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ ทั้งประวัติศาสตร์จริงและประวัติศาสตร์ที่สร้างขึ้นมาเอง รวมถึงมีส่วนกำหนดกฎเกณฑ์อื่น ๆ ในเรื่อง 

เรื่องที่เลือกมานำเสนอในบทความของคุณดูหลากหลาย มีทั้งหนัง การ์ตูน เกม แล้วจริง ๆ คุณชอบเสพสื่อประเภทไหน

เราเป็นคนเลือกหนังที่จะดูยากพอสมควรนะครับ หนังที่เขาโปรโมตกันก็ไม่ค่อยได้ดู แต่จะมีหลง ๆ มาบ้างอย่าง อวตาร 

มีช่วงหนึ่งที่เราหลงไปหนังคลาสสิก พยายามหาหนังเก่า ๆ ไปไล่ดูที่เขาบอกว่าดังในสมัยก่อน พยายามดูว่าเรื่องไหนส่งผลต่อเรื่องไหน เราชอบภาพของหนังเก่าที่รีเมกไปอยู่ในหนังใหม่ ๆ เห็นมาหลายเรื่องเหมือนกัน บางทีก็ เออ ลองผู้กำกับคนนี้ซิ เขาเคยดังในยุคนี้ เขาเคยทำแนวนี้ เราก็ลองศึกษาเขาดู

บทความที่เขียนเริ่มจากการที่เรายังไม่ได้ตกตะกอนว่าจะเขียนอะไร แต่ถ้าดูแล้วจำอะไรได้ก็จะเอามาเขียน พยายามเขียนให้หลากหลาย เริ่มตั้งแต่เรื่องบ้าน ไล่ไปอะพาร์ตเมนต์ ไปโรงแรม จริง ๆ แล้วคอลัมน์นี้คือการทดลองในระดับหนึ่งเลย หนังทุกเรื่องที่เลือกมาก็สะท้อนตัวเราได้ในระดับหนึ่งเหมือนกัน คือหนังซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเราในช่วงเวลาหนึ่ง

วีรสุ แซ่แต้ สถาปนิก-คอลัมนิสต์ ที่วิเคราะห์สถาปัตย์ในหนังตั้งแต่ชินจังยัน Inception

อะไรที่จุดประกายให้สนใจงานสถาปัตยกรรมหรืองานออกแบบต่าง ๆ ในหนัง

ความเกี่ยวโยงเริ่มมาจากตอนที่เราพยายามเขียนบทความเกี่ยวกับเพื่อนที่เรียนสถาปัตย์ด้วยกัน เวลาอยู่ด้วยกัน คุยกัน ดูหนัง หรือไม่ว่าจะทำอะไร มันก็จะหลุดเรื่องสถาปัตยกรรมเข้ามาตลอด

เราว่าสถาปัตยกรรมในหนังมีฟิสิกส์ในตัวเอง อย่างหนังที่ล้ำไปเลยอย่าง Inception ในบริบทหรือสภาพแวดล้อมของหนังมันสร้างองค์ประกอบขึ้นมาเองได้อย่างไม่มีลิมิต ซึ่งหลายอย่างที่ผู้กำกับและคนออกแบบฉากคิดมา บางทีเราอาจจะไม่ได้เห็น หรือบางทีก็เห็นแต่ยังไม่ได้มีคนเอาออกมาพูด

แล้วถ้าหนังเรื่องหนึ่งไม่มีบริบท ไม่มีแบ็กกราวนด์ ก็คงถ่ายทอดเรื่องราวนั้น ๆ ออกมาได้ไม่เต็มที่ เลยกลายเป็นว่าหนังทุกเรื่องมีสถาปัตยกรรมอยู่ในตัวมันตลอด

หนังเรื่องไหนคือเรื่องแรกที่ทำให้คุณสนใจสถาปัตยกรรมในหนัง

(คิดนาน) จริง ๆ เรื่อง โดราเอมอน ใกล้ตัวสุดเนอะ เราเห็นบ้านหลังนี้มาตั้งแต่เด็ก แล้วลักษณะบ้านก็ใกล้เคียงกับที่เราเติบโตมาด้วย ตอนนั้นเลยอยากเขียนเกี่ยวกับบ้านนี้เป็นบทความแรก

ความโดดเด่นของมันก็คือความธรรมดา ธรรมดาจนโดดเด่นมั้งครับ เราอินกับมันเพราะเราเห็นความเปลี่ยนแปลง ดูตอนเด็ก ๆ ก็ไม่ได้คิดอะไร แต่พอกลับมาดูทุกวันนี้เลยคิดได้ว่า ทำไมทุกคนพยายามออกห่างจากบ้านที่มีสัดส่วนประมาณนี้แล้วทำให้ใหญ่ขึ้น ทุกคนพยายามออกไปหาบ้านที่ทำอินทีเรียเยอะ ๆ เงา ๆ มีหินอ่อน ไม่รก และมีห้องเยอะเกินไปสำหรับทุกคน บางทีอยู่ในบ้านอาจจะหากันไม่เจอด้วยซ้ำไป

มันจึงเป็นเรื่องสนุกที่เราได้หาคำตอบให้ชีวิตด้วยหนังและสถาปัตยกรรมของเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่เขียนแล้วสนุกดี

วีรสุ แซ่แต้ สถาปนิก-คอลัมนิสต์ ที่วิเคราะห์สถาปัตย์ในหนังตั้งแต่ชินจังยัน Inception

ในขณะที่คนอื่นดูหนังอย่างเดียว แต่คุณดูหนังไปพร้อมกับวิเคราะห์สถาปัตยกรรมไปด้วยตลอดเลยเหรอ 

ใช่ครับ (ตอบทันที) เวลาเห็นสถาปัตยกรรมในหนังหลาย ๆ เรื่อง มันชอบมาเอง อดคิดไม่ได้ อย่างเรื่อง Doctor Strange ก็มีหลายมิติ เช่นเรื่อง Hyperreality ดู อวตาร ฉากที่เป็นน้ำก็มีสถาปัตยกรรมของน้ำและชนพื้นเมือง อย่างวากานด้าเราก็มองเห็นพวกเครื่องประดับ เรียกว่าหยุดไม่ได้ที่จะไม่เอาเรื่องสถาปัตยกรรมเข้ามาเกี่ยวด้วย (ยิ้ม)

มีเรื่องไหนไหมที่ว้าวมาก ๆ แล้วอยากแนะนำให้คนอื่นไปลองสังเกตดู

(คิดนาน) ไม่รู้ว่าควรแนะนำหนังอะไรให้ทุกคนดู เพราะทุกคนน่าจะมีความชอบแตกต่างกัน แล้วทุกคนก็คงชอบสถาปัตยกรรมที่ต่างกันไปด้วย

ถ้าพูดจริง ๆ ฮาวทูทิ้ง เป็นหนังที่ดีเหมือนกันนะ มีของอยู่ในบ้าน แล้วก็มีโครงสถาปัตยกรรมที่มองไม่เห็นเลยจนกว่าจะเอาของออกไป เหมือนเป็นการเปิดเผยตัวตนของสถาปัตยกรรม

ในหนัง ลูก 2 คนพยายามปรับเปลี่ยนบ้านให้มินิมอล รื้อถอนอะไรที่ไม่จำเป็น เหลือแต่สีขาว ๆ และมีของน้อยชิ้นที่สุด ซึ่งอาจจะมองได้ว่าบ้านแบบนี้ไม่มีจิตวิญญาณ ขาดตัวตนของผู้อยู่อาศัย แต่แล้วหนังก็จบโดยไม่ได้บอกว่าสุดท้ายแล้วเขามีความสุขในบ้านสไตล์มินิมอลหรือไม่ เป็นคำถามน่าคิดต่อว่า แล้วอะไรคือจุดสมดุลที่แท้จริงของสไตล์ในสถาปัตยกรรมกับการอยู่อาศัย

บางคนอาจยังสับสนว่าอะไรคือสถาปัตยกรรม แต่ผลงานชิ้นนี้ของ พี่เต๋อ นวพล ถ่ายทอดการอธิบายคอนเซปต์ของสถาปัตยกรรมออกมาได้ดีเลย

วีรสุ แซ่แต้ สถาปนิก-คอลัมนิสต์ ที่วิเคราะห์สถาปัตย์ในหนังตั้งแต่ชินจังยัน Inception

ทำไมถึงตั้งชื่อคอลัมน์ว่า Set Design

ตอนแรกน่าจะมี 2 ชื่อ แต่สุดท้ายก็ลงตัวที่ Set Design ครับ เพราะมันเปิดกว้าง ไม่จำกัดแค่เรื่องหนัง บางทีอาจเล่าเรื่องเกม ละครเวที หรือฉากในซิตคอมก็ได้

Set เป็นฉากหรือซีนที่ถ่ายในสตูดิโอของหนัง ส่วน Design เป็นเรื่อง Production จริง ๆ มีคนกลุ่มหนึ่งเลยที่ทำเกี่ยวกับการดีไซน์ Production ซึ่งบางทีความว้าวของฉากพวกนี้ก็เกิดขึ้น อย่างในซีรีส์เรื่อง FRIENDS คนก็เอามาขยายความต่อถึงของที่ประกอบในฉาก กลายเป็นสิ่งที่ทะลุออกมานอกจอ เป็นสินค้าที่ขายได้จนถึงทุกวันนี้

เห็นในบทความ FRIENDS มีพูดถึง John Shaffner ที่เป็น Production Designer อยู่เหมือนกัน

ใช่ คนนี้เขาทำซิตคอมหลายเรื่อง ทำ The Big Bang Theory ด้วย เขาดังอยู่ในวงการหนังอยู่แล้ว แต่ในทางสถาปัตยกรรม ถ้าไม่ได้รีเสิร์ชก็อาจไม่ได้รู้จักเขาในเชิงผู้ถ่ายทอด 

เขานำสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ในยุคนั้น เส้นเรื่อง ตัวละคร และอะไร ๆ ที่มันเป็นฟิสิกส์ในละครเรื่องนั้นมาถ่ายทอด เขาเป็นคนที่ได้รับโจทย์แล้วตีความให้ตอบโจทย์ เหมือนเป็นคนแรกที่ทำจากหน้ากระดาษสีขาว คิดว่าเป็นงานที่ท้าทายเหมือนกันนะครับ

คนเหล่านี้ต้องออกแบบสถาปัตยกรรมด้วย แต่ก็ไม่ใช่สถาปนิกใช่ไหม

เขาไม่ได้จำกัดความตัวเองเป็นสถาปนิก แต่ในความรู้สึกของผม เชื่อว่าเขาเป็นสถาปนิกนะ

อย่าง ซอยเถิดเทิง ที่เคยเขียน ฝ่ายโปรดักชันเขาก็จำลองสภาพแวดล้อมที่เห็นในยุคนั้นแล้วถ่ายทอดเข้าไปในซิตคอม เพื่อให้เหตุการณ์จำลองในเรื่องมันตลก

วีรสุ แซ่แต้ สถาปนิก-คอลัมนิสต์ ที่วิเคราะห์สถาปัตย์ในหนังตั้งแต่ชินจังยัน Inception

ได้อ่านเหมือนกัน ซอยเถิดเทิง นี่มีแปลนชุมชนจริงจังเหมือนกันนะ

ใช่ ๆ (ยิ้ม) ทำร่วมกับ The Cloud ตอนนั้นมีน้องคนหนึ่งที่เขาช่วยทำดรออิ้งได้พอดีเลย

จากที่เราดู ระเบิดเถิดเทิง แรก ๆ ตอนเด็ก ๆ พอมาถึงยุคนี้ เพิ่งเห็นว่าในซอยที่เขาใช้แสดง ฉากมีการเปลี่ยนแปลงใช่ไหมครับ จากเป็นแค่ย่านชุมชนหนึ่ง ไม่มี BTS จนวันหนึ่งมี BTS มาลง แล้วอยู่ดี ๆ ขาของทางเข้าทางออกของ BTS ก็ทิ่มเข้ามาในซอย

แต่ก่อนตัวละครก็จะเปิดฉากมาจากซอยด้านหลัง ตรงร้านชำ แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นตัวละครลงมาจากบันได BTS แทน กลายเป็นเหมือนประตูเข้าออกของตัวละครไปในตัวเลย ทำให้เห็นความแตกต่างเยอะ เราเลยอยากทำดรออิ้งตรงนี้ออกมา

ตลกด้วยที่อยู่ดี ๆ มันก็เบียดเข้ามาระหว่างบ้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น แต่สำหรับเรามันคือองค์ประกอบของความตลกนะ ตลกในเชิงพื้นที่

ติดตามตั้งแต่แรกจนถึงตอนนี้เลยเหรอ

ไปนั่งไล่ย้อนดูมานะ เรายังจำเวอร์ชันเก่า ๆ ได้ แต่เวอร์ชันใหม่ ๆ ต้องกลับมาดูอีกครั้งหนึ่ง 

ความยากของคอลัมน์นี้คือมีสิ่งที่ต้องไปดูเยอะเหมือนกัน ถ้าเกิดเป็นละคร ซีรีส์ มักมีหลายตอน เราก็ต้องพยายามสรุปประเด็นให้เร็ว ดูว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญแล้วเอาไปโยงกับทฤษฎี ซึ่งทฤษฎีนั้นก็ต้องเอาไปคิดอีกขั้นหนึ่งด้วย ต้องพยายามหาตรงนั้นให้เจอแล้วมันถึงจะง่าย

เล่าขั้นตอนการรีเสิร์ชให้ฟังหน่อย ทำยังไงให้ได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือมา

จริง ๆ พยายามรีเสิร์ชให้กว้างไว้ก่อน แล้วค่อย ๆ สรุปรวบรวม แล้วก็ไปดูในบทความในประเทศไทยว่าเขามีเขียนเรื่องแบบนี้รึยัง พยายามไปหาหัวข้อที่ไม่ซ้ำเดิม

การทำให้ได้ข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือมาก็เป็นเรื่องยาก ข้อมูลส่วนใหญ่ที่อยู่ในโลกอินเทอร์เน็ต ความน่าเชื่อถือมันก็จะหายไปเยอะเหมือนกัน บางทีพวกเพจแฟนด้อม ข้อมูลเขาแน่นนะ เขาจะใส่ในสิ่งที่รู้ไว้ คอยสะสมทุก Episode บางทีมีการอ้างอิงจากบทสัมภาษณ์ หลายครั้งเราก็รู้สึกทึ่งในการเก็บข้อมูลของแฟนคลับเหมือนกัน เขาทำหน้าที่ได้ดีเลย แต่มันก็ไม่ใช่ 100% หรอกครับ เป็นแค่ระดับหนึ่ง

ข้อมูลแฟนด้อมเป็น Base เริ่มต้นได้ดี หลังจากนั้นพอเอาไปลิงก์กับอย่างอื่น เราก็ต้องมีข้อมูลอ้างอิง ข้อเท็จจริง ประวัติศาสตร์ ทฤษฎี หรือต้องอ้างอิงจากหนังสือ จนบางทีก็รู้สึกว่าตัวเองอ่านหนังสือไม่ทันเหมือนกัน

วีรสุ แซ่แต้ เนิร์ดสถาปนิกจากเมือง Delft เนเธอร์แลนด์ ผู้ชอบดูหนังและหยิบทฤษฎีสถาปัตย์มาวิเคราะห์ในคอลัมน์ Set Design
วีรสุ แซ่แต้ เนิร์ดสถาปนิกจากเมือง Delft เนเธอร์แลนด์ ผู้ชอบดูหนังและหยิบทฤษฎีสถาปัตย์มาวิเคราะห์ในคอลัมน์ Set Design

ชอบบทความไหนที่สุดตั้งแต่เขียนมา

ส่วนมากชอบเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันได้ อย่างบ้านโนบิ หรืออะพาร์ตเมนต์ในเรื่อง FRIENDS หรืออย่างเรื่อง โคนัน เราก็ชอบ บทความ โคนัน เราเขียนถึงมุมมองของอาชญากรที่เขาเห็นช่องทางของสถาปัตยกรรมซึ่งไม่เหมือนกับคนทั่วไป เห็นช่องฝ้า ผนัง กำแพง หรือช่องเซอร์วิส ช่องท่อ ที่อาชญากรมองเห็นมันเป็นประตูหรือหน้าต่าง อันนั้นก็รู้สึกว่าว้าวที่เราคิดได้เหมือนกัน (หัวเราะ) 

แล้วก็ชอบพวกทฤษฎีว้าว ๆ หรือสเปซในเกม ตอนนี้เราสนใจสเปซในการทำงานโปรแกรมต่าง ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็น Adobe Photoshop, Rhinoceros 3D หรือโปรแกรมตัดต่อวิดีโอ เราว่ามันก็เป็นสเปซเหมือนกัน คนเราทำงาน 8 ชั่วโมงอยู่ในซอฟต์แวร์หนึ่ง ไอ้พื้นที่ในซอฟต์แวร์เหล่านั้น ทั้ง Tool Box ทั้งอะไร เป็นฉากในการทำงานเหมือนกัน พวกเรื่อง Virtual World หรือ AI เราก็สนใจ จริง ๆ อยากจะเขียนนะ แต่อาจจะหลุดออกมาจากหนังมากหน่อย

อยากให้คนอ่าน Set Design ได้อะไร

เป็นคำถามที่ดีเหมือนกัน (ยิ้ม) จริง ๆ ไม่ได้คาดหวังขนาดนั้นนะครับ แต่เหนือสิ่งอื่นใด เราอยากให้มันเป็นทฤษฎีสถาปัตยกรรมที่เข้าถึงง่าย 

มีช่วงแรก ๆ เหมือนกันที่เราทำเหมือนเป็นการสอน แต่ช่วงหลัง ๆ เราว่าเราไม่ได้มีหน้าที่สอน ไม่ได้อยากไปสอนใคร ไม่อยากไปบอกว่าอันนี้คือทฤษฎีนี้นะ ๆ คุณควรจะชอบอะไร แบบไหนบ้าง เราอยากสื่อสารไอเดียของเราไป แล้วเขาจะคิดเห็นยังไงก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคนอ่านครับ ถ้าเขาอ่านสนุก รู้สึกอะไรไปกับมันด้วย หรือนำไปคิดในบริบทที่เขาอยู่ก็จะดีมากเลย 

ขอบคุณทุกคนที่เข้ามาอ่านครับ

วีรสุ แซ่แต้ เนิร์ดสถาปนิกจากเมือง Delft เนเธอร์แลนด์ ผู้ชอบดูหนังและหยิบทฤษฎีสถาปัตย์มาวิเคราะห์ในคอลัมน์ Set Design

ถามถึงงานส่วนตัวบ้าง ปกติออกแบบสถาปัตยกรรมประเภทไหน

งานที่ทำอยู่เป็น Public Building ครับ ทำอยู่กับบริษัท Mecanoo ที่เนเธอร์แลนด์ ส่วนมากเป็นพวกห้องสมุด สถานีรถไฟ มิวเซียม หรือตึกของสาธารณะ เป็นงานประกวดแบบเพราะเป็นโปรเจกต์ใหญ่

โปรเจกต์ที่ทำที่นี่มักเป็นสเกลใหญ่ทั้งหมดเลย งานบ้านที่ทำก็จะเป็นอะพาร์ตเมนต์ คอนโด ที่เขาก็เรียกมันว่าบ้านเหมือนกัน ด้วยความที่เนเธอร์แลนด์ไม่ได้สร้างคอนโดสูงมาก เลยจะเป็นสเกลที่เล็กกว่าประเทศไทย และพื้นที่ใช้สอยของที่นี่เล็กมาก

แสงแดด แสงอาทิตย์ มันก็น้อย ห้องที่เขาหันหน้าไปหาแสงเยอะ ๆ ส่วนมากเป็น Living Space แต่ห้องนอนเขาเลือกไม่เจอแสงก็ได้ นี่ก็เป็นสิ่งที่เราได้เรียนรู้มา

มันเป็นวิถีชีวิตของเขาเหรอ

เขาชอบแสงกันมาก แดดออกเมื่อไหร่เขาก็จะมีความสุขกัน ทุกครั้งที่แดดออกเขาก็จะกลับบ้านเร็ว แล้วพื้นที่ต่อตารางเมตรของเขาราคาสูงด้วย เขาก็เลยต้องเลือกว่าห้องไหนสำคัญ

การออกแบบตึกหนึ่งก็จะมีกฎหมายอยู่ว่าแต่ละห้องต้องได้รับแสงกี่ชั่วโมงบ้าง จะต้องมีการคอนโทรลอยู่พอสมควรเลย เรื่องแดดที่นี่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ

วีรสุ แซ่แต้ เนิร์ดสถาปนิกจากเมือง Delft เนเธอร์แลนด์ ผู้ชอบดูหนังและหยิบทฤษฎีสถาปัตย์มาวิเคราะห์ในคอลัมน์ Set Design

พอดูหนัง ดูการ์ตูนเยอะ ๆ ได้แรงบันดาลใจในการออกแบบบ้างไหม

ต้องบอกว่าไม่ค่อยมีนะ (หัวเราะ) อาจจะเป็นการย้อนมองตัวเองมากกว่า อย่างเราเขียนเกี่ยวกับหนังที่เขาใช้วอลล์เปเปอร์เยอะ ๆ แต่ทุกวันนี้เรามาเป็นสไตล์ลดทอน เราตั้งคำถามกับตัวเองว่า เฮ้ย เราจะเอาวอลล์เปเปอร์กลับมาใช้อีกได้ไหม เห็นที่เขาใช้ในหนังแล้วมันสวย มันดี เป็นองค์ประกอบที่เขาถ่ายออกมาแล้วสวยเลย พอถามตัวเองว่าทำไมทุกวันนี้ถึงไม่ค่อยเห็นวอลล์เปเปอร์ในการออกแบบ จริง ๆ ก็ถือว่าได้รับแรงบันดาลใจเหมือนกันนะ (ยิ้ม) ฉากในตึกเก่า ๆ ก็เหมือนกัน มันจะมาย้อนถามเราว่า ทำไมเราไม่เห็นแบบนี้แล้ว อะไรแบบนั้นน่ะครับ

แล้วเคยคิดอยากทำอาชีพ Production Designer บ้างไหม

โห ไม่เคยคิดเลยครับ แต่ถ้ามีก็คงลองรับดู (หัวเราะ) แต่ก็คงเป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ 

การทำอะไรจากที่มันเป็นกระดาษขาว ๆ อย่างนั้นมันดูยาก ถ้าสมมติเขาให้โจทย์มา เราคงต้องพยายามคิดฉากของสถาปัตยกรรมเข้ามาตอบโจทย์ในสิ่งที่เขาต้องการแบบมีความเป็นวิทยาศาสตร์นิดหนึ่ง จากที่ศึกษามา แต่ละฉากมีจุดเด่น จุดขายของมันเอง เวลาออกแบบ เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเป็นฉากที่คิดแล้วคนจดจำได้หรือเปล่า แต่สุดท้ายก็ไม่ใช่ทุกฉากที่คนจะจดจำได้ (หัวเราะ) เป็นอะไรที่ท้าทายเหมือนกันครับ

วีรสุ แซ่แต้ เนิร์ดสถาปนิกจากเมือง Delft เนเธอร์แลนด์ ผู้ชอบดูหนังและหยิบทฤษฎีสถาปัตย์มาวิเคราะห์ในคอลัมน์ Set Design

สมมติว่านี่คือคอลัมน์ Set Design อยากให้ลองวิเคราะห์เมืองเนเธอร์แลนด์ว่าส่งผลกับชีวิตสถาปนิกหนุ่มไทยของคุณยังไงบ้าง

พูดถึงวิถีชีวิต จริง ๆ ประเทศเนเธอร์แลนด์เรียบง่ายมาก เวลาจะแฮงก์เอาต์กับเพื่อนก็เดินไปแค่ไม่กี่นาที สิ่งที่เนเธอร์แลนด์สอนจึงเป็นเรื่องความเรียบง่ายครับ 

อย่างเรื่องกินข้าว ตอนกลางวันเขากินแค่แซนด์วิชทำมาจากบ้าน กินที่หน้าจอคอมด้วยซ้ำไป เพื่อทำให้เวลาวันหนึ่งของเขาไม่ต้องโดนหักไป กินไปอ่านอีเมลไป เดี๋ยว 5 โมงก็กลับ ซึ่งโอเค เราอาจจะทำตามไม่ได้ขนาดนั้น แต่เราก็จะเห็นวิถีชีวิตที่แตกต่างกันไป

เรื่องการออกแบบเมืองก็ส่งผลมากเลยนะ ช่วงหน้าหนาวก็จะเศร้า ๆ หน่อย อากาศหนาว ลมแรง แต่พอแดดออกเมื่อไหร่ เขาก็จะเอาจักรยานไปคอนเนกต์กับทุกที่ ที่นี่มันฟรีมากเลย คุณจะทำอะไรก็ได้ ปั่นไประหว่างเมืองแล้วมีทุ่งหญ้า คุณจะเอาผ้าไปปูนั่งปิกนิกก็ได้ จะกระโดดน้ำเขาก็มีแจ้งเตือนว่าวันนี้น้ำสะอาดกระโดดได้ วันไหนน้ำไม่สะอาดกระโดดไม่ได้ คุณภาพชีวิตเขามันส่งผลในเชิงความคิดเหมือนกันนะว่าเมืองที่ดีเป็นยังไง อิสระในการใช้ชีวิตก็เห็นได้ชัดเลย เราไม่ต้องมากลัวว่านู่นนี่ผิดไหม

ตอนนี้เริ่มชอบแดดเหมือนคนเนเธอร์แลนด์บ้างรึยัง

(ยิ้ม) ก็รู้สึกนะว่าบางทีไปยืนตากแดดสัก 5 นาที 10 นาที ก็รู้สึกดีขึ้นได้จริง ๆ

การออกแบบสถาปัตยกรรมและออกแบบเมืองมีพลังยังไงบ้าง ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมจริง ๆ หรือว่าในหนังก็ตาม

ถ้าคิดในบริบทว่าคนเราเกิดมาครั้งเดียว ใช้ชีวิตช่วงหนึ่งในเมือง 1 เมือง การพัฒนาก็รอไม่ได้เลยนะ การออกแบบเมืองและสถาปัตยกรรมส่งผลต่อการใช้ชีวิตมาก ๆ ถ้าออกแบบไม่ดี บรรยากาศดี ๆ ที่อยู่ในฉากหนังหรือการ์ตูนที่คุณเห็นกันก็จะไม่เกิดขึ้น พูดแล้วมันก็ (หัวเราะ) จริง ๆ มันสำคัญมาก ถึงไม่ทำอะไรก็ยังส่งผลเลย ถ้าทำสักหน่อยมันก็คงดีขึ้นแล้ว

วีรสุ แซ่แต้ เนิร์ดสถาปนิกจากเมือง Delft เนเธอร์แลนด์ ผู้ชอบดูหนังและหยิบทฤษฎีสถาปัตย์มาวิเคราะห์ในคอลัมน์ Set Design
วีรสุ แซ่แต้ เนิร์ดสถาปนิกจากเมือง Delft เนเธอร์แลนด์ ผู้ชอบดูหนังและหยิบทฤษฎีสถาปัตย์มาวิเคราะห์ในคอลัมน์ Set Design

ภาพ : Thijs van Waveren, Shangjun Cai, Xian Chen

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน