อุทัยธานีเป็นเมืองสงบ น่ารัก

ใครได้ไป หลงรักไม่ยาก

เราเองหลงรักอุทัยฯ จากการไปครั้งแรก หลังเยี่ยมไซต์ก่อสร้าง Uthai Heritage ที่กำลังเปลี่ยนโรงเรียนเก่าเป็นบูติกโฮเทล เพื่อมาเขียนบทความในคอลัมน์ Re-Place นี้

ไม่จริง-เราเคยตกหลุมรักไปแล้วครั้งหนึ่ง หลังอ่าน 11 กิจการของคนกลับบ้าน ที่ทำให้อุทัยธานีเป็นเมืองน่ารักเสมอต้นเสมอปลายของเพื่อนผู้ร่วมเดินทางมาด้วยกันต่างหาก

แม้ไม่ได้ไปเที่ยวสำรวจอะไรมากนัก แต่โรงแรมในเล็กๆ ซอยข้างวัดพิชัยปุรณาราม กลับเล่าเรื่องทั้งเมือง-ถ่ายทอดอดีตของชาวอุทัยธานีผ่านบริบทพื้นที่และตัวสถาปัตยกรรม เสมือนเครื่องบันทึกความทรงจำเหนือกาลเวลา

เรากดปุ่มบันทึกเสียงเรื่องราวที่เริ่มขึ้น เมื่อเขา-เจ้าของปัจจุบัน ตัดสินใจกดปุ่มบันทึกอดีตและความหลังของที่นี่เช่นกัน

ภาพ : โอภาส ลิมปิอังคนันต์ และ วรพันธุ์ คล้ามไพบูลย์

ความเป็นมา

ย้อนกลับไป 20 ปีก่อน หลังเลิกกิจการโรงเรียนอุทัยวิทยาลัย โรงเรียนเอกชนแห่งแรกของจังหวัดอุทัยธานีที่นับอายุครั้งก่อตั้งก็เก่าราว 80 ปี ถูกทิ้งร้าง จนแทบจินตนาการภาพไม่ออกว่าในยุคหนึ่งเคยรุ่งเรืองเพียงใด

อาคารไม้หลังงามทรุดโทรมไปตามกาลเวลา หญ้ารกชัฏ ต้นไม้สูงใหญ่ครึ้มเขียวปกคลุมเต็มพื้นที่ พอไม่มีคนอยู่นกมากมายก็มาจับของขออาศัยแทน

และหากพอคุ้นตาอยู่บ้าง ที่นี่เคยเป็นสถานที่ถ่ายทำฉากโรงพักในหนังเรื่อง พรหมพิราม

โรงเรียนอุทัยวิทยาลัย, อุทัยธานี

อันที่จริงโรงเรียนราษฎร์แห่งนี้เคยเปลี่ยนมือจากเจ้าของเดิมสู่นายห้าง ควร พรพิบูลย์ ราว พ.ศ. 2510 นับตั้งแต่วันนั้น นายห้างควรมิได้เข้าไปยุ่มย่ามเรื่องการบริหารจัดการโรงเรียนเลย กระทั่งเจ้าของเดิมเสียชีวิตลง อุทัยวิทยาลัยก็ไม่ได้ดำเนินกิจการใดๆ ต่อ และตอกตะปูปิดถาวร

จนเมื่อ ทันตแพทย์กฤตพล พรพิบูลย์ เจ้าของคนปัจจุบัน มีแนวคิดอยากทำอะไรสักอย่างให้มรดกของคุณปู่กลับมามีชีวิต ประตูอาคารก็ได้รับการเปิดกว้างอีกครั้ง

ทันตแพทย์กฤตพล พรพิบูลย์, โรงเรียนอุทัยวิทยาลัย, อุทัยธานี, Uthai Heritage

“ไม่เคยคิดขายหรือทุบทิ้ง” ทันตแพทย์รีบตอบก่อนเราจะเอ่ยคำถาม

“ตอนเข้ามาดู มันโทรมนะ รก ขี้นกขนออกไปทิ้งด้วยหกล้อหลายคัน มันมีของที่พัง เราไม่ได้ไปโฟกัสว่ามันพัง เราดูของที่มีอยู่มันโอเคไหม ไม้ไม่ได้ผุ เลยคิดว่าจะทำอะไรดี มีตัวเลือกหลายอย่าง ร้านอาหาร ห้องพัก หรือจะรื้อเอาไม้ไปขาย ซึ่งรื้อไปขายนี่คนถามผมมากเลย เพราะโรงเรียนนี้มันอยู่กลางแปลง มันจะได้พื้นที่กว้าง แม้ผมทำโรงแรมอยู่แล้วชื่อพญาไม้ แต่ผมก็ไม่ได้คิดว่านี่จะเป็นโรงแรม สุดท้ายไปเจอคลาสเรียนเปลี่ยนบ้านเก่าเป็นโรงแรม ของอาจารย์ขิง (วรพันธุ์ คล้ามไพบูลย์) ชีวิตเปลี่ยนเลย” เขาเล่าต่อ ก่อนหัวเราะดัง 

ความเป็นไป

หลังได้พบกับ ขิง-วรพันธุ์ คล้ามไพบูลย์ สถาปนิกแห่ง Supergreen Studio ผู้เชี่ยวชาญด้านการรีโนเวตอาคารเก่าเป็นบูติกโฮเทล ทันตแพทย์กฤตพล จึงมีไอเดียทำ Uthai Heritage เป็นบูติกโฮเทล สำหรับเขาจะเป็นอะไรก็ได้ ทำแล้วมันต้องคุ้ม ไม่เสียเปล่า และต้องเกิดประโยชน์กับส่วนรวมด้วย คอนเซปต์ Community Base Hotel จึงเกิดขึ้น

Uthai Heritage รร.อายุ 80 ปีที่กลายเป็นที่พัก เชื่อมคนและเมืองอุทัยผ่านความผูกพันในสถาปัตย์
ทันตแพทย์กฤตพล พรพิบูลย์
ภาพ : โอภาส ลิมปิอังคนันต์ และ วรพันธุ์ คล้ามไพบูลย์

“เรามองว่าจุดขายของการทำโรงแรมถ้าเป็นเรื่องความสวยงามมันไม่เพียงพอ วันนี้สวย วันหน้าก็สวยกว่า เพราะความสวยมันจะทับถมกันไปได้เรื่อยๆ เรามองว่าสิ่งที่จะทำให้บูติกโฮเทลอยู่นาน ชนะโรงแรมใหญ่ คือการทำประโยชน์ให้กับสังคมรอบๆ แต่การทำประโยชน์ให้กับสังคม ไม่ใช่โรงแรมคุณต้องบริจาคเงินนะ แต่มันคือ Community Base Hotel ที่ต้อง Sharing สามเรื่อง

“ข้อแรก เบสิกมาก คือการกระจายรายได้ รวมถึงการจ้างงานคนในท้องถิ่น

“ข้อสอง การสร้างโอกาส ทุกวันนี้คนเข้ากรุงเทพฯ เพราะอยู่บ้านนอกไม่มีโอกาส ถ้าคนหนุ่มสาวมีโอกาสมีรายได้ เชื่อว่าคนก็อยู่บ้าน แล้วประเทศก็เจริญขึ้น เพราะคนเก่งไม่ต้องกระจุกตัวอยู่กรุงเทพฯ โรงแรมเป็นจุดเริ่มต้นของวงจรแบบนั้นได้

“ข้อสาม สร้างการศึกษา โรงแรมก็เป็นแหล่งเรียนรู้ได้ เราจะออกแบบโดยเริ่มจากไอเดียหลักเหล่านี้ เป็นดีเอ็นเอของโรงแรมก่อน แล้วดีไซน์ค่อยเริ่มเข้ามา” สถาปนิกอธิบายเพิ่ม

Uthai Heritage รร.อายุ 80 ปีที่กลายเป็นที่พัก เชื่อมคนและเมืองอุทัยผ่านความผูกพันในสถาปัตย์
ทันตแพทย์กฤตพล พรพิบูลย์

“เราเป็นบูติกโฮเทล พื้นที่ก็เอื้อประโยชน์กับชุมชน เกิดการจ้างงานในชุมชนได้ ถ้าเราคิดคอนเซปต์การท่องเที่ยว ดึงคนเข้ามา ซึ่งเป็นคนที่มีกำลังจ่าย เขาก็มาจ่ายให้คนอุทัยฯ ไม่ใช่ว่าเขาจะมาจ่ายให้เราคนเดียว เราทำโรงแรมอยู่แล้ว เรารู้ว่าจะต่อยอดอะไรได้อีกมาก ขนาดทำพญาไม้รีสอร์ตแบบไม่มีแผน ต่อมาเกิดการท่องเที่ยวในเมืองอุทัยเพิ่มขึ้น เกิดถนนคนเดินตรอกโรงยา เกิดการลงทุนสร้างโรงแรมและร้านอาหารเพิ่มอีกมาก” เจ้าของโรงแรมเสริม

เมื่อพูดถึงเรื่องอนุรักษ์อาคารเก่า คนมักมองภาพว่าต้องเก็บทุกอย่างไว้ให้คงเดิมมากที่สุด แต่สำหรับ อุไทย เฮอริเทจ ตั้งใจเปลี่ยนการใช้งานให้เหมาะสม กระจายรายได้พร้อมการอนุรักษ์ที่สร้างมิติมากกว่านั้น

“ทุกโรงแรมกระจายรายได้หมด บูติกโฮเทลกระจายรายได้มากกว่า เพราะพูดถึงการเคารพคอมมูนิตี้ วัฒนธรรมท้องถิ่น ไปจนถึงธรรมชาติ และสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นพื้นที่ที่คนเล็กๆ หรือผู้ประกอบการมีโอกาสเติบโตอย่างมีความเป็นท้องถิ่นสูง และพูดถึงการ Sharing ค่อนข้างเยอะ การจ้างงานจะพูดถึงเชิงสังคมมากกว่าที่โรงแรมใหญ่จ้าง เบื้องหลังของมันยังช่วยดึงลูกค้าที่มีศักยภาพเข้ามา ทำให้เมืองเติบโตไปพร้อมกับการสร้างรายได้ นั่นเป็นเพราะโรงแรมมีเรื่องเล่าของคน วัฒนธรรมท้องถิ่น ยิ่งทำให้คนสนใจเรื่องท่องเที่ยวชุมชน อยากไปดู ไปเห็น มากขึ้นกว่าการมานอนที่ห้องเฉยๆ

“อีกอย่างที่ผมพูดกับคุณหมอเสมอ อุทัยฯ เป็นไอคอนิกของการอนุรักษ์ ไม่ใช่แค่ตึกในเชิงสถาปัตยกรรม งานไม้ Signature Culture หรือตลาด มันมีห้วยขาแข้ง คุณสืบ นาคะเสถียร ก็อยู่อุทัยฯ อย่าง ม.ล.เชน (ปริญญากร วรวรรณ) ที่ถ่ายรูปสัตว์ป่า เวลาเขาจัดนิทรรศการก็มาที่อุทัยฯ เราอยากให้โรงแรมนี้เป็นโรงแรมที่ให้แรงบันดาลใจเรื่องการอนุรักษ์ป่าในวงกว้าง เราเลยตั้งใจให้มีห้องจัดกิจกรรมค่อนข้างเยอะ เพื่อให้กิจกรรมเชิงอนุรักษ์มาจัดที่นี่ได้ แล้วตัวสถานที่ก็พูดถึงการอนุรักษ์ด้านอื่นๆ ด้วย” วรพันธุ์เล่าต่อ 

Uthai Heritage รร.อายุ 80 ปีที่กลายเป็นที่พัก เชื่อมคนและเมืองอุทัยผ่านความผูกพันในสถาปัตย์
ทันตแพทย์กฤตพล พรพิบูลย์

ความเป็นหนุ่มนอกกลับมาอยู่บ้านนอก

เมื่อการอนุรักษ์ในมุมของทั้งคู่ ไม่เพียงเก็บสปิริตเดิมของอาคารเอาไว้ แต่เป็น Creative Business ที่การสร้างรายได้ควบคู่กับการอนุรักษ์ และพัฒนาให้อยู่ในระดับ World Class ความสนุกเลยตกที่การดึงเรื่องราวอดีต ความเฮอริเทจ มาแต่งองค์ทรงเครื่องใหม่ให้เก๋าด้วยรสนิยม

“เราไม่ใช่กรมศิลป์ ไม่จำเป็นต้องเก็บทุกเม็ด อะไรที่ทำให้เขาหล่อขึ้น พราวด์ขึ้น เราทำ เพราะสิ่งที่ทำคือการพัฒนา

“ตั้งโจทย์ว่าอยากให้ลุคเปลี่ยนไปพอสมควร แต่ยังเก็บเอกลักษณ์ไว้ ถ้าเขาเป็นเด็กบ้านนอก ก็เป็นเด็กบ้านนอกที่ส่งไปเรียนเมืองนอก เราดึงประสบการณ์ดีๆ จากโรงแรมที่ปารีสเข้ามาได้ เอามาตรฐานที่เรียกว่า Aesthetic Experience ต่างประเทศเข้ามาใช้ เปลี่ยนระบบการจัดการให้ไฮเทค ไม่จำเป็นต้องเก่ายังไงก็เก็บอย่างนั้น

“สิ่งที่คงไว้คือกลิ่นอายเอกลักษณ์ที่กลมกลืนกับท้องถิ่น สมมติถ้าเป็นคน เขาดูเหมือนกับปราชญ์ชาวบ้านแล้วกัน เหมือนคนต่างจังหวัดที่ดูสมาร์ทมากๆ โชว์ความเป็น Cultural Heritage แต่ขณะเดียวกันก็เผยให้เห็นความสง่างาม

“เก็บตัวอาคารสไตล์ทรอปิคัลเมืองร้อนไว้ ปรับสัดส่วนการใช้ไม้ให้ดูแกรนด์ ประตูหน้าต่างเปลี่ยนเป็นขนาดใหญ่ขึ้น เสริมเสาบางส่วนให้โครงสร้างดูดี จากเดิมตีไม้แบบนอนๆ เราก็เปลี่ยนเป็นแนวตั้ง ตรงไหนที่โดนแดดโดนฝนเยอะ เป็นไม้ไม่ได้ เราก็เปลี่ยนเป็นปูน

Uthai Heritage รร.อายุ 80 ปีที่กลายเป็นที่พัก เชื่อมคนและเมืองอุทัยผ่านความผูกพันในสถาปัตย์
ทันตแพทย์กฤตพล พรพิบูลย์

“หากจะแข่งกับโรงแรมเชนใหญ่ๆ ได้ ต้องแข่งเรื่อง Legacy ว่าคุณทำอะไรให้สังคม มีส่วนร่วมกับคอมมูนิตี้ยังไง แล้วดีไซน์จะเป็นยังไง นี่คือเรื่องของคอนเซปต์ แล้วต่อมาคือเรื่องของตัวเลข ถ้าทำทั้งหมดนี้ได้ ก็จะรู้ว่าจุดคุ้มทุนอยู่ตรงไหน จากนั้นเรื่องที่ซับซ้อนแล้วก็ยากไม่แพ้คอนเซปต์ คือเรื่องของกฎหมายที่ต้องผ่านให้ได้” ผู้ออกแบบเล่าเบื้องหลังแนวคิดให้ฟังอย่างเห็นภาพ 

ความเป็นขั้นเป็นตอนการรีโนเวต

การรีโนเวตอาคารเก่าเป็นโรงแรม สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างแรก คือเรื่องโครงสร้าง

ตึกไม้สูง 3 ชั้นขึ้นไป มีห้องพักแต่ละชั้นไม่เกิน 20 ห้อง ต้องรับน้ำหนักบรรทุกได้ 200 กิโลกรัมต่อตารางเมตร และต้องมีที่ว่างไม่น้อยกว่า 10 ใน 100 ส่วนของพื้นที่ชั้นที่มากที่สุดของอาคาร

“ความยากของการดีไซน์ตึกนี้คือ เดิมเป็นโครงสร้างไม้ผสมปูนเมื่อแปดสิบปีก่อน จะให้รับน้ำหนักคนได้ตามกฎหมาย ต้องเทคานรัดเสาเดิมเพิ่มความแข็งแรง คือเสริมโครงสร้างเหล็กเข้าไปในเนื้อไม้เแล้วก็เทปูนหุ้ม

“ต่อมาเรื่องเสียง เราตัดพื้นออกเพื่อยัดคานเหล็ก แล้วเหนือคานเหล็กเราก่อผนังปูน เพื่อแยกพื้นให้ขาดออกจากกัน ส่วนผนังก็ก่ออิฐเพิ่มเพื่อให้มีคุณสมบัติของการกันเสียง ซึ่งโครงสร้างพวกนี้ยังช่วยกันไฟด้วย ส่วนโครงสร้างภายนอกที่เพิ่มเข้ามาอย่างห้องน้ำก็ตอกเสาเข็มภายนอกรองรับ” สถาปนิกเจ้าของโปรเจกต์เกริ่นก่อนพาเราเดินไปแต่ละจุดอย่างละเอียด

Uthai Heritage รร.อายุ 80 ปีที่กลายเป็นที่พัก เชื่อมคนและเมืองอุทัยผ่านความผูกพันในสถาปัตย์
ทันตแพทย์กฤตพล พรพิบูลย์

พื้นที่กว่า 1,500 ตารางเมตรแบ่งเป็น 17 ห้องพัก 5 แบบ ที่เหลือเป็นห้องประชุมใหญ่ที่จุคนได้ถึง 200 คน ห้องจัดกิจกรรม ล็อบบี้ เลาจน์ ห้องฟิตเนต ห้องสำหรับแม่บ้าน ครัว และสระว่ายน้ำ

โถงทางเดินเดิมมีบันไดกลางอาคาร เขาทุบเพื่อทำเป็นทางเข้าแล้วย้ายบันไดไปด้านข้าง ในแง่การจัดการ ลูกค้าเดินตัดโซนขึ้นบันไดไปได้เลย

ไม้เก่าอย่างไม้แป ไม้ฝา รื้อถอดออกไปขัดแล้วนำมาประกอบใหม่ หน้าต่างและประตูเดิมเปลี่ยนไปใช้ไม้จากพม่าขยายสเกลให้ใหญ่ขึ้น ส่วนของเก่าเอาไปใช้กับระเบียงเป็นที่ตากผ้า อีกฟังก์ชันคือช่วยหลบสายตาจากความไม่เรียบร้อย

Uthai Heritage รร.อายุ 80 ปีที่กลายเป็นที่พัก เชื่อมคนและเมืองอุทัยผ่านความผูกพันในสถาปัตย์
ทันตแพทย์กฤตพล พรพิบูลย์
Uthai Heritage รร.อายุ 80 ปีที่กลายเป็นที่พัก เชื่อมคนและเมืองอุทัยผ่านความผูกพันในสถาปัตย์
ทันตแพทย์กฤตพล พรพิบูลย์

เสาแต่ละต้นปล่อยเปลือยเปล่าให้เห็นความงามตามฉบับวะบิซะบิ (Wabi-Sabi) เงยหน้ามองบนเพดาน ฝ้าถูกรื้อออกเผยให้เห็นความงามของการเดินตะเข็บเซาะร่อง 2 เส้น

“ศิลปะการทำโรงแรมเนี่ย เรื่องสุนทรียะเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งนี่คือสุนทรียะที่เกิดจากความงามเหล่านี้ เสาจริงกะเทาะไว้แบบไหน เราก็ทิ้งไว้เลย ไม่ฉาบใหม่ ส่วนผนังนี่ก่อใหม่ เราทำเพื่อให้เห็นว่าใหม่กับเก่ามันกลมกลืนอยู่ด้วยกัน” สถาปนิกว่า พลางเรียกให้เราดูระหว่างเสากับผนัง ก่อนชี้ไม้ชี้มือให้เรามองเพดานต่อ

Uthai Heritage รร.อายุ 80 ปีที่กลายเป็นที่พัก เชื่อมคนและเมืองอุทัยผ่านความผูกพันในสถาปัตย์
ทันตแพทย์กฤตพล พรพิบูลย์
Uthai Heritage รร.อายุ 80 ปีที่กลายเป็นที่พัก เชื่อมคนและเมืองอุทัยผ่านความผูกพันในสถาปัตย์
ทันตแพทย์กฤตพล พรพิบูลย์

เดินเข้ามาทางขวามือ เป็นแผนกต้อนรับ ห้องไม่ใหญ่มาก แต่นำพื้นที่ไปเพิ่มในส่วนห้องพักผ่อนของแขก

บริเวณนี้มีความสวยงามอีกตามขนบตึกโบราณซ่อนอยู่ คือเมื่อมองออกไป จะเห็นว่าช่องเปิดนั้นตรงกันหมด 

และไม่เพียงเก็บความ Classsical Planing นี้เอาไว้ คุณหมอยังขนตู้ไม้ ป้ายจากโรงสีเก่าของปู่ผู้เป็นเจ้าของที่ดินมาให้เผื่อวรพันธุ์ใช้ตกแต่งพื้นที่

“ห้องเดิมวางแกนไว้เป็นช็อตๆ ถ่ายรูปยังไงก็สวย ดีไซน์ผนังเหมือน Gallery Wall Museum เลย ให้แสงสาดลงมาเป็น Direct Light ไม่ใช่โล่งทั้งหมด ดูลึกลับมีจังหวะ เราเลยอยากเก็บตรงนี้ไว้” หลังพูดจบเขาคะยั้นคะยอให้เราไปยืนเป็นแบบ เราขอให้เขาไปยืนแทน-งามจริงอย่างเขาว่า

อาคารสไตล์ทรอปิคัลเมืองร้อน เน้นโทนสีเพียง ขาว ดำ เทา และไม้ธรรมชาติ และไม่ลืมออกแบบเรื่องการไหลเวียนของอากาศทั่วทั้งตึกไว้อย่างพอดิบพอดี เพดานสูงโปร่ง โล่งสบาย ทำให้ลมโฟลว์โดยไม่ต้องพึ่งเครื่องปรับอากาศ

เมื่อขึ้นมายังชั้นสองจะพบกับโถงทางเดินกว้าง และชายคายื่นยาวออกไปอีก 1 เมตร เพื่อกันแดด กันฝน ปกป้องพื้นไม้

Uthai Heritage รร.อายุ 80 ปีที่กลายเป็นที่พัก เชื่อมคนและเมืองอุทัยผ่านความผูกพันในสถาปัตย์
ทันตแพทย์กฤตพล พรพิบูลย์

“ทางเดินข้างหน้านี้มันกว้างมาก สามเมตรกว่า ซึ่งตามกฎหมายทางเดินเขาให้ได้แค่หนึ่งเมตรครึ่ง เราร่นฝาผนังห้องออกไปเพื่อขยายพื้นที่ ก้อนข้างหน้าทำให้พื้นที่เกิดมิติ ส่วนฟังก์ชันเป็นตู้ใส่เสื้อผ้า ตู้ใส่ตู้เย็น เป็นชั้นวางของ ด้านล่างมีช่องเพื่อสอดรองเท้า มีช่องให้เสิร์ฟอาหารด้วยถาดอาหารแบบโรงเรียนได้ อีกแง่ถ้าลูกค้าไม่ต้องการให้รบกวนก็เป็นอีกดีเทลที่คิดมาแล้ว”

Uthai Heritage รร.อายุ 80 ปีที่กลายเป็นที่พัก เชื่อมคนและเมืองอุทัยผ่านความผูกพันในสถาปัตย์
ทันตแพทย์กฤตพล พรพิบูลย์

“ในห้องนอน โชคดีที่ระยะเสาเดิมขนาดกว้างสามจุดแปดเมตร ห้องจึงค่อนข้างกว้าง ส่วนฝ้าก็ถอดออก ให้นอนมองโครงสร้างไม้เดิมของมัน ส่วนฐานรองเตียงทำจากหน้าต่างเก่าทั้งหมด”

Uthai Heritage รร.อายุ 80 ปีที่กลายเป็นที่พัก เชื่อมคนและเมืองอุทัยผ่านความผูกพันในสถาปัตย์
ทันตแพทย์กฤตพล พรพิบูลย์
Uthai Heritage รร.อายุ 80 ปีที่กลายเป็นที่พัก เชื่อมคนและเมืองอุทัยผ่านความผูกพันในสถาปัตย์
ทันตแพทย์กฤตพล พรพิบูลย์

ผนังสีเขียวอ่อนในห้องเรียนสังคมศึกษาเก่า ปรากฏภาพแผนที่ประเทศไทยแจ่มชัด วาดโดยเจ้าของบ้านนกเขา ร้านค้ากึ่งพิพิธภัณฑ์ที่รวมศิลปหัตถกรรมไว้ย่านตรอกโรงยา ซึ่งเขาเคยทำงานที่โรงเรียนแห่งนี้ 

ทั้งคู่ หมอฟัน-หมอบ้าน ลงความเห็นพ้องต้องกันว่าจะไม่ทาทับ ด้วยตั้งใจเก็บกิมมิกเล็กน้อยของอดีตโรงเรียนไว้เช่นเดิม และไม่นานห้องนี้จะกลายเป็นอีกห้องพักหนึ่ง

Uthai Heritage รร.อายุ 80 ปีที่กลายเป็นที่พัก เชื่อมคนและเมืองอุทัยผ่านความผูกพันในสถาปัตย์
ทันตแพทย์กฤตพล พรพิบูลย์
Uthai Heritage รร.อายุ 80 ปีที่กลายเป็นที่พัก เชื่อมคนและเมืองอุทัยผ่านความผูกพันในสถาปัตย์
ทันตแพทย์กฤตพล พรพิบูลย์

ยังมีถ้อยคำ ‘โปรดรักษาความสะอาด’ ตรงทางเดินบันได ที่เก็บเอาไว้เพื่อรักษาบรรยากาศและคงความหมายเช่นเดิม

Uthai Heritage รร.อายุ 80 ปีที่กลายเป็นที่พัก เชื่อมคนและเมืองอุทัยผ่านความผูกพันในสถาปัตย์
ทันตแพทย์กฤตพล พรพิบูลย์

ส่วนสิ่งใหม่ที่เติมเต็มเข้ามา อย่างเช่น การทำป้ายหน้าห้องเป็นกระดานดำและเขียนด้วยชอล์ก ประตูไม้ที่ส่งฉลุลายคล้ายเดิม รวมถึงเฟอร์นิเจอร์มือสองทั้งโรงแรมที่เจ้าตัวผู้ออกแบบลงทุนไปเลือกเอง (เก่าเขาใหม่เรา-เสียงใครสักคนลอดเข้ามา)

Uthai Heritage รร.อายุ 80 ปีที่กลายเป็นที่พัก เชื่อมคนและเมืองอุทัยผ่านความผูกพันในสถาปัตย์
ทันตแพทย์กฤตพล พรพิบูลย์
Uthai Heritage รร.อายุ 80 ปีที่กลายเป็นที่พัก เชื่อมคนและเมืองอุทัยผ่านความผูกพันในสถาปัตย์
ทันตแพทย์กฤตพล พรพิบูลย์
Uthai Heritage รร.อายุ 80 ปีที่กลายเป็นที่พัก เชื่อมคนและเมืองอุทัยผ่านความผูกพันในสถาปัตย์
ทันตแพทย์กฤตพล พรพิบูลย์

ความเป็นคอมมูนิตี้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่โรงแรมยังสร้างไม่เสร็จ

“มันเป็นอาคารเก่า มันผูกพันกับคนในจังหวัดอยู่แล้ว มีคนหลายคนเรียนที่นี่ มีคนรู้จักเราเรียนที่นี่ เราก็อยากเก็บความทรงจำไว้ให้กับคนอุทัยฯ ด้วย ตอนแรกไม่รู้ว่าคนอุทัยฯ ยังคิดถึงที่นี่ ไม่รู้ว่าเขารู้สึกมากหรือน้อย แต่เพจที่เราทำออกไปแค่สี่วัน ทำให้รู้ว่ามีคนรักที่นี่มาก ส่วนหนึ่งเป็นคนที่เคยเรียน อีกส่วนเป็นคนที่ชอบอนุรักษ์อาคารเก่า” 

ไม่ทันเห็นน้ำตารื้น คุณหมอเจ้าของโรงแรมรีบเล่าต่อว่าได้ อ้วน-วิรัตน์ โตอารีย์มิตร เจ้าของนามปากกา ญามิลา แห่งร้านหนังสือ Booktopia มาช่วยเขียนเรื่องราวในแฟนเพจเฟซบุ๊ก Uthai Heritage

“ที่มาช่วยคุณหมอ พอดีเห็นว่าน่าสนใจ เพราะจะเป็นโรงแรมที่เชื่อมชุมชนเข้าหากัน เราอยากเพิ่มเลเวลการท่องเที่ยวหรือวัฒนธรรมให้อุทัยฯ ซึ่งมันมีของอยู่ ซึ่งชุมชนเขาจะแฮปปี้ ตื่นเต้นว่าโรงเรียนเก่าของเขา อีกเจนฯ หนึ่งก็จะถามว่าแม่เคยเรียนโรงเรียนนี้ไหม” นักเขียนชาวอุทัยฯ โดยกำเนิด ตอบรับทันที

Uthai Heritage รร.อายุ 80 ปีที่กลายเป็นที่พัก เชื่อมคนและเมืองอุทัยผ่านความผูกพันในสถาปัตย์
ทันตแพทย์กฤตพล พรพิบูลย์

“พอพวกเขาเห็นภาพที่คุณหมอทำใหม่ ก็ชื่นใจว่าโรงเรียนความทรงจำเขาไม่ได้ถูกทุบทิ้ง เลยพูดคุยกันทั้งเมือง เหล่าครูที่เกษียนอายุเขาก็เล่ากันในกลุ่ม แม้แต่ป้าเตียงที่เคยขายขนมด่างอยู่หน้าโรงเรียน พี่สาวพี่อ้วนซึ่งเป็นศิษย์เก่าก็มาเล่าให้ฟังว่าตรงนั้นตรงนี้เป็นอะไร เช่น หลังเสาธงเป็นทุ่งนาทั้งหมด จนพี่อ้วนบอกว่าคงเป็นโรงเรียนที่โรแมนติกมาก สุดถนนตรงนี้เป็นบ้านครูสะอิ้งมาศ อยู่ข้างโรงเรียน ตอนพักเที่ยงเด็กๆ เลยไปเล่นตาเขย่งกันอะไรแบบนี้ ภาพเก่าเขาถูกรีมายด์” เป้-ชุติมา ศรีทอง บรรณาธิการสำนักพิมพ์อารีมิตร ผู้มาร่วมสังเกตการณ์การสัมภาษณ์เพื่อกลับไปทำคอนเทนต์เล่าบ้าง

“ข้อมูลของคนอุทัยฯ ส่วนใหญ่จะถูกบันทึกโดยภาครัฐ ทีนี้เราอยากบันทึกแบบเอกชนบ้าง อยากบันทึกในเชิงความรู้สึกที่มันมีชีวิต แล้วพอดีตระกูลคุณหมอเขามีเรื่องราวมาก มีคุณูปการต่อเมืองอุทัยฯ เป็นคลังข้อมูลได้ แม้กระทั่งที่คุณหมอเล่าว่าปู่ซื้อ ไม่อยากให้โรงเรียนหายไป เราเข้าใจเลยว่าขิงผูกพันกับสิ่งเก่าๆ หมอก็ผูกพันกับอุทัยฯ แล้วที่ Booktopia มาช่วยดูแลคอนเทนต์บางส่วน เกิดจากความผูกพันกับพื้นที่ทั้งสิ้น มันเป็นโรงแรมที่พื้นฐานคือความผูกพัน ไม่รู้ว่าจะเชื่อมคนทั้งเมืองได้หรือเปล่า แต่ในความคิดเราน่าจะเชื่อมได้เยอะ

“ตอนแรกเป็นเพจของโรงแรม ตอนนี้อยากให้เป็นเพจของอุทัยฯ ไปด้วย (หัวเราะ) แอดมินเพจก็มีคุณหมอ เป้ เรา ใช้สิ่งที่เราเคยทำแมกกาซีนมาทำ คิดเป็นคอลัมน์ คล้ายๆ ทำแมกกาซีนให้อุทัยฯ ใช้โรงแรมคุณหมอเป็นที่ตั้ง บางทีเราเล่าเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับโรงแรม เช่น ฤดูหนาวของอุทัยฯ เมื่อสี่สิบห้าสิบปีก่อน ซึ่งเด็กๆ รุ่นใหม่ไม่เคยเห็น เล่าเรื่องถนนที่ยังขี่จักยานสี่คันเรียงกันได้” อ้วนว่าพลางนึกย้อนไปยังอดีตของเมืองแห่งความสงบนี้

เราคิดภาพตามแล้วก็อดยิ้มกว้างไม่ได้

โรงแรมของคนอุทัยฯ คนอุทัยฯ ก็มาช่วยให้มันเกิด-เป็นคอมมูนิตี้ของคนทำที่น่ารักมาก

Uthai Heritage รร.อายุ 80 ปีที่กลายเป็นที่พัก เชื่อมคนและเมืองอุทัยผ่านความผูกพันในสถาปัตย์
ทันตแพทย์กฤตพล พรพิบูลย์

หมอ : อีกหน่อยจะฉายหนังกลางแปลงให้คนมาดู

เป้ : อยากทำเรื่องผ้าพื้นเมือง ทำตลาดเช้าวันอาทิตย์ เน้นเรื่องผ้าของดีในอุทัยฯ ให้ใครก็มาเดินได้ คนมาพักก็เดินได้ ไหนจะเรื่องป่าไม้ ก็ทำได้

ขิง : มีวงออร์เคสตราเล็กๆ หน้าเสาธง มีคนมาเล่นเพลงแจ๊ส

เป้ : วันเปิดจะมีวงนักเรียนที่คุยไว้มาเล่นเปิดให้ด้วยนะ

ขิง : โห แจ๋วเลยนะพี่นะ

เป้ : คุยกับคุณหมอแล้วคิดไว้จะทำหลายอย่าง ทำเวิร์กช็อปให้คนมาพัก

ขิง : เล่นดนตรีในห้องประชุมได้สบายเลย สเกลสองร้อยคน

อ้วน : คิดว่าอยากจัดคอนเสิร์ตด้วย

เป้ : พี่อ้วนเขาคิดเรื่องดนตรีไว้เยอะเลย

อ้วน : อยากให้คนได้มาเที่ยว เลยคิดว่าน่าจะมีกิจกรรมเย็นวันศุกร์ คืนวันเสาร์ เช้าวันอาทิตย์ ให้คนเลิกงานแล้วบึ่งมาเที่ยวได้…

เรากดปุ่มเลิกบันทึกเสียง ก่อนปล่อยให้พวกเขาโยนไอเดียกันต่ออย่างออกรส แค่เริ่มต้น ยังกลายเป็นพื้นที่ที่คนอุทัยฯ เองได้มารวมตัวสนทนากันขนาดนี้

แสงแดดยามบ่ายไล้ลามเลียเข้าทางหน้าต่าง ม่านเบาบางทำหน้าที่กรองแสงเพียงบางส่วน

เบือนหน้ามองลอดผ่านออกไป เสาธงสูงตระหง่าน ยืนหยัดท่ามกลางสนามหญ้าเช่นวันวาน

เสียงพูดคุยยังดังไม่หยุด แต่ฟังแล้ว ก็แทบรอให้ภาพเหล่านั้นเกิดขึ้นจริง-ไม่ไหว

Uthai Heritage รร.อายุ 80 ปีที่กลายเป็นที่พัก เชื่อมคนและเมืองอุทัยผ่านความผูกพันในสถาปัตย์
ทันตแพทย์กฤตพล พรพิบูลย์

Writer

Avatar

ปาริฉัตร คำวาส

อดีตบรรณาธิการสื่อสังคมและบทความศิลปวัฒนธรรม ผู้เชื่อว่าบ้านคือตัวตนของคนอยู่ เชื่อว่าความเรียบง่ายคือสิ่งซับซ้อนที่สุด และสนใจงานออกแบบเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (กับเธอ)

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ