ภาพ : Mohawk Nation News

เวลาเราพูดถึงประชาธิปไตยหรือพูดถึงสหพันธรัฐ เรามักจะคุ้นเคยกับข้อถกเถียงว่า มัน ‘ไม่เหมาะกับวัฒนธรรมตะวันออก’ เพราะเป็นการนำเข้าจากแนวคิดเสรีนิยมตะวันตกอย่างอเมริกาหรือจากการปฏิวัติฝรั่งเศส แต่เรากลับไม่เคยเถียงเมื่อมีคนมาหยิบยื่น ‘ช็อกโกแลต’ ให้

แม้ว่าทั้งสองสิ่งนี้จะมาจากวัฒนธรรมเดียวกันก็ตาม

  สิ่งที่คนทั่วไปมักจะคาดไม่ถึงก็คือ เบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin) จากคณะปฏิวัติของสหรัฐอเมริกา เป็นผู้นำเสนอในสภา (ค.ศ. 1754) ให้ทดลองสร้าง ‘สหพันธรัฐ’ ตามแบบ Iroquois Confederation ของชนพื้นเมืองอเมริกัน นอกจากนี้แล้ว เขายังเป็นพ่อค้าขายช็อกโกแลตที่เขาได้รับมาจากชนพื้นเมืองอเมริกันในโรงพิมพ์ของเขาอีกด้วย

เราสามารถมองคนชนพื้นเมืองอเมริกันได้ว่าเป็นคนเอเชียตะวันออกกลุ่มหนึ่ง

หากใครเคยซื้อเครื่องตรวจยีนส์ของ 23andMe มาลองใช้ จะพบว่าเขาจำแนก ‘คนเอเชีย’ อยู่ในหมวดเดียวกับ ‘ชนพื้นเมืองอเมริกัน’ (อินเดียนแดง) ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา งานวิจัยวิทยาศาสตร์สายจีโนมิกส์ (Genomics) ได้ค้นพบว่า จริงๆ แล้วคนพื้นเมืองอเมริกันมีลักษณะยีนส์แบบคนเอเชีย ทำให้มุมมองประวัติศาสตร์ในเรื่องต่างๆ อาจต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

ประชาธิปไตย, สหพันธรัฐ, อินเดียนแดง, นโยบายเมือง
แผนที่การอพยพของคนเอเชียตะวันออกเข้ามาสู่อเมริกา

แม้ว่าคณะปลดแอกของอเมริกาจะมีแรงบันดาลใจมาจากกรีกโบราณว่าด้วยเรื่องประชาธิปไตย แต่บันทึกต่างๆ ของ เบนจามิน แฟรงคลิน ทำให้เรามองเห็นอีกกรอบคิดกลุ่มคณะปฏิวัติ

  บันทึกของ เบนจามิน แฟรงคลิน แสดงให้เห็นว่า แนวคิดของการก่อร่างสหพันธรัฐอเมริกา ที่แต่ละรัฐมีอิสรภาพเป็นของตนเองนั้น ได้รับอิทธิพลโดยตรงมาจากรัฐธรรมนูญของชาว Iroquois ที่มีชื่อว่า กฎแห่งสันติภาพ (Law of Peace) ซึ่งเกิดขึ้นมาในช่วงก่อตั้งสหพันธรัฐของพวกเขาในช่วง ค.ศ. 1000 – 1450

เบนจามิน แฟรงคลิน ได้ตีพิมพ์แนวคิดสหพันธรัฐ โดยอ้างอิงตัวอย่างสุนทรพจน์ผู้นำ Iroquois ว่า “ธนูดอกเดียวถูกหักได้ง่าย แต่หากนำธนูมารวมกันเป็นสหภาพ เราจะไม่สามารถหักธนูได้”

  ใน ค.ศ. 1776 คณะปลดแอกจากราชอาณาจักรอังกฤษ นำโดย เบนจามิน แฟรงคลิน ได้เชิญคณะผู้นำของ Iroquois มาแนะนำในคณะผู้ก่อการของเขาในการร่างรัฐธรรมนูญ หากเราลองไปอ่านประวัติของ เบนจามิน แฟรงคลิน อย่างละเอียด เราจะพบว่าเขาเข้าไปคลุกคลีกับกลุ่มสหพันธรัฐพื้นเมืองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเขาเป็นนักเขียนและมีโรงพิมพ์เป็นของตนเอง เขามักจะตีพิมพ์แนวคิดและระบบการจัดการเมืองของชาว Iroquois เป็นประจำ

  ห้วงเวลาได้พลิกผ่านไปกว่า 200 ปี หลังจาก เบนจามิน แฟรงคลิน ขายช็อกโกแลตชิ้นสุดท้ายในโรงพิมพ์ของเขา และในที่สุดรัฐสภาของสหรัฐอเมริกา (ค.ศ. 1988 ) ได้ผ่านร่างยืนยันว่า รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดประชาธิปไตยของ Iroquois อย่างเป็นทางการ

ประชาธิปไตย, สหพันธรัฐ, อินเดียนแดง, นโยบายเมือง
ประชาธิปไตย, สหพันธรัฐ, อินเดียนแดง, นโยบายเมือง

  มีข้อถกเถียงว่าภายในสหพันธรัฐของชาว Iroquois เอง ก็ใช่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยแบบสมัยใหม่ นักวิชาการด้านรัฐธรรมนูญอเมริกันแย้งว่า เนื่องจากหัวหน้าเผ่ามักจะถูกคัดเลือกขึ้นมาโดยกลุ่มผู้นำหญิงอาวุโสของเผ่า (ตรงข้ามกับประชาธิปไตยของกรีกโบราณ ที่ผู้นำถูกคัดเลือกขึ้นมาโดยกลุ่มผู้นำชายอาวุโส) โดยทั้งสองรูปแบบนี้ ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งแบบสมัยใหม่

  โธมัส เพน (Thomas Paine) ผู้ช่วยของ เบนจามิน แฟรงคลิน เล่าว่า แม้ว่าสังคมโดยรวมของชาวพื้นเมืองที่เขาพบเห็นจะดูไม่ขาดแคลนทรัพยากรเหมือนในกรุงลอนดอน แต่เมื่อผู้ชายกลับมาจากเวรล่าสัตว์ ของทุกอย่างที่เขาได้กลับมาจะต้องกลายสภาพเป็นของภรรยาทันที เมื่อเขากลับถึงบ้าน

โธมัส เพน คลุกคลีกับสหพันธรัฐพื้นเมืองจนเขาเองกลายเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนสิทธิสตรีรุ่นแรกๆ ในอเมริกา

กลุ่มผู้นำเผ่าลงมติเลือกนโยบายต่างๆ ของสหพันธรัฐได้ ซึ่งครอบคลุมเรื่องการทำประชามตินโยบายย่อยๆ ที่เกี่ยวข้องกับชุมชนเมืองและเรื่องปากท้องทั่วไป เช่น จะต้องมีการโหวตว่าจะปลูกอะไรปีนี้ และสร้างบ้านเพิ่มขึ้นกี่หลัง จะวางโซนพื้นที่ล่าสัตว์กันอย่างไร

แต่ข้อเสียของประชาธิปไตยแบบชาว Iroquois คือการโหวตนโยบายต่างๆ โดยกลุ่มผู้นำมักต้องเป็นแบบเอกฉันท์ ดังนั้นแนวคิดที่แปลกใหม่ แนวคิดที่แหวกแนวอาจถูกตีตกได้ง่าย ต่างกับประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกาในยุคปัจจุบันที่เอื้อให้แนวคิดใหม่ๆ ผ่านออกมาทดลองใช้ได้ (แม้จะชนะโหวตเพียงเล็กน้อยก็ตาม) ยกตัวอย่างเช่น การโหวตข้อตกลงเรื่อง Genetic Engineering ที่เกิดขึ้นใน ค.ศ. 1975 ที่ The Asilomar Conference ในเมือง Monterey

ประชาธิปไตย, สหพันธรัฐ, อินเดียนแดง, นโยบายเมือง
The Asilomar Conference โหวตกำหนดข้อตกลงเรื่องวิศวกรรม DNA (ค.ศ. 1975)
ประชาธิปไตย, สหพันธรัฐ, อินเดียนแดง, นโยบายเมือง
ภาพการประชุมโหวตแบบเอกฉันของ Iroquois ในบ้าน Longhouse

ลักษณะสถาปัตยกรรมของชาว Iroquois เรียกว่า ‘บ้านยาว’ (Longhouse) มีลักษณะทางโครงสร้างคล้ายโกดังของ NASA โดยจะมีปล่องให้ควันไฟออกทางหลังคา แต่ละชุมชนอยู่อาศัยกันเป็นกลุ่ม ภายในรั้วรูปวงกลม โดยมีความยาวประมาณ 18 เมตร กว้าง 5 เมตร สูง 4.5 เมตร

ประชาธิปไตย, สหพันธรัฐ, อินเดียนแดง, นโยบายเมือง

ภายในบ้านจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม หลายครอบครัว โดยมีเตียงสองชั้นวางเรียงกันเป็นแนวยาวตลอดบ้าน สำหรับการประชุมโหวตนโยบายนั้น พวกเขาจะใช้บ้านยาวที่ตั้งอยู่ใจกลางของชุมชนเป็นที่ประชุม

  สหพันธรัฐของ Iroquois เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในรูปแบบประชาธิปไตย (หญิงเป็นใหญ่) ที่มีอิทธิพลสำคัญของโลกแห่งหนึ่ง มีอาณาเขตที่ใหญ่กว่ากรีกโบราณและไทยในปัจจุบัน

แต่อิทธิพลที่สำคัญของ Iroquois คือแนวคิดสหพันธรัฐที่คณะปฏิวัติของอเมริกานำไปใช้ และการร่างรัฐธรรมนูญในเวลาต่อมา (ค.ศ. 1787) แม้ว่าสองสิ่งนี้จะมีอิทธิพลอย่างมากต่อโลกสมัยใหม่ แต่น้อยคนที่จะรู้ความเป็นมาของแนวคิดเหล่านี้

ประชาธิปไตย, สหพันธรัฐ, อินเดียนแดง, นโยบายเมือง
ภาพอาณาเขตของสหพันธรัฐ Iroquois เทียบกับประเทศไทย

  การโหวตเลือก ‘นโยบายเมือง’ ในรูปแบบที่คล้ายกับของ Iroquois นั้นยังใช้อยู่ในสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันในทุกรัฐ

  การเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันที่ผ่านมา ผมจำได้ว่าต้องใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมงในการโหวต เพราะการเลือกตั้งที่นี่มีให้เลือกนโยบายเมืองกว่า 14 เรื่อง ที่ต้องกลับไปทำความเข้าใจให้ดีก่อน เช่น

  จะจำแนกให้แอปพลิเคชันอย่าง Uber และคนขับเป็นผู้รับจ้างอิสระแทนพนักงานไหม (สำหรับในแคลิฟอร์เนีย)

  หรือจะให้มีการออกพันธบัตรสำหรับการวิจัยสเต็มเซลล์ไหม โดยจะให้มูลค่าเป็นเงิน $5.5 Billion

  หรือ ควรเก็บภาษี Commercial Property Tax เพิ่มขึ้น เพื่อสนับสนุนโรงเรียนสาธารณะไหม

  หรือ ในระดับเมืองควรอนุญาตให้มี Mix-use Development ในย่านนั้นไหม 

ฯลฯ

 พลเมืองในที่นี้ (ทุกคน) กลายเป็นนักออกแบบเมืองโดยอัตโนมัติ (แต่ต้องใช้เวลาคิดนานหน่อย เวลาเลือกตั้ง)

สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมประชาธิปไตยดั้งเดิมของชนพื้นเมืองอเมริกัน หรือร้านช็อกโกแลตของ Ben Franklin จริงๆ แล้วมันเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมดั้งเดิมของ ‘คนตะวันออก’ ที่แยกออกจากกันไม่ได้ง่ายนัก

ประชาธิปไตย, สหพันธรัฐ, อินเดียนแดง
Ben Franklin วัยหนุ่มในโรงพิมพ์ของเขา

ภาพ : PBS

ข้อมูลอ้างอิง 

Writer

Avatar

ยรรยง บุญ-หลง

จบการศึกษาจาก University of California, Berkeley เป็นสมาชิกสมาคมสถาปนิกอเมริกัน ปัจจุบันทำงานเป็นสถาปนิกออกแบบโรงเรียนสาธารณะในย่าน Silicon Valley