บ้านเคยเป็นเพียงสถานที่พักผ่อน แต่ในวันที่เราต้องอยู่บ้านกันตลอดเวลา บ้านจึงรับบทเป็นแทบทุกอย่าง ทั้งที่ทำงาน ยิมออกกำลังกาย ที่ปาร์ตี้สุดสัปดาห์ คาเฟ่จำเป็น แม้แต่เวลาคิดงานไม่ออก เราก็คงหนีไปไหนไกลไม่พ้นจากธรณีประตูบ้าน 

บทบาทของที่อยู่อาศัยกำลังเปลี่ยนไป บ้านอาจมิใช่เพียงพื้นที่แห่งการพักผ่อนอีกต่อไป เตียงนอนที่กลายเป็นโต๊ะทำงานอาจกำลังทำให้ค่ำคืนคุณภาพของคนอยู่ถูกรบกวนแบบเงียบๆ

ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักจิตบำบัดด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย ชวนเรามาสำรวจบ้าน และการนอนหลับของเรากันอีกครั้ง ไม่แน่ว่า มุมที่ชินตา หรือเสียงจอแจที่เราไม่ใส่ใจเพราะได้ยินจนชินชา อาจกำลังพรากค่ำคืนแห่งการพักผ่อนของใครบางคนไปอย่างไม่ทันได้รู้ตัว

#ถ้าการนอนดี คุยกับ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ เรื่องการนอนหลับของคนเมืองในเมืองที่ไม่เคยหลับ

“คนที่อยู่ในเมืองจะเข้าใจว่านี่คือความเงียบ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่”

นอกจากเสียงของเธอแล้ว เสียงของเครื่องปรับอากาศ รถที่แล่นอยู่บนถนน ก็เริ่มดังขึ้นหลังจากที่ลองตั้งใจฟัง คงไม่เป็นไรเพราะนี่คือตอนกลางวัน แต่เสียงนี้จะยังคงดังอยู่แบบนั้นแม้ในตอนที่เรานอนหลับในตอนกลางคืน

“ความเป็นเมืองมันมีผลต่อการนอนมาก บางทีช่วงกลางวัน เราจะไม่ค่อยสังเกตว่ามันมีอะไรเกิดขึ้นบ้างเพราะว่าเราชิน ทั้งเสียง กลิ่น อากาศ แม้กระทั่งอุณหภูมิหรือแสงเล็กๆ น้อยๆ ที่ลอดผ่านหน้าต่างเข้ามาในยามค่ำคืน ความเป็นเมืองหลายๆ อย่างกำลังส่งผลต่อคุณภาพการนอนหลับของเรา”

นอนนะ แต่นอนน้อย

หากคุณเป็นคนในเมืองที่เพิ่งได้ยินเสียงจอแจหลังจากที่ได้ตั้งใจฟังไปเมื่อครู่ แล้วเกิดสงสัยขึ้นมาว่าการนอนหลับของคืนที่ผ่านมานั้นเป็นการนอนที่ดีหรือยัง ลองถามตัวเองดูก็ได้ว่า ‘ตื่นมาแล้วสดชื่น หรือ อยากกลับไปนอนต่อ’ นี่เป็นข้อสังเกตแรกๆ ที่ช่วยเช็คคุณภาพการนอน โดยที่ไม่ต้องใช้เครื่องมืออะไรเลย

#ถ้าการนอนดี คุยกับ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ เรื่องการนอนหลับของคนเมืองในเมืองที่ไม่เคยหลับ

“การนอนหลับเป็นหัวใจของการใช้ชีวิต เมื่อไหร่ก็ตามที่การนอนถูกรบกวน จะส่งผลต่อทุกๆ ด้าน สุขภาพเป็นอันดับแรก จะเห็นได้ว่ามีโรคหลายโรคที่เกิดจากการนอนที่ไม่มีคุณภาพ เพราะมันเป็นช่วงที่ร่างกายฟื้นฟูตัวเอง มีฮอร์โมนหลายชนิดที่หลั่งออกมาตอนนั้น พอไม่ได้ทำงานอย่างเต็มที่ มันก็รวนไปทั้งระบบ เราอาจไม่เห็นผลทันตา รู้สึกว่ายังไม่เป็นอะไร แต่ผลที่เกิดขึ้นเลยทันทีคือเราจะขี้เกียจตื่น ถ้าวันไหนนอนไม่พอ วันนั้นจะหงุดหงิดง่าย เห็นอะไรก็รู้สึกไม่โอเคไปเสียหมด”

“เรื่องของสุขภาพจิตก็เช่นกัน พอนอนไม่ดี จิตใจก็ไม่แข็งแรง ในระยะยาว การนอนเกี่ยวข้องกับโรคทางจิตใจหลายอย่าง อาจเป็นได้ทั้งต้นเหตุและเป็นผลของโรคนั้นๆ ด้วย”

ดุจดาวเล่าให้เราฟังอีกว่า สำหรับคนที่อดหลับอดนอนมาทำงาน หรือนอนหลับไม่สนิท จะยิ่งส่งผลกับความโปรดักทีฟ แม้จะฝืนทำงานต่อไปเรื่อยๆ แต่คุณภาพงานอาจไม่ดีเท่าที่ควร เพราะการนอนไม่พอจะทำให้คิดอะไรไม่ออก และจะดีกว่าถ้าได้นอนหลับเต็มอิ่มแล้วค่อยตื่นขึ้นมาทำงานทีหลัง

“บางคนถ้านอนพอ นอนแบบมีคุณภาพ ไม่ต้องมีนาฬิกาปลุกก็ตื่นเองได้ เพราะร่างกายบอกว่าอิ่มแล้ว ตื่นแล้ว พร้อมลุกได้เลย สำหรับบางคน ถึงนาฬิกาจะปลุกแล้ว แต่ก็ยังรู้สึกอยากนอนต่อไปเรื่อยๆ อาจเป็นไปได้ว่าคุณภาพการนอนยังไม่ค่อยดี บางคนนอนแปดชั่วโมง แต่ยังรู้สึกเพลีย ก็เป็นไปได้ว่าระหว่างนอนอาจหลับไม่สนิท ผิดกับบางคนที่นอนแค่ห้าถึงหกชั่วโมง แต่กลับรู้สึกว่าสดชื่นมาก นั่นเป็นเพราะร่างกายหลับลึก หลับสบาย”

การนอนหลับในแต่ละคืนจะแบ่งเป็นรอบๆ โดยแต่ละรอบจะมีทั้งหมด 4 ช่วง รวมๆ แล้วใช้เวลาประมาณ 90 – 120 นาที ที่มนุษย์ต้องนอนหลับเพราะนี่เป็นเวลาที่สงวนไว้ให้ร่างกายได้ซ่อมแซมตัวเอง แผนกสมองก็จะใช้โมงยามอันเงียบสงบนี้ค่อยๆ เรียบเรียงข้อมูลที่รับมาทั้งวัน เก็บเข้าแฟ้มความทรงจำให้เป็นระเบียบ

#ถ้าการนอนดี คุยกับ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ เรื่องการนอนหลับของคนเมืองในเมืองที่ไม่เคยหลับ

แสง สี เสียง

หลายๆ บ้านในชนบทเริ่มปิดไฟนอนตั้งแต่ 2 ทุ่ม ผิดกับในเมืองใหญ่ที่บางคนเพิ่งจะเลิกงานและกำลังเดินทางกลับบ้าน เมื่อวิถีชีวิตในเมืองถูกแช่แข็งอยู่ในวงจรนี้ไปเรื่อยๆ ดุจดาวเล่าว่าหนึ่งสิ่งที่จะช่วยให้คนนอนหลับได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งหลายคนอาจลืมไปว่าเราสร้างมันขึ้นมาได้ คือการทำห้องนอนให้เป็นห้องสำหรับนอนจริงๆ

“เตียงนอนของเราคือดินแดนพิเศษที่ควรจะรักษาเอาไว้สำหรับการพักผ่อน” เธอเชื่ออย่างนั้น และเล่าต่อว่า เมื่อห้องนอนเป็นพื้นที่สำหรับการพักผ่อน ฟังก์ชันของห้องนี้จึงจำเป็นต้องทำให้เราผ่อนคลาย วางใจ ปลอดภัย และพาไปสู่การนอนที่ดี อีกทั้งแสง สี เสียง กลิ่น รวมไปถึงพื้นผิวต่างๆ ในห้องนั้นก็ล้วนมีผลกับการหลับใหลทั้งสิ้น

#ถ้าการนอนดี คุยกับ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ เรื่องการนอนหลับของคนเมืองในเมืองที่ไม่เคยหลับ

“ถ้าเป็นคนที่ชอบสีแดงมากๆ เราไปทาที่ห้องอื่นก็ได้ แต่เว้นห้องนอนไว้ห้องหนึ่ง เพราะสีจะทำงานกับการรับรู้ของเรา สีแดงมันจะปลุกเร้า มีผลต่ออารมณ์และสภาวะที่อยู่ข้างใน”

“แสงก็เช่นเดียวกัน การเลือกแสงสลัวๆ จะช่วยลดการมองเห็นและทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย แต่บางครั้งแสงในห้องนอนมันไม่ได้พาให้ร่างกายเราไปอยู่ในจุดที่ผ่อนคลายแบบนั้น เพราะในห้องบางทีเราติดไฟจ้ามาก ดวงใหญ่อยู่บนเพดาน ทำให้ห้องสว่างไปหมด เพราะฉะนั้นการเลือกแสงที่ทำให้เกิดความสลัว อบอุ่นเป็นจุดๆ มันจะทำให้เรานอนหลับได้เป็นอย่างดี”

“เสียงที่เกิดขึ้นในห้องนอนก็มีผลกับการนอน บางคนหลับง่าย ไม่เกินสามสิบนาทีก็หลับได้แล้ว แสดงว่าคุณไม่ได้มีปัญหากับการเข้านอน แต่บางคนถึงจะหลับง่าย แต่ร่างกายไม่เข้าสู่ช่วงหลับลึก ซึ่งเป็นจุดที่ควรจะได้พักผ่อน พอมีเสียงนิดหน่อยก็จะสะดุ้งตื่น ทำให้การนอนถูกรบกวน”

เธอบอกอีกว่าอุณหภูมิและอากาศในห้องก็สำคัญไม่แพ้กัน ในช่วงที่เราเผชิญกับวิกฤติฝุ่น PM 2.5 หลายๆ คนจะพบว่าตัวเองนอนหลับได้ไม่ดีนัก เพราะอากาศที่เป็นพิษส่งผลกระทบกับระบบทางเดินหายใจ เราจึงต้องทำให้ห้องนอนมีอากาศถ่ายเท และมีออกซิเจนในระดับที่เพียงพอ ห้องนอนที่มีอากาศบริสุทธิ์จะช่วยบรรเทาความเหนื่อยล้าและเพิ่มสมาธิ หลังจากตื่นนอนเราจึงพบว่าตัวเองสดชื่นและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในขณะเดียวกัน หากอากาศในห้องนอนไม่ถ่ายเท ทำให้มีคาร์บอนไดออกไซด์หนาแน่นเกินไป ระหว่างนอนหลับอาจทำให้ระดับกรดในเลือดสูงขึ้น หายใจได้ลำบาก ส่งผลต่อร่างกายและสมองตามไปด้วย ซึ่งหนึ่งในสาเหตุอันเป็นที่มาของโรคเกี่ยวกับการนอนหลับนั้นอาจเกิดจากร่างกายที่ได้รับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แบบไม่ปกติ ที่แน่ๆ ห้องหับที่อับเกินไป อากาศระบายได้ไม่ดีพอ สิ่งที่สัมผัสได้อย่างแรกๆ เลยคือทำให้การนอนคืนนั้นไม่มีคุณภาพ และมักจะส่งผลให้วันรุ่งขึ้นเป็นเช้าที่ไม่สดใส ถึงภายนอกจะยังปกติดี แต่อาจทำงานได้อย่างไม่เต็มที่เท่าที่ควรจะเป็น อากาศที่เหมาะสมในห้องนอนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามไปได้เลย

บ้านก็คือบ้าน

นิยามคำว่า ‘ที่อยู่อาศัย’ ของผู้คนเปลี่ยนไปหลังจากที่เริ่มมีการ Work From Home เดิมทีบ้านไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้ใช้ชีวิตแบบครบวงจรตลอดทั้งวัน ที่พักอาศัยเคยเป็นเพียงที่พักผ่อนเท่านั้น เมื่อต้องกลายเป็นสถานที่ทำงานด้วย การออกแบบอย่างที่เคยเป็นอาจไม่ได้เอื้อกับวิถีชีวิตแบบปกติใหม่อีกแล้ว นั่นทำให้ดุจดาวมองว่าการจัดสรรพื้นที่ในบ้านเป็นสัดเป็นส่วน เพื่อสงวนดินแดนของการพักผ่อนไว้ ก็ช่วยให้คุณภาพการนอนดีขึ้นได้

#ถ้าการนอนดี คุยกับ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ เรื่องการนอนหลับของคนเมืองในเมืองที่ไม่เคยหลับ
#ถ้าการนอนดี คุยกับ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ เรื่องการนอนหลับของคนเมืองในเมืองที่ไม่เคยหลับ

“เงื่อนไขที่จำกัดของหลายคนคือ ไม่สามารถแบ่งห้องต่างๆ แยกจากกัน บางคนก็ไม่ชอบแบบนั้นเพราะมันใหญ่เกินไป แต่ในหนึ่งห้องนั้น การจัดสรรพื้นที่สำคัญมาก บางคนก่อนล้มตัวลงนอนมองไปข้างหน้ายังเห็นโต๊ะทำงานเป็นวิวสุดท้าย เราอาจหาต้นไม้มาบัง เอาอะไรมาปิด ขยับให้เป็นสัดส่วนก็ได้

“มนุษย์เราเก็บทุกการรับรู้เข้าไปประมวลผลทั้งหมด สิ่งนั้นจะมีผลต่อสุขภาวะใจเสมอ บางคนรู้สึกว่าเครียดจนนอนไม่หลับ นั่นก็เพราะว่าความเครียดอยู่แทบทุกที่ในบ้าน การแบ่งโซนจึงค่อนข้างสำคัญ”

ปัจจัยหลายๆ อย่างทั้งแสง สี เสียง อากาศ และการจัดสรรพื้นที่ให้เป็นมิตรกับการนอนหลับนั้นเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการออกแบบฉบับ WELL Building Standard ซึ่งดุจดาวจำกัดความว่า เป็นการออกแบบที่อยู่อาศัยโดยคำนึงถึง ‘สุขภาวะองค์รวม’ (Well-being) ของคนอยู่

ธรรมชาติของมนุษย์ถูกออกแบบให้ตื่นตอนพระอาทิตย์ขึ้น และหลับตอนพระอาทิตย์ตกดิน แต่มนุษย์ยุคนี้ต่างจากสมัยก่อน เราฝืนนาฬิการ่างกายได้ทุกเมื่อที่ต้องการ ในขณะเดียวกันเราก็ออกแบบสิ่งแวดล้อมใหม่ที่ดี เพื่อทำให้การฝืนเหล่านั้นกลับมาสมดุลอีกครั้งได้

“หากมีที่อยู่อาศัยคิดเผื่อเรื่อง Well-being ก็จะช่วยลดภาระของคนอาศัยได้มาก เทรนด์ของโลกตอนนี้เราไม่ได้มองบ้านหรือที่อยู่อาศัยแค่ความสะดวกสบายแล้ว แต่มันต้องสร้างเสริมสุขภาวะของเราด้วย บางที่มีความละเอียดอ่อนไปถึงการเลือกติดตั้งไฟ และระบบไฟ เช่น ตอนลุกไปเข้าห้องน้ำตอนกลางคืน ก็จะมี ไฟระดับต่ำที่ส่องแสงเพียงพอเฉพาะทางเดินไว้ให้ ทำให้ไม่รบกวนคนอื่นหรือรบกวนการกลับมานอนใหม่ของตัวเราเอง”

นอกจากแสงไฟสลัวๆ ที่ทำให้เรากลับมานอนหลับอุตุได้เหมือนเดิมหลังจากลุกไปเข้าห้องน้ำแล้ว ปัจจุบันเราไม่จำเป็นต้องเปิดหน้าต่างกว้างสุดบานเพื่อให้ห้องมีอากาศถ่ายเทอีกต่อไป เพราะเราไม่อาจมั่นใจได้เลยว่าอากาศข้างนอกนั้นบริสุทธิ์พอที่จะสูดเข้าไปได้อย่างเต็มปอด วิธีนี้อาจยิ่งทำให้มลพิษข้างนอกเข้ามาเยือนห้องนอนยิ่งกว่าเดิมก็เป็นได้ บ้านที่ถูกคิดมาเป็นอย่างดีแล้วจึงมีเทคโนโลยีที่ช่วยทำให้อากาศถ่ายเท โดยไม่ต้องเปิดหน้าต่างกว้างๆ และปลอดภัยจากฝุ่น PM 2.5 

โลกและสภาพแวดล้อมอาจค่อยๆ เปลี่ยนไป และไม่อาจเยียวยาให้หายดีได้ในเร็ววัน แต่สิ่งที่เราพอทำได้ในทันที คือการออกแบบบ้านให้พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ที่อยู่อาศัยที่ดูแลและส่งเสริมคนอยู่ในทุกๆ ด้านจึงเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับการรักษาสุขภาวะองค์รวมให้สมดุล

การจัดบ้านจึงไม่ได้หมายความว่าบ้านต้องสวยถูกใจเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องสะดวกสบายกับคนอยู่ด้วย และยิ่งไปกว่าความสะดวกสบายคือต้องเป็นมิตรกับสุขภาพและช่วยส่งเสริมวิถีชีวิตที่กำลังมีสิ่งเร้ามารบกวนมากมาย

หลายคนกำลังสนุกกับการจัดบ้านและหาเฟอร์นิเจอร์ที่จะช่วยทำให้บ้านกลายเป็นบ้านที่ดูแลสุขภาพของเรา แต่สำหรับหลายๆ คนที่ไม่ถนัดและไม่รู้จะเริ่มต้นหยิบจับอะไรก่อนดี บ้านที่ออกแบบมาโดยคิดถึงเรื่อง Well-being เป็นหลักอย่างเสร็จสรรพนั้นเป็นอีกตัวเลือกที่ดี ที่จะทำให้เราได้อยู่ใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

“การออกแบบที่พักอาศัยที่คิดเรื่อง Well-being เผื่อคนที่ไม่ค่อยถนัดเรื่องการแต่งบ้านสักเท่าไหร่ จะช่วยให้เขาได้รับสิ่งดีๆ จากการออกแบบ โดยที่ไม่ต้องไปโรงพยาบาล ไปคลินิกเพื่อดูแลสุขภาพ การมีที่อยู่อาศัยที่คิดเผื่อไว้แล้ว จะช่วยลดภาระในการดูแลสุขภาพไปได้เยอะ”

#ถ้าการนอนดี คุยกับ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ เรื่องการนอนหลับของคนเมืองในเมืองที่ไม่เคยหลับ

การนอนเป็นฟังก์ชันหลักของชีวิตมนุษย์ อาจกล่าวได้ว่า ถ้านอนดี สุขภาพจิตก็ดี สุขภาพกายก็แข็งแรง การทำงานของทุกระบบในร่างกายก็จะดีตามไปด้วย เพราะการนอนจะเป็นส่วนที่ช่วยเสริมสร้างให้ร่างกายดีขึ้นได้ และไม่เพียงแค่เป็นการดูแลสุขภาพของตัวเองเท่านั้น แต่ตัวเราที่กินอิ่ม นอนอุ่น และสดใสแข็งแรง ยังกลายไปเป็นสิ่งแวดล้อมดีๆ ให้กับคนรอบข้างอีกต่อหนึ่งด้วยเช่นกัน

“ทรัพยากรหนึ่งที่ทุกคนมีเท่ากันคือ 1 หน่วยของตัวเรา การดูแลตัวเองหมายความว่าเรากำลังทำให้ทรัพยากรมนุษย์ในสังคมสุขภาพดีไปด้วย เวลาเราไปดูแลคนอื่น ไปเป็นสมาชิกของกลุ่มไหนๆ ไปทำงานเราก็เป็นทีมที่แข็งแรง การดูแลตัวเองและทำทุกอย่างเพื่อสร้างคุณภาพการใช้ชีวิตแบบที่ไม่เบียดเบียนสุขภาวะของตัวเอง ไม่ใช่เรื่องเห็นแก่ตัวเอง แต่หมายความว่าเรามีความรับผิดชอบกับตัวเรา ที่จะไปมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ในภายหลังด้วย”

การนอนหลับอาจเป็นเรื่องง่าย แต่จะนอนอย่างไรให้มีคุณภาพนั้นเป็นเรื่องยาก แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ยากเกินไป เพราะเราสามารถออกแบบการนอนและสุขภาวะที่ดี โดยเริ่มจากการออกแบบที่อยู่อาศัยเป็นอันดับแรก

ลองสำรวจบ้านและห้องหับ แล้วดูว่าจะจัดแจง ออกแบบอย่างไรให้ตัวเรามีค่ำคืนแห่งการนอนที่มีคุณภาพได้บ้าง แน่นอนว่าสภาพแวดล้อมที่ดี เป็นมิตรกับทั้งสุขภาพจิต สุขภาพใจ จะช่วยให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างมีคุณภาพ ทำให้บ้านยังคงเป็นบ้านที่ดีกับสุขภาวะคนอยู่ต่อไป

ปัจจุบัน ‘ANIL Sathorn 12’ เป็นคอนโดมิเนียมแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับรอง WELL Precertified™
ระดับ Gold และตั้งเป้าที่จะได้รับการรับรอง WELL Certification เมื่ออาคารก่อสร้างเสร็จแล้ว เพื่อให้ได้รับมาตรฐาน WELL Building Standard อาคารที่เป็นมิตร และคำนึงถึงสุขภาวะที่ดี (Well-being) ของผู้อยู่อาศัย ในปัจจัยทั้ง 7 ด้าน ทั้งแสง อากาศ น้ำ โภชนาการ การออกกำลังกาย ความสบายกายและจิตใจ

ทำความรู้จักกับที่อยู่อาศัยที่ถูกออกแบบมาเพื่อดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจของของคนอยู่เพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/2YpN52r

Writer

Avatar

ซูริ คานาเอะ

ชอบฟังมากกว่าพูด บูชาของอร่อย เสพติดเรื่องตลก และเชื่อว่าชีวิตนี้สั้นเกินกว่าจะอ่านหนังสือดีๆ ให้ครบทุกเล่ม

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล