
เวลาเราพูดถึงประชาธิปไตยหรือพูดถึงสหพันธรัฐ เรามักจะคุ้นเคยกับข้อถกเถียงว่า มัน ‘ไม่เหมาะกับวัฒนธรรมตะวันออก’ เพราะเป็นการนำเข้าจากแนวคิดเสรีนิยมตะวันตกอย่างอเมริกาหรือจากการปฏิวัติฝรั่งเศส แต่เรากลับไม่เคยเถียงเมื่อมีคนมาหยิบยื่น ‘ช็อกโกแลต’ ให้
แม้ว่าทั้งสองสิ่งนี้จะมาจากวัฒนธรรมเดียวกันก็ตาม
สิ่งที่คนทั่วไปมักจะคาดไม่ถึงก็คือ เบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin) จากคณะปฏิวัติของสหรัฐอเมริกา เป็นผู้นำเสนอในสภา (ค.ศ. 1754) ให้ทดลองสร้าง ‘สหพันธรัฐ’ ตามแบบ Iroquois Confederation ของชนพื้นเมืองอเมริกัน นอกจากนี้แล้ว เขายังเป็นพ่อค้าขายช็อกโกแลตที่เขาได้รับมาจากชนพื้นเมืองอเมริกันในโรงพิมพ์ของเขาอีกด้วย
เราสามารถมองคนชนพื้นเมืองอเมริกันได้ว่าเป็นคนเอเชียตะวันออกกลุ่มหนึ่ง
หากใครเคยซื้อเครื่องตรวจยีนส์ของ 23andMe มาลองใช้ จะพบว่าเขาจำแนก ‘คนเอเชีย’ อยู่ในหมวดเดียวกับ ‘ชนพื้นเมืองอเมริกัน’ (อินเดียนแดง) ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา งานวิจัยวิทยาศาสตร์สายจีโนมิกส์ (Genomics) ได้ค้นพบว่า จริงๆ แล้วคนพื้นเมืองอเมริกันมีลักษณะยีนส์แบบคนเอเชีย ทำให้มุมมองประวัติศาสตร์ในเรื่องต่างๆ อาจต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

แม้ว่าคณะปลดแอกของอเมริกาจะมีแรงบันดาลใจมาจากกรีกโบราณว่าด้วยเรื่องประชาธิปไตย แต่บันทึกต่างๆ ของ เบนจามิน แฟรงคลิน ทำให้เรามองเห็นอีกกรอบคิดกลุ่มคณะปฏิวัติ
บันทึกของ เบนจามิน แฟรงคลิน แสดงให้เห็นว่า แนวคิดของการก่อร่างสหพันธรัฐอเมริกา ที่แต่ละรัฐมีอิสรภาพเป็นของตนเองนั้น ได้รับอิทธิพลโดยตรงมาจากรัฐธรรมนูญของชาว Iroquois ที่มีชื่อว่า กฎแห่งสันติภาพ (Law of Peace) ซึ่งเกิดขึ้นมาในช่วงก่อตั้งสหพันธรัฐของพวกเขาในช่วง ค.ศ. 1000 – 1450
เบนจามิน แฟรงคลิน ได้ตีพิมพ์แนวคิดสหพันธรัฐ โดยอ้างอิงตัวอย่างสุนทรพจน์ผู้นำ Iroquois ว่า “ธนูดอกเดียวถูกหักได้ง่าย แต่หากนำธนูมารวมกันเป็นสหภาพ เราจะไม่สามารถหักธนูได้”
ใน ค.ศ. 1776 คณะปลดแอกจากราชอาณาจักรอังกฤษ นำโดย เบนจามิน แฟรงคลิน ได้เชิญคณะผู้นำของ Iroquois มาแนะนำในคณะผู้ก่อการของเขาในการร่างรัฐธรรมนูญ หากเราลองไปอ่านประวัติของ เบนจามิน แฟรงคลิน อย่างละเอียด เราจะพบว่าเขาเข้าไปคลุกคลีกับกลุ่มสหพันธรัฐพื้นเมืองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเขาเป็นนักเขียนและมีโรงพิมพ์เป็นของตนเอง เขามักจะตีพิมพ์แนวคิดและระบบการจัดการเมืองของชาว Iroquois เป็นประจำ
ห้วงเวลาได้พลิกผ่านไปกว่า 200 ปี หลังจาก เบนจามิน แฟรงคลิน ขายช็อกโกแลตชิ้นสุดท้ายในโรงพิมพ์ของเขา และในที่สุดรัฐสภาของสหรัฐอเมริกา (ค.ศ. 1988 ) ได้ผ่านร่างยืนยันว่า รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดประชาธิปไตยของ Iroquois อย่างเป็นทางการ


มีข้อถกเถียงว่าภายในสหพันธรัฐของชาว Iroquois เอง ก็ใช่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยแบบสมัยใหม่ นักวิชาการด้านรัฐธรรมนูญอเมริกันแย้งว่า เนื่องจากหัวหน้าเผ่ามักจะถูกคัดเลือกขึ้นมาโดยกลุ่มผู้นำหญิงอาวุโสของเผ่า (ตรงข้ามกับประชาธิปไตยของกรีกโบราณ ที่ผู้นำถูกคัดเลือกขึ้นมาโดยกลุ่มผู้นำชายอาวุโส) โดยทั้งสองรูปแบบนี้ ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งแบบสมัยใหม่
โธมัส เพน (Thomas Paine) ผู้ช่วยของ เบนจามิน แฟรงคลิน เล่าว่า แม้ว่าสังคมโดยรวมของชาวพื้นเมืองที่เขาพบเห็นจะดูไม่ขาดแคลนทรัพยากรเหมือนในกรุงลอนดอน แต่เมื่อผู้ชายกลับมาจากเวรล่าสัตว์ ของทุกอย่างที่เขาได้กลับมาจะต้องกลายสภาพเป็นของภรรยาทันที เมื่อเขากลับถึงบ้าน
โธมัส เพน คลุกคลีกับสหพันธรัฐพื้นเมืองจนเขาเองกลายเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนสิทธิสตรีรุ่นแรกๆ ในอเมริกา
กลุ่มผู้นำเผ่าลงมติเลือกนโยบายต่างๆ ของสหพันธรัฐได้ ซึ่งครอบคลุมเรื่องการทำประชามตินโยบายย่อยๆ ที่เกี่ยวข้องกับชุมชนเมืองและเรื่องปากท้องทั่วไป เช่น จะต้องมีการโหวตว่าจะปลูกอะไรปีนี้ และสร้างบ้านเพิ่มขึ้นกี่หลัง จะวางโซนพื้นที่ล่าสัตว์กันอย่างไร
แต่ข้อเสียของประชาธิปไตยแบบชาว Iroquois คือการโหวตนโยบายต่างๆ โดยกลุ่มผู้นำมักต้องเป็นแบบเอกฉันท์ ดังนั้นแนวคิดที่แปลกใหม่ แนวคิดที่แหวกแนวอาจถูกตีตกได้ง่าย ต่างกับประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกาในยุคปัจจุบันที่เอื้อให้แนวคิดใหม่ๆ ผ่านออกมาทดลองใช้ได้ (แม้จะชนะโหวตเพียงเล็กน้อยก็ตาม) ยกตัวอย่างเช่น การโหวตข้อตกลงเรื่อง Genetic Engineering ที่เกิดขึ้นใน ค.ศ. 1975 ที่ The Asilomar Conference ในเมือง Monterey


ลักษณะสถาปัตยกรรมของชาว Iroquois เรียกว่า ‘บ้านยาว’ (Longhouse) มีลักษณะทางโครงสร้างคล้ายโกดังของ NASA โดยจะมีปล่องให้ควันไฟออกทางหลังคา แต่ละชุมชนอยู่อาศัยกันเป็นกลุ่ม ภายในรั้วรูปวงกลม โดยมีความยาวประมาณ 18 เมตร กว้าง 5 เมตร สูง 4.5 เมตร

ภายในบ้านจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม หลายครอบครัว โดยมีเตียงสองชั้นวางเรียงกันเป็นแนวยาวตลอดบ้าน สำหรับการประชุมโหวตนโยบายนั้น พวกเขาจะใช้บ้านยาวที่ตั้งอยู่ใจกลางของชุมชนเป็นที่ประชุม
สหพันธรัฐของ Iroquois เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในรูปแบบประชาธิปไตย (หญิงเป็นใหญ่) ที่มีอิทธิพลสำคัญของโลกแห่งหนึ่ง มีอาณาเขตที่ใหญ่กว่ากรีกโบราณและไทยในปัจจุบัน
แต่อิทธิพลที่สำคัญของ Iroquois คือแนวคิดสหพันธรัฐที่คณะปฏิวัติของอเมริกานำไปใช้ และการร่างรัฐธรรมนูญในเวลาต่อมา (ค.ศ. 1787) แม้ว่าสองสิ่งนี้จะมีอิทธิพลอย่างมากต่อโลกสมัยใหม่ แต่น้อยคนที่จะรู้ความเป็นมาของแนวคิดเหล่านี้

การโหวตเลือก ‘นโยบายเมือง’ ในรูปแบบที่คล้ายกับของ Iroquois นั้นยังใช้อยู่ในสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันในทุกรัฐ
การเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันที่ผ่านมา ผมจำได้ว่าต้องใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมงในการโหวต เพราะการเลือกตั้งที่นี่มีให้เลือกนโยบายเมืองกว่า 14 เรื่อง ที่ต้องกลับไปทำความเข้าใจให้ดีก่อน เช่น
จะจำแนกให้แอปพลิเคชันอย่าง Uber และคนขับเป็นผู้รับจ้างอิสระแทนพนักงานไหม (สำหรับในแคลิฟอร์เนีย)
หรือจะให้มีการออกพันธบัตรสำหรับการวิจัยสเต็มเซลล์ไหม โดยจะให้มูลค่าเป็นเงิน $5.5 Billion
หรือ ควรเก็บภาษี Commercial Property Tax เพิ่มขึ้น เพื่อสนับสนุนโรงเรียนสาธารณะไหม
หรือ ในระดับเมืองควรอนุญาตให้มี Mix-use Development ในย่านนั้นไหม
ฯลฯ
พลเมืองในที่นี้ (ทุกคน) กลายเป็นนักออกแบบเมืองโดยอัตโนมัติ (แต่ต้องใช้เวลาคิดนานหน่อย เวลาเลือกตั้ง)
สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมประชาธิปไตยดั้งเดิมของชนพื้นเมืองอเมริกัน หรือร้านช็อกโกแลตของ Ben Franklin จริงๆ แล้วมันเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมดั้งเดิมของ ‘คนตะวันออก’ ที่แยกออกจากกันไม่ได้ง่ายนัก


ภาพ : PBS