ในยุคที่สภาวะโลกรวน ในฐานะที่เราต่างเป็นประชากรโลก หลายภาคส่วนก็ลุกขึ้นมาช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม และดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ อย่างคำนึงผลกระทบมากขึ้น ธนาคารเองก็ไม่อยู่เฉย และเข้าร่วมขบวนการรักษ์โลกนี้ด้วยเช่นกัน

เราจะไปคุยกับ พนิตศนี ตั๊นสวัสดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย เกี่ยวกับ U-Energy แพลตฟอร์มใหม่ที่ช่วยสนับสนุนด้านการเข้าถึงเงินทุนให้ผู้ใช้พลังงานในสเกลต่าง ๆ ทั้งใหญ่ระดับโรงงาน ทั้งระดับคอมเมอร์เชียล ทั้งระดับบ้านคนที่ต้องการปรับปรุงอาคารของตัวเองให้ ‘กรีน’ ยิ่งขึ้น โดยมีพาร์ตเนอร์อย่าง ESCO เข้ามาช่วยประเมินว่าจะต้องปรับปรุงอย่างไร และต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ในการดำเนินการทั้งหมด

จุดมุ่งหมายของธนาคารยูโอบี คือส่งเสริมความพยายามของภาคส่วนต่าง ๆ ในการพัฒนาด้านความยั่งยืน ซึ่งเป็นไปตามกรอบคิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของยูโอบี โดยยูโอบีถือว่าเป็นธนาคารแห่งแรกในเอเชียที่กำหนดกรอบแนวคิดในลักษณะนี้ และ U-Energy จะเป็นประโยชน์ต่อใครที่กำลังมองหาลู่ทางในการลดค่าไฟ และช่วยโลกไปพร้อม ๆ กัน

U-Energy แพลตฟอร์มจาก UOB ที่ช่วยให้คนเข้าถึงเงินทุนเพื่อเปลี่ยนอาคารให้กรีนยิ่งขึ้น

U-Energy

ปลาย พ.ศ. 2563 ธนาคารยูโอบีเปิดตัวกรอบแนวคิดที่เข้ากับยุคสมัยนี้ และเป็นไปตามแนวปฏิบัติของการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) อย่าง UOB Smart City Sustainable Finance Framework 

“อะไรที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิต การใช้พลังงานของทุกคนในโลกปัจจุบัน เราจะเข้าไปช่วยสนับสนุน” พนิตศนีให้คำจำกัดความ

“เราสนับสนุนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเลยค่ะ อย่างโซลาร์รูฟท็อป เราสนับสนุนตั้งแต่โรงงานผลิตไฟฟ้าใหญ่ ๆ ที่ทำโซลาร์ฟาร์ม ลงมาถึงโปรเจกต์คอมเมอร์เชียล และบ้านคนที่ติดโซลาร์เซลล์ประหยัดพลังงาน”

ธนาคารยูโอบีปล่อย 2 โครงการออกมา ภายใต้กรอบคิด UOB Smart City Sustainable Finance Framework โครงการแรกคือ U-Solar แพลตฟอร์มสนับสนุนระบบนิเวศของอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ครบวงจร เมื่อ พ.ศ. 2563 และโครงการล่าสุด เปิดตัวเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คือ U-Energy แพลตฟอร์มสินเชื่อเพื่อการอนุรักษ์พลังงานครบวงจร

“ตอนนี้โลกเรามีปัญหาเรื่องวิกฤตพลังงาน มีปัญหามลภาวะเพิ่มขึ้นทุกวัน อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นทุกปี ๆ หากเราไม่ทำอะไรเลย โลกจะดำเนินต่อไปได้ลำบาก เราในฐานะที่เป็นสถาบันการเงิน จึงเล็งเห็นความสำคัญถึงบทบาทของเราในการเข้าไปมีส่วนร่วมช่วยโลกด้วย”

พูดให้เข้าใจง่าย ๆ U-Energy จะช่วยอำนวยสินเชื่อให้ภาคส่วนต่าง ๆ ที่ต้องการจะปรับปรุงอาคารของตัวเองให้ ‘กรีนขึ้น’ ‘ประหยัดพลังงานมากขึ้น’ ‘ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น’

โดยเช่นเดียวกับโครงการ U-Solar U-Energy ก็สนับสนุนเรื่องเงินทุนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเช่นกัน ไม่ว่าคุณจะมีโรงงานอาหารที่ต้องใช้ไฟเยอะมาก เพราะห้องแช่เย็นต้องทำงาน 7 วัน มีโรงแรมที่อยากจะดำเนินกิจการแนวรักษ์โลก หรือเป็นเจ้าของบ้านหลังเล็ก ๆ ที่อยากจะลดค่าไฟ หากต้องการคำปรึกษาเรื่องการปรับปรุงระบบอาคาร การประเมินราคา และต้องการการสนับสนุนเรื่องเงินทุน U-Energy ช่วยได้

เริ่มต้นลงมือ

ภารกิจในขั้นแรกจะเป็นของบริษัทจัดการพลังงาน หรือที่เรียกกันว่า ESCO ที่ปรึกษาคนสำคัญ ในการเข้าไปรอบบ้าน ตรวจสอบอาคาร

“ESCO จะประเมินว่าต้องเปลี่ยนอะไรบ้าง เขาเป็นผู้ที่ชำนาญโดยตรงเกี่ยวกับด้านนี้ พอประเมินแล้วก็จะสรุปตัวเลขออกมาว่าต้องลงทุนเท่าไหร่ และต้องเตรียมเปลี่ยนแปลงหรือติดตั้งอุปกรณ์อะไรบ้าง”

ใน 1 อาคารอาจทำได้หลายอย่างเพื่อช่วยประหยัดไฟ เช่น เปลี่ยนหลอดไฟ เปลี่ยนชิลเลอร์แอร์เป็นรุ่นใหม่ ติดแผงโซลาร์เซลล์ เปลี่ยนไปใช้ลิฟต์ประหยัดไฟ ปรับปรุงเปลือกอาคาร หรือปรับปรุงระบบต่าง ๆ ในอาคาร ซึ่งถ้าเป็นบ้านคน ผู้บริหารจากยูโอบีแนะนำว่า เปลี่ยนหลังคา ติดโซลาร์ เป็นทางที่ง่ายและส่งผลกับค่าใช้จ่ายในบ้านมากที่สุด

“ไม่ต้องทุบทิ้ง สร้างตึกใหม่ แค่เปลี่ยนระบบเราก็จะประหยัดพลังงานได้เยอะแล้ว” พนิตศนียืนยัน

‘คุ้มไหม’ คือคำถามที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่ประเมินเรียบร้อยแล้วว่า อาคารควรจะต้องดำเนินการอย่างไร ESCO จะแจกแจงรายละเอียดเพื่อประกอบการตัดสินใจว่า หากเปลี่ยนในส่วนไหน ค่าไฟจะลดไปเท่าไหร่บ้าง โดยบริการปรึกษาเบื้องต้นนี้ยังไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

เมื่อตัดสินใจเรียบร้อย ก็จะถึงคราวที่ยูโอบีจะเข้าไปช่วยเรื่องการลงทุน

“เรื่องสัญญา เรามีทางเลือก 2 ทางค่ะ” เธอเริ่มเล่าถึงรูปแบบบริการการทำสัญญา

“ทางที่หนึ่ง หลังจากที่มีภาพชัดเจน อาจจะมาคุยกับธนาคารโดยตรงว่า ขอสินเชื่อเพื่อปรับปรุงเพื่อประหยัดพลังงาน ภายใต้โครงการ U-Energy ส่วนอีกทางหนึ่ง คือทาง ESCO จะเป็นผู้ประสานงานกับทางยูโอบี แล้วเราให้สินเชื่อผ่าน ESCO ทำได้ทั้งสองทาง”

ระหว่างโครงการ ESCO ที่มีบทบาทเป็นที่ปรึกษา จะคอยมาเช็กดูว่าการประหยัดค่าไฟต่าง ๆ เป็นไปตามที่ได้ประเมินไว้ล่วงหน้าหรือเปล่า ส่วนทางธนาคารก็จะคอยดูแลเรื่องความสัมพันธ์ทางด้านสินเชื่อ รวมเป็น 2 ฝ่ายที่ช่วยให้ผู้ประกอบการก้าวต่อไปอย่างมั่นใจ

U-Energy ของ UOB แพลตฟอร์มสนับสนุนการปรับอาคารให้ดีต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งประเมินอาคาร ประมาณราคา และให้สินเชื่อ

ความเหมือนที่แตกต่าง

“อาจจะมีทับซ้อนนิดหน่อย” พนิตศนีชี้แจง เมื่อเราถามว่า U-Solar ต่างกับ U-Energy อย่างไร

เธออธิบายว่า สำหรับ U-Energy เป็นการดูแลเรื่องการประหยัดพลังงานอาคารโดยรวม หากจะมีการติดแผงโซลาร์ ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ U-Energy หากแต่ U-Solar เป็นอีกโครงการที่แยกจากกัน ที่มองเรื่องการสนับสุนนเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์เป็นหลัก

“โครงการนี้เราให้สินเชื่อกับผู้ที่จะลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์ โดยพาร์ตเนอร์จะให้คำปรึกษาในเบื้องต้น ว่าถ้าเราติดตั้งในพื้นที่ที่เรามี เราต้องซื้อแผงเท่าไหร่ ติดตั้งได้ไหม แล้วถ้าติดตั้ง ผลิตไฟได้เท่าไหร่ กี่เมกะวัตต์” พันธมิตรของ U-Solar มีความรู้และประสบการณ์ด้านการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เป็นอย่างดี ดังนั้น มั่นใจได้ว่าการประหยัดไฟจะต้องเป็นไปตามแผน 

“ส่วนธนาคารก็จะประเมินว่าต้องใช้เงินเท่าไหร่ แล้วสนับสนุนด้านสินเชื่อ”

“มีเคสโรงเรียนหนึ่ง” พนิตศนีเริ่มยกตัวอย่างให้เราเห็นภาพชัดขึ้น “ปกติโรงเรียนก็ใช้ไฟเยอะใช่มั้ยคะ แทนที่จะใช้ไฟจากการไฟฟ้าภูมิภาคหรือนครหลวงเพียงอย่างเดียว เขาก็ติดแผงโซลาร์”

“หรือโรงงานพลาสติกที่ติดแผงโซลาร์ พอค่าไฟที่เดิมเป็นต้นทุนค่อนข้างเยอะลดลง ธุรกิจของเขาก็มีกำไรสุทธิมากขึ้น”

ทั้งนี้ทั้งนั้น พนิตศนีแนะนำว่าเราอาจจะไม่ต้องใช้พลังงานจากแผงโซลาร์ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ใช้เป็น ‘ส่วนใหญ่’ เพื่อช่วยเรื่องค่าไฟได้ หากแผงโซลาร์เกิดชำรุด มีปัญหา หรือต้องรอการซ่อมแซม จะได้มีไฟฟ้าสำรองไว้ใช้ได้

ข้อดีที่ไม่อาจมองข้าม

“ผู้ประกอบการโรงแรม ช่วงนี้ก็เป็นจังหวะที่น่าสนใจที่จะเข้าโครงการ U-Energy หรือ U-Solar นะคะ” ผู้บริหารให้ไอเดีย “อย่างที่เราทราบว่าจีนก็ยังปิดประเทศอยู่ หลาย ๆ ประเทศก็ยังมีปัญหาเรื่องโควิด ถือว่าเป็นช่วงก่อนเปิดการท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ”

ทางยูโอบีเข้าใจดีว่า ด้วยสถานการณ์โรคระบาด ทำให้ที่ผ่านมาธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะโรงแรม ได้รับผลกระทบเรื่องโควิด ฉะนั้นการที่ต้องลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนระบบต่าง ๆ อีกอาจจะเป็นเรื่องหนักหนา ธนาคารจึงจะเข้าไปช่วยสนับสนุนในเรื่องสินเชื่อ เพื่อที่เมื่ออัตราการเข้าพักดีขึ้น ลูกค้าตบเท้ากันเข้ามาพักมากขึ้น จะได้ประหยัดค่าไฟฟ้าในโรงแรมได้ทันท่วงที

“นอกจากการประหยัดค่าไฟ ผู้ประกอบการ เจ้าของโครงการ และเจ้าของบ้านเรือนทุกคนก็จะมีส่วนช่วยโลก” พนิตศนีพูดถึงประโยชน์ของโครงการ 

“โดยเฉพาะถ้าเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งจะมีนักลงทุนเข้ามาซื้อหุ้น เราอยากจะเสริมว่า ปัจจุบันนี้กองทุนต่าง ๆ ทั่วโลก จะมี Checkbox ขึ้นมาเพิ่มอยู่แล้ว ว่าบริษัทนี้มีการดูแลเรื่องของการประหยัดพลังงาน หรือความยั่งยืนยังไงบ้าง”

พนิตศนีบอกอีกว่า ในปัจจุบันนี้ตลาดหลักทรัพย์ไทยจะมีข้อกำหนดว่าบริษัทต่าง ๆ จะต้องมีการจัดทำรายงานด้านความยั่งยืนที่พูดถึง Environment, Social, Governance (ESG) หรือเรื่องกิจกรรมที่ส่งเสริมความยั่งยืนอยู่แล้วเป็นอย่างน้อย

ยูโอบี x ภาวะโลกร้อน

ส่วนตัวคุณพนิตศนีคิดเห็นยังไงกับการขับเคลื่อนประเด็นสิ่งแวดล้อมของทุกภาคส่วนในตอนนี้ – เราถามความเห็น

“เรามองว่าเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นมาก ที่คนทุกกลุ่ม ทุกประเทศทั่วโลก ควรที่จะให้ความสำคัญกับกิจกรรมเกี่ยวกับความยั่งยืน ทุกคนควรจะร่วมด้วยช่วยกัน และลงมือทำให้เร็วที่สุด” ผู้บริหารตอบอย่างหนักแน่น “ปีนี้ชัดเจนมากว่า ‘ความยั่งยืน’ น่าจะเป็นประเด็นหลักของผู้ประกอบการทั่วโลก และในอนาคตปีต่อ ๆ ไป ก็ยิ่งเห็นชัดเจนมากขึ้นไปอีก”

ยูโอบีทั้งไทยและต่างประเทศให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างดี และตั้งมั่นจะช่วยในส่วนที่ธนาคารทำได้ นั่นก็คือสนับสนุนด้านการเงินในโครงการที่คิดมาครบวงจรอย่าง U-Energy หรือ U-Solar ซึ่งจะพาให้ผู้คนและธุรกิจอีกมากมายได้มาร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อม

นอกไปจากนั้น พนิตศนียังพูดไปถึงอาคารสำนักงานของธนาคาร ว่าตอนที่รื้ออาคารเก่า ก็ไม่ใช่การทุบทิ้งที่สร้างฝุ่น แต่เลือกวิธีค่อย ๆ ตัดเป็นชิ้น ๆ เพื่อลดปริมาณฝุ่น และเมื่อมีการสร้างอาคารใหม่ ก็เน้นในเรื่องประหยัดพลังงานเป็นพิเศษ จนผ่านการรับรองมาตรฐานอาคารสีเขียวของ Green Mark ระดับ Platinum โดยอาคารใหม่นี้จะเปิดใช้อย่างเป็นทางการช่วงปลายปีนี้

 “เราไม่ได้มองเรื่องกลยุทธทางด้านธุรกิจของธนาคารเป็นหลัก เราอยากมีส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยเหลือสังคม เป็นแรงจูงใจและเป็นตัวช่วยหนึ่งที่ทำให้ทุกคนหันมาประหยัดพลังงานให้ได้มากที่สุด”

U-Energy ของ UOB แพลตฟอร์มสนับสนุนการปรับอาคารให้ดีต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งประเมินอาคาร ประมาณราคา และให้สินเชื่อ

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ