หลายคนคิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นเรื่องยิ่งใหญ่และไกลตัว แต่ อุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (Thailand International Cooperation Agency – TICA) มีความเห็นที่ต่างออกไป

“สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศรอบข้างย่อมส่งผลต่อเรา หรือแม้แต่กฎระเบียบกติกาต่าง ๆ ในองค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติ ย่อมส่งผลถึงการดำเนินการภายในประเทศของเราด้วย เรื่องการต่างประเทศจึงเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด”  

จากผู้รับ สู่ผู้ให้

กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) คือหน่วยงานน้องใหม่ของกระทรวงการต่างประเทศ ภารกิจหลักคือส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือกับนานาชาติ ผ่านการดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนาในรูปแบบและระดับต่าง ๆ  ภายใต้คำจำกัดความว่า ‘การทูตเพื่อการพัฒนา’ หรือ Development Diplomacy

“TICA เชื่อว่ารากฐานของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คือความสัมพันธ์ระดับประชาชน ในขณะเดียวกัน การรักษาความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศ ก็ช่วยส่งเสริมผลประโยชน์ระหว่างภาคประชาชนเอาไว้อย่างเข้มแข็ง”

แม้จะก่อตั้งมาได้ไม่นาน แต่กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) มีความเป็นมาที่ยาวไกล โดยมีพื้นฐานจากกรมวิเทศสหการ ในยุคที่ไทยยังมีสถานะเป็น ‘ผู้รับ’ ความช่วยเหลือจากประเทศที่พัฒนาแล้ว จนเป็นกรมความร่วมมือฯ ในปัจจุบัน ไทยพัฒนาขึ้นมาอยู่ในสถานะ ‘ผู้ให้’ ที่คอยแบ่งปันประสบการณ์และสนับสนุนประเทศอื่นได้อย่างเต็มตัว

“ในการดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนาในประเทศต่าง ๆ TICA ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy – SEP) ไปประยุกต์ใช้ รวมทั้งการดำเนินโครงการที่เผยแพร่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นการนำจุดแข็งของประเทศไทย ทั้งความเชี่ยวชาญและนวัตกรรมไปเผยแพร่แก่ประเทศคู่ร่วมมือ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals (SDGs) ของสหประชาชาติ”

เมื่อถามถึงจุดแข็งและความเชี่ยวชาญของประเทศไทย อธิบดีเห็นว่า ไทยมีศักยภาพด้านการแพทย์และสาธารณสุข การศึกษา การเกษตร การพัฒนาทักษะอาชีพ พลังงานทางเลือกและสิ่งแวดล้อม ที่สามารถนำไปเผยแพร่แบ่งปันให้กับประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันสามารถเข้าถึงและนำไปใช้ประโยชน์ได้ นำไปสู่ความมั่นคงในหลายด้าน ทั้งอาหาร การสาธารณสุข และอื่น ๆ ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นความมั่นคงของมนุษย์ในภาพรวม

“หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมถึงต้องไปช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านด้วย เราช่วยเขาเพื่อช่วยตัวเราเอง ยกตัวอย่าง ความร่วมมือด้านสาธารณสุข หากประเทศเพื่อนบ้านมีความเข้มแข็ง ประเทศไทยก็เข้มแข็งไปด้วย เพราะโรคระบาดไม่มีพรมแดน ประเด็นเหล่านี้เห็นได้ชัดเจนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19” 

นอกจากนี้ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) ยังขยายบทบาทในการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในเวทีนานาชาติ รวมทั้งระดับอนุภูมิภาคและภูมิภาค ทั้งในรูปแบบทวิภาคีและไตรภาคี โดยร่วมมือกับประเทศที่พัฒนาแล้วในฐานะหุ้นส่วนการพัฒนาระหว่างกัน ตอบโจทย์การดำเนินการตามเป้าหมายที่ 17 ของ SDGs ซึ่งก็คือ ‘Partnership for Development’

TICA ชวนคุยเรื่องการทูตที่ไม่ใช่ของไกลตัว เมื่อการทูตภาคประชาชนคือรากฐานสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

อาสาสมัครเพื่อนไทย การทูตภาคประชาชน

อีกโครงการที่จัดว่าเป็นแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในการดำเนินโครงการด้านการพัฒนา คือการส่งอาสาสมัครเพื่อนไทย (Friends from Thailand – FFT) ไปปฏิบัติหน้าที่ในต่างประเทศที่ประเทศไทยไปดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนา ซึ่งครบรอบ 15 ปีใน พ.ศ. 2565 นี้ และได้ส่งอาสาสมัครไปปฏิบัติงานในต่างประเทศมาแล้วกว่า 160 คน

“อาสาสมัครเหล่านี้ไปช่วยพัฒนาและสร้างความสัมพันธ์ระดับประชาชน เสมือนเป็นทูตภาคประชาชนผู้เข้าไปยังพื้นที่ที่แม้แต่นักการทูตตัวจริงก็อาจเข้าไม่ถึง โครงการดังกล่าวสร้างประโยชน์ในหลายด้าน ทั้งต่อประเทศผู้ให้ ประเทศผู้รับ และตัวอาสาสมัครเองที่มีโอกาสได้พัฒนาศักยภาพตนเอง และเพิ่มพูนประสบการณ์ด้านการพัฒนาในต่างประเทศ”  

อุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดี TICA ผู้สนับสนุนความสัมพันธ์ไร้พรมแดนจากการทูตภาคประชาชน
ส่งอาสาสมัครเพื่อนไทยไปประเทศภูฏาน

ความคาดหวังจากโลกกว้าง : South-South Cooperation

จากบทบาทการเป็นผู้ให้ด้านการพัฒนาของไทยที่เห็นชัดขึ้น รวมทั้งผลเชิงประจักษ์ในความสำเร็จของการดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนาของไทยในต่างประเทศ ที่ได้รับการยกย่องหรือคัดเลือกว่าเป็นแนวปฏิบัติที่ดี จากองค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งสหประชาชาติ

ยกตัวอย่าง สำนักงานสหประชาชาติเพื่อความร่วมมือใต้-ใต้ (UN Office for South-South Cooperation: UNOSSC) สำนักงานใหญ่ นครนิวยอร์ก ได้คัดเลือกโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของไทยกับต่างประเทศ เป็นแนวปฏิบัติที่ดี จำนวน 7 โครงการ อาทิ โครงการพัฒนาโรงพยาบาลแขวงบ่อแก้ว   โครงการส่งเสริมด้านการเกษตรโดยการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ OGOP ของราชอาณาจักรภูฏาน  และ โครงการพัฒนาวิทยาลัยเทคนิคแขวงเวียงจันทน์ เป็นต้น

นอกจากนี้  United Nations Department of Economic and Social Affairs (UN DESA) ยังคัดเลือกโครงการอาสาสมัครเพื่อนไทย (Friends from Thailand : FFT) ซึ่งไทยน่าจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาเพียงประเทศเดียวที่ส่งอาสาสมัครไปปฏิบัติงานในต่างประเทศ และโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโดยการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในมองโกเลีย เป็นตัวอย่างความสำเร็จ และแนวปฏิบัติที่ดีในการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ความสำเร็จในเชิงประจักษ์เหล่านี้ นำไปสู่การคาดหวังให้ประเทศไทยมีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการดำเนินความร่วมมือใต้-ใต้ (South-South Cooperation) หรือความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันเอง

TICA ชวนคุยเรื่องการทูตที่ไม่ใช่ของไกลตัว เมื่อการทูตภาคประชาชนคือรากฐานสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

จึงเป็นที่น่ายินดีว่า ประเทศไทยได้รับคัดเลือกเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Global South-South Development Expo 2022 (GSSD Expo 2022) ครั้งที่ 11 ร่วมกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (Economic and Social Commission for Asia and the Pacific – ESCAP) และ  UNOSSC นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในการดำเนินความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของไทย และพลังความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจและสังคมในกลุ่มความร่วมมือใต้-ใต้อย่างแท้จริง

 “เราอยากให้ทุกคนมาเห็นผลงานด้านการพัฒนาของไทยว่า เรามีส่วนร่วมในการช่วยส่งเสริมการพัฒนาในประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ อย่างไรบ้าง”

อนาคตกับการพัฒนาไม่สิ้นสุด

TICA ชวนคุยเรื่องการทูตที่ไม่ใช่ของไกลตัว เมื่อการทูตภาคประชาชนคือรากฐานสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

“เราตั้งใจที่จะเพิ่มความเข้มข้นด้านความร่วมมือ โดยเน้นจุดแข็งและความเชี่ยวชาญของไทยต่อไป ตลอดจนการแบ่งปันประสบการณ์และนวัตกรรมของไทยในประเทศที่เราเข้าไปดำเนินโครงการ ในขณะเดียวกัน การดำเนินโครงการต้องคำนึงถึงบริบทของประเทศผู้รับและตอบสนองกับโจทย์ของโลกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การใช้ BCG Economy Model การเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและสาธารณสุข รวมทั้งการพัฒนาทางเศรษฐกิจและทักษะอาชีพที่จะนำไปสู่การจ้างงาน ซึ่งถือเป็นผลกระทบระยะยาวที่หลายประเทศได้รับจากวิกฤตโควิด-19” อธิบดีกล่าวถึงแผนในอนาคต ซึ่งการให้ความร่วมมือด้านการพัฒนาจะยังคงเดินหน้าต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด

บนหน้ากระดาษ อาจเหมือนผู้ให้ไม่ได้อะไรกลับมา แต่สำหรับกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) แล้ว อธิบดีสรุปว่า สิ่งที่ได้กลับมาแท้จริงนั้นมากเหลือจะนับ โดยเฉพาะการที่ไทยได้เป็นส่วนหนึ่งในการ ‘เติมเต็ม’ ด้านการพัฒนาให้แก่อีกหลายประเทศจากพื้นฐานและบริบทภายในให้สามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืน ตามความหมายของตราสัญลักษณ์กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) นั่นเอง

Writer

Avatar

พัทธนันท์ สวนมะลิ

เด็กกรุงเทพฯ ผู้เป็น Sneakerhead และ Cinephile ที่หอบเสื่อผืนหมอนใบมาเรียนเชียงใหม่ แล้วสุดท้ายก็กลับไปตายรังที่กรุงเทพฯ

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ