ใครไป 7-Eleven บ่อย ๆ แล้วชอบเลือกซื้อสินค้าในตู้เย็นที่เต็มไปด้วยอาหาร Ready to Eat น่าจะเคยหยิบข้าวโพดฝัก V Farm ในบรรจุภัณฑ์สีเขียวสดลงตะกร้า อุ่นทานร้อน ๆ แกะซองออกมาพบว่าหวาน หอม อร่อย เหมือนแกะเปลือกกินสด ๆ จากต้นแบบไม่ต้องลุ้น

เริ่มต้นจากข้าวโพด แตกลายสินค้าจากพืชชนิดเดียวกันเป็นหลายอย่าง ตามมาด้วยผลิตภัณฑ์ชนิดอื่น ๆ ที่ส่งตรงจากฟาร์มในรูปแบบพร้อมทานอย่างแห้วหรือมันหวานญี่ปุ่น และล่าสุดปีที่ผ่านมา มีอาหารพร้อมทานกลุ่ม Plant-based ที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก

ธุรกิจนี้ก่อตั้งในปี 2014 ภายใต้ชื่อบริษัท V Foods Thailand โดย คุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน ไอเดียตั้งต้นคือการทำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ จนได้ไปอ่านงานวิจัยเกี่ยวกับข้าวโพด ซึ่งตีพิมพ์โดยมหาวิทยาลัยคอร์เนล บทความเล่าถึงคุณประโยชน์ของข้าวโพดต้มสุกที่ยังไม่รู้ทั่วในวงกว้าง แม้ว่าจะเป็นอาหารที่คนไทยคุ้นเคยกันอยู่แล้ว

“แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่กินเพื่อรสชาติอร่อย เป็นอาหารทานเล่นทั่วไป ไม่ได้ทานในเชิงคุณประโยชน์แบบ Functional Benefits”

V Farm ประสบความสำเร็จในการผลิตสินค้าจากวัตถุดิบทางการเกษตร ได้ทำงานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ พร้อมรางวัลในมือมากมาย อาทิ 7-Eleven Innovation Awards และ 7-Eleven Thai SMEs Sustainability Awards จากซีพี ออลล์, Innovative House Awards ประเภทผู้ประกอบการดีเด่น จากสำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และเมื่อปีที่ผ่านมาก็ได้รับรางวัลชนะเลิศในด้านเศรษฐกิจประเภทวิสาหกิจขนาดกลาง National Innovation Awards จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)

พี-อนรรฆ โกษะโยธินเริ่มเข้ามารับช่วงต่อจากคุณพ่อในแผนกการตลาดเมื่อหลายปีก่อน และจะมารับหน้าที่เล่าเรื่องการเดินทางของแบรนด์นี้ให้เราฟัง

V Farm เจ้าของข้าวโพดใน 7-Eleven ที่มีระบบกระจายสินค้าสดจากไร่ทุกวันทั่วไทย

01

ธุรกิจข้าวโพดของ V Farm มีจุดเริ่มต้นอยู่ 2 เรื่อง คือผลิตภัณฑ์มีคุณประโยชน์ที่ดีต่อร่างกายและตลาดในเมืองไทยคนรู้จักข้าวโพดอยู่แล้ว ทำให้การสื่อสารการให้ความรู้นั้นง่ายกว่า

ตอนเริ่มต้นธุรกิจบริษัทยังไม่มีโรงงานผลิตของตัวเอง จึงต้องสร้างเครือข่ายกับโรงงานที่ได้มาตรฐาน รวมถึงเกษตรกรที่ได้คุณภาพมาเป็นคู่ค้า 

ด้วยความที่สินค้ามี Low Shelf Life หรืออายุในการเก็บรักษาระยะสั้น โมเดลธุรกิจจึงให้ความสำคัญกับการกระจายสินค้าเป็นที่สุด คำตอบคือการจำหน่ายใน 7-Eleven ร้านสะดวกซื้อที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศและทุกหัวเมือง แถมยังเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งพีบอกว่า

“หัวใจของสินค้าเราคือ Fresh from farm to you ถ้าไม่ใช้โมเดลนี้ เราไม่มีทางกระจายสินค้าทั่วประเทศได้ทุกวัน”

กระบวนการผลิตของข้าวโพด V Farm เริ่มตั้งแต่ช่วงตี 4 เกษตรกรจะออกไปไร่เพื่อตัดข้าวโพด ที่ต้องไปแต่เช้ามืดเพราะแดดกลางวันทำให้ผลผลิตเสียง่ายขึ้น พวกเขาใช้เวลาราว ๆ 8 ชั่วโมงในการเก็บเกี่ยว ก่อนจะนำมาเข้ากระบวนการทำความสะอาด ปอกเปลือก แบ่งตามสายผลิตภัณฑ์ ซึ่งใช้เวลาอีก 4 ชั่วโมง

นั่นแปลว่าภายใน 12 ชั่วโมง ผลผลิตจะอยู่ในแพ็กเกจพร้อมส่ง และกระจายไปยัง 7-Eleven นับหมื่นสาขา

เรียกได้ว่าต้องอาศัย Know-how ตั้งแต่การเพาะปลูก การถนอมอาหาร และการกระจายสินค้าที่จะตอบโจทย์ธุรกิจนี้

“ตั้งแต่ตัดออกมาจากต้น ผู้บริโภคสามารถกินได้เลยในวันเดียวกัน สินค้าของเราจึงสด ใหม่ อร่อย สินค้าที่ส่ง 7-Eleven จะผ่านกระบวนการพาสเจอไรซ์ พูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็เหมือนนม นมยูเอชทีในกล่องกับนมพาสเจอไรซ์ที่ต้องแช่ตู้เย็น เวลาดื่มจะรู้สึกว่ารสชาติแตกต่างกัน ของเราก็เป็นแบบนั้น”

ข้อดีของการพาสเจอไรซ์คือคงรสชาติดั้งเดิมไว้ได้มากที่สุด ขณะที่ข้อเสียคือ Shelf Life ต่ำกว่ามาก สินค้าส่วนใหญ่มีอายุแค่ 7 วัน บางอย่างโชคดีหน่อยก็ 12 วัน และจำเป็นต้องอยู่ในตู้เย็น 

“ข้อจำกัดคือเราไปขายที่อื่นไม่ได้ เช่น ร้านซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างสรรพสินค้า เพราะสินค้าที่ห้างต้องมี Shelf Life นานหน่อย เพราะคนเดินห้างช่วงวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ดังนั้น Business Model สินค้านี้มันเหมาะกับ 7-Eleven ซึ่งพอจะไปขายที่อื่น เราก็ต้องพัฒนาสินค้าขึ้นมาใหม่”

การเป็นคู่ค้ากับร้านสะดวกซื้อเจ้าเดียวก็กลายเป็นอีกข้อจำกัดในด้านแบรนดิ้ง เพราะลูกค้าจำแบรนด์ไม่ได้ รู้จักแต่ ‘ข้าวโพดเซเว่น’

พีและทีมจึงผลัดกันสื่อสารผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ รวมถึงรีแบรนดิ้งครั้งใหญ่ พัฒนาเว็บไซต์ ปรับแพ็กเกจจิ้ง และเปลี่ยนจากที่เคยใช้ชื่อเฉพาะสำหรับอาหารประเภทต่าง ๆ เช่น V Corn กับข้าวโพด และ V Farm กับฟาร์มโปรดักต์อื่น ๆ มาอยู่ภายใต้ร่มเดียวกันในชื่อ V Farm ทั้งหมด

02

ข้าวโพดไม่ใช่ของใหม่ในตลาดและหาซื้อได้ทั่วไป แต่ V Farm เล็งเห็นความต้องการของผู้บริโภคที่ยังไม่มีใครเคยตอบรับ

“มันเป็นจุด Unmet Needs เราพัฒนาจากข้าวโพดที่ซื้อได้ทั่วไป มาเป็นข้าวโพดสายพันธุ์พิเศษ เพื่อให้ผู้บริโภคได้กินข้าวโพดที่อร่อย สะอาดกว่า สดกว่า เราให้ความสำคัญกับกระบวนการต่าง ๆ ตั้งแต่การวิจัยข้าวโพดสายพันธุ์ต่าง ๆ และวิธีปลูก ไปจนถึงกระบวนการผลิตแบบพาสเจอไรซ์

“เรามอบความแน่นอนให้ผู้บริโภค ด้วยแหล่งที่มาคุณภาพ ผลผลิตได้มาตรฐาน ไม่ต้องลุ้นขนาดฝักว่าจะเล็กหรือใหญ่ ครั้งนี้จะเท่ากับที่ซื้อครั้งก่อนไหม หวานเหมือนกันทุกฝัก และมีขายตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ต้องกลัวว่าวันนี้แม่ค้าจะมาหรือไม่มา” พีหัวเราะ

“เราเลยไม่เคยเปรียบเทียบว่าของเราดีกว่า แต่มีจุดยืนอยากทำให้คนเห็นประโยชน์จากข้าวโพด มากกว่ากินแค่เพราะอร่อย และพยายามสื่อสารเรื่องข้อดีของมันมาตั้งแต่วันแรก”

V Farm เจ้าของข้าวโพดใน 7-Eleven ที่มีระบบกระจายสินค้าสดจากไร่ทุกวันทั่วไทย

03

โปรดักต์หลักของ V Farm คือข้าวโพดสายพันธุ์ Golden Sweet Corn ซึ่งวิจัยมาแล้วว่าปลูกได้ดี ได้ผลสม่ำเสมอ และเป็นสินค้ากินง่ายที่คนคุ้นเคยกันดี แต่หากลองดูรายการสินค้าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สินค้าของแบรนด์นี้ทั้งสนุกและตอบโจทย์ ขอยกตัวอย่างสักเล็กน้อย

ปี 2014 ข้าวโพดหวานพร้อมทานแบบฝัก เมล็ดข้าวโพดคลุกเนยแบบถ้วย

ปี 2015 ข้าวโพดหวานแบบฟักตัด 3 ท่อน น้ำนมข้าวโพด

ปี 2016 เมล็ดข้าวโพดปิ้งน้ำกะทิแบบถ้วย

ปี 2017 เมล็ดข้าวโพดพร้อมทานแบบถ้วย

ปี 2018 ชุดรวมนึ่งหรือ Healthy Mix ประกอบด้วยข้าวโพด มันม่วง ฟักทอง นึ่ง

ปี 2019 ข้าวโพดข้าวเหนียวม่วงแบบฝัก (สินค้าตามฤดูกาล) ข้าวโพดฝักรสซอสต๊อด (ทำงานร่วมกับTODD Sauce) น้ำฟักทอง 

ปี 2020 ส้มตำข้าวโพดสูตรตำมั่ว (ทำงานร่วมกับTUMMOUR) น้ำนมข้าวโพดสูตรเพิ่มเนื้อ น้ำนมข้าวโพดสูตรน้ำตาลน้อยกว่า มันหวานญี่ปุ่นนึ่ง ลูกเดือยอบกรอบ

ปี 2021 อาหารพร้อมทานที่ทำจากพืชในซีรีส์ Plant-based Bites Classic Thai Taste แห้วนึ่งพร้อมทาน ข้าวโพดเทียนทิพย์แบบฝัก (สินค้าตามฤดูกาล)

พีเล่าให้ฟังว่า ขณะที่สินค้าบางอย่างคิดค้นขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคอย่างแท้จริง เช่น ชุดรวมนึ่งตั้งแต่ยุคที่คลีนฟู้ดยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่เป็นของว่างที่อิ่มท้องและมีสารอาหารเพียงพอ หาซื้อง่าย กินได้เร็ว หรือน้ำนมข้าวโพดที่แต่ก่อนไม่มีเมล็ดข้าวโพด แต่จากการสอบถามพบว่าคนรุ่นใหม่ชอบกิน ก็เลยใส่เพิ่มเข้าไป เป็นต้น

สินค้าบางอย่างก็ตอบโจทย์ธุรกิจไปด้วยในเวลาเดียวกัน อย่างสายผลิตภัณฑ์ข้าวโพดทั้งหลายที่นอกจากถูกใจคนกิน ยังใช้ประโยชน์จากข้าวโพดได้ทุกส่วน ฝักที่ได้เกรดเอนำไปขายทั้งฝัก ส่วนฝักที่ขนาดไม่ได้มาตรฐานแทนที่จะเสียเปล่า ก็มาคิดต่อว่ามีวิธีไหนที่แก้ไขปัญหานี้ได้ แต่ยังเสิร์ฟได้เหมือนเดิม ทั้งกินง่ายขึ้น เลยนำมาตัดเป็น 3 ท่อน รวมถึงน้ำนมข้าวโพดและข้าวโพดคลุกเนยที่เสิร์ฟในถ้วย เพื่อให้มีส่วนที่เหลือจากการผลิตให้น้อยที่สุด

เขาคิดไปถึงขั้นที่นำซังข้าวโพดที่เหลือทิ้งจากการรูดเมล็ดทำน้ำนม ต่อยอดเป็นถ่านฟืนออกมาขาย และวันหนึ่งถ้าเราเห็นผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าที่ทอจากไหมข้าวโพดก็ไม่ต้องแปลกใจ

สินค้า Collaboration อย่างข้าวโพดกับซอสต๊อดและส้มตำข้าวโพดก็มีที่มาที่ไปน่าสนใจมาก ข้าวโพดกับซอสต๊อดเกิดจากที่แบรนด์มองหาความสดใหม่จากเทรนด์ชอบกินเผ็ด ออกมาเป็นข้าวโพดเสียบไม้คลุกซอสทานง่าย

ส่วนส้มตำข้าวโพดได้ร้านตำมั่วเข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์ พัฒนาซอสส้มตำในแพ็กเกจจิ้งเป็นถ้วย แยกวัตถุดิบเครื่องปรุงทุกอย่าง เขย่าให้เข้ากันและกินได้เลย

ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ของ V Farm แบ่งออกเป็น3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ สินค้าจากข้าวโพด สินค้าจากฟาร์มอย่างแห้ว มันหวานญี่ปุ่น มันม่วง หรือฟักฟอง และสินค้ากลุ่มอาหาร Plant-based พร้อมทานที่ทำจากพืช

V Farm เจ้าของข้าวโพดใน 7-Eleven ที่มีระบบกระจายสินค้าสดจากไร่ทุกวันทั่วไทย

Plant-based Food เกิดจากการที่บริษัทไปร่วมลงทุนในบริษัท Foodtech Startup เจ้าของผลิตภัณฑ์เนื้อที่ทำจากพืช More Meat และนำมาต่อยอดเป็นอาหารพร้อมทานที่ทำจากพืช V Farm Plant-based Bites รสชาติไทย ๆ เช่น ลาบทอด ต้มยำทอด และทอดมันข้าวโพดเนื้อปู โดยใช้โปรตีนจากพืชที่ทำจากถั่วเหลืองและเห็ดแครง ซึ่งเป็นโปรตีนจากพืชที่มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ และยังเป็นการไปส่งเสริมเกษตรกรที่ จ.สงขลา ซึ่งถือเป็นก้าวใหม่ของ V Farm เพราะเป็นโปรดักต์ที่ไม่เคยทำมาก่อน แถมยังสะดวก

“ตั้งแต่เปิดบริษัทมา เรายกให้ผู้บริโภคเป็นหลัก ยุคก่อนเวลาหากลุ่มเป้าหมาย ก็มักจะยึด Demographicต่าง ๆ เพศอะไร อายุเท่าไหร่ มีรายได้ต่อเดือนแค่ไหน ทาร์เก็ตของเราในวันนี้ไม่ใช่แบบนั้นอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นกลุ่มที่เราเรียกว่า Urban Healthy Lifestyle หรือคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในหัวเมือง ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ เชียงใหม่ อุบลฯ หรือภูเก็ต คนในหัวเมืองจะมีวิถีใกล้เคียงกัน คนทำงานใช้ชีวิตเร่งรีบ ไม่ค่อยมีเวลาดูแลตัวเอง 

“สินค้าของเราไปทาง Mass อยู่แล้ว แต่ต้องอยู่ในราคาที่จับต้องได้ ทาร์เก็ตอีกกลุ่มอย่างคนที่ทานมังสวิรัติหรือวีแกน ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณในช่วงหลังมานี้ จนตอนนี้มีแบบที่เรียกว่า Flexitarian ซึ่งมาจาก Flexible กับ Vegetarian คนเหล่านี้จะยืดหยุ่นมากกว่า ทานผักมากกว่าเนื้อ ซึ่งนอกจากดีต่อสุขภาพแล้ว ยังช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มาจากการผลิตเนื้อสัตว์ได้อีกด้วย

“เราไม่ได้บังคับให้ทุกคนเปลี่ยนมากินผัก แต่เราทำอะไรที่คนคุ้นเคยอยู่แล้ว ให้มันสะอาด ได้คุณประโยชน์ครบถ้วน ใครกินก็เป็นสิ่งที่ดีต่อตัวเขา”

V Farm อาหารพร้อมทานสดจากฟาร์ม เจ้าของข้าวโพดใน 7-Eleven ที่มีระบบกระจายสินค้าทุกวันทั่วประเทศ

04

สายผลิตภัณฑ์ข้าวโพดยังขายอยู่ที่เดียวที่ 7-Eleven เพราะมีข้อจำกัดเครื่องการกระจายสินค้าเพื่อคงความสดใหม่ ส่วน Farm Product ที่พัฒนาให้เก็บรักษาได้นานขึ้น และ Plant-based Food ซึ่งมีอายุยืนกว่า เริ่มกระจายไปที่ซูเปอร์มาร์เก็ตและบนร้านค้าออนไลน์ และส่งออกไปต่างประเทศเช่นอังกฤษและฮ่องกงในปีที่ผ่านมา

ข้าวโพดฝักตัด 3 ท่อนจำนวนหมื่นกว่าแพ็ก แห้วพร้อมทานจำนวนหมื่นกว่าแพ็ค และข้าวโพดถ้วยคลุกเนยจำนวนเกือบ 2 หมื่นแพ็ก ถูกกระจายไปทั่วประเทศในทุก ๆ วัน

ด้วยยอดการผลิตที่สูงและสม่ำเสมอในทุกวัน V Farm จึงต้องการคนร่วมอุดมการณ์ในการทำธุรกิจนี้ให้ยั่งยืน โดยบริษัทได้เข้าไปส่งเสริมครือข่ายเกษตรกรที่ทำงานร่วมกันตั้งแต่วันแรกในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี และขยายไปในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและอีสานกว่า 1,000 ครัวเรือนต่อปี

“ถ้าเกษตรกรปลูกข้าว 10 ไร่ จะได้สูงสุด 2 รอบต่อปี และมีผลกำไร 80,000 บาท แต่ถ้าปลูกข้าวโพดจะได้ 2 – 3 รอบ จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 210,000 บาทต่อปี

“เครือข่ายเกษตรกรทุกรายจะได้ทำข้อตกลง Contract Farming เราจะเข้าไปให้ความรู้ ให้ Know-how ในการปลูก เข้าไปช่วยพัฒนาให้ฟาร์มทันสมัยมากขึ้นเป็น Smart Farming เราใช้โดรนในการเพาะปลูกเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงมีการรับประกันราคาให้เกษตรกรมีความมั่นคงทางรายได้ ส่งเสริมการจ้างงาน”

พียังบอกว่า ในเร็ว ๆ นี้ V Farm จะเริ่มทำฟาร์มทดลองของตัวเองที่โคราช เพื่อทดลองปลูกพืชสายพันธุ์ใหม่ ๆ แก้ปัญหาที่พบมาตลอด คือการันตีเรื่องจำนวนหรือคุณภาพของผลผลิตตามฤดูกาลไม่ได้ เพราะสินค้าตามฤดูกาลมีจำนวนไม่มาก พอปลูกได้ไม่มากแถมยังเป็นของใหม่ เกษตรกรก็ไม่กล้าเสี่ยง 

“เราเคยมีข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วงวางขาย เราเคยมีข้าวโพดเทียนของอีสานด้วย แต่ก็ทำได้ไม่นานเพราะมันจัดการยาก”

ฟาร์มทดลองจะช่วยให้มีสินค้าใหม่ ๆ สนุก ๆ มากขึ้น เป็นต้นแบบให้เกษตรกรในเครือข่าย สร้างความมั่นใจ เพิ่มโอกาสในการทำเกษตรของเขา และมาพัฒนาต่อยอดให้เป็นฟาร์มประจำแบรนด์ไปได้ด้วย ในทางกลับกัน อาจช่วยดึงดูดให้เกษตรกรรุ่นใหม่รับช่วงต่อฟาร์มครอบครัว แล้วพัฒนาให้เท่าทันเทคโนโลยีและสินค้าที่เปลี่ยนแปลงอยู่ทุกวัน

V Farm อาหารพร้อมทานสดจากฟาร์ม เจ้าของข้าวโพดใน 7-Eleven ที่มีระบบกระจายสินค้าทุกวันทั่วประเทศ

05

ในสมัยผู้เป็นพ่อตั้งใจสร้างแบรนด์อาหารที่ส่งผลดีต่อผู้บริโภค มายุคของลูกชาย เขามอง V Farm ไกลไปกว่านั้น

ไม่ใช่ธุรกิจอาหาร แต่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิต

“ผมว่าพอเราเป็นไลฟ์สไตล์แบรนด์ก็ทำให้ภาพลักษณ์เห็นชัดกว่า เข้าถึงได้ง่ายกว่า มากกว่าที่จะบอกว่า ฉันเป็นแบรนด์อาหาร ฉันเป็นแบรนด์เสื้อผ้า ถ้าสังเกตแบรนด์ใหญ่ ๆ ในปัจจุบันต่างขยับมาแตะเรื่องไลฟ์สไตล์หมดแล้ว ซึ่งจริง ๆ หัวใจสำคัญเราไม่เคยเปลี่ยน เราให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตคนมาตั้งแต่วันแรก โดยเริ่มจากอาหารที่ดีต่อสุขภาพ”

ถ้าลองไล่ดูการสื่อสารบนโซเชียลมีเดียของแบรนด์ จะเห็นเลยว่า V Farm พยายามสื่อสารเรื่องไลฟ์สไตล์มาโดยตลอด เช่น คอนเทนต์เกี่ยวกับเมนูใหม่ ๆ ที่ทำจากข้าวโพด หรือคำอธิบายถึงประโยชน์ของผลิตผลแต่ละชนิดที่มีต่อร่างกาย

แบรนด์ไลฟ์สไตล์ของ V Farm เลยไม่ใช่แค่สินค้าที่สรรค์สร้างออกมา แต่คือเป้าหมาย คือชีวิต คือหัวใจของลูกค้า อนาคตของธุรกิจนี้จึงไร้ข้อจำกัด พวกเขาอาจจะร่วมงานกับแบรนด์เสื้อผ้า ออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์ของตัวเอง หรือทำโปรเจกต์สนุก ๆ กับศิลปินสักคน

06

การขยายตัวของธุรกิจทำให้มีพนักงานเจเนอเรชันใหม่เข้ามาร่วมทีม เรื่องการสื่อสารเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดขององค์กรที่มีคนหลายรุ่น 

“เราต้องทำให้ทีมรักกัน ให้เขารู้สึกต่อกันเหมือนเป็นพี่น้อง ไม่ใช่คนนี้แก่ คนนี้เด็ก” พีเล่าพลางเปิดรูปกิจกรรมมากมายที่ยืนยันว่าในทีมมีคนทุกวัย ไม่ว่าจะเวิร์กชอป Team Building หรือทริปทั้งในและต่างประเทศ

กิจกรรมหนึ่งที่ฟังแล้วชอบมากคือV Farm Running Club แบ่งทีมวิ่งเก็บระยะทาง เมื่อถึงเวลาที่กำหนดจะเอาระยะทางมารวมกัน แล้วคำนวณเป็นระยะทางของสถานที่ที่บริษัทจะพาไปเที่ยว

แล้วปีนั้นได้ไปเที่ยวไหน – เราอดสงสัยไม่ได้จริง ๆ 

เขาหัวเราะแล้วตอบว่า เกาหลีใต้

V Farm อาหารพร้อมทานสดจากฟาร์ม เจ้าของข้าวโพดใน 7-Eleven ที่มีระบบกระจายสินค้าทุกวันทั่วประเทศ

07

ครั้งก่อนที่คุยกันเร็ว ๆ พีบอกว่าอยากเห็น V Farm เติบโตไปเป็น Global Thai Brand ซึ่งหมายถึงแบรนด์ไทยที่มีคุณภาพระดับโลก มาวันนี้เขาบอกว่านั่นไม่ใช่วิสัยทัศน์หลัก แต่จะเกิดขึ้นทันทีเมื่อทำธุรกิจอย่างยั่งยืนได้

“เราอยากให้แบรนด์อยู่ไปได้กับทุกยุคสมัย จะด้วยวิธีการผลิต วิธีการเลือกสรร หรือวิธีการแนะนำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ท้ายที่สุดในแต่ละวัน ถ้าเป็น Global Thai Brand ได้จริง ๆ ก็คงเป็นผลพลอยได้ที่ดีมาก แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร”

เขาแอบเล่าให้ฟังถึงโปรดักต์ใหม่จากวิสัยทัศน์ที่เขาอยากให้ V Farm เป็นธุรกิจที่ยั่งยืนก่อนสิ่งใด และจะนำไปขายที่งานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม THAIFEX 2022  ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 – 28 พฤษภาคมนี้

“ทีมงานวิจัยที่อเมริกาบอกว่า อีกไม่กี่ปีคนจะมองหาสินค้า Plant-based ที่มีกระบวนการผลิตและแปรรูปน้อยกว่า หรือที่เรียกว่า Low Processed Food และหันมาบริโภคสินค้าในรูปแบบ Whole Food มากขึ้น 

“ปีนี้ เราเลยจะออกสินค้า Plant-based ในรูปแบบใหม่ ที่ใช้พืชและผักในรูปแบบจากธรรมชาติจริง ๆ ทั้งหมด แต่ยังอร่อยและกินง่าย ตัวแรกคือ Buffalo Cauliflower Wings เหมือนปีกไก่ทอดคลุกซอส แต่เป็นดอกกะหล่ำทั้งหัวแทน อีกตัวคือ Mushroom Nuggets ที่ทำจากเห็ดออร์แกนิคทั้งชิ้น ซึ่งจะเป็น Plant-based Food เวอร์ชันใหม่ ที่ทานง่ายและจะช่วยให้คนหันมาทานพืชผักมากขึ้นมากขึ้น”

แม้มีโมเดลธุรกิจ แนวคิดตั้งต้น สินค้าที่ผลิตออกมา และรางวัลที่น่าภูมิใจกันทั้งบริษัทอย่าง SMEs Sustainability Awards อยู่เต็มสองมือ พียังพูดไม่ได้เต็มปากว่าธุรกิจของเขาประสบความสำเร็จเรื่องความยั่งยืนร้อยเปอร์เซ็นต์

แต่รับปากเอาไว้ว่าจะมีวันนั้น

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ