เรารู้จักชื่อและอ่านหนังสือของ ‘วันชัย​ ตัน’ ครั้งแรกตอนอยู่ชั้นมัธยมต้น

ชื่อหนังสือโรแมนติกสุดๆ มองแวบแรกคิดว่าหนังสือรวมบทกวี​ ทั้งที่จริงแล้ว​ เหตุผลของการมีชีวิตอยู่ เป็นหนังสือรวมงานเขียนสารคดี

คลับคล้ายคลับคลาว่าเคยเห็นชื่อเขาปรากฏอยู่บนหน้านิตยสารและหนังสือพิมพ์บ้าง แต่ไม่ได้ติดตามอย่างเหนียวแน่น 

อ่านไปได้แค่สามสี่บทแรก วางหนังสือ พลิกไปอ่านประวัติผู้เขียน เจ้าของบทความเรียบง่าย ตีแผ่ ทรงพลัง ทำให้จิตใจพุ่งพล่านด้วยความเดือดดาลในความจริงแสนบิดเบี้ยวของสังคมไทย ด้านหลังอีกทีชัดๆ 

วันชัย​ ตันติวิทยาพิทักษ์​ นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมืองและสิ่งแวดล้อม ผู้เขียนได้เกือบทุกเรื่องที่เขาเห็นและสัมผัส

35 ปีบนเส้นทางนักจับชีพจรสังคมของ​วันชัย​ ตัน​ จากนักเขียนสารคดี​สู่รายการทีวีและ Facebook, วันชัย​ ตันติวิทยาพิทักษ์​

วีรกรรมของวันชัยยาวเป็นหางว่าว​ เขาเป็นนักกิจกรรม​มาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์​ จนร่วมก่อตั้งและดำรงตำแหน่งบรรณาธิการนิตยสาร สารคดี มาอย่างยาวนาน​ 

เขากระตุกให้สังคมหยุดคิด​ ตั้งคำถาม​ เพื่อหาทางแก้ปัญหา​ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด​-​โชคดีที่รู้จักเขา​ตั้งแต่​เยาว์วัย และเรากลายเป็นแฟนหนังสือของเขามานับแต่นั้น

เราเดินทางมาเยี่ยมเขาที่บ้านในซอยสุขุมวิท​อันร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขา​ จนแทบไม่น่าเชื่อว่าอยู่กลางเมือง​ เพื่อสนทนาถึงเส้นทางชีวิตจากอดีตจนถึงปัจจุบัน​ ในความทรงจำของเขา

ตัวหนังสือของเขาหนักแน่น จริงจัง​ พอๆ​ กับชีวิตแสนสนุก​ โลดโผน และเต็มไปด้วยพลัง​ แถมบทสนทนากับเขายังรวยไปด้วยเสียงอารมณ์ขันอย่างไม่น่าเชื่อ

35 ปีบนเส้นทางนักจับชีพจรสังคมของ​วันชัย​ ตัน​ จากนักเขียนสารคดี​สู่รายการทีวีและ Facebook, วันชัย​ ตันติวิทยาพิทักษ์​

ตอนอายุ​ 50​ แทนที่จะอยู่ในอาณาจักรที่ตัวเองสร้างขึ้น​ เขาก้าวออกจากเซฟโซนและเปลี่ยนสายงาน​ จากนักหนังสือเป็นนักโทรทัศน์​ จากเล่าปัญหาสังคมด้วยตัวอักษร​ เป็นเล่าด้วยเสียงและภาพเคลื่อนไหว

ในวัย​ย่าง 60​ ทุกวันนี้วันชัยยังเป็นนักสังเกตการณ์​สังคม​ที่สนุกกับการสื่อสารเรื่องราวที่เขาค้บพบ​ ในหลากหลายแพลตฟอร์ม

ถ้าไม่ติดวิกฤตโรคระบาด​ เขาน่าจะยังเดินทางท่องโลก​ ไปทำความเข้าใจโลกใบเล็กอย่างเคย​ เพราะการใช้ชีวิตให้มีความสุขควรประกอบด้วย 3 สิ่ง คือทำงานที่ใจรัก ช่วยเหลือคนรอบข้าง และเดินทางท่องเที่ยว​-เขาบอกเราอย่างนั้น

2516

“สมัยก่อนมีนิตยสารสำหรับเยาวชนชื่อ ชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์ เขาเปิดพื้นที่ให้เด็กส่งผลงานไปรับพิจารณาตีพิมพ์ได้ ผมเขียนส่งไปหลายครั้ง รอแล้วรอเล่า เขาจะตีพิมพ์เรื่องของเราไหมหนอ ผมเป็นคนชอบจดบันทึก เขียนไดอารี่ตั้งแต่อยู่ชั้นประถม ไดอารี่หน้าที่บันทึก ‘เหตุการณ์ 14 ตุลา’ ยังมีเก็บไว้จนถึงทุกวันนี้ ตอนนั้นคือพรั่งพรูมาก”

พอขึ้นชั้นมัธยม วันชัยได้เข้าร่วมเป็นกองบรรณาธิการของ อัสสัมชัญสาส์น วารสารรายเดือนของโรงเรียนที่จัดทำโดยนักเรียนทั้งเล่ม เป้าหมายคือสร้างคอนเทนต์ดีๆ มอบความเข้าใจและชวนทั้งโรงเรียนฉุกคิดถึงประเด็นต่างๆ ในสังคม

35 ปีบนเส้นทางนักจับชีพจรสังคมของ​วันชัย​ ตัน​ จากนักเขียนสารคดี​สู่รายการทีวีและ Facebook, วันชัย​ ตันติวิทยาพิทักษ์​

“ตอนผมอยู่ มศ.1 สาราณียกรคือ พระไพศาล วิสาโล แล้วยังมีกองบรรณาธิการรุ่นพี่ ที่ตอนนี้เป็นบุคคลมีชื่อเสียงอย่าง ดร.วีระ สมบูรณ์ หรือ พจนา จันทรสันติ ร่วมทีมอยู่อย่างคึกคัก หน้าที่ผมตอนนั้นคือไปตามห้องเรียนแต่ละชั้น คัดเลือกโควตดีๆ จากเรียงความของนักเรียนที่เขียนในหัวข้อหลากหลาย ตั้งแต่ ‘คุณครูในอุดมคติ’ ไปจนถึง ‘ประชาธิปไตยคืออะไร’ มาลงวารสาร เป็นสิบอันดับโควตยอมเยี่ยมในหัวข้อนั้นหัวข้อนี้”

“โอ้โฮ เป็นวารสารโรงเรียนที่ล้ำสมัยก้าวหน้ามาก” เราอดอุทานไม่ได้

“นอกจากเขียนบทความและกลอนเปล่า ผมแปลนิทานเซ็นตอนสั้นๆ จากหนังสือเล่มหนึ่งที่ดังมาก ชื่อ Zen Flesh Zen Bones มาลง อัสสัมชัญสาส์น ฉบับละตอนด้วย ผมชอบการเล่าเรื่องแบบในหนังสือเล่มนี้นะ ไม่ต้องยาว ไม่ต้องยาก แต่ลึกซึ้งกินใจ เป็นงานแปลที่เป็นชิ้นเป็นอันแรกๆ นับว่ามีความสามารถในการแปลสั้นๆ ยาวกว่านั้นผมแปลไม่ได้ (หัวเราะ)”

มศ.5 วันชัยรับตำแหน่งสาราณียกรของ อุโฆษสาร หนังสือประจำปีของโรงเรียนที่เขาบอกว่าอุดมไปด้วยความคิดทางการเมือง 

35 ปีบนเส้นทางนักจับชีพจรสังคมของ​วันชัย​ ตัน​ จากนักเขียนสารคดี​สู่รายการทีวีและ Facebook, วันชัย​ ตันติวิทยาพิทักษ์​

“ผู้อำนวยการโรงเรียนตอนนั้นคือ ภราดาวิจารณ์ ทรงเสี่ยงชัย ท่านใจกว้าง เปิดพื้นที่ให้เด็กๆ แสดงความคิดเห็นกันพอสมควรทีเดียว และท่านก็มักออกค่ายสร้างโรงเรียนของกลุ่มอัสสัมชัญอาสาพัฒนากับพวกเรา”

2522

วันชัยเล่าว่าพ่อของเขาล้มละลาย ทำให้ต้องหาเลี้ยงตัวเองด้วยการเป็นพี่เลี้ยงสอนพิเศษแก่เด็กประถม จนสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาวิชาวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ได้

35 ปีบนเส้นทางนักจับชีพจรสังคมของ​วันชัย​ ตัน​ จากนักเขียนสารคดี​สู่รายการทีวีและ Facebook, วันชัย​ ตันติวิทยาพิทักษ์​
35 ปีบนเส้นทางนักจับชีพจรสังคมของ​วันชัย​ ตัน​ จากนักเขียนสารคดี​สู่รายการทีวีและ Facebook, วันชัย​ ตันติวิทยาพิทักษ์​

“เผอิญรู้จักกับ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ท่านรู้ว่าผมไม่ค่อยมีรายได้ เลยให้ไปช่วยงานที่สำนักพิมพ์เคล็ดไทย ตอนนั้นวันๆ ก็แบกหนังสือไปส่งตามร้านค้า ได้ค่าจ้างวันละร้อย ระหว่างเรียนก็ทำกิจกรรมชุมนุมเชียร์ ชุมนุมศิลปะการแสดง เขียนบทกำกับละคอนเวทีและงิ้วธรรมศาสตร์ เรียกว่าแทบจะไม่ได้ทำหนังสือ 

“ตอนนั้น ในแง่สื่อสารมวลชน งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ คือพื้นที่ที่จะได้พูด ได้สะท้อนปัญหาการเมืองออกไปในสังคม เพราะเป็นรายการถ่ายทอดสดที่ทุกคนจะได้ดู ขึ้นปีสี่ผมทำหน้าที่ฝ่ายโค้ดของชุมชนเชียร์ และได้ทำสิ่งที่ภูมิใจที่สุด คือการแปรอักษรและภาพอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ นับเป็นครั้งแรกในรอบสามสิบกว่าปีที่มีการเคารพท่านในที่สาธารณะ และผมก็ได้รับจดหมายทางไกลจากฝรั่งเศส แสดงความขอบคุณที่ระลึกถึง ก่อนท่านจะเสียชีวิตไม่นาน”

ในวันนั้น พวกเขาแปรภาพและอักษรเป็นถ้อยคำว่า

พ่อนำชาติด้วยสมองและสองแขน 

พ่อสร้างแคว้นธรรมศาสตร์ประกาศศรี 

พ่อของข้านามระบือชื่อปรีดี 

แต่คนดีเมืองไทยไม่ต้องการ

2527

หนึ่งเทอมก่อนเรียนจบ วันชัยได้รู้จัก นิดดา หงษ์วิวัฒน์ ผู้จัดการสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ผู้ชักชวนเขามาช่วยงานเป็นกองบรรณาธิการวารสาร เมืองโบราณ “จุดเริ่มต้นของผมในวงการหนังสือ คือฝ่ายผลิต ตรวจเพลต ส่งเพลตไปโรงพิมพ์ ช่วยงานที่เมืองโบราณอยู่ครึ่งปีจนเรียนจบ จริงๆ ตอนนั้นอยากเป็น Copy Writer เพราะคิดว่าเราน่าจะทำได้และรายได้ดี

“เป็นจังหวะที่ทีมงานเมืองโบราณ หลายคนมีความคิดจะสร้างนิตยสารเนื้อหาดี รูปเล่มสวยงามและขายได้ จึงเป็นที่มาของนิตยสาร สารคดี ตอนนั้น สุชาดา จักพิสุทธิ์ เป็นบรรณาธิการคนแรก และผมน่าจะเป็นกองบรรณาธิการที่เด็กที่สุดในทีม เงินเดือนสามพันบาท”

3,000 บาทถือว่าเป็นเรทเงินเดือนมาตรฐานสำหรับเด็กจบใหม่ในยุคนั้นไหม เราถาม

35 ปีบนเส้นทางนักจับชีพจรสังคมของ​วันชัย​ ตัน​ จากนักเขียนสารคดี​สู่รายการทีวีและ Facebook, วันชัย​ ตันติวิทยาพิทักษ์​

“มีคนชวนไปเป็น Copy Writer เงินเดือนสตาร์ทหนึ่งหมื่น” วันชัยเล่ากลั้วหัวเราะ

“เงินเดือนสามเท่าแต่ไม่ยอมไป ไม่ใช่อะไรหรอกนะ ด้วยความเป็นเด็กไง พอ สารคดี เพิ่งเปิดใหม่ มันเลยมีความรู้สึกว่าเราต้องอยู่ทำจนสำเร็จเป็นรูปเป็นร่างก่อน แล้วถึงจะไปหางานใหม่ได้ ทีมงานยังไม่เยอะ เราเลยต้องทำทุกอย่าง จากไม่เคยถ่ายรูป ไม่เคยเขียนบทความยาวๆ ก็ต้องหัดถ่ายหัดเขียน และแทบไม่ได้อยู่กรุงเทพฯ แต่ละวันๆ ก็นั่งรถเมล์ไปทำสกู๊ปตลอด แต่ตังค์ก็ยังไม่พอ เพราะผมมีหนี้ที่บ้านต้องปลดเป็นล้าน ช่วงแรกของชีวิตทำงานเลยรับจ๊อบเยอะมาก ทั้งเขียนก็อปปี้ไรต์ ทำใบโฆษณา เขียนบทโฆษณา เขียนบทละครทีวี ช่วงนั้นเพิ่งเกิดสิ่งที่เรียกว่ามิวสิกวิดีโอ ผมก็รับทำ พูดง่ายๆ ว่ารับแม่งทุกจ๊อบ แต่ไม่ยอมลาออก ดื้อ (หัวเราะ) จะทำจนกว่านิตยสารประสบความสำเร็จ”

สารคดี ฉบับไหนทำให้คุณรู้สึกว่านี่คือความสำเร็จขั้นหนึ่งแล้ว เราถามต่อ

35 ปีบนเส้นทางนักจับชีพจรสังคมของ​วันชัย​ ตัน​ จากนักเขียนสารคดี​สู่รายการทีวีและ Facebook, วันชัย​ ตันติวิทยาพิทักษ์​

“จริงๆ มีหลายฉบับ หนึ่งในนั้นคือฉบับครบรอบสิบปีการลี้ภัยออกนอกประเทศของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เดือนตุลาคม พ.ศ. 2529 ตอนนั้นไม่มีใครกล้าทำเรื่องอาจารย์ป๋วย เราเลยตัดสินใจทำสกู๊ปชีวิตสิบปีของอาจารย์ ผ่านการสัมภาษณ์คนแวดล้อม และใช้รูปที่ถ่ายโดย ปีเตอร์ อึ๊งภากรณ์ เป็นฉบับที่วางตลาดแล้วหมดเกลี้ยงจนต้องพิมพ์ครั้งที่สอง และเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ที่ทำให้คนในสังคมกล้าพูดถึงอาจารย์ป๋วยกัน”

2528

หลายคนอาจไม่รู้ว่า หนังสือที่ตีพิมพ์เล่มแรกของวันชัยไม่ใช่งานเขียน แต่เป็นงานแปลและเรียบเรียง ณ ที่ดวงตะวันฉายแสง ข้าจะไม่สู้รบอีกต่อไป ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2528 ตอนนั้นเขาเพิ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จนทุกวันนี้ แม้เวลาจะผ่านมากว่า 30 ปี แต่หนังสือเล่มนี้ยังได้รับการพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง สำหรับเราหนังสือเล่มนี้มีคุณค่าเหนือกาลเวลา เพราะเป็นบทบันทึกโศกนาฏกรรมแห่งประวัติศาสตร์ที่สะท้อนความอยุติธรรม 

35 ปีบนเส้นทางนักจับชีพจรสังคมของ​วันชัย​ ตัน​ จากนักเขียนสารคดี​สู่รายการทีวีและ Facebook, วันชัย​ ตันติวิทยาพิทักษ์​

การรุกรานของคนผิวชาวผู้มีพลังอำนาจเหนือกว่าต่อชาวอินเดียนแดง ชนพื้นเมืองของทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งเป็นผู้อ่อนแอกว่าอย่างโหดร้ายทารุณเมื่อ 500 กว่าปีก่อน ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเป็นวงกลม ทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าที่ใดในโลก ยังมีคนที่พร้อมใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเอง แม้ต้องแลกมาด้วยการทำลายล้างผู้ที่อ่อนแอกว่า

อะไรทำให้วันชัยในวัยหนุ่มใช้เวลากว่า 2 ปี หมกมุ่นอยู่กับการอ่านหนังสือหลายสิบเล่ม เพื่อแปลและเรียบเรียงประวัติศาสตร์ จากสุนทรพจน์ของชนพื้นเมือง เจ้าของแผ่นดินตัวจริง ที่ปัจจุบันแทบไม่เหลือร่องร่อยให้เห็นในทวีปอเมริกาเหนือ เราถาม

“สมัยปีสี่ ผมมีโอกาสได้อ่านบทความเกี่ยวกับการต่อสู้ของชาวอินเดียนแดง ในวารสาร โลกหนังสือ ของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ได้พบถ้อยคำที่เป็นดั่งบทกวีของผู้นำชาวอินเดียนหลายๆ คน ที่เอ่ยถึงความพ่ายแพ้ที่คืบคลานเข้ามาอย่างเด็ดเดี่ยวด้วยหัวใจของนักรบ อ่านแล้วผมรู้สึกสะเทือนใจ น้ำตาไหล ถ้อยคำของชาวอินเดียนแดงทุกคำกลั่นออกมาจากความรู้สึกจริงๆ ง่าย มีความหมายชัดเจนและไพเราะราวบทกวี” 

35 ปีบนเส้นทางนักจับชีพจรสังคมของ​วันชัย​ ตัน​ จากนักเขียนสารคดี​สู่รายการทีวีและ Facebook, วันชัย​ ตันติวิทยาพิทักษ์​

เป็นจริงเช่นนั้น เมื่อพลิกอ่านไล่เรียงทีละหน้า เราพบความงดงามแสนเศร้าอ้อยอิ่งอยู่ในทุกตัวอักษร แม้จะเป็นหนังสือเล่มแรก แต่ ณ ที่ดวงตะวันฉายแสง ข้าจะไม่สู้รบอีกต่อไป สะท้อนความเป็นนักสังเกตการณ์สังคมของวันชัยได้เป็นอย่างดี 

“บทเรียนของชะตากรรมของชาวอินเดียนแดงแม้จะเกิดขึ้นหลายร้อยปีแล้ว แต่ยังเป็นบทเรียนให้กับคนรุ่นใหม่ได้ศึกษา และหลายเรื่องก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะประวัติศาสตร์สอนให้เรารู้ว่า เราไม่เคยเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์เลย” 

2533

หลังดื้อทำงานที่ สารคดี อยู่ 5 ปี ในวัย 29 ปี กองบรรณาธิการที่เด็กที่สุดอย่างวันชัยก็ถูกเลือกให้ทำหน้าที่บรรณาธิการบริหาร เขาทำงานในตำแหน่งนี้อยู่นานถึง 20 ปี เขียนสารคดีขนาดยาวลงตีพิมพ์ไม่น้อยกว่า 100 ชิ้น

35 ปีบนเส้นทางนักจับชีพจรสังคมของ​วันชัย​ ตัน​ จากนักเขียนสารคดี​สู่รายการทีวีและ Facebook, วันชัย​ ตันติวิทยาพิทักษ์​

“สมัยก่อนเวลาพูดถึง บ.ก. โอ้โฮ เป็นตำแหน่งที่ใหญ่มาก นั่งโต๊ะคอยสั่งงานงานลูกน้อง ผมเป็น บ.ก. คนเดียวมั้งที่ยังออกไปตะลอนทำข่าวอยู่ กูสั่งงานตัวเอง (หัวเราะ) ด้วยความที่ตอนนั้นเราเริ่มมีชื่อพอสมควร จึงมีคนเชิญไปต่างประเทศอยู่เรื่อยๆ เวลามีหมายเชิญอะไรมา ในกองเราจะเวียนหมายกันเพื่อความเท่าเทียม ดังนั้นทุกคนมีโอกาสได้ไปต่างประเทศหมด นอกจากบางหมายที่ต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัวสูง ต้องเขียนเรื่องและถ่ายภาพเองได้ด้วย ผมก็ไปคนเดียว

“เชื่อไหม พอเริ่มเป็น บ.ก. ก็เริ่มถูกเชิญไปสอนหนังสือ ไปแทบทุกมหาวิทยาลัย ก่อนเจอหน้า ส่วนใหญ่พวกอาจารย์คิดว่าผมน่าจะอายุสักห้าสิบ เป็นไปได้ว่าตัวอักษรทำให้รู้สึกว่าเราต้องมีภูมิปัญญาสักหน่อย เลยจะมาขำขันเหมือนตัวจริงมากไม่ได้ แถมเวลาเขาเชิญไปออกงาน ก็ไปอย่างนี้ ใส่กางเกงยีนส์ไป ก็ไม่มีใครเชื่ออีกว่าไอ้นี่เป็น บ.ก. (หัวเราะ)”

วันชัยอธิบายว่า สำหรับเขา บรรณาธิการเป็นเสมือนกุ๊กปรุงอาหาร ที่ต้องมีศิลปะในการปรุงให้มีรสชาติอร่อยและมีคุณค่าทางโภชนาการ จะได้มีคนกินมากมาย หากอร่อยอย่างเดียวก็เหมือนอาหารขยะ หรือหากมีแต่คุณค่าทางโภชนาการแล้วรสชาติจืดชืดก็แทบจะไม่มีคนกิน ซึ่งการรักษาความสมดุลของทั้งสองอย่างเป็นเรื่องยาก แต่ทำได้

“อย่างแรก ต้องเป็นเรื่องที่ร่วมสมัย มีกระแสจางๆ อยู่บ้างในสังคมที่จะทำให้คนอยากติดตาม เรียกว่าไม่ได้ Mainstream แต่อิงสถานการณ์อะไรบางอย่าง และสอง เรื่องต้องแปลกจริง มีความตื่นตาว่าไปสรรหา ตะลุยไปเอาเรื่องราวแบบนี้มาได้ยังไง

35 ปีบนเส้นทางนักจับชีพจรสังคมของ​วันชัย​ ตัน​ จากนักเขียนสารคดี​สู่รายการทีวีและ Facebook, วันชัย​ ตันติวิทยาพิทักษ์​

“มีอยู่ฉบับหนึ่ง เราทำเรื่องวัดเส้าหลินเพราะภาพยนตร์ เส้าหลิน กำลังดัง เผอิญมีเพื่อนทำงานอยู่นิตยสารของจีน ผมก็ติดต่อเพื่อนไปเลย เฮ้ย หาทางเชิญกูไปหน่อย เพราะไปเองไม่ได้อยู่แล้ว ต้องให้ทางรัฐบาลจีนเชิญดั้นด้นจนไปถึงปักกิ่ง เชื่อไหมว่าไม่มีรถยนต์สักคันเดียว มีแต่จักรยาน และทุกคนก็ใส่ชุดมวยจีนแบบเดียว สีเดียวกันหมด จากปักกิ่งไปเส้าหลิน ทุลักทุเลสุดๆ จนได้ไปเจอปรมาจารย์ที่เส้าหลิน ใช้ล่ามสองคน จากจีนพื้นเมืองเป็นจีนกลาง และจีนกลางมาเป็นไทย 

“เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว การไปเดินทางไปทำคอนเทนต์แบบนี้คือยากมาก และจีนก็ยังไม่ได้เป็นประเทศมหาอำนาจอย่างทุกวันนี้ เวลาจะเลือกเรื่องมาทำ สารคดี เราจะสุมหัวคิดกันแบบนี้แหละ อะไรที่มันร่วมสมัยและคนสนใจอยากรู้”

2536

พ็อกเก็ตบุ๊กรวมงานเขียนสารคดีเล่มแรกของวันชัย ก่อนจะไม่มีลมหายใจสำหรับพรุ่งนี้ (2536) ได้รับรางวัลชมเชยประเภทสารคดี จากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติประจำ พ.ศ. 2536 จากนั้น พ็อกเก็ตบุ๊กรวมงานเขียนอีกหลายต่อหลายเล่มก็ทยอยตามมาหลังจากนั้น ตัวอย่างเช่น 

หนังสือ คน เขื่อน น้ำ ป่า กาแล็กซี่ (2546) บันทึกความเปลี่ยนแปลงของโลกและมนุษย์ ผ่านบทบรรณาธิการ 14 ปี 

หนังสือ ผมซักฟอก (2547) รวมบทชำแหละนโยบายรัฐและชะล้างทิศทางการพัฒนา

หนังสือ ความจริงที่หายไป จากคลองด่านถึงเชียงดาว (2548) ที่ได้รับเลือกเป็น 1 ใน 100 เล่มหนังสือดีวิทยาศาสตร์ในเมืองไทย 

หนังสือรวมเรื่องที่ควรรู้ ที่เราคิดว่ารู้ แต่เราไม่เคยรู้ เหตุผลของการมีชีวิตอยู่ (2553) 

35 ปีบนเส้นทางนักจับชีพจรสังคมของ​วันชัย​ ตัน​ จากนักเขียนสารคดี​สู่รายการทีวีและ Facebook, วันชัย​ ตันติวิทยาพิทักษ์​
35 ปีบนเส้นทางนักจับชีพจรสังคมของ​วันชัย​ ตัน​ จากนักเขียนสารคดี​สู่รายการทีวีและ Facebook, วันชัย​ ตันติวิทยาพิทักษ์​

หนังสือ WILD SIDE ในนามของธรรมชาติ (2560) รวมบทความชวนมองชีวิตที่อยู่รายรอบตัว และอีกมากมายรวมแล้วเขามีผลงานเขียนตีพิมพ์เป็นหนังสือถึง 28 เล่ม

จุดเด่นชิ้นงานของวันชัย ไม่ว่าจะเป็นบทความหรือบทบรรณาธิการนิตยสาร สารคดี ที่ได้รับยอมรับอย่างกว้างขวาง ว่าเป็นตัวจับชีพจรสังคมที่คนทุกวัย ทุกอาชีพ ตั้งแต่นักธุรกิจ นักการเมือง นักคิด นักศึกษา ไปจนถึงสื่อด้วยกันเองติดตามอ่านอย่างเหนียวแน่นตลอดมา

คือประเด็นเกี่ยวกับปัญหาสังคมที่เขาเลือกมาเล่า ทุกเรื่องล้วนเป็นปัญหาใหญ่ แต่กลับไม่ค่อยมีใครพูด และด้วยความคิดอันเฉียบคมบวกศิลปะในการเขียนหนังสือเฉพาะตัว เขาทำให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องซับซ้อนได้ง่ายๆ ผ่านถ้อยคำกระชับ ตรงไปตรงมา ที่ชี้ให้เห็นทั้งภาพรวมและรายละเอียดสำคัญ

ในคำนำผู้เขียนของหนังสือ WILD SIDE ในนามของธรรมชาติ วันชัยกล่าวถึงตัวเองไว้ว่า 

“ผมเป็นคนชอบเดินทาง เพื่อนบอกว่าผมเป็นคนช่างสังเกตและตั้งคำถาม เวลาไปไหนจะเห็นผมถามผู้คน ราวกับสัมภาษณ์มาทำข่าว อาจจะเป็นนิสัยที่ติดตัวมาตั้งแต่ตอนทำนิตยสาร สารคดี มายี่สิบกว่าปี อยากรู้ อยากเห็น และช่างสงสัย จึงเกิดคำถามมากมายจนกว่าจะได้คำตอบน่าพอใจ แต่บางคำถามก็ไม่ได้คำตอบ แค่ได้ตั้งคำถามอย่างเดียว และสุดท้ายก็ชอบถ่ายทอดเป็นตัวหนังสือ แบ่งปันให้คนอื่นเป็นการตอบแทนในความขี้สงสัย”

งานเขียนของเขามีพลัง เพราะบอกเล่าจากมุมมองของคนที่ลงไปสัมผัสปัญหา และนำมาตีแผ่ด้วยพลังของเจตนาดีที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง อยากเห็นปัญหาถูกแก้ไข

35 ปีบนเส้นทางนักจับชีพจรสังคมของ​วันชัย​ ตัน​ จากนักเขียนสารคดี​สู่รายการทีวีและ Facebook, วันชัย​ ตันติวิทยาพิทักษ์​

“ผมเคยเขียนเรื่องการตัดไม้เถื่อนที่แพร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องอิทธิพลสูง หลายสิบปีก่อนผมกับ อ้วน (นิคม พุทธา) ขับรถตระเวนในป่า ระหว่างทางกลับมีไม้ซุงล้มขวางทางอยู่ ด้วยความเป็นพลเมืองดี เหี้ย มีคนลักลอบตัดซุงว่ะ รีบขับรถไปแจ้งหน่วยพิทักษ์ป่า

“เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ามีอยู่คนเดียว เขาเอาปืนลูกซองมาให้ บอกให้เราไปดูด้วยกัน ผมถามกระสุนล่ะครับ เจ้าหน้าที่บอกตกเบิก ตกเบิกมานานแล้ว สรุปก็บุกไปด้วยปืนลูกซองที่ไม่มีกระสุน ไปถึงเขาเอาช้างมาลากซุงข้ามลำธารไปแล้ว พวกผมไม่ยอม ตามไปจะจับให้ได้ ปรากฏว่าฝั่งนั้นยิงปืนใส่ทันที ปังๆๆ โห วิ่งกันฉิบหาย แต่ก็ยังไม่ยอมอีก สุมหัวหาทางใหม่ สักพักเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ามาบอกว่า กลับเถอะ ไม่อย่างนั้นเขาจะมาล้อมเรานะ เลยต้องขับรถกลับ ออกมายังไม่ทันพ้น พวกตัดไม้ขี่มอเตอร์ไซค์มาขวางแล้วชูขวานเป็นการขู่

35 ปีบนเส้นทางนักจับชีพจรสังคมของ​วันชัย​ ตัน​ จากนักเขียนสารคดี​สู่รายการทีวีและ Facebook, วันชัย​ ตันติวิทยาพิทักษ์​

“ตกดึก ระหว่างทางกลับกรุงเทพฯ เราเห็นขบวนเกวียนบรรทุกไม้เถื่อนวิ่งเข้าไปในหมู่บ้าน ด้วยความที่อยากเข้าไปดูให้เห็นกับตา เลยขับตามไปจนเห็นชัดว่าพวกตัดไม้เถื่อนแน่ รีบถอยรถออกมาแจ้งตำรวจ ตำรวจบอกว่า ไม้เนี่ย ไม้กำนัน ไม้หมู่ใหญ่บ้าน อย่าไปยุ่งเลย สรุปคือทำอะไรไม่ได้สักอย่าง 

“ทำได้แค่นำมาเขียนให้สังคมรับรู้ว่าสิ่งเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น อย่างน้อยก็เป็นการจุดประกายให้คนรู้ว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อม การทำลายธรรมชาติ เป็นปัญหาที่ลุกลามมาเรื่อยๆ ตั้งนานแล้ว แต่คนไม่ค่อยรู้สึกเพราะมันเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว”

2548

“ในนิตยสาร สารคดี มีคอลัมน์สัมภาษณ์ใหญ่ที่ผมทำเกือบทุกฉบับ สัมภาษณ์ตั้งแต่ตั้งแต่นายกยันภารโรง ข้อดีของชีวิตของคนทำงานสื่อคือ เรามีโอกาสพบเจอคนมากหน้าหลายตา ได้สนทนากับผู้คนอย่างกว้างขวาง การได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากคนมากมาย ได้เรียนรู้ประสบการณ์ชีวิต ความผิดพลาด ความสำเร็จ แนวคิดการใช้ชีวิต ข้อคิดของผู้คนเหล่านั้นเป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้เราเข้าใจชีวิตของคนทุกระดับ อย่างที่ผู้ใหญ่บางท่านกล่าวว่า การเรียนรู้ชีวิตจากบทเรียนคนอื่น ถือเป็นการเรียนลัดอันมีค่ามากที่สุด”

“มีแต่คำถามที่ดีเท่านั้นที่จะนำมาซึ่งคำตอบที่ดี และบทสัมภาษณ์ที่ดีจำเป็นต้องมีทั้งคำถามที่ดีและคำตอบที่เหมาะสม” 

คือถ้อยคำที่ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เขียนไว้ในบทนำของชุดหนังสือรวมบทสัมภาษณ์คัดสรร จากการสัมภาษณ์และปลายปากกาของวันชัย ที่แบ่งเป็น 3 เล่ม คือ Business, Life และ Thought (2548)

35 ปีบนเส้นทางนักจับชีพจรสังคมของ​วันชัย​ ตัน​ จากนักเขียนสารคดี​สู่รายการทีวีและ Facebook, วันชัย​ ตันติวิทยาพิทักษ์​

วันชัยบอกว่า บทสัมภาษณ์ที่ดีต้องดึงตัวตนของผู้ถูกสัมภาษณ์ออกมาด้วย หนึ่งในบทสัมภาษณ์ที่เป็นที่ยอมรับและถูกกล่าวถึงมากที่สุดแห่งยุค คือบทสัมภาษณ์ของ ฮิวโก้-จุลจักร จักรพงษ์ ในวัย 18 ปี

“ด้วยความที่ฮิวโก้เติบโตที่ต่างประเทศ ทำให้ความคิดของเด็กหนุ่มคนนี้ค่อนข้างไม่เหมือนดาราหรือวัยรุ่นไทยคนอื่น และบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ เป็นครั้งแรกที่ฮิวโก้พูดถึงตัวตนของเขาจริงๆ ทั้งการมองโลกแบบตะวันตก ที่จบไฮสคูลแล้วไม่จำเป็นต้องเรียนต่อมหาวิทยาลัย จนกว่าจะรู้ว่าอยากเป็นหรืออยากเรียนอะไรต่อ ไปจนถึงเรื่องเซ็กส์ ความรัก และการป้องกันโรคติดต่อทางเพศที่สังคมไทยหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงมาตลอด ทั้งหมดคือทัศนคติจากตัวตนของเขา”

35 ปีบนเส้นทางนักจับชีพจรสังคมของ​วันชัย​ ตัน​ จากนักเขียนสารคดี​สู่รายการทีวีและ Facebook, วันชัย​ ตันติวิทยาพิทักษ์​

การสัมภาษณ์สไตล์วันชัยเป็นยังไง เราถาม

“หนึ่ง ผมเป็นแค่เมสเซนเจอร์ที่นำถ้อยคำของเขามา นักสัมภาษณ์หลายคนมีธงในใจว่าอยากได้คำตอบแบบไหน แล้วชี้นำ แต่ผมไม่ ผมจะปล่อยให้เขาพูดหมดเลย ถ้าไม่จำเป็น ไม่ถามแย้ง เพราะต้องการความสดของความรู้สึกว่าเขาอยากจะบอกอะไร และผมไม่ไล่บี้เอาคำตอบจากเขาด้วย ผมทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้บทสนทนาลื่นไหลมากกว่า”

“สอง ผมสร้างความคุ้นเคยกับผู้สัมภาษณ์เสมอ เพื่อไม่ให้บรรยากาศการสนทนาเป็นทางการเกินไป ความคุ้นเคยมาจากการที่เราทำการบ้านมาอย่างดี รู้แบกกราวนด์ของผู้ถูกสัมภาษณ์ สามารถชวนคุยอ้อมแม่น้ำเพื่อให้ผ่อนคลายกันก่อนเข้าเรื่อง และความคุ้นเคยก็มาจากความจริงใจ

“มีครั้งหนึ่งเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว ผมไปสัมภาษณ์คนเก็บขยะรอบๆ ภูเขาขยะที่อ่อนนุช สมัยก่อนกลิ่นเหม็นมาก ตอนแรกที่ไปถึง คนเก็บขยะนึกว่าผมเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบจะมาจับ พอผมกดอัดเทปเสียง เขาก็หยุดพูดทันที ไม่ได้สัมภาษณ์สักที ผมคิดว่าไม่ได้การแล้ว ต้องหาทางสร้างความมั่นใจว่าเรากับเขาเป็นพวกเดียวกัน

35 ปีบนเส้นทางนักจับชีพจรสังคมของ​วันชัย​ ตัน​ จากนักเขียนสารคดี​สู่รายการทีวีและ Facebook, วันชัย​ ตันติวิทยาพิทักษ์​

“จนวันหนึ่ง หลังจากไปมาหลายรอบ ยืนกันอยู่สักพัก มีรถขนขยะจากปากคลองตลาดแล่นมาจอด บรรดาคนเก็บขยะจัดการรื้อถังขยะ ปรากฏว่าเขาโยนละมุดสุกลูกหนึ่งมาทางผม พร้อมตะโกนว่า เอ้า ลองชิมดู อร่อยนะ ละมุดลอยมาตกในมือ (หัวเราะ) ผมจ้องละมุดอยู่เสี้ยววินาที เหี้ย กินก็กินวะ ทันทีที่ละมุดเข้าปาก จบเลยนะ กำแพงอะไรต่างๆ ที่ขวางผมกับพวกเขาไว้ ทีนี้เขาเล่าหมดเลย เบื้องหน้า เบื้องหลัง”

วันชัยเล่าย้อนความหลังอย่างอารมณ์ดีว่า วันนั้นนอกจากเขาจะได้สัมภาษณ์แบบหมดเปลือกแล้ว ยังได้ล้อมวงกินอาหารกลางภูเขาขยะอีกด้วย 

2554

วันชัยได้รับรางวัลศรีบูรพา จากกองทุนศรีบูรพาและสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยใน พ.ศ. 2554 พร้อมตัดสินใจเปลี่ยนสายงานจากคนทำหนังสือ ไปเป็นคนสร้างสรรค์สื่อโทรทัศน์ในตำแหน่งรองผู้อำนวยการ Thai PBS ทีวีสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย ในวัย 50 ปี 

“แน่นอนว่าเวลาที่เราอยู่กับอะไรมานานๆ ถึงจุดหนึ่ง มันก็มีเวลาอิ่มตัวของมัน ผมอยู่กับ สารคดี มาตั้งแต่ก่อตั้ง รวมแล้วเป็นเวลายี่สิบห้าปี เลยอยากหาอะไรที่ท้าทาย วันที่ออกจาก สารคดี คนตกใจกันมาก เพราะปกติคนอายุห้าสิบ มักจะอยากอยู่ในเซฟโซนของตัวเอง อยู่ในอาณาจักรที่กูเป็นเบอร์หนึ่ง สบายๆ ชิลล์ๆ มีพรรคพวก ลูกน้อง 

35 ปีบนเส้นทางนักจับชีพจรสังคมของ​วันชัย​ ตัน​ จากนักเขียนสารคดี​สู่รายการทีวีและ Facebook, วันชัย​ ตันติวิทยาพิทักษ์​

“แต่ผมเลือกทำสิ่งตรงข้าม จากพื้นที่มั่นคงก้าวมาอยู่ในพื้นที่สังหาร คือมาอยู่ในโลกทีวีที่เราไม่รู้จักใครเลย แถมอยู่ดีๆ ยังไปเป็นเจ้านายเขาอีก รับรองโดนรับน้องสนุกแน่ ถามว่าแล้วจะไปทำไม อย่างแรกผมรู้สึกว่าตัวเองน่าจะมีส่วนช่วยให้ทีวีสาธารณะมีคุณภาพมากขึ้น ถ้าเป็นช่องอื่นคงไม่ไปหรอก และสองมันท้าทาย

“วันแรกที่ผมไปทำงานที่ไทยบีพีเอส ผมบอกผู้ใหญ่ว่าไม่ได้มาเพราะเงินเดือนหรอก แต่มาเพราะอยากรู้ว่าเราจะทำได้ไหม ถ้าทำได้ก็จะอยู่ช่วย และบอกน้องๆ ว่า ไม่ต้องมาประเมินผมหรอก ผมอยู่ที่นี่สองเดือน ก็รู้ตัวแล้วว่าใช่หรือไม่ใช่ ถ้าไม่ใช่ผมออกเอง ไม่ต้องรู้สึกว่ามาเสียเวลากัน”

“ระหว่างการทำคอนเทนต์หนังสือกับทีวีต่างกันเยอะไหม” เราถาม

35 ปีบนเส้นทางนักจับชีพจรสังคมของ​วันชัย​ ตัน​ จากนักเขียนสารคดี​สู่รายการทีวีและ Facebook, วันชัย​ ตันติวิทยาพิทักษ์​

“ต่างกันเยอะเลย นิตยสารเดินเรื่องด้วยตัวหนังสือ แต่ทีวี คอนเทนต์คือภาพ ดังนั้นหัวใจคือคุณจะทำยังไง ให้ภาพบอกเล่าเรื่องราวอย่างสมบูรณ์ที่สุด ไม่ต้องบรรยายเยอะ ด้วยความที่ผมเป็นช่างภาพนิตยสารมากก่อน เลยพอจะคุยกับคนทำทีวีได้” 

มีครั้งหนึ่ง มีเหตุการณ์ประท้วงโรงไฟฟ้าที่ขนอม นครศรีธรรมราช ปรากฏว่าช่างภาพเก็บแค่ภาพระดับสายตามา เขาจึงเรียกช่างภาพมาคุยและถามว่าทำไมไม่ขึ้นไปถ่ายบนตึก เพื่อให้มองลงมาเห็นผู้ประท้วงเนืองแน่นพื้นที่ ถ่ายระดับสายตาแบบนี้เห็นผู้ประท้วงไม่กี่คน มันไม่เห็นพลังมวลชน เหตุการณ์นั้นทำให้คนทีวียอมรับว่า คนที่มาจากนิตยสารก็รู้เรื่องมุมภาพเหมือนกัน

2562

เรื่องราวของ ‘ป่าป๊า’ ชายผู้ลักลอบขึ้นเรือสำเภออพยพหนีสงครมกลางเมือง มุ่งหน้าสู่เมืองไทยด้วยความหวังว่าจะสร้างเนื้อสร้างตัว หาเงินทองส่งกลับไปหาครอบครัวที่จากมา เฉกเช่นชาวจีนรุ่น ‘เสื่อผืนหมอนใบ’ คนอื่น ทว่าโชคชะตาฟ้าลิตให้เขาต้องพบเจออุปสรรคนับครั้งไม่ถ้วน ล้มลุกคลุกคลานไปพร้อมๆ กับการดูแลคู่ชีวิตและลูกๆ ทั้ง 7 จนถึงวินาทีสุดท้าย”

คือสิ่งที่ระบุอยู่ปกหลัง เสื่อผืนหมอนใบ (2562) หนังสือเล่มล่าสุดของวันชัย และเป็นหนังสือเล่มแรกที่เขาเขียนถึงครอบครัว

“ปกติผมไม่ค่อยเล่าหรือเขียนเรื่องส่วนตัว แต่ผมเขียนหนังสือเล่มนี้ ด้วยการร้องขอจากเพื่อนจำนวนมาก ตอนที่พ่อตายเมื่ออายุเก้าสิบสี่ ใน พ.ศ. 2560 ผมได้เขียนเล่าเรื่องราวของพ่ออย่างสั้นๆ ทยอยลงในเฟซบุ๊กของผมประมาณสิบตอน หวังให้เป็นบทเรียนชีวิตกับเพื่อน ว่าคนรุ่นเสื่อผืนหมอนใบแบบพ่อของผมสู้ชีวิตด้วยความทรหดเพียงใด”

ปรากฏว่าได้รับความนิยมจากคนอ่านจำนวนมาก และมีเสียงเรียกร้องว่าน่าจะเขียนเป็นหนังสือให้ละเอียดขึ้น เพื่อคนรุ่นหลังจะได้ศึกษาชีวิตของพ่อ

35 ปีบนเส้นทางนักจับชีพจรสังคมของ​วันชัย​ ตัน​ จากนักเขียนสารคดี​สู่รายการทีวีและ Facebook, วันชัย​ ตันติวิทยาพิทักษ์​

“เราคงเคยได้ยินประโยคทำนองว่า คนจีนจำนวนมากหอบเสื่อผืนหมอนใบจากเมืองจีน หนีความยากจน ความยากลำบาก เพื่อมาสร้างเนื้อสร้างตัวจนประสบความสำเร็จในเมืองไทย กลายเป็นเจ้าสัวกันทั้งนั้น เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังว่าพ่อผมนี่แหละที่ล้มละลาย ด้วยความซื่อสัตย์ ด้วยความที่ไม่เคยโกงใคร และท่ามกลางชีวิตที่ล้มเหลวของพ่อ ก็มีก็แรงบันดาลใจและบทเรียนมากมายให้ได้เรียนรู้

“หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ขายเยอะ เพิ่งพิมพ์ครั้งเดียวอยู่เลย แต่มีคนอ่านหลายคนเขียนจดหมายส่งมาว่าอ่านแล้วน้ำตาไหล น่าจะสะเทือนใจ”

เราเองก็เสียน้ำตาให้หลายหน้ากระดาษในหนังสือเล่มนี้

35 ปีบนเส้นทางนักจับชีพจรสังคมของ​วันชัย​ ตัน​ จากนักเขียนสารคดี​สู่รายการทีวีและ Facebook, วันชัย​ ตันติวิทยาพิทักษ์​

2563

“เห็นคุณยังจับชีพจรสังคม​และเขียนเรื่องราวต่างๆ​ ลงเฟซบุ๊กอยู่เสมอ​ จากคนทำสื่อน้ำหมึก​ มาทีวี​ จนถึงโซเชียลมีเดีย​สำหรับคุณแตกต่างกันยังไงบ้าง​ เอาเชิงวรรณศิลป์ก่อนก็ได้” เราถาม

“ผมไม่ค่อยมีอรรถรสในเชิงวรรณศิลป์ (หัวเราะ) อันนี้ไม่ได้ถ่อมตน แต่เรารู้ตัวเองว่า ถ้าเทียบกับนักเขียนคนอื่น​ เราก็ไม่ได้มีอรรถรสในเชิงวรรณศิลป์มาก งานเขียนของผมคงเหมือนเดิม​ สั้นๆ ได้ใจความ อ่านแล้วเคลียร์ในประเด็น

“ที่ต่างอาจจะเป็นเรื่องตัวตน​ หน้าบทบรรณาธิการเป็นเสมือน​ตัวแทนนิตยสาร​และทีมงาน แต่เฟซบุ๊กคือตัวตนของเราคนเดียว​ สำหรับผมมันเป็นคล้ายไดอารี​่่ ที่เมื่อก่อนจดเป็นเล่มๆ​ ไว้ทดความคิดก่อนนำไปขยายต่อเป็นบทความ​ เป็นหนังสือ

35 ปีบนเส้นทางนักจับชีพจรสังคมของ​วันชัย​ ตัน​ จากนักเขียนสารคดี​สู่รายการทีวีและ Facebook, วันชัย​ ตันติวิทยาพิทักษ์​

“และแน่นอนว่า เฟซบุ๊กก็เป็นเครื่องมือหนึ่งของการสื่อสาร จะผิดจะถูกก็ไม่รู้นะ แต่หน้าที่ของเราคือการสื่อสาร สิ่งที่เราชื่อ สิ่งที่เราคิดว่าถูกต้องให้กับสังคม แล้วค่อยให้สังคมไปคิดต่อ ด่าบ้าง ชมบ้างก็แล้วแต่ เราก็ไม่ได้คิดว่าเขาต้องเห็นด้วยกับเราไปหมด 

“วันก่อนผมเขียนสเตตัสเรื่องเดินป่าสั้นๆ แต่น่าจะทำให้คนได้ฉุกคิดว่าทำไมนักท่องเที่ยวต้องเดินป่าวะ แค่คุณพลิกใบไม้ขึ้นมา​ พิจารณาและตั้งคำถาม โลกเปลี่ยนแล้ว​ เมืองไทยไม่เปลี่ยนเพราะคนไทยไม่ค่อยตั้งคำถาม อะไรเดิมๆ เขาว่าอะไรก็ว่ากันไป​ คุณไม่ต้องยอมจำนนกับทุกเรื่องก็ได้”

“ทุกวันนี้คุณทำอะไรอยู่บ้าง” เราถามต่อ 

“หลักๆ คือไปทำเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจังที่เชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพ่อค้าออนไลน์ (หัวเราะ) ทำชากุหลาบ ถั่วเหลือง และข้าวกล้อง บทความก็ยังเขียนอยู่ ตอนนี้เขียนคอลัมน์ลงเว็บไซต์ The Cloud และ The101.world งานสารคดีทีวีก็ยังทำอยู่

“เป็นโปรดิวเซอร์ให้รายการธรรมชาติสองรายการ รายการแรกคือ อ่านป่ากับหมอหม่อง ออกอากาศทาง ALTV เป็นช่องใหม่ที่เน้นเรื่องการศึกษาของ Thai PBS โดย หมอหม่อง-นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ จะพาเข้าป่า ให้เราหัดช่างสังเกต หัดตั้งคำถามกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ต้องการให้เด็กรู้สึกว่า จุดเริ่มต้นของการหาความรู้คือการตั้งคำถาม เพิ่งออกอากาศไปเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน

“รายการต่อมาคือสารคดีธรรมชาติสัตว์ป่าที่ทำร่วมกับประเทศเกาหลีใต้ ถ่ายทำตั้งแต่ปีที่แล้วและจะออกฉายทั่วโลก เรื่อง Unfriend Elephant เล่าปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างในพื้นที่ คนบุกรุกที่อยู่ช้างทำพื้นที่เกษตรกรรม ช้างก็เข้ามากินข้าวโพด ผลผลิตของคน และอีกหลายความขัดแย้งที่เกิดขึ้น”

35 ปีบนเส้นทางนักจับชีพจรสังคมของ​วันชัย​ ตัน​ จากนักเขียนสารคดี​สู่รายการทีวีและ Facebook, วันชัย​ ตันติวิทยาพิทักษ์​

  เราพยักหน้าเห็นด้วยพร้อมโยนคำถามสุดท้าย 

ในวัยย่าง 60 คุณค้นพบเหตุผลของการมีชีวิตอยู่หรือยัง​ มีอะไรที่อยากทำแต่ยังไม่ได้ทำไหม

“อยากเป็นนักสังเกตการณ์สังคมไปเรื่อยๆ จริงๆ มีคนชวนไปทำนู่นนี่เยอะนะ แต่ก็ไม่อยากทำเท่าไหร่ ผมว่าทุกคนมีความสามารถขอบเขตจำกัดระดับหนึ่ง คงไม่สามารถทำทุกอย่าง แต่ถ้าจะมีอะไรที่อยากทำ สิ่งนั้นต้องสนุกและมอบอะไรให้สังคม วัยนี้แล้ว ไม่ได้อยากทำเพราะรายได้อีกต่อไปแล้ว

35 ปีบนเส้นทางนักจับชีพจรสังคมของ​วันชัย​ ตัน​ จากนักเขียนสารคดี​สู่รายการทีวีและ Facebook, วันชัย​ ตันติวิทยาพิทักษ์​

“มีคนถามนะว่าพี่เลขหกแล้วยังมาม็อบอยู่อีกหรอ ผมกับ ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ขับรถกลับจากเขาใหญ่เพื่อมาม็อบเยาวชนปลดแอก เราไม่เคยรู้สึกว่า เฮ้ย กูรู้แล้ว ไม่นะ กลับรู้สึกว่าสิ่งที่เด็กๆ ทำนี่เจ๋งดีว่ะ เพราะเรายังมีพลัง เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง เราอยากเห็นสังคมที่เคลื่อนไปข้างหน้า พลังเหล่านี้แหละที่ทำให้เรารู้สึกเป็นหนุ่มเป็นสาวตลอด ยังรู้สึกตื่นเต้น ตื่นตาตื่นใจกับอะไรๆ ตลอดเวลา” 

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล