แบรนด์ Uniqlo เดินทางมาประเทศไทยเมื่อ 11 ปีก่อน โดยเปิดสาขาแรกที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และได้รับความนิยมทันทีจากลูกค้าชาวไทยใหม่ ๆ รวมถึงแฟนของแบรนด์ที่เคยอุดหนุนทุกครั้งเวลาไปเที่ยวญี่ปุ่น

อาจเรียกได้ว่าเป็นแบรนด์เสื้อผ้าไม่กี่แบรนด์ในโลก ที่ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงอยากสร้างสรรค์เสื้อผ้าดี ๆ แต่มองไปไกลถึงชีวิตที่ดีขึ้นของผู้สวมใส่ 

ยูนิโคล่จึงไม่ได้นิยามตัวเองเป็น Workwear, Sportswear หรืออื่น ๆ แต่ให้คำจำกัดความว่า LifeWear ซึ่งแปลว่า 

“เสื้อผ้าที่ถูกออกแบบให้ผู้สวมใส่ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น เสื้อผ้าที่เรียบง่าย คุณภาพสูง มีความสวยงามในทุกรายละเอียด เหมาะกับการใช้งาน โดยคำนึงถึงความต้องการในชีวิตประจำวัน และมีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง”

Hiroyuki Matsumoto เดินทางมาประเทศไทยเมื่อ 4 เดือนก่อน เพื่อรับตำแหน่ง Chief Operation Officer ประจำยูนิโคล่ ประเทศไทย ประจวบเหมาะในปีที่แบรนด์วางแผนจะสื่อสารเรื่องความยั่งยืนอย่างจริงจัง 

เพราะรู้ดีว่าอุตสาหกรรมเสื้อผ้าโดยรวมสร้างขยะและใช้ทรัพยากรที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมจำนวนมหาศาล 

การผลิตยีนส์ 1 ตัวต้องใช้น้ำถึง 8,000 แกลลอน ซึ่งคือปริมาณน้ำที่มนุษย์ดื่มได้ถึง 7 ปี 

ในแต่ละปีมีการผลิตเสื้อผ้าใหม่แสนล้านชิ้น และมีขยะที่ต้องฝังกลบถึง 21 พันล้านตัน 

ตลอดกว่า 20 ปี ยูนิโคล่ในฐานะผู้จำหน่ายเสื้อผ้ารายใหญ่ของโลก จึงตั้งใจพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อผลิตเสื้อผ้าที่มีความยั่งยืน โดยคำนึงตั้งแต่การหาแหล่งวัตถุดิบที่น่าเชื่อถือ กระบวนการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด การออกแบบที่คงทน เรียบง่าย และใช้ได้เป็นเวลานาน การขายและกิจกรรมหลังการขายที่คิดแบบ Circular Economy บริการรับคืนเสื้อผ้าเก่า ส่วนหนึ่งทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อส่งต่อให้ผู้ที่ต้องการ อีกส่วนนำกลับไปรีไซเคิลที่โรงงานเพื่อผลิตอีกครั้ง 

บริษัทนี้ไม่มียูนิฟอร์ม มีเพียงนโยบายให้พนักงานใส่เสื้อผ้าของแบรนด์ เพราะเชื่อว่าทุกคนเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของยูนิโคล่

วันนี้คุณมัตสึโมโตะมาในชุดทางการ เขาใส่ Ultra Light Jacket ทับเสื้อเชิ้ตแบบไม่ต้องรีด คู่กับกางเกง Ultra Light Pants สีเดียวกัน 

เขาเป็นแฟนตัวยงของแบรนด์มานานก่อนจะเข้าทำงานที่นี่ ซึ่งที่นี่ได้ปรับมุมมองและพฤติกรรมในการใส่เสื้อผ้า และทำให้มั่นใจว่าเสื้อผ้าที่ดีจะเปลี่ยนแปลงโลกได้

Hiroyuki Matsumoto ซีโอโอ Uniqlo Thailand แบรนด์ที่เชื่อว่าเสื้อผ้าที่ดีจะเปลี่ยนโลกได้

ในยุคหนึ่ง ยูนิโคล่สื่อสารเรื่องเสื้อผ้าสำหรับทุกคน​ (Made for all) อีกยุคหนึ่ง พูดเรื่อง LifeWear หรือเสื้อผ้าสำหรับการใช้ชีวิต มาปีนี้ แบรนด์นำเสนอคำว่า The Power of Clothing อะไรคือพลังของเสื้อผ้าในมุมมองของคุณ

คำว่า LifeWear แปลได้หลายความหมาย เสื้อผ้าของเราออกแบบมาสำหรับทุกคน ทั้งสวมใส่สบาย มีดีไซน์เรียบง่าย เหมาะสำหรับการใช้ชีวิตของทุกคนจริง ๆ ซึ่งที่ผ่านมาเราพยายามพิสูจน์เรื่องนี้อย่างมาก แต่มาถึงวันนี้ เสื้อผ้าสำหรับเราไม่ใช่แค่เครื่องนุ่งห่มอีกต่อไป เรามองมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย ดังนั้นเสื้อผ้าก็ควรจะเป็นตัวแทนของความตั้งใจ ความคิด และอุดมการณ์ต่าง ๆ ของผู้สวมใส่ด้วยเช่นกัน นั่นคือพลังของเสื้อผ้าในมุมมองของผม

พลังของเสื้อผ้าเกิดขึ้นตั้งแต่ขั้นตอนแรก ยกตัวอย่างเช่น เรามีไอเท็มอย่าง DRY-EX ที่ผลิตจากเส้นใยรีไซเคิล พัฒนาออกมาเป็นเสื้อที่ใส่สบาย ดีไซน์สวย เหมาะกับการใช้ชีวิตของผู้คน เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้ใช้งาน และสิ่งที่จะทำให้ชีวิตของเขาดีขึ้น 

คุณใช้ตัวการ์ตูนโดราเอมอนเป็นแอมบาสเดอร์ และเปลี่ยนสีโลโก้จากสีแดงเป็นสีเขียวในการสื่อสารเรื่องความยั่งยืนด้วย

คาแรกเตอร์โดราเอมอนถือกำเนิดในประเทศญี่ปุ่น เป็นที่รักของคนทั่วโลกมายาวนาน เช่นเดียวกันกับยูนิโคล่ โดราเอมอนจึงเป็นเหมือนนักเดินทางจากอนาคต ผู้จะมาช่วยเปลี่ยนโลกให้ไปสู่อนาคตที่ดีกว่า

ส่วนสีเขียวเป็นตัวแทนของสิ่งแวดล้อม ของการรักษาธรรมชาติ มันง่ายต่อความเข้าใจและง่ายต่อการสื่อสาร ไม่ว่าจะกับลูกค้าหรือพนักงานของเราเอง 

เราจึงเลือกใช้โดราเอมอนและโลโก้สีเขียวในการสื่อสารประเด็นความยั่งยืน เพราะอยากให้มองเป็นเรื่องสนุกและเข้าใจง่าย

‘เสื้อผ้าที่จะทำให้ชีวิตผู้คนดีขึ้น’ คือความตั้งใจตั้งแต่วันแรกของยูนิโคล่ ผ่านมาเกือบ 50 ปี นิยามของชีวิตที่ดีกว่าเปลี่ยนไปบ้างไหม

ผมว่ามันเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ถ้าพูดถึงชีวิตที่ดีขึ้น มันขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน ความหมายของ ‘ความสบาย’ ของแต่ละคนก็แตกต่างกันไปอีกนะ บางคนชอบวิ่งออกกำลังกาย อาจต้องการเสื้อที่มีฟังก์ชันระบายเหงื่อ แห้งไว อีกคนอยู่ชนบท ชอบทำสวน ปลูกต้นไม้ อยู่กลางแจ้งบ่อย ๆ ก็มองหาเสื้อที่จะปกป้องผิวเขาจากแสงยูวี เพื่อให้ชีวิตนั้นง่ายและดียิ่งขึ้น

วิถีชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกันหรอก แต่ผมพูดได้เลยว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของลูกค้ามีความต้องการพื้นฐานจากเสื้อผ้าไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่หรือทำอาชีพอะไร เช่น ทุกคนต้องการเสื้อผ้าที่คุณภาพคุ้มราคา หรือในบางวัฒนธรรมคนนิยมใส่เสื้อทับ ในประเทศที่ร้อนอย่างประเทศไทย เราต้องมีไอเท็มหน้าร้อนขายทุกฤดู และถ้าสังเกตดี ๆ ร้านในไทยจะสีสันสดใสกว่าประเทศอื่น ๆ 

เพราะคนไทยชอบสีสัน

ใช่ครับ (ยิ้ม) คนไทยชอบสีหลากหลาย เหมือนคุณมีสีมงคลที่ต้องใส่ในแต่ละวันด้วยใช่ไหม นั่นก็เป็นเอกลักษณ์หนึ่งเหมือนกัน 

คนไทยชอบแต่งตัว ชอบแฟชั่น ชอบติดตามเทรนด์ใหม่ ๆ ในฐานะร้านเสื้อผ้า เราพยายามอย่างมากเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้ ในร้านก็เลยโชว์เสื้อสีสดใสเยอะหน่อย ต่างจากร้านในญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นชอบสีโมโนโทน สีเรียบ ๆ ชอบดีไซน์ทรงปล่อย ๆ หลวม ๆ ชอบลายขวาง 

ลูกค้าชาวไทยยังชอบคอลเลกชันใหม่ ๆ เวลามีอะไรใหม่ ๆ ออกมาจะได้รับความสนใจมาก โดยเฉพาะการคอลแลบกับดีไซเนอร์แบรนด์อื่น ๆ สิ่งที่เราพยายามทำมาตลอด คือการหาความต้องการของแต่ละประเทศที่ธุรกิจเราไปอยู่ แล้วตอบสนองความต้องการนั้นในแบบของเรา

Hiroyuki Matsumoto ซีโอโอ Uniqlo Thailand แบรนด์ที่เชื่อว่าเสื้อผ้าที่ดีจะเปลี่ยนโลกได้

ก่อนที่จะเข้าทำงานที่นี่ คุณเป็นแฟนคลับยูนิโคล่อยู่แล้วไหม

ใช่เลย ผมเป็นแฟนแบรนด์นี้อยู่แล้ว ตอนเริ่มทำงานที่นี่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวเองอยู่อย่างหนึ่ง ตอนทำงานที่อื่น ผมใส่เสื้อผ้าแบรนด์อะไรก็ได้ ที่นี่แม้จะไม่ได้มียูนิฟอร์มตายตัว แต่เราเลือกที่จะใส่เสื้อผ้าของยูนิโคล่มาทำงาน

วันนี้ก็ใส่ทั้งตัวนะ (ชี้ให้ดูสูทสีดำที่ใส่อยู่) หลายคนอาจคิดว่าเรามีแค่เสื้อผ้าลำลอง แต่จริง ๆ เรามีชุดทางการด้วย ตัวที่ใส่อยู่คือ แจ็กเก็ต เสื้อเชิ้ต แล้วก็กางเกงสแล็ก

เชื่อไหมว่าหลังจากเข้าทำงานที่นี่ ตู้เสื้อผ้าผมลดขนาดเหลือแค่ 10 เปอร์เซ็นต์จากเมื่อก่อน แต่ที่น่าทึ่งไปกว่านั้นคือ ผมเก็บเสื้อผ้าทั้งหมดได้ในกระเป๋าเดินทางใบเดียว

จะเป็นไปได้ยังไง

ไม่ได้อวยนะ (หัวเราะ) เสื้อผ้ายูนิโคล่ทนทานมาก ผ่านไปสองสามปีก็ยังใส่ได้ดี ดีไซน์ก็เรียบง่าย คุณอาจจะมีเสื้อแบบเดียวกันแต่หลายสี ไว้ใส่สับเปลี่ยนไปแต่ละโอกาสในแต่ละวัน จากที่เคยต้องมีเสื้อผ้าหลาย ๆ แบบในตู้ ก็เหลือแค่ชิ้นเบสิก ถ้าคิดจากมุมมองเรื่องความยั่งยืน นี่เป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่เหมือนกัน อย่างน้อยก็กับตู้เสื้อผ้าของผม

ยูนิโคล่ทำเรื่องความยั่งยืนมากว่า 20 ปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของแหล่งที่มาวัตถุดิบในการผลิต กระบวนการผลิตเอง สินค้า ไปจนถึงชีวิตของเสื้อผ้าหลังการขาย แต่คนกลับไม่ค่อยรู้เรื่องเหล่านี้ ทำไมแบรนด์ถึงตัดสินใจออกมาสื่อสารเรื่องนี้ในปีนี้

ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เราจัดงานแถลงข่าวหรือเชิญสื่อมวลชนมาเล่าเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่ได้ แต่ปีนี้ลูกค้าจะได้กลับมาใช้ชีวิตหลังโควิด-19 หลังจากที่คนส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนกันไปแล้ว ผมว่าผู้คนกำลังจะเริ่มใช้ชีวิตอีกครั้ง สนุกกับการเดินทางอีกครั้ง นี่จึงเป็นเวลาที่เหมาะที่สุดที่จะเล่าเรื่องความยั่งยืนของแบรนด์ให้ทุกคนฟัง

2 ปีที่ผ่านมาเราพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ยั่งยืนยิ่งขึ้น ทำให้ธุรกิจยั่งยืนยิ่งขึ้น อย่างเดือนหน้าเราจะมีจัดประกวดแผนธุรกิจร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในงาน Chula Expo 2022 โดยธีมในปีนี้เป็นเรื่องความยั่งยืน เราจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งในการให้ความรู้คนรุ่นใหม่เกี่ยวกับการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วย

อุตสาหกรรมเสื้อผ้าเปลี่ยนไปแค่ไหนในช่วงโควิด-19 

เปลี่ยนไปเยอะ

เพราะคนทำงานที่บ้านด้วยหรือเปล่า

นั่นก็ด้วย ความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนไปเยอะ คนนิยมใส่ชุดลำลองอยู่บ้าน ที่เราเรียกกันว่า Loungewear ไม่ค่อยได้ใส่สูท อย่าว่าแต่สูทเลย เสื้อเชิ้ตก็แทบจะไม่ได้ใส่ (หัวเราะ) 

แต่ขณะที่คนชอบทำงาน Work from Home พวกเขาก็ยังตั้งตารอที่จะออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน และยังสนุกกับชีวิตนอกบ้านอยู่ เราพยายามตอบความต้องการตรงนั้น แต่จะทำยังไงให้มันยั่งยืนล่ะ เพราะถ้าพูดถึง Fast Fashion มันหมายถึงการผลิตเร็วในจำนวนมาก ๆ เพื่อสนองความต้องการที่เปลี่ยนตลอดเวลา 

คุณคิดว่าเสื้อผ้าจะเปลี่ยนโลกได้จริง ๆ เหรอ

ไม่ใช่แค่คิด แต่ผมเชื่ออย่างนั้น 

เราเปลี่ยนโลกได้ เราเปลี่ยนวงการเสื้อผ้าได้ และเราจะไม่หยุดพัฒนา แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต้องการกำลังจากหลายทาง ในเรื่องความยั่งยืน ยูนิโคล่ยังถือเป็นคนตัวเล็ก เราต้องการแรงสนับสนุนจากบริษัทใหญ่ ๆ ในเมืองไทยที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้มาก่อน เราเป็นบริษัทผลิตเสื้อผ้า เราเชี่ยวชาญด้านการผลิตเสื้อผ้าที่ดี ขายเสื้อผ้าที่ดี เลยต้องมีพันธมิตรที่ถนัดคนละด้านมาร่วมอุดมการณ์ เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) ที่มีความสนใจและเป้าหมายที่ดีร่วมกัน

ผมเชื่อว่า เราทำอะไรมากกว่าการดำเนินงานปกติที่เราทำอยู่แล้วได้

Hiroyuki Matsumoto ซีโอโอ Uniqlo Thailand แบรนด์ที่เชื่อว่าเสื้อผ้าที่ดีจะเปลี่ยนโลกได้

ความยั่งยืนของยูนิโคล่แบ่งได้เป็น 3 เรื่องใหญ่ ๆ คือ ผู้คน โลก และคอมมูนิตี้ ธุรกิจวางแผนว่าจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ยังไง

เราให้ความสำคัญเรื่องการศึกษา สนับสนุนโรงเรียนต่าง ๆ และพยายามคิดหาวิธีที่จะทำให้ชีวิตประจำวันของคนไทยดีขึ้น การพัฒนาคุณภาพชีวิตทำงานก็เป็นอีกหนึ่งโฟกัสของธุรกิจ

เรื่องสิ่งแวดล้อมก็อย่างที่เล่าไปก่อนหน้านี้ แม้เราไม่ได้มีการผลิตอยู่ในประเทศไทย แต่เราก็ส่งฟีดแบ็กลูกค้าคนไทยไปให้โกลบอลเพื่อพัฒนาเป็นประจำ เรายังร่วมมือกับ UNHCR เพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยด้วย

เพราะเราไม่ได้มีร้านไปตั้งในทุกจังหวัด การทำโปรเจกต์ที่ร้านเพื่อสนับสนุนลูกค้าเลยยังไม่ครอบคลุม แต่เราก็ทำผ่านพาร์ตเนอร์ด้านต่าง ๆ และตั้งใจจะเปิดสาขาให้มากขึ้น

ตอนนี้มีทั้งหมดกี่สาขา

ตอนนี้มี 56 สาขาครับ

ปีนี้จะเปิดสาขาใหม่ไหม

น่าจะนะครับ (ยิ้ม) อาจจะบอกตัวเลขเป๊ะ ๆ ไม่ได้ 

เราพยายามฟังเสียงจากพนักงานและลูกค้า หลายครั้งมักมีลูกค้ามาถามว่า เมื่อไหร่จะไปเปิดสาขาที่จังหวัดเขา 

นอกจากจะได้บริการลูกค้า ยังสร้างงานให้พื้นที่นั่นด้วย

ใช่ครับ พนักงานเราเองก็มาจากหลายที่ทั่วประเทศ เขาเสนอให้ไปเปิดเมืองนั้นเมืองนี้ ถ้าที่ไหนมีศักยภาพ เราก็พร้อมที่จะพิจารณาต่อ

ในฐานะซีโอโอของบริษัท คุณสร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานเข้าใจเรื่องความยั่งยืนยังไง

การสื่อสารเป็นคีย์สำคัญ เรามีพนักงานที่สำนักงานใหญ่และอีกมากมายหน้าร้าน แต่ละคนยุ่งกับการให้บริการลูกค้าและทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด

ในร้านยูนิโคล่ ลูกค้าคือราชา ขณะเดียวกันเราก็ต้องสื่อสารให้พนักงานเข้าใจด้วยว่า สิ่งที่เขากำลังทำอยู่ในทุกวันคืออะไร เราทำให้บริษัทยั่งยืนขึ้นได้ยังไง และจะมีส่วนช่วยประเทศไทยในทางไหนบ้าง

ยูนิโคล่เป็นแบรนด์สัญชาติญี่ปุ่น แต่เราอยากเป็นแบรนด์ของคนไทยด้วย พนักงานระดับผู้จัดการส่วนใหญ่ของเราก็เป็นคนไทย คงจะดีไม่น้อยถ้าวันหนึ่งลูกค้ามองว่าเราเป็นแบรนด์ไทย เพราะเราไม่ได้แค่เข้ามาทำธุรกิจ แต่อยากแบ่งปันคุณค่าบางอย่าง 

Hiroyuki Matsumoto ซีโอโอ Uniqlo Thailand แบรนด์ที่เชื่อว่าเสื้อผ้าที่ดีจะเปลี่ยนโลกได้

เล่าการเดินทางของเสื้อผ้ายูนิโคล่ตั้งแต่เป็นวัสดุจนถึงหลังการขายให้ฟังได้ไหม

อย่างการผลิตยีนส์ขึ้นมาหนึ่งตัวมีผู้เกี่ยวข้องมากมาย ตั้งแต่หาเส้นใยคอตตอน โดยเลือกซัพพลายเออร์ที่มีคุณภาพและให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืน รวมถึงตั้งใจจะลดการใช้น้ำและสารเคมี 

หลังจากได้แหล่งเส้นใยที่ดีแล้วก็นำมาผลิตในโรงงานคู่ค้า เพราะเราไม่มีโรงงานของตัวเอง แต่ทำงานร่วมกับโรงงานพาร์ตเนอร์ โดยส่งคนเข้าไปอบรม สอนให้เขาทำงานตามมาตรฐาน แล้วก็ค่อย ๆ พัฒนาการผลิตไปด้วยกัน โดยให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนของแรงงานเป็นอย่างมาก

ถัดมาคือการออกแบบ จะออกแบบยังไงให้ออกมาเป็น LifeWear หรือเสื้อผ้าสำหรับการใช้ชีวิต

อย่างวันนี้แจ็กเก็ตที่ผมใส่มา มองเผิน ๆ เหมือนสูททั่วไป แต่เบากว่า ใส่ได้หลายโอกาสมากกว่า ผมอาจจะพูดเป็นข้อ ๆ ไม่ได้ แต่นี่คือตัวอย่างของความพยายามในการสร้างเสื้อผ้าที่ยั่งยืนของเรา ถ้าเราทำสิ่งเหล่านี้สะสมไปเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Supply Chain หรือบริการหลังจากขาย อย่าง RE:Uniqlo ที่ให้ลูกค้านำเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้วมาบริจาค วันหนึ่งเราจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้แน่ ๆ

วันนี้ ลูกค้าอาจยังไม่รู้ว่าข้างหลังเราทำอะไรบ้าง แต่อย่างน้อย ๆ ถ้าเขาซื้อเสื้อผ้าของเราไป ก็เป็นการสนับสนุนความยั่งยืนต่อคน โลก และคอมมูนิตี้

ปีที่ผ่านมานอกจากโควิด-19 ยังมีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นในโลก ทั้งสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย หรือการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก คุณมองว่าธุรกิจระดับโลกใหญ่ ๆ จำเป็นต้องมีส่วนร่วมหรือรับผิดชอบในสิ่งเหล่านี้ไหม

แน่นอนครับ อย่างกรณียูเครนกับรัสเซีย เราอาจจะช่วยไม่ได้ทุกอย่าง แต่ก็พยายามทำให้มากที่สุด เพราะในประเทศเหล่านั้นก็มีประชาชนเหมือน ๆ กับเราอยู่ เราจึงพยายามเปิดร้านให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้จะตัดสินใจปิดร้านในรัสเซียชั่วคราวก็ตาม

หรือเมื่อหลายปีก่อน เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในญี่ปุ่น เราก็พยายามเปิดร้านในบริเวณนั้นเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในด้านเครื่องนุ่งห่ม ถ้าเราช่วยเขาได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ก็จะไม่ลังเลเลย นั่นคือปรัชญาและดีเอ็นเอของยูนิโคล่เลยครับ

ส่วนเรื่อง Climate Change ที่น้ำแข็งขั้วโลกละลาย เราแก้ปัญหาโดยตรงไม่ได้หรอก แต่เราทำผ่านการดำเนินธุรกิจที่มี ลดการทำลายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรในกระบวนการผลิต หาพลังงานทางเลือกมาใช้ ทำให้มันเป็นส่วนหนึ่งในพันธกิจของเรา

Hiroyuki Matsumoto ซีโอโอคนใหม่ของ Uniqlo Thailand แบรนด์เสื้อผ้าที่เชื่อว่า เสื้อผ้าที่ดีจะเปลี่ยนโลกได้

อุตสาหกรรมเสื้อผ้าจะเดินไปทางไหนใน 10 ปีข้างหน้า

ผมว่าอุตสาหกรรมนี้จะโตขึ้นเรื่อย ๆ ถ้ามองอีก 50 ปี อาจจะค่อย ๆ ลดลง เพราะประชากรโลกน้อยลงทุกวัน แต่ถ้าใน 10 ปี ผมว่ายังโตได้อีก นั่นแปลว่าจะมีเสื้อผ้ามากมายและมีขยะจากเสื้อผ้าอีกมหาศาล เราต้องหาทางลดขยะตรงนั้น หนึ่ง โดยการผลิตเสื้อผ้าที่ทนทาน ใช้ได้ในระยะยาว ลดการซื้อเสื้อผ้าใหม่ ซึ่งเป็นเป้าหมายของเราในระยะยาว

ถ้าภาคธุรกิจไม่ขยับตัวตามเทรนด์และความต้องการของผู้บริโภค ก็อาจจะต้องปิดตัวลงในที่สุด

ก่อนหน้านี้คนอาจจะพูดกันว่า ไม่ใช่ลูกค้าทุกคนที่สนใจเรื่องนี้ แต่โควิด-19 ทำให้เห็นว่าเขาตระหนักถึงสิ่งนี้มากขึ้น อย่างในประเทศไทยเอง ผมว่าเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ของลูกค้าเลือกซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่มีความยั่งยืนมากกว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคขยับแล้ว เราในฐานะธุรกิจต้องขยับตาม ความยั่งยืนเลยไม่ใช่แค่เรื่องของใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นการร่วมมือกันระหว่างแบรนด์กับลูกค้า

ถ้าไปพูดเรื่องนี้กับนักเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อม เขาอาจบอกว่า การหยุดผลิตคือวิธีแก้ปัญหาที่ยั่งยืนที่สุด ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับธุรกิจรีเทลอย่างยูนิโคล่ คุณบาลานซ์ระหว่างเป้าหมายทางธุรกิจและความยั่งยืนยังไง

ผมเห็นด้วยว่าวิธีที่ดีที่สุดคือการเลิกผลิต ขณะเดียวกันก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าทุกคนจะใช้ชีวิตโดยไม่ซื้อเสื้อผ้าใหม่เลยได้จริง ๆ หรือเปล่า บางคนอาจจะได้นะ แต่บางคนเขายังเอ็นจอยกับการแต่งตัวอยู่ เขาไม่สามารถใส่เสื้อเดิม ๆ ซ้ำ ๆ เพราะมันเป็นความสนุกอย่างหนึ่งของชีวิต เราจึงต้องบาลานซ์ระหว่างความสนุกนั้นกับความยั่งยืน

ในหนึ่งปี อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสร้างขยะจำนวนมากจากกระบวนการผลิตแต่ละครั้ง ใช้น้ำจำนวนมหาศาล ซึ่งส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรง เราพยายามพัฒนานวัตกรรมเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการผลิตของเรา ยกตัวอย่างเช่น กางเกงยีนส์ยูนิโคล่ที่ลดการใช้น้ำในการผลิตได้มากถึง 99 เปอร์เซ็นต์ เรายังพยายามใช้วัสดุรีไซเคิลและหาวิธีการอื่น ๆ กับสินค้าอื่น ๆ ที่จะสร้างผลกระทบน้อยที่สุด 

ถ้าคุณไปดูตามท้องตลาด จะเห็นเสื้อผ้าตามเทรนด์มากมายที่จะกลายเป็นขยะในอนาคต แต่ถ้าลองไปร้านของเรา จะเห็นเลยว่า 80 เปอร์เซ็นต์เป็นเสื้อผ้าเบสิกที่มีขายตลอด เราตั้งใจให้เสื้อผ้ายูนิโคล่ทนทานและยั่งยืน แบบที่ลูกค้าจะใช้งานได้เป็นเวลานาน ซึ่งจะทำให้จำนวนการบริโภคลดลงไปอีก

สมมติคุณซื้อยีนส์ 2 ตัวในปีนี้ และหวังว่าหนึ่งในสองตัวนั้นจะเป็นของยูนิโคล่ (หัวเราะ) คุณก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาสิ่งแวดล้อม เราพยายามอย่างมากในการพัฒนาการดำเนินงานต่าง ๆ และเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่แค่ตัวธุรกิจเท่านั้น แต่ก้าวไปข้างหน้าพร้อมลูกค้าด้วย

ความสำเร็จเรื่องความยั่งยืนของยูนิโคล่สำหรับคุณคืออะไร

คือการที่ได้เห็นลูกค้าใช้เสื้อผ้าของเราไปนาน ๆ ด้วยความทนทานและดีไซน์เรียบง่ายไม่ตกยุค สิ่งนี้สำเร็จในญี่ปุ่นแล้วนะ พ่อแม่หลายคนส่งต่อเสื้อผ้าของเราให้ลูก ๆ ลูกสาวบางคนใช้ชุดที่คุณแม่เคยใส่ บางกลุ่มก็เอาสินค้าที่เขาไม่ชอบสไตล์หรือไซส์ไม่พอดีแล้วไปขายในตลาดมือสอง ที่ญี่ปุ่นมีตลาดออนไลน์ที่ชื่อว่า Mercari ถ้าลองเข้าไปดูจะเห็นเลยว่ามีเสื้อผ้าแบรนด์เราเยอะมาก ผมได้ยินมาว่ามีมากกว่าครึ่ง เลยคิดว่านี่ก็เป็นก้าวสำคัญเรื่องความยั่งยืนอีกเช่นกัน 

อะไรจะทำให้แบรนด์ยูนิโคล่อยู่ไปได้ถึง 100 ปี

สำหรับผมคือการมีคนที่ดี เราเป็นบริษัทผลิตเสื้อผ้าที่มี ‘คน’ เป็นคนสร้างสรรค์สิ่งเหล่านั้น และผมไม่ได้พูดแค่พนักงานยูนิโคล่อย่างเดียว แต่รวมไปถึงคู่ค้าทางธุรกิจอื่น ๆ เราทำคนเดียวไม่ได้หรอกครับ ถ้าเรามีคนดี ๆ มีพาร์ตเนอร์ดี ๆ ลูกค้าดี ๆ ที่จะสนับสนุนธุรกิจของเรา ธุรกิจก็จะเติบโตไปได้เรื่อย ๆ 

เรามีแนวคิดของเรา ลูกค้าก็มีแนวคิดของเขา การสื่อสารให้เขาเข้าใจในเจตนารมณ์ของแบรนด์จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เรากำลังทำอะไร เราจะเดินไปทางไหน 

100 ปีเท่ากับหลายเจเนอเรชัน เราจึงหมั่นพัฒนาสินค้าและบริการให้เท่าทันลูกค้า เพื่อซัพพอร์ตการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยของเขา

ยูนิโคล่คือบริษัทระดับนานาชาติ เราลงทุนในหลายประเทศทั่วโลก แต่จริง ๆ แล้ว ธุรกิจของเรานั้นง่ายนิดเดียว เราขายเสื้อผ้า และเราก็ตั้งใจขายเสื้อผ้า แค่นั้นเอง ถ้าเราโฟกัสกับสิ่งนี้ ไม่หยุดพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการผลิต การดำเนินงาน สินค้า หรือบริการ ด้วยการสนับสนุนของพนักงาน พาร์ตเนอร์ และลูกค้าที่น่ารัก ไม่ว่ายังไงเราต้องเดินทางไปสู่ปีที่ 100 ได้แน่นอน

Hiroyuki Matsumoto ซีโอโอคนใหม่ของ Uniqlo Thailand แบรนด์เสื้อผ้าที่เชื่อว่า เสื้อผ้าที่ดีจะเปลี่ยนโลกได้

Questions answered by COO of Uniqlo Thailand

01 ไอเท็มยูนิโคล่ที่ชอบที่สุดคือ…

Super Non-iron Shirt เปลี่ยนชีวิตผมเลย  ผมอยู่กรุงเทพฯ คนเดียว ครอบครัวอยู่ที่ญี่ปุ่นทั้งหมด อยู่นี่ผมไม่มีเตารีดนะ เสื้อรุ่นนี้เลยมีประโยชน์มาก แค่ซักและแขวนตากไว้ อีกวันก็ใส่ได้ ที่ใส่มา 95 เปอร์เซ็นต์คือเรียบกริบ ไม่ต้องรีดเลย

02 ไอเท็มยูนิโคล่ที่มีมากที่สุดคือ…

น่าจะเป็นเสื้อกีฬา เพราะผมเล่นเทนนิส

03 ความประทับใจแรกในวัฒนธรรมการทำงานของคนไทยคือ…

คนไทยชอบพูดว่า ‘ไม่เป็นไร’ ซึ่งผมชอบมาก ๆ ตอนเด็ก ๆ ผมเคยใช้ชีวิตที่ตุรกีพักหนึ่ง ที่นั่นก็มีวลีคล้าย ๆ กัน ความหมายประมาณว่า ถ้าคุณทำสิ่งหนึ่งในพรุ่งนี้ได้ ทำไมวันนี้ไม่สนุกกับชีวิตก่อนล่ะ

คนไทยยังยิ้มเก่งและใจดีอีกด้วย ที่ญี่ปุ่นมีหนังสือเล่มหนึ่งอธิบายรอยยิ้มของคนไทยว่ามี 12 ประเภท คุณต้องแยกแยะให้ออกว่ายิ้มแบบไหนหมายถึงอะไร (หัวเราะ)

04 วิชาที่ชอบที่สุดตอนเรียนที่ MIT Sloan คือ…

นานมากแล้วนะ (หัวเราะ) ที่ชอบที่สุดน่าจะเป็นวิชา Diversity Management อาจารย์สอนเกี่ยวกับการบริหารคนในบริษัทโกลบอลใหญ่ๆ เช่น โตโยต้าที่มีผู้บริหารจากหลายประเทศ ซึ่งสุดท้ายก็เป็นเรื่องการสื่อสารและการเรียนรู้ที่จะยอมรับความแตกต่างของวัฒนธรรม

04 ถ้าได้รับเลือกให้พูดบนเวที TED Talk คุณจะพูดเรื่อง…

ผมอยากพูดเรื่องความยั่งยืนผ่านประสบการณ์จริงของตัวเอง อยากเล่าเรื่องอิมแพคที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อเสื้อผ้า ตอนอยู่ญี่ปุ่น ตู้เสื้อผ้าผมเต็มไปด้วยเสื้อผ้าที่เก็บมานาน จนภรรยาถามบ่อย ๆ ว่าทำไมยังเก็บบางชิ้นอยู่ทั้งที่ไม่ได้ใช้เลย พอเริ่มทำงานที่นี่ ผมอยู่ได้ด้วยเสื้อผ้าชิ้นสำคัญ ๆ อย่างเสื้อยืดกับแจ็กเก็ต ซึ่งผมมีไว้หลายสีเลยแหละ

05 ร้านที่ไปบ่อยในสามย่าน…

Wawee Coffee ผมชอบที่เขาใช้เมล็ดกาแฟของไทย ผลิตในไทย วันไหนที่เข้าออฟฟิศก็จะซื้อกาแฟร้านนี้

06 นักเทนนิสในดวงใจคือ…

Roger Federer ไม่ใช่เพราะเขาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของยูนิโคล่นะ แต่เพราะสไตล์การเล่นเทนนิสของเขาเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร การเคลื่อนไหวแต่ละครั้งมีเป้าหมาย ไม่เสียเปล่า สมูท ผมตีแบ็กแฮนด์มือเดียวเหมือนกัน ก็เลยชอบดูวิดีโอที่เขาเล่น แล้วพยายามเลียนแบบวิธีการ แต่ก็ยังอีกไกลครับ (หัวเราะ)

07 คำพูดติดปากของคุณคือ…

ก้าวเล็ก ๆ ทุก ๆ วันก็เปลี่ยนชีวิตคุณได้ ผมคิดว่าเราเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งชีวิต ทั้งการงาน แต่อย่าลืมสนุกกับวันนี้ อย่ากังวลเรื่องพรุ่งนี้ให้มาก จงอยู่กับปัจจุบัน

การที่ผมเจอคุณในวันนี้อาจเป็นโอกาสเดียวเลยก็ได้นะ ดังนั้นผมจึงเอ็นจอยบทสนทนากับคุณวันนี้

08 ไอเท็มล่าสุดที่ซื้อจากร้านยูนิโคล่…

เสื้อ UV Protection Parka ผมซื้อช่วงสงกรานต์เพราะอากาศร้อนมาก และไม่ชอบทาครีมกันแดดตอนไปเล่นเทนนิส เพราะมันเหนียวเหนอะหนะ ล่าสุดใส่ไปเล่น ผิวคล้ำเฉพาะมือ คนก็ทักว่าไปทำอะไรมา เอาเป็นว่าผมทดลองใช้เสื้อนี้แล้ว มันเวิร์กครับ

09 คุณซื้อ UV Protection Parka สีอะไรมา…

สีกรมท่าครับ ผมยังใจไม่ถึงพอที่จะซื้อสีเหลืองหรือสีแดง (หัวเราะ)

Hiroyuki Matsumoto ซีโอโอ Uniqlo Thailand แบรนด์ที่เชื่อว่าเสื้อผ้าที่ดีจะเปลี่ยนโลกได้

ยูนิโคล่ ประเทศไทย ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดรับสมัคร CHULA EXPO 2022′ Case Competition ในหัวข้อเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs Goal) และมองหาผู้เข้าสมัครเป็นทีมนิสิตนักศึกษา 1 – 5 คนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรีทั่วประเทศ
ดูรายละเอียดในการสมัครและการเข้าแข่งขันเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/3KGgAPH สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ – 20 พ.ค. 2565 (23.59 น.)
Facebook: Chula Expo

Instagram: chulaexpo2022

E-mail : [email protected]

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ