ราว 25 ปีที่แล้ว ใน พ.ศ. 2537 พระบรมราชะประทรรศนีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นิทรรศการที่จัดแสดงพระบรมรูปหุ่นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ในพระอิริยาบถขณะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจสำคัญในรัชสมัย เปิดให้ประชาชนเข้าชมเป็นครั้งแรก ณ หอวชิราวุธานุสรณ์ อาคารทรงไทยหลังใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ภายในบริเวณสำนักหอสมุดแห่งชาติ ดำเนินงานโดยมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์
ผู้ที่เป็นกำลังหลักในการจัดสร้าง ‘พระบรมราชะประทรรศนีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว’ (คำว่าประทรรศนีย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เป็นผู้ตั้ง เป็นคำสันสกฤตมีความหมายว่า นิทรรศการ) อันเป็นโครงการในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี คือ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล มหาดเล็กในองค์ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 อดีตประธานกรรมการหอวชิราวุธานุสรณ์ และอดีตประธานกรรมการมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมุ่งหวังให้เป็นนิทรรศการที่ต่อยอดความรู้แก่ผู้เข้าชมได้ไม่จำกัด สืบสานพระราชปณิธานรัชกาลที่ 6 ในข้อที่ทรงให้ความสำคัญด้านการพัฒนาการศึกษาเสมอมา ดังกระแสพระราชดำรัสความว่า “การศึกษาย่อมเป็นการสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นต้นเหตุแห่งความเจริญของชาติบ้านเมือง ผู้ใดอุดหนุนการศึกษา ผู้นั้นได้ชื่อว่าอุดหนุนชาติบ้านเมือง”
ด้วยเงื่อนไขของกาลเวลาและบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป นิทรรศการที่เคยสร้างแรงบันดาลใจ และความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์บ้านเมืองจำต้องลดบทบาทและปิดให้บริการลงใน พ.ศ. 2556 หากสิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือแก่นแท้ที่สำคัญมากกว่าอาคารสถานที่ จิตติ เกษมกิจวัฒนา ภัณฑารักษ์ผู้รับช่วงในการขับเคลื่อนความรู้ให้ออกเดินทางอีกครั้ง เล่าให้ฟังถึงการส่งต่อประวัติศาสตร์ด้วยวิธีการอันร่วมสมัย
ก่อนที่นิทรรศการนี้จะเปิดให้เข้าชมในช่วงต้นปี 2563 (ส่วนจะเป็นเดือนไหน ต้องติดตาม) เรามาทำความรู้จักนิทรรศการนี้กันไปพลางๆ
การเดินทางของเรื่องราว
“ผมย้อนดูในบันทึกของหม่อมหลวงปิ่นว่าท่านมีความมุ่งหมายต่อเรื่องนี้อย่างไร และดูในสูจิบัตรเดิมเมื่อครั้งเปิดพระบรมราชะประทรรศนีย์ฯ ครั้งแรกก็เห็นว่าหม่อมหลวงปิ่นท่านชัดเจนมากว่าเห็นความสำคัญของเรื่องราวมากกว่าสิ่งของ มีตอนหนึ่งที่ประทับใจมากคือ พิพิธภัณฑ์ไม่ใช่เป็นสถานที่เก็บของ แต่เป็นที่เก็บเรื่องราว”
ลักษณะการนำเสนอพระบรมราชะประทรรศนีย์ฯ แบบเดิมนั้น พระบรมรูปหุ่นแต่ละองค์จัดแสดงอยู่ในแต่ละห้อง แวดล้อมด้วยเครื่องประกอบฉากต่างๆ เหมือนขยายภาพสองมิติให้กลายเป็นสามมิติ เป็นไปได้ว่า หม่อมหลวงปิ่นผู้ซึ่งเกิดในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 และมีประสบการณ์ร่วมในช่วงเวลาดังกล่าวด้วยตัวเอง คงจะพยายามถ่ายทอดให้เสมือนจริงมากที่สุด โดยคัดเลือกพระราชกรณียกิจที่สำคัญมากๆ และสิ่งที่ตกทอดมาในปัจจุบัน และในความทรงจำของตัวหม่อมหลวงปิ่นเอง เพื่อสร้างนิทรรศการพระบรมรูปหุ่น นิทรรศการเดิมจึงเกิดจาก 3 ส่วน คือภาพถ่าย ภาพจากความทรงจำของหม่อมหลวงปิ่น และภาพวาด
ด้วยความเคารพในแนวทางที่หม่อมหลวงปิ่นและคณะทำงานตั้งต้นได้วางไว้ ทีมงานยุคปัจจุบันจึงตัดสินใจจะนำเสนอด้วยวิธีคล้ายเดิมไว้ คือคงความเป็นพิพิธภัณฑ์พระบรมรูปหุ่นไฟเบอร์กลาสและพระบรมรูปหุ่นขี้ผึ้ง ส่วนสิ่งที่เพิ่มเติมคือการให้ความสำคัญในการออกแบบพื้นที่ที่บรรจุเรื่องราวซึ่งเชื่อมโยงเข้าหากันได้หมดภายในพื้นที่จัดแสดง 2 ชั้น ประกอบด้วยห้องนิทรรศการหลัก ห้องนิทรรศการหมุนเวียน และห้องอเนกประสงค์เพื่อกิจกรรมทางการศึกษา ซึ่งขณะนี้จัดแสดงนิทรรศการพิเศษเกี่ยวกับเมืองจำลองดุสิตธานีอยู่ด้วย
สตูดิโอออกแบบ be>our>friend รับหน้าที่ในการออกแบบห้องจัดแสดง จิตติให้เหตุผลว่า เพราะลายเซ็นสำคัญข้อหนึ่งของ be>our>friend คือการผสมผสานประวัติศาสตร์เข้ากับงานร่วมสมัยได้น่าสนใจ
“ผมคุยกับทีมออกแบบเพื่อหาวิธีส่งผ่านเรื่องราวด้วยวิธีที่ไม่ตรงไปตรงมา คือไม่อธิบายทุกอย่างออกไปหมด แต่เราต้องการสร้างบรรยากาศให้รู้สึก คล้ายๆ กับแนวทางของการสร้าง Immersive Experience พอดีช่วงนั้นคือ พ.ศ. 2559 กำลังทำนิทรรศการเรื่องสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งมีประเด็นเรื่องสีธงไตรรงค์ น้ำเงิน แดง ขาว ที่เราอยากจะพูดถึง ก็คุยกันว่าอยากให้สีแดงและสีน้ำเงินเป็นสีธีม ห้องหลักคือพระบรมราชะประทรรศนีย์ฯ เป็นสีน้ำเงิน เพราะเป็นสีของพระมหากษัตริย์ และเป็นสีที่รัชกาลที่ 6 โปรดมากที่สุด ห้องสถานธีรนิทรรศน์จัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนเป็นสีแดง และห้องฉัฐรัชสารนิเทศหรือ Archive Room เป็นสีขาว
พระบรมราชะประทรรศนีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
นิทรรศการหลักที่ถือเป็นหัวใจของเรื่องเล่าทั้งหมดอยู่ห้องสีน้ำเงินซึ่งจัดแสดงพระบรมรูปหุ่นในพระอิริยาบถต่างๆ ขณะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจสำคัญในรัชสมัย ลักษณะการจัดวางแบบเดิมของห้องนี้คือพระบรมรูปหุ่นอยู่ในระดับปกติ เสมือนการซ้อนโลกเสมือนจริงกับโลกจริงเข้าด้วยกัน แต่มาครั้งนี้ ทีมงานเลือกดึงส่วนประกอบอื่นๆ ออก เปิดให้องค์พระบรมรูปหุ่นได้ทำหน้าที่เล่าเรื่องราวอย่างเต็มที่ จิตติบอกว่า คล้ายๆ กับภาพเขียนของคาราวัจโจ (Michelangelo Merisi da Caravaggio) ศิลปินชาวอิตาลี ที่ลดทอนรายละเอียดต่างๆ ออกให้เหลือแค่สิ่งที่สำคัญ แต่เล่าเรื่องราวได้โดยผู้ชมไม่ถูกจำกัดความคิด
นอกจากนั้น พระบรมรูปหุ่นยังถูกยกขึ้นเหนือระดับเดียวกับผู้ชม จัดองค์ประกอบให้คล้ายภาพที่พร้อมจะเคลื่อนไหวต่อไป ทั้งยังสอดรับกับการนำชมรูปแบบใหม่ที่จะมีความเป็นดิจิทัลมากขึ้น นั่นก็คือแอปพลิเคชันนำชมนิทรรศการ
“เราคิดถึงผู้เข้าชมหลายกลุ่ม เช่นเด็กๆ ที่อาจจะไม่ชอบอ่านอะไรยาวๆ เรามีป้ายอธิบายอย่างย่อให้อ่าน แต่สำหรับผู้ชมที่มีอายุมากขึ้นหรือว่ามีความสนใจที่กว้างขึ้น เราก็มีแอปพลิเคชันเป็นเครื่องมืออ่าน AR อธิบายเจาะรายละเอียดในแต่ละชิ้น เช่น เหรียญตราหรือเข็มที่ติดอยู่บนฉลองพระองค์ แล้วก็มีเสียงบรรยายที่เนื้อหาต่างออกไป เพราะฉะนั้น การชมนิทรรศการโดยใช้แอปพลิเคชันก็อย่างหนึ่ง ชมแบบไม่ใช้เครื่องมือช่วยก็จะเป็นอีกอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนกัน”
ความน่าสนใจไม่ได้หยุดเพียงกลวิธีการนำเสนอ แต่พระบรมรูปหุ่นทุกองค์และวัตถุจัดแสดง ตลอดจนอาคารจากเมืองจำลองดุสิตธานีไม่ใช่ของทำขึ้นใหม่ แต่เป็นของเดิมที่เคยจัดแสดงเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน และบัดนี้ถูกทำความสะอาดและดูแลให้สมบูรณ์พร้อมเผยเรื่องราวในตัวเองอีกครั้ง
“ถ้าย้อนอดีตไปสมัยนิทรรศการครั้งแรก การจำลองฉลองพระองค์ที่ทรงในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะต้องขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ทั้งฉลองพระองค์และเครื่องประกอบฉากของเดิมต่างๆ สำนักช่างสิบหมู่เป็นผู้ทำ และในสมัยก่อนหากมีการทำจำลองของเจ้านาย จะห้ามทำซ้ำเหมือนเป๊ะๆ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราเห็นอยู่ตอนนี้แม้จะเหมือนของจริงมากๆ แต่ถ้าสังเกตดูจะพบว่ามีการบิดให้เพี้ยนไปจากความจริงเล็กน้อย เช่น พระสุพรรณราชคือกระโถนจะมีลายไม่เหมือนของจริง หรือพระชฎามหากฐินที่ทรงอยู่ก็มีจุดที่บิดให้ไม่เหมือนพระชฎาองค์จริง”
รายละเอียดเล็กๆ น้อยที่ได้พบใหม่เกิดจากเทคโนโลยีที่ช่วยในการสืบค้นได้ดีขึ้น นอกจากนั้น ยังอยู่ที่กำลังสำคัญของทีมงาน โดยเฉพาะ คุณเก้ง-ปฏิวัติ สุขประกอบ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องราวในประวัติศาสตร์โดยเฉพาะรัชสมัยแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
“เก้งมาช่วยเรื่ององค์ประกอบ ฉลองพระองค์ เข็ม เหรียญตราต่างๆ เป็นทีมงานที่เราขาดไม่ได้ แม้แต่ลักษณะการก่ออิฐที่พระบรมรูปหุ่นวางศิลาพระฤกษ์ก่อตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เก้งก็ไปค้นรูปเก่ามาดูจนแน่ใจว่าของเดิมวางอย่างไร หรืออย่างพระบรมรูปหุ่นขณะทรงติดเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ธงไชยเฉลิมพลของทหารอาสาเมื่อกลับจากสงครามโลกครั้งที่ 1 รูปเดิมที่เราเคยเห็นกันมาจากของหอจดหมายเหตุ เป็นรูปมุมเดียวไม่เห็นอีกมุมที่ทหารอีกคนยืนอยู่ กิ๊ฟ (กิตติธร เกษมกิจวัฒนา-ผู้ช่วยภัณฑารักษ์และผู้ดูแลเรื่อง Art Direction) ก็ไปเจอรูปเหตุการณ์เดียวกันนี้แต่เป็นอีกมุมจากห้องสมุดที่ปารีส ในรูปเห็นว่าทหารคนหนึ่งมีอะไรบางอย่างห้อยอยู่ที่ตัว เราก็ขยายภาพให้ใหญ่เพื่อดูชัดๆ เก้งก็บอกว่านี่คือมาลัยตัวซึ่งคล้องทหารอยู่ เราก็เพิ่มเข้าไป”
ของจัดแสดงพิเศษอีกประการตั้งอยู่กลางห้อง คือพระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาท ซึ่งเป็นพระที่นั่งองค์ประธานของหมู่พระมหาปราสาทในพระราชวังพระวัชรินทร์ราชนิเวศน์ในดุสิตธานี จำลองแบบมาจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง จิตติบอกว่าในทุกห้องจัดแสดงเขาเลือกอาคารจากดุสิตธานีตั้งเป็นศูนย์กลาง อันนำไปสู่ข้อสงสัยในใจใครหลายคนที่บอกว่าพระราชกรณียกิจที่สำคัญของรัชกาลที่ 6 มีมากกว่าดุสิตธานี จิตติอธิบายประเด็นนี้ด้วยการตั้งคำถามกลับว่าแล้วดุสิตธานีคืออะไร แล้วเราเข้าใจดุสิตธานีดีพอหรือยัง
สถานธีรนิทรรศน์
ไม่เพียงสีแดงของห้องนี้จะแทนความหมายถึงชาติ หากยังเป็นสีสำคัญคู่กับขาวดังจะเห็นได้จากงานพระราชพิธีในสมัยโบราณของไทย ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ ประธานมูลนิธิฯ คนปัจจุบัน อธิบายความหมายคู่สีแดงขาวว่าสื่อถึงพระบรมเดชานุภาพและพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าแผ่นดิน ส่วนเรื่องลักษณะห้องหลังคาสูง มีช่องให้แสงลอดผ่านสู่ภายใน ออกแบบให้คล้ายคลึงกับบรรยากาศพิพิธภัณฑ์ที่ประเทศอังกฤษ ทั้งยังเชื่อมโยงกับพระราชประวัติของรัชการที่ 6 ที่ทรงเป็นนักเรียนเก่าอังกฤษ และรัชสมัยของพระองค์ซึ่งป็นช่วงเวลาที่ศิลปะและสถาปัตยกรรมตะวันตกพัฒนาอย่างกว้างขวางในไทย
นิทรรศการหมุนเวียนสถานธีรนิทรรศน์ อ้างอิงจาก ‘วชิรนพรัตน์’ บทความของหม่อมหลวงปิ่น ที่เขียนขึ้นก่อนจะเริ่มต้นทำพระบรมราชะประทรรศนีย์ฯ ที่หอวชิราวุธานุสรณ์เสียอีก วชิรนพรัตน์นี้ หม่อมหลวงปิ่นอธิบายไว้ว่าหมายถึงแก้ว 9 ประการ แทนความถึงพระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ที่ทรงมีต่อบ้านเมืองและพสกนิกร
“นิทรรศการวชิรนพรัตน์นี้ตั้งใจให้เป็นการแสดงความคารวะและ Homage ต่อหม่อมหลวงปิ่น เพราะถ้าไม่มีท่านเริ่มทั้งหมดนี้ไว้ก็คงจะไม่มาถึงตรงนี้ ผมได้รู้จักหม่อมหลวงปิ่นมากขึ้นจากบันทึกของท่าน ได้เห็นมุมมอง วิสัยทัศน์ ความจงรักภักดี และความเป็นสุภาพบุรุษ สำหรับผมถ้าจะดูว่ารัชกาลที่ 6 ทรงสอนคนอย่างไร ให้ดูที่หม่อมหลวงปิ่น ท่านเป็นคนที่รัชกาลที่ 6 ทรงฝึกสอนเรื่องต่างๆ ด้วยพระองค์เองอย่างใกล้ชิด”
บทความต้นฉบับของหม่อมหลวงปิ่น ภาพถ่ายเก่า และวัตถุจัดแสดงที่ขยายความแก้ว 9 ประการของรัชกาลที่ 6 คือแนวทางการจัดแสดงในห้องนี้ หลายชิ้นเป็นของที่ไม่อยู่ในทะเบียนวัตถุโบราณของหอวชิราวุธานุสรณ์ แต่เพิ่งค้นพบอีกครั้ง เช่น พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 6 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งจิตติบอกว่าเขาให้เพื่อนๆ ศิลปินหลายสาขาช่วยกันตรวจสอบ และทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่านี่คือภาพถ่ายที่รีทัชด้วยมือ ร่องรอยของงานมือแฝงอยู่ในการฝนสี ฝนกราไฟต์ลงบนภาพอย่างชัดเจน
นอกจากนั้น ยังมีภาพพิมพ์ที่หนังสือพิมพ์ต่างประเทศเขียนล้อรัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร และทรงสังกัดอยู่ในกรมทหารราบเบา เดอรัม ในขณะนั้นเกิดสงครามระหว่างอังกฤษกับพวกดัชต์ที่เรียกว่าสงครามบัวร์ในแอฟริกาใต้ จึงทรงลงพระนามสมัครไปร่วมรบแนวหน้ากับเพื่อนทหารในกรมเดียวกัน แต่รัฐบาลอังกฤษไม่ยินยอม เนื่องจากทรงดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมารแห่งสยาม ที่จะต้องทรงขึ้นครองราชย์อีกไม่ช้านาน หม่อมหลวงปิ่นซื้อภาพพิมพ์นี้มาจากประเทศอังกฤษ ก็จะนำมาจัดแสดงในครั้งนี้ด้วย จิตติบอกเพิ่มเติมว่ายังมีภาพพิมพ์อีกภาพที่เพิ่งได้มาไม่นาน ซึ่งเชื่อมโยงกับพระบรมรูปหุ่นองค์หนึ่งในห้องนิทรรศการหลัก
“พระบรมรูปหุ่นองค์หนึ่งทรงฉลองพระองค์นายพลทหารเรือ เรารู้มาว่าต้นแบบของพระบรมรูปหุ่นองค์นี้มาจากภาพวาดภาพหนึ่งในรัชสมัย แต่เราไม่เคยเห็นของจริง วันหนึ่งท่านผู้หญิงบุตรีก็ชวนผมไปเดินดูของที่ตึกแดง สวนจตุจักร แล้วก็ได้เจอภาพนี้ซึ่งมีลายพระราชหัตถ์ลงพระปรมาภิไธยไว้ หลังจากสืบค้นก็คิดว่าภาพพิมพ์ชุดนี้น่าจะทำขึ้นเพื่อจำหน่ายหรือมอบให้ผู้ที่ซื้อหรือบริจาคเงินสบทบทุนซื้อเรือพระร่วง เรือรบหลวงลำแรกของไทย”
“ส่วนที่เป็นวัตถุจัดแสดงหลักๆ ในนิทรรศการวชิรนพรัตน์ ประกอบด้วยรอยพระบรมบาทจำลองที่รัชกาลที่ 6 โปรดให้หล่อขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2462 เพื่อประดิษฐานไว้ในเมืองจำลองดุสิตธานี ต่อมาได้ตกทอดเป็นสมบัติของพระยาอนิรุทธเทวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ) และกลายเป็นต้นแบบหล่อรอยพระบรมบาทจำลองเพื่อเชิญไปประดิษฐาน ณ กองลูกเสือทั่วราชอาณาจักร ส่วนตรงกลางห้องก็มีพระที่นั่งเทวอาสน์จำรูญในดุสิตธานี ซึ่งจำลองแบบมาจากพระที่นั่งบรมพิมานในพระบรมมหาราชวังจัดแสดงไว้ เพราะฉะนั้น ทั้งภาพถ่ายและของที่รวมอยู่ในนิทรรศการวชิรนพรัตน์ ก็จะทำให้เห็นอะไรหลายมิติเกี่ยวกับองค์รัชกาลที่ 6 ทั้งความเป็นปราชญ์ เป็นนักคิด ความเป็นนักประพันธ์ หรือความศักดิ์สิทธิ์ ก็ดูได้จากสิ่งของหลากหลายที่ประกอบกันในห้องนี้”
ดุสิตธานี เมืองแห่งปัญญา
ถัดจากนิทรรศการหลักที่ชั้น 3 ของอาคารหอวชิราวุธานุสรณ์แล้ว ยังมีอีกหนึ่งนิทรรศการจัดแสดงอยู่ที่ชั้น 4 คือ ‘นิทรรศการ 100 ปี ดุสิตธานี พุทธศักราช 2461’
รัชกาลที่ 6 โปรดให้สร้างเมืองจำลองดุสิตธานีขึ้นครั้งแรกในพระราชวังดุสิตเมื่อ พ.ศ. 2461 ใครหลายคนอาจยังสับสนเข้าใจว่าดุสิตธานีคือเมืองจริงๆ คนเข้าไปอาศัยอยู่ได้ หรือบ้างก็เข้าใจไปว่าเป็นเมืองที่เหมือนบ้านตุ๊กตา แท้จริงแล้ว ดุสิตธานีคือเมืองขนาดย่อส่วนตั้งอยู่ในพื้นที่ราวๆ 2 ไร่ครึ่งระหว่างพระที่นั่งอุดรภาคและอ่างหยกในพระราชวังดุสิต มีสิ่งปลูกสร้างนับพันหลัง คละเคล้าหลากหลายทั้งปราสาทราชวัง วัด ที่ทำการรัฐบาล โรงพยาบาล ตลอดจนบ้านเรือนราษฎร
แม้ขนาดจะเล็ก คนไม่อาจเข้าไปอาศัยอยู่ได้จริง แต่การทดลองการปกครองส่วนท้องถิ่นแบบเทศาภิบาล อันมีระบอบประชาธิปไตยเป็นส่วนสำคัญที่เกิดขึ้นในธานีจำลองนั้น มีการปฏิบัติฝึกฝนและทดลองจริง โดยเหล่าทวยนาครหรือพลเมืองของดุสิตธานี ที่ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ดังพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 6 ที่ทรงมุ่งเน้นให้กลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการบริหารราชการได้ทดลองปฏิบัติจนเข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อจะได้นำไปปรับใช้ในพื้นที่จริงในวันข้างหน้า
“ทีมงานปรึกษากันครับว่าถ้าเล่าเรื่องแบบเดิมมันก็จะเหมือนที่เราเคยอ่านกันมาจากในหนังสือ รู้เท่ากับที่เคยรู้ เพราะฉะนั้นเราลองมาหาเฉพาะสิ่งที่หลักๆ ที่ควรจะรู้และเข้าใจเกี่ยวกับดุสิตธานีดีไหม จึงมีการเสนอกันว่างั้นชวนนักออกแบบมาทำภาพประกอบซ้อนเนื้อหานิทรรศการด้วยน่าจะดี” ศิลปินผู้รับหน้าที่รังสรรค์ภาพประกอบก็ไม่ใช่ใครที่ไหน หากคือ นักรบ มูลมานัส ศิลปินคอลลาจร่วมสมัย เขาตีความดุสิตธานีและนำเสนอผ่านชิ้นงานที่แฝงด้วยส่วนประกอบต่างๆ จากเมืองดุสิตธานี สร้างความสนใจและสงสัยให้ผู้ชมคิดต่อ
นอกจากนั้นแล้ว ยังนำอาคารอีกหลายหลังในดุสิตธานีมาจัดแสดงควบคู่ไปด้วย ล้วนแล้วแต่เป็นอาคารสำคัญที่เชื่อมโยงมาถึงสิ่งที่มีอยู่ในโลกจริงทั้งสิ้น เช่น พระที่นั่งสุทไธสูรย์ปราสาท ที่จำลองแบบบมาจากพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท บนกำแพงพระบรมมหาราชวัง ถนนสนามไชย ในสมัยโบราณเรียกว่าพลับพลาสูง ใช้เป็นสถานที่สำหรับพระเจ้าแผ่นดินทอดพระเนตรกิจกรรมต่างๆ ในท้องสนามไชย ดังเช่นเมื่อคราวทหารอาสากลับจากราชการสงครามที่ทวีปยุโรปก็เดินสวนสนามบนถนนสายนี้ หรือที่เพิ่งผ่านไปไม่นานคือเป็นสถานที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 เสด็จออก ณ สีหบัญชรให้ประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
ส่วนอาคารอื่นๆ ก็มีเจดีย์ตราวชิระที่ผสมสถาปัตยกรรมของสุโขทัยเข้ามา และพระพุทธรัตนสถานหรือหอพระที่มีอยู่จริงในพระบรมมหาราชวัง พร้อมกันนั้นก็ยังมีอาคารสถาปัตยกรรมจีนมาจัดแสดงในคราวนี้เพื่อให้เห็นว่าในดุสิตธานีมีความหลากหลายอย่างไรบ้าง ส่วนวัตถุจัดแสดงอื่นๆ ในห้อง ชิ้นสำคัญต้องยกให้ ประติมากรรมรูปคนวิ่งบอกข่าวชัยชนะในการศึก รัชกาลที่ 6 พระราชทานชื่อว่า ‘ไชโย’ ผู้ที่ไปตามหาจนได้มาคือหนึ่งในศิลปินผู้ช่วยฟื้นฟูพระบรมรูปหุ่นและอาคารในดุสิตธานีให้กลับมาสดใสอีกครั้ง
“รูปปั้นนี้ตั้งอยู่ในดุสิตธานี เราเคยเห็นแต่จากรูปภาพ ไม่เคยเห็นของจริง ก็บอก คุณบิ๊ก-ลักษณ์ คูณสมบัติ จากบริษัทเทวริทธิ์ศิลปากรว่าปั้นให้หน่อย คุณบิ๊กก็หาข้อมูลและวิเคราะห์กันว่าลักษณะแบบนี้น่าจะเป็นงานปั้นของฝรั่ง และน่าจะเป็นงานช่วงปลายศตวรรษที่สิบเก้า เข้าต้นศตวรรษที่ยี่สิบ ปรากฏไปเจอประติมากรรมแบบเดียวกันนี้ในเว็บไซต์ประมูลของเก่าของเยอรมัน คุณบิ๊กก็เลยประมูลมา พอประมูลได้ปั๊บ ระบบล่มไปเลย (หัวเราะ) คุณบิ๊กก็ซ่อมแซมและมอบให้เราจัดแสดงที่นี่ ต่อมาตอนหลังก็ได้ข้อมูลมาเพิ่มอีกว่าประติมากรรมนี้ปั้นประมาณ ค.ศ. 1880 โดยศิลปินฝรั่งเศส ผลิตออกมาหลายชิ้นงาน นอกจากนั้น คุณบิ๊กยังทำอนุสาวรีย์ทหารอาสาแบบที่เราเคยเห็นแต่ในรูปอีกด้วย ซึ่งก็จัดแสดงเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการดุสิตธานีนี้”
“ผู้ชมอาจจะมาชมงานโดยมีลายแทงในใจมาก่อน แต่เมื่อมาแล้วได้พบอย่างอื่น เขาก็อาจกระโดดข้ามจากสิ่งที่เขาสนใจไปยังเรื่องอื่นได้ เช่น คุณมาดูดุสิตธานี แต่คุณได้มาเจอภาพวาดฝีพระหัตถ์ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ดุสิตสมิต ซึ่งเป็นสิ่งพิมพ์ของดุสิตธานี มันก็สามารถนำพาไปสู่เรื่องอื่นๆ ต่อไป หวังอยากให้คนที่มาได้ประโยชน์หลายๆ อย่าง ถึงแม้ทุกวันนี้โลกเราจะโฟกัสที่โลกออนไลน์ แต่ผมคิดว่าที่ไหนก็ตามที่ยังมี Asset คือของที่ที่อื่นไม่มี นี่แหละคือทรัพย์สินที่สำคัญ แล้วก็อาศัยการถ่ายทอดออกไป ผมมองว่านี่เป็นแนวทางที่น่าสนใจของการทำพิพิธภัณฑ์ครับ”
หากใครสนใจศึกษา ‘หอวชิราวุธานุสรณ์’ ในรูปแบบ Curatorial Walk หรือการนำชมนิทรรศการพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 6 โดยภัณฑารักษ์ผู้ออกแบบนิทรรศการต่างๆ จะมาเล่าถึงข้อมูลเบื้องหลังกว่าจะเป็นนิทรรศการที่สมบูรณ์ พร้อมทั้งสำรวจ ‘วชิราวุธวิทยาลัย’ โรงเรียนที่รัชกาลที่ 6 ทรงสถาปนา เพื่อเรียนรู้การศึกษาและสถาปัตยกรรมของอดีตโรงเรียนมหาดเล็กหลวงที่มีอายุกว่า 109 ปี สามารถเป็นส่วนหนึ่งในประสบการณ์สุดพิเศษได้ใน Walk with The Cloud 24 : The Philosopher King ในวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2563
อ่านรายละเอียดทั้งหมดและสมัครร่วมกิจกรรมได้ที่นี่
ส่วนบุคคลทั่วไปที่อยากเข้าชม อดทนรออีกนิด ต้นปี 2563 นิทรรศการนี้จะเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการ