The Cloud x TAT Contact Center เพื่อนร่วมทาง
เคยมีวลีของใครคนหนึ่งที่ชาวอุตรดิตถ์รู้สึกชื่นชอบว่า “อุตรดิตถ์แดนฝัน สวรรค์บนดิน เมืองแห่งภูเขากินได้” รวมถึงตำนานของเมืองลับแล ดินแดนแห่งลางสาดหวาน ทุเรียนพื้นเมือง หลงลับแล หลินลับแล สับปะรดห้วยมุ่น ก็ยังเป็นที่สนใจของผู้คนจากต่างแดนอีกเช่นกัน
เดิมทีตัวเมืองอุตรดิตถ์คือบางโพธิ์ท่าอิฐ ซึ่งปัจจุบันเป็นเพียงตำบลเล็กที่ยังมีวิถีแห่งย่านการค้าเก่า อุตรดิตถ์ตั้งอยู่ทางใต้สุดของภาคเหนือตอนล่าง ไม่ได้ใกล้อุดรธานี ไม่ติดอุบลราชธานี อย่างที่หลายคนเข้าใจ
อุตรดิตถ์มีภูเขาสูงสลับซับซ้อน อากาศค่อนข้างร้อนอบอ้าวในฤดูร้อน คนอุตรดิตถ์ใช้ชีวิตวิถีเกษตรกรรมเป็นหลัก ความน่ารักของคนอุตรดิตถ์อีกอย่างหนึ่งคือภาษาพูด จนเคยมีผู้กล่าวไว้ว่า อุตรดิตถ์เป็นเมืองที่มีภาษาพูดมากที่สุดในประเทศ ส่วนจะเท็จจริงอย่างไร คงต้องมาลองสนทนาพาทีกับคนที่นี่ดู
ส่วนการท่องเที่ยวมีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแหล่งโบราณคดี ประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ ซึ่งในระยะหลังอุตรดิตถ์ชัดเจนเรื่องการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ชุมชน ตลอดจนการนำเสนอด้วยเสน่ห์อาหารการกินหลากหลายเชื้อชาติของคนอุตรดิตถ์ มีรสชาติแบบ กลาง เหนือ อีสาน ใต้ จีน ที่สำคัญราคาน่ารัก ข้าวจานละ 15 บาทก็ยังหาทานได้ เรียกได้ว่าถ้ามีเงินสัก 100 บาทก็พุงกางได้
ครั้งนี้อยากให้ใคร ๆ ลองกำหนดแผนเพียงหลวม ๆ แล้วใช้วิธีการเสาะแสวงหา ลัดเลาะไปตามแหล่งชุมชน กระทั่งลองแวะชิมอาหารริมทาง หรือเดินดูหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ไหนสักแห่ง แทนที่จะตั้งหน้าตั้งตาขับรถไปให้ถึงที่หมายโดยเร็วที่สุด ลองเปลี่ยนเป็นเริ่มจากแวะร้านค้า ตลาด ไร่ นา สวน แม่น้ำ วัด บ้านชาวบ้านข้างทางระหว่างเส้นทางนั้น และทำความรู้จักอุตรดิตถ์ผ่าน 10 สถานที่ต่อไปนี้ ตั้งแต่ร้านก๋วยเตี๋ยว สวนผลไม้ ไปถึงอาร์ตสเปซ เมืองเล็ก ๆ ที่ใคร ๆ ก็บอกว่าเป็นเมืองผ่าน และครั้งหนึ่งเคยติดอันดับเมืองที่มีมวลความสุขของประเทศไทยมาแล้ว
01
มา มะ อาร์ตสเปซ
พื้นที่ศิลปะที่เริ่มต้นจากความรักในศิลปะของครอบครัวเล็ก ๆ

หลังจากเรียนจบด้านศิลปะ ติ๋ว-แสงเดือน จริยารัตนกูล เคยรับสอนศิลปะชั้นเรียนเล็ก ๆ ของแกลเลอรี่แห่งหนึ่งในบ้านเกิด ควบคู่กับการใช้ชีวิตครอบครัว โดยมีสามีเป็นอาจารย์สอนศิลปะ
ครอบครัวมามะทำงานศิลปะหลายอย่าง วาด ปั้น สื่อผสม ด้วยความชอบชีวิตเรียบง่าย การใช้วัสดุธรรมชาติ ปรับเปลี่ยนแปลงผักของแม่เป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะของครอบครัว และผลงานเพื่อน ๆ พี่ น้อง ครู อาจารย์ ด้วยแรงเสริมจากประโยคที่น้องคนหนึ่งบอกว่า
“เราทำงานศิลปะไว้เยอะมาก ถ้าจะทำบ้านอีกหลัง ก็น่าจะเป็นการดีที่เอาผลงานเราแขวนให้คนอื่นดูบ้าง ให้คนเห็นงานศิลปะสวย ๆ”

ชื่อ มา มะ อาร์ตสเปซ มีที่มาจากชื่อเล่นของลูกทั้งสอง มาหนุนและมะนอย พื้นที่แบ่งเป็นบ้านพักอาศัยของครอบครัว กับบ้านอีกหลังเป็นส่วนทำกิจกรรมทางศิลปะ ด้วยอาคารปูนแบบง่าย ๆ ด้านบนมีพื้นที่ทำงานวาดภาพ และมีภาพวาดจัดแสดงอยู่จำนวนมาก ด้วยความตั้งใจอยากพัฒนาพื้นฐานการใช้ชีวิตให้คนในชุมชนรู้จักชื่นชมความงาม ผ่านงานทัศนศิลป์ที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน คอยต้อนรับพี่น้องเพื่อนฝูงที่มาเยี่ยมเยือน มาทำงานศิลปะ วาด ระบายสี ปั้น และอื่น ๆ บนพื้นฐานของความเชื่อที่ว่า ศิลปะจะต้องเข้าถึงง่าย ทำได้ง่าย ใครก็ทำได้

ชั้นล่างเป็นห้องเก็บผลงานสำคัญของศิลปิน เพื่อน ครูอาจารย์ ด้วยเหตุผลคืออยากมีงานศิลปะดี ๆ ให้ได้ชมกันหากไม่มีโอกาสไปหอศิลป์ในเมืองอย่างเชียงใหม่หรือกรุงเทพฯ อีกส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ห้องเรียนศิลปะ นั่งเรียนกันโล่ง ๆใต้ถุนบ้าน รวมถึงปัจจุบันได้เพิ่มงานเครื่องปั้นดินเผาเข้ามา
ในช่วงวันลอยกระทงของทุกปี มา มะ อาร์ตสเปซ ยังร่วมกับชุมชนจัดกิจกรรมทำกระทง ลอยกระทง ให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอีกด้วย
ที่ตั้ง : 52 หมู่ 2 ตำบลผาจุก อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ (แผนที่)
วันเวลาทำการ : เสาร์-อาทิตย์ 09.00 – 17.00 น. (ปิดวันจันทร์-ศุกร์ แต่จะเปิดเป็นกรณีพิเศษหากติดต่อล่วงหน้า)
โทรศัพท์ : 08 9859 9161
Facebook : MA MA ART SPACE
02
บุญดำรงค์กรีนฟาร์ม
ฟาร์มเกษตรอินทรีย์ที่มีป่าวนเกษตรเป็นตู้กับข้าวของชุมชน

หากจะพูดถึงเกษตรกรระดับแนวหน้าของอุตรดิตถ์ คงอดไม่ได้ที่จะกล่าวถึง เอด-สุทธิรัตน์ ปลาลาศ เกษตรกรอีกคนหนึ่งที่มีความคิดเด็ดเดี่ยวควบคู่กับการอนุรักษ์ผืนป่า ความตั้งใจนี้ชัดเจนตั้งแต่สมัยเลือกเรียนมหาวิทยาลัยแม่โจ้ สาขาพืชศาสตร์ไม้ผล ด้วยความที่ตอนเด็กเคยเดินตามผู้เฒ่าผู้แก่ หาบกล้าทุเรียน ลางสาด ขึ้นรถไฟไปปลูกในป่า จากสถานีน้ำริดไปยังสถานีปางต้นผึ้ง สถานีเล็ก ๆ ก่อนขบวนรถไฟจะลอดอุโมงค์เขาพลึงขึ้นเหนือไปเรื่อย ๆ
ภาพจำที่คอยตอกย้ำว่าการปลูกผลไม้ให้ขึ้นในป่าดีกว่าถางป่าเพื่อปลูกพืชผลเชิงเดี่ยว จากบัณฑิตคณะเกษตร มาถึงการเป็นเกษตรกรของบุญดำรงค์กรีนฟาร์ม ฟาร์มเกษตรเล็ก ๆ บนผืนนาที่ติดกับทางรถไฟ ในหมู่บ้านน้ำริด มีด้านหลังเป็นภูเขาคนละครึ่งฝั่งกับเมืองลับแล จากผืนนาของ ปู่ ย่า ตา ทวด ที่ทำเกษตรสู่รุ่นลูกหลาน มีตั้งแต่ผักพื้นบ้าน มะเขือ พริก มะกรูด ไปจนถึงผักกาดแก้ว ผักโขมแดง โรสแมรี่ ทั้งหมดปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ฟาร์มที่มีร้านค้ากึ่งร้านอาหาร
วันดีคืนดีแม่ของเอดจะทำอาหารพื้นบ้านอร่อย ๆ อย่างขนมจีนน้ำเงี้ยว ยำผักกูด แกงแค มีผลผลิตแปรรูป ข้าวกล้อง ข้าวอินทรีย์ นมถั่วเหลือง ผลไม้แช่อิ่ม น้ำลางสาด ซึ่งลางสาดถือเป็นผลผลิตที่สะท้อนถึงคุณค่าการมีตัวตน ชีวิต จิตวิญญาณของเอดได้เป็นอย่างดี


หากมีเวลานั่งฟังเรื่องเล่า จะรู้ว่าวนเกษตรคือหัวใจของบุญดำรงกรีนฟาร์ม และหลายคนอาจยังไม่รู้ว่าผลผลิตของบุญดำรงค์กรีนฟาร์มได้ส่งถึงผู้บริโภคในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครนานแล้ว ต้องมาคุยมาฟัง ถึงจะร้องอ๋อกันเลยทีเดียว
ที่ตั้ง : 172 หมู่ 1 ตำบลน้ำริด อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ (แผนที่)
วันเวลาทำการ : จันทร์-อาทิตย์ 09.00 – 17.00 น. (หรือติดต่อล่วงหน้าเพื่อความสะดวก)
โทรศัพท์ : 08 6590 6115
Facebook : บุญดำรงกรีนฟาร์ม
03
ลับแล เมืองน่ารัก
บ้านที่เล่าชีวิตความเป็นอยู่ของเมืองลับแลแบบเรียบง่าย

ลับแล เมืองน่ารัก เป็นบ้านไม้ธรรมดา เป็นบ้านดิน เป็นร้านทำข้าวแคบและข้าวพัน อันเป็นอาหารพื้นเมืองขึ้นชื่อของชาวลับแล เป็นแกลเลอรี่ภาพถ่ายวิถีชีวิต ซึ่งนำเสนอมุมมองที่ต่างออกไป เพื่อบอกเล่าความจริง ความดี ความงาม ของคนลับแลผ่านภาพถ่าย และการจัดกิจกรรมเที่ยวลับแลแบบบ้าน ๆ
นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะคุ้นชื่อ เมืองลับแล มากกว่า จังหวัดอุตรดิตถ์ ไม่ว่าจะด้วยการรับรู้ผ่านตำนาน เรื่องเล่า หรือกระแสความนิยมของเหล่านักชิมผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียน หลงลับแล หลินลับแล ลางสาด ลองกอง อันเป็นที่มาของสมญานาม ‘เมืองแห่งภูเขากินได้’
การนำเสนอเรื่องราวของเมืองลับแลในมุมมองที่ต่างออกไป จึงเป็นความท้าทายสำหรับ ใหม่-ณฐพร พรมโพธิ์ อดีตเด็กนักศึกษานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ที่มีโอกาสฝึกปรือฝีมือประสบการณ์ด้านการทำสื่อจากบริษัททำสารคดี สื่อสิ่งพิมพ์ กระทั่งได้เรียนรู้ด้านการทำภาพยนตร์ และมีโอกาสติดสอยห้อยตามไปทำงานกับผู้กำกับหลายคน

เริ่มจากความสนใจของเด็กคนหนึ่งเป็นที่ตั้ง เมื่อสิ่งต่าง ๆ ที่ได้เรียนรู้ทำให้เขากลับมาคิด ปู่เย็น เฒ่าทรนง แห่งลุ่มน้ำเพชรบุรี คือหนึ่งในบุคคลที่ทำให้เกิดคำถามว่า ‘เราเกิดมาเพื่ออะไร’
และคำตอบที่ได้คือ กลับบ้าน

ใหม่ใช้พื้นที่ชั้นบนของบ้านเล่าเรื่องราวเมืองลับแลในแบบง่าย ๆ ผ่านการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ ภาพถ่ายมุมองต่าง ๆ ในเมืองลับแล หนังสือ ตำราเก่า ข้างบ้านมีเพิงเล็ก ๆ ภายใต้เพิงมีเตาทำข้าวแคบที่ได้เรียนรู้การทำจากปราชญ์ชาวบ้านแล้วมาหัดทำ หัดก่อเตา จนได้เตาใช้งานเอง ใช้ทำข้าวแคบ ข้าวพัน ทั้งทำจำหน่าย สาธิตให้นักท่องเที่ยวที่สนใจได้ลองชิมและหัดทำ ไปจนถึงจัดกิจกรรมกับเด็กในชุมชน ในอนาคตอันใกล้ ใหม่และภรรยากำลังเตรียมพื้นที่เล็ก ๆ ในสวนใกล้บ้านทำเป็นร้านขายข้าวพันผัก อาหารหลักของคนลับแล ทำสตูดิโอภาพถ่าย ของที่ระลึก และเป็นที่พักสำหรับนักเดินทางที่ชอบความเงียบ ง่าย งาม
ที่ตั้ง : 662 ถนนศรีวิจารณ์ ตำบลศรีพนมมาศ อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ (แผนที่)
วันเวลาทำการ : จันทร์-อาทิตย์ 09.00 – 17.00 น. (หรือติดต่อล่วงหน้าเพื่อความสะดวก)
โทรศัพท์ : 08 76575959
Facebook : ลับแล เมืองน่ารัก
04
นานา ฟิลด์
ร้านอาหารกลางทุ่งนาอินทรีย์ของแม่และยาย


“เราอยากให้คนมาเที่ยว มาเห็นวัดพระฝาง”
คำพูดของ แป้ง-ธัญญารัตน์ สุนทรารัณญ์ นักศึกษาเทคนิคการแพทย์ สาขารังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ไม่ได้ใช้ชีวิตตรงสายหลังจากเรียนจบ
ด้วยความที่เติบโตมากับครอบครัวในชุมชนบ้านพระฝาง อันเป็นที่ตั้งของวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ โบราณสถานที่มีทั้งความงามของบานประตูไม้แกะสลัก แป้งจึงทำร้านอาหารของตัวเอง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการบอกเล่าเรื่องราวแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ชวนให้คนที่มาวัดพระฝาง ต้องมาแวะกินอาหารอร่อยที่นานา ฟิลด์
นานา ฟิลด์ เป็นร้านอาหารและคาเฟ่บรรยากาศร่มรื่น เย็นสบาย นั่งชมนา ชมนก มีทางเดินทอดยาวออกไปยังผืนนา นอกเหนือจาก กิน ดื่ม ชม กิจกรรมที่ต้องมาทำที่นี่คือการร่วมกันดำนา หรือเรียกอีกอย่างว่าลงแขกดำนา ซึ่งแป้งได้ชวนเพื่อนบ้าน พี่ น้อง มาเรียนรู้และร่วมสนุกเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ยังมีห้องพักอีก 3 ห้อง เป็นกระท่อมกลางนาหลังเล็กน่ารัก ที่กำลังจะเปิดให้บริการในเร็ววันนี้

หากอยากลองมาใช้ชีวิตชาวนา นอนกลางนา กินข้าวกลางนา นั่งนับดาวกลางนา ก็น่าจะมีความสุขไม่น้อย ช่วงที่ไม่มีต้นข้าวก็จะมีต้นปอเทืองออกดอกเหลืองงามเต็มทุ่งไว้แทน
และขาดไม่ได้คือการแนะนำข้าวปลาอาหารของนานา ฟิลด์ ตั้งแต่ข้าวหอมมะลิ ข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวอินทรีย์ที่แสนอร่อย อาหารพื้นบ้านอย่างลาบ ต้มปลา น้ำพริก หรือ สปาเก็ตตี้ ข้าวแกงกะหรี่และปอเปี๊ยะทอด ซึ่งได้สูตรมาจากเพื่อนตอนไปเรียนภาษาที่อเมริกา สลัด เค้กแบบต่าง ๆ วันดีคืนดีมีน้ำลิ้นจี่สดปั่นสั่งตรงจากฟาร์มที่เชียงใหม่
ไม่ต่างจากผืนนาของเธอ อาหารทุกเมนูก็ปรุงมาจากใจ จากความรักในสิ่งที่ทำอีกเช่นกัน
ที่ตั้ง : 185 บ้านพระฝาง หมู่ 3 ตำบลผาจุก อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ (แผนที่)
วันเวลาทำการ : อังคาร-อาทิตย์ 09.30 – 17.30 น. (ปิดวันจันทร์)
โทรศัพท์ : 09 7297 2396
Facebook : NANA Field
05
ก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋นยาจีนครูเก่ง
ร้านก๋วยเตี๋ยวที่นั่งกินแล้วอิ่มกับเรื่องเล่าเมืองพิชัยแบบลึกซึ้ง

เมืองพิชัย เมืองที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ของอุตรดิตถ์ เมืองที่มีของกินอร่อย แกงหอย ไส้อั่วแบบพิชัย หากใครเคยเดินทางท่องเที่ยวโดยรถไฟสายเหนือ จะรู้ว่าถ้าลงที่สถานีพิชัย สามารถเที่ยวได้ในแบบกระชับ พอดี พองาม และหากเดินลัดเลาะย่านตลาดหน้าสถานีรถไฟมาอีกเล็กน้อย จะเจอร้านก๋วยเตี๋ยวเส้นสดร้านเล็ก ๆ หัวมุมถนน ร้านก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋นยาจีนครูเก่ง ตั้งตามชื่อ ครูเก่ง-วิทยา ศรีม่วง คนพิชัยโดยแท้
ครูเก่งเรียนจบด้านจิตรกรรมสากล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เป็นครูสอนศิลปะ ครูติวศิลปะ จิตรกร นักเดินทาง นักเขียน นักศึกษาประวัติศาสตร์เมืองพิชัยตัวยง ใครต้องการฟังเรื่องราวเมืองพิชัยหรือพระยาพิชัย มาที่นี่ไม่ผิดหวังแน่นอน หน้าร้านอาจดูเหมือนไม่ใช่ร้านก๋วยเตี๋ยว และเมื่อแรกมองเข้าไปอาจคิดว่าเป็นสตูดิโอศิลปะ ร้านทำป้าย หรือร้านขายของเก่า เพราะบรรยากาศในร้านเต็มไปด้วยการสร้างสรรค์งานศิลปะ การตกแต่งเหมือนทำงานศิลปะแบบสื่อผสม ปะปนไปกับสิ่งของที่บอกเล่าเรื่องการเดินทางในอดีต


ภายในร้านมีพื้นที่สำหรับชงชา กาแฟ และเครื่องดื่มอื่น ๆ มีโต๊ะสำหรับนั่งกินก๋วยเตี๋ยว ทั้งก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋น ไก่ตุ๋น ต้มยำแบบไทย ต้มยำแบบพิชัย หรือแบบจีน แบบเกาหลี เกาเหลาลวกจิ้ม กิมจิและหัวไชเท้าดองสูตรเกาหลีขนานแท้ เส้นทั้งหมดทำเองด้วยสูตรพิเศษของครูเก่ง
บางเมนูครูเก่งได้สูตรและกระบวนการทำจากเพื่อนศิลปินและอาจารย์ศิลปะ เมื่อครั้งเดินทางไปเวียดนามและชักชวนกันไปแสดงงานที่เกาหลี เพื่อน ๆ ต่างมอบสูตรการทำเส้น จนถึงขั้นแทบจะยกไม้ตีแป้งประจำตระกูลให้ครูเก่งเอามาทำเส้นที่เมืองพิชัยเลยทีเดียว
หากจะพูดว่า “ศิลปะ หนังสือ เส้นก๋วยเตี๋ยว กิมจิ และการเดินทาง คือ ส่วนหนึ่งของครูเก่ง” ก็คงจะไม่ผิดนัก
ที่ตั้ง : 410/10 ตำบลในเมือง อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ (แผนที่)
วันเวลาทำการ : ทุกวัน 10.00 – 14.30 น.
ติดต่อ : 08 6927 7508
Facebook : Kenny Witthaya Srimuang
06
Summer Green cafe
คาเฟ่กลางสวนทุเรียนในชุมชนวัดเจดีย์คีรีวิหาร เมืองลับแล

สวนทุเรียนมีคาเฟ่ หรือ คาเฟ่ในสวนทุเรียน ไม่แน่ใจ แต่สามารถมองหาทางเข้าตรงข้ามวัดเจดีย์คีรีวิหาร ในเมืองลับแล เลี้ยวซ้ายเข้าไปในซอยเล็ก ๆ ตรงข้ามวัด สักพักจะเจอป้าย ‘สวนป้าเรียน’
สิ่งที่ขาดไปไม่ได้เมื่อพูดถึงเมืองลับแลคือผลไม้นานาชนิด โดยเฉพาะทุเรียนสายพันธุ์หลงลับแลและหลินลับแล และผลไม้จากเมืองลับแลก็ยังสร้างรายได้หลักล้านต่อปีให้จังหวัดอุตรดิตถ์อีกด้วย

ป้าเรียน มีรัตน์ เป็นชาวลับแลโดยกำเนิด ทำสวนลับแลมาแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ขายทุเรียน ลางสาด ลองกอง มาหลายสิบปี ชาวลับแลมีการปลูกต้นทุเรียนกันแทบทุกบ้าน บ้านป้าเรียนเองก็มีเนื้อที่กว้างขวาง ปลูกต้นทุเรียน ลางสาด ลองกอง ในบ้านได้เป็นจำนวนมาก ยังไม่รวมในสวนที่อยู่ห่างออกไปในตัวอำเภอลับแลอีกด้วย
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ลูก ๆ ของป้าเรียนเห็นว่าท่านอายุมากขึ้น ไม่อยากให้ออกนอกบ้านไปค้าขายผลไม้ที่ตลาด จึงใช้พื้นที่บริเวณบ้านทำเป็นร้านขายทุเรียน ข้างใต้ถุนมีแคร่จำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงราวเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม

หลังจากมีลูกค้าเข้ามาชิม มาซื้อ ผลไม้จากสวนป้าเรียนอยู่ไม่ขาดสาย จึงเกิดเป็น Summer Green cafe เพื่อเป็นพื้นที่รับรองลูกค้า โดยมีเครื่องดื่ม ชา กาแฟ และยังนำผลผลิตจากทุเรียนมาสรรสร้างเมนูใหม่ เช่น เค้กทุเรียน น้ำทุเรียนปั่น และอีกหลากหลายรายการ ภายใต้บรรยากาศแบบนั่งกินทุเรียนใต้ต้นทุเรียนได้เลย
ที่ตั้ง : 14 หมู่ 5 ตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ (แผนที่)
วันเวลาทำการ : ทุกวัน 09.00 – 18.00 น. (ปิดวันจันทร์)
โทรศัพท์ : 06 1714 5956
Facebook : สวนผลไม้บ้านป้าเรียน และ Summer Green cafe
07
มานิดา คาเฟ่ @สวนสุวรรณ
คาเฟ่ในสวนผลไม้ที่เริ่มต้นทำในสิ่งที่รักจากศูนย์

มานิดา คาเฟ่ เป็นคาเฟ่แบบเรียบง่ายในสวนมะยงชิดและอินทผลัมของครอบครัว ตั้งอยู่ติดทางหลวงสายเหนือ
พ่อของ หนึ่ง-สุปราณี สุวรรณรอด เริ่มทำการเกษตรพืชสวน พืชผลไม้ จากการเรียนรู้ด้วยตนเอง เพราะไม่ได้เรียนสูง จบแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ต่างจากลูกสาวที่เรียนจบการศึกษาด้านศิลปะ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ เคยทำงานมาหลายอย่าง ตัั้งแต่เป็นครูสอนศิลปะเด็ก ลูกจ้างร้านอาหาร ร้านกาแฟ ขายของตลาดนัด รับทำงานภาพประกอบ จนสุดท้าย มาจบที่ความฝันว่าอยากกลับมาช่วยพ่อทำสวนสุวรรณและเปิดร้านเล็ก ๆ ในสวนของพ่อ ซึ่งสวนทางกับความคิดของพ่อโดยสิ้นเชิง

มานิดา คาเฟ่ เสิร์ฟเครื่องดื่มจากผลผลิตในสวน น้ำมะยงชิด ชาดอกอินทผลัม ชามะนาวอินทผลัม อินทผลัมนมสด อินทผลัมแบบตากแห้ง ทุเรียนปั่น พร้อมอาหารทานง่ายอย่างข้าวหน้าลาบมะแขว่น หมูย่าง ไปจนถึงรับจัดชุดหมูกระทะสำหรับนั่งกินระหว่างดูพระอาทิตย์ตกตอนเย็น ๆ อีกด้วย

ใครได้มาเยี่ยมเยียนที่นี่จะรู้สึกถึงความเป็นกันเองของเจ้าของร้าน ท่ามกลางความร่มรื่นของสวนผลไม้แบบเกษตรอินทรีย์ปลอดสารเคมี 100 เปอร์เซ็นต์ ร้านยังมีระเบียงและทางเดินลอยฟ้าเหนือสวนเชื่อมไปยังกลางสวนผลไม้ ให้แขกไปใครมาได้สัมผัสธรรมชาติ ภูเขา นั่งดูอาทิตย์ตกดิน ได้อย่างเต็มที่
ถ้าต้องการซึมซับบรรยากาศมากไปกว่านั้น สามารถเช่าพื้นที่กางเต็นท์ได้ในทุกจุดของสวนสุวรรณ ซึ่งอัตราค่าบริการไม่แพง คุ้มค่ากับการได้นอนนับดาว ตื่นเช้ามาสูดอากาศบริสุทธิ์ เรียนรู้ชีวิตชาวสวน และการดูแลผักผลไม้แบบใกล้ชิด
ที่ตั้ง : 212/1 ตำบลด่านนาขาม อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ (แผนที่)
วันเวลาทำการ : เปิดทุกวัน 09.00 – 17.00 น.
โทรศัพท์ : 08 6206 0795
Facebook : มะยงชิดสวนสุวรรณ
08
วัดใหญ่ท่าเสา ชุมชนท่าเสา
วัดที่บอกเล่าประวัติศาสตร์และย่านเก่าของอุตรดิตถ์

ด้วยที่ตั้งตัวเมืองอุตรดิตถ์นั้นอยู่ริมแม่น้ำน่าน อันเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญที่มีความเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และยังมีท่าน้ำที่สำคัญ 3 ท่า คือ ท่าเซา ท่าอิด และท่าโพธิ์ ทำให้บริเวณแถบนี้มีการย้ายถิ่นฐานของผู้คนมาตลอด
วัดใหญ่ท่าเสา ชุมชนท่าเสา เป็นย่านการค้าเก่าของอุตรดิตถ์
คำว่า ‘เสา’ ในชื่อ ท่าเสา มาจากคำว่า ‘เซา’ ในภาษาล้านนา แปลว่า พักผ่อน ทั้งสองคำนี้มีที่มาจากการเดินทางมาค้าขายที่ท่าอิด กว่าจะถึงก็เหนื่อยและต้องพักผ่อนที่นี่
ชุมชนท่าเสาประกอบด้วยวัด ย่านการค้า สถานีรถไฟ เป็นหลัก มีบ้านเรือนของประชาชนรายล้อม มีรถไฟผ่านกลางชุมชน สองฝั่งทางรถไฟจึงเรียงรายด้วยร้านค้าและอาคารพาณิชย์ ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงมีวิถีชีวิตในแบบย่านการค้าเก่าให้เห็นอยู่


รูปแบบของอาคารมี 3 ลักษณะ คือ แบบไม้มีประตูบานเฟี้ยม แบบครึ่งไม้ครึ่งปูน และแบบปูน บางอาคารเป็นบ้าน บางอาคารปรับบ้านให้เป็นร้านค้า ก่อนนี้จุดเด่นที่น่าสนใจของท่าเสาคือสถาปัตยกรรมภายในวัด หอไตร อุโบสถ ศาลาการเปรียญ ซึ่งมีรูปแบบศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย
นอกจากนี้ยังมีสถานีดับเพลิงและสถานีรถไฟ ที่ปัจจุบันทางการรถไฟได้ยกเลิกการจอดขบวนรถที่สถานีท่าเสาไปแล้ว ทำให้ตัวอาคารของสถานีเหลือเพียงบางส่วนให้พอได้คิดถึง
ในส่วนของร้านค้าต่าง ๆ เริ่มมีการปรับตามยุคสมัย บางร้านจากเดิมที่รุ่นอากงอาม่าขายวัสดุก่อสร้าง ก็มีการเปลี่ยนเป็นร้านกาแฟหรือร้านอาหาร
ในตอนเย็น บริเวณสถานีรถไฟจะมีร้านอาหารและร้านค้าเล็ก ๆ หลายร้านมาเปิดขายกับข้าว ขายขนมพื้นบ้าน บางวันอาจจะโชคดีได้กินขนมสูตรโบราณ เช่น ขนมใส่ไส้ ขนมกล้วย จากคุณยายละแวกนั้นที่ใส่กระจาดมานั่งขายอีกด้วย
ที่ตั้ง : 433 ตำบลท่าอิฐ อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ (แผนที่)
09
ทุ่งยั้งเฮาส์
คาเฟ่และที่พักเล็ก ๆ ในตำบลทุ่งยั้งกับความหมายของอัฏฐมีบูชา

ถ้าพูดถึงวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง คงอดไม่ได้ที่จะเชื่อมโยงไปถึงประเพณีท้องถิ่นในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี การจัดแสดงพุทธประวัติตอนถวายพระเพลิงพระบรมศพด้วย หรือที่เรียกกว่า วันอัฏฐมีบูชา เป็นพิธีจำลองเหตุการณ์การถวายพระเพลิงองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธสรีระจำลอง จัดสร้างจิตกาธาน พระเมรุมาศ และมีการถวายพระเพลิงจริง
“วันอัฏฐมีบูชาใครได้มาร่วมถือเป็นเหมือนได้บุญใหญ่ บุญทางใจ บุญจากการประพฤติดีต่อองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า”
ตั้ม-อรรถพงษ์ ทองจินดา เจ้าของทุ่งยั้งเฮาส์ ร้านกาแฟและที่พักข้างตลาดทุ่งยั้งที่อยู่ติดกับวัดพระบรมธาตุฯ กล่าวอย่างภูมิใจในความเป็นคนตำบลนี้ หลังจากเรียนจบรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็มีโอกาสได้ทำงานเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเพราะมีความสนใจเป็นพิเศษ

สังเกตได้ชัดเจนจากการตกแต่งร้านกาแฟของเขา ไปจนถึงที่พักที่ปรับปรุงจากบ้านกึ่งปูนกึ่งไม้สองชั้นเดิม เฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่เป็นไม้ มีของตกแต่งเป็นของใช้ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายตกทอดมา ผสมผสานไปกับของสะสมที่เขารักหลายชิ้น

ชั้นล่างเป็นร้านกาแฟที่เขาทำกับแม่ ส่วนชั้นบนโครงสร้างหลักเป็นไม้ ดูอบอุ่น จัดสรรให้เป็นห้องพักสำหรับนักท่องเที่ยว เดิมจะมีทั้งหมด 4 ห้อง แต่ด้วยความที่แม่แก่ตัวลงทุกวัน จึงตัดสินใจลดจำนวนห้องให้เหมาะสมกับการดูแลผู้เข้าพักได้เต็มที่เหลือเพียง 1 ห้อง แต่เป็น 1 ห้องที่พิเศษสุด ด้วยขนาดใหญ่และมีระเบียงยื่นออกไป จึงมองเห็นวิถีชีวิตผู้คนจากมุมนี้ได้เลย
ที่ตั้ง : 102 ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ (แผนที่)
วันเวลาทำการ : ทุกวัน 09.30 – 16.30 น.
โทรศัพท์ : 08 6435 0458
10
ใจสั่นเพราะแก หรือ กาแฟวะ
คาเฟ่ที่มีแต่คนบ่นว่าไปยาก แต่เป็นขวัญใจเด็ก ๆ ชุมชนลาวเวียง

หาดสองแคว เป็นทั้งหมู่บ้านและตำบลที่มีชีวิตความเป็นอยู่แบบชุมชนลาวเวียง เป็นวิถีที่ผสมผสานรูปแบบไทยภาคกลางและลาวได้อย่างลงตัว ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม มีการปลูกข้าว ทำไร่อ้อย และยังสืบทอดศิลปวัฒนธรรมประเพณีค่อนข้างชัดเจน อย่างการทำบุญตักบาตรหาบจังหัน แบบประเพณีไหลแพไฟ และอาหารการกิน อาทิ อั่วบักเผ็ด
อะไรคือหาบจังหันและอั่วบักเผ็ด ทุกคนในชุมชนหาดสองแควให้คำตอบได้
เช่นเดียวกับที่ สตางค์-สุดารัตน์ พุทธา อดีตนักศึกษาคณะครุศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ บอกกับเราว่า ตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบัน วิถีความเป็นอยู่ที่นี่เปลี่ยนแปลงน้อยมาก และเป็นเหตุผลหนึ่งที่หลังจากเรียนจบ เธอได้ลองสอบบรรจุข้าราชการครูเพียงครั้งเดียว และตัดสินใจเปิดร้านกาแฟเล็ก ๆ ที่บ้านในชุมชนที่ตัวเองรัก
เธอใช้เวลาฝันถึงร้านตัวเองหลายปี แต่ตัดสินใจว่าจะเปิดร้านเพียง 2 วัน


ใจสั่นเพราะแก หรือ กาแฟวะ คือชื่อร้านที่ไม่เป็นชื่อร้าน ดูเหมือนจะเป็นการตั้งคำถามให้มึนงงสงสัยพอ ๆ กับเส้นทางการมาร้าน ด้วยที่ตั้งที่อยู่ในซอยเล็ก ๆ ในชุมชน หน้าร้านคลุมด้วยต้นไม้จึงสังเกตได้ยาก แต่สตางค์บอกว่าตั้งแต่เปิดร้านมากลับไม่ค่อยได้หยุดพักเลย
พื้นที่ร้านคือสวนหลังบ้านที่อยู่ด้านหลังร้านขายของชำของแม่ มีบรรยากาศร่มรื่นเย็นสบาย อาหารและเครื่องดื่มปรุงจากผลผลิตในชุมชน และราคาไม่แพง (เริ่มต้นที่ 25 – 70 บาท) เพราะอยากให้เด็ก ๆ และคนในชุมชนได้ลิ้มลองของอร่อย
สตางค์ไม่อยากปิดร้านให้ลูกค้าคิดถึงจึงไม่กล้ามีวันหยุด เพียงปิดป้ายบอกเฉพาะในวันที่ไปจับจ่ายซื้อวัตถุดิบ อีกทั้งตอนนี้ยังมีผู้ช่วยเป็น กิ๊ก-สุวรรณรัตน์ อักษรกริช มาช่วยงานที่ร้านอีกแรง ถ้าถามว่า ใจสั่นเพราะแก หรือ กาแฟวะ อาจได้คำตอบว่า ก็ใจสั่นเพราะแกนั่นแหละ สองสาวที่ทำให้ร้านกาแฟสร้างเสน่ห์และสีสันให้ชุมชนแห่งนี้
ที่ตั้ง : 83/3 หมู่ 2 ตำบลหาดสองแคว อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ (แผนที่)
วันเวลาทำการ : ทุกวัน 09.30 – 17.30 น. (ปิดเฉพาะวันไปจ่ายตลาด)
โทรศัพท์ : 06 2292 7555
Facebook : ใจสั่นเพราะแก หรือ กาแฟวะ
