อีก 2 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเดินหน้าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด (ข้อมูลอ้างอิงจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) แต่ไม่ต้องแปลกใจ เพราะประเทศแถบตะวันตกเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัวตั้งแต่ปี 2560 แถมโลกเรายังมีสัดส่วนประชากรสูงวัยเกินร้อยละ 10 

แน่นอน ตามมาด้วยผลกระทบหลายมิติ เช่น ด้านเศรษฐกิจ ด้านสุขภาพ ด้านความปลอดภัย ฯลฯ เราอ่านเจอจากผลสำรวจพบว่า ‘ประเทศไทยมีผู้สูงอายุเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มปีละ 900 – 1,000 คน เฉลี่ยวันละ 2 – 3คน’  และจุดเกิดเหตุมักเป็นห้องน้ำ บันไดและเตียงนอน จนลูกหลานขอยกให้เป็นพื้นที่สีแดงสำหรับเหล่า สว. (สูงวัย) แต่ถ้ามีการออกแบบพื้นที่ให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ก็จะลดความเสี่ยงและเพิ่มสิทธิในการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะได้อย่างเท่าเทียม

ผศ. ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เราเลยนัดหมายกับ ผศ. ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหัวหน้าศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat.UDC) เพื่อชวนคนไทยทำความเข้าใจกับ Universal Design หรือการออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน คล้ายเป็นคู่มือขนาดย่อมให้ลูกหลานเตรียมความพร้อมก่อนเดินหน้าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว

หัวใจหลักของ Universal Design 

 Universal Design หรือการออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน เป็นการออกแบบที่ไม่เลือกปฏิบัติต่อใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ว่าจะมีข้อจำกัดหรือเงื่อนไขการใช้ชีวิต เพื่อส่งเสริมให้คนกลุ่มนั้นเข้าถึงการใช้งานพื้นที่หรือสิ่งอำนวยความสะดวกได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนดำรงชีวิตได้อย่างมีอิสระ ด้วยหลัก 7 ประการตามสากล ได้แก่ ออกแบบให้ทุกคนใช้งานได้อย่างเท่าเทียม มีความยืดหยุ่น ใช้งานง่าย มีการสื่อความหมายที่เข้าใจง่าย มีการออกแบบเพื่อการใช้งานที่ผิดพลาดได้ ออกแรงน้อย และมีขนาด-พื้นที่เหมาะสมต่อการเข้าถึงและใช้งานได้

ชวนคนไทยทำความเข้าใจ Universal Design ก่อนก้าวเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ อย่างสมบูรณ์
ชวนคนไทยทำความเข้าใจ Universal Design ก่อนก้าวเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ อย่างสมบูรณ์

“หลักการออกแบบที่สำคัญคือ การให้คนมีส่วนร่วมในการออกแบบ โดยเฉพาะคนที่มีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดในการใช้ชีวิต เราต้องไม่ออกแบบด้วยความรู้สึกหรือความคิดของตัวเองเป็นหลัก ผู้ออกแบบต้องทำความเข้าใจ และใช้กระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม เพื่อตอบโจทย์เงื่อนไขการใช้ชีวิตของเขาได้อย่างแท้จริง” ผศ. ดร.ชุมเขต อธิบายถึงหัวใจหลักของการออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน ก่อนจะเสริมต่อว่า “การออกแบบอย่างมีส่วนร่วมเป็นการร่วมคิด ร่วมทำด้วยกัน เขาอาจจะเสนอความคิดเห็นได้หรือไม่ได้ ขึ้นอยู่กับข้อจำกัดของแต่ละกลุ่มคน ตัวนักออกแบบต้องช่างสังเกต สังเกตพฤติกรรม สังเกตการใช้ชีวิต สังเกตข้อจำกัดของเขา ว่าสภาพแวดล้อมไปสร้างอุปสรรคการใช้ชีวิตให้เขามากน้อยแค่ไหน จากนั้นก็ออกแบบพื้นที่เพื่อลดข้อจำกัดหรือลดอุปสรรคในการใช้ชีวิตของคนกลุ่มนั้น”

วัดก็ต้องการ Universal Design 

ชายเบื้องหน้าเล่าตัวอย่างของการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมให้เราฟังว่า เขาเคยลงพื้นที่ไปยังวัดคลองหนึ่ง (แก้วนิมิต) เทศบาลนครรังสิต เพื่อสำรวจปัญหาการใช้งาน ใครจะไปคิดว่าวัดก็มีปัญหาด้าน Universal Design เหมือนกัน

เพราะวัดเป็นศูนย์กลางการทำกิจกรรมร่วมกันของคนทุกกลุ่ม ตั้งแต่ผู้สูงอายุ คนพิการ และเด็ก จากการสำรวจด้วยสายตาเขาเห็นว่าวัดไม่มีทางลาดสำหรับขึ้นโบสถ์และศาลาการเปรียญ แล้วจำเป็นขนาดไหนถ้าจะต้องมี จนกระทั่ง

ผศ. ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“มีผู้สูงอายุท่านหนึ่งเคยมาวัดทุกอาทิตย์ วันหนึ่งป่วยเลยต้องนั่งวีลแชร์ ร่างกายหายแล้วแต่เดินไม่สะดวก กลายเป็นว่ามาวัดไม่ได้แล้ว ยิ่งเฉาเข้าไปอีก พอใจไม่สดใสกายก็ป่วยตามไปด้วย พอได้โจทย์มาเราเห็นแล้วว่า ปัญหามาจากการเข้าไปถามคนที่เขามีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้สูงอายุบางคนบอกว่า ‘แค่เขาเดินไม่สะดวกหรือเขาต้องนั่งวีลแชร์ ทำไมเขาเข้าโบสถ์ไม่ได้’ หรือ ‘ลูกหลานจะบวชก็เข้าไปทำกิจกรรมทางศาสนาด้วยได้เลย เพียงแค่เขานั่งวีลแชร์หรอ’ มันเป็นเสียงสะท้อนที่ทำให้เราเห็นว่าจุดไหนสำคัญในการปรับและเปลี่ยน เพื่อให้เกิดการใช้งานได้จริงของคนกลุ่มคนที่มีเงื่อนไข”

“แล้วทุกสถานที่ต้องการ Universal Design หรือเปล่า” เราถาม

ถ้ามองว่าเราเกิดมาบนโลกใบนี้แแล้วมีความเป็นคนเท่าๆ กัน ไม่ควรมีสถานที่ไหนไปขีดเส้นแบ่งว่าคนประเภทนี้ห้ามเข้า คนประเภทนั้นห้ามเข้า ถ้าพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่สาธารณะที่คนทุกคนเข้าถึงได้ ก็จำเป็นต้องใช้ Universal Design เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงพื้นที่นั้น โดยต้องไม่แยกใครออกจากสังคม” ผศ. ดร.ชุมเขต ตอบกลับทันที

ผศ. ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Universal Design ไม่ได้ออกแบบเพื่อคนพิการกลุ่มที่ 8 

“ป้ายสัญลักษณ์สำคัญมากนะครับ”

บ้างก็ว่าป้ายสัญลักษณ์เป็นส่วนหนึ่งของ Universal Design ต้องออกแบบอย่างไม่เลือกปฏิบัติ บ้างก็ว่าถ้ามีสัญลักษณ์คนพิการทั้งบนพื้นและป้ายแนวตั้งตามกฎหมายคนพิการ แสดงว่าใครจอดรถตรงนั้นต้องพิการแน่นอน เป็นการตีตราคล้ายกับเก้าอี้นั่งสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุตามสนามบิน เป็นการบอกว่าใครไปนั่งตรงนั้นไม่พิการก็สูงอายุ

ชวนคนไทยทำความเข้าใจ Universal Design ก่อนก้าวเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ อย่างสมบูรณ์

  “เราต้องย้อนกลับมาทำความเข้าใจว่าทำไมกฏหมายถึงบังคับ กฎหมายของเราไม่ได้เป็นกฎหมายเพื่อ  Universal Design แต่เป็นฐานเพื่อให้คนพิการได้รับสิทธิและสวัสดิการที่เขาพึงได้รับ เพื่อสร้างแต้มต่อให้เกิดการเท่าเทียมในการใช้พื้นที่ คนพิการในไทยมี 7 ประเภท ตามกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ถ้าเราไม่มีป้ายสัญลักษณ์ บางทีเราจะเจอคนพิการประเภทที่ 8 คนพิการทางใจ ใจพิการไปจอดทับที่คนพิการ มันเป็นการบอกว่าถ้าคุณไม่พิการ คุณก็เดินสักนิด แต่คนพิการเขาเดินลำบากกว่ามาก ก็ต้องให้ที่จอดรถที่ใกล้กับตัวอาคารมากที่สุดแก่เขา” 

Universal Design กับความเชื่อของคนสูงวัย

ด้วยความเชื่อด้านสังคมและวัฒนธรรมของคนไทยก็กลายเป็นข้อจำกัดของ Universal Design เหมือนกัน อย่างแนวคิดการออกแบบการช่วยเหลือกรณีฉุกเฉินในบ้านผู้สูงอายุหรือคนพิการ ถ้าว่าตามตำราของชาติตะวันตกตำแหน่งประตูรั้วกับประตูบ้านต้องตรงกัน เพื่อความสะดวกในการเข้า-ออกและช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉินอย่างทันท่วงที

แต่! ความเชื่อของบ้านเราถ้าประตูรั้วตรงกับประตูบ้านจะผิดหลักฮวงจุ้ย หรือบางบ้านเสนอให้ผู้สูงอายุมานอนชั้นล่างของบ้าน เพื่อไม่ต้องเดินขึ้น-ลงบันได เพราะเป็นการทำลายข้อเข่าและเท้า ยิ่งเดินลงยิ่งเป็นการทำให้กระดูกกับผิวหนังกระแทกบนแผ่นไม้กระดานหรือแผ่นปูน กลายเป็นว่ากระดูกถูกบดไปเรื่อยๆ แต่ผู้สูงอายุก็แย้งว่าชั้นล่างเป็นชั้นของคนใช้

“สถาปนิกหรือนักออกแบบยิ่งต้องทำความเข้าใจ ถ้าเขาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ขัดต่อความเชื่อเขา ต่อให้ใช้งานได้ดี ใช้งานได้สะดวก แต่ถ้าขัดใจคนอยู่ก็ทำให้เขาอยู่บ้านอย่างไม่มีความสุข เราเลยต้องหาวิธีแก้ อย่างประตูบ้านกับรั้วอาจจะเหลื่อมกันบ้าง เลี้ยวสักครั้งได้แต่ไม่ลำบาก หากฉุกเฉินก็ทะลุสนามหญ้าออกไปได้เลย

“ของบางอย่างไปเปลี่ยนกะทันหันแล้วมีผลต่อใจ Universal Design เลยต้องเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์ เข้าใจบริบทของวัฒนธรรม ตลอดจนเข้าใจเงื่อนไขและข้อจำกัดของแต่ละคน” ผู้เชี่ยวชาญบอกเราด้วยความเข้าใจ 

ผศ. ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บ้านผู้สูงอายุฉบับ Universal Design

 ‘ประเทศไทยมีผู้สูงอายุเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มปีละ 900 – 1,000 คน เฉลี่ยวันละ 2 – 3คน’  และจุดเกิดเหตุมักเป็นห้องน้ำ บันได และเตียงนอน จนลูกหลานขอยกให้เป็นพื้นที่สีแดงสำหรับเหล่า สว. (สูงวัย) ฉะนั้น ต้องลงมือปรับห้องน้ำก่อน ขั้นแรกห้องน้ำต้องไม่ธรณีประตู พื้นที่ภายในไม่ลื่น มีที่ว่างเพียงพอสำหรับติดตั้งราวจับ ถ้าพื้นที่ติดตั้งแคบเกินไป เวลาลื่นล้มศรีษะอาจฟาดกับสุขภัณฑ์ได้ ส่วนโถชักโครกต้องเป็นแบบนั่งราบ มีราวจับตัวแอลข้างผนังให้ลุกยืนสะดวก ก๊อกน้ำควรเป็นแบบแกนผลัก ติดตั้งปุ่มสัญญาณขอความช่วยเหลือ และประตูห้องน้ำต้องเป็นบานเปิดออก

ส่วนจุดเสี่ยงลำดับสองคือ ‘บันได’ ผศ. ดร.ชุมเขต แนะว่าไม่ให้ปรับ เพราะการปรับบันไดเท่ากับการแก้โครงสร้าง ถ้านำเงินแก้โครงสร้างเพื่อเปลี่ยนบันไดมาทำห้องนอนชั้นล่างให้น่าอยู่จะเหมาะกว่า ในห้องนอนก็ควรมีการระบายอากาศและแสงสว่างเหมาะสม ถ้าเป็นไปได้ควรออกแบบบ้านแบบไม่มีการเปลี่ยนระดับ หากมีการเปลี่ยนระดับอาจใช้ทางลาดเข้าช่วย เพื่อสะดวกเวลาเข็นวีลแชร์ภายในบ้าน การใช้ Universal Design ออกแบบบ้านและพื้นที่สำหรับผู้สูงอายุ นอกจากอำนวยความสะดวกให้บรรดา สว. แล้ว ยังช่วยลดความเครียดและผ่อนแรงให้กับคนดูแลผู้สูงอายุด้วย 

จากการสำรวจของ ผศ. ดร.ชุมเขต พบว่าคนที่เครียดที่สุดไม่ใช่ผู้สูงอายุหรือคนพิการ แต่เป็นคนดูแลผู้สูงอายุและคนพิการต่างหาก ดูแลดีเขาก็ว่าหวังมรดก ดูแลไม่ดีเขาก็ว่าอกตัญญู” ชายตรงหน้าพูดเจือเสียงหัวเราะ

ผศ. ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Universal Design สู่ Universal Design Center

จากคณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคม (E6) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ 5 มหาวิทยาลัยผู้เชี่ยวชาญการออกแบบ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดตั้ง Universal Design Center หรือศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน ด้วยจุดประสงค์ลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้คนพิการและผู้สูงอายุมีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ด้วยการสื่อสารความรู้เรื่อง Universal Design ให้ประชาชนประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมกับบริบทและพื้นที่ 

ภายในศูนย์นอกจากให้ความรู้และคำปรึกษา ยังมีห้องตัวอย่างและอุปกรณ์ช่วยเฉพาะบุคคล (Assistive Devices) วางให้เห็นภาพ พอเห็นภาพก็ปรับใช้งานได้อย่างสะดวกและเข้าใจ หรือบางหน่วยงานมีสถาปนิกอยู่แล้วแต่ไม่ถนัดด้านออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน ทาง Universal Design Center ก็พร้อมช่วยเหลือ แม้แต่จัดอบรมก็ยินดี

ชวนคนไทยทำความเข้าใจ Universal Design ก่อนก้าวเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ อย่างสมบูรณ์

อนาคต Universal Design ในประเทศไทย

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คนพิการเริ่มออกมาใช้ชีวิตในสังคมมากขึ้น เริ่มกล้าแสดงตัวว่าเขาเหล่านั้นดำรงชีวิตได้ถ้ามีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิต ประเทศไทยเคยมองว่าถ้าบ้านไหนมีลูกพิการหรือคนสูงอายุ จะโทษว่าเป็นบาป ชาติก่อนต้องทำกรรมไว้ ปัจจุบันมุมมองต่อคนพิการและผู้สูงอายุดีขึ้น เป็นผลให้ Universal Design เปลี่ยนแปลงสังคมได้

ผศ. ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

  ด้วยการช่วยกันคิดหาวิธีอยู่ร่วมกันในพื้นที่สาธารณะอย่างปกติ มีความสุขและปลอดภัยที่สุด อย่างญี่ปุ่นเขาให้คนพิการและผู้สูงอายุไปทัศนศึกษากับนักเรียนอนุบาล เพื่อให้เห็นว่าเป็นเรื่องทั่วไปและธรรมดามากที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน

“เรามองว่าสิ่งที่ควรขับเคลื่อนคือการเข้าใจ Universal Design เน้นการปรับเปลี่ยนวิธีคิดและทัศนคติ อยากให้มีการพูดเรื่อง Universal Design ตั้งแต่ในหนังสือเรียน หรือเป็นกิจกรรมที่คุณครูสร้างเพื่อปรับทัศนคติหรือส่งเสริมให้เยาวชนรู้ว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่พวกเขาต้องทำ จัดการเรียนอย่างไรก็ได้ให้เข้าใจว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมามีความเสมอภาค มีความเท่าเทียม ไม่ว่าคุณจะทำอะไรต้องไม่เลือกปฏิบัติเพียงเพราะความแตกต่างในเงื่อนไขการใช้ชีวิตของแต่ละคน”

ชวนคนไทยทำความเข้าใจ Universal Design ก่อนก้าวเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ อย่างสมบูรณ์

ศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน (Universal Design Center) ร่วมกับ 5 มหาวิทยาลัย

ศูนย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เบอร์โทรศัพท์ 084-554-9301, [email protected] 

ศูนย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เบอร์โทรศัพท์ 087-557-0590, [email protected]

ศูนย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เบอร์โทรศัพท์ 098-696-2245, [email protected]

ศูนย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เบอร์โทรศัพท์ 098-174- 0078, [email protected]

ศูนย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เบอร์โทรศัพท์ 075-201-769, [email protected]

ขอบคุณสถานที่ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ