01

น้อยใจในการศึกษา

เด็กหลายคนที่ไม่อยากไปโรงเรียน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เขาไม่อยากเรียนหนังสือ แต่อาจเป็นเพราะโรงเรียนไม่ได้สอนให้เขาเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิต และซ้ำยังฆ่าจินตนาการในการใช้ชีวิตของพวกเขาไปโดยไม่รู้ตัว

ห้องเรียนศิลปะเคยเป็นที่โปรดปราน แต่แค่ไม่กี่ชั้นปีของการศึกษา เราก็เริ่มจับทางได้ว่าครูศิลปะจะสั่งให้วาดอะไรเพื่อส่งประกวด ทุกปีจะมีหัวข้อเหมือนๆ กัน เช่น เรารักป่าไม้ ซึ่งเรารู้ว่าจะวาดอย่างไรให้ชนะ

วันหนึ่งในชั้น ป.5 เรารู้สึกว่าถึงเวลาที่เราควรจะได้วาดภาพอย่างที่เราจินตนาการ ไม่ใช่วาดเพื่อเดาใจกรรมการ และวาดตามที่อาจารย์คาดหวัง

‘ใบไม้สีม่วง’ เป็นภาพวาดในจินตนาการที่เห็นในตอนนั้น เราชอบสีม่วง และมันเป็นสีที่ไม่ได้ค่อยได้ใช้ตอนวาดภาพตามโจทย์ของโรงเรียน แวบแรกที่ครูเห็นภาพใบไม้สีม่วง ครูก็พรั่งพรูออกมาเป็นชุด “วาดอย่างนี้ไม่ได้นะ วาดอย่างนี้จะไม่ได้รางวัล เธอเป็นความหวังของห้อง…”

เด็กน้อยผู้น่าสงสารตอนนั้นตอบไปว่า “ไม่เป็นไรค่ะ หนูไม่ได้อยากจะได้รางวัลจากใครแล้ว”

ครูยังไม่หยุด ไม่พอใจ แล้วก็บอกว่า “ใบไม้สีม่วงของเธอน่ะไม่มีจริงหรอก”

คำนี้ทำให้เด็กน้อยคนนั้้นร้องไห้ปล่อยโฮ

มันจะไม่มีได้ไง ในเมื่อมันชัดในจินตนาการของเด็กน้อยขนาดนั้น

ตั้งแต่วันนั้น เด็กคนนั้นก็ไม่ได้เชื่อครูอีกต่อไป เธอตั้งใจไว้ว่า สักวันเธอต้องหาโรงเรียนในแบบที่จินตนาการไว้ให้เจอ ถ้าไม่มี วันหนึ่งเธอก็จะสร้างมันขึ้นมาเอง

Upattinas School โรงเรียนเล็กที่มีวิชาเรียนเป็นเรื่องเล่าจากประสบการณ์ชีวิตจริง

02

แรงแห่งจินตนาการ

10 ปีต่อมา ค.ศ. 2000 เด็กน้อยคนนั้นบอกแม่ว่า เธอหาทุนไปเรียนเมืองนอกด้วยตัวเองที่โรงเรียนอัปปาทีนาส์ (Upattinas School) รัฐฟิลาเดลเฟีย ประเทศสหรัฐอเมริกา โรงเรียนทางเลือกที่เริ่มต้นจากครอบครัวซึ่งลุกขึ้นมาจัดการศึกษาด้วยกันเอง

ชื่อโรงเรียนมาจาก 3 คำนี้ Up At และ Tina หมายถึงที่บนเนินบ้านของธีน่า สถานที่ก่อเกิดโรงเรียนซึ่งให้ทุนไปเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตร Teacher Certificate จากองค์กร National Coalition of Alternative Community Schools (NCACS) ในสหรัฐอเมริกา ทุนการศึกษาสำหรับหลักสูตรครูทางเลือกนี้ เราต้องออกแบบการเรียนรู้ของเราเองว่าจะเรียนอย่างไร ประเมินผลอย่างไร ใช้เวลาเรียนอย่างไร และนานเท่าไหร่ ข้อกำหนดมีอย่างเดียว คือต้องเรียนรู้ด้วยการลงมือสอน

ไม่มีใครรู้เลยว่า การบินสูงและบินไกลครั้งนั้น ทำให้ได้พบใบไม้สีม่วงที่ครูประถมบอกว่า “ไม่มีจริง”

วันแรกที่เข้าไปคุยกับผู้อำนวยการโรงเรียนอัปปาทีนาส์ แซนดี้ เฮิร์ส ผู้หญิงร่างท้วม ผมสีดอกเลา อายุราว 50 หน้าห้องทำงานของแซนดี้มีดอกแดฟโฟดิลสีเหลืองสดใสบานยิ้มแย้มตลอดฤดูใบไม้ผลิ เรายื่นหลักสูตรการเรียนที่ออกแบบไว้อย่างดีให้แซนดี้บนโต๊ะทำงานของเธอ แซนดี้ยิ้มแล้วค่อยๆ เปิดทีละหน้า อ่านอย่างตั้งใจอยู่หลายนาที แล้วเงยหน้าขึ้นมาสบตา ยิ้มอ่อนๆ ให้ “น่าสนใจมากๆ เป็นหลักสูตรที่สร้างสรรค์มากๆ”

แซนดี้เลื่อนหลักสูตรนั้นคืนมาให้ พร้อมกับบอกว่า “พร้อมหรือยังที่จะโยนหลักสูตรนี้ทิ้งไปได้ทุกเมื่อ”

บทเรียนที่หนึ่งของโรงเรียนนี้คือ “นักเรียนและครูจะออกแบบหลักสูตรและเรียนรู้ไปด้วยกัน เพราะฉะนั้น ไม่ว่า หลักสูตรจะวางไว้ดีขนาดไหนก็ถูกโยนทิ้งได้ตลอด ถ้านักเรียนไม่ได้เป็นหุ้นส่วนในการออกแบบการเรียนรู้ไปด้วยกัน”

ความรู้สึกที่เดินออกมาจากห้องแซนดี้ คือกลัวๆ และมึนๆ ไม่แน่ใจว่าจะเอาอะไรไปสอน ถ้าครูฝึกสอนมือใหม่คนนี้ไม่มีคัมภีร์หลักสูตรที่เขียนไว้

คำทิ้งท้ายในวันแรกของแซนดี้ยังมีอีกว่า “อย่าคิดว่าครูเป็นผู้คุมความรู้เพียงคนเดียวในห้องเรียน ถ้าถือแบบนั้นเมื่อไหร่ การเรียนรู้ที่แท้จริงระหว่างครูและนักเรียนจะ ‘พัง’ ไปด้วยกัน”

แล้วก็พังจริงๆ การเรียนการสอนเดือนแรกของครูฝึกสอนคนนี้พังมากๆ กลับบ้านปวดท้อง ร้องไห้เลยทีเดียว เด็กๆ ไม่ใช่ไม่ฟังเราเลย แต่เด็กๆ ถามแบบที่เราไม่รู้จะเอาอะไรไปตอบ เดือนที่สองเมื่อเราเริ่มตั้งสติได้ เริ่มสกัดความกลัว เปิดตาเปิดใจ แล้วสัมผัสไปรอบๆ ว่า ที่นี่เขามี ‘วิถี’ อย่างไร

Upattinas School โรงเรียนเล็กที่มีวิชาเรียนเป็นเรื่องเล่าจากประสบการณ์ชีวิตจริง
Upattinas School โรงเรียนเล็กที่มีวิชาเรียนเป็นเรื่องเล่าจากประสบการณ์ชีวิตจริง

03

โฮมรูม

ทุกเช้าแทนที่จะเข้าแถวตรงยืนเคารพธงชาติ สวดมนต์ เด็กๆ และครูทุกคนจะไปรวมกันที่ห้องโถงใหญ่ของโรงเรียน เด็กๆ และครูที่ถูกเลือกจะเป็นผู้ดำเนินการประชุมโฮมรูมสลับกันไป แต่ละวันจะเริ่มด้วย “วันนี้ใครมีอะไรจะบอกจะเล่า และใครรู้สึกอะไรกันบ้าง แล้วจบด้วยการประกาศต่างๆ ของวัน เช่น ใครจะเปิดห้องเรียนอะไร แต่ละชั้นหรือกลุ่มเรียนจะทำอะไรกันบ้าง”

“เมื่อวานนี้หนูได้กระต่ายใหม่ หนูขออนุญาตเอามาเล่นที่โรงเรียน และให้เพื่อนๆ ช่วยกันตั้งชื่อให้ได้หรือเปล่า”

“พรุ่งนี้หิมะจะละลาย เราจะไปดูลำธารน้ำไหลกันในป่าและปิกนิกกันที่นั่น ใครสนใจจะไปบ้าง”

“สัปดาห์หน้ามีละครโอเปร่าจากรัสเซียมาแสดงที่หอศิลป์ในเมือง ใครสนใจจะไปบ้าง เราจะได้จองตั๋วและจองรถตู้โรงเรียนไป”

“อีริคไม่มาโรงเรียนหลายวันแล้ว เพื่อนๆ ในห้องเรียนได้ยินมาว่า พ่อเขาป่วย เราควรไปให้กำลังใจอีริคกันหรือเปล่า”

เวลาของช่วงโฮมรูม เป็นเหมือนช่วงเวลาที่ทุกคนในโรงเรียนจะได้รับรู้สารทุกข์สุขดิบของแต่ละคน ก่อนจะแยกย้ายกันไปตามจังหวะการเรียนของแต่ละคนในแต่ละวัน

Upattinas School โรงเรียนเล็กที่มีวิชาเรียนเป็นเรื่องเล่าจากประสบการณ์ชีวิตจริง

04

จังหวะการเรียน

ที่นี่วางระดับการเรียนไว้ 3 ระดับ ประถม มัธยมต้น และมัธยมปลาย ไม่มีการเรียนเป็นคาบ ไม่มีวิชาบังคับ นักเรียนคละห้อง เรียนสิ่งที่ตัวเองอยากเรียนได้ทุกระดับ หรือมาโรงเรียนแล้วไม่เข้าเรียนห้องเรียนไหนเลยก็ได้ จะเล่นสเก็ตบอร์ดทั้งวัน จะนอนนิ่งๆ ทั้งวันก็ได้ ถ้าคุณไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน เพราะที่นี่เชื่อว่า แต่ละคนมีจังหวะการเรียนรู้ของตัวเอง

05

ตรงไหนก็เกิดการเรียนรู้ได้

ที่นี่แบ่งพื้นที่เป็น 3 โซน โซนแรก คือโถงใหญ่ที่ใช้เป็นโฮมรูม เป็นอาคารทำด้วยหินโล่งๆ เป็นห้องครัว ห้องอาหาร และห้องเรียนอเนกประสงค์อีก 2 ห้อง และมีห้องใต้หลังคา

โซนที่สอง โรงยิมและห้องเรียนด้านศิลปะ ห้องถ่ายภาพอัดภาพขาวดำ ห้องดนตรี ห้องเรียนบทกวี ห้องเรียนภาษาต่างประเทศ ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ห้องพักผ่อน

โซนที่สาม นอกอาคาร สวน สนามหญ้า ลานกีฬา สเก็ตบอร์ด ที่ซ่อมจักรยาน โรงเรือนเกษตร ป่าหลังโรงเรียน

แต่ละวันเราจะเห็นทุกคนอยู่ตามที่ต่างๆ จับกลุ่มเล็ก กลุ่มใหญ่ ตามสบาย ทำกิจกรรมตามเรื่องวาระของแต่ละคน

Upattinas School โรงเรียนเล็กที่มีวิชาเรียนเป็นเรื่องเล่าจากประสบการณ์ชีวิตจริง

เด็กคนหนึ่งตั้งแต่เริ่มเข้ามาโรงเรียนนี้ เขามักจะนอนเหมือนหมดอาลัยตายอยากอยู่ที่ห้องพักผ่อนทั้งวัน ไม่เห็นไปเข้ากลุ่มเรียนใดๆ กับใคร เวลาและสถานที่เดียวที่เราจะเห็นเด็กคนนี้มีชีวิตชีวาขึ้นมา คือตอนที่เขาเล่นสเก็ตบอร์ดอยู่คนเดียว

วันหนึ่งในการประชุมครู ตัวเองถามในที่ประชุมว่า “เด็กคนนั้นไม่เรียนรู้อย่างอื่นเลยเหรอ เป็นอย่างนั้นมานานเท่าไหร่แล้ว คณะครูควรยื่นมือเข้าไปช่วยอะไรไหม” ดูเหมือนครูหลายคนไม่ได้ร้อนใจ ไม่ได้เห็นเป็นปัญหาใหญ่เหมือนเราเลย

Upattinas School โรงเรียนเล็กที่มีวิชาเรียนเป็นเรื่องเล่าจากประสบการณ์ชีวิตจริง

ครูคนหนึ่งบอกเราว่า ลองไปเล่นสเก็ตบอร์ดกับเด็กคนนั้นหรือยัง

วันรุ่งขึ้นเรากลั้นใจเดินไปหาเด็กคนนั้น แล้วถามเขาเรื่องสเก็ตบอร์ด เขามองหน้าแบบไม่ได้แยแสเราเท่าไหร่ในตอนแรก แต่พอเห็นเราสนใจจริงๆ เขายื่นสเก็ตบอร์ดมาให้ แล้วสอนให้เราลองเล่น ‘พัง’ ไม่เป็นท่าอีก เด็กหัวเราะใส่อย่างสะใจ

แต่จากความสะใจ ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นความเข้าใจ เด็กเริ่มเล่าเรื่องตัวเองให้เราฟังหลายอย่าง เริ่มมีหลายคน เข้าไปเล่นสเก็ตบอร์ดกับเรา เริ่มมีคนเอาสเก็ตบอร์ดมาให้เขาซ่อม ในที่สุดเขารู้สึกว่าเขาได้รับการยอมรับจากคนในโรงเรียน และเริ่มเปิดใจยอมรับคนอื่นๆ เราเริ่มเห็นเขาพูดอะไรบางอย่างในช่วงโฮมรูม และเห็นเขาปรากฏตัวในอีกหลายห้องเรียน

06

จงฉวยโอกาสในการเรียนรู้

เมื่อฤดูใบไม้ผลิมาถึง เด็กๆ ไม่ยอมเรียนอยู่ในห้องเรียนสักเท่าไหร่ ในวันที่หิมะละลาย ทุกคนต่างชวนกันไปเล่นในป่า ดูหิมะที่ค่อยๆ ละลายกลายเป็นสายธาร เด็กๆ ชอบไปป่าหลังโรงเรียนมาก มีกฎอยู่ไม่กี่ข้อในการเข้าไปในนั้น เรื่องแรกคือ ห้ามไปมีเพศสัมพันธ์กันในนั้น ไม่ไปคนเดียว หรือถ้าจะไปคนเดียวจริงๆ ต้องแจ้งให้ใครทราบ

ในป่ามีบ้านเล็กบ้านน้อยของเด็กๆ ประถม มีห้องเรียนศิละปะที่ไปเรียนกันในนั้น มีห้องเรียนถ่ายภาพที่ไปบันทึกภาพกันในนั้น

การซึมซับ ‘วิถี’ การเรียนของที่นี่ค่อยๆ เป็นไปช้าๆ เดือนที่ 3 อาการปวดท้องร้องไห้กลับบ้านจึงหายไป

ถึงเวลาที่เราคิดว่าตัวเองพร้อมที่จะประกาศในห้องโฮมรูมแล้วว่าจะสอนอะไรในโรงเรียนนี้กันแน่ สิ่งที่ประกาศออกไปคือ ครูฝึกสอนใหม่คนนี้ จะทำทริปให้คนที่สนใจเรื่องวัฒนธรรมไทยเดินทางไปประเทศไทย

Upattinas School โรงเรียนเล็กที่มีวิชาเรียนเป็นเรื่องเล่าจากประสบการณ์ชีวิตจริง

ก่อนที่จะไปทริปด้วยกัน เราจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย ผ่านภาษา อาหาร ศิลปะ ประเพณี

ปรากฏว่ามีเด็กและครูสนใจร่วมคลาสฉันเกือบ 30 คน และเรามาออกแบบการเรียนรู้ด้วยกันว่า ถ้าจุดหมายปลายทางของเราคือการทำทริปนี้ เราจะต้องเรียนอะไรกันอย่างไร รวมทั้งหาทุนจากที่ไหน

ห้องเรียนของวัฒนธรรมแลกเปลี่ยนไทย-อเมริกันจึงเกิดขึ้นทุกที่ ในโรงอาหาร พวกเราเรียนทำอาหารไทยด้วยกัน และทำขายเป็นอาหารกลางวันในโรงเรียน ไปวัดไทยในนิวยอร์กด้วยกัน เพื่อเรียนขนบประเพณีทางศาสนาพุทธที่นั่น พวกเราทำกิจกรรมคอนเสิร์ตรำไทย เด็กๆ เรียนรำไทย เรื่องไทยๆ กลายเป็นเรื่องฮิตติดปากของโรงเรียน เราได้ยินคำทักทายในโรงเรียนด้วยคำว่า ‘อรุณสวัสดิ์’ ตอนเช้า ‘อร่อย’ ตอนอาหารกลางวัน และ ‘นอนหลับฝันดี’ ตอนกลับบ้าน

ครูและเด็กอาจจะกำหนดเป้าหมายของการเรียนรู้ปลายทางไว้ด้วยกัน แต่จังหวะก้าวระหว่างทางเดินไปถึงนั้น เราต้องเดินไปด้วยกัน เป็นหุ้นส่วนการเรียนรู้ด้วยกัน จริงๆ เรามีปีการศึกษาที่คึกคักและสนุกกันมากมาย สุดท้าย ครูและเด็ก 14 คน หาทุนกันจนครบและได้ทำทริปมาประเทศไทยด้วยกัน 6 สัปดาห์

Upattinas School โรงเรียนเล็กที่มีวิชาเรียนเป็นเรื่องเล่าจากประสบการณ์ชีวิตจริง

06

ครูที่มีอิสระ

ครูที่ปรึกษาของฉันชื่อ จิม คอนเนอร์ เขาตัดสินใจมาสอนที่นี่เพราะแซนดี้บอกว่า เขาสะสมวันหยุดยาวได้ปีละ 2 เดือน เพื่อไปปั่นจักรยานในยุโรปอย่างที่เขาฝันไว้ ขอเพียงแค่นำประสบการณ์นั้นมาบอกเล่าให้นักเรียนฟัง

ที่นี่ครูมีอิสระเสรีในการอำนวยการเรียนการสอน โดยไม่มีอำนาจเหนือกว่าเด็ก ครูปฏิเสธคำถามข้อกังขาของเด็กไม่ได้ แต่ครูมีอิสระที่ไม่ต้องเป็นผู้ที่มีคำตอบเพียงคนเดียว

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ครูฝึกสอนมือใหม่อย่างเราไม่ปวดท้องร้องไห้กลับบ้านก็เพราะสิ่งนี้ การเป็นครูที่นี่ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้เคารพ แต่เป็นความเชื่อมั่น เชื่อใจ และศรัทธา ที่มนุษย์พึงมีให้กัน ในการให้และรับโอกาสในการเรียนรู้ ผิดพลาด แก้ไขและเติบโต

ในห้องโฮมรูมตอนเช้า เราจะเห็นได้ชัดว่าเด็กและครูมีสิทธิ์มีเสียงเท่ากันในการโหวตเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

เราต่างมีอิสระเสรีเหมือนกัน เพียงแค่ทำหน้าที่ต่างกัน

07

เมื่อฉันพร้อมสำหรับโลกใบใหญ่ขึ้น

สิ่งที่น่าสงสัยมาตลอด คือระบบการประเมิน เมื่อไม่มีการสอบและให้เกรด เราจะใช้ไม้บรรทัดไหนประเมินการเรียนรู้

วันหนึ่งมีประกาศในโฮมรูมว่า จะมีการนำเสนอผลงานของจัสมินและเทรวิส นักเรียนชั้นมัธยมปลายที่เพิ่งกลับมาจากการเดินทางด้วยรถตู้ที่วิ่งด้วยน้ำมันใช้แล้วจากร้านเคเอฟซี แมคโดนัลด์ เพื่อไปเรียนรู้ในฟาร์มออร์แกนิกทั่วอเมริกา นั่นคือโปรเจกต์ทั้งปีของสองคนนี้

ห้องนำเสนอการจบการศึกษาของทั้งสองคือห้องที่ใช้โฮมรูม ห้องโถงใหญ่ที่สุดของโรงเรียน เพราะมีทั้งครูและนักเรียนแสดงความสนใจเข้าร่วมการนำเสนอนี้เป็นจำนวนมาก จัสมินและเทรวิสนำเสนอด้วยรูปภาพขาวดำอย่างน่าสนใจ จัดเป็นนิทรรศการภาพทั่วห้อง จัสมินเป็นนักร้องด้วย เธอร้องเพลงที่แต่งจากประสบการณ์ประกอบ

ระหว่างการนำเสนอหากใครมีคำถามก็ถามได้ตลอด ทางโรงเรียนมีคณะกรรมการพิจารณาการจบการศึกษา 3 – 4 คน และคนที่เข้ามาฟังก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินการจบการศึกษาของทั้งคู่ด้วย คำถามและคำตอบที่ยังไม่เคยลืมจนถึงวันนี้คือ

“คุณทั้งสองรู้ได้อย่างไรว่า คุณควรจะจบการศึกษาจากที่นี่”

“เราพร้อมที่ออกไปสู่โลกใบใหม่นอกโรงเรียนนี้แล้ว”

ทุกคนในห้องปรบมือให้ และเข้าไปกอดทั้งสองคนเพื่อแสดงความยินดี

Upattinas School โรงเรียนเล็กที่มีวิชาเรียนเป็นเรื่องเล่าจากประสบการณ์ชีวิตจริง

08

ศูนย์ทรัพยากรอัปปาทีนาส์

อีกเรื่องที่น่าประทับใจ คือการดำเนินกิจการของโรงเรียนด้วยแรงใจและแรงทรัพยากรของโรงเรียนและชุมชนร่วมกัน แซนดี้ตระหนักว่าภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาเป็นปัญหาใหญ่ของผู้ปกครองและเด็ก การกู้ยืมทางการศึกษาเป็นปัญหาใหญ่ของคนอเมริกันมายาวนาน

โรงเรียนนี้จึงใช้วิธีสร้างสรรค์ทรัพยากรแลกเปลี่ยนกัน ทั้งด้านบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือ ผู้ปกครองเข้ามาอาสาทำงานในโรงเรียนเพื่อแลกเปลี่ยนค่าเล่าเรียนได้ ถ้าทางโรงเรียนต้องการวัสดุอุปกรณ์การเรียนใดๆ ชุมชนก็จะช่วยกันระดมทุนให้ เพื่อลดต้นทุนทางการศึกษาลงให้เหลือน้อยที่สุด และสิ่งอำนวยความสะดวกทางการศึกษาของที่นี่เปิดให้ชุมชนเข้ามาใช้ร่วมกันได้

09

ปิดฉากอัปปาทีนาส์ อาลัยรักแซนดี้ เฮิร์ส

มกราคม พ.ศ. 2563 ระหว่างที่เดินทางถ่ายทำรายการ บินสิ! อยู่ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เราได้ข่าวทางเฟซบุ๊กว่า แซนดี้ เสียชีวิตแล้ว 

แซนดี้เคยบอกเราว่า “หลักสูตรที่เราออกแบบในการฝึกสอนดีมาก แต่ให้พร้อมโยนมันทิ้งไป เพราะผู้เรียนต่างหากต้องเป็นคนออกแบบการเรียนรู้เอง ครูเป็นเหมือนโค้ชที่คอยแนะนำ ส่องทาง ผู้เรียนต้องเป็นคนที่เขียน วาด ละเลง ลองผิดลองถูกกับสิ่งที่ตัวเองเลือกจะเรียนรู้”

หากใครมีปัญหาอะไรใดๆ ในการเรียนการสอน เข้าไปพบกับแซนดี้เพื่อล่าให้เธอฟังตรงๆ ได้ และเธอก็มักมีรอยยิ้มให้เราเสมอทุกคำถาม

เรานึกถึงคำปลอบโยนของแซนดี้ที่ว่า

“เด็กๆ อยากจะรู้จักครูของเขาเหมือนเพื่อนมากกว่าคนที่คอยสั่งสอนให้ความรู้ ลองทำตัวเป็นเพื่อนกับเด็กๆ สิ แล้วจะสนุกไปด้วยกัน เรียนรู้ไปด้วยกัน ครูก็ต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็กๆ”

ได้ยินอย่างนั้น ครูมือใหม่อย่างเราก็เดินกำมือเข้าห้องไป แล้วแบไต๋ในมือออกมาเป็นลูกอมจากไทย แจกให้เด็กๆ ชิม เราทำลูกอมตกพื้น ด้วยความเป็นเด็กอเมริกัน นักเรียนก็เอาตีนคีบลูกอมส่งคืนให้เรา เราตกใจไปอีก พ่อแม่สั่งสอนว่าไม่ให้ใช้ตีนชี้ให้ผู้ใหญ่ แต่นี่เอาตีนคีบลูกอมส่งให้ครูเลยเหรอ

ยังๆๆ เรากำลังจะโกรธ แล้วก็นึกคำของแซนดี้ขึ้นมาได้

“ครูควรเป็นเพื่อนกับเด็กๆ”

Upattinas School โรงเรียนเล็กที่มีวิชาเรียนเป็นเรื่องเล่าจากประสบการณ์ชีวิตจริง

เราเลยแจกยิ้ม หยิบลูกอมจากตีนของเด็กนักเรียนที่คีบส่งมาให้ เอามาฉีกกิน เด็กๆ ก็ยิ้มตาม

วันนั้นเราชวนเด็กๆ คุยกันเรื่องประเทศไทย แทนที่จะสอนเรื่องประเทศไทย เราก็คุยกันว่า ถ้าอยากจะรู้จักประเทศไทย วัฒนธรรมไทย ควรเรียนกันอย่างไรดี

แล้วเราก็ได้หลักสูตรการเรียนของเราว่า “เราจะเรียนวิชาวัฒนธรรมแลกเปลี่ยนด้วยการเดินทางไปประเทศไทย เพราะไม่มีวิธีการเรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมประเทศไหน จะดีกว่าการเดินทางไป กิน อยู่ ในประเทศนั้นๆ”

ครูฝึกสอนหน้าใหม่คนนี้ก็เดินไปห้อง ผอ. บอกแซนดี้อย่างฮึกเหิมว่า “เราจะทำทริปพาเด็กๆ ไปประเทศไทย ในวิชาการฝึกสอนของเรา”

แซนดี้หัวเราะแล้วบอกว่า ต้องอย่างนี้สิ! ที่เรียกว่า Liberate your curriculum. หรือใช้ชีวิตให้เป็นบทเรียน

ทิ้งทุกหลักสูตรการสอน ตำรา แล้วออกไปใช้ชีวิต

หลักสูตรนี้เรียน 3 ปี แต่เราขอแซนดี้จบ 2 ปี เพราะรู้สึกว่าเราพร้อมที่จะกลับเมืองไทยมาทำโรงเรียนของเราเองแล้ว

แซนดี้บอกเราเสมอว่า อยากจะมาเยี่ยมโรงเรียนแบบที่เราจินตนาการ แต่แซนดี้จากโลกนี้ไปแล้ว โดยที่ยังไม่ได้มาเยี่ยมบ้านและโรงเรียนของเรา และวันนี้โรงเรียนอัปปาทีนาส์ปิดตัวลงไปแล้ว

เมื่อปลายปีก่อน เราเพิ่งคุยกับเพื่อนๆ ครูในอเมริกาว่า เราจะกลับไปถ่ายทำรายการ บินสิ! ที่อเมริกา แล้วจะทำสารคดีเกี่ยวกับโรงเรียนอัปปาทีนาส์และแซนดี้

แม้แซนดี้จะจากไปแล้ว เราก็ยังตั้งใจว่า วันหนึ่งเราจะต้องกลับไปเยี่ยมแซนดี้ และจะทำสารคดีบันทึกความทรงจำของแซนดี้เอาไว้

เมื่อทราบข่าวว่าแซนดี้เสียแล้วตอนที่อยู่โซล เราก็ซื้อดอกแดฟโฟดิลไปแสดงความไว้อาลัยให้กับแซนดี้ที่โบสถ์ใจกลางกรุงโซล

ดอกไม้แห่งความทรงจำหน้าห้องทำงานของแซนดี้ที่จะแบ่งบานยิ้มรับทุกคนเสมอตลอดฤดูใบไม้ผลิ

10

เอาจินตนาการของเด็กน้อยคนนั้นคืนมา!

หากจะมีโมเมนต์ไหนที่เปลี่ยนชีวิตของเราไปในระหว่างที่อยู่ที่โรงเรียนอัปปาทีนาส์ ก็จะเป็นโมเมนต์นั้นที่นักเรียนบอกว่า

“วันนี้อากาศดี ก่อนใบไม้จะร่วงหมดต้นและอากาศจะหนาวไปกว่านี้ เราไปเรียนกันในป่าหลังโรงเรียนดีกว่า”

พวกเราพากันเดินเข้าป่ากับสมุดบันทึกอารมณ์ ลมฟ้าอากาศ ขณะนั้นก็มีลมพัดวูบมา พร้อมกับใบไม้หอบใหญ่

‘ใบไม้สีม่วง’ ร่วงลงมาเต็มหน้า

ตัดภาพย้อนกลับไปห้องเรียนศิลปะ ป.5 ที่ครูบอกว่า “ใบไม้สีม่วงไม่มีจริง”

วินาทีนั้น ครูฝึกสอนมือใหม่คนนี้อยากจะกลายร่างกลับไปห้องเรียนศิลปะตอน ป.5

แล้วตะโกนบอกครูศิลปะดังๆ ว่า “เอาจินตนาการของเด็กน้อยคนนั้นคืนมา”

Upattinas School โรงเรียนเล็กที่มีวิชาเรียนเป็นเรื่องเล่าจากประสบการณ์ชีวิตจริง

Writer & Photographer

Avatar

เสาวนีย์ สังขาระ

Film Maker, Farmer, Facilitator ผู้ผลิตภาพยนตร์สารคดีอิสระ บินสิ! โปรดักส์ชั่นเฮาส์ และรายการบินสิ! ผู้ก่อตั้งและอำนวยการเรียนการสอน ที่สวนศิลป์บินสิ Films Farm School