บอย-อุเทน ศรีริวิ ลูกอีสานจากจังหวัดขอนแก่น ผู้กำกับภาพยนตร์ ผู้บ่าวไทบ้าน ทั้ง 4 เรื่อง

จากเด็กหนุ่มวัยหัวเลี้ยวหัวต่อที่ตัดสินใจออกจากมหาวิทยาลัยมาทำหนังด้วยแนวคิดเสมือนจริงแนวใหม่ เขาหยิบวัฒนธรรมอีสานมาปรุงให้นัวผ่านความรักของผู่สาวและผู่บ่าวไทบ้าน ทำให้ภาพยนตร์อีสานทุกเรื่องของเขาดังเป็นพลุแตก จนเกิดปรากฏการณ์ป่าล้อมเมืองของคอหนังชาวไทย ที่คนอีสานดูหนังของเขาแล้วอยากกลับบ้าน

อุเทน ศรีริวิ คนขอนแก่นที่ทำหนัง ผู้บ่าวไทบ้าน ให้คนอีสานดูแล้วคิดฮอดบ้านล้ายหลาย

ไม่เพียงคนอีสานดูหนังของเขาแล้วอยากกลับบ้าน แต่คนต่างถิ่นที่ได้ลิ้มรสความเป็นอีสานก็เกิดความคิดคล้ายกัน ทำไม ผู้บ่าวไทบ้าน ถึงสะกิดหัวใจคนทั่วประเทศ ไม่ใช่เพราะโชคเข้าข้าง แต่เนื้อเรื่องที่เขาสื่อสารนั้นเป็นความจริง จริงตั้งแต่ก้นบึ้งของความเป็นคนอีสาน คนอีสานที่เคยถูกตราหน้าว่าเป็นคนใช้แรงงาน ความบันเทิงและความสนุกสุดขีด เป็นสิ่งเดียวที่พวกเขามี มีมากพอจะกลบเกลื่อนความความจริงเหล่านั้นได้ต่างหาก

เรากำลังพาคุณกลับบ้านไปทำความรู้จักวัฒนธรรมอีสาน ผ่านคนอีสานที่ทำหนังอีสานเพื่อคนอีสาน

เอ้า จ้วดดด!

บอย อุเทน ศรีริวิ คนขอนแก่นที่ทำหนัง ‘ผู้บ่าวไทบ้าน’ ให้คนอีสานดูแล้วคิดฮอดบ้านล้ายหลาย

ผู่บ่าวซำน้อย

“ผมอยากทำหนังแมส แต่อินดี้” เราทวนคำพูดของเขา ‘แมส แต่อินดี้’

“ใช่” ผู้กำกับเลือดอีสานยืนยันคำตอบ

“ทำหนังอีสานจะแมสได้ยังไง ทำไมไม่ทำหนังผีหรือหนังตลก” เราถามทันทีด้วยความสงสัย

“ผมคิดตามจำนวนโรงภาพยนตร์และตามจำนวนคนดูในอีสาน ปัจจุบันโรงภาพยนตร์ในอีสานเพิ่มขึ้นเยอะมาก คนอีสานชอบดูหนังนะ ผมว่าเป็นผลพวงจากสมัยก่อนที่เขาชอบออกไปดูหนังกลางแปลง” ผู้กำกับตอบ

“ถ้าลองนึกดู ตอนนั้นมีหนังอีสานไม่กี่เรื่อง พี่หม่ำ (เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา) ทำ แหยม ยโสธร เขาไม่ขาดทุน พี่บิณฑ์ (บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์) ทำ ปัญญา เรณู เขาไม่ขาดทุน ที่สำคัญคนอีสานชอบ ผมเลยตัดสินใจมาทางนี้”

ก่อนจะตบเท้าเข้าวงการจอเงิน บอยเป็นเด็กหนุ่ม ปวส. สาขาอิเล็กทรอนิกส์ เขาเลือกเรียนตามคำบอกเล่าของพ่อ ที่ยึดวิชาช่างซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นอาชีพ ด้วยกลิ่นไม่อภิรมย์ของตะกั่วทำให้เขาเบนเข็มชีวิตในระดับมหาวิทยาลัย บอยเห็นโบรชัวร์ประกาศรับสมัครนักศึกษาวิชาภาพยนตร์ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เขาไม่ลังเลและตัดสินใจลงสมัครหลักสูตรเทียบโอนหน่วยกิต ไม่ง่าย เพราะพ่อไม่เห็นด้วยกับการเลือกรอยเท้าเองของเขา และหน่วยกิตหลักสูตรอิเล็กทรอนิกส์เทียบโอนกับหลักสูตรภาพยนตร์ไม่ได้

เขาดึงดันขอพ่อเรียน จนสุดท้ายบอยยอมเรียนหลักสูตรภาพยนตร์ใหม่ทั้งหมดเป็นเวลาเกือบ 5 ปี

ไม่ทันจบการศึกษาในปีสุดท้าย เขาชิงออกมาทำงานก่อนเพื่อนร่วมรุ่น

“ผมออกมาก็เป็นฟรีแลนซ์ เป็นเด็กอาร์ต ทำพร็อป เป็นตากล้องงานอีเวนต์ ไม่เกี่ยวกับหนังเลย

“แต่ผมยังอยากทำหนัง ผมชอบหนังเฮ้าส์แบบพี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) แบบพี่ต้อม (เป็นเอก รัตนเรือง) แต่มีคำถามในใจว่าหนังแบบนั้นได้เงินจริงเหรอ ผมอยากทำหนังให้ได้เงิน อันนี้เรื่องจริงนะ บวกกับผมยังไม่มีโปรไฟล์เกี่ยวกับการทำหนัง ผมรู้ว่าถ้าไปทางอาร์ตเฮ้าส์ผมไม่ได้เงินหรอก รางวัลไม่รู้จะได้หรือเปล่า ได้ฉายก็ดีใจแล้ว ผมเลยอยากทำหนังแมส แต่อินดี้” บอยเล่า

บอย อุเทน ศรีริวิ คนขอนแก่นที่ทำหนังให้คนอีสานดูแล้วคิดฮอดบ้านล้ายหลาย

ผู้บ่าวไทบ้าน

หนุ่มขอนแก่นเริ่มต้นทำหนังแบบคนไม่รู้ รอบตัวเขามีแต่ ลาบ ต้มไก่ เหล้าขาว 40 ดีกรี และการเจอหมู่ (เพื่อน)

“อาหาร เพื่อนฝูง คนอีสานจะวนอยู่แบบนี้ เป็นอัตลักษณ์พื้นถิ่นมาก ผมนั่งคุยกับทีมงานว่าจะทำหนังเรื่องอะไรดี มีคนหนึ่งถามขึ้นมาว่า ‘ผู้บ่าวไทบ้าน’ คืออะไร พอมีการตั้งคำถาม มันก็น่าสนใจ งั้นผมจะทำหนังอีสาน เอาชื่อนี้เลย

“ผมทำรีเสิร์ชประมาณหนึ่งเดือนก่อนเขียนบทหนังสั้น พอถ่ายทำเสร็จก็ตัดทีเซอร์ลงเฟซบุ๊ก ยูทูป ผมเป็นคนชอบตัดทีเซอร์ เลยตัดอยู่เจ็ดถึงแปดตัว ตอนนั้นยังไม่ปล่อยตัวเต็ม คนก็เข้ามาคอนเมนต์ว่า ฉายเมื่อไหร่ รอดู ผมเลยสร้างเพจขึ้นมา มีคนติดตามเป็นแสน ขายเสื้อได้เป็นพันตัว ผมคิดว่ามันเริ่มไม่ธรรมดาแล้ว” ผู่บ่าวอธิบายจุดเริ่มต้น

7 – 8 ปีก่อนไม่มีใครคิดจะทำหนังอีสานเพื่อคนอีสานตัวเล็ก ตัวน้อย ในเมืองใหญ่

แต่บอยหยิบประเด็นและเหตุการณ์ที่เขาเห็นตั้งแต่เด็ก มาถ่ายทอดเป็น ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานอินดี้ หนังรักสไตล์อีสาน ว่าด้วยผู้บ่าวไทบ้าน กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ยอมไปไหน ยืดหยัดจะอยู่เพื่อพัฒนาหมู่บ้าน พัฒนาด้วยความไม่รู้

“พระเอกเป็นตัวแทนของผู้บ่าวไทบ้าน กำลังรอแฟนกลับมา แต่แฟนกลับมาพร้อมสามีฝรั่ง เรื่องพวกนี้เป็นชีวิตประจำวันของคนอีสาน ผู้หญิงไปทำงานในกรุงเทพฯ พัทยา มักจะได้แฟนฝรั่งกลับมาด้วย สักพักก็เลิกกัน แล้วหาสามีไทย วนเป็นวัฏจักรแบบนี้ น้อยคนจะอยู่กันยาว บางหมู่บ้านถ้าขับรถเข้าไปจะเห็นเลยฝั่งหนึ่งธงอังกฤษ ฝั่งหนึ่งธงอเมริกา 

บอย อุเทน ศรีริวิ คนขอนแก่นที่ทำหนัง ‘ผู้บ่าวไทบ้าน’ ให้คนอีสานดูแล้วคิดฮอดบ้านล้ายหลาย
บอย อุเทน ศรีริวิ คนขอนแก่นที่ทำหนัง ‘ผู้บ่าวไทบ้าน’ ให้คนอีสานดูแล้วคิดฮอดบ้านล้ายหลาย

“ผมว่าประเด็นนี้น่าสนใจ มีจริง มีเยอะ ผมไปไหนก็เจอแบบนี้ เพื่อนได้สามีฝรั่ง พี่ของเพื่อนได้สามีฝรั่ง น้องสาวของเพื่อนก็ได้สามีฝรั่ง กลายเป็นค่านิยม คนยกยอปอปั้น ถ้าไม่มีผัวฝรั่งก็ไปดิ้นเอาในโรงงาน มันเลยพัฒนาเป็นกระจุก”

หนังเรื่องแรกที่เขาลงทุนควักเงิน ขายของรักของหวงเพื่อสร้างมันขึ้นมา กำลังสะท้อนการเดินย่ำอยู่กับที่ผ่านไดอะล็อกของนางเอกที่บอกว่า ‘ถ้าอยู่กับคุณมันไม่มีอนาคตหรอก’ พระเอกตอบกลับว่า ‘จะรวยได้ยังไง คนเรียนสูงก็ไปพัฒนาองค์กรเขา ไม่กลับมาพัฒนาหมู่บ้าน ผู้บ่าวไทบ้านมันก็อยู่แค่นี้แหละ’ หลังจากเรื่องแรกออกโรงฉายในอีสาน 5 จังหวัด ก็เกิดปรากฏการณ์ป่าล้อมเมือง คนกรุงเทพฯ เรียกร้องให้ขยายโรงภาพยนตร์และรอบฉายจนเต็มทุกที่นั่ง! 

“ตอนจบของหนังนางเอกก็หนีไปกับสามีฝรั่ง ผมเลยอยากให้คนอีสานกลับมาดูกำพืด กลับมาดูรากเหง้าของตัวเอง ช่วงนั้นเลยเกิดปรากฏการณ์คนอีสานที่อยู่ต่างถิ่นเขาอยากกลับบ้านหลังจากดูหนัง ผู้บ่าวไทบ้าน ของผม” 

บอย อุเทน ศรีริวิ คนขอนแก่นที่ทำหนัง ‘ผู้บ่าวไทบ้าน’ ให้คนอีสานดูแล้วคิดฮอดบ้านล้ายหลาย

ผู้บ่าวไทบ้าน 2 3 และ 4

หนังอีสานเรื่องถัดมาของหนุ่มขอนแก่นยังคงทำหน้าที่เล่าขานวัฒนธรรมอีสานในมุมมองผู้บ่าวไทบ้านให้คนอีสานต่างถิ่นดูคลายความคิดฮอด อย่าง ผู้บ่าวไทบ้าน 2 ตอน แจกข้าวหาแม่ใหญ่แดง ที่พูดถึงการปะทะกันของสงครามความบันเทิงระหว่างหมอลำกับ K-Pop บอยอยากสื่อสารเรื่องการปิดตัวและปรับตัวของคณะหมอลำ ในวันที่ผู่สาวซำน้อยและผู่บ่าวซำน้อยหันมาคัฟเวอร์เพลงของศิลปินเกาหลี ผ่านงานบุญแจกข้าว งานใหญ่ที่จัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ

หลังจากนั้นเพียง 2 ปี เขาสร้าง ผู้บ่าวไทบ้าน 3 หมาน แอนด์ เดอะ คำผาน เพื่อบอกเล่าเรื่องระบบนายทุนและกลุ่มคนตัวเล็กในอีสานที่ต่อสู้กับทุนนิยม เขาได้แรงบันดาลใจระหว่างขับรถกลับบ้านที่ขอนแก่น

“ช่วงนั้นขับรถกลับขอนแก่น เดือนมกราฯ เขาตัดอ้อยกัน แล้วจะเอาอ้อยขนใส่รถแต๊กแต๊กไปส่งรถบรรทุก-รถพ่วง ที่รับซื้ออ้อยจากโรงงาน แล้วอ้อยมันหล่นตามถนน ผมเลยเขียนหนังด่าแม่งเลย” เขาหัวเราะ “ผมอยากทำ แค่นั้นแหละ”

บอย อุเทน ศรีริวิ คนขอนแก่นที่ทำหนัง ‘ผู้บ่าวไทบ้าน’ ให้คนอีสานดูแล้วคิดฮอดบ้านล้ายหลาย
บอย อุเทน ศรีริวิ คนขอนแก่นที่ทำหนัง ‘ผู้บ่าวไทบ้าน’ ให้คนอีสานดูแล้วคิดฮอดบ้านล้ายหลาย

หนังแอคชั่นตลกร้าย กำลังสมมติสถานการณ์ที่มีโรงงานน้ำตาลมาตั้งในหมู่บ้าน แถมให้ราคาดีกว่าข้าว คนเลยหันมาปลูกอ้อย แต่เจ้าของโรงสีดันไม่พอใจ ไม่อยากขายที่ให้ ซึ่งที่ผืนนั้นเป็นของพระเอกที่ยายโอนที่ดินไว้ให้ก่อนตาย บวกกับผู่บ่าวไทบ้านอยากแต่งงาน ผู่สาวเรียกสินสอด 3 แสน เดือนร้อนให้พระเอกเอาที่ไปจำนอง แต่เจ้าของโรงสีให้ 1 ล้าน กลายเป็นเรื่องราวการต่อสู้ตามหาโฉนด ที่ผสานระบบนายทุนกับเรื่องราวความรักและมุกตลกสร้างเสียงฮา

ปีนี้เขากลับมาพร้อม ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานจ้วด มี โอบนิธิ วิวรรธนวรางค์ นักแสดงสังกัดนาดาวบางกอก และ แอน อรดี ราชินีหมอลำยุคใหม่ มาเป็นตัวแทนของผู่บ่าว-ผู่สาวในวัยที่อยากกลับมาอยู่บ้าน กลับมาดูแลพ่อแม่ กลับมาซ่อมแซมบางอย่างที่ขาดหายไป บอยเขียนบทให้พระเอกเป็นหนุ่มอีสานที่ลาออกจากงานในจังหวัดชลบุรี กลับบ้านมาดูแลแม่ที่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ เขาพบรักกับสาวโรงงานที่ทำทุกทางเพื่อให้พ่อที่ขับรถแท็กซี่ในกรุงเทพฯ กลับบ้านมาอยู่กับครอบครัว

หนังทุกเรื่องของผู้กำกับเลือดอีสาน คัดเลือกนักแสดงและทีมงานระดับมืออาชีพ อาทิ อาร์ตี้-ธนฉัตร ตุลยฉัตร, เต๋า-ภูศิลป์ วารินรักษ์, กระต่าย พรรณนิภา ศิลปินสาวอีสานมากฝีมือที่มีชื่อเสียงในโลกโซเชียลระดับร้อยล้านวิว มาร่วมถ่ายทอดอารมณ์บนบทหนังขนาดยาว และคนที่ติดตามศิลปินอีสานชื่อดังก็เป็นกลุ่มเป้าหมายคนดูที่เขาต้องการ การแสดงและสำเนียงเว้าอีสานขนานแท้เลยเป็นความสมจริงอย่างไม่ขัดเขินที่เขามอบให้กับคอหนัง

“คุณทำหนังอีสานที่ใช้คนอีสานมาเป็นนักแสดง แสดงว่าคุณเดาออกว่าคนอีสานอยากดูอะไร” 

“มันเป็นสูตรอย่างหนึ่ง แต่คนจะดูหรือไม่ดูก็อีกเรื่องหนึ่ง” ผู้กำกับตอบปนเสียงหัวเราะ

บอย อุเทน ศรีริวิ คนขอนแก่นที่ทำหนัง ‘ผู้บ่าวไทบ้าน’ ให้คนอีสานดูแล้วคิดฮอดบ้านล้ายหลาย

อีสานคักคัก

“ต้องเหล้าขาวนะ ถ้าใช้คำว่าผู้บ่าวไทบ้าน”

มีคนบอกบอยว่าเขาเป็นกลุ่มคนทำหนังอีสานกลุ่มแรกที่ฉายภาพ ‘เหล้าขาว’

“การนั่งดื่มเหล้าขาวกับประโยคที่บอกว่า ‘สารคามน้ำบ่ต้อง’ มันเข้าถึงวัฒนธรรมคนอีสานจริงๆ นะ ถึงขนาดมีคำบอกว่า คนดื่มเหล้าสีเป็นคนสำอาง ดื่มเบียร์จะเป็นคนอีกแบบหนึ่ง ยิ่งดื่ม 40 ดีกรี แล้วนั่งกินตรงเถียงนาหรือตามทุ่งที่คนในหมู่บ้านใช้นั่งประชุม สังสรรค์ วัยรุ่นนั่งจีบกัน มันยิ่งเรียล เหมือนเป็นบ้านหลังที่สองไว้พักผ่อนหย่อนใจ”

นอกจากเครื่องดื่มไร้สีดีกรีแรงที่ฉายภาพความเป็นอีสานอย่างตรงไปตรงมา หนังของเขายังซ่อนความจริงที่กลายเป็นภาพจำของคนต่างถิ่น อย่างความแห้งแล้ง คนใช้แรงงาน ผู่สาวกับสามีตาน้ำข้าว และคนอยากกลับบ้าน

“หนังของผมจำลองความเป็นคนอีสานที่อยู่ห่างจากตัวเมือง ผมเป็นคนขอนแก่น ทุกวันนี้ขอนแก่นเทียบเท่ากับกรุงเทพฯ แต่ถ้าคุณขับรถออกไปประมาณห้าสิบกิโลเมตร ความแตกต่างชัดเจน จากทางลาดยางจะเป็นทางลูกรัง เห็นควาย เห็นความแห้งแล้ง ถ้าคุณขับลึกเข้าไปอีก คุณจะเห็นยายกับหลานนั่งบนแคร่ใต้ถุนบ้าน เหงาๆ เศร้าๆ แต่ถ้าคุณขับเข้าไปอีก จะเห็นบ้านร้าง ลูกหลานเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ ชลบุรี ระยอง ส่งแค่เงินกลับบ้าน ถ้าอิน คุณจะร้องไห้ทันที

บอย อุเทน ศรีริวิ คนขอนแก่นที่ทำหนัง ‘ผู้บ่าวไทบ้าน’ ให้คนอีสานดูแล้วคิดฮอดบ้านล้ายหลาย

“ห่างจากตัวเมืองไป ชีวิตเป็นแบบนี้ทั้งหมด บ้านร้าง คนแก่เลี้ยงหลาน มันกันดารและแห้งแล้ง หลังจากฤดูเก็บเกี่ยว เขามีแค่บ่อน้ำเล็กๆ ที่ช่วงปีใหม่จะสูบน้ำออกแล้วจับปลามากิน เพื่อต้อนรับลูก ต้อนรับญาติที่มาจากกรุงเทพฯ

“เพราะว่างานกระจุกตัวในเมือง เขาต้องดิ้นรนหางาน สุดท้ายกลายเป็นคนใช้แรงงาน นี่แหละชีวิตคนอีสาน”

ถ้าอิน คุณจะร้องไห้ทันที เราคิดทบทวนคำพูดของเขาในใจ

“ปัจจัยเดียวคือเงิน ถ้าไม่มีเงิน เป็นผู้บ่าวไทบ้านก็ปากกัดตีนถีบ ทำไร่ ทำนา ปลูกอ้อย ปลูกมัน เป็นกรรมกรรับจ้างทั่วไป ไม่ทำก็อดตาย แต่คนอีสานเขาไม่ย่อท้อหรอก เขามีความบันเทิงสูงสุด มีไว้เพื่อกลบเกลื่อนความแร้นแค้น”

เรามักเห็นภาพคนอีสานออกลวดลายหน้าฮ่าน (หน้าเวที) โยกย้ายบนรถแห่ และร่ำสุราราคาถูกแต่ออกฤทธิ์สยบความเครียดฉับพลัน บ้างก็ดื่มบรรเทาอาการคลายเส้นหลังทำงานหนักตลอดวัน คนอีสานเลยม่วนซื่นกับทุกความบันเทิง

“ตอนเขียนบท ผมคิดแค่ว่าผมเป็นคนอีสานคนหนึ่งที่เห็นเหตุการณ์พวกนี้มาตลอด” บอยย้ำสิ่งที่เขาเล่าทั้งหมด

บอย อุเทน ศรีริวิ คนขอนแก่นที่ทำหนัง ‘ผู้บ่าวไทบ้าน’ ให้คนอีสานดูแล้วคิดฮอดบ้านล้ายหลาย
โอบนิธิ วิวรรธนวรางค์ พระเอก ‘ผู้บ่าวไทบ้าน’

เมือบ้าน

“คุณคิดว่าอะไรเป็นเหตุผลให้คนอีสานอยากกลับบ้าน หลังจากดูหนังของคุณจบ” เราถาม

“ถ้าคุณเป็นคนอีสานเข้ามาทำงานในเมือง หนึ่งปีกลับบ้านครั้งเดียว เนื้อหาที่อยู่ในหนังคุณจะอิน เพราะเขาไม่เห็นแบบนั้นมานาน แต่เขาเคยผ่านมาหมดแล้วนะ มาเห็นอีกทีในรูปแบบของภาพยนตร์ เลยทำให้เขาอยากกลับบ้าน

“ชีวิตเขาในเมืองกลับจากทำงานก็อยู่ในห้องแคบๆ นอน ตื่นเช้าไปทำงาน วนอยู่อย่างนั้น ในหนังของผมฉายภาพการสังสรรค์ มีเพื่อน มีกับข้าวแบบอีสานแท้ๆ มีทางเข้าหมู่บ้านแบบนี้ เขาเห็นแล้วนึกถึงตัวเอง ยิ่งชีวิตเขาเหมือนกับตัวละครที่ผมเซ็ตขึ้นมา เขาจะอินเป็นพิเศษ คล้ายกับว่าเขากำลังนั่งดูตัวเอง เพราะมันเป็นเขา มันทำมาเพื่อเขา” บอยตอบ

“แล้วคุณมั่นใจว่าคนอีสานต่างถิ่นจะกลับบ้านได้จริงหรอ”

“ยาก” เขานิ่งคิดก่อนจะเสริมว่า “เขาไม่สามารถกลับไปพัฒนาบ้านเกิด เพราะภารกิจหน้าที่การงาน อย่างคนขับแท็กซี่ที่ผมเคยคุยด้วย เขาบอกว่า เขาอยากกลับ แต่เขากลับไม่ได้ เพราะกู้หนี้ยืมสิ้นอยู่ที่กรุงเทพฯ ลูกก็อยู่ที่นี่ เมียก็ทำงานอยู่ที่นี่ บางคนหมดหนี้แล้วก็กลับไม่ได้ เพราะหนี้ใหม่ก็เกิดขึ้นมาอีก มันเลยเป็นการส่งเงินกลับบ้าน ส่งเงินไปสร้างบ้านให้พ่อแม่ ส่วนมากเขาไม่อยู่หรอก จะอยู่บ้านไม้เถียงเล็กๆ ของเขา พอพ่อแม่ตายบ้านก็ร้าง มันก็วนเข้าอีหรอบเดิม”

โอบนิธิ วิวรรธนวรางค์ พระเอก ‘ผู้บ่าวไทบ้าน’

“การเกิดขึ้นของ ผู้บ่าวไทบ้าน เป็นการกลับบ้านไปพัฒนาบ้านเกิดคุณด้วยหรือเปล่า”

“มีส่วนนะ การทำสื่อของผมทำให้คนอิน เขาคล้อยตาม ถ้าผมทำ คุณทำ คนนู้นทำ คนนี้ทำ พอหลายคนทำเยอะเข้า มันก็ทำให้คนอีสานได้ฉุกคิดในหลายมุมมอง มันอาจจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงความคิดเขาได้ ไม่ช้าก็เร็ว” 

“แล้วเป้าหมายที่คุณอยากพา ผู้บ่าวไทบ้าน ไปให้ถึงคืออะไร”

“ผมมีเพื่อน มีพี่เป็นครูเพลง เป็นนักกวี เขาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอีสาน ผมเลยทำในสิ่งที่ผมถนัด ผมทำหนังให้คนอีสานกลับมาคิดทบทวนความเป็นตัวตนของเขา เพื่อเปลี่ยนทัศนคติบางอย่างให้เขาอยากกลับบ้าน ถ้าอยู่ในเมืองเขาต้องติดกับดัก กับดักที่เรียกว่า ‘เงิน’ ยิ่งเขาหยั่งรากแก้วลงไปลึกมันก็ยากที่จะถอน การทำหนังของผมครั้งนี้ ผมทำหนังวัยรุ่นให้เขาดูตั้งแต่วัยเรียน เพื่อส่งสารบอกเขาว่ากลับไปอยู่บ้านเถอะ กลับมาพัฒนาบ้าน กลับมาพัฒนาองค์กรที่บ้าน

“สุดท้ายผมก็ไม่รู้ว่าบ้านเมืองอีสานจะเป็นยังไง แต่ผมรู้ว่าถ้าเขากลับบ้าน เขาพาความเจริญกลับมาด้วย เขาหอบความรู้กลับมาด้วย ผมอยากให้เขากลับมาสร้างงาน สร้างตัวที่บ้านเกิดของเขา” บอยเล่าสิ่งที่หวังไว้หมดเปลือก

พลังของหนุ่มเลือดอีสานที่ตั้งใจทำหนังอีสานเพื่อคนอีสานสูบฉีดแรงกล้ามากกว่าที่เราคิด

การเบนเข็มชีวิตและนั่งตัดทีเซอร์หนังสั้นมากถึงแปดตัวพาเขาเดินทางสู่จุดหมายที่ธรรมดาและเรียบง่าย

จะมีผู้กำกับสักกี่คนในประเทศไทยที่ทำหนังให้คนอีสานทั่วประเทศดูแล้ว ‘คิดฮอดบ้านล้ายหลาย’

บอย อุเทน ศรีริวิ คนขอนแก่นที่ทำหนัง ‘ผู้บ่าวไทบ้าน’ ให้คนอีสานดูแล้วคิดฮอดบ้านล้ายหลาย

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan