The Cloud x Sustainable Development Goals

Sustainable Development Goals หรือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คือข้อตกลงระหว่างองค์การสหประชาชาติ (UN) กับประเทศต่างๆ ว่าจะร่วมมือสร้างโลกให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกันใน 17 เป้าหมาย

เคยกินยาไม่หมดตามที่แพทย์สั่งไหม ถ้าไม่เคย คุณคือคนไข้ที่ปฏิบัติตามกฎการรักษาของคุณหมอยอดเยี่ยม แต่ถ้าเคย เราอยากพาคุณไปดูชีวิตที่ 2 ของยาที่เหลือในแผงเหล่านั้น ว่ามันยังมีความสำคัญอย่างไรต่อการเยียวยารักษาผู้คน

สำหรับคนเมือง ยาเป็นสิ่งของที่หาซื้อได้ไม่ยาก มันคือหนึ่งในปัจจัย 4 ที่เข้าถึงได้ง่ายพอๆ กับการปรุงอาหารรับประทานและการหาซื้อเสื้อผ้าสวมใส่ แต่ในบางพื้นที่ยาที่ดูดาษดื่นเหมือนจะซื้อกินเมื่อไหร่ก็ได้ที่มีอาการเจ็บป่วย กลับเป็นของหายาก ราคาแพง แถมบางครั้งก็มีใช้ไม่เพียงพอ

โรงพยาบาลอุ้มผาง กับโครงการรับบริจาคยาเหลือใช้ที่ช่วยบำบัดโรคให้คนในพื้นที่ชายแดนมาเกือบทศวรรษ

คนเมืองที่มีร้านขายยาอยู่ทุกหัวมุมถนน แม้แต่ในร้านสะดวกซื้อก็ยังหาซื้อยาได้ไม่ยาก อาจจะนึกภาพไม่ค่อยออก แต่จริงๆ แล้วพื้นที่เหล่านั้นมีอยู่มากมายในประเทศไทย โดยเฉพาะในแถบชนบทและชายแดน แม้แต่โรงพยาบาลที่ควรจะต้องมียาและอุปกรณ์รักษาครบครัน กลับขาดแคลนยา ทรัพยากรทางการรักษา จำนวนมากอย่างน่าตกใจ

  ด้วยความห่างไกล ความกันดาร และการเข้าถึงได้ยากจากศูนย์กลาง ทำให้โรงพยาบาลชายแดนขาดแคลนข้าวของเครื่องใช้ทางการแพทย์ตลอดจนยารักษา ซึ่งเป็นปัญหาที่มีมายาวนานนับทศวรรษ 

แม้จะขาดแคลน แต่การรักษาคนเจ็บไข้ยังต้องดำเนินต่อไป ด้วยโรงพยาบาลคือสถานที่บำบัดทุกข์ทางกายที่ส่งผลถึงทุกข์ทางใจของคนทุกชนชั้น ฉะนั้น สิ่งที่โรงพยาบาลตามชนบททำได้ คือการปรับตัวและพยายามขวนขวายด้วยตัวเอง 

โรงพยาบาลอุ้มผาง กับโครงการรับบริจาคยาเหลือใช้ที่ช่วยบำบัดโรคให้คนในพื้นที่ชายแดนมาเกือบทศวรรษ

คอลัมน์ Sustainable Development Goals พาคุณเดินทางไปโรงพยาบาลอุ้มผาง ณ พื้นที่รอยต่อชายแดนไทย-พม่า ที่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก เพื่อพูดคุยกับ หมอตุ่ย-นายแพทย์วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง ถึงการแก้ไขปัญหายาขาดแคลน ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างคนในชนบทและคนในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทยกับ ‘โครงการรับบริจาคยาเหลือใช้’ ที่ผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในข้อที่ 3 Good Health and Well-Being บรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งรวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพ การเข้าถึงยาและวัคซีนที่จำเป็นอย่างปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และมีราคาที่ซื้อได้

หมอตุ่ย-นายแพทย์วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง

ผ่านการนำยาเหลือใช้มาสร้างประโยชน์ให้กับพื้นที่ชายขอบ รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ด้านการใช้ยาอย่างถูกต้อง ซึ่งโรงพยาบาลอุ้มผางดำเนินการเพื่อผลักดันระบบสุขภาพ และการรักษาที่ยั่งยืนให้คนชายขอบมานานกว่า 10 ปี

01

ชายแดน แดนไร้สัญชาติ

นอกจากชายแดนจะเป็นแดนที่ห่างไกลความพร้อมในหลายๆ ด้าน พื้นที่แห่งนี้ยังเป็นการคละเคล้าระหว่างผู้คนจากหลายแหล่ง ทำให้ชายแดนปะปนไปด้วยคนหลากหลายเชื้อชาติ บ้างก็มีสัญชาติไทย แต่อีกมากก็เป็นคนไม่มีสัญชาติ

ปัญหาความเป็นอยู่ของคนในแถบชายแดนมักเริ่มจากตรงนี้ เพราะคนไร้สัญชาตินั้น ถึงจะอยู่ในพื้นที่ประเทศไทย แต่กลับไม่ได้รับสิทธิหลายๆ อย่างที่ควรได้รับ โดยเฉพาะสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างหลักประกันสุขภาพ

  “ที่อุ้มผางเรามีคนในพื้นที่ที่ต้องดูแลอยู่ประมาณเจ็ดหมื่นสามพันคน ในจำนวนนี้มีคนที่มีบัตรทองสองหมื่นสี่พันราย มีคนที่ยังไม่ได้รับสัญชาติ แต่ได้รับหลักประกันสุขภาพอีกเกือบหนึ่งหมื่นราย และมีผู้มีสิทธิ์อื่นๆ อีกเจ็ดถึงแปดพันราย ทำให้เหลือคนอีกราวๆ สามหมื่นชีวิตที่ไม่มีสัญชาติ ไม่มีหลักประกันอะไรเลย แต่มีตัวตนอยู่จริง ซึ่งเราต้องดูแลพวกเขาทั้งหมดโดยที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ”

02

ไร้สิทธิ์ ไร้หลักประกัน ไร้งบประมาณ

  การต้องดูแลคนไร้สิทธิ์กว่า 30,000 คน เป็นงานที่ท้าทาย อันที่จริง โรงพยาบาลริมชายแดนหลายแห่งก็ต้องพบเจอความท้าทายนี้ไม่ต่างกัน

“รัฐบาลไทยไม่ได้ให้ค่าใช้จ่ายแก่พวกเขา แต่เขามีตัวตนอยู่จริงในพื้นที่ ซึ่งก็ไม่ใช่แค่อำเภออุ้มผางแห่งเดียว คนไร้สิทธิ์เหล่านี้มีอยู่ตามชายแดน ไล่ไปตั้งแต่แม่ฮ่องสอน ตาก จนถึงกาญจนบุรี” ผอ. เล่าให้ฟังพร้อมกับเปิดภาพแผนที่ชายแดนแถบตะวันตกให้ชมประกอบ

  เมื่อเป็นคนไม่มีสิทธิ์และไม่ถูกนับเป็นประชากรสัญชาติไทย งบประมาณที่ลงมายังโรงพยาบาลของรัฐจึงไม่เท่ากับจำนวนหัวของประชากรจริงๆ ที่อาศัยอยู่

“เงินที่เราได้มาจากรัฐจึงครอบคลุมแค่ราวห้าสิบห้าเปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง อีกสี่สิบห้าเปอร์เซ็นต์เราไม่ได้รับ มันจึงไม่เพียงพอต่อการดูแลรักษาคนทั้งหมด ผมพูดอย่างตรงไปตรงมาเลยว่างบที่ได้มากับเงินที่ต้องใช้จริงๆ มันไม่เท่ากัน คำถามคือแล้วเราจะทำอย่างไรกับปัญหาเหล่านี้”

คุณหมอวรวิทย์ทิ้งท้ายด้วยประโยคนี้ ก่อนพาเราย้อนกลับไปราว 10 ปี เพื่อเท้าความถึงจุดเริ่มต้นของวิธีการแก้ปัญหาที่โรงพยาบาลอุ้มผางแห่งนี้ได้คิดค้นขึ้น

03

ยาเหลือใช้ คือยาที่ถูกทิ้งอย่างไร้ประโยชน์

ย้อนกลับไปราว พ.ศ. 2553 ในปีนั้น สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาลได้มีนโยบายที่สนับสนุนให้เภสัชกรในโรงพยาบาลทำโปรเจกต์ ‘ใส่ยามาหาหมอ’ โดยให้คนไข้พกยาที่มีทั้งหมดจากบ้านมาที่โรงพยาบาล เพื่อให้เภสัชกรตรวจสอบการใช้ยาของคนไข้ (Compliance) ว่ามีพฤติกรรมการใช้ถูกต้องมากน้อยแค่ไหน กินถูกมื้อ ถูกเวลาหรือไม่ โดยเภสัชกรจะนับยาที่คนไข้หอบใส่กระเป๋ามาเทียบกับโดสที่เคยสั่งไป หากมียาเหลือเกินกว่าที่ควรจะเป็น ก็จะทำการอธิบายวิธีกินกันใหม่ และจ่ายเพิ่มไปเท่าที่จำเป็น ยาไหนเหลือมากก็ให้นำกลับไปใช้โดยไม่ต้องสั่งจ่ายเพิ่ม

โรงพยาบาลอุ้มผาง กับโครงการรับบริจาคยาเหลือใช้ที่ช่วยบำบัดโรคให้คนในพื้นที่ชายแดนมาเกือบทศวรรษ

  “ในช่วงแรก เราเริ่มต้นจากการทำโครงการใส่ยามาหาหมอ ซึ่งทำให้เราได้พบข้อมูลใหม่ในเรื่องการกินยาของคนไข้ ผมจำได้ว่าคนไข้ส่วนใหญ่เหลือยาที่ควรกินให้หมดเกินกว่าครึ่ง ซึ่งเราก็ได้ตรวจนับยาแล้วทำบันทึกเอาไว้ เมื่อครบปีก็มารวมๆ ตัวเลข แล้วพบว่ามูลค่ายาทั้งหมดที่คนไข้กินเหลือมีจำนวนถึงสี่แสนห้าหมื่นสามพันบาท ซึ่งนี่คือปัญหาที่หมอเรียกกันว่า Compliance หรือการไม่ใช้ยาตามสั่งของแพทย์

  “เราจึงพยายามหาวิธีแก้ไขให้คนไข้กินยาอย่างถูกต้องมากขึ้น ผ่านการใช้เวลาในการอธิบายกับคนไข้เพิ่ม มีการเปลี่ยนรูปแบบของฉลากยาให้เข้าใจง่าย เช่นหากเป็นยาที่ต้องกินตอนเช้าก็จะมีรูปไก่ขัน กลางวันเป็นรูปพระอาทิตย์ ตอนเย็นเป็นรูปนกบินกลับบ้าน คนไข้ก็เริ่มกินตรงเวลาและถูกต้องมากขึ้น จากที่เคยเหลือทิ้งสี่แสนกว่าบาท ปัจจุบันตัวเลขลดลงมาเหลือเพียงสามหมื่นกว่าบาทต่อปี”

โรงพยาบาลอุ้มผาง กับโครงการรับบริจาคยาเหลือใช้ที่ช่วยบำบัดโรคให้คนในพื้นที่ชายแดนมาเกือบทศวรรษ

  แต่โครงการใส่ยามาหาหมอนี้ไม่เพียงแค่ทำให้แพทย์ได้ตรวจสอบและแก้ไขเรื่องพฤติกรรมการใช้ยาของคนไข้เท่านั้น แต่มันยังได้เผยความจริงอีกชุดที่น่าสนใจขึ้นมา นั่นคือมูลค่าของยาที่คนไข้กินเหลือ ซึ่งมีปริมาณสูงมาก แต่มูลค่าของยาจำนวนนี้กลับไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์แต่อย่างใด

  “หลังจากที่ได้ทำโครงการนี้ เราก็มาคิดกันต่อว่าแค่ในอำเภอเราอำเภอเดียวยังมียาที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ตั้งสี่แสนกว่าบาท แล้วทั้งประเทศมันจะเป็นมูลค่าเท่าไร ประจวบกับในช่วงเวลานั้นมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่พูดถึงเรื่องเดียวกันว่า คนไทยทั้งประเทศมียาเหลือทิ้งตามบ้านรวมแล้วปีละหลายพันล้าน คือทิ้งไปเฉยๆ ไม่เกิดประโยชน์อะไร ซึ่งเป็นการสูญเสียทรัพยากรของประเทศชาติอย่างมหาศาล”

04

กำเนิดโครงการรับบริจาคยาเหลือใช้ 

ในโรงพยาบาลแถบชายแดน เงินทุกบาททุกสตางค์มีค่าและหมายถึงสุขภาวะที่ดีของคนในพื้นที่ การค้นพบยาที่มีมูลค่าจำนวนมากซึ่งอยู่ในบ้านของคนไข้โดยไม่ได้เกิดประโยชน์ ทำให้คุณหมอวรวิทย์และทีมงานมองเห็นโอกาสในการนำยาเหล่านี้มาจุนเจือและจัดสรรให้กับคนไข้ของโรงพยาบาล ด้วยเหตุผลว่างบประมาณหลวงนั้นมีไม่ครอบคลุม

  “หลังจากที่เราพบว่าแต่ละบ้านมียาเหลืออยู่เยอะมาก เราจึงมามองกันว่ายาที่เหลือเหล่านี้เป็นแหล่งทรัพยากรที่เรานำมาใช้ได้ เพราะยามันยังไม่หมดอายุ และยังมีคุณภาพในระดับที่นำมาใช้งานได้ดี คือใครอาจจะมองว่ามันไม่ใหม่เหมือนยาที่เพิ่งผลิตหรืออะไรก็ตาม แต่เราก็ใช้หลักใจเขาใจเรา คือถ้าเรากินได้ คนไข้ก็กินได้”

โรงพยาบาลอุ้มผาง กับโครงการรับบริจาคยาเหลือใช้ที่ช่วยบำบัดโรคให้คนในพื้นที่ชายแดนมาเกือบทศวรรษ

  โครงการนำยาเหลือมาใช้จึงได้เริ่มต้นขึ้น โรงพยาบาลอุ้มผางเปิดรับบริจาคยาจากคนในพื้นที่ใกล้เคียง แล้วจึงค่อยๆ ขยับขยายออกสู่วงกว้าง เมื่อเวลาผ่านไปสังคมก็เริ่มเห็นประโยชน์จากโครงการนี้ มือจากสื่อต่างๆ จึงค่อยๆ ยื่นเข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุน บ้างก็เข้ามาทำสกู๊ป บ้างก็ช่วยเป็นตัวกลางในการรับบริจาค 

“ทุกวันนี้ฝ่ายเภสัชฯ ของเราบอกว่า ยาความดัน ยาเบาหวาน นี่แทบไม่ต้องซื้อมาหลายปีแล้ว” หมอวรวิทย์เล่าด้วยน้ำเสียงติดตลก สื่อ โรงพยาบาลขนาดใหญ่ บริษัทห้างร้าน และประชาชนทั่วประเทศ กลายมาเป็นเจ้าของยาบริจาคที่รวมๆ แล้วมีมูลค่าหลายล้านบาท ซึ่งหลังๆ ก็ไม่ได้มีแค่ยาเพียงอย่างเดียว คุณหมอยังเล่าว่า ทั้งเวชภัณฑ์ เตียง และอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ ก็ถูกส่งมาให้สถานพยาบาลแห่งนี้

  มูลค่ายาที่เข้ามาจุนเจือโรงพยาบาลอุ้มผางค่อยๆ ไต่เพดานเพิ่มขึ้น จากหลักแสนในปีแรกๆ ที่เริ่มโครงการ ก็กลายมาเป็นหลักล้านในเวลาต่อมา มูลค่ายาบริจาคใน พ.ศ. 2561 อยู่ที่ 8 ล้านกว่าบาท และใน พ.ศ. 2562 นี้ คะเนอย่างคร่าวๆ ก็ทะลุ 16 ล้านบาทไปแล้ว ทำให้โรงพยาบาลประหยัดงบการจัดซื้อยาเม็ดไปได้กว่า 2 ใน 3 เลยทีเดียว

โรงพยาบาลอุ้มผาง กับโครงการรับบริจาคยาเหลือใช้ที่ช่วยบำบัดโรคให้คนในพื้นที่ชายแดนมาเกือบทศวรรษ

  น้ำใจจากคนทั้งประเทศที่หลั่งไหลมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะเข้ามาจุนเจือคนในพื้นที่อุ้มผางแล้ว ยังได้เปิดโอกาสให้โรงพยาบาลนำน้ำใจนี้ส่งต่อไปยังพื้นที่อื่นๆ ที่มีความขาดแคลนด้วย

“ยาบางตัวที่คนส่งมาให้ก็เกินความต้องการของโรงพยาบาล อย่างพาราฯ บางทีส่งมาร่วมห้าแสนเม็ด ยังไงเราก็ใช้ไม่หมด เราเลยแจกจ่ายไปยังโรงพยาบาลในชุมชนอื่นๆ ที่เจอปัญหาเดียวกับเรา ชาวบ้านที่ไหนก็เป็นคนไข้ของเราได้”

หมอตุ่ย-นายแพทย์วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง
โรงพยาบาลอุ้มผาง กับโครงการรับบริจาคยาเหลือใช้ที่ช่วยบำบัดโรคให้คนในพื้นที่ชายแดนมาเกือบทศวรรษ

คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าในตอนนี้โรงพยาบาลอุ้มผางมียาเม็ดเพียงพอสำหรับการดูแลคนในพื้นที่ แต่สุดท้ายแล้วคุณหมอวรวิทย์ก็เปิดใจเล่าให้ฟังว่า เป้าหมายในระยะยาวของเขาไม่ใช่การที่ได้รับยาบริจาคมาอย่างล้นหลาม แต่เป็นการสร้างโมเดลตัวอย่างเพื่อเหนี่ยวนำให้โรงพยาบาลอื่นๆ ทั่วประเทศเห็นประโยชน์ของการทำโครงการเช่นนี้

  “ความตั้งใจของผมคืองานในตรงนี้ (โครงการรับบริจาคยาเหลือ) จะเหนี่ยวนำให้โรงพยาบาลในที่ต่างๆ เห็นคุณค่าและลองนำไปใช้ ผมไม่ได้อยากให้ยาราคาหลายล้านมากระจุกอยู่ที่นี่ หรือมาลดต้นทุนของโรงพยาบาลเราแค่ที่เดียว ลองมองกันไปในระดับประเทศดีกว่า ซึ่งผมคิดว่ามันก็คงจะต้องใช้เวลาสักพักหนึ่ง แต่อย่างน้อยเราก็เริ่มได้เห็นคนที่ตื่นตัว และมีคนมากมายที่ส่งยามาให้เรา”

05

สถานพยาบาลที่ใช้ใจเป็นตัวกลาง

“ที่นี่เราไม่ได้ใช้เงินเป็นตัวกลางกับชาวบ้าน แต่เราใช้ความจำเป็นทางการแพทย์ และเรื่องของจิตใจเป็นตัวกลาง”

คุณหมอเล่าให้ฟังเสียงเข้ม โดยปกติแล้วหากคุณถือสัญชาติไทยและถือสิทธิ์ประกันสุขภาพ คุณเดินเข้าไปรับการรักษาจากโรงพยาบาลรัฐในชุมชนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ ณ โรงพยาบาลแห่งนี้ ไม่ว่าคนไข้คนนั้นจะมีสิทธิ์หรือไม่ ก็จะได้รับการดูแลรักษาไม่ต่างกัน

จากนั้นคุณหมอก็ได้อธิบายต่อว่า ทำไมเงินถึงไม่ควรถูกนำมาเป็นตัวกลางในพื้นที่นี้

หมอตุ่ย-นายแพทย์วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง

“ยาคือหนึ่งในปัจจัยสี่ มันเป็นเรื่องของชีวิต อย่างแรกเลยคือมันเป็นเรื่องของมนุษยธรรม อย่างที่สองคือเรื่องโรคติดต่อร้ายแรง ถ้าเราไม่รักษาเขา โรคมันก็แพร่ไปทั่ว ถ้าเราไม่ทำสิ่งที่ถูกต้องตั้งแต่ต้น เราก็ต้องไปแก้ปัญหาที่ใหญ่และยุ่งยากกว่าเดิม การรักษาพยาบาลให้กับชาวบ้านแบบนี้มันคือการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

  “คนเราเลือกเกิดไม่ได้ ชาวบ้านที่นี่เขาด้อยโอกาสกว่าคนอื่นในหลายๆ ด้าน ซึ่งเจ้าหน้าที่สองร้อยกว่าคนในโรงพยาบาลนี้ก็คงจะรู้สึกแบบเดียวกันว่า อย่างน้อยเรามาช่วยเขาในด้านสุขภาพก็ยังดี ทุกวันนี้ผมถึงกล้าพูดกับตัวเองว่ามันมีความสุขดีนะ เราได้รู้สึกว่าตัวเราเป็นคนมีประโยชน์ ไม่ได้หายใจทิ้งไปวันๆ หรือทำให้แค่ตัวเองรอดแล้วจบ บางทีผมเครียดๆ ก็เดินไปอุ้มเด็กในโรงพยาบาล เราก็สบายใจขึ้นเยอะแล้ว มันเป็นบรรยากาศที่ดี ความรู้สึกที่ดี”

06

เปลี่ยนงานเฉพาะหน้าเป็นการรักษาอย่างยั่งยืน

อย่างที่คุณหมอวรวิทย์เล่า งานโรงพยาบาลคือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คนเจ็บเดินเข้ามาก็ต้องรักษา คนป่วยเดินเข้ามาก็ต้องได้รับยาที่เหมาะสม แต่การจะสร้างสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องรักษามากกว่าอาการเฉพาะหน้า โดยต้องรักษาไปถึงวิธีคิดและพฤติกรรมของคนไข้ในเรื่องการใช้ยาให้มีความถูกต้อง

  “ผมมักจะเรียนกับผู้บริจาคว่า จริงๆ แล้วเราอยากให้คนไข้กินยาอย่างถูกต้อง ท่านควรกินยาของตัวเองให้ครบก่อน ผมอยากให้ทุกคนเห็นคุณค่าของยาและใช้มันอย่างคุ้มค่า เพราะการที่เราไม่ได้ใช้ยาอย่างถูกต้อง มันทำให้ประเทศเราสูญเสียเงินไปหลายพันล้านบาทต่อปี ทั้งที่เราควรเก็บเงินตรงนั้นกลับมาพัฒนาประเทศ บางทีเราอาจจะได้รถไฟฟ้าสักสายก็ได้

“อีกแปดปีผมก็เกษียณแล้ว ประเทศไทยเป็นของทุกคน ถ้าเราอยากให้ประเทศไทยดีก็ต้องเริ่มทำอะไรสักอย่าง สิ่งดีๆ มันต้องเริ่มต้นทำ แต่แน่นอน มันก็ต้องใช้เวลาอยู่แล้วแหละ”

หมอตุ่ย-นายแพทย์วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง

น้ำเสียงของคุณหมอวรวิทย์ที่เล่าให้เราฟังเป็นน้ำเสียงที่มีความหวัง งานที่เขาทำมาตลอด 28 ปี ในโรงพยาบาลอุ้มผางเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่การจะพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างจริงจังมันต้องเริ่มจากการลงมือทำ 

การรับฟังปัญหาและที่มาที่ไปของโครงการยาเหลือใช้จากคุณหมอ ทำให้เราเห็นพ้องว่าการจะผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 3 Good Health and Well-Being จะต้องเริ่มจากการลงมือทำของคนทุกระดับในสังคม 

ตั้งแต่รัฐบาลที่เป็นเจ้าของงบประมาณ โรงพยาบาลที่ให้ความรู้แก่คนไข้ หมอที่คอยตรวจสอบพฤติกรรมการกินยา และตัวคนไข้ที่จะต้องรับผิดชอบแผงยาของตัวเองและกินให้ครบ แน่นอนว่าการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลา แต่อย่างน้อยมันก็เริ่มจากเราได้ตั้งแต่ตอนนี้ 

และถ้าวันนี้คุณมียาเหลือใช้คุณภาพดีที่ยังใช้เยียวยารักษาได้ เราอยากชวนคุณลองส่งยาเหล่านั้นไปให้โรงพยาบาลอุ้มผาง เพื่อมอบชีวิตที่ 2 ให้ยายังคงมีคุณค่าต่อเพื่อนร่วมสังคมที่ขาดแคลนของเรากัน

Writer & Photographer

Avatar

คณพล วงศ์วิเศษไพบูลย์

นักเขียนอิสระ ที่กำลังลองทำงานหลายๆ แบบ ชอบลี้คิมฮวง ต้นไม้ เพลงแก่ๆ มีความฝันอยากทำฟาร์มออร์แกนิก และล่าสุดเขียนจดหมายสะสมลงในเพจ In the Letter